ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๒๘ : ฝึกอบรมครูอนุบาลบ้านวิทยาศาสตร์น้อย (๓) : การทดลองที่ ๓ "การละลายของน้ำตาล"


บันทึกที่ ๑ "ปลากับเรือดัน้ำ"

บันทึกที่ ๒ เรื่อง "หมุดลอยน้ำ"

การทดลองเรื่องการละลายของน้ำตาล ได้ผลดีมากหากเป็นเด็กเตรียมอนุบาล ผมเข้าใจว่า เป็นเพราะเด็กวัยนี้ เพียงสีสวยงาม ฉุดฉาด ก็สามารถกระตุ้นความฉลาดได้บ้างแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเห็นสีที่กำลังเปลี่ยนแปลงขยายขนาดออกไปรอบๆ เม็ดขนม M&M




หากผมพิจารณาการทดลองต่างๆ ของโครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ว่า

  • ความรู้ : หมายถึง เป้าหมายได้องค์ความรู้ หลักการหรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในการทดลองนั้นๆ
  • ทักษะ : หมายถึง ทักษะ ประสบการณ์ หรือ ความชำนาญที่เด็กจะได้รับจากการฝึกคิด ฝึกทำ หรือ การนำไปใช้ได้จริงๆ ในชีวีต (ทักษะชีวิต)
  • เตรียมวัสดุอุปกรณ์ง่าย : หมายถึง ความง่ายในการเตรียมการทดลอง วัสดุอุปกรณ์หาง่าย ไม่ซับซ้อน
  • ความสนุก ท้าทาย มีความหมายตรงๆ มุ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทดลองทั้งหมด คือเน้นให้ นักเรียนสนุก มีความสุขที่ได้เรียน
  • ได้เรียนรู้จากลงมือทำ หมายถึง การมีส่วนร่วมด้วยการได้ลงมือปฏิบัติของนักเรียน
  • ราคาถูก : หมายถึง ราคาของวัสดุอุปกรณ์ หากไม่ได้ซื้อจะด้ ๑๐ คะแนน
  • ความปลอดภัย คือหัวใจสำคัญอีกประการที่ต้องคำนึงถึงเสมอ
  • เรียนรู้จากการคิด หมายถึง นักเรียนได้ใช้การสังเกตและคิดหาคำตอบ เป็นเหตุเป็นผล


การทดลอง "การละลายของน้ำตาล" จะเด่นเรื่องการเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ง่าย ราคาถูก แค่เพียงมีขนมช็อคโกแล็ต M &M เม็ดสีต่างๆ และมีจานสักใบ ก็ใช้ได้ การทดลองก็ไม่ซับซ้อน เพียงวางขนมลงในจาน และเทน้ำลงในจานให้ท่วมขนมครึ่งเม็ด แล้วก็กระตุ้นให้เด็กๆ สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น

ต้องเริ่มด้วยการตั้งคำถาม (ต่อด้วยการสาธิต)

ปรากฎการณ์ที่เราอยากสอนเด็กคือ "การละลายของน้ำตาล" ดังนั้นคำถามที่ครูต้องตั้งขึ้นสอนก่อนการทดลองต้องกระตุ้นให้เด็กสงสัย ในเรื่องน้ำ น้ำตาล และขนม เอ็มแอนด์เอ็ม เช่น

  • ครูชูขนมไว้ในมือ แล้วถามว่า รู้จักไหมอะไรอยู่ในมือครู... ใครรู้จักยกมือขึ้น...
  • ใช่แล้ว... ขนม "เอ็มแอนด์เอ็ม" ... ครูแจกขนมให้คนละเม็ดให้ลองชิมดู.... จากนั้น ครูต้องถามเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึก "อธิบาย" ด้วยคำถามง่ายๆ ว่า ...
    • รสชาติเป็นอย่างไร ... เด็กๆ น่าจะตอบว่า "หวาน...."
    • หวานเหมือนอะไร? ... ตรงนี้นักเรียนจะได้ฝึกคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบมากๆ เช่น หวานเหมือนมะม่วงสุก หวานเหมือน.....
    • หากเราต้องการรสหวานเราต้องเติม.... "น้ำตาล"
    • นอกจากหวานแล้วมีรสอย่างอื่นไหม ... ถามนำไปสู่ช็อคโกแล็ต (หากเด็กๆ รู้จักช็อคโกแล็ต)
    • สรุปว่า ขนมมีส่วนผสมของน้ำตาล และสีผสมอาหาร ...
  • ครูเอาขนมสีต่างๆ วางลงบนจานสัก ๓ เม็ด ดังภาพ แล้วตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่า
    • ไหน..ใครบอกได้ว่า หากครูทีน้ำลงใส่ในจาน จะเกิด(เหตุการณ์)อะไรขึ้น ... บอกทวนคำตอบของเด็กๆ โดยไม่เฉลย ...
    • เมื่อเด็กสนใจเต็มที่ ครูเทน้ำลงบนจาน พร้อมใช้คำพูดกระตุ้นให้นักเรียนดู

ต้องให้นักเรียนได้ลองทำตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตนเอง (แม้จะเป็นเด็กอนุบาล)

ผมเสนอว่า... หลังจากการสาธิต ครูต้องแจกขนมเอ็มแอนด์แอ็มให้เด็กๆ แต่ละกลุ่ม (ไม่ควรเกินกลุ่มละ ๓ คน) พร้อมจานและน้ำ แล้วให้เริ่มทำการทดลองด้วยตนเอง โดยให้ครูเดินดูแลไปทีละกลุ่ม ถ้ากลุ่มไหนทำไม่ได้เลย ครูก็ลงมือทำให้ดู แต่หน้าที่หลักๆ คือ

  • ตั้งคำถามว่า "เกิดอะไรขึ้น" "เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง" เพื่อฝึกให้เด็กแต่ละคนได้ สังเกต -> คิด -> พูด .... (ครบรอบกระบวนการ Input-Output ของการเรียนรู้)

ครูพาสะท้อนการเรียนรู้

ผมเข้าใจว่ามีกระบวนการหลายอย่างที่ครูสามารถใช้สะท้อนการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่ครูอนุบาลทุกคนรู้มากกว่าผม เช่น การตั้งคำถาม ให้วาดรูป ให้ออกไปนำเสนอ ฯลฯ อย่างไรก็ดี การจะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าอะไรคือ "การละลาย" ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเราใช้การแพร่ (Diffusion) ของน้ำตาลอย่างในการทดลองนี้


ให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้เองเสมอ (เด็กๆ อนุบาลไม่ต้องสอบ O-Net)

วิธีสรุปให้นักเรียนรู้จักคำว่า "ละลาย" ที่ง่ายและดีที่สุด (ที่ผมคิดได้) คือ ครูให้เด็กๆ หยิบเอาขนมเอ็มแอนด์เอ็มในจานที่ผ่านการเทน้ำใส่ให้ท่วมระดับครึ่งเม็ดขนมตามที่บอกไว้แต่แรก (หรืออาจให้เด็กๆ ค่อยเทน้ำทิ้งก็ได้) แล้วพลิกเม็ดขนมขึ้น จะพบว่า สีสวยงามต่างๆ หายไป เหลือเพียงสีน้ำตาลของช็อคโกแล็ตเท่านั้น .... ครูตั้งคำถามและชี้ให้เด็กๆ ดู

  • เห็นอะไร? ... เม็ดขนมเปลี่ยนไปอย่างไร ... สีสวยๆ หายไปไหน

แล้วเราก็เชื่อมว่า "ละลาย" กับคำว่า "สีหายไปในน้ำ ....

ไม่รู้ว่าวิธีนี้จะดีหรือไม่ ... คุณครูที่นำไปใช้ ลองมาแบ่งปันกันนะครับ... ผมเองทดลองใช้กับลูกสาววัย ๓ ขวบ ...โอเค...เลยครับ




การละลายของน้ำตาล

มีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งครูจำเป็นต้องทำ (ผมเสนออีกแล้ว) คือการใช้กระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ตรงๆ ว่า น้ำตาล "ละลายน้ำ" หรือไม่ ซึ่งควรจะทำหลังจากที่เด็กๆ เข้าใจและเชื่อมโยงคำว่า "ละลาย" กับว่า "หายไป" หรือ "สีขยายออก" จากการทดลองของขนมเอ็มแอนด์เอ็มแล้ว

วิธีการคือ เทน้ำใส่จาน (ระดับเท่าๆ เดิมที่เคยเติมตอนแรก) แล้ววางก้อนน้ำตาลทรายลงตรงกลาง ใช้หลอดหยด กดสีให้หยดลงบนก้อนน้ำตาล แล้วให้เด็กๆ สังเกตว่า น้ำตาลละลายในน้ำหรือไม่

และย้ำความเข้าใจ ให้ครูเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นน้ำมัน แล้วตั้งคำถามให้เด็กเปรียบเทียบกัน และสรุปเชื่อมโยงกันว่า น้ำตาลไม่ละลายในน้ำมัน...นั่นเองครับ ....

หมายเลขบันทึก: 588894เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2015 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2015 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท