เส้นทาง...สายดนตรี


ตัวเมียจะตีง่ายกว่าตัวผู้..เสียงจะดัง ทุ้มกว่า และจะให้เสียงว่า..จ๊ะ...ทั่ง..ส่วนตัวผู้จะต้องให้เสียงว่า โจ๊ะ..ติง ผมฝึกปรือสองคนกับอาจารย์ใช้เวลาเพียงสองวัน ก็เล่นร่วมวงได้ ผ่านไปได้ทุกเพลงและทุกจังหวะของวงเครื่องสายผสม

โดยรวมแล้ว เส้นทางชีวิตของผม..ไม่ค่อยจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา การงานอาชีพและครอบครัว..กว่าจะประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง ต้องอาศัยความมุ่งมั่นทุ่มเทพยายามอยู่ตลอด..แก่ตัวไปมากกว่านี้ หมดเรี่ยวหมดแรง..จะลำบากแค่ไหนก็ไม่รู้

สมัยเรียน ป.ตรี ที่วิทยาลัยครูพระนคร ก็นับว่าโชคยังดี ที่ได้ทุนการศึกษาช่วยเหลือบ้าง ช่วงเย็นก็หารายได้พิเศษ จัดหนังสือที่หอสมุด เขาให้วันละ ๕๐ บาท ก็พอถูไถไปได้ ตอนนั้นเรียนวิชาเอกภาษาไทย วิชาโทบรรณารักษ์ การได้จัดหนังสือที่ห้องสมุด ถือว่าได้ความรู้และประสบการณ์ตรงมากกว่าใคร...

เข้าไปเรียน ป๊ ๑ ..ตั้งใจเรียน รู้สึกกระตือรือร้นมาก ไปเรียนแต่เช้า นั่งหน้าทุกชั่วโมง บุคลิกตอนนั้น เหมือนไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อน อยากรู้อยากเห็นไปหมด ๒ - ๓ ชั่วโมงแรก อาจารย์ผู้สอน(สุมามาลย์ เรืองเดช) ทดสอบความรู้พื้นฐานนักศึกษา โดยให้เขียนกลอนนิราศ ๑๐ บท....ผมก็เริ่มบรรยาย ว่าได้นั่งรถสีเทา สาย ๑๑๒๙ ผ่านหัวถนนปากเกร็ด ผ่านหลักสี่ ลงที่ วค. ไม่ต้องเลยไปปลายทางที่สะพานใหม่ บรรยายถึงตรงไหน ก็จะผูกโยงไปยังคนรักที่คิดถึง ซึ่งตอนนั้นสมมุติเอา ยังไม่มีใครในหัวใจ เสร็จสรรพส่งอาจารย์ ได้คะแนนเต็ม ๑๐ .อาจารย์ท่านก็เลยพูดหน้าตาเฉย .."...มา..ชยันต์ เธอมาสอนแทนครู..." จากนั้นก็ให้เพื่อนนักศึกษาปรบมือให้ผม...เพื่อนๆต่างตะลึงในผลงาน กล่าวชมกันใหญ่ ผมก็ทำหน้าตาย ทำท่าไม่ยินดียินร้ายในคำชมสักเท่าใด.....แต่ใจ..สิ..ปลื้มสุดๆ ....

คราวนี้ก็มาถึง..เรื่องราวของดนตรีบ้าง

ความที่สนใจภาษาไทย จึงเลือกเป็นวิชาเอก ส่วนวิชาโท..ก็คิดว่าต่อไปต้องเป้นครู ห้องสมุดก็ย่อมมีความสำคัญ ถ้าจะมีวิชาชีพครู ความรู้จะต้องหลากหลาย นำไปใช้ได้ครบครัน ก็ต้องเพิ่มทักษะด้านดนตรี แต่เขาไม่เปิดเป็นวิชาตรี มีแค่วิชาโท..ซึ่งผมก็เลือกวิชาบรรณารักษ์ไปแล้วด้วย..ทำไงดีล่ะ

ตัดสินใจใช้ความกล้า เข้าไปหาหัวหน้าภาควิชาดนตรี (อาจารย์สมหมาย)... ขอสมัครเป็นลูกศิษย์สักคน อาจารย์ก็ใจดีเหลือเกืน ท่านรีบบอกทันที"..เต็มแล้ว..และเครื่องดนตรีก็มีจำกัดด้วย ต้องให้วิชาเอกวิชาโทเขาเรียนก่อน... ถ้าเธอสนใจอยากเรียนก็ต้องมาตอนเย็น หลังเวลา ๑๖.๓๐ น..."

ผมไปทุกเย็น..ผ่านไป ๒ อาทิตย์ ไม่ได้เรียนอะไรเลย..เพราะเครื่องหลักๆ เช่น ระนาด ฆ้องวง ซอ จะเข้ นักศึกษาเขาใช้เรียน พอเลิกเรียนเขาก็ซ้อมวงกันต่อ...

ทำไงดี...ก็ต้องเสี่ยงดู กล้าๆหน่อย แทรกตัวไปในห้องซ้อม ทำตัวเนียนๆ ไม่มีใครสนใจหรอกเพราะเขาใช้สมาธิกันอยู่ ช่วงไหน..ที่เขาบรรเลงพร้อมกัน ผมเห็นเครื่องประกอบจังหวะ เช่น กรับ และฉาบ วางอยู่ ผมก็หยิบขึ้นมาขยับ พอดีใจมันรัก ก็เลยไม่ทำให้เพลงเขาล่ม ทำอยู่อย่างนี้หลายวัน จนเป็นที่คุ้นเคย อาจารย์ก็เลยสงสาร สอนการตีฉิ่งให้ ตั้งแต่สามชั้นซึ่งช้าหน่อย ..สองชั้นและ ชั้นเดียวในที่สุด....ผมจึงได้ตี..ฉิ่ง.. คุมวงดนตรีไทยของวิทยาลัย...ตั้งแต่นั้น...เป็นต้นมา

ตอนหลังก็มีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งระนาด ฆ้องวงใหญ่และขิม แต่ไม่ค่อยจะมีเวลาเท่าที่ควร เพราะผมก็เรียนวิชาเอกวิชาโทของผมเหมือนกัน แต่กว่าผมจะได้รับการยอมรับให้เข้าวงได้อย่างเป็นทางการ ก็เข้าสู่ภาคเรียนที่สองของชั้น ปีที่ ๑ ต้องมานะอดทน เวลาวงเขาไปแสดงที่หอประชุมหรือมีงานนอก ก็ต้องคอยช่วยเขาแบกระนาดแบกกลอง...รับใช้ด้วยความยินดี

มีอยู่วันหนึ่ง..ต้องมีการซ้อมไปออกงานใหญ่..ณ บ้านมนังคศิลา กรุงเทพฯ นักศึกษาที่ตีกลองแขกลากลับบ้านที่ต่างจังหวัด อาจารย์ประเสริฐ เล้ารัตนอารีย์ ท่านจบจาก วค.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปฏิบัติงานในตำแหน่งอัตราจ้าง ท่านเป็นเพื่อนอาจารย์สมหมาย และท่านก็เก่งด้านเครื่องหนัง(กลอง) ท่านเรียกผมไป ถามว่า สนใจตีกลองแขกไหม...ผมรีบตอบท่านทันที..สนใจครับ...คนตีกลองจะดูเด่นเป็นสง่า เป็นที่ยอมรับของทุกคนในวงดนตรีไทย..วงนี้ครับ....ประโยคหลังเนี่ย ผมคิดเอง ไม่ได้บอกอาจารย์

ธรรมดาของวงเครื่องสาย ต้องคุมจังหวะด้วยกลองแขก ซึ่งต้องตีสองคน ส่วนใหญ่จะใช้หน้าทับลาว (สองชั้น)ซึ่งตีไม่ยาก จะยากตรงเพลงโหมโรงและเพลงเถา ที่ต้องเริ่มช้าๆด้วยสามชั้น และจบด้วยชั้นเดียว

อาจารยฺประเสริฐ..ก็เริ่มสอนผมด้วยการให้ท่องจังหวะก่อน..ชั้นเดียว.."..ทั่งติง ทั่งติง โจ๊ะจ๊ะ โจ๊ะจ๊ะ โจ๊ะจ๊ะ ป๊ะ โจ๊ะจ๊ะ โจ๊ะจ๊ะ โจ๊ะจ๊ะ ติงติง ทั่งติงทั่ง ติงทั่งติง โจ๊ะจ๊ะ ติงทั่งติงติง ทั่งติง ทั่งติงทั่ง.....สองชั้น ก็ย่นย่อลงมา ส่วนชั้นเดียว.. ติง ทั่ง ติง.. ติง ทั่ง ติง.ทั่ง ติง ทั่ง....ส่วนหน้าทับลาวที่ใช้บ่อยมาก ..ติง โจ๊ะ ติงติง ติงทั่ง ติงทั่ง...ครับ วันเดียวผ่านได้เลย....อาจารย์ไม่รอช้า เพราะใกล้จะออกงานแล้ว ท่านคว้ากลองแขกมาให้ผมเรียนรู้วิธีตี สอนการวางมือ สะบัดมือ แปะมือไปตรงไหนถึงจะถูก จากนั้นก็ให้ผมตีตัวเมีย ท่านจะตีตัวผู้

ตัวเมียจะตีง่ายกว่าตัวผู้..เสียงจะดัง ทุ้มกว่า และจะให้เสียงว่า..จ๊ะ...ทั่ง..ส่วนตัวผู้จะต้องให้เสียงว่า โจ๊ะ..ติง ผมฝึกปรือสองคนกับอาจารย์ใช้เวลาเพียงสองวัน ก็เล่นรวมวงได้ ผ่านไปได้ทุกเพลงและทุกจังหวะของวงเครื่องสายผสม....ที่มีทั้งเพลงโหมโรง เพลงเถาและเพลงบรรเลงทั่วไป

นับเป็นช่วงเวลาของการเรียนดนตรีไทย ที่มีความสุขมาก ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ผู้สอนทั้งสองท่าน ได้รับความไว้วางใจให้ออกงานทุกงานของวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นงานทำบุญ งานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานแต่งงานและงานประจำปีของสถาบัน

วันที่ร่วมพิธี..ครอบครู...หรือไหว้ครู ผมจึงเป็นนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยคนเดียวที่ได้ร่วมพิธีนี้ ตอนที่ท่านครู..นำเศียรพ่อแก่ ครอบลงมาที่หัวของผม รู้สึกได้ถึง..ความมานะอดทน เพียรพยายามของผมได้ผล รู้สึกดีใจและจะตั้งใจเรียนรู้ทักษะดนตรีเพื่อไปถ่ายทอดสู่นักเรียนต่อไป ที่สำคัญ..จะไม่มีวันลืมพระคุณครูบาอาจารย์ทางดนตรี..อย่างแน่นอน

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

บ้านทุ่งดินดำ / ๑๔ เมษายน ๒๕๕๘

(ถ่ายภาพกับเพื่อนร่วมวงดนตรีไทย วิทยาลัยครูพระนคร)

</span></strong>

หมายเลขบันทึก: 588891เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2015 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2015 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สมัยเรียนครู เดินผ่านห้องซ้อมดนตรีไทย ทุกวัน อยากเรียน

ดนตรีไทยเหมือนกันแต่ไม่มีเวลา เรียนครูแค่ 2 เวลามีน้อย

ได้แต่ฟัง เท่านั้น ขอบฟังเพลงไทยบรรเลง

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดั่งจินดาค่าบุรินทร์

</span></strong>

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะอาจารย์

ชื่นชมการเรียนรู้แบบใช้ความวิริยะอุตสาหะ

สมเป็นครูครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท