ถึงรสถึงชาติ (๓) : ทำละครวิทยุ


จากเป้าหมาย "เราจะอ่านวรรณคดีให้เข้าถึงคุณค่าของวรรณคดี และถ่ายทอดความงามทางภาษาออกมาให้ได้" คือ เป้าหมายในการเรียนรู้วิชาภูมิปัญญาภาษาไทย หลังจากที่นักเรียนได้เข้าใจและสัมผัสถึงรสชาติ รวมทั้งถึงความงามทางภาษา

จากจุดเริ่มต้นเหล่านั้น ทำให้ครูต้องชวนกันมาคิดหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนสนุกไปกับการอ่านวรรณคดีทุกครั้ง พร้อมทั้งได้นำเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ก่อนหน้านี้มาใช้ได้ จึงเกิดเป็นโจทย์งานสร้างสรรค์ขึ้น คือ "การทำละครวิทยุ" นั่นเอง


ทำไมครูจึงเลือกทำละครวิทยุ


เมื่อครูพูดถึงละครวิทยุ นักเรียนส่วนใหญ่ก็ทำสีหน้าฉงนสงสัยว่าคืออะไร มีนักเรียนคนหนึ่งในห้อง ๖/๒ เป็นแฟนพันธุ์แท้ของละครวิทยุเลย ส่งเสียงเฮดีใจขึ้นมาว่า "อ๋อๆๆ หนูเคยฟัง ชอบฟังมาก สนุกค่ะ" ในขณะที่เด็กคนอื่นๆยังงงๆอยู่ ครูจึงพานักเรียนไปสัมผัสประสบการณ์ด้วยการให้นักเรียนลองฟังละครวิทยุตัวอย่าง

ละครวิทยุกับนักเรียนสมัยนี้ คงเป็นช่องว่างระหว่างกันอย่างสิ้นเชิง ยิ่งมีสื่อต่างๆที่เน้นภาพเป็นหลักแล้ว การได้ฟังอะไรต่างๆในชีวิตก็คงจะลดน้อยลงไป ครูจึงจัดหาสื่อเหล่านี้มาให้นักเรียนได้รู้จัก เมื่อให้นักเรียนได้ฟัง ครูก็ให้นักเรียนได้ลองสังเกตว่าละครวิทยุมีความโดดเด่นอย่างไรบ้าง รวมทั้งชวนกันคิดว่า ถ้าเราจะสร้างละครวิทยุขึ้นมาหนึ่งชิ้น จะต้องมีอะไรมาประกอบกัน จึงจะทำให้ละครวิทยุน่าสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขในการทำงานของเราต่อไป


แต่ที่สำคัญก็คือ

นักเรียนมีความรู้ / ทักษะ ที่สะสมมาจากภาคเรียนก่อนหน้านี้ ได้แก่

  • การอ่าน_การเขียนร้อยแก้ว (ต้องถอดความจากร้อยกรองตอนที่เลือก)
  • การอ่านร้อยกรอง


ภาคเรียนนี้

  • การสร้างภาพด้วยคำ การสร้างคำจากภาพ
  • การตีความ และการถอดความบทประพันธ์


การทำละครวิทยุจึงเป็นชิ้นงานที่นักเรียนต้องนำเอาประสบการณ์เดิมที่มีอยู่มาต่อยอดเป็นการ

  • แบ่งบทร้อยกรองที่ครูให้อ่านออกเป็นตอนๆ แล้วเขียนออกมาให้เป็นบทร้อยแก้ว แล้วก็ยกบทร้อยกรองในตอนนั้นมาเทียบด้วย
  • สร้างจินตนาการเกี่ยวกับเหตุการณ์ในตอนนั้นๆ ให้ฉาก ตัวละคร และบรรยากาศในท้องเรื่องดำเนินไปด้วยบทบรรยาย และบทสนทนา ซึ่งเป็นอุบายให้นักเรียนต้องอยู่กับวรรณคดีในแต่ละตอนอย่างถึงแก่น
  • อ่านสิ่งที่เขียนออกมาเป็นละครวิทยุ
  • นำเสนอบทที่เขียนออกมาด้วยน้ำเสียงที่เหมาะสมกับบท ให้ถูกต้องตามอารมณ์ของบท ด้วยความชัดเจน และไพเราะชวนฟัง


โจทย์ "ให้สร้างสรรค์ละครวิทยุ จากการอ่านวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศึกอินทรชิต" โดยมีเงื่อนไขในการทำงาน ดังนี้

๑. สมาชิก ๕ - ๖ คน

๒. สร้างบทละคร โดยส่วนประกอบ คือ มีการเกริ่นเรื่องราว มีบทบรรยายฉาก/เหตุการณ์ บทสนทนา ซึ่งจะต้องสะท้อนรสกวีและร้อยกรองภาษาให้ดี

๓. การพากย์เสียง โดยมีเสียงบรรยายและเสียงบทสนทนาตามอารมณ์ตัวละครประกอบในละครวิทยุ

๔. เสียงประกอบ เช่น เสียงดนตรีไทยและเสียงประกอบบรรยากาศให้สมจริง

ก่อนลงมือทำงานกันอย่างจริงจัง ครูให้นักเรียนลองสร้างบทละครจากบทร้อยแก้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตอนต้นเรื่องก่อน


เมื่อซ้อมมือกันบ้างแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือทำงานกันจริงๆเสียที ซึ่งก่อนทำงาน ครูยังคงเน้นย้ำเป้าหมายในการทำงานครั้งนี้ด้วยการให้เห็นความสำคัญของงานนี้ว่า ...

๑.นักเรียนได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา ๓ สัปดาห์ในการทำงานชิ้นนี้

- ลิ้มรสกวีและสัมผัสอารมณ์ของกวี

- ถ่ายทอดภาษากวีผ่านการเขียนบทละคร

- ถ่ายทอดภาษาภาพสำหรับบทละครวิทยุ

๒.สังเกตการเรียนรู้ของตนเองขณะทำงาน เพื่อได้ข้อค้นพบที่สำคัญของการอ่านวรรณคดี ๒ ประการ คือ "คุณค่าของวรรณคดี" และ "ความงามทางภาษา"

เมื่อทราบกันแล้ว นักเรียนจึงได้ลงมือทำงาน โดยเริ่มต้นจากการเขียนบทละคร จากบทร้อยกรองในวรรณคดีกัน แบ่งตอนต่างๆในเรื่องเป็น ๔ ช่วงเหตุการณ์ ได้แก่ อินทรชิตทำพิธีชุบศรนาคบาศ ศึกพรหมาสตร์ หนุมานทำลายพิธีกุมภนิยา และอินทรชิตรบครั้งสุดท้าย

ขณะที่ทำงาน นักเรียนก็ได้เรียนรู้จักการแก้ปัญหา โดยครูคอยเป็นผู้สังเกตการณ์และให้คำแนะนำไปเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่พบได้แก่

๑. ปัญหาในการอ่านบทขนบวรรณคดี เช่น ชมเมือง รถทรง จัดทัพ ลงสรง ทรงเครื่องทรง เป็นต้น

๒. การไม่เข้าใจความหมายคำศัพท์

๓. ไม่รู้จัก/จินตนาการภาพเหตุการณ์บางตอนไม่ได้ เช่น ตอนนางสีดาทำพิธีเสี่ยงทายบุษบก


ครูจึงใช้กระบวนการ "นำเข้า-คลี่คลาย"ก่อนเริ่มต้อนทำงานทุกครั้ง โดยให้ความรู้ในส่วนที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน เช่น หาภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องราวตุการณ์ในตอนนี้มาสัมพันธ์กับบทประพันธ์ ให้นักเรียนเตรียมพจนานุกรมมาเพื่อเปิดหาความหมายของคำศัพท์ เป็นต้น


บรรยากาศในการ "นำเข้า-คลี่คลาย" เป็นบรรยากาศที่สร้างความสนุกให้กับนักเรียนได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการช่วยกันหาความหมายของคำศัพท์ โดยครูให้นักเรียนหาความหมายของคำที่ไม่เข้าใจ แล้วมาช่วยกันเขียนขึ้นบนกระดาน กระดานในห้องเรียนจึงกลายเป็นคลังคำศัพท์ของห้องไปในทันที


เมื่อนักเรียนแต่ละกลุ่มได้บทละครวิทยุของตนเองมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่นักเรียนจะได้ลงมือ "พากย์เสียง" กันเสียที แล้วด้วยความบังเอิญปนความตั้งใจของครู ที่ได้พานักเรียนไปชมการแสดงหนังใหญ่ที่วัดขนอน จ.ราชบุรี นักเรียนได้มีโอกาสไปพบกับนักพากย์เสียงท่านหนึ่ง คือ "ครูตั้ม" ซึ่งสามารถพากย์เสียงได้สนุกสนาน และเปลี่ยนเสียงเป็นตัวละครต่างๆได้หลายตัว จึงเป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจให้นักเรียนพยายามพากย์เสียงบทละครวิทยุของตนเองให้มีอรรถรส


สะท้อนการเรียนรู้

ผลสำเร็จจากการทำงานในครั้งนี้ สะท้อนผ่านการทำ AAR ในการทำชิ้นงาน โดยครูมีคำถามด้านการเรียนรู้ ๒ ข้อ ให้นักเรียนได้ตอบ คือ

๑. วันนี้ ฉันได้พบว่าวรรณคดีมีคุณค่าอย่างไร

๒. วันนี้ ฉันค้นพบความงามทางภาษา อย่างไร


ฉันพบว่าวรรณคดีมีคุณค่า โดยมีการใช้คำสัมผัส การหลากคำ ให้เกิดเสน่ห์ของภาษา เช่น บท "สีแววแสงวับฉายฉาน" "ดาวกลาดดาษเกลื่อนเรียงราย" เป็นต้น

พร้อม ๖/๔


ใช้ถ้อยคำไพเราะ สื่ออารมณ์ความรู้สึกชัดเจน เช่น เหตุการณ์ที่อินทรชิตมาลานางมณโฑเพื่อรบครั้งสุดท้าย นางมณโฑกล่าวด้วยความเศร้าใจว่า "นิจจาเอ๋ยเจ้าดวงนัยเนตร จอมเกศของแม่เฉลิมขวัญ เวราสิ่งใดมาตามทัน ให้พลัดพรากจากกันอนาถนัก"

ลินดา ๖/๔


ด.ช. โอม ซึ่งเคยมีทัศนคติที่ไม่ชอบการอ่านวรรณคดีมาก่อน รู้สึกว่า "เมื่อได้อ่านวรรณคดีรามเกียรติ์ ก็ประทับใจและเห็นว่าเรื่องราวมีความสนุกสนาน มีการต่อสู้และการวางแผน จนทำให้รู้สึกอยากอ่านวรรณคดีมากขึ้น และเกิดเป็นแรงบันดาลใจว่า "อยากจะอ่านเรื่องรามเกียรติ์ให้ครบทุกตอน เพื่อรู้เรื่องราวทั้งหมด"


นอกจากการเรียนรู้นี้ จะส่งผลที่ทำให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจที่ดีในการทำชิ้นงาน และต่อยอดการเรียนรู้ของตนเองแล้ว แรงบันดาลใจเหล่านั้น ยังส่งผลต่อการดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเองของนักเรียนออกมาด้วย โดยจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการทำงานในภาควิมังสา คือ "การแสดงโขน"


การแสดงโขนจะเป็นงานระดับห้องเรียน ซึ่งนักเรียนจะต้องลงมือทำงานต่างๆ ด้วยตนเอง ก่อนแสดงนักเรียนต้องหาผู้นำและจัดสรรหน้าที่ทั้งหมดให้กับทุกคนในห้อง โดยพิจารณาให้ตรงตามความสามารถ เช่น การกำกับการแสดง การพากย์เสียง การเขียนบท การทำฉาก ฯลฯ


ด.ช. เอี๊ยม ได้แรงบันดาลใจที่ดีจากการฟัง "ครูตั้ม นักพากย์เสียงจากการแสดงหนังใหญ่ วัดขนอน" จึงพากย์เสียงการแสดงโขน ในส่วนของบทพากย์ได้ดีเยี่ยม


ส่วนห้อง ๖/๔ ซึ่งได้รับผิดชอบในการแสดงชุดศึกอินทรชิต ตอน อินทรชิตรบครั้งสุดท้าย ต้องท้าทายกับการเขียนบทละครเพื่อการแสดง เพราะ... ครูไม่มีบทการแสดงโขนต้นฉบับให้ดูเป็นแบบอย่าง จึงต้องอาศัยความสามารถที่มีอยู่ในการทำงานชิ้นนี้ร่วมกัน และเหตุที่บอกว่าเป็นความท้ายทาย ก็เพราะ

๑. การแต่งคำประพันธ์เพื่อการแสดงโดยเฉพาะ จะแตกต่างจากบทประพันธ์ทั่วไป เพราะจะต้องเขียนให้กระชับ สื่อความชัดเจน ไม่พรรณนาเยิ่นเย้อจนเกินไป

๒. บทละครเพื่อการแสดงจะต้องประกอบไปด้วย บทพากย์ บทร้อง และบทพากย์เจรจา ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนไม่เคยรู้จักมาก่อน

๓. บทประพันธ์ที่แต่งขึ้น ต้องเหมาะสมกับการนำไปเป็นบทร้อง ดังนั้น การใช้คำในบทประพันธ์ต้องคำนึงถึงจังหวะและท่วงทำนอง

Text Box: อินทรชิต: เมื่อนั้น อินทรชิตยักษา พอรู้ว่าตนต้องสิ้นชีวา จึงไปกราบลาบิดาและมารดร แล้วจึงไปหาพระมารดา พร้อมทูลว่าตนต้องสิ้นชีพด้วยธนูศร ด้วยหัตถ์พระรามาอย่างแน่นอน ลูกลาก่อนข้าขออันชุลี นางมณโฑ : นางมณโฑได้ยินก็โศกา อุตส่าห์เลี้ยงจนเจ้ามีวันนี้ พอเห็นลูกรักต้องสิ้นชีวี แม่โศกีคิดอยากจะตายตาม นางมณโฑ : อินทรชิต ลูกอย่าไปเลยองค์รามทั้งแกร่งกล้าน่าเกรงขามถ้าลูกพ่ายแพ้ศึก สงครามลูกคง ถูกดับชีพและจะถูกหยามเย้อหยั่นบั่นชีวี อินทรชิต : ลูกคิดดีแล้วท่านแม่ ถึงแม้ลูกจะต้องดับชีวา ก็ต้องไป ตัวลูกนี้ก็ศิษย์มีครูบาอาจารย์ลูกก็ต้อง รักษาศักดิ์ศรีนี้ไว้ให้มั่นคงให้ได้ นักเรียนห้องนี้ก็ระดมความคิดกันเอง โดยมีกำลังสำคัญได้แก่ น้ำ มุข ลินดา เกรซ ต้นสน เก็น ฟ้า ป่าน ฯลฯ ซึ่งนักเรียนสามารถสร้างสรรค์บทละครที่มีความไพเราะขึ้นมาได้ด้วยตนเองจนสำเร็จ สร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวนักเรียนเองเป็นอย่างมาก


ดังนั้น หากย้อนมองเป้าหมายที่ได้ตั้งกันเอาไว้แต่แรกว่า "เราจะอ่านวรรณคดีให้เข้าถึงคุณค่าของวรรณคดี และถ่ายทอดความงามทางภาษาออกมาให้ได้" สิ่งที่นักเรียนแสดงออกผ่านการทำงานและการสะท้อนการเรียนรู้นั้น ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไว้ว่านักเรียนซึมซับความงามทางภาษาและเห็นคุณค่าของวรรณคดีได้ไม่น้อยเลยทีเดียว



ครูนัท - นันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี บันทึก

ครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ปรุงรส


หมายเลขบันทึก: 588884เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2015 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2015 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท