งดงามในความต่าง


คุณครูบิ๊ก - พิษณุ กมลเนตร์ เป็นครูคู่วิชาของคุณครูนัท - นันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี เจ้าของบันทึก ถึงรสถึงชาติ ๓ ตอนจบ ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้

น่าสนใจว่าบนประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ไปบนแผนการสอนชุดเดียวกัน ครูบิ๊กเก็บเกี่ยวการเรียนรู้ของตนเอาไว้ในบันทึกที่ใช้ชื่อว่า "การเรียนรู้อย่างผ่อนคลาย ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี" ที่เริ่มต้นว่า....


ในภาคเรียนจิตตะ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เป็นภาคเรียนที่นักเรียนชั้น ๖ จะได้เรียนเรื่องรามเกียรติ์ต่อเนื่องจากภาควิริยะ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ตอนศึกอินทรชิตเป็นหลัก ตัวครูผู้สอนเองก็มีความกังวลไม่น้อยที่การเรียนการสอนในภาคเรียนนี้อาจสร้างความน่าเบื่อให้กับนักเรียนหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่ยังไม่สามารถจับประเด็นหรือลำดับเหตุการณ์ของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ได้ เท่านั้นยังไม่พอ ! นักเรียนยังจะต้องพบเจอกับบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกอินทรชิตในลักษณะของร้อยกรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนในยุคสมัยนี้ไม่ค่อยมีความสามารถในการซึมซับและไม่ต้องการที่จะพบเจอเท่าไรนักเนื่องจาก "ปิดใจ" และ "ไม่กล้าอ่าน" ในภาคเรียนนี้จึงนับว่าเป็นงานหินของครูเลยทีเดียวที่จะทำให้นักเรียน "เปิดใจ" ให้กับรามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิต และบทละครในลักษณะของร้อยกรอง


คณะครูนั่งคิดอยู่นานจึงคิดออกจากการที่ได้มองย้อนถึงวัตถุประสงค์หลักในการเรียนวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยที่นักเรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับวรรณคดีในทุกภาคเรียนที่แตกต่างกันมาโดยตลอด ย้อนไปในภาคเรียนฉันทะและวิริยะ ครูสังเกตเห็นว่าการที่นักเรียนจะเลือกอ่านวรรณคดีร้อยกรองสักเรื่องหนึ่ง นักเรียนจะ "กวาดสายตาและพลิกหน้าหนังสือเพื่อค้นหาบทที่ตนเองอ่านแล้วเข้าใจ" เท่านั้น นั่นหมายความว่านักเรียนจะซึมซับคุณค่าจากเรื่องที่อ่านได้ไม่มาก ยังไม่รวมถึงคำศัพท์ต่างๆ ที่จะต้องให้ครูช่วยแปลความหมายอยู่ตลอด เช่น คำว่า ฤทัย หทัย ทำให้นักเรียนไม่ได้เห็นคุณค่าของการเลือกสรรคำมาร้อยเรียงกันในวรรณคดีเรื่องที่อ่านเท่าที่ควร ในภาคเรียนจิตตะนี้จึงสมควรแก่เวลาที่ครูจะต้องทำให้นักเรียนมองเห็นคุณค่าและความงามทางภาษาของวรรณคดีให้ได้ ดังนั้นการเริ่มต้น "ทำความรู้จักกับภาษา" จึงเป็นสิ่งที่ครูเห็นว่าควรทำให้เป็น "ความประทับใจแรกพบ" ที่จะทำให้เขาหลงใหลในวรรณคดีร้อยกรองที่เขาปิดใจมาโดยตลอด


"ปรุงอาหาร ปรุงรสคำ"




คณะครูวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๖ ได้สร้างแผนการสอนในขั้นแรกที่ทำให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกับคำ และรสของคำ ที่คำคำหนึ่งสามารถแสดงรสหรือให้อารมณ์และความรู้สึกกับผู้อ่านได้ โดยงานเขียนชิ้นแรกครูได้ให้นักเรียนเขียนเล่าถึงความรู้สึกในช่วงปิดภาคเรียนวิริยะโดยใช้คำต่างๆ บอกเล่าเพื่อสื่อความให้ครูได้รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของนักเรียน โดยใช้กิจกรรมการประกอบและปรุงรสอาหารมาเปรียบเทียบกับการสร้างคำในงานเขียน

ครูเริ่มต้นประกอบอาหารโดยมีวัตถุดิบเดียวกันแต่ทำอาหารออกมาต่างกัน การทำอาหารถูกเชื่อมโยงกับการเรียนเรื่องคำที่ว่า "การปรุงรสอาหาร ก็เหมือนกับการปรุงรสคำ" หนำซ้ำนักเรียนยังได้มีโอกาสชิมอาหารทั้ง ๒ จานที่ครูปรุงออกมา เกิดเป็นคำที่หลุดออกมาจากปากนักเรียนหลายคนว่า "กลมกล่อม" และแน่นอนว่าเมื่อนักเรียนได้รู้จักความกลมกล่อมของอาหารแล้ว นักเรียนจึงมีโอกาสสร้างสรรค์งานเขียนที่มีความกลมกล่อมดั่งเช่นอาหารด้วยตัวเอง

กิจกรรมการเรียนรู้โดยประกอบอาหารที่เชื่อมโยงกับการเรียนเรื่องคำเป็นแผนการเรียนการสอนที่แม้แต่ครูผู้สอนเองก็รู้สึกไม่มั่นใจเนื่องจากมีความกังวลว่าอาจกินเวลาส่วนหนึ่งในชั่วโมงเรียนไปมาก หรืออาจเกิดความวุ่นวายต่างๆ แต่เมื่อได้เห็นแววตาของนักเรียนที่มองครูยกอุปกรณ์และวัตถุดิบเข้าห้องเรียนเพื่อสอนแล้วก็เริ่มมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง บ้างก็มีสายตาที่แสดงออกถึงความแปลกใจ บ้างก็ทำประหนึ่งรู้ว่าในชั่วโมงภูมิปัญญาภาษาไทยนี้จะได้ชิมอาหารจากฝีมือของครูแน่ๆ สายตาเหล่านั้นเปลี่ยนความรู้สึกของครูจากความกังวลกลายเป็นความตื่นเต้นที่มีความมั่นใจเข้ามาคลุกเคล้าในทันที

ผลที่ออกมาเป็นที่น่าชื่นชมเนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่สามารถสร้างสรรค์งานเขียนที่มี "ความกลมกล่อม" ได้จากชุดคำที่ครูจัดให้ ดังนั้นงานเขียนของนักเรียนจึงมีหลายหลากรส ทั้งรสสุข รสเศร้า รสตลกขบขัน และที่สำคัญคือกิจกรรมนี้ทำให้นักเรียนได้ซึมซับรสคำ มีคลังคำมากขึ้น และสามารถนำคำคำนั้นไปถ่ายทอดตามอารมณ์ของงานเขียนได้ และจากชั่วโมงเรียนแรกนับตั้งแต่ครูก้าวเท้าเข้าห้องจนกระทั่งจะก้าวออก ครูมองเห็นถึงความเป็นธรรมชาติของนักเรียนที่เขาได้แสดงออกทั้งท่าทางและความคิดจากความรู้สึกและความเป็นตัวตนของเขาเอง ครูคิดว่าสิ่งที่ทำให้นักเรียนเป็นเช่นนี้เพราะเขาได้มีโอกาสมามุงดูครูทำอาหารหรือได้ใช้พื้นที่ว่างในห้องเรียนมานั่งล้อมวงคุยกันหรือเล่าเรื่องราวของกันและกันอย่างเปิดใจ ด้วยบรรยากาศในชั้นเรียนที่ "ผ่อนคลายตั้งแต่ชั่วโมงเรียนแรก" จึงทำให้ "ความประทับใจแรกพบ" ระหว่าง "ภาษากับนักเรียน" เกิดขึ้นโดยที่นักเรียนไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว


"ร้อยเรียงดอกมะลิ ร้อยเรียงคำ"


กิจกรรมถัดมา คือ การให้นักเรียนได้เริ่มสัมผัสกับรสของวรรณคดีโดยครูแจกบทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่มีความหลากรส อันได้แก่ รสรัก รสสุข รสโศก รสโกรธ รสตลก ในตอนนี้นักเรียนสามารถหาคำที่ "ปรากฏในวรรณคดี" ที่สื่อถึงรสต่างๆ ได้แล้ว เช่น "พิศวาส เสน่หา" เป็นคำของรสรัก "เหม่เหม่ดูดู๋ โกรธดั่งเพลิงกาฬ" เป็นคำที่จะปรากฏเมื่อตัวละครมีอารมณ์โกรธหรือด่าทอกัน และ "คร่ำครวญ" เป็นคำของรสโศก อีกทั้งยังได้รู้ว่าคำดังกล่าวเป็น "ขั้นกว่า" ของคำที่แสดงถึงอารมณ์โศกแบบธรรมดาอย่าง "เศร้าโศก เสียใจ" ซึ่งต่อมานักเรียนจะได้ฝึกใช้คำเหล่านี้มาร้อยเรียงกันให้สละสลวยและมีความงามดั่งเช่นการร้อยเรียงคำในบทละครเรื่องรามเกียรติ์จากกิจกรรมร้อยดอกมะลิ


นักเรียนทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสกับดอกมะลิพร้อมกับหยิบดอกมะลิจำนวนหนึ่งไว้กับตัวเองเพื่อสอดร้อยลงไปที่ก้านมะพร้าว นักเรียนหลายคนสงสัยว่า "ร้อยอย่างไรคะครู?" ครูจึงตอบว่า "ร้อยให้งดงามที่สุด" ครูรู้สึกว่านักเรียนไม่ได้กังวลต่อคำตอบของครูหรือวิธีการร้อยดอกมะลิแต่อย่างใด พวกเขายังคงนั่งสอดร้อยดอกมะลิลงบนก้านมะพร้าวอย่างจดจ่อและมีสมาธิ ท่ามกลางบทเพลงที่ครูเปิดคลออยู่ตลอด


ทันทีที่ร้อยมะลิเสร็จครูจึงให้นักเรียนเขียนทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่อารมณ์และความรู้สึกที่เห็นดอกมะลิ ความรู้สึกที่ได้สัมผัส หรือความรู้สึกขณะสอดร้อยเป็นประโยคสั้นๆ แล้วนำอารมณ์และความรู้สึกในเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นมาร้อยเรียงให้เป็นบทประพันธ์ร้อยกรอง ภายใต้แนวคิดที่ว่า "การร้อยเรียงคำในงานเขียนก็เหมือนกับการร้อยเรียงดอกมะลิลงบนก้านมะพร้าว" ซึ่งเด็กหญิงปริม ปัญญาโฉม (ชั้น ๖/๒) ได้เขียนอารมณ์และความรู้สึกของตนเองไว้ว่า "มีสมาธิและสดชื่น เพราะดอกมะลิมีกลิ่นหอม น่าหลงใหล"


เด็กหญิงปริมผู้ได้เลือกสรรดอกมะลิที่จะนำมาร้อยเรียง (เหมือนกับการเลือกสรรคำมาใช้) และการบรรจงร้อยเรียงใส่ก้านมะพร้าว (เหมือนกับการสร้างคำหรือประโยคที่มีเนื้อหาสัมพันธ์กันและสื่อภาพออกมาได้) ท้ายที่สุดเด็กหญิงปริมก็สามารถนำคำที่เขาเขียนถึงอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในตอนต้นมาแต่งเป็นบทประพันธ์ร้อยกรองโดยใช้คำในรสสุข มีเนื้อความว่า


ดอกมะลิส่งกลิ่นหอมชวนชื่นชม เมื่อลองดมก็แสนเพลินเพลินใจ

จึงนำมาร้อยเรียงกันเอาไว้ น่าหลงใหลในกลิ่นไออันหอมหวาน


ในขณะที่เด็กชายปรานต์ ประเสริฐทรัพย์ (ชั้น ๖/๒) ได้นำคำจากรสรักในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ที่เพิ่งเรียนไปเมื่อสักครู่มาใช้ในการแต่งโคลงสี่สุภาพอันเป็นฉันทลักษณ์ที่เขาชอบและถนัดในทันที


ดอกมะลินั้นช่าง บอบบาง นวลหงส์

กลิ่นหอมนั้นมันช่าง หอมนวล

เวลาสอดเสียบก้าน ระวัง เสียหาย

เราจึงจะไม่ควร ไร้สติ สอดร้อย


ครูสังเกตได้ว่าการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้กระทำโดยเปรียบเทียบให้เห็นชัดกับสิ่งที่เป็นเนื้อหาหลัก มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้แก่นักเรียน คือนักเรียนจะค่อยๆ เห็นภาพของสิ่งที่ครูตั้งใจเปรียบเทียบได้ชัดเจนด้วยตัวของเขาเองจากการร้อยเรียงดอกมะลิจนกลายมาเป็นการร้อยเรียงคำ ซึ่งนับว่าดีกว่าการให้นักเรียนท่องจำ หรือครู "ยัดเยียด" คำศัพท์และวิธีการต่างๆ ให้ เพราะวิธีการเช่นนั้นจะทำให้นักเรียนเพียงแค่จำตามแบบอย่างที่ครูสอนเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้ "สัมผัสจริง" และใครเล่าจะรู้ว่าเพียงแค่การสัมผัส (ดอกมะลิ) นี่เองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักเรียนสามารถแต่งบทประพันธ์ร้อยกรองได้ด้วยตัวของเขาเอง และในครั้งต่อมานักเรียนยังได้ฝึกทักษะนี้ซ้ำในการเขียนบรรยายภาพของช้างเอาราวัณอีกด้วย ทำให้ "ผู้ไม่รู้" เริ่มพัฒนาตนกลายมาเป็น "ผู้มีฝีมือ" ในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ และในช่วงเวลาที่ครูได้สร้างกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนค่อยๆ คืบคลานเข้าหาวรรณคดีร้อยกรองทีละนิดนี้ สิ่งที่ครูจะคงไว้ตลอดคือบรรยากาศความผ่อนคลายในชั้นเรียน ทั้งในเนื้อหาหรือทักษะที่ให้นักเรียนสร้างด้วยตนเอง ไม่เร่งรัด ไม่จำกัดความคิด ไม่คาดหวังสูง เพราะสิ่งที่นักเรียนกำลังเข้าหาคือ "เพื่อนใหม่" ซึ่งควรให้เขาใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และอีกไม่นานครูเชื่อว่าเพื่อนใหม่ของเขาจะต้องมีดีจนทำให้เขาเปิดใจยอมรับได้แน่นอน


ละครวิทยุ กับการวัดความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร


เหล่าผู้มีฝีมือคงจะถูกยกย่องอย่างล่องลอยหากไม่ได้พิสูจน์ความสามารถของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ชัด คณะครูวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยชั้น ๖ จึงมีความเห็นว่านักเรียนต่างมี วิชาเพียงพอแล้วที่จะตัวแล้วที่จะ "เปิดใจและเผชิญหน้า" กับการอ่านบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิตเสียที จึงคิดได้ว่าละครวิทยุนี่เองที่จะเป็น "สิ่งล่อใจ" ให้นักเรียนหันมาหยิบจับวรรณกรรมร้อยกรองด้วยตนเองมากขึ้น จึงแนะนำละครวิทยุให้นักเรียนได้รู้จัก และนับว่าเป็นความลงตัวมาก ละครวิทยุกลายเป็นของใหม่สำหรับนักเรียนในยุคสมัยนี้ทันที ทั้งที่แท้จริงแล้วละครวิทยุมีอายุยาวนานกว่าอายุครูของพวกเขาเสียอีก เมื่อนักเรียนรู้ว่าชิ้นงานใหญ่ของพวกเขาในภาคเรียนนี้คือ "ละครวิทยุ เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิต" ก็มีความยินดีกันยกใหญ่ถึงขั้นกระโจนเข้าหาวรรณกรรมร้อยกรองที่เขา "เคยปิดใจ" อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการสร้างละครวิทยุที่พวกเขาจะต้องอ่านและทำความเข้าใจกับภาษาที่สื่ออารมณ์และเนื้อเรื่องให้ถ่องแท้เสียก่อน


สิ่งที่ครูสอนในชั่วโมงแรกๆ ได้เกิดเป็นทักษะในตัวของนักเรียนจากการได้เห็นและลงมือปฏิบัติเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้พวกเขาสามารถอ่านวรรณคดีร้อยกรองได้เข้าใจมากขึ้น ทั้งในด้านความหมายของคำศัพท์ การใช้คำไวพจน์ หรือการใช้คำที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครต่างๆ ไม่นานนักเรียนก็มีความเข้าใจในเนื้อเรื่องมากขึ้นจนสามารถถอดคำประพันธ์ร้อยกรองให้เป็นร้อยแก้วได้ หลังจากนั้นนักเรียนก็สร้างบทละคร (บทสนทนา) ขึ้นเองจากจินตนาการในขอบเขตของเนื้อเรื่องที่ไม่ต้อง "เหมือนในหนังสือ" ทุกคำ เห็นได้จาก เด็กหญิงอันน์ ปัญญจเร (๖/๒) ได้สร้างบทสนทนาระหว่างนางสุวรรณกันยุมาที่ร้องขอมิให้อินทรชิตออกไปรบว่า


"เสด็จพี่โปรดอย่าไป หากยังคงดึงดัน โปรดเอามีดมาฆ่าให้ตายเลยดีกว่า เพราะว่าหากไม่มีพี่ อยู่ น้องก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร ไหนจะลูกทั้งสองที่ต้องกำพร้าพ่ออีก"


เด็กหญิงลลิล ดวงพัตรา ( ๖/๑) ที่ได้สร้างบทสนทนาที่สื่ออารมณ์โกรธปนเจ้าเล่ห์ของอินทรชิตในกลศึกสุขาจารแปลงกายเป็นนางสีดาว่า

อินทรชิต : นั่นแน่ ! ข้าว่าแล้ว ว่าพวกมันจะออกมาสู้รบ เหวย ! ไอ้พระลักษมณ์ อุตส่าห์ข้ามฝั่งข้ามน้ำมาสู้รบกับเรา ไม่ต้องมาสู้กันแล้ว จงมารับนางสีดาไปให้พระรามโดยเร็วเถิด

พระลักษมณ์ : โอ้เจ้าอินทรชิต ท่านนั้นคิดดีหนักหนา ที่จะเอานางสีดากลับมาให้ข้า ขอบพระทัยเสียจริง

อินทรชิต : (ปรบมือและหัวเราะ) ข้าจะเอานางสีดาไปให้เจ้า แต่ข้าจะต้องฆ่ามันก่อน เหวยเหวย มารับศพนางสีดากัน กูจะฟันเศียรนางส่งให้บัดนี้ !


การทำละครวิทยุ นอกจากนักเรียนจะรับรู้เรื่องราวของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์แล้ว ยังได้รู้จักกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งหากนักเรียนคนใดสามารถแต่งบทสนทนาออกมาได้ดี นั่นหมายความว่านักเรียนคนนั้นได้เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครแล้ว และเมื่อเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร ก็แสดงว่านักเรียนคนนั้นได้เข้าถึงเนื้อเรื่องจนสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครออกมาอีกทอดหนึ่งได้ รวมไปถึงการเลือกเสียงและดนตรีประกอบที่ให้อารมณ์และความรู้สึกที่ตรงตามบทสนทนาที่นักเรียนเป็นผู้สร้างด้วย


การเข้าถึงในลักษณะดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการเริ่มต้นหยิบจับวรรณคดีที่เป็นร้อยกรองสำหรับเด็ก ที่ถึงแม้ว่านักเรียนจะกระโจนเข้าหาเองโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ครูเชื่อว่านักเรียนยังคงเกร็งและฝืนใจอยู่ไม่น้อย แต่การเรียนรู้ถ้อยคำที่สร้างรส สร้างอารมณ์และความรู้สึก จนนักเรียนสามารถสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายความรู้สึกในเชิงลบที่มีต่อวรรณคดีร้อยกรองได้ทั้งหมด ดังนั้นนอกเหนือจากความแปลกใหม่ของละครวิทยุสำหรับนักเรียนในยุคสมัยนี้แล้ว อารมณ์และความรู้สึกของตัวละครในเหตุการณ์ต่างๆ ของเนื้อเรื่องก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ล่อใจและดึงดูดใจนักเรียนได้เช่นกัน

ละครวิทยุของนักเรียนจึงเป็นผลงานที่ทั้งนักเรียนและครูผู้สอนต่างภาคภูมิใจ อีกทั้งการที่นักเรียนสามารถสัมผัสกับคำที่สื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้ ยังมีผลต่อการแต่งบทประพันธ์ร้อยกรองโดยนำคำจากวรรณคดีไปใช้ได้ด้วย


การให้นักเรียนผ่อนคลายโดยให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่


การสร้างละครวิทยุถือเป็นงานชิ้นใหญ่และเป็นงานเพียงชิ้นเดียวที่นักเรียนได้ลงมือทำในภาคเรียนนี้ โดยครูให้นักเรียนรวมกลุ่มกัน ๖-๗ คน การทำความเข้าใจในชิ้นงานจะใช้เวลามากในเพียงคาบเรียนแรกเท่านั้น แต่หลังจากนั้นครูจะปล่อยให้นักเรียนลงมือทำงานจนกว่างานจะเสร็จโดยมีครูเดินแวะเวียนไปให้คำปรึกษาตามกลุ่ม สิ่งที่ครูได้เห็นอย่างเด่นชัดคือ ศักยภาพของนักเรียนบางคนที่ถูกเผยออกมาระหว่างที่เขากำลังร่วมมือร่วมใจกับเพื่อน เช่น เด็กชายนฤบดี สีวิภาพงษ์ (ชั้น ๖/๑) ที่เมื่อครั้งนั่งเรียนหรือร้อยดอกมะลิแล้วแต่งคำประพันธ์ร้อยกรอง เขาทำได้ไม่ดีพอ และไม่มีสมาธิจดจ่อกับการฟังเลย แต่พอได้ลงมือทำงานกลุ่ม เขากลับมุ่งมั่นและตั้งใจให้งานออกมาดี ครูได้เห็นความมีจิตอาสาของเขา ได้เห็นการร่วมมือกันวางแผนงานกับเพื่อน การเขียนบท การพากย์เสียง ซึ่งในตอนนั้นครูสงสัยมากว่าเขาคือเด็กชายนฤบดีที่ครูรู้จักหรือเปล่า ?


เด็กชายเป็นเอก ศิริมงคลเวช (๖/๑) ก็เช่นเดียวกัน เขาแสดงความรู้ความเข้าใจเรื่องรามเกียรติ์ออกมาและถือเป็นกำลังหลักที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของกลุ่มเลยก็ว่าได้ ผิดจากภาคเรียนก่อนหน้านี้ ที่หากพูดถึงเด็กชายเป็นเอก ครูและเพื่อนนักเรียนจะนึกภาพถึงเด็กชายคนหนึ่งที่ไม่เปิดใจให้กับการเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียน แต่พอเขาได้เรียนเรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกอินทรชิต ครูเห็นว่าเขามีความรู้และความเข้าใจดี และเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ครูเห็นว่าเป็นคนที่ไม่กลัววรรณกรรมร้อยกรองเหมือนนักเรียนคนอื่นๆ เลย


จะเห็นได้ว่าการที่ให้อิสระในการทำงานภายใต้เงื่อนไขโจทย์ของครู โดยปล่อยให้นักเรียนได้ลงมือทำเอง คือ การถอดคำประพันธ์เอง สร้างบทละครหรือบทสนทนาเอง หาเสียงและดนตรีประกอบหรือตัดต่อเสียงเอง ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าไม่ได้ทำชิ้นงานเพื่อส่งครูเพียงเท่านั้น แต่เป็นการทำงานเพื่อตอบสนองอารมณ์และความรู้สึก (ต้องการที่จะทำ) ของตัวนักเรียนเองด้วย อีกทั้งการทำงานในลักษณะนี้ทำให้นักเรียนมีความรับผิดชอบมากขึ้นหรือมีความเป็นเจ้าของผลงานด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจที่จะทำด้วยตัวยเอง ไม่เหมือนกับการนั่งฟังบรรยายและตอบคำถามในชั้นเรียน ทำให้นักเรียนไม่มีความรู้สึกเครียดหรือกดดันใดๆ จนเด็กหญิงคนหนึ่งที่มักขาดส่งงานเป็นประจำเดินมาบอกกับครูว่า "ครูขา หนูอยากเรียนภาษาไทย หนูอยากทำละครวิทยุให้เสร็จค่ะ"


การเรียนภูมิปัญญาภาษาไทยในภาคเรียนนี้จึงสามารถทำให้บทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นร้อยกรองสามารถเข้าไปอยู่ในหัวใจของนักเรียนทุกคนได้ จะเห็นได้ว่าแนวทางการวางแผนให้นักเรียนได้ทำความรู้จักกับวรรณคดีร้อยกรองไม่ใช่เรื่องยากเกินไปกว่าที่จะทำ ที่สำคัญคือการที่ต้องให้นักเรียนเดินเข้าหาด้วยตัวของเขาเองทีละนิด การมีกิจกรรมที่ให้เขาได้หยิบจับหรือได้ขยับตัวมากกว่าที่จะนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่โต๊ะเรียน ดังนั้นหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิตจึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ครูมอบให้แก่นักเรียน ผ่านความมั่นใจของครูว่านักเรียนมีความสุขที่ได้เรียน สุขที่ได้เข้าใจในภาษาที่เขาไม่เคยพบเจอจากการเรียนรู้ในต้นภาคเรียน และที่สำคัญคือการที่ให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านเวลาที่มีค่อนข้างมาก อิสระที่ได้รวมกลุ่มกันทำงานทั้งในและนอกห้องเรียน และที่สำคัญคือการให้อิสระในการทำความเข้าใจกับวรรณคดีด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น "ความผ่อนคลาย" ทั้งในรูปแบบการเรียนรู้ การทำงาน และบรรยากาศที่ไม่มีลักษณะฝืนธรรมชาติของความเป็นเด็ก และความผ่อนคลายนี่เองที่ทำให้เกิดเป็น "การเรียนรู้อย่างเต็มใจ" ที่ก่อให้เกิดเป็นทักษะและความรู้ตามมา



ครูบิ๊ก - พิษณุ กมลเนตร์ บันทึก

หมายเลขบันทึก: 588885เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2015 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2015 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท