ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๒๖ : ฝึกอบรมครูอนุบาลบ้านวิทยาศาสตร์น้อย (๑) : การทดลองที่ ๑ "ปลากับเรือดำน้ำ"


วันที่ ๒๕-๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ CADL จัดเวที PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกอบรมครูอนุบาลบ้านวิทย์น้อยกลุ่มใหม่ ซึ่งยังไม่เคยอบรมที่ไหน รวมกว่า ๖๐ คน จัดที่โรงเรียนเทศบาลบูรพา ใช้เวลาบ่ายของทั้งสองวัน ด้วยเจตนาว่าจะไม่ให้รบกวนการเรียนการสอนของครู

เราคาดการผิดถนัด เพราะผลสะท้อนของครูบอกว่า แทนที่จะมีเวลาอยู่สอนนักเรียนโดยไม่กระทบ แต่พอผู้ปกครองทราบเรื่องว่าจะได้เรียนเพียงครึ่งวัน พลันไม่มีใครส่งลูกมาโรงเรียนเลย บอกว่ารู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะเดินทางมา "...นำมาส่งแว๊บเพียวเดี๋ยวต้องรับตอนเที่ยง..." เลยกลายเป็นว่าแทนที่จะได้กลับกลายเป็นเสียไปทั้งสองวัน... ถือเป็นบทเรียนของการทำงานการศึกษาในพื้นที่...

เรา BAR ว่า วิธีการที่จะทำให้ครูนำเอากิจกรรมการทดลองบ้านวิทย์น้อยไปใช้ คือการทำอย่างไรก็ได้ ให้ครูเข้าใจ และประทับใจ ในการทำการทดลองแต่ละอัน ดังนั้น กิจกรรมจึงไม่มีพิธีรีตองใดๆ แม้แต่พิธีเปิด แม้ว่า ท่านอาจารย์ไสว ศึกษานิเทศก์ที่เป็นหัวใจของ PLC มาอยู่กับเราตั้งแต่เริ่ม ภาพด้านล่างนี้ถ่ายตอนจบการฝึกอบรมในวันสุดท้าย AAR จากสีหน้าว่า เราน่าจะบรรลุเป้าหมายนั้น พอสมควร



หลักสูตรการอบรมที่เราใช้ คือหลักสูตรเดิมที่เคยเริ่มไว้ตั้งแต่การอบรมไปเมื่อปีก่อน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงมุ่งทบทวนความเข้าใจ และขยายผลสู่คนที่ยังไม่เคยทำ เริ่มด้วย "เรือดำน้ำ" "หมุดลอยน้ำ" "เนินน้ำ" "ความลับของสีดำ" "การละลายของน้ำตาล" "จรวดถุงชา" "ขวดดูดน้ำ" "แก้วดูดน้ำ" "การกรอง" ฯลฯ บันทึกนี้คงไม่นำเอาวิธีของแต่ละการทดลองมาเล่า เพราะทำกันมาเยอะแล้ว (อ่านได้ ที่นี่ครับ) แต่จะมาว่ากันถึงปัญหาที่ครูมักมีหลังจากนำใช้กับนักเรียน คือ ๑) ครูไม่มั่นใจในตนเอง ๒) ครูสรุปไม่ค่อยใด้ว่าแต่ละการทดลองเกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร และ ๓) ปัญหาเรื่องโครงงาน ... ดังนี้ โดยกล่าวรวมๆ กัน ทีละการทดลอง ดังนี้ ครับ

เป้าประสงค์ของหลักสูตรบ้านวิทยาศาสตร์น้อยรุ่นที่ ๑ (ผมหมายถึงปีที่ผ่านมา) กำหนดว่ามี ๔ เรื่องของธรรมชาติ คือ น้ำ อากาศ ไฟ และคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการทำให้เด็กๆ รู้และเข้าใจ จะต้องใช้การทดลองต่างๆ หลากหลาย ซ้ำทวน ไปมา ยกตัวอย่างเช่น ตัวอย่างที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ

เรือดำน้ำ

ดร.แลค (ผศ.ดร.กฤษกร ปาสาไน) นำเข้าสู่กิจกรรมด้วยการตั้งคำถามว่า เวลาปลาจะดำน้ำ มันทำอย่างไรถึงได้มุดลงไปนิ่งอยู่ในน้ำได้โดยไม่ลอยขึ้นมา แล้วนำพาครูลงสู่กิจกรรม ทำไป...ตั้งคำถามไป...

เริ่มจากนำหลอดพลาสติกมาตัดแล้วใส่คลิปหนีบไว้ประมาณภาพนี้ แล้วก็หาวิธีเอาใส่เข้าไปในขวดบรรจุน้ำ แล้วปิดฝาขวดให้แน่น เท่านี้เราก็ได้ "เรือดำน้ำจำลองแล้ว

ความสนุกและท้าทายอยู่ที่ ทำอย่างไร จะเอา "เรือดำน้ำหลอดดูด" เข้าไปไว้ในขวด ให้ลอยอยู่ดับงรูปด้านล่าง


หากเด็กสร้างเรือดำน้ำ ได้ดังรูปแล้ว คำถามแรกน่าจะเริ่มทั้งแต่ "เด็กๆ เห็นอะไร" เพื่อฝึกให้เด็กสร้างคำเพื่อสื่อสารเหตุการณ์ได้ เป็นการฝึก "อธิบาย" ซึ่งถือเป็นทักษะเบื้องต้น ที่จะฝึกฝนไปสู่การ "อภิปราย" ในตอนท้ายต่อไป


ขั้นตอนนี้หากมีเด็กสงสัยแล้วถามว่า " ทำไมมันถึงลอยได้.." แสดงว่าคุณครูบรรลุเป้าหมายแล้วครับ เพราะที่เราทำกิจกรรมทั้งหลายก็เพื่อให้เด็กๆ สงสัย ก่อนจะแก้ความสงสัยด้วยการทดลองดู คุณครูน่าจะยังไม่ควรตอบคำถามหรืออธิบายใดๆ เพียงแต่กระตุ้นให้สังเกต โดยอาจบอกว่า ... " เดี๋ยวครูจะเฉลยตอนท้าย... แต่ตอนนี้ให้ลองใช้สายตา "สังเกตดู" แล้วมาเดาคำตอบกับครู โดยจะบอกให้รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่..." (คำตอบคือ เพราะในหลอดมีอากาศอยู่ข้างในหลอด อากาศเบากว่าน้ำจึงพาให้หลอดที่หนีบคลิปลวดลอยได้)

ตอนต่อมา ... ครูท้าให้เด็กๆ บีบขวด ขวดที่ถูกออกแรงบีบจะมีเนื้อที่ในขวด (ปริมาตร) ลดลง ทำให้แรงดันอากาศเนื่องจากการบีบขวด ไปดันน้ำให้ไหลเข้าไปแทนที่อากาศในหลอดดูด ทำให้ปริมาตรอากาศในหลอดลดลง จนถึงจุดที่รับน้ำหนักไม่ไหว จึงค่อยจมไปสู่ก้นขวด... เมื่อปล่อยมือจากขวด อากาศที่อยู่ในหลอดที่ถูกกักอัดแน่นไม่ได้หายไปไหน ก็จะดันให้น้ำไหลออกมา ทำให้น้ำหนักลดลง จึงลอยกลับมายังผิวน้ำ ... เด็กจะบีบ ปล่อย บีบ ปล่อย ไปเรื่อยๆ ...

อย่างไรก็ดี... การคาดหวังให้เด็กตอบได้แบบที่ผมว่ามา คือปัญหาสำคัญของครู เพราะอย่างที่ผมบอกตั้งแต่แรก เป้าหมายของเราคือการฝึกทักษะกระบวนการ เช่น สงสัย (มีปัญหา) สังเกต (หาคำตอบ) พยายามตอบ (อธิบาย) ฯลฯ แต่ที่สำคัญต้องให้เด็ก "สนุก มีความสุขที่ได้เรียน" ...

หลักการเดียวกันกับการทดลองนี้ นำไปประยุกต์ในเรือดำน้ำ เรือดำน้ำทำด้วยเหล็ก เช่นเดียวกับเรือทั่วไป วิธีที่จะทำให้เหล็กซึ่งปกติจมน้ำ ลอยน้ำได้ ต้องใช้วิธีกักอากาศไว้ใต้ท้องเรือ ในกรณีของเรือดำน้ำ ถ้าต้องการจะดำน้ำลงลึก กัปตันจะสั่งให้ปล่อยน้ำเข้าเรือ แต่ถ้าต้องการจะลอยขึ้น ก็สูบน้ำออกจากเรือ คล้ายๆ กัน เพียงแต่ไม่ได้ใช้วิธีการบีบ

ปลา

อีกการทดลองหนึ่ง ที่ควรพาเด็กๆ ทำ เพื่อเป็นการซ้ำทวน ความสงสัย หรือย้ำทวนความเข้าใจ (หากได้เฉลยไปแล้ว) คือ การใช้หลอดดูดปิดหัวท้ายด้วยดินน้ำมันด้วยน้ำหนักที่เหมาะสม ทำให้เหมือน "ถุงลม"ในท้องปลา ทดลองลอยดูในอ่างน้ำเพื่อไม่ให้จมแต่ลอยปริ่มพอดี ดังรูป

แล้วก็ "บีบ....." อย่าลืม...นะครับ พาทำไปด้วย ตั้งคำถามไปด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างของการสร้างคำถาม และกระตุ้นให้เกิดความ "สงสัย" และต้องเปิดโอกาสให้ได้ "อธิบาย" ปรากฎการณ์ ด้วยนะครับ

คำอธิบายว่าทำไมปลาถึงจมหรือลอยอยู่ในน้ำได้ตามชอบใจ คำตอบคือ เพราะปลาสามารถควบคุมขนาดของ "ถุงลม" ในท้องได้ตามที่มันต้องการ หากต้องการลอยขึ้น มันสูดอากาศเข้าไปในถุงลม อากาศเบาจึงพาเอาตัวปลาลอยขึ้น แต่ถ้าหากมันต้องการจะดำลงไปในน้ำ มันจะแฟบถุมลมลง เหมือนกับที่เมื่อเรา "บีบขวด" หลอดพลาสติกก็จะถูกแรงดันอากาศบีบจนลีบ ทำให้ขาดเล็กลง (ปริมาตรเล็กลง) เปรียบเหมือน "ถุงลม" เล็กลง ทำให้จมลงไปเพราะรับน้ำหนักดินน้ำมันไม่ไหว...อากาศในหลอดไม่ได้หายไปไหนนะครับ เพียงแต่ถูกบีดอัดให้มีความหนาแน่นมากขึ้นเท่านั้นเอง

บันทึกต่อไป มาคุยกันเรื่อง หมุดลอยน้ำครับ ....

ดูรูปทั้งหมดได้ ที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 587925เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2015 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2015 06:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท