วิธีสอบ ๑ ข้อ แต่ประเมินและวัดผลได้ ๔ ด้าน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี



ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผมสอนในสาขาวิชานิเทศศาสตร์บูรณาการในระดับปริญญาตรีเป็นหลัก ซึ่งการศึกษาเรียนรู้ในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ การสื่อสาร สื่อ เทคโนโลยีการศึกษา การถ่ายทอดสื่อสาร เหล่านี้นี่ หากจะศึกษาให้ถึงขั้นที่เราจะสามารถนำไปใช้ทำงาน ดำเนินชีวิต หรือพลิกแพลงไปใช้ทำสิ่งต่างๆทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่นในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายแล้วละก็ เราจะต้องทำให้นักศึกษาบรรลุถึงการเรียนรู้ในขั้นที่สูงกว่าการปฏิบัติตามความรู้ความจำ

แต่การที่จะพานักศึกษาเรียนรู้ พร้อมกับทำการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาไปตามศักยภาพของเขาและเธอแต่ละคน ให้เป็นไปตามแนวคิดในข้่งต้นได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ยาก ต้องวัดผลทั้งความรู้ความเข้าใจเชิงทฤษฎี การวัดเจตคติและทัศนคติ การวัดทักษะปฏิบัติ รวมทั้งการวัดและประเมินเพื่อพัฒนาความคิดริเริ่ม ความมีศิลปะ ความสรา้งสรรค์ ความกล้าแสดงออกที่ดีงาม ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดทั้งด้านเวลา ทรัพยากร และการดำเนินการ แต่หากจะวัดและประเมินผลเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะไม่ครอบคลุมจุดหมายและผลที่ต้องการ โดยเฉพาะในบางสาขาการเรียนรู้ ดังเช่นในวิชาต่างๆของสาขานิเทศศาสตร์และการสื่อสารที่ผมสอนและได้นำบทเรียนบางประการมาบันทึกรวบรวมไว้นี้

ผมนำโจทย์เหล่านี้มาคิด เพื่อหาวิธีให้นักศึกษาได้ตรวจสอบความรู้ความสามารถของตนเอง ในการสอบกลางภาคของวิชาสื่อใหม่ (New Media Communication) ในขั้นแนะนำสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ ๒ ในที่สุด ก็ออกแบบแนวคิดและทำข้อสอบขึ้นเพียง ๑ ข้อ ให้นักศึกษาตอบเพียงหน้ากระดาษเดียว แต่บอกแก่เขาและเธอว่าจะประเมินและให้คะแนน ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านความรู้ ความเข้าใจ ความรู้เชิงทฤษฎี ๒๕ คะแนน (๒) ด้านความสามารถในการสื่อสาร การใช้ภาษา การถ่ายทอด ๒๕ คะแนน (๓) ด้านความสร้างสรรคฺ์ กล้าคิด กล้าเล่น ๒๕ คะแนน (๔) ด้านศิลปะสื่อ ๒๕ คะแนน

วิธีการก็คือ ให้นักศึกษาเขียนจดหมายเล่าเรื่องสิ่งที่ได้เรียน กลุ่มหนึ่งให้เล่าแก่นักเรียนรุ่นน้องในโรงเรียนเก่าของนักศึกษา อีกกลุ่มหนึ่งให้เล่าแก่เพื่อนรักซึ่งเรียนอยู่ต่างมหาวิทยาลัย ใน ๑ หน้ากระดาษ เอ ๔ โดยเขียนให้น่าสนุก สวยงาม และ... ฯลฯ ตามแต่จะคิดสร้างสรรค์

แนวคิดก็คือ การเขียนเล่าเรื่อง ภาษาที่ใช้ และแนวการเล่าเรื่อง จะทำให้เราสามารถประเมินความสามารถในการสื่อสารถ่ายทอด ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของนักนิเทศศาสตร์และคนทำสื่อทุกแขนง ส่วนเนื่อหาการเล่าเรื่อง ก็จะทำให้เราประเมินความรู้ความเข้าใจและความรู้เชิงทฤษฎีได้ รูปแบบการเรียบเรียง จัดหน้า ตบแต่ง ทำความสวยงาม จะทำให้เราสามารถประเมินและวัดผลการผลิตสื่อและความเป็นมือครีเอตีฟได้ การเลือกเทคนิคสื่อและศิลปะสื่อ เพื่อทำสิ่งยากให้ง่าย เช่น วาดภาพ การ์ตูน ไดอะแกรม ออกแบบระบบคิดที่ซับซ้อนให้เป็นรูปภาพที่ง่าย จะทำให้เราวัดและประเมินทักษะปฏิบัติด้านศิลปะสื่อได้

ผลก็คือ ใช้เวลา ๓ ชั่วโมง แต่นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถทุกด้าน มีเวลาคิด แสดงความรู้ และใช้ฝีมือ ทำงานอย่างบูรณาการลงไปบนงานเพียงเรื่องเดียวอย่างเต็มที่ ชิ้นงานออกมาดี มีความโดดเด่นเฉพาะตน และได้ข้อมูลสำหรับประเมินผลนักศึกษาได้ดีมากกว่าวิธีอื่นๆมากทีเดียว.

หมายเลขบันทึก: 588266เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2015 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2015 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นการทดสอบที่มีชีวิตและพลังมากครับ

เพราะนิสิตได้ใช้พุทธิพิสัย ทักษะพิสัย แถมความคิดสร้างสรรค์ครับประเด็นการประเมินเลยครับ

ขอบคุณมากๆ

ผมประเมินเด็กเล็กๆคล้ายอาจารย์

แต่ทำน้อยกว่าครับ แต่เน้นพูดภาษอังกฤษตอนนำเสนอด้วยครับ

ของอาจารย์นี่ นอกจากวิธีประเมินและวัดผลจะดีมากแล้ว วิธีสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการก็ดีมากอย่างยิ่งเลยละครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท