เก็บตกวิทยากร (22) : เครือข่ายการจัดการความรู้ สนนอ. มมส


เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ผมและทีมงานไปช่วยดำเนินการด้านวิทยากร เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มบุคลากรสำนักงานอธิการบดี เนื่องในโครงการเสวนาเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างหน่วยงานภายในสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ระหว่างเวลา 13.30-16.00 น. ณ สโมสรบุคลากรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม



เวทีดังกล่าว เน้นกระบวนการเรียนรู้ในระบบกลุ่มทีม ผ่านการระบบและกลไก หรือเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญๆ เช่น การเล่าเรื่อง การสนทนา การระดมความคิด ผ่านประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้

1.สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับเครือข่ายการจัดการความรู้กับหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย

มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้ทบทวน (AAR) ระบบ หรือวิธีการจัดการความรู้ของตนเองและองค์กรตนเองผ่านโครงข่ายการจัดการความรู้ในรูปของเครือข่ายกับหน่วยงาน หรือส่วนงานภายนอกมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้แต่ละคนได้ "เล่าเรื่อง" ให้สมาชิกในกลุ่ม (แบ่งเป็น 2 กลุ่ม) ได้รับรู้ และประมวลข้อมูลร่วมกันโดยสังเขป ซึ่งพบประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี

(1) ประเด็นการจัดการความรู้ร่วมกับเครือข่ายภายนอกเช่น

  • การแนะแนวการศึกษา
  • สหกิจศึกษา
  • การประกันคุณภาพการศึกษา
  • การเงินและงบประมาณ (ขุนคลัง)
  • บรรเทาสาธารณภัย
  • แผนและงบประมาณ
  • ปขมท.
  • ศิลปวัฒนธรรม
  • กิจกรรมนอกชั้นเรียน

    (2)
    รูปแบบและวิธีการจัดการความรู้ร่วมกับเครือข่ายภายนอก เช่น
  • ศึกษาดูงาน
  • ประชุม สัมมนา
  • นำเสนองาน/ผลงาน
  • โครงงาน/โครงการ


2.สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง "กิจกรรมอันเป็นความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี"

มุ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทบทวน (AAR) "ภารกิจร่วม" ในความเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดีร่วมกัน ทั้งที่เป็นเจ้าภาพหลักและเจ้าภาพรอง โดยมองผ่านมิติกิจกรรมอันเป็นงานประจำและกิจกรรมเชิงรุกทั้งที่เป็น "อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต" เพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทและหน้าที่บนฐานคิดของ "การมีส่วนร่วม" ซึ่งพบประเด็นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้

(1) กิจกรรมบนฐานของอดีตและปัจจุบัน เช่น

  • กิจกรรมตามประเพณีนิยมของสังคม เช่น เทศน์มหาชาติ สงกรานต์ ปีใหม่ มาฆบูชา จุดเทียนชัย
  • กิจกรรมตามระบบและกลไกภายใน เช่น ศึกษาดูงานสำนักงานอธิการบดี Big cleaning day วันสถาปนามหาวิทยาลัย วันเกษียณอายุราชการ
  • กิจกรรมที่ร่วมกับภาคีในมหาวิทยาลัย เช่น กีฬาบุคลากร สงกรานต์ ปีใหม่ (สโมสรบุคลากร)

    (2) กรณีศึกษาโครงการร่วม (ภารกิจร่วม) ผู้เข้าร่วมได้หยิบยกโครงการเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยเป็นกรณีศึกษา โดยให้แต่ละคนได้สะท้อนเรื่องราวอันเป็น "บทบาทและหน้าที่" ของตนเอง หรือองค์กร/หน่วยงานต้นสังกัดที่มีต่อกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยฯ

    (3) กิจกรรมบนฐานของอนาคตที่อยากให้มีร่วมกัน เช่น
  • มุทิตาจิต
  • ลอยกระทง
  • การพัฒนาสมรรถนะ เช่น ศึกษาดูงาน อบรม
  • กองทุนบุคลากร


3.สะท้อนเครื่องมือการจัดการความรู้ภายในองค์กรต้นสังกัด

มุ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทบทวน (AAR) รูปแบบ วิธีการการจัดการความรู้ภายในหน่วยงานหรือองค์กรต้นสังกัดของแต่ละบุคคล เสมือนการให้ทบทวน "ต้นทุนชีวิตและองค์กร" หรือการค้นหาสิ่งดีๆ รอบตัว (Appreciative Inquiring) โดยให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน "เครื่องมือ" ที่ใช้ในการจัดการความรู้ เพื่อประเมินความเข้าใจ หรือความรู้ที่ว่าด้วยเครื่องมือการจัดการความรู้ของแต่ละบุคคลควบคู่ไปกับองค์กร

ตลอดจนการเชื่อมโยงกลับไปยังองค์ความรู้ที่วิทยากรได้บรรยายในภาคเช้า (ผศ.ดร.สมเกียรติ ภูพัฒน์วิบูลย์) ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเครื่องมือการจัดการความรู้ ซึ่งพบประเด็นสำคัญๆ กล่าวคือ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าการประชุมและการจัดกิจกรรม/โครงการ คือ เครื่องมือของการจัดการความรู้ แต่ก็ไม่สามารถสะท้อนได้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่าภายใต้การประชุมและการจัดกิจกรรม/โครงการใช้เครื่องมือใดเป็นหัวใจของการจัดการความรู้ หรือกระทั่งการสะท้อนถึงเครื่องมือหลักในการจัดการความรู้ทั้งในระดับบุคคลและองค์กรต้นสังกัดได้อย่างเป็นรูปธรรม

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่าในประเด็นดังกล่าว พบเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับเครื่องมือ หรือกระทั่งรูปแบบการจัดการความรู้ภายในแต่ละองค์กรที่คล้ายคลึงกัน เช่น

  • การประชุมประจำเดือนในระดับองค์กร
  • การประชุมย่อยในระดับกลุ่มงาน
  • การจัดกิจกรรม/โครงการ
  • การอบรมเสริมสร้างทักษะและความรู้ใหม่
  • เวทีการสรุปงาน/สะท้อนงานทั้งที่เป็นรายโครงการ หรือประจำปีงบประมาณ หรือประจำปีการศึกษา


4.แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดการความรู้ในรูปของเครือข่ายสำนักงานอธิการบดี

มุ่งให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ว่าด้วยหลักการและแนวปฏิบัติที่ดีที่แต่ละองค์กรสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือสามารถบริหารจัดการร่วมกันได้ โดยให้มองผ่านกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งโดยตรง หรือมองในภาพรวม เพื่อท้าทายต่อการจัดการความรู้ในรูปลักษณ์ของความเป็นชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice : CoP) หรือเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Assist) หรืออื่นๆ ที่ควรมีและเกิดขึ้นจริงในสำนักงานอธิการบดี ซึ่งสมาชิกจากทั้งสองกลุ่มได้สะท้อนโดยสังเขป ดังนี้

  • มีประเด็นการจัดการความรู้ร่วมกันที่ชัดเจน ทั้งในระดับภายในองค์กร และระหว่างองค์กร
  • นำประเด็นปัญหามาเป็นโจทย์ของการจัดการความรู้ร่วมกัน
  • มีรูปแบบและวิธีการ "สอนงานสร้างทีม" บนฐานคิดของ "พี่น้อง"
  • มีรูปแบบและวิธีการในลักษณะงานสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมเพื่อเป็นระบบสารสนเทศ หรือคลังความรู้ เช่น วีดีทัศน์ ภาพ คลิป
  • มีเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในระดับคนทำงาน (คนหน้างาน) ทั้งในเรื่องการงานและการดำเนินชีวิต
  • เผยแพร่กรณีศึกษา (โมเดล) ที่เป็นรูปธรรมและกว้างขวาง



ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากทีมกระบวนกร

  • ผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังไม่ตกผลึกในเรื่องเครื่องมือการจัดการความรู้ที่เป็นหัวใจหลัก (ทักษะ) ทั้งในระดับบุคคล/ปัจเจก และองค์กร หากไม่ชัดเจนในประเด็นเหล่านี้จะกระทบต่อการจัดการความรู้ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร เพราะจะไม่สามารถ "สกัดความรู้" ออกมาจากบุคคลและองค์กรได้ การค้นหาเครื่องมือการจัดการความรู้ดังกล่าว จึงเป็นเสมือนการสำรวจต้นทุนความรู้/ศักยภาพขององค์กรด้วยเช่นกัน
  • แนวปฏิบัติร่วมในเชิงเครือข่ายที่สะท้อนออกมามีความเป็นนามธรรม เพราะมองผ่านหลักการ (ทฤษฎี) ความคาดหวังและมองในองค์รวมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของการไม่ได้จัดกลุ่มเฉพาะตาม "หน้างาน" จึงทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • การจัดการความรู้ผ่านกรณีศึกษาบนฐานของปัญหา เป็นความท้าทายไม่แพ้การค้นหาความสำเร็จอันเป็นโมเดล เพราะปัญหาอาจหมายถึงการต่อยอดความรู้ในอีกมิติหนึ่ง รวมถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นอันเป็นลักษณะร่วมของแต่ละหน่วยงานที่มี หรือคล้ายคลึงกัน เพราะจะง่ายต่อการจัดการความรู้ในมิติของเครือข่าย
  • การจัดการความรู้ในเชิงเครือข่ายของสำนักงานอธิการบดี หากเกิดกลุ่มนำร่องในระดับ "คนหน้างาน" (ผู้ปฏิบัติ) จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการความรู้ในวาระความเป็นเครือข่ายฯ ดังเช่นปัจจุบัน
  • การสกัดความรู้ในระดับบุคคลและองค์กรเพื่อยกระดับเป็นงานสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรม เป็นเรื่องท้าทาย เพราะถือเป็นการสร้างคลังความรู้ที่สามารถเผยแพร่ได้อย่างมีพลังและเป็นสาธารณะ
  • เปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบบูรณาการบนฐานคิด "จัดการความรักก่อนการจัดการความรู้" เพื่อให้ได้ทั้งงานและคนไปพร้อมๆ กัน
หมายเลขบันทึก: 587697เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2015 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2015 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะอาจารย์

ทำงานตลอดเลย พักกินข้าวนะคะ คุณยายนำข้าวมาส่งค่าา


เอาทรัพย์ในดิน มาฝากค่ะ


ชอบใจที่เริ่มจากบุคลากรของมหาวิทยาลัย

บุคคลากรจะได้เรียนรู้

ได้พัฒนาการทำงานไปด้วยกัน

ขอบคุณมากครับ

จัดการความรักก่อน จริงค่ะ เปิดใจ ได้ใจแล้ว อะไร ๆ ก็ง่ายตามมานะคะ อ.แผ่นดิน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท