ข้อเสนอปฏิรูประบบการวิจัยสุขภาพ


แนวคิดที่จะปฏิรูประบบการวิจัยของประเทศ ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่จากการทบทวนสถานการณ์เกี่ยวกับการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ มีข้อเสนอทางวิชาการและกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ช่วงปี 2544 – ปัจจุบัน หรือ 14 ปีที่แล้ว

"การผลักดันกฎหมาย (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ..." นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในยุค ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ที่ต้องการให้เกิดกลไกสนับสนุนการวิจัยสุขภาพครบวงจร ที่มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นั่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ ที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเสนอรัฐบาลพิจารณา ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นการพัฒนาในแวดวงสุขภาพที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

ทว่าความจริงแล้ว แนวคิดที่จะปฏิรูประบบการวิจัยของประเทศ ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่จากการทบทวนสถานการณ์เกี่ยวกับการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ มีข้อเสนอทางวิชาการและกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ช่วงปี 2544 – ปัจจุบัน หรือ 14 ปีที่แล้ว


ภาพจาก : graduate.sau.ac.th


หนึ่งในนั้นมีการวิจัย "ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบการวิจัยของประเทศไทย" โดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และคณะ ซึ่งทำการศึกษาเมื่อปี 2546 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่นำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง พร้อมคลี่ให้เห็นว่า "การปฏิรูประบบวิจัย" ควรเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานแล้ว

"การวิจัยสามารถแสดงบทบาทต่อการตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าให้กับงาน ทั้งในด้านวัตถุและวัฒนธรรม ซึ่งการลงทุนด้านการวิจัยได้ก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับคืนมาอย่างมาก โดยการวิจัยและพัฒนาของประเทศจะเข้มแข็งและก้าวหน้าได้ต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมีทิศทาง มีโครงสร้างรองรับอย่างเป็นระบบ" รายงานตอนหนึ่งของการศึกษา ระบุไว้

ส่วนหนึ่งของสถานการณ์ปัญหาการวิจัยของประเทศ ที่นำมาสู่การเปิดประเด็น "การปฏิรูป" ในครั้งนั้นเป็นเพราะ โครงสร้างระบบการวิจัยของประเทศที่ยังไม่ยืดหยุ่นและมีลักษณะแยกส่วน ขาดการปรับตัวที่ไวเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง ขาดทิศทางนโยบายการวิจัยของประเทศ ขาดการเชื่อมโยงการวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยที่ยังมีการใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาของประเทศคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ยังต่ำ เป็นต้น

ซึ่งภาพปัญหาการวิจัยในอดีต เมื่อเปรียบเทียบกับภาพปัจจุบันดูแล้วแทบจะไม่แตกต่างกัน...ซึ่งเวลาที่ล่วงผ่านมาเนิ่นนาน แต่เราก็ยังขาดกลไกการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศจะต้องเร่งปัดฝุ่นแนวคิดการปฏิรูปการวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบวิจัยและระบบการศึกษาที่เน้นการวิจัยเป็นฐานสำคัญ


ข้อเสนอ "หลักการของการพัฒนาระบบการวิจัย"

ข้อเสนอการปฏิรูประบบวิจัย_2546_นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์.pdf

  • ระบบการวิจัยในเชิงโครงสร้าง จะต้องสร้างให้มีกลไกในการทำงานที่หลากหลาย แต่สามารถประสานเชื่อมโยงกันได้ โดยมีกลไกงบประมาณของรัฐเป็นตัวกระตุ้นและกำหนดทิศทาง และผสมผสานนโยบายที่กำหนดขึ้นมาจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่มุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน
  • มีทิศทาง เปิดโอกาสให้มีความหลากหลายและเอื้อให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงาน
  • ยุทธศาสตร์และการลงทุนเพื่อการวิจัย การมองเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว มีการลงทุนอย่างเหมาะสมโดยภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพทางปัญญาของประเทศ

ข้อเสนอ "ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่ระบบวิจัยที่พึงประสงค์"

  • ยุทธศาสตร์การสร้างหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการวิจัยระดับประเทศที่มีประสิทธิภาพ
  • ยุทธศาสตร์การปรับระบบและโครงสร้างงบประมาณเพื่อการวิจัย
  • ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างระบบการบริหารจัดการและระบบงบประมาณเพื่อการวิจัยของมหาวิทยาลัย
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการประเมินผลระบบวิจัยของประเทศ


กฎหมาย (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ... ที่มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยประสานการขับเคลื่อน และอยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฯ นั้น มีหลักการที่ใช้เป็นแม่แบบการปฏิรูปบนพื้นฐานความคิดเดียวกันกับข้อเสนอจากงานวิจัยดังกล่าว

ทั้งนี้ ปลายทางของการทำงานเรื่องนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติของงานวิจัยด้านสุขภาพ ตั้งแต่งานวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพพื้นฐาน ไปจนถึงการวิจัยระบบสาธารณสุข ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ที่ครอบคลุมปัญหาสุขภาพในอนาคต พร้อมสามารถบูรณาการทั้งในระดับนโยบาย แหล่งทุนวิจัย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยหรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และการประเมินผล

ซึ่งจะก่อให้เกิดงานวิจัยสุขภาพที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีสุขภาวะที่ดี (Well being) รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพที่จะช่วยสร้างรายได้และความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่ประเทศ (Wealth)


สามารถโหลดอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ทาง 20150320084339.pdf

หมายเลขบันทึก: 587692เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2015 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2015 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท