เสวนา พัฒนากลไกส่งเสริมการวิจัยสุขภาพของประเทศ



ดังได้เล่าแล้วใน บันทึกนี้ ว่าผมได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ ซึ่งเมื่อร่าง พรบ. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ ไปผ่าน ครม. ไปสู่กลไกการออกกฎหมาย ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สะท้อนความเข้าใจไม่ตรงความจริง หรือสะท้อนความไม่เห็นด้วย เช่น ใน ข่าวนี้ และ ข่าวนี้ สวรส. จึงจัดการสานเสวนา เรื่อง การพัฒนากลไกส่งเสริมการวิจัยสุขภาพของประเทศ ตอนบ่ายวันที่ ๕ กุมภาพันธ์๒๕๕๘

พิจารณาจากข่าวคนที่ออกมาค้าน สุ้มเสียงไปทางมองเรื่องนี้เป็นการเมืองเรื่องแย่งชิงอำนาจระหว่าง กลุ่มคนภายในประเทศ เป็นกระบวนทัศน์ของการต่อสู้แย่งชิงกันภายในประเทศ ในขณะที่ผมมองเป็นโอกาส ยกระดับพัฒนาการของประเทศ ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง และเป็นโอกาส ยกระดับระบบสุขภาพไทย ให้ดูแลสุขภาวะของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งยกระดับธุรกิจบริการสุขภาพเพื่อหารายได้จากคนต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย

คือเราหวังใช้การวิจัยสุขภาพ สร้างผลลัพธ์ทั้งด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ

คนค้านมองประโยชน์ของกลุ่มตนเอง ระแวงหรือเกลียดองค์กรกลุ่ม ส แต่ผมมองว่า เราต้องพัฒนา สังคมไทยในทุกด้าน ทุก sector ให้มีลักษณะ evidence-based และ creativity-based / innovation-based เพื่อยกระดับความอยู่ดีกินดี สุขภาวะดี ผ่านความเป็นสังคมที่มีปัญญา และกลไกอย่างหนึ่งคือ การวิจัย

ซึ่งหมายความว่า คนเข้ามาบริหาร สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ - สสสว. (ร่างใหม่ของ สวรส.) ต้องทำงานเป็น และทำงานภายใต้ความรับผิดรับชอบต่อผลงาน (accountability) และการตรวจสอบ เข้มข้น เพราะเราออกแบบหน่วยงานให้มีความคล่องตัว และความเป็นอิสระสูง เพื่อการทำงานส่งเสริมและ สนับสนุนการวิจัย ที่มีธรรมชาติเช่นนั้น เรามีตัวอย่าง สกว., สวทช., และตัว สวรส. เอง ที่เป็น success story ให้เห็น

ปัจจัยหนึ่งที่สังคมไทยโดยทั่วไปไม่เข้าใจคือการทำงาน จัดการ/ดูแล ระบบ และการพัฒนา โดยใช้ปัญญานำ หลงผิดว่าทำตามนายสั่งคือปัญญานำ เพราะคิดว่าตำแหน่งคือปัญญา ในความเป็นจริง ปัญญานำ คือใช้ข้อมูลหลักฐานที่มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ

ข้อมูลหลักฐานที่ผ่านการตรวจสอบทางวิชาการต้องอยู่เหนืออำนาจของผู้มีตำแหน่ง ข้อมูลนี้ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อใช้กำกับตรวจสอบการทำงานของผู้มีตำแหน่ง ในงานสาธารณะ

ทีมงานของ สวรส. ไปสัมภาษณ์ผม ถ่ายวีดิทัศน์ แล้วนำมาเขียน press release ดังนี้

การเสวนา และการตั้งคำถามจากสื่อมวลชน บ่งชี้ว่า เรื่องหลักการใหญ่ๆ ไม่ใช่ปัญหา สื่อมวลชน เขาสนใจว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น หรือเงินวิจัยจะไปเบียดบังผลประโยชน์ของชาวบ้าน เราสานเสวนา บนฐานผลประโยชน์ของชาวบ้าน และผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งผมว่าดีมาก


บรรยากาศในห้องประชุม


อีกมุมหนึ่ง



วิจารณ์ พานิช

๕ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 586849เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท