ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๕๙. สัปดาห์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ๕. การประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๒๐๑๕ วันแรก



การประชุม PMAC 2015 "Global Health Post-2015 : Accellerating Equity" เริ่มวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘ ด้วยพิธีเปิด ที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จเป็นองค์ประธานตามเคย ผมอ่านรายงาน ดังนี้

พิธีเปิดที่ประกอบด้วยปาฐกถานำ ๓ รายการ คือ

๑. Prof. Donald Henderson เล่าเรื่องการกวาดล้างโรคฝีดาษ (โรคติดเชื้อชนิดเดียว ที่มนุษย์สามารถกวาดล้างได้) ว่ามีบทเรียนต่อการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันและอนาคตอย่างไรประการแรก มีวัคซีนมาก่อนหน้าเป็นร้อยปี แต่ไม่สามารถขจัดโรคได้ เงื่อนไขประการแรกคือ การมีเป้าหมายความมุ่งมั่นร่วมกัน ประสานงานโดยองค์การอนามัยโลก ตั้งเป้ากวาดล้างให้ได้ภายใน ๑๐ ปี ซึ่งก็ทำได้จริงๆ แต่ใช้เวลาเกินไป ๙ เดือน

ต้องมีการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัคซีน ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน พัฒนาเครื่องมือให้วัคซีน มีการวิจัยภาคสนาม มีการพัฒนาวิธีการ Ring Vaccinationมีการพัฒนาวิธีการจัดการ การจัดการการเงิน การประสานงานกับ ๔๐ ประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง ๑๕๐ คน แต่มีเจ้าหน้าที่ระดับประเทศ ๑๕๐,๐๐๐ คน คืองานส่วนใหญ่อยู่ในระดับประเทศ

มีการดำเนินการเฝ้าระวัง และฉีดวัคซีนแบบ ring vaccination มีกิจกรรมด้านห้องปฏิบัติการ ระบาดวิทยา การให้ความรู้แก่สาธารณชน และอื่นๆ

ความสำเร็จในการกวาดล้างฝีดาษ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะควบคุมและกวาดล้างโรคติดต่ออื่นๆ เช่นโปลิโอ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน


๒. Prof. Timothy Evans จากธนาคารโลก พูดโยงกับการระบาดของโรคติดเชื้อ อีโบลา ที่กำลังตระหนกกันทั่วโลกในเวลานี้ โดยมีข้อเสนอให้ปฏิบัติ ๑๐ ข้อ ได้แก่ (๑) ต้องดำเนินมาตรการ ด้านสาธารณสุข และการดูแลรักษาผู้ป่วยไปด้วยกัน มีตัวอย่างผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้และปวดท้อง หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารทะลุ นำไปส่องกล้องกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยตายในวันรุ่งขึ้น และมีหมอและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลติดโรคอีโบลา ๙ คน และตาย (๒) กำลังสำคัญที่สุดในการควบคุมโรค คือประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร อาสาสมัครสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่แนวหน้า

(๓) การมีเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และระบบ ที่ดำเนินการอย่างสามารถ มีการจัดการที่ดี (๔) การจัดการแบบประสานงานเครือข่าย โดยใช้หลักการ One Health (๕) การมีข้อมูล ที่นำมาวิเคราะห์ อย่างมีหลักวิชา เพื่อทำความเข้าใจพลวัตของการระบาด มีการใช้พลังของ ICT ซึ่งประโยชน์อย่างหนึ่ง คือป้องกันบัญชีคนไข้ผี (๖) การมีเครือข่ายเฝ้าระวังระดับพื้นที่ เครือข่ายห้องปฏิบัติการระดับพื้นที่ ร่วมมือกัน

(๗) บุคลากรที่พร้อมจะเข้าไปดำเนินการ มีกำลังเสริม มีระบบจัดการ จัดสวัสดิการเมื่อติดโรค (๘) ส่งเสริมการพัฒนาและทดลองวัคซีน และยา ให้ทันการณ์ (๙) ระบบการเงินแนวใหม่ (๑๐) อย่าให้เกิดสภาพ เงินสนับสนุนการสาธารณสุขไม่เพียงพอ เพราะจะทำให้ระบบอ่อนแอ

จบด้วยคำคมของ Winston Churchill ว่า Never let a crisis goes to waste.


3. Miss Taniya Akter จากบังคลาเทศ พูดในฐานะเยาวชนสตรี จากชนบท ที่มีจินตนาการต้องการพัฒนาตนเอง เพื่อใช้ชีวิตช่วยเหลือคนด้อยโอกาส

จบพิธีเปิด เป็นการถ่ายรูปหมู่ร่วมกับสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ๓ ชุด แล้วเป็นรายการร่วมโต๊ะ เสวยอาหารว่าง ผมชอบการสนทนาช่วงนี้มากที่สุด เพราะประเทืองปัญญายิ่ง เขาคุยกันว่า ที่ควบคุมโรค อีโบลาใน ๓ ประเทศอัฟริกาตะวันตกไม่ได้ ก็เพราะเป็นการระบาดครั้งแรก ประชาชนไม่มีความรู้ที่จะรับมือโดยที่โรคนี้โผล่ที่อัฟริกากลาง คือบริเวณที่เดี๋ยวนี้เป็นประเทศ สาธารณรัฐคองโก ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 และระบาดย่อยๆ เรื่อยมา จนคนที่นั่นรู้วิธีป้องกันและควบคุมโรค อย่างหนึ่งที่ต้องไม่ทำ คือกินค้างคาว ชนิดค้างคาวผลไม้ เพราะมันคือแหล่งแพร่เชื้อไรัวอีโบลา

ผมนึกในใจว่า น่าจะใช้วิธีทำ KM ในหมู่แกนนำประชาชนในประเทศที่คุ้นกับอีโบลา กับแกนนำประชาชนใน ๓ ประเทศ ที่กำลังมีการระบาด

Dr. Ariel แห่ง US AID บอกว่า ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยรายวัน ลดลงเรื่อยๆ ใน ๓ ประเทศ เชื่อว่าจะควบคุมได้ในที่สุด

หมอจากสหรัฐฯ อธิบายว่า ในประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับ ๓ ประเทศนี้ "เอาอยู่" เพราะมีระบบเฝ้าระวังที่ดี มีอาสาสมัครชุมชนคอยทำหน้าที่ ผมนึกในใจลว่า นี่คือจุดแข็งของประเทศไทย

ทูลกระหม่อมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ รับสั่งว่า ตอนที่พระองค์ท่านเริ่มทำงาน มีการระบาดของโรค หัดเยอรมัน (Rubella) มีการฉีดวัคซีนให้เฉพาะนักเรียนหญิงชั้น ป. ๖ และหลังการระบาด 2-3 ปี จะมีทารกคลอดมีอาการตาบอด หูหนวก จำนวนมาก เป็นที่รู้กันว่า อันตรายของหัดเยอรมัน คือลูกในท้องติดเชื้อด้วย ทำให้ตาบอดหูหนวกแต่กำเนิด

DA Henderson ตำหนิองค์การอนามัยโลก ว่าทำงานช้าไป เรื่องการควบคุมการระบาดใหญ่ ของโรคติดเชื้อ ต้องทำเร็ว อย่าให้มีคณะกรรมการมากชุดเกินไป

Prof. Lucas บอกว่า องค์การอนามัยโลก มีลักษณะ "กลวงตรงกลาง" คือผู้อำนวยการใหญ่ มีทรัพยากรน้อย และไม่มีอำนาจสั่งการผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาค และบอกว่า เมืองใหญ่มีลักษณะมี "ชนบท" ในเมือง ในสภาพความเป็นอยู่และทรัพยากร ซึ่งตรงกับที่วีดิทัศน์ช่วงท้ายของพิธีเปิด สื่อต่อผู้เข้าประชุม

ผมไม่ได้เข้าประชุมภาคสายและบ่าย เพราะต้องไปรับใช้มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศาลายา

กลับมาร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ และมีการโต้วาที "Ebola" Do we need a new global health institute? โดยมี นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้ร่วมได้แก่ Lincoln Chen (President China Medical Board), Tomothy Evans (Director, Health, Nutrition and Population, The World Bank), Paul Farmer (Professor, Harvard University), Bridget Lloyd (Global Coordinator, Global Health Movement) ฟังแล้วผมกระซิบบอกหมอสมศักดิ์ รมช. สาธารณสุข ว่า เป็นการโต้ ๔ ต่อหนึ่งมากกว่า คือหมอสุวิทย์ โต้กับอีกสี่คน หรือบางคราวก็ต้อนยิ่งกว่าโต้

ที่จริงรายการนี้มุ่งให้ความสนุกสนานมากกว่าสาระ แต่สำหรับคนรู้น้อยอย่างผม ได้ความรู้มาก ได้เข้าใจว่า องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นสถาบันสุขภาพโลกที่ยอมรับร่วมกันนั้น ได้แสดงความอ่อนแอในการ แก้ปัญหาการระบาดของโรคอีโบลา อย่างชัดเจน โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาการเงิน เรื้อรังมากว่า ๒๐ ปี แก้ไม่ตก แต่ก็มีบางท่านบอกว่า มีช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ที่ Magaret Chan มีโอกาสแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ประตูแห่งโอกาสนั้นได้ปิดไปแล้ว

ปัญหาทางการเงินก็คือ ถูกผู้บริจาคเงินปั่นหัว หรือสั่งการโดยใช้เงินบริจาคเป็นเงื่อนไขให้ทำหรือไม่ทำ เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดคือ Bill and Melinda Gates รายที่สองคือรัฐบาลสหรัฐ ทั้งสองรายบริจาคเงินให้แก่องค์การอนามัยโลกโดยมีเงื่อนไขกำกับ ๑๐๐% ดังนั้น องค์การอนามัยโลก จึงคล้ายๆ เป็นลูกน้องของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีอิสระในการทำงานเพื่อสุขภาพโลก อย่างแท้จริง


Prof. Henderson กำลังกล่าวปาฐกถา


Overarching Plenary


โต้วาที


โขนตอนอาหารค่ำ



วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 586848เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท