ให้เด็กคิดดีกว่าให้เด็กเรียน


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อ.จัน ไปเป็นวิทยากรต่างจังหวัดผมเลยต้องเลี้ยงเจ้าต้นไม้คนเดียว ตกเย็นผมไปรับเจ้าต้นไม้จากโรงเรียนก็พาไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่งที่เปิดใหม่ใกล้ๆ โรงเรียนเพื่อจะได้ไม่ต้องทำอาหารเย็นให้วุ่นวาย

ข้างๆ ร้านก๋วยเตี๋ยวมีโรงเรียนสอนพิเศษอยู่แห่งหนึ่ง ผมไม่รู้จะเรียนสถานที่นี้ว่าโรงเรียนหรือร้านดีเพราะขนาดของสถานที่ประมาณหนึ่งคูหา ติดป้ายหน้าร้านใหญ่โต ด้านในตกแต่งเหมือนกับเป็นร้านขายของ

ผมกับเจ้าต้นไม้นั่งที่โต๊ะหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวทำให้ผมได้สังเกตโรงเรียนสอนพิเศษไปพลางๆ ระหว่างกินโดยไม่ได้ตั้งใจ

ผมเห็นพ่อแม่ขับรถมาส่งลูกที่โรงเรียนสอนพิเศษนี้เป็นระยะ เด็กที่มานั้นก็มาในชุดนักเรียนเลย แสดงว่ารับมาจากโรงเรียนก็มาส่งที่โรงเรียนสอนพิเศษนี้ทีเดียว ผมไม่รู้ว่าเด็กจะต้องเรียนที่โรงเรียนสอนพิเศษนี้ไปถึงกี่โมงเพราะผมคงไม่นั่งกินก๋วยเตี๋ยวรอดูจนถึงขนาดนั้น แต่เดาว่าคงไม่น้อยกว่าทุ่มสองทุ่มแน่ๆ

คิดแล้วก็สงสารเด็ก เพราะเด็กในวัยรุ่นระดับมัธยมนั้นควรจะได้ใช้เวลาในช่วงเย็นๆ หลังเลิกเรียนทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจของตน ควรจะได้เป็นเวลาในการค้นหาตัวเองและได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ต้องเรียนในห้องเรียน

แต่บ้านเราเมืองเราไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเรียนรู้ในลักษณะนั้น ยิ่งกว่านั้นเรากลับอยู่กับความเชื่อที่ว่าการเรียนตามหลักสูตรเพื่อสอบให้ได้คะแนนดีๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การศึกษาที่เราพยายามสร้างกันคือกระบวนการผลิตหุ่นยนต์ที่มีชีวิตเพื่อออกมารับใช้เจ้านายเพื่อได้รับส่วนแบ่งรางวัลตามความสามารถและความซื่อสัตย์ของหุ่นยนต์แต่ละตัว

ผมเห็นคนหลายๆ คนที่เรียกตามมาตราฐานสังคมว่าคนประสบความสำเร็จนั้นกลับมีชีวิตไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ทำตามโปรแกรมสำเร็จรูป เห็นแล้วก็สงสัยว่าเขาเคยมีเวลาคิดบ้างไหมว่าที่จริงแล้วเขาต้องการอะไรในชีวิตนอกจากการทำตามคำสั่งที่เขียนไว้โดยสังคม

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในแวดวงการศึกษาว่าการเรียนในรูปแบบแบบเรียนพิเศษที่เน้นการฝึกความเร็วในการแก้โจทย์ซ้ำๆ นั้นยิ่งทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนแคบลงเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันความสามารถในการแก้โจทย์ได้เร็วนั้นมีประโยชน์เฉพาะในการสอบ ในวันที่ผู้เรียนพ้นจากชีวิตที่มีเพื่อการสอบแล้ว ทักษะชีวิตที่จะทำอย่างอื่นด้วยตัวเองนั้นแทบจะไม่มีเลย แต่เราก็ยังมีระบบการศึกษาที่เน้นการแก้โจทย์ซ้ำๆ ในกรอกแคบๆ โดยแข่งกันที่ความเร็วเหมือนเดิม

มาถึงวันนี้ผมคิดว่าผมโชคดีที่ไม่ได้เรียนพิเศษในตอนเด็กๆ เพราะผมเติบโตมาในต่างจังหวัด ผมเลยมีโอกาสพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบระเบียบ ทักษะนี้ทำให้ผมเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ในทุกวันนี้เพราะโลกในปัจจุบัน "ความคิด" กลับกลายเป็นของราคาแพงและหายากขึ้นเรื่อยๆ

ผมตั้งใจจะไม่ให้เจ้าต้นไม้ต้องเรียนพิเศษที่ไหนเป็นอันขาด ผมจะพยายามให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาความคิดของเขาให้ได้เต็มที่ ผมเชื่อว่าเมื่อเขาได้พัฒนาความคิดเป็นของตัวเองได้แล้ว การจะฝึกทักษะทำโจทย์เร็วนั้นถ้าเขาเห็นความจำเป็นเขาก็ทำของเขาเองโดยที่เราไม่จำเป็นของควบคุม แล้วในโลกที่ความรู้ทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้วและในโลกที่ความรู้ต่างๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วภายในพริบตา ความคิดที่จะแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองนั้นสำคัญกว่าการมีความรู้จากการสอนของคนอื่นครับ

หมายเลขบันทึก: 585886เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2015 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2015 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

Two points:

1) learning by doing (or sensing and experiencing) things in real life (in comparison to book-work or thinking or reasoning theoretically) is quite good for brain development;

2) special training can be beneficial (eg. music lessons, sport training, toast masters, etc.). We should not dismiss extra classes without considering their pros and cons on individual cases. As for general after-school after-class extra learning (as prevailent in Thailand now), this is a sad story of Thailand's education systems, one that need reforming urgently.

Let us develop an environment and programs for children to learn 'for life'.

ผมพาเจ้าต้นไม้ไปเรียนยิมนาสติกช่วงวันเสาร์อาทิตย์ครับ จริงๆ อยากพาไปเรียนยูโดด้วย (จะได้ล้มและกลิ้งตัวเป็น ทักษะสำคัญในการป้องกันตัว) แต่เขาไม่ไปครับ เขาชอบเรียนยิมนาสติกมากกว่าครับ

พี่มักได้รับคำถามจากคนรู้จักเสมอว่า "ควรให้ลูกเรียนพิเศษหรือไม่" เมื่อถามกลับว่าลูกเรียนชั้นไหนแล้ว คำตอบ คือ ประถม พี่จะตอบว่า "ไม่ควร" (เก็บคำว่า อย่างยิ่ง ไว้ในใจ)

- แถวบ้านมีห้องแถวที่เปิดสอนพิเศษมากมาย กำลังจะเป็นวิถีชีวิตใหม่ของพ่อแม่ที่โรงเรียนเลิกแล้วไปส่งลูกที่บ้านเรียนพิเศษ ตั้งแต่ประถมต้น แม่ๆ บอกพี่ว่า "ไปให้ครูสอนทำการบ้าน" แม่ผลักภาระการเรียนของลูกให้ผู้อื่น แทนที่จะดูแลเองที่บ้าน การสอนการบ้านลูกสนุกจะตาย แต่แม่สมัยใหม่ไม่ทำเพราะ "กลัว"

- "กลัว" ฐานความรู้ลูกไม่แน่น จะสอบเข้ามัธยมดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ ไม่ได้

เป็นความรู้ที่พี่สรุปจากการพูดคุยกับพ่อแม่รุ่นใหม่ค่ะ

เป็นความกลัวที่มีเหตุผล

ถ้าจะแก้ต้องแก้ทั้งระบบ

ยืนยันแนวคิดของอาจารย์นะคะ สามหนุ่มของพี่โอ๋ก็โชคดีที่เรียนแบบของตัวเอง หลุดออกมาจากกรอบ เพราะเราพ่อแม่ก็ต้องคิดนอกกรอบด้วย อย่าให้สังคมสมัยนี้ที่ทำอะไรตามๆกันมากำหนด เราต้องสอนให้ลูกเลือกด้วยการใช้ความคิดของตัวเอง ยิ่งเห็นประโยชน์ของการให้เขาคิดเองตอนที่เขาโตนี่แหละค่ะ ความสุขในการใช้ชีวิตมีประโยชน์มากกว่าความสำเร็จแบบติดอยู่ในกรอบทั้งหลายค่ะ

ข้อเขียนมีชีวิต....

ผมกับเพื่อนเพิ่งไปพบเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ทำงานแถวบางใหญ่ กทม. ซึ่งเราไม่พบกันมาสิบกว่าปี หลังจากแยกย้ายกันออกไป เขาทำงานในโรงเรียนสอนพิเศษ จากชีวิตที่เขาคิดว่ารุ้สึกไม่ดีนั้นคือเปิดบาร์ ได้เงินมากจริง แต่รู้สึกว่าไม่ถูกต้อง เมื่อมาสอนพิเศษในโรงเรียนสอนพิเศษ (คุ....) เขารู้สึกดีที่ได้ทำให้เด็กมีความรู้ เขาเคยพูดว่า "เราได้เห็นเด็กค่อยๆเติบโตมาด้วยความรุ้ความสามารถส่วนหนึ่งของเขา รู้สึกเหมือนเขาเป็นลูกของเราเลย" อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เพื่อนกำลังสอนอยู่นั้น ผมกับเพื่อนที่ไปด้วยกันก็ไปยืนมองดูตรงโน้นบ้าง นี้บ้าง เพื่อดูว่าเขาจัดการอย่างไรกัน แล้วผมก็ไปหยุดที่แผ่นบอร์ดอันหนึ่ง ที่ทางโรงเรียนประกาศให้เห็นว่า โรงเรียนดีอย่างไร ผมมองไปที่ตาของเด็กในภาพ รู้สึกว่า ไม่สดใสเอาเสียเลย ผมจึงเรียกเพื่อนที่ไปด้วยกันนั้นมา แล้วชี้ให้ดู "นุ่น (ชื่อเพื่อนชาย) ดูตาของเด็กๆสิ โดยเฉพาะคนนี้ เขาไม่สดใสเอาเสียเลย นี่มันคือชีวิตหรือ" เพื่อนก็พูดขึ้นว่า.....และต่อท้ายด้วยว่า ชีวิตมันก็อย่างนี้แหละ ผมคิดว่า คนที่อยู่บ้านนอกหรืออยู่ต่างจังหวัดนั้นได้ต้นทุนชีวิตสูง ได้เรียนรู้ธรรมชาติ แต่หลักสูตรจำนวนมาก ไม่ได้สนับสนุนสิ่งนี้อย่างแท้จริงมากนัก ผมเคยพูดกับเพื่อนว่า การศึกษาต่อไปนั้น สถาบันการศึกษาอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในอนาคตอีกแล้ว ขอบคุณข้อเขียนมีชีวิตที่ทำให้คิดนะครับ


เมื่อกี้ตอนเช้าผมไปเติมน้ำมันเลยเห็นเด็กโดดโรงเรียนโดยการเอาเสื้อผ้ามาเปลี่ยนที่ปั๊มน้ำมันครับ เห็นแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่สงสารเด็กครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งในการให้เด็กๆได้มีโอกาสพัฒนาความคิดของเขาให้ได้เต็มที่ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท