คำนิยม หนังสือ โรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ ๒๑ ฉบับปฏิบัติการไทย


คำนิยม

หนังสือ โรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ 21 ฉบับปฏิบัติการไทย

วิจารณ์ พานิช

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

…………………………..

ในช่วงเวลา ๕ ปีที่ผ่านมาที่กระแสการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ มาแรง มีการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ เกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ จำนวนมาก ที่เป็นหนังสือที่ผมเขียนก็มีประมาณ ๑๐ เล่มแต่หนังสือ เหล่านั้น เขียนจากประสบการณ์ในต่างประเทศ หรือจากผลงานวิจัยในต่างประเทศ มีส่วนที่มีเรื่องราว ในประเทศไทยอยู่บ้างในบางเล่มเท่านั้น

หนังสือ โรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ 21 ฉบับปฏิบัติการไทย จึงเป็นหนังสือภาษาไทย เกี่ยวกับการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ ๒๑ เล่มแรก ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ในประเทศไทยล้วนๆ

เป็นการเขียนแบบเล่าเรื่อง (storytelling) ยกคำพูดจริงๆ ของตัวละครหรือผู้เกี่ยวข้องมาเดินเรื่อง สลับกับคำอธิบายหลักการและวิธีการ ตัวละครได้แก่ครูผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานิเทศก์ และผู้ปกครองนักเรียน ผมเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้ยกคำพูดของนักเรียนเองมาเดินเรื่องด้วย แต่เราก็ได้เห็นถ้อยคำของนักเรียนผ่านเรื่องเล่าของครู

<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />

ในทำนองเดียวกัน ผมเสียดายที่ไม่เห็นถ้อยคำของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่เพราะความยั่งยืนของการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ น่าจะมาจากการสนับสนุนของ อปท. ด้วย

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาตรงเวลา ในยุคปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ ที่เน้นปฏิรูปปฏิบัติการ ในห้องเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพของการเรียนรู้ ที่สังคมไทยกำลังต้องการทักษะในห้องเรียน (classroom skills) ที่เป็นรูปธรรมของครู ในการปฏิรูปวิธีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุ ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อให้สอบผ่านโดยที่การสอบในปัจจุบันก็เป็นเพียงการสอบ เพื่อวัดความรู้หรือความจำเป็นหลัก

หนังสือเล่มนี้ ตอกย้ำความลิงโลดใจของผม ว่ามีการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่ารูปแบบการเรียนรู้ ในห้องเรียนไทยเปลี่ยนได้ ครูไทยและนักเรียนไทยเปลี่ยนได้ โดยที่การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนรู้ ไปสู่วิธีที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้จะทำให้เกิดความสุข ทั้งแก่นักเรียน ครู ผู้บริหารการศึกษาผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ใช่ก่อให้เกิดความทุกข์ยาก

ผมได้เขียนบันทึกใน บล็อก Gotoknow.org หลายที่ ว่าการเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทย ทำได้ หากฝ่ายบริหารลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งในบันทึก https://www.gotoknow.org/posts/580282

หนังสือเล่มนี้เสนอเครื่องมือเพียง ๓ ชิ้น สำหรับเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน คือ PBL, AAR, และ PLCแต่จริงๆ แล้วมีรายละเอียดวิธีดำเนินการที่จะต้องเอาชนะความเคยชินเดิมๆ ที่ดำเนินการผิดทาง ผิดธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์มาเป็นเวลานาน วิธีการเหล่านั้น นำเสนอโดยเรื่องเล่าของครูในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะเห็นว่า เมื่อเอา “เส้นผมที่บังภูเขาออกได้แล้ววิธีจัดการเรียนรู้เพื่อให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้เพื่อบรรลุทักษะ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ใช่เรื่องยาก กลับเป็นเรื่องสนุกสนาน ประเทืองปัญญา และให้ความสุข เสียด้วยซ้ำ

การเรียนรู้ที่ดี ผู้เรียนต้องบรรลุ “การเรียนแบบรู้จริง ” (Mastery Learning)และบรรลุ “การเรียนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในตน” (Transformative Learning) ผลลัพธ์ทั้งสองนี้ ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการสอนแบบถ่ายทอดความรู้อย่างที่ระบบการศึกษาไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จะบรรลุได้ด้วยวิธีการที่ครูเล่าในหนังสือ โรงเรียนต้นแบบในศตวรรษที่ 21 ฉบับปฏิบัติการไทย เล่มนี้

ผมขอแสดงความชื่นชมต่อผู้เรียบเรียง คือคุณสมหญิง สายธนู แห่งมูลนิธิสดศรี -สฤษดิ์วงศ์ และต่อเจ้าของเรื่องเล่า คือครูผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานิเทศก์ และผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งแสดงความขอบคุณต่อ สสส. ที่สนับสนุนทุนเพื่อการจัดทำหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้จะก่อคุณูปการต่อการปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้าอย่างมหาศาล

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 584581เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2015 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2015 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท