เชียงเหียน : ชุมชนแห่งโบราณคดี (การขับเคลื่อนของคณะการบัญชีและการจัดการ ในมิติ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน และ ๑ คณะ ๑ วัฒนธรรม)


เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในมิติของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมตาม "อัตลักษณ์" มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) เพราะช่วยให้ชุมชนได้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องของการจัดทำแผนการตลาด ช่วยให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้าง มีระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธในการผลิตและจำหน่ายสมุนไพรอย่างมีมาตรฐาน เช่นเดียวกับการได้อนุรักษ์และสืบสานกระบวนการทำ "หมอนเข็ม" (บุญหมอนเข็ม) ในประเพณีหลักของชาวอีสาน (บุญกฐิน)

เนื่องในวาระ ๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคาม บ้านเชียงเหียน (ต.เขวา อ.เมือง) เป็นอีกชุมชนหนึ่ง ที่สมควรได้รับการกล่าวถึงเป็นกรณีศึกษาไม่แพ้ชุมชนอื่นๆ เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันยาวนานของจังหวัดมหาสารคาม เป็นชุมชนในยุคอารยธรรมที่ขอมกำลังรุ่งเรือง เคยมีการขุดพบโบราณวัตถุและเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องสำริดอีกจำนวนหนึ่ง ภายในชุมชนมีบึงและหนองน้ำซึ่งถือเป็น "คูเมือง" หรือ "คูน้ำคันดิน" ล้อมรอบเมือง ๖ แห่ง คือ บึงหว้า บึงบ้าน บึงสิม บึงบอน สระแก้ว และหนองขอนพาด

ปี ๒๕๕๗ คณะการบัญชีและการจัดการ ขับเคลื่อนภารกิจการบริการวิชาการ (โครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน) และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (โครงการ ๑ คณะ ๑ วัฒนธรรม) อย่างละ ๑ โครงการ รวมเป็น ๒ โครงการตามลำดับ คือ โครงการพัฒนาแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปเสริมสร้างศักยภาพชุมชนเข้มแข็งฯ และโครงการหมอนเข็มองค์ประกอบในการอนุรักษ์และสืบสานพิธีกรรมบุญกฐินฯ




โครงการพัฒนาแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปเสริมสร้างศักยภาพชุมชนเข้มแข็งฯ ดำเนินการโดยสาขาเศรษฐกิจธุรกิจ (Business Economics) ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือการศึกษาสถานการณ์ของการจำหน่ายสมุนไพร การให้ความรู้เรื่องการตลาดสมุนไพร (เขียนแผนธุรกิจ) และการจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรและหมอสมุนไพร

โครงการดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้คู่บริการที่สำคัญมาก เพราะเป็นการยืนยันว่าชุมชนบ้านเชียงเหียนเป็นชุมชนที่อุดมไปด้วยป่าชุมชน มีสมุนไพรและปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรจำนวนมากที่รอการต่อยอดเชิงรุกสู่การสร้างชุมชนแห่งความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือกระทั่งการบูรณาการกับฐานอันเป็นโบราณคดี หรือมรดกวัฒนธรรมอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็เป็นได้

แต่สำคัญคือทั้งอาจารย์และนิสิต ก็จำต้องไปสู่เป้าหมายแห่งการเรียนรู้ในแบบ "ฝังตัว" ร่วมกับชุมชนให้ได้มากที่สุด อันหมายถึงลงชุมชนสัมผัสต้นน้ำ ทั้งที่เป็นผู้คน ศาสนาสถาน ดอนปู่ตา ป่าชุมชน ประเพณี พิธีกรรม พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ เพราะวิธีการเช่นนี้จะทำให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้ที่ชัดเจน และชุมชนเองก็จะเกิดการตื่นตัวและเปิดใจที่จะเรียนรู้คู่บริการร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ เสมือนต่างฝ่ายต่างเป็น "ผู้ให้" และ "ผู้รับ" ไปพร้อมๆ กัน




ส่วนโครงการหมอนเข็มองค์ประกอบในการอนุรักษ์และสืบสานพิธีกรรมบุญกฐินฯ ประกอบด้วยกิจกรรมการ "เรียนรู้คู่บริการ" หลัก ๒ กิจกรรม คือ การสืบสานประเพณีบุญกฐินและการจัดทำหมอนเข็มเพื่อประกอบ "งานบุญกฐิน" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "บุญหมอนเข็ม" โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการร่วมกับชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน

กรณีดังกล่าวจะหนุนนำให้อาจารย์และนิสิตได้องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับ "บุญกฐินและหมอนเข็ม" ทั้งในมิติภาคทฤษฎีที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริงร่วมกับชุมชน เช่นเดียวกับเรียนรู้และฝึกทักษะการทำหมอนเข็มอันเป็น "หัตถกรรมแห่งภูมิปัญญา" ที่นับวันเลือนหายไป เพราะชุมชนนิยมซื้อสำเร็จรูปมาถวายวัด

กิจกรรมเช่นนี้จึงไม่เพียงการช่วยให้องค์ความรู้ได้ถูกพลิกฟื้นขึ้นมาเท่านั้น ยังหมายรวมถึงมิติของความพอเพียง มิติของปรัชญา หรือปริศนาธรรมทางศาสนา รวมถึงมิติแห่งการเชิดชูสิ่งอันดีงามในชุมชน ทั้งที่เป็นบุคคลและประเพณีด้วยเช่นกัน




ทั้งสองโครงการฯ ใช้เครื่องมือขับเคลื่อนหลากวิธี เช่น สัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) สังเกตการณ์ (Observation Interview) แบบสอบถาม (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage ) การหาค่าเฉลี่ย (Mean) รวมถึงการจัดการความรู้ (Knowledge Management) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนรวม (Participation Learning) และการลงมือทำ (Learning by Doing) เพื่อก่อให้เกิด "ปัญญาปฏิบัติ" (Phronesis) ร่วมกัน และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน

อย่างไรก็ดีหากไม่นับความสำเร็จเชิงวัตถุประสงค์ของโครงการ เห็นได้ชัดว่าโครงการทั้งสองขับเคลื่อนไปบนฐานของศิลปวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาอย่างเด่นชัด ทั้งในมิติประวัตศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดี หรือกระทั่งประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากล้นอยู่ในชุมชน กล่าวคือ นับเป็นโอกาสอันดีที่อาจารย์และนิสิตได้เข้าไปเรียนรู้ความเป็นชุมชนบนฐานคิด "เรียนรู้คู่บริการ" พร้อมๆ กับการกระตุกเตือนให้ชุมชนได้ทบทวนทุนทางสังคมของตนเอง เพื่อก่อให้เกิดพลังการสร้างสรรค์แบบรวมหมู่ (Collective Creativity) ในการบูรณาการภารกิจมหาวิทยาลัยไปสู่การรับใช้สังคม

หรืออย่างน้อยทั้งอาจารย์และนิสิตก็ได้รับรู้ว่าชุมชนบ้านเชียงเหียน เป็นชุมชนที่บริบูรณ์ด้วยต้นทุนอันยิ่งใหญ่ที่รอการพัฒนาอย่างจริงจังและเป็นระบบจากคนในท้องถิ่นและภาคีต่างๆ เพราะนอกจากประวัติศาสตร์อันเก่าแก่แล้ว ยังพบว่าในชุมชนมีแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ทั้งที่เป็น "พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงเหียน" ที่ก่อตั้งโดยอาจารย์บุญหมั่น คำสะอาด และ "พิพิธภัณฑ์ไหโบราณ" ในวัดโพธิ์ศรี รวมถึง "ศูนย์เรียนรู้ป่าสมุนไพร" ที่ขับเคลื่อนเมื่อปี ๒๕๕๕




ในทำนองเดียวกันนี้ทั้งสองโครงการฯ ยังเป็นเสมือนสะพานเชื่อมโยงการเรียนรู้ให้อาจารย์และนิสิตได้สืบค้นถึงระบบข้อมูลกิจกรรมเชิงรุกของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เกี่ยวโยงกับการพัฒนาชุมชนบ้านเชียงเหียน ซึ่งมีทั้งที่ขับเคลื่อนเองและขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนร่วมกันมาเป็นระยะๆ ดังเช่น


  • ปี ๒๕๔๘ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อทำการศึกษาสถานการณ์สมุนไพรในชุมชน พบว่ามีชุดความรู้ว่าด้วยยาสมุนไพรมากถึง ๑๗ ตำรับ มีสมุนไพร ๑๖๐ ชนิด มีกลุ่มผู้จำหน่ายสมุนไพรกว่า ๑๐๐ ครัวเรือนและมีสมุนไพรที่สูญหายไปแล้ว ๗๕ ชนิด
  • ปี ๒๕๔๙ โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำเนินการจัดระบบข้อมูลเอกสารใบลานให้กับวัดโพธิ์ศรี
  • ปี ๒๕๕๐ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ร่วมกับบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ปลูกป่าเชิงนิเวศโดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่น จำนวน ๒๕,๐๐๐ ต้น
  • ปี ๒๕๕๕ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ร่วมกับมูลนิธิสุขภาพไทย จัดโครงการการศึกษาการฟื้นฟูและอนุรักษ์สมุนไพรพื้นบ้านอีสานเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพพื้นฐานหมู่บ้านต้นแบบฯ
  • ปี ๒๕๕๕ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสภาฮักแพง เบิ่งแญงเมืองมหาสารคาม จัดโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง "ชุมชนโบราณบ้านเชียงเหียน : จากมรดกประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาการท่องเที่ยว"




ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนและโครงการ ๑ คณะ ๑ ศิลปวัฒนธรรมของหลักสูตร/สาขาในสังกัดคณะการบัญชีและการจัดการ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในมิติของการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมตาม "อัตลักษณ์" มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) เพราะช่วยให้ชุมชนได้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องของการจัดทำแผนการตลาด ช่วยให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้าง มีระบบการบริหารจัดการเชิงกลยุทธในการผลิตและจำหน่ายสมุนไพรอย่างมีมาตรฐาน

เช่นเดียวกับการได้อนุรักษ์และสืบสานกระบวนการทำ "หมอนเข็ม" (บุญหมอนเข็ม) ในประเพณีหลักของชาวอีสาน (บุญกฐิน) ซึ่งเป็น "งานบุญ" ที่ชุมชนต้องอาศัยพลังใจอันสามัคคีในการร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เกิดความตระหนักรู้ในอัตลักษณ์ของตนเองอีกครั้ง พร้อมๆ กับการนำทุนทางสังคมที่มีในชุมชนไปต่อยอดสู่การเป็น "แผนพัฒนาชุมชน" ทั้งในระดับท้องถิ่น และจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม



หมายเหตุ : ภาพโดยพนัส ปรีวาสนา และคณะการบัญชีและการจัดการ



ความเห็น (4)

ดีใจที่เห็นคณะนี้ทำเรื่องสมุนไพรด้วยครับ

ตอนแรกยังไม่เข้าใจว่า คณะบัญชีและการจัดการทำอะไร

พออ่านแล้วได้ความรู้มากเลย ชุมชน มหาวิทยาลัยอาจารย์และนิสิตได้เรียนรู้ร่วมกัน

เป็นการทำงานแบบเนียนๆเลยครับ

ขอบคุณมากครับ

ขอบพระคุณ อ.ขจิต ฝอยทอง มากๆ ครับ

ถ้าเขียนยาวกว่านี้อีกซักสองสามบรรทัด จะตัดมาลงในจดหมายข่าวเลยทีเดียว 555


เห็นผลงาน และรอยยิ้มของนักศึกษา .... น่าชื่น ใจ นะคะ


ต้องเรียกว่า " ความรู้บูรณาการกับชีวิต " นะจ๊ะ ขอบคุณจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท