บรรยากาศการเรียนที่ดี


นอกจากกิจกรรมมากมายเหล่านั้น จะเบียดบังเวลาเรียนเวลาสอน จนอาจสร้างความเสียหายให้กับนักเรียนได้แล้ว อีกประเด็นที่พบและคิดว่าสำคัญกว่าเสียอีก เป็นเรื่องทำลายบรรยากาศการเรียนที่ดี อย่างไร?

ตามข่าวสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน(สสค.) ให้ข้อมูลว่า งานหนักของ "เรือจ้าง" เมื่อระบบการศึกษาเบียดบังเวลาสอน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

จาก 200 วัน ที่โรงเรียนเปิดสอน ครูต้องใช้เวลาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด เพื่อเจียดให้กับกิจกรรมภาคบังคับตามระบบการศึกษา ในการสำรวจ "กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู" พบว่า "ครูที่ได้รับรางวัลครูสอนดี" จำนวน 427 ตัวอย่าง ต้องรับภาระนอกเหนือจากการสอนไปกับกิจกรรม ดังต่อไปนี้

อันดับ 1) ทำประเมินหน่วยงานภายนอกคิดเป็น 43 วันต่อปีการศึกษา มีทั้งประเมินโรงเรียน ประเมินครู และประเมินนักเรียนวุ่นวายไปหมด

อันดับ 2) จัดแข่งขันทางวิชาการคิดเป็น 29 วันต่อปีการศึกษา

อันดับ 3) จัดอบรมเกี่ยวกับหน่วยงานภายนอก คิดเป็น 10 วันต่อปีการศึกษา

(ที่มา : http://www.kruthai.info/view.php?article_id=9167)


จากการพูดคุยกับเพื่อนครูบ้าง ประสบการณ์ของตนเองบ้าง ระยะหลังหลายปีมานี้ โรงเรียนตกอยู่ในสภาพตามที่ สสค.ให้ข่าวไว้จริงๆ ภาระงานต่างๆและกิจกรรมนักเรียนมากมาย ส่งผลต่อการเรียนการสอนในห้องแน่นอนอยู่แล้ว นอกจากนั้น ความรู้สึกใหม่ที่เพิ่งเกิดยิ่งน่าเป็นห่วง ยิ่งวันนี้การศึกษาบ้านเราอาการไม่ค่อยจะดีอยู่ด้วย คงไม่ใช่ตัวเองคนเดียวที่รู้สึก ครูอีกหลายคน เจออย่างนี้บ่อยเข้า อาการคงไม่ต่าง สุดท้ายเด็กๆ(อีกแล้ว)ที่จะได้รับผลกรรม ซึ่งอาจรุนแรงกว่า

ถ้าพูดถึงบรรยากาศการเรียนที่ดี หลายคนคงนึกถึงสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ ต้นไม้ ดอกไม้ สวนหย่อม สำหรับในชั้นเรียน ก็น่าจะเป็นแจกันดอกไม้ ภาพที่ผนังห้อง ความสะอาด ความเป็นระเบียบ มุมความรู้เล็กๆ มีหนังสือ มีอินเทอร์เน็ตไว้สืบค้น อาจมีเกม หรือสิ่งต่างๆจัดวางไว้ล่อตาล่อใจ ท้าทาย เชิญชวน เร่งให้เด็กอยากเรียนรู้

ถ้าเป็นช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอน อาจหมายถึง อารมณ์จิตใจที่ดีของครู ความสามารถที่จะสร้างความอยากรู้ให้กับเด็กๆ รวมไปถึงความครึกครื้น ความสนุกสนาน เพื่อความสุขในการเรียน

ส่วนตัวแล้วก็คิดเช่นนี้ สภาพแวดล้อมที่เจริญหูเจริญตา ครูที่เข้าใจความทโมน เข้าใจความไม่เอาใจใส่การเรียนของศิษย์ เพราะสภาพแวดล้อมสมัยนี้ มักฉุดดึงความสนใจเขาไปจนแทบหมดสิ้น ไม่ดุอย่างไร้เหตุผล อดทน รอคอย ค่อยตะล่อมชั้นเรียนที่แสนยุ่งยากใจนั้น ให้เข้าที่เข้าทาง หรือพยายามอย่างที่สุด ที่จะทำให้เด็กๆส่วนใหญ่ยังอยากจะเรียนรู้ เหล่านี้น่าจะเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ที่ครูควรเพียรสร้าง

หลายปีที่ผ่านมา ความเข้าใจเรื่องบรรยากาศการเรียนของตัวเองเพิ่มประเด็นขึ้นอีก กิจกรรมมากมายที่ประดังเข้ามาสู่ชั้นเรียน ทั้งของโรงเรียนเองและหน่วยงานภายนอก หลายเรื่องเป็นนโยบาย กรณีนี้เห็นใจโรงเรียนเหมือนกัน ในฐานะผู้ปฏิบัติเล็กๆแล้วยากจะปฏิเสธ หรือตัดสินใจได้ แต่หลายเรื่องโรงเรียนก็มีจุดอ่อน โดยเฉพาะการบริหารจัดการเวลาให้คุ้มค่า หรือเกิดประโยชน์สูงสุดกับการเรียนการสอน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของทุกโรงเรียน

นอกจากกิจกรรมมากมายเหล่านั้น จะเบียดบังเวลาเรียนเวลาสอน จนอาจสร้างความเสียหายให้กับนักเรียนได้แล้ว อีกประเด็นที่พบและคิดว่าสำคัญกว่าเสียอีก เป็นเรื่องทำลายบรรยากาศการเรียนที่ดี อย่างไร?


ถ้าบรรยากาศการเรียนที่ดีเป็นบรรยากาศที่ทำให้อยากเรียน การหยุดเรียนเพื่อทำกิจกรรมต่างๆซึ่งแทรกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แรกที่ตัวเองสังเกตได้ นอกจากครูจะต้องเริ่มสร้างความเข้าใจเนื้อหาสาระกันใหม่ เพราะขาดความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความปกติแล้ว อีกอย่างเป็นความเฉื่อยชาในความอยากเรียนของนักเรียน ยิ่งกิจกรรมมากขึ้น ไม่ได้เรียนบ่อยเข้า ความรู้สึกไม่พร้อมเรียนของนักเรียนจะเพิ่มเป็นทวีคูณ ในความเป็นครูแล้ว เข้าใจเด็กๆดี เหมือนรถที่หยุดวิ่ง จะผลักจะดันให้กลับมาแล่นใหม่อีกครั้ง ครูต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ จนรถเริ่มแล่นแล้วนั้นแหละ แรงจึงค่อยเบา

ข้อสังเกตประการต่อมาที่กระชากความรู้สึกตัวเองอย่างรุนแรง จากที่ก่อนหน้าเคยคิดว่า ก็พอเข้าใจเรื่องนี้แล้ว.. อารมณ์ตัวเองที่เกิดครับ ความเฉื่อยชา ความล้า ความขี้เกียจ(สอน) อันเนื่องมาจากขาดความต่อเนื่องเช่นกัน หรือจากการที่ต้องหยุดสอนบ่อยๆนั่นเอง ในฐานะครูซึ่งมีหน้าที่สอน รวมทั้งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี จึงเป็นความน่าละอายกับอารมณ์นี้ที่เกิด

ครูยังไม่มีอารมณ์อยากสอนเลย จึงเข้าใจเด็กๆผู้เป็นลูกศิษย์อย่างถ่องแท้ แล้วเด็กๆจะเหลือความอยากเรียนได้อย่างไร? วัยแกเป็นวัยสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่แล้ว ความรับผิดชอบเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้เอง เจอเหตุการณ์อย่างนี้เข้า ความเรื่อยเฉื่อย ความไม่พร้อมเรียน ซึ่งต้องรอครูเข็นจึงเกิด ที่สำคัญแล้วครูจะเข็นไหวหรือ? ตัวเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอด

ขนาดครู มีหน้าที่ความรับผิดชอบ มีเงิน มีรายได้ มาจากงานสอนแท้ๆ ยังขี้เกียจเลย แล้วเด็กๆจะไปเหลืออะไร?

(พิมพ์ในมติชนรายวัน , 25 มกราคม 2558)


หมายเลขบันทึก: 583952เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2015 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2015 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

มาเป็นกำลังใจให้ครูดีๆที่เป็นแบบอย่างเช่นนี้ค่ะ....

ต้องปฏิรูปโดยใครดี ผู้บริหารมาตรฐานก็ต่างกัน

เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ค่ะอาจารย์ ขอบพระคุณบทความดี ๆ เช่นนี้

  • ยังไงก็เป็นกำลังใจให้กันและกันนะคะ
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะ

การทำประเมินจากภายนอกใช้เวลามากถึง ๔๓ วัน เป็นเพราะครูต้องเตรียมเอกสารมากมายหรือเปล่า พี่เองนึกไม่ออก แต่เห็นตัวเลขเวลาที่ครูต้องทิ้งห้องเรียนแล้วก็น่าตกใจ กระทรวงศึกษาคงคิดวิธีแก้ไข?? พี่จะรออาจารย์มาเขียนเล่าค่ะ

พี่สนใจเรื่อง "บรรยากาศการเรียนรู้" มากกว่า เพราะแก้ไขในระดับโรงเรียนได้ มองจากมุมตัวเองในฐานะผู้เรียน คิดว่า ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมระหว่างครูกับศิษย์ กับ วิธีเรียนที่ให้เรามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น จะกระตุ้นให้เรากระตือรือร้นที่จะ "คิด" และไป "ค้นคว้าด้วยตัวเอง" มากกว่านั่งฟังครูเลคเชอร์ค่ะ

ตอนเรียนที่ครุศาสตร์ จุฬา ได้เจอครูทั้งสองแบบ รู้เลยว่าอยากเรียนกับครูแบบไหน และถ้าได้เป็นครูจะเป็นครูแบบไหน

พี่อยากให้กำลังใจครูค่ะ ครูเป็นผู้เสียสละมากๆ ในสถานการณ์ที่งานสอนล้นมือ งานนอกก็มากมาย

-สวัสดีครับครู

-สบายดีนะครับ

-เกี่ยวกับบรรยากาศการเรียนที่ดี..นอกจากสถานทีสวยงามแล้วต้องมีบรรยากาศในชั้นเรียนที่่น่าเรียนด้วย

-ครั้นเมืื่อยังเป็นเด็กมักจะชอบการเรียนที่ครูสอนแบบสนุกแต่ก็แฝงไปด้วยสาระ

-บางวิชาก็มีบรรยากาศเคร่งเครียด...แต่ก็ต้องเรียนให้ผ่าน..

-อ้อ..ฝากถาม..ตอนนี้ยังมีชั่วโมงอิสระหรือหรือเปล่าครับ?

-จำได้ว่าตอนผมเรียน ม.ต้น มีคาบนี้ด้วย..แต่ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ชอบเข้ามาสอนเสริม..55

-นำพรดี ๆ จากแม่อุ้ยไข จอมดวง อายุ 104 ปีมาฝากครับ

  • สวัสดีปีใหม่ 2558..มีความสุขยิ่งๆขึ้นไปนะครับ!
  • ขอบคุณกำลังใจครับ พี่ใหญ่ นงนาท
    • เคยนึกครับอาจารย์ บางทีสังคมเอะอะอะไรก็ครูไว้ก่อน ทั้งๆที่หลายเรื่องมีความสลับซับซ้อน หรือมีอะไรมากกว่านั้น..
    • ขอบคุณอาจารย์ pap2498ครับ
    • ปัจจัยที่ทำให้การศึกษาบ้านเราไปไม่ถึงไหน มีมากมายจริงๆนะครับ เอาเฉพาะที่โรงเรียน ที่ครูเราคุ้นเคยกัน ก็หลายอย่างแล้ว..สวัสดีปีใหม่ 2558 เช่นกันครับอาจารย์..
    • ขอบคุณกำลังใจครับ อ.อิงจันทร์ ณเรือนปั้นหยา
    • การเตรียมเพือรับการประเมินภายนอก ต้องทำตลอด งาน กิจกรรม ทุกอย่างที่ดำเนินการ ต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบ แค่เวลาปฏิบัติการจริงๆ ในการลงมือทำอะไรแต่ละเรื่อง ก็ใช้เวลาพอสมควรอยู่แล้ว ไหนจะต้องมาเก็บหลักฐาน บันทึกให้เป็นเอกสารรายงานอีก ก็ยิ่งต้องใช้เวลา โดยเฉพาะโรงเรียนเล็กๆแล้ว คนหนึ่งต้องทำหลายเรื่องหรือหลายๆโครงการ เวลาก็ยิ่งต้องใช้มากเข้าไปอีก แถมใครที่ไม่ได้ทำเก็บไว้อย่างเนื่อง(เอกสาร) อาจเนื่องมาจากมีหลายอย่างที่ต้องทำ..ช่วงก่อนถูกมาประเมิน จึงต้องสะสางเป็นการใหญ่
    • การประเมินภายนอกมักบอกว่าดูที่การปฏิบัติจริง แต่เอาเข้าจริง ที่โรงเรียนผ่านการประเมินมาสามรอบแล้วครับ ทุกรอบก็ยังเน้นพิจารณาที่เอกสาร กรรมการมักบอกมาดูแค่ 3 วัน การปฏิบัติจริงเห็นไม่ครบประเด็นแน่ หรือจะน่าเชื่อถือได้อย่างไรในการปฏิบัติของโรงเรียนที่ผ่านๆมา ฉะนั้น ร่องรอยเอกสารหลักฐานต่างๆ ก็ยังต้องมีให้เห็น ไม่ใช่หรือ?.......เฉพาะตัวอย่างเรื่องเตรียมรับการประเมินภายนอกอย่างเดียวนะครับพี่์ีNui จริงๆโรงเรียนยังต้องถูกประเมินเรื่องอื่นอีก เช่น ประเมินภายใน ประเมินโรงเรียนดีศรีตำบล ฯลฯ เป็นต้น
    • ขอบคุณข้อคิดเห็นและกำลังใจที่ได้จากพี่Nuiเสมอมาเลยครับ
    • แม่อุ้ยไข จอมดวง สุดยอดเลย 104 ปี..มีความสุขไปด้วยเลยกับความอบอุ่นในครอบครัว ถือโอกาสรับพรจากแม่อุ้ยไปเรียร้อยแล้วนะครับ
    • สวัสดีปีใหม่ 2558 ขอบคุณคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ!

    แอบเชียร์และเป็นกำลังใจให้อาจารย์นะครับ

    ข้อแรกตรงประเด็นมาก

    บ้านเราจะประเมินอะไรมากมายขนาดนั้น

    เอาเวลาที่ทำเอกสารการประเมินไปสอนดีกว่าไหน

    เกณฑ์การประเมินก็ใช้คลุมครอบจักรวาล

    โรงเรียนเล็กๆทำได้ไม่หมดแน่ๆ

    ขอบคุณพี่ครูมากๆครับที่เขียนเรื่องดีๆให้อ่าน

    เห็นด้วยว่าเด็กทำกิจกรรมนอกหลักสูตรมากเกินไป แข่งขันกัน ประกวดกันมากจริงๆ ส่วนหนึ่งผมว่าเกณฑ์ประเมินต่างๆต้องใช้รางวัลจากเด็กมากๆ ผมก็อยากสอนเด็กให้ดี เด็กก็ว่าไม่เข้าใจ ฮึๆๆ ต้อแต้ครับ


    • งานที่โรงเรียนต้องทำมากขึ้นทุกวันครับอาจารย์ เมื่อเทียบกับตอนที่เราเป็นครูใหม่ๆ
    • ขอบคุณอ.ขจิตครับ
    • ได้คิดเลยครับครู "เกณฑ์ประเมินต่างๆ ต้องการรางวัลจากเด็กๆ มากเกินไปแล้วหรือเปล่า?"
    • ขอบคุณครูปือครับ
    อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท