ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๙๘. ตามเสด็จปราจีนบุรี : ๓. โรงเรียนกาสรกสิวิทย์



หลังจากทำงาน ๓ วัน (๗ - ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗) คณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และคู่สมรส ได้รับพระราชทานพาเที่ยว ๓ วัน (๑๐ - ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗) ปีนี้ไปภาคตะวันออก ๓ จังหวัด คือ ปราจีนบุรี สระแก้ว และ ฉะเชิงเทรา

จุดที่สอง ของวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ คือ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จ. สระแก้ว โดยตั้งอยู่กลางทุ่ง เป็นโรงเรียนของทั้งควายและคน แต่เวลาสอบเป็นการสอบคน และสอบสองครั้ง ห่างกัน ๕ วัน

เมื่อไปถึง เราได้เรียนรู้เรื่องควาย ว่ามี ๒ ชนิดคือควายปลัก (มีในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้) มี ๔๘ โครโมโซม กับควายแม่น้ำ (มีในเอเซียใต้) มี ๕๐ โครโมโซม ควาย ๒ ชนิดนี้ผสมกันได้ ออกลูกมามี ๔๘, ๔๙, หรือ ๕๐ โครโมโซม ตัวที่มี ๔๙ โครโมโซมเป็นหมัน และได้ความรู้ว่าผลมะเกลือใช้ถ่ายพยาธิควายได้ เหมือนในคน และได้เรียนรู้เรื่อง "ขวัญควาย"

ผมได้มีโอกาสเห็นควายที่สง่างามและสมบูรณ์ที่สุดในชีวิต ตัวที่อายุ ๗ ปี หนัก ๑ ตัน และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ชมการสีซอให้ควายฟัง โดยฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตน์ สีเพลงเขมรไล่ควาย ปรากฎว่าควายไม่สนใจเลย

มีการอธิบายโรงเรียนทำนาด้วยควาย จัดแสดงเครื่องมือที่ใช้ควายลาก ได้แก่ไถ คราด ลูกกลิ้ง เกวียน (ทำให้ผมนึกถึงตอนเด็กๆ สิ่งที่เขาใช้ควายลาก ที่เห็นทั่วไปเรียกเฌอ ลักษณะคล้ายเกวียนที่ไม่มีล้อ ใช้ไม้โค้งๆ ไถไปกับพื้น) และสาธิตวิธีใช้ภาษาเชือกกับควาย และวิธีเทียมแอก ผู้สาธิตบอกว่าต้องเข้าทางซ้ายของควายเสมอ มีคนถามเหตุผล ได้รับคำตอบว่า เพราะควายถนัดซ้าย

สิ่งของจัดแสดง ได้แก่เครื่องใช้ในการทำนา ครกและสากตำข้าว สีมือ โม่ข้าว เครื่องเป่าฝัดข้าวเอาข้าวลีบออก

มีการแสดงไถนา และคราดนา คนที่นั่นบอกว่าเป็นการแสดงสาธิตที่ไม่สมจริง เพราะเป็นเวลาเกือบเที่ยง ชาวบ้านเขาไม่ไถนาเวลานี้ เขาไถตอนเช้าที่แดดไม่จัด และมักจะไถตอนในนามีน้ำมากกว่านี้

เรารับประทานอาหารกลางวันที่ร้านควายคะนอง อาหารมากเสียจนกินไม่หมด



ควายที่สมบูรณ์สง่างามที่สุดที่ผมเคยเห็น


ทรงสีซอให้ควายฟัง


ฟังคำอธิบายเรื่องโรงเรียนควายกับคน


ไถ คราด และลูกกลิ้ง ของโบราณทำด้วยไม้


จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในการทำนา


เครื่องใช้


ไถนาสาธิต


ผมติดใจหลังคาโรงเรือนที่มุงด้วยแฝก


วิจารณ์ พานิช

๑๑ ต.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 581469เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2014 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 06:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท