nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

​กิน เก็บ และเช็ดให้สะอาด...??


ไปเที่ยวกลับมา ได้เห็นสิ่งดีๆ เอามาเขียนเพราะอยากเห็นแบบนั้นในบ้านเราบ้าง เริ่มที่คนอื่นไม่ได้ก็เริ่มที่ตัวเอง ง่ายที่สุด

นอกจากวัฒนธรรมการเข้าคิวที่ใช้ทุกที่ในญี่ปุ่นแล้ว วัฒนธรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ "กินแล้วเก็บ"

ทุกร้านในศูนย์อาหาร และร้านอาหารแบบช่วยตัวเองตามห้างและร้านทั่วไป ทุกคนเข้าคิวซื้อมานั่งกินเสร็จแล้วจะเก็บขยะบนโต๊ะ เช็ดโต๊ะ นำภาชนะไปวางคืน ทิ้งขยะในที่ที่เขาจัดไว้ คนญี่ปุ่นทุกคนทำเช่นนี้ ที่ไม่ทำก็พอคาดเดาได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยว คนญี่ปุ่นที่ต้องการใช้โต๊ะต่อเขาก็จะมาเก็บให้ (เห็นเหตุการณ์นี้ที่ร้านสตาร์บั๊คค่ะ)

วันที่ไปเที่ยว Tokyo Skytree ขึ้นชมบนยอดที่ต้องเขาคิวนานถึง ๒ ชั่วโมง (เป็นการฝึกความอดทนต่อการเข้าคิวที่ดีเยี่ยม) บ่ายก็แวะไปกินข้าวที่ศูนย์อาหาร

บริเวณนั่งกินอาหาร มีอ่างล้างมือ สบู่ และขวดแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ ก่อนกิน (สุขนิสัยสากลที่สอนในโรงเรียน แต่มักลืมจัดที่ล้างมือพร้อมสบู่ไว้ให้) มีก๊อกน้ำดื่มพร้อมแก้วไว้บริการ ที่ญี่ปุ่นเราไม่ต้องสั่งน้ำดื่ม ไปนั่งร้านอาหารก็จะมีชาร้อนๆ หรือน้ำดื่มมาวางโดยไม่ต้องสั่ง

ฉันยืนดูคนญี่ปุ่นที่มาล้างมือแล้วหยิบผ้า(สีฟ้าที่เห็นบนอ่าง)เช็ดน้ำที่เปียกขอบอ่างด้วยความฉงน??

ที่ร้านอาหารทุกร้าน มีส่วนที่จัดไว้สำหรับให้ลูกค้านำถาดและภาชนะมาส่งคืน ทุกคนทำอย่างเคร่งครัดจึงไม่เห็นถาดและจานอาหารวางกองตามโต๊ะ

เค้าเตอร์นี้มีผ้าสำหรับเช็ดโต๊ะวางไว้ให้ (ถาดซ้ายมือ ผ้าสะอาดก่อนใช้) คนญี่ปุ่นกินเสร็จแล้วเอาถาดจานที่ต้องล้างไปคืนที่ร้าน แก้วน้ำใช้แล้วก็จะเทน้ำที่เหลือทิ้งในช่องที่ทำไว้ให้ ก่อนทิ้งแก้วในช่อง ถ้าทำโต๊ะเลอะก็จะมาหยิบผ้านี้ไปเช็ดจนสะอาด แล้วนำผ้าที่ใช้แล้วมาวางในถาดขวามือ

ไม่เห็นมีแม่บ้านมาคอยเดินเก็บโต๊ะเหมือนบ้านเรา

กิน แล้ว เก็บ เช็ดโต๊ะให้สะอาด ทำไม??

เพื่อให้คนที่มาใหม่เข้าไปนั่งได้ทันที เป็นความเอื้อเฟื้อ เป็นวัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน หรือ เป็นวัฒนธรรมรักความสะอาดเป็นระเบียบของคนญี่ปุ่นที่ถูกถ่ายทอดกันมา ก็ไม่รู้ได้

แต่ฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี

ตามศูนย์อาหารบ้านเราทุกคนกินแล้วกองเขรอะไว้ให้แม่บ้านมาเก็บ กระดาษทิชชูทิ้งเกลื่อนบนโต๊ะ บางทีก็หล่นบนพื้น

ลองสังเกตดูตามศูนย์อาหารใหญ่ๆ เมืองกรุงสิคะ แม่บ้านเหนื่อยกันมาก ทำกันมือไม่ได้หยุด คนมารอนั่งโต๊ะแต่นั่งไม่ได้ก็ต้องรอ แม่บ้านกวาดเศษอาหารไปลงจานคนที่กำลังนั่งกินก็เป็นกรณีทะเลาะวิวาทกันอย่างที่เป็นข่าว

ถ้าเราเอาวัฒนธรรม "กินแล้วเก็บ" แบบญี่ปุ่นมาใช้บ้างก็ถือเป็นความเอื้อเฟื้อแก่แม่บ้าน และผู้ที่รอนั่งโต๊ะ

ฉันพยายามทำแบบนี้เท่าที่ทำได้ มีปัญหาอยู่บ้างที่บ้านเราไม่มีที่สำหรับให้ยกไปวาง จึงทำได้แค่เช็ดโต๊ะด้วยกระดาษเช็ดมือจนสะอาด จัดการเศษอาหารเก็บจานชามซ้อนให้เรียบร้อยใส่ไว้ในถาดแม่บ้านเก็บได้ง่ายๆ ถ้าเห็นรถเก็บจานก็ยกไปวางให้ สิ่งที่ได้รับกลับมาทุกครั้งคือรอยยิ้มจากแม่บ้าน

เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างวัฒนธรรม "กินแล้วเก็บ" ด้วยกันค่ะ.

อาทิตย์ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 581441เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2014 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2014 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ทุกอย่าง..เริ่มที่ตัวเอง..บ้านเรา..คงต้อง รออีกหลายชาติภพ..เพราะเราไม่ได้ถูกอบรมมาให้เคารพตนเคารพผู้อื่น..รู้เพียงยืนตรงเคารพธงชาติ..อิอิ

เป็นระเบียบที่กลืนกินในวิถีชีวิตมาก ๆ เลยนะครับพี่nui ครับ

ต่างจากบ้านเราเลยนะครับ

บ้านเราบางที่กินแล้ววางทิ้งไว้นกมากกินต่ออีก เฮ้อ..

มาร่วมชื่นชมความมีระเบียบวินัยดีๆเช่นนี้ค่ะ...

ขอบคุณค่ะ ยายธี

ชอบคำนี้ "เคารพตน เคารพผู้อื่น" ประโยคนี้มีความสำคัญ ต้องสอนค่ะ เกิดเองไม่ได้

สบายดีอยู่ค่ะอาจารย์ โสภณ เปียสนิท

อาจารย์เป็นไงบ้าง ยังไปปลูกผักปลูกหญ้าในบ้านสวนหลังน้อยอยู่รึเปล่า

"เป็นระเบียบที่กลืนกินในวิถีชีวิตมาก ๆ"

ใช่ค่ะ น้อง แสงแห่งความดี... อดไม่ได้ที่จะอยากเห็นบ้านเราเป็นแบบนั้นบ้าง

"เป็นระเบียบที่กลืนกินในวิถีชีวิตมาก ๆ"

ใช่ค่ะ น้อง แสงแห่งความดี... อดไม่ได้ที่จะอยากเห็นบ้านเราเป็นแบบนั้นบ้าง

นกกิน ดีกว่าเจ้าสี่ขามาเลียจานนะอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง อิ อิ..

เราช่วยกับเก็บซะก่อนดีกว่านะ

ขอบคุณน้อง ธิรัมภา

สงสัยกำลังวางแผนเที่ยวญี่ปุ่นกระมัง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท