หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : อีกหนึ่งความง่ายงามของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจากสาขาสารสนเทศศาสตร์


ความสำเร็จเล็กๆ ที่ก่อตัวอยู่อย่างเงียบๆ ในตัวตนของนักเรียน หรือที่เรียกว่า "มัคคุเทศก์น้อย" ที่กำลังตื่นเต้นและตื่นตัวกับการหยิบจับหนังสือในห้องสมุดของตนเอง เสมือนการได้เป็น "บรรณารักษ์น้อย" ในห้องสมุดอย่างน่ารัก กระบวนการเช่นนี้คืออีกเส้นทางหนึ่งของการบ่มเพาะเรื่อง "จิตอาสา" ไปพร้อมๆ กับการปลุกกระแส "การอ่าน" ที่ดี

๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน มิได้มีจุดเด่นอยู่เพียงแค่การสร้างพื้นที่ให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการกระตุ้น หรือปลุกเร้าให้ชุมชนตื่นตัว –ตระหนักถึงคุณค่าของตนเองไปพร้อมๆ กัน


โครงการ "พัฒนาระบบห้องสมุดและส่งเสริมการเรียนรู้นักเรียนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์" จากสาขาสารสนเทศศาสตร์ (คณะวิทยาการสารสนเทศ) ณ โรงเรียนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์ ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สะท้อนภาพในทำนองดังกล่าวตามวิถี ๑ หนึ่งหลักสูตร ๑ ชุมชนได้อย่างชัดเจน

โครงการดังกล่าวไม่ได้จัดครั้งเดียว หรือ "ตูมเดียว" แล้วจบกระบวนการ หากแต่ทยอยจัดขึ้นเป็นระยะๆ และการลงพื้นที่การจัดกิจกรรมในแต่ละครั้งจะมีอาจารย์ หรือผู้สอนติดตามลงพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ เป็น "พี่เลี้ยง" ให้กับนิสิตอย่างใกล้ชิด




โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าครั้งนี้สาขาสารสนเทศศาสตร์ประสบความสำเร็จไม่แพ้ครั้งที่ผ่านมา หรือจะเรียกว่าประสบความสำเร็จมากกว่าครั้งก่อนๆ เสียด้วยซ้ำไป เพราะครั้งนี้ ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา สามารถนำพาอาจารย์ในหลักสูตรลงสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ได้มากกว่าที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้ต้องแบกรับ "งานภาคสนาม" อย่างหนักหน่วงอยู่คนเดียว ขณะที่อาจารย์ท่านอื่นๆ ปักหมุดการหนุนเสริมอยู่ในมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพิสูจน์ความเป็น "ทีม" และการสร้าง "ผู้นำ" เตรียมรับช่วงภารกิจแห่งการเรียนรู้ในภายภาคหน้า –


กรณีดังกล่าวนี้ ผมถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของการดำเนินงาน ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนอย่างง่ายงาม เป็นความสำเร็จของการสร้างทีมในหลักสูตร เสมือนการบูรณาการศักยภาพของอาจารย์ในหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติจริงในชุมชนร่วมกับนิสิตอย่างนุ่มลึก ยิ่งเป็นการลงชุมชนแบบ "ฝังตัว" และ "ทำจริง" เช่นนี้ ย่อมได้ช่วยกระตุกเตือน หรือสะกิดเตือนให้อาจารย์ได้เห็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ "นอกชั้นเรียน" ที่เต็มไปด้วยชีวิตอย่างไม่ต้องกังขา

เช่นเดียวกับความสำเร็จที่สามารถกระตุกเตือน "ชุมชน" ให้ตื่นตัว เห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเองในการที่จะลุกหรือขยับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ มิใช่รอรับ หรือเฝ้ารอให้ใครๆ มาช่วยเหลือเหมือนที่คุ้นชิน




กรณีเช่นนี้ทางหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ประสบความสำเร็จในมิติดังกล่าวอย่างยิ่งยวด เพราะสามารถออกแบบกิจกรรมให้นักเรียน (เด็กและเยาวชน) ในชุมชน/โรงเรียนได้มีพื้นที่ในการรับผิดชอบกิจกรรมร่วมกับนิสิตและอาจารย์ได้อย่างน่ายกย่อง ดังจะเห็นได้จากการที่นักเรียนตื่นตัวมาช่วยพี่ๆ นิสิตจัดหนังสือเข้าห้องสมุดของตนเอง นับตั้งแต่คัดแยกหนังสือ ซ่อมหนังสือ คีย์ข้อมูลหนังสือลงในระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นผ่านระบบสารสนเทศ ฯลฯ

กระบวนการเหล่านี้ ผมถือว่ามีเป็นกิจกรรมแห่งการบ่มเพาะจิตสาธารณะแก่เด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี เพราะการที่จะทำให้พวกเขารักและผูกพันกับท้องถิ่นตนเอง หรือเห็นความสำคัญกับสมบัติของส่วนรวม ย่อมต้องเริ่มจากการกระตุ้นเตือนให้พวกเขาได้ลงมือทำร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำเช่นนี้แหละ มิใช่มหาวิทยาลัยฯ ก้มหน้าก้มตาเร่งทำอยู่คนเดียว ทำให้เสร็จๆ หรือโหมกระหน่ำทำให้ทันเวลาเพื่อตอบโจทย์ตัวชี้วัดที่ถูกกำหนดขึ้น โดยไม่สนใจว่าชุมชนจะมีรู้สึกอย่างไร และมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ อย่างไร –

หรือเรียกง่ายๆ คือเอางบประมาณภาษีของประชาชนไปละลายลงแม่น้ำอย่างเลือดเย็น โดยไม่ยอม "เปิดพื้นที่" ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมอย่างมีศักดิ์ศรี ถึงแม้กิจกรรมที่จัดขึ้นจะขับเคลื่อนบนโจทย์ หรือความต้องการของชุมชนแค่ไหน หากชุมชนยังไม่มีโอกาสได้ลงมือทำร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ ผมก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคมอยู่วันยังค่ำ ซึ่งกรณีเช่นนี้หลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ได้สอบผ่านแล้วอย่างสง่าผ่าเผย




เช่นเดียวกับความสำเร็จเล็กๆ ที่ก่อตัวอยู่อย่างเงียบๆ ในตัวตนของนักเรียน หรือที่เรียกว่า "มัคคุเทศก์น้อย" ที่กำลังตื่นเต้นและตื่นตัวกับการหยิบจับหนังสือในห้องสมุดของตนเอง เสมือนการได้เป็น "บรรณารักษ์น้อย" ในห้องสมุดอย่างน่ารัก

กระบวนการเช่นนี้คืออีกเส้นทางหนึ่งของการบ่มเพาะเรื่อง "จิตอาสา" ไปพร้อมๆ กับการปลุกกระแส "การอ่าน" ที่ดีอย่างน่าสนใจ อย่างน้อยก็เริ่มต้นจากการสร้างกลุ่มคนเล็กๆ ขึ้นมาบริหารจัดการอะไรๆ ด้วยตนเอง ซึ่งผมเชื่อว่าในที่สุดแล้วกลุ่มคนเหล่านี้จะไปกระตุกเตือน หรือชักชวนเพื่อนคนอื่นๆ ได้เดินเข้าห้องสมุดให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา รวมถึงการสามารถออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการอ่านได้มากขึ้นเป็นระยะๆ ดีไม่ดีอาจขยายออกไปสู่หมู่บ้าน ชุมชน หรือผนึกเข้าเป็นแผนพัฒนาท้องถิ่นได้ในที่สุดก็เป็นได้

ถึงตรงนี้แล้วผมยังอยากจะยืนยันอีกครั้งว่าผมชอบโครงการอันง่ายงามในทำนองนี้มาก เพราะใช้เทคนิคการขับเคลื่อนที่ไม่ซับซ้อนอะไร มีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายว่าเพศวัยประมาณนี้กิจกรรมประมาณไหนถึงจะเหมาะสมและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างมีพลัง...




ผมชื่นชอบความง่ายงามของกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความเป็นหลักสูตร เพราะนิสิต หรือกระทั่งนักเรียนไม่ได้ทำงานกับชั้นหนังสือ หรือหนังสือที่ขนๆ ออกมาจัดทำระบบเท่านั้น หากแต่เป็นการทำงานกับคน เป็นการทำงานร่วมกันในรูปของ "พี่สอนน้อง" (น้องช่วยพี่) ขณะที่อาจารย์ก็ได้ทำงานกับนิสิตและนักเรียน ซึ่งเป็นบทบาทของการเป็น "พี่เลี้ยง"


มิหนำซ้ำยังชี้ให้เห็นเทคนิคอื่นๆ ที่เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้หลากหลาย เช่น การทำกิจกรรมแบบบันเทิงเริงปัญญา เหนื่อยก็พัก หากิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เล็กๆ มาคั่นเวลา ใครเหนื่อยก็พัก ใครว่างก็เข้าไปทำแทน จัดวางอาหารเครื่องดื่มเป็นเสบียงกำลังไว้อย่างไม่ขาดเขิน มีปัญหาก็หันหน้ามาคุยกัน มีปัญหาอาจารย์ก็เข้าไปแนะนำ ช่วยคลี่คลาย...ฯลฯ



ท้ายที่สุดนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมถือว่าการขับเคลื่อน ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนของสาขาสารสนเทศศาสตร์ในปีนี้ มองเห็นมรรคผลแห่งการ "เรียนรู้คู่บริการ" เด่นชัดกว่าครั้งที่ผ่านมาอย่างสนใจ เนื่องเพราะเห็นความร่วมมือของอาจารย์ในสาขาที่ขยับตัวออกมาจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัยฯ อย่างเป็นทีม เพื่อมาเป็นพี่เลี้ยงการเรียนรู้ของนิสิตและหนุนเสริมกระบวนการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ โดยใช้นิสิตเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนบนฐานของชุมชน

เช่นเดียวกับความสำเร็จเล็กๆ อันเป็นมรรคผลที่ "ง่ายงาม" ในมิติของชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน (เด็กและเยาวชน) ที่มีตัวตนในกิจกรรมนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ อย่างเด่นชัด มิใช่หลบเร้น เขินอาย หรือเก็บตัวรอรับประโยชน์โดยไม่สนใจที่จะลงแรงกายและแรงใจปลุกปั้นการงานเหล่านี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ เพราะนี่คือแก่นสารหลักของการสร้างความเข้มแข็ง-ยั่งยืนแก่ชุมชนที่ละข้ามไม่ได้จริงๆ

ส่วนมรรคผลอื่นๆ โดยเฉพาะมิติการรักการอ่านนั้น ผมเฝ้าภาวนาให้เกิดขึ้นอย่างมีพลัง เพราะผมเชื่อว่าการอ่านคือรากฐานของการพัฒนาชีวิต พัฒนาองค์กร และพัฒนาสังคม

ครับ, นี่คือความสำเร็จเล็กๆ อันง่ายงามอีกหนึ่งโครงการฯ ในมิติ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน ที่ผมอดกล่าวถึงไม่ได้จริงๆ


...

ภาพ : จากสาขาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ

หมายเลขบันทึก: 581293เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความ "ง่ายงาม" สะท้อนความศรัทธาที่ไม่ยึดติดรูปแบบ...ชื่นชมค่ะ...

อ่านแล้วเคลิ้มตามในคุณงามความดีที่ก่อเกิดจากโครงการเลยครับ

นอกจากชื่นชมอาจารย์และนิสิตที่ดำเนินโครงการแล้ว ยังขออนุญาตชมคนเขียนที่มีทักษะการถ่ายทอดเรื่องราวระดับพระกาฬเลยครับ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวๆดีครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท