LLEN มหาสารคาม : focus group ติดตามการดำเนินงานเครือข่าย LLEN


วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ CADL มีโอกาสต้อนรับ รศ.ดร.บุญเรียง ขจรศิลป์ และ ดร.จิตต์วิมล คล้ายสุบรรณ นักวิจัยจาก สกว. ท่านมาจัดเวทีสนทนากลุ่มเพื่อติตตามการทำงานภายใต้โครงการ LLEN มหาสารคาม ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องกว่า ๒ ปี หลังจากที่เสร็จสิ้นโครงการไปตั้งแต่ปี ๕๕

ท่าน ติดต่อไปยัง ผศ.ดร.พชรวิทย์ จันทร์ศิริสิร หัวหน้าโครงการ LLEN มหาสารคาม ซึ่งได้มอบหมายให้ผมในฐานะเลขานุการโครงการฯ ได้เรียนเชิญตัวแทนเครือข่าย LLEN ในเขตพื้นที่มาร่วมสนทนา ให้ข้อมูลกับท่านอาจารย์ทั้งสองใน ๓ ประเด็น ได้แก่ ๑) ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาเครือข่าย ๒) ปัญหาและอุปสรรค และ ๓) เงื่อนไขที่ทำให้เครือข่ายยั่งยืนและเข้มแข็ง

ผม เลือกเชิญตัวแทนที่ผมประเมินด้วยตนเองจากที่ได้สัมผัสวิถีและวิธีการทำงาน ของท่านเหล่านั้นว่า ท่านเป็น "นักสร้างเครือข่าย" จากทุกภาคส่วนที่กำลังร่วมกันขับเคลื่อนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในเขตพื้นที่ ได้แก่


๑) ผศ.ดร.พชรวิทร์ จันทร์ศิริสิร

หัวหน้าโครงการ LLEN มหาสารคาม ปัจจุบันท่านเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านเป็นนักสร้างเครือข่ายที่สำคัญที่สุด เครือข่ายส่วนใหญ่ที่ผ่านมาและเกิดขึ้นตอนที่ LLEN มหาสารคาม กำลังตั้งไข่ตลอดจนกระทั่งได้มอบไม้ต่อให้กับศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการ เรียนรู้หรือ (CADL) ซึ่งท่านเองก็เป็นผู้วางแนวทางและตั้งงบประมาณสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยที่ท่านเป็นผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป นี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนมาถึงปัจจุบันของ LLEN มหาสารคาม

แม้ ในวันนี้ที่ท่านกล่าวในเวทีสนทนา ท่านยังย้ำต่อเนื่องว่า LLEN มหาสารคาม จะไม่หายไปไหน แม้ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม เพราะท่านมีนโยบายในการขับเคลื่อนเครือข่ายพัฒนาและให้บริการวิชาการอย่าง ครบวงจรทั้งภายนอกและภายใน ผ่าน ศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา ที่มีมืออาชีพอย่าง ผศ.ดร.ทรงศักดิ์ ภูสีอ่อน เป็นผู้อำนวยการ

๒) ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม (กระผมเอง)

เลขานุการโครงการ LLEN มหาสารคาม ปัจจุบันสวมหัวโขนเป็นรอง ผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ตั้งแต่จับงาน LLEN มา ผมไม่เคยหยุด รู้สึกว่าได้ทำสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง และสิ่งนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาของประเทศนี้ได้ ยิ่งมาได้รับการสนับสนุนจากสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้เป็นเหมือนกลุ่มงานหนึ่งในสำนักฯ ทำหน้าที่ขับเคลื่อน LLEN เพื่อพัฒนากาาจัดการเรียนรู้ในเขตพื้นที่ ยิ่งทำให้มีกำลังใจมากขึ้น ต่อมาได้รับการหนุนเสริมจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ร่วมกับ สสค. ทำให้ได้เรียนรู้เครื่อมือขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยแปลงครู คือ "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" หรือ PLC ปีถัดมาผมได้รับโอกาสอันล้ำค่ายิ่งจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้เป็นหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ในเขตพื้นที่อีสานตอนบน โครงการนี้ทำให้เรามีเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน เห็นคุณค่าของงานเครือข่ายการศึกษาแบบที่เกิด "ระเบิดจากภายใน" ถึงขั้นที่บอกว่าจะทำงานนี้ไปจนตายทีเดียว (อ่านงานเหล่านี้ได้ที่

๒) ผอ.สุดใจ สุปัญบุตร

ผู้ อำนวยการกองส่งเสริมการศึกษา สพม. ๒๖ ท่านให้โอกาส CADL ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาคนดีของสังคม คือโครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ "โครงการเด็กดีมีที่เรียน" (ผมเขียนภาพรวมไว้ ที่นี่) โดยนักเรียนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเป็นนิสิตแกนนำขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. ต่อไป

๓) ผอ.คม แคนสุข (ตัวแทน อบจ. มหาสารคาม)

ต้องยกย่องท่านเป็น "นักสร้างเครือข่าย" มืออาชีพ ปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนาข่าวิทยายน ท่านจะเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างทุกส่วนงานด้านการศึกษาในเขตพื้นที่ เช่น มมส. มรภ.มหาสารคาม ไปยังโรงเรียนทั้ง ๒๐ แห่งในสังกัด อบจ. และกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของ อบจ.

ปัจจุบัน โรงเรียนในสังกัด อบจ. ขับเคลื่อน PLC อย่างเต็มที่ มีการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายพัฒนาครูด้านต่างๆ ถึง ๒๐ ศูนย์ หนึ่งโรงเรียนเป็น ๑ ศูนย์ ซึ่งน่าติดตามต่อไปเป็นอย่างยิ่ง

๔) ศน.รพีพรรณ ปางทอง

ศึกษา นิเทสก์ สพม. ๒๖ (ตัวแทน สพม.๒๖) ท่านรับผิดชอบการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาของ โรงเรียนในสังกัด สพม. ๒๖ ซึ่งมีแผนในปี ๒๕๕๘ ร่วมกับ CADL ให้ได้ ๑ โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ให้ได้

๕) ศน.ไสว ประภาศรี (ตัวแทนเทศบาลเมืองมหาสารคาม)

ศึกษา นิเทศก์ เทศบาลเมืองมหาสารคาม สำหรับผมแล้วท่านถือเป็น "มือโปร" เช่นกัน และไม่เฉพาะด้านเครือข่ายดูแลโรงเรียนทั้ง ๗ แห่งในสังกัดของท่าน แต่ท่านยังรอบรู้ และรู้ลึกในทุกศาสตร์ของการพัฒนาการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก ปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ CADL และเทศบาล่ฯ มีแผนการสร้าง PLC ร่วมกันอย่างเต็มกำลังเพื่อค้นหาและพัฒนาครูเพื่อศิษย์ในสังกัดเทศบาล และใช้ PLC ในการแก้ปัญหา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดเลขไม่คล่อง ขับเคลื่อนหลัก ปศพพ.ในโรงเรียน และ ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ (การเรียนรู้แบบ PBL)

๖) ศน.ทิพยวิมล ดวงเวียงคำ (ตัวแทน สพป.มค.๓)

ศึกษา นิเทศก์ สพป. มหาสารคาม เขต ๓ ท่านเป็น "ผู้ประสานจากใจ" แบบไม่สนใจรูปแบบ การทำงานแบบต่อเนื่อง ติดตาม และเข้าใจ เข้าถึง ทำให้การพัฒนาครูในเครือข่ายที่ท่านทำอยู่มีพัฒนาการอย่างมีชีวิตชีวา ทั้งครูและผู้อำนวยการมีความสุข สนุกที่ได้ร่วมเรียนรู้กับท่าน ท่านบอกว่า ...หากเห็นแล้วไม่ทำ มัวแต่คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ สุดท้ายก็ไม่มีใครทำ.... ท่าน ใช้ facebook และ line ติดต่อสื่อสารกับครูแบบต่อเนื่อง ทำให้ผมเองเห็นในผลงานของท่านในการ "ประสานเครือข่าย" PLC ในพื้นที่ จึงได้เชิญท่านมาร่วมสนทนา และร่วมงานกันต่อไปในเวทีขับเคลื่อน PLC (ในปลายเดือนนี้ที่ กาฬสินธุ์)

๗) ดร.นุชรัตน์ ประสิทธิศิลป์ชัย (ตัวแทน สพป.กส.๑)

ศึกษานิเทศก์ สพป. กาฬสินธุ์ เขต ๑ ท่านสนใจ เข้าใจ และเห็นด้วยกับเป้าหมายและวิธีการขับเคลื่อนของ CADL ในการขับเคลื่อนการเรียนรู้บนฐานปัญหาจริง จึงได้ให้โอกาสเราได้เข้าไปร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการเรียนรู้แบบ PBL ให้กับชมรมครูการงานอาชีพและเทคโนโลยี (อ่านได ที่นี่) และร่วมกันขับเคลื่อนเวทีครูและนักเรียนแกนนำที่กำลังจะจัดขึ้นที่สวนดอนธรรมรีสอร์ท จังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันที่ ๒๙-๓๐ นี้

ดร.นุช รัตน์ และเพื่อ ศน. มีวิธีการทำงานแบบ Coaching และ Mentoring ใกล้ชิดกับเครือข่ายโรงเรียนที่รับผิดชอบ (กลุ่มโรงเรียนบ้านโนนจาน) น่าจะเป็น BP ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ในบริบทไทยสำหรับโรงเรียนในระบบ ต่อไป

อีก ๓ ท่าน เป็นครูเพื่อศิษย์ BP จาก PLC มหาสารคาม ที่เคยเขียนเรื่องราวและผลงานของท่านไว้แล้วตามลิงค์

๘) ครูเพ็ญศรี ใจกล้า ครูเพื่อศิษย์ BP จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม (สังกัด สพม. ๒๖)

๙) ครูศิริลักษณ์ชมภูคำ ครูเพื่อศิษย์ BP จากโรงเรียนบ้านหินลาด (สังกัด สพป.มค.๑)

๑๐) ครูเพ็ญศรี กานุมาร

ครูเพื่อศิษย์ BP จากโรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ (สังกัด อบจ.มหาสารคาม) ท่าน ปราถนาจะมาร่วมในการสนทนาในครั้งนี้ แต่มีงานลูกโลกสีเขียว ที่ต้องพาเด็กนักเรียนตัวแทนไปร่วมเรียนรู้พัฒนา จึงแก้ปัญหาโดยการเขียนความเห็นของท่านในแต่ละประเด็นส่งมา... มีคุณค่ายิ่งครับ

ครูเพ็ญศรี กานุมาร เป็น "ครูเพื่อศิษย์ BP" จากความสำเร็จและความอุตสาหะพยายามในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ "ภูมิปัญญาเป็นฐาน" (Wisdom-based Learning) ด้าน "สมุนไพรในโรงเรียน" จนได้รับการยอมรับในโรงเรียน ระดับต้นสังกัด (แกนนำนักเรียนในโครงการได้รับทุนการศึกษาของ อบจ.) ระดับประเทศ (รางวัลลูกโลกสีเขียว) และระดับอาเซียน (รางวัล SEAMEO Award) ... เสียดายที่แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า ประสบการณ์และเรื่องราวการพัฒนาเด็กของท่านน่าจะได้รับการเผยแพร่โดยเร็ว แต่ CADL ก็ยังไม่ได้เขียนเผยแพร่ผลงานของท่าน ... กำลังอยู่ในขั้นตอนครับ ....

ก่อนเริ่มการสนทนา ผมเกริ่นถึงความเป็นมาและภาพรวมของการทำงานเครือข่ายที่ผ่านสั้นๆ โดยใช้รูปภาพที่เคยเขียนไว้ใน บันทึกนี้ และจับประเด็นด้วยการทำ Mind Mapping ดังรูป

ผม คิดว่าค่อนข้างชัดเจน และตีความหมายไม่ยากว่า อะไรคือปัจจัยของความสำเร็จ ปัญหาสำคัญ และเงื่อนไขที่จะทำให้ LLEN ยั่งยืนต่อไป ...จึงไม่ขออธิบายใดๆ ครับ

ในภาคบ่าย ท่านไปเยี่ยมชมและสนทนากับนักเรียนกลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" ที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม (อ่านงานองพวกเขาได้ที่นี่)



และแวะกราบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดหนองแวงเก่า ในพระมหาเจดีย์ ๙ ชั้น ที่ตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ



ขอบพระคุณท่านทั้งสองมากครับ ทั้งได้ความรู้ และเรียนรู้จากประสบการณ์ของท่านผ่านการสนทนา และท่านยังได้เลี้ยงข้าวปลาอาหารตลอดงานเลยทีเดียว...

หมายเลขบันทึก: 581285เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท