​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๗๗. เรียนรู้จากสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน


          การประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗ ให้ความรู้แก่ผมมากมาย หากไม่บันทึกไว้ ความรู้สึกเหล่านี้จะเลือนหายไปหมด การเรียนรู้นี้ มีทั้งเรื่องวิธีใช้เหตุผล การยึดหลักการ ความสามารถในการทำ ความเข้าใจเชิงบริบท ความคงเส้นคงวาของตัวบุคคล ผลประโยชน์ที่อยู่ข้างหลังคนบางคน หรือบางกลุ่ม และเรื่อง กรรมที่ไม่ได้ก่อ

          แน่นอนว่ารายละเอียดของหลายเรื่อง เป็นสิ่งที่ไม่พึงเขียน เพราะจะไปก่อความเสียหายหรือเชียร์คนบางคน เป็นเรื่องไม่บังควร ไม่ถูกหลักการการเขียน บล็อก

          หลักการที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยต้องเป็นกลางทางการเมือง ที่ชัดๆ คือไม่เข้าพวก เป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง หรือผลประโยชน์ส่วนตน และเพื่อให้สามารถทำงานวิชาการเพื่อประโยชน์ของสังคม ได้โดยไม่ลำเอียง ไม่ละเลยบางประเด็น เพราะเกรงใจบางฝ่าย

          ที่จริงความเป็นกลางนี้ ไม่เฉพาะทางการเมือง ต้องเป็นกลางในเรื่องผลประโยชน์ด้วย เพราะในสังคม มีเรื่องผลประโยชน์ขัดกันมากมาย

          หลายคนบอกว่า ความเป็นกลางไม่มี หรือถ้าพยายามทำตัวเป็นกลาง ก็เป็นการหลอกลวง ตั้งแต่หลอกตัวเอง ไปถึงหลอกคนอื่น และลวงโลก เขาว่าคนเราต้องเอียงข้าง แสดงจุดยืนของตนเอง เรื่องนี้ผมขอเชิญชวนให้อ่านเรื่อง ขั้นตอนพัฒนาการของการเรียนรู้ของมนุษย์ ตามบันทึกนี้

          ผมชอบสังเกตและเรียนรู้วิธีใช้เหตุผลของคนเก่งๆ ได้สังเกตได้เรียนรู้แล้วชื่นใจ สว่างวาบ ในสภามหาวิทยาลัย มีคนเก่งๆ จำนวนมาก บางคนเก่งในระดับอัจฉริยะ ในกรณีท่านอธิการบดี ศ. นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน ได้รับโปรดเกล้า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนี้ มีคนแสดงความเห็นเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายคัดค้านการควบสองตำแหน่ง ว่าผิดหลักการ กับฝ่ายที่เห็นด้วย สนับสนุน ว่าเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองในยามวิกฤติ หรือสถานการณ์ไม่ปรกติ

          วิธีให้เหตุผลน่าจะแยกแยะได้เป็นหลายวิธี วิธีหนึ่งคือตั้งธงเอาไว้ แล้วให้เหตุผลไปสู่เป้านั้น คนที่ใช้วิธีนี้ พูดไป หน่อยเดียวผมก็เห็น วิธีที่ผมอยากเห็นคือวิธีขึ้นตาชั่ง ช่วยกันระบุทางเลือกที่หลายหลาย แล้วช่วยกันบอกข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละทางเลือก

          แต่เรามักตกหลุมของอารมณ์ ในบางสถานการณ์ เหตุผลแพ้อารมณ์ โดยสมาชิกในที่ประชุมพาไปโดยจงใจหรือไม่จงใจ ผมชื่นชมมาก ที่ในที่ประชุม มีกรรมการท่านหนึ่งให้สติว่า “ตอนนี้เรากำลังใช้อารมณ์”

          ที่จริง การสร้างสถานการณ์สร้างแรงกดดันต่อสภามหาวิทยาลัย โดยการใช้ปี๊บคลุมหัว ให้สื่อมวลชนประโคมข่าว เอานักศึกษามีถือป้ายเรียกร้อง และอีกหลายวิธีการ น่าจะเข้าข่ายใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือ

          การทำความเข้าใจบริบท เป็นสุดยอดของปัญญาในการตีความของผม ในที่ประชุมมีคนเตือนย้ำๆ ว่า เวลานี้บ้านเมืองกำลังอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องพิจารณาตามบริบทนี้ด้วย

          เมื่อคำนึงถึงบริบท เราก็จะเห็นว่าทุกเรื่องทุกกรณี เป็นเรื่องซับซ้อน มองได้หลายแง่หลายมุม หรือหลายมิติ (complexity) ในกรณีนี้ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ชี้ให้เห็นว่ามีถึง ๔ มิติเป็นอย่างน้อย คือ (๑) มิติทางกฎหมายที่ขัดกัน (๒) ความรู้สึกของ ประชาคม ในมหาวิทยาลัย ว่าไม่สามารถทำงานเต็มเวลาตามข้อตกลงตอนจะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี (๓) ความรู้สึกของ ประชาคมระหว่างมหาวิทยาลัย ที่เกรงว่าจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างมหาวิทยาลัย (๔) มิติทางการเมืองของรัฐบาล คสช.

          อาจารย์หมอประเวศชี้ว่า สถานการณ์ซับซ้อนเช่นนี้ แก้ไม่ได้ด้วยแนวทาง yes / no ท่านเสนอให้ใช้แนวทาง deliberative democracy - ประชาธิปไตยแบบสุนทรียสนทนา แต่ในสถานการณ์ในขณะนั้น คนไม่ได้ยินคำเตือนสติเช่นนี้เสียแล้ว

           หลังจากใช้เวลาประชุมลับ เป็นเวลากว่าสองชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดสภามหาวิทยาลัยมหิดล ก็ลงมติด้วยเสียงข้างมาก ให้ท่านอธิการบดีใช้ดุลยพินิจของตนเองว่าจะเลือก ดำรงตำแหน่งใด โดยสภากำหนดให้ดำรงตำแหน่งเดียว อย่างที่เป็นข่าว ไปแล้ว ที่ ,

          ผมกลับมาไต่ตรองที่บ้าน ว่าในฐานะนายกสภาฯ ผมต้องทำงานหนัก รับแรงกดดันในลักษณะ “กรรมที่ไม่ได้ก่อ” มีคนมาแสดงความเห็นใจ ผมก็บอกว่า เมื่อมีตำแหน่งก็ต้องยอมรับว่า “สวมมงกุฎหนาม” ทำงานอยู่กับกิเลสมนุษย์ หรือกับเพื่อนมนุษย์ที่ต่างก็ยังมีกิเลสตัณหา หนาบ้างบางบ้าง รวมทั้งตัวผมเองก็ไม่เป็นข้อยกเว้น

          โชคดี ที่การฝึกฝนจิตใจมายาวนานช่วยให้ยังคงควบคุมอารมณ์ให้ราบเรียบได้ คืนวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๗ ผมนอนหลับสบายได้ตามปกติ

             ในสถานการณ์แบบนี้ สภามหาวิทยาลัยแบบที่ใช้หลักการ participatory governance เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วย Conflict of Interest


เพิ่มเติม ๒๗ กันยายน ๒๕๕๗

          หลังจากข่าวมติของสภามหาวิทยาลัยแพร่ออกไป ผมได้รับคำถาม และข้อคิดเห็นจากหลากหลายทาง จากผู้คนที่หลากหลาย โดยมีความเห็นหรือจุดยืนที่แตกต่างกัน คือมีทั้งที่มีความเห็นว่าอธิการบดีควรดำรงได้ทั้งสองตำแหน่ง และที่เห็นว่าเมื่อเลือกไปเป็นรัฐมนตรี ก้ต้องลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีทันที รวมความเห็นหรือท่าทีต่างขั้วดังต่อไปนี้

          สภามหาวิทยาลัยทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุไว้ในมาตรา ๔๑ ว่า “ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา”

  •           ช่วงเวลานี้อยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ดังนั้นควรอนุโลมให้ควบสองตำแหน่งได้
  •           ตำแหน่งบริหารระดับสูงเช่นนี้ หากจัดระบบงานดี ก็น่าจะทำงานควบสองตำแหน่งได้ ยิ่งท่านอาจารย์หมอรัชตะเป็นคนเก่งระดับนี้ ทำได้แน่
  •           การรีรอดูลาดเลา เป็นการเดินหมากผิด (wrong move) ควรลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ทันทีที่รับตำแหน่งรัฐมนตรี
  •           ตำแหน่งอธิการบดีมีอะไรน่าพิสมัยนักหนา จึงไม่ยอมลาออก
  •           สองตำแหน่งนี้ เป็นงานที่ต้องการความทุ่มเทเต็มเวลาทั้งคู่ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานควบทั้งสองตำแหน่ง ให้ได้ผลดี

        ผมมีโอกาสพบผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่เป็นอดีตรัฐมนตรีบ้าง รัฐมนตรีในปัจจุบันบ้าง เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยบ้าง และอื่นๆ พอพบหน้าก็ไต่ถามเรื่องนี้ เมื่อผมบอกว่า ในประกาศสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุไว้ชัดเจนว่า อธิการบดีต้องปฏิบัติงานเต็มเวลา ท่านเหล่านี้ก็หยุดวิพากษ์วิจารณ์ทันที

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๒๗ ก.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 579416เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2014 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2014 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท