​สอนอย่างมือชั้นครู : ๒. เข้าใจศิษย์ และเข้าใจวิธีเรียนของศิษย์ (๒) พัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้


          บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

          ตอนที่ ๒ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๑ ตีความจากส่วนต้นของบทที่ 1. Understanding Your Students and How They Learn -- ทำความรู้จักศิษย์ และวิธีเรียนรู้ของศิษย์ ตอนที่ ๒ เป็นส่วนหลังของบทที่ ๑


พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี

          ประเด็นที่อาจารย์พึงตระหนักคือ นศ. ปี ๑ และ ปี ๒ ในระดับปริญญาตรี ยังเป็น “ผู้เยาว์” ในด้าน ทักษะการเรียนรู้ รวมทั้ง นศ. บางคนขึ้นปี ๔ แล้ว ก็อาจยังเป็นผู้เยาว์ ในด้านนี้อยู่ โดยผมขอสารภาพว่าตัวผมเองยังเป็นผู้เยาว์ในพัฒนาการทักษะการเรียนรู้หลังจบเป็นแพทย์ ต่อเนื่องไปอีกหลายปี ซึ่งหมายความว่า เมื่อผมได้รับบรรจุเป็นอาจารย์แล้ว ผมก็ยังเป็นผู้เยาว์ด้านการเรียนรู้ ต่อไปอีกสองสามปี

          หน้าที่ของอาจารย์คือ ต้องช่วยให้ศิษย์เกิดพัฒนาการด้านวิธีเรียนรู้ ให้เกิดวุฒิภาวะด้านการเรียนรู้(epistemological maturity ) หรือ cognitive growth โดยต้องเข้าใจขั้นตอนของพัฒนาการด้านนี้

          Linda B. Nilson อ้างถึงทฤษฎีพัฒนาการด้านปัญญา และจริยธรรม ในนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของ William G. Perry และ สี่ระดับของการรู้ ของ Baxter Magolda และนำมาเปรียบเทียบในตาราง 1.1 ในหนังสือ ดังนี้

ขั้นตอนของพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของ นศ. ป. ตรี ตามแนวคิดของ เปอร์รี่ ระดับการรับรู้ ตามแนวคิดของ มาโกลดา
3. เชิงเปรียบเทียบ (relativism) : ความเห็นทุกอย่างเท่าเทียมกัน
    มาตรฐานการเปรียบเทียบ
รู้อย่างอิสระ (independent knowing)
1. คิดสองขั้ว (duality) : คิดแบบขาวดำ ผู้มีอำนาจกำหนด
    ความไม่แน่นอน
รู้แบบสัมบูรณ์ (absolute knowing)
2. คิดหลายขั้ว (multiplicity) : ผู้มีอำนาจอ่อนแอ หรือชั่วคราว
    ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่ยอมรับ หรือเป็นปกติ
รู้แบบเป็นทางผ่าน (transitional knowing)
4. ผูกพัน (ชั่วคราว) กับทฤษฎีที่ดีที่สุดที่มี รู้แบบผูกอยู่กับบริบท (contextual knowing)


          หากจัดการเรียนรู้แบบบรรยายเนื้อวิชา นักศึกษาจะไม่มีวันเข้าใจความซับซ้อนนี้ ต้องให้เรียนรู้จากการ ลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง แล้วสะท้อนคิด (reflection) ความซับซ้อนหลากหลายของความรู้ นศ. ก็จะค่อยๆ เกิดพัฒนาการด้านการรับรู้และเรียนรู้          ผมตีความว่า นี่คือการจัดสภาพการเรียนรู้ ในสภาพที่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนตายตัว ที่ช่วยให้ศิษย์ ได้เข้าใจ ความเป็นจริงเกี่ยวกับความรู้และการเรียนรู้ ว่ามันซับซ้อนอย่างยิ่ง และในความเป็นจริง เรื่องต่างๆ มีหลายมิติ ซ้อนทับกันอยู่ หรือประกบกันอยู่ ทำให้ความรู้ต่างๆ มีหลายแง่หลายมุม

          Willian G. Perry จัดตำแหน่งของระดับพัฒนาการด้านการเรียนรู้ออกเป็น ๙ ตำแหน่ง และบอกว่า นศ. ปี ๑ เข้ามหาวิทยาลัยโดยมีโลกทัศน์ที่ตำแหน่งที่ ๑ คือ โลกทัศน์ทวิลักษณ์ (dualistic) คือมองโลกและความรู้ เป็นสองขั้ว ถูก-ผิด ขาว-ดำ เมื่อพัฒนาเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๒ เป็นโลกทัศน์พหุลักษณ์ (multiplicity) มองโลกและ ความรู้ว่ามองได้หลายแบบ หลายมุม ไม่ได้มีแค่ถูก-ผิด ขาว-ดำ ในตำแหน่งที่ ๓ นศ. เข้าใจความไม่แน่นอน (uncertainty) ของความรู้ แม้ “ผู้รู้” ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ถูกต้องไปทุกเรื่อง

          ที่ตำแหน่งที่ ๔ นศ. เข้าใจว่าโลกและความรู้เป็น สัมพัทธ์ (relativism) ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นสมมติ เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๕ นศ. เข้าใจว่า ความรู้ทุกอย่างเป็นสัมพัทธ์ และขึ้นกับบริบท โดยมีข้อกำหนด หรือ กติกากำกับ ในตำแหน่งที่ ๖ นศ. มีความสับสนกับความไม่ชัดเจนของความรู้ และเริ่มต้องการกำหนดตำแหน่ง ความเชื่อของตนเอง เมื่อกำหนดได้ก็เข้าสู่ตำแหน่งที่ ๗ คือยึดถือ (commitment) ความรู้ชุดหนึ่ง ในบางเรื่อง และในตำแหน่งที่ ๘ นศ. นำชุดความเชื่อนั้นไปทดลองใช้ในบริบทต่างๆ และเกิดความเข้าใจ พลัง และข้อจำกัด ของความรู้ชุดนั้น และเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๙ คือ เกิดความเข้าใจว่า ใจที่เปิดกว้าง รับรู้และเรียนรู้สรรพสิ่ง เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          Nelson อธิบายความสำคัญของพัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้ (cognitive growth) ของ นศ. ที่ นศ. สมองดี แต่พัฒนาการนี้ต่ำและไม่ได้รับความช่วยเหลือ อาจล้มเหลวในการเรียนได้ และแนะนำวิธีการฝึกให้ นศ. พัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ โดยหาทางให้ นศ. ได้พบเห็นความไม่แน่นอนของความรู้ในแต่ละวิชา ด้วยตนเอง อ่านบทความได้ ที่นี่

          การได้ประจักษ์ความไม่แน่นอนของความรู้ ให้ นศ. เข้าใจว่า ไม่ใช่มีความรู้ที่ถูกต้องเพียงชุดเดียว จะช่วยให้ นศ. หลุดพ้นจากบ่วงโลกทัศน์ทวิลักษณ์ (ตำแหน่งที่ ๑) และพหุลักษณ์ (ตำแหน่งที่ ๒) รวมทั้งความไม่แน่นอน (ตำแหน่งที่ ๓)

          เมื่อ นศ. เข้าใจความไม่แน่นอนของความรู้ ก็จะเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๔ และ ๕ คือเข้าใจว่าความรู้เป็นสัมพัทธ์ โดยอาจารย์ต้องตะล่อมเรื่องราวในแต่ละศาสตร์ที่ตนสอน ให้ นศ. เห็นว่า ข้อค้นพบเดียวกัน สามารถนำไปสู่ ข้อสรุปที่แตกต่างกันได้

          ในขั้นต่อไป อาจารย์ต้องช่วยเอื้ออำนวยให้ศิษย์ ก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งที่ ๖ และ ๗ ที่ นศ. มีทฤษฎีหรือ แนวคิดที่ตนยึดถือชั่วคราว สำหรับนำไปทดสอบด้วยตนเอง ให้เห็นว่า ในบริบทหนึ่ง ทฤษฎีหนึ่งให้ผลดีกว่า แต่ในอีกบริบทหนึ่ง ทฤษฎีที่ดูเหมือนด้อย กลับให้ผลดีกว่า (ภาษาวิชาการว่า มี validity สูงกว่า) นศ. จะตระหนักด้วยตนเองว่าแม้ทฤษฎีที่ตนเชื่อถือ ก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นศ. ก็จะพัฒนาผ่านตำแหน่งที่ ๘ สู่ตำแหน่งที่ ๙ ที่ใจเปิดกว้างเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง

          นศ. จะได้เรียนรู้ว่า ในต่างศาสตร์ มีเกณฑ์ในการวัด validity แตกต่างกัน นั่นคือ แต่ละศาสตร์ มีรูปแบบของวิธีคิด (metacognitive model) แตกต่างกัน ส่วนนี้ (ตำแหน่งที่ ๗ และ ๘) นี่แหละที่เป็น ส่วนยากสำหรับ นศ. และต้องการความช่วยเหลือจากอาจารย์ ที่จะออกแบบกิจกรรมให้ นศ. ได้ทดลอง สัมผัส และเรียนรู้ ด้วยตนเอง ให้ นศ. ได้ตรวจสอบข้อยึดถือหรือความเชื่อในบริบทจริงที่หลากหลาย จนมั่นใจว่าทุกชุดความรู้มีทั้งข้อเด่นและข้อด้อยอยู่ในตัว ไม่มีความรู้ชุดใดที่สัมบูรณ์ ก็จะเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๙ คือสภาพของการเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

          เมื่ออาจารย์เข้าใจเรื่องพัฒนาการของทักษะการเรียนรู้ของศิษย์ ก็จะสามารถประเมินตำแหน่งของศิษย์ แต่ละคนได้ และจะพบว่า นศ. ปี ๑ - ๒ มักจะอยู่ที่ตำแหน่งต้นๆ และเมื่อเลื่อนไปเรียนชั้นปีที่ ๓ - ๔ ก็จะเลื่อน ระดับของพัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้ขึ้นไป แต่ นศ. แต่ละคนจะมีระดับไม่เท่ากัน แม้เมื่อจบเป็นบัณฑิต แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ขึ้นสู่ระดับ ๙

          ข้อที่อาจารย์ทุกคนพึงตระหนักคือ อาจารย์พึงเอาใจใส่ประเมินและช่วยเหลือ ให้ นศ. แต่ละคนได้ยก ระดับพัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้ของตน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิชาและทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับ ศตวรรษที่ ๒๑ คุณค่าส่วนนี้ ที่อาจารย์ให้แก่ศิษย์ จะติดตัวศิษย์ไปตลอดชีวิต


สอนนักศึกษา Gen M

          นักศึกษาระดับปริญญาตรีในยุคปัจจุบันมีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ generation Y, the Net generation, the NeXt generation, the millennial generation (คนพันธุ์เอ็ม), หรือ Me me me generation นักศึกษารุ่นนี้ มองการศึกษาระดับ มหาวิทยาลัยเป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็นสำหรับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเอง ถือเป็นการ ลงทุน ดังนั้นเขาต้องการ “บริการ” ที่พอใจ แต่หากจะให้ทำงานหนักเพื่อการเรียนรู้ของตน ก็ไม่เต็มใจนัก

          กล่าวอย่างเข้าใจง่ายที่สุดคือ นักศึกษารุ่นนี้ ความคิดและพฤติกรรมไม่เหมือนนักศึกษารุ่นอาจารย์ อาจารย์จะคาดหวังจากนักศึกษาตามความคิดของตนไม่ได้ ต้องยอมรับความจริงว่าโลกเปลี่ยนไป และคนรุ่นใหม่ ก็มีลักษณะตามแบบของเขา การจัดการเรียนการสอนจึงต้องเหมาะสมต่อลักษณะตามความเป็นจริง ของนักศึกษา

          ข้อดีของ คนพันธุ์เอ็ม คือ เป็นคนที่ “ไม่กบฏ” คือยอมรับกฎเกณฑ์กติกาที่ตกลงกัน หากมีการตกลง กติกาในห้องเรียน นศ. รุ่นนี้จะไม่แหกกฎ หากอาจารย์บอกว่าจะตอบ อีเมล์วันละ ๒ ครั้ง ที่เวลา ๘.๐๐ กับ ๒๐.๐๐ น. นศ. ก็จะไม่เรียกร้องให้ต้องตอบทันทีตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงของวัน แต่ถ้าอาจารย์เตรียมตัวไม่พร้อม หรือไม่มีระบบที่ดี ไม่เป็นมืออาชีพ ก็จะโดน นศ. รุ่นนี้สับเละ

          ต้องไม่ลืมว่า ข้อความตามย่อหน้าบน เป็นการกล่าวอย่าง “over-generalization” นะครับ ในชีวิตจริง นักศึกษาจะมีลักษณะที่แตกต่างกันได้มาก ความแตกต่างของนักศึกษารุ่นนี้ แตกต่างกันมากกว่ารุ่นก่อนๆ ในหลากหลายด้าน


สอนนักศึกษาผู้ใหญ่

          อุดมศึกษาไทยยังมีนักศึกษาผู้ใหญ่ไม่มาก แตกต่างจากในสหรัฐอเมริกา ที่มีคนจำนวนหนึ่งต้องออก ไปทำงานโดยยังไม่จบปริญญาตรี แล้วเมื่อได้โอกาสก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาผู้ใหญ่ หนังสือเล่มนี้บอกว่า นักศึกษาผู้ใหญ่มีพฤติกรรมการเรียนไม่ต่างจากนักศึกษาวัยรุ่น แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่าง แตกต่างกัน ได้แก่ไม่ยอมรับอาจารย์ที่ขาดประสบการณ์ เป็นคนที่ให้คุณค่าแก่ประสบการณ์การทำงาน และประสบการณ์ชีวิตของตน และเนื่องจากได้มีประสบการณ์ชีวิตมาแล้ว จึงรู้ว่าชีวิตจริงมีความซับซ้อน และในบทเรียนก็ต้องการเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาหลายแนวทาง

          นศ. ผู้ใหญ่ต้องการการสะท้อนคิด (reflection) หลังบทเรียน เพื่อจะได้ไม่ต้องท่องจำ ซึ่งไม่ถูกจริต และไม่ให้คุณค่าต่อความรู้เชิงทฤษฎีมากนัก สิ่งที่ต้องการคือความรู้ที่ใช้การได้


จัดชั้นเรียนให้คนทุกจริตเข้าถึงการเรียนรู้

          ได้กล่าวแล้วว่า ชั้นเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ มี นศ. ที่แตกต่างหลากหลายกันมาก ในด้านต่างๆ เช่น เชื้อชาติผิวพรรณ เศรษฐฐานะ ความเชื่อ ศาสนา อายุ พื้นความรู้ และสติปัญญา หลักการสำคัญคือ อาจารย์ต้อง เอาใจใส่ดูแล ให้ศิษย์ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือชุมชนในชั้นเรียน ไม่มีคนถูกกีดกัน ออกนอกวง ไม่ว่าโดยไม่จงใจหรือจงใจ หนังสือเล่มนี้ใช้คำว่า inclusive instructing คืออาจารย์ต้อง ทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของ นศ. แต่ละกลุ่ม และหาทางดำเนินการให้เกิดบรรยากาศ ของกัลยาณมิตร เอื้อต่อการเรียนรู้ของ นศ. ทุกคน


ความท้าทาย

          เนื่อจากอุดมศึกษาในยุคศตวรรษที่ ๒๑ เป็นอุดมศึกษาเพื่อทุกคน ไม่ใช่เพื่อคนเรียนเก่ง คนหัวดี หรือคนฐานะดี อีกต่อไป จึงเป็นความท้าทายของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะต้องจัดการการเรียนรู้ ในสภาพความเป็นจริง ที่ นศ. เปลี่ยนไปดังกล่าวแล้ว

วิจารณ์ พานิช

๓๑ มี.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 573081เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2014 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2014 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบเรียน อาจารย์หมอ ที่เคารพ ... ผมขอยืนยันว่า ผมยังได้รับความรู้จาก blog ของอาจารย์ และนำมาใช้ประกอบการทำงานให้กับมูลนิธิรากแก้ว อย่างต่อเนื่อง  อย่างเป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

กราบขอบพระคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท