ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๔. คนพันธุ์ เอ็ม


 

 

          นิตยสาร ไทม์ ฉบับวันที่ ๒๐ พ.ค. ๕๖ ลงเรื่องเด่นประจำฉบับ  Me Me Me Generation. Millenials are lazy, entitled narcissists who still live with their parents. Why they’ll save us all เขียนโดย Joel Steinน่าอ่านมาก  ช่วยให้เราเข้าใจคนรุ่นใหม่ ที่เขาเรียกว่า millenials  ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๐ - ๒๐๐๐  เติบโตมากับการมีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตครบครัน หรือมีมากเกินไป

          เขาจำแนกคน (อเมริกัน) ออกเป็น ๗ รุ่น (generation) ตามช่วงปีเกิด คือ Missionary Generation (1860 – 82), The Lost Generation (1883 – 1900), The Greatest Generation (1901 – 24), The Silent Generation (1925 – 1942), Baby Boomers (1943 – 1960), Generation X (1961 – 1980), และ The Millenials (1980 – 2000) ซึ่งบางครั้งเรียก Generation Y  โดยมีคำอธิบายคนแต่ละรุ่น และมีรูปคนที่เด่นที่สุดในรุ่นนั้นๆ ด้วย

          เขาบอกว่า ลักษณะของ “คนพันธุ์ เอ็ม” นี้ ไม่ได้มีเฉพาะในสหรัฐอเมริกา  แต่มีส่วนคล้ายกันทั่วโลก  เพราะคนรุ่นนี้ผ่านประสบการณ์ชีวิตคล้ายกัน  ซึ่งที่จริงเราพูดกันเรื่อง Gen Y มาหลายปีแล้ว  และคนพันธุ์เอ็มนี้ยังจำแนกแยกแยะออกเป็นกลุ่มย่อย (micro generations) ได้อีกมาก

          ผมอ่านบทความนี้เพื่อทำความเข้าใจว่า สภาพแวดล้อมในสังคมมีผลหล่อหลอมคนอย่างไร  และเพื่อให้เรียกง่าย ผมใช้คำว่า คนพันธุ์ เอ็ม  และผมเข้าใจว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่หล่อหลอมคนรุ่น เอ็ม นี้คือ  เขาเกิดมา และเติบโตในสังคมที่ข้อมูลข่าวสารเปิดกว้างถึงกันหมด  ผู้คนติตต่อสื่อสารถึงกันได้ตลอดเวลา  เทคโนโลยีสื่อสาร และ โซเชี่ยล มีเดีย มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมจิตใจและพฤติกรรมของเด็ก ยิ่งกว่าพ่อแม่ 

          บทความบอกว่า คนรุ่นนี้ ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อน มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ  เขาใช้คำว่า peer-enting แทนคำว่า parenting  ศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษ Mark Bauerlein แห่งมหาวิทยาลัย Emory ผู้เขียนหนังสือ The Dumbest Generation : How the Digital Age Stupefies Young Americans and Jeopardizes Our Future (Or, Don’t Trust Anyone Under 30) บอกว่าเด็กอเมริกันรุ่นนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อน รุนแรงกว่าสมัยไหนๆ  แรงกดดันของเพื่อน (peer pressure) มีผลต้านปัญญา (anti-intellectual),  ต้านประวัติศาสตร์ (anti-historical),  และต้านวาทศิลป์ (anti-eloquence)  โดยสิ่งที่ขาดคือการคลุกคลีสื่อสารแลกเปลี่ยนกับคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า 

          แม้คนพันธุ์เอ็ม จะติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นถี่กระชั้นมาก  ผ่านไอซีที หรือโซเชี่ยลมีเดีย  แต่เป็นการสื่อสารผ่านจอ  และสื่อสารกับเพื่อนรุ่นเดียวกันเกือบทั้งหมด  ขาดมนุษย์สัมผัสมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า 

          ผู้เขียนออกตัวในเบื้องต้นว่า เป็นธรรมดา ที่คนรุ่นก่อนจะกล่าวถึงคนรุ่นหลังว่า เป็นคนขี้เกียจ, เรียกร้องสิทธิ์, เห็นแก่ตัว, และ ตื้นเขิน  แต่ที่เขียนบทความนี้ เขาเขียนด้วยข้อมูลอ้างอิง จากผลงานวิจัย  และจากหนังสือดีๆ หลายเล่ม 

          เขาบอกว่า คนพันธุ์ เอ็ม มีลักษณะ หลงตัวเอง (narcissism), วัตถุนิยม (materialism), เสพติดเทคโนโลยี (technology addiction), เป็นผู้ใหญ่ช้า (stunted development คือยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่แม้อายุจะมากแล้ว คล้ายๆ ช่วงอายุระหว่างทีนเอจ กับการเป็นผู้ใหญ่ ยาวขึ้น), ไม่ค่อยสนใจเรื่องของสังคม (less civic engagement), ไม่ค่อยสนในการเมือง, ไม่เคารพผู้มีอำนาจรับผิดชอบ (เพราะไม่สนใจเรื่องอำนาจรับผิดชอบ), ชอบอ้างสิทธิ์ (entitlement), แต่งงานช้าลง, ชอบทำตัวเป็นคนรวย

          ศาสตราจารย์ Roy Baumeister  ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย ฟลอริดา สเตท ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือ Self-Esteem : The Puzzle of Low Self Regardบอกว่า เหตุที่เกิด คนพันธุ์ เอ็ม ก็เพราะในช่วงทศวรรษ 1970 ได้มีการกระตุ้นเด็กให้มีความเคารพเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem)  โดยเชื่อว่า เด็กที่เคารพเชื่อมั่นในตนเอง จะมีผลการเรียนดีกว่า และโอกาสเป็นเด็กมีปัญหาน้อยกว่า ผลคือเด็กที่มีความเคารพเชื่อมั่นในตนเองเหล่านี้เก่งกว่าในการหางานหรือหาเพื่อน  แต่ด้อยกว่าในการทำงานที่ใดที่หนึ่งนาน หรือในการดำรงสัมพันธภาพกับเพื่อน  

          ศ. รอย เบาไมสเตอร์ บอกว่า ในเรื่องเรียนดี และประพฤติดีนั้น  ความเคารพเชื่อมั่นในตนเองเป็นผล ไม่ใช่เหตุ 

          ศ. Jean Twenge ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย ซานดิเอโก ผู้เขียนหนังสือ Generation Me  และ The Narcissism Epidemicกล่าวว่า เมื่อดำเนินการส่งเสริมความเคารพเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem)  เรามักไพล่ไปส่งเสริม ความหลงตัวเอง (narcissism) แทน  โดยที่เมื่อลูกยังเล็ก พ่อแม่และคนอื่นๆ เอาอกเอาใจเหมือนเป็นเจ้าชายเจ้าหญิง  หรือตนเองเป็นผู้ยิ่งใหญ่  แต่พออายุเข้าทีนเอจ เติบโตเข้าสู่ตัวตนที่แท้จริง พบว่าตนไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด  คนรุ่นนี้จึงมีความผิดหวังในชีวิต  ทำงานไม่ได้ผลดีอย่างที่ตนตั้งความหวังไว้   ตรงตามหนังสือ Managing the New Workforce : International Perspectives on the Millenial Generationที่บอกว่าคนรุ่นนี้มักมีเป้าหมายสูงในชีวิต แต่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายนั้น 

          ผลจากความหลงตัวเอง (narcissism) ทำให้คนพันธุ์เอ็ม ชอบอ้างสิทธิ์ (entitlement)  หรือชอบขอสิทธิพิเศษ  ทำให้ครูภาษาอังกฤษชื่อ David McCullough Jr.กล่าวในพิธีฉลองการจบชั้น ม. ๖ ของโรงเรียน Wellesley High School ด้วยหัวข้อ You Are Not Specialและเป็นที่ชื่นชอบกันมาก ในหมู่คนพันธุ์เอ็มเอง  มีคนเข้าไปชมรายการ YouTube นี้เกือบ ๒ ล้านครั้ง   โปรดสังเกตว่าพิธี ฉลองการจบการศึกษานี้จัดในสนามหญ้ากลางแจ้ง  ไม่ใช่ในอาคารโอ่อ่าใหญ่โต 

         ศาสตราจารย์ Larry Rosen ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่ง California State University at Dominguez Hills ผู้เขียนหนังสือ iDisorderกล่าวว่า คนพันธุ์เอ็มมีความวิตกกังวลสูง จึงมีพฤติกรรมเช็คเมล์ หรือโต้ตอบ SMS บ่อย แบบย้ำคิดย้ำทำ  เพื่อทำตัวให้เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่เพื่อนๆ  มีผลให้ความริเริ่มสร้างสรรค์ลดลง  ความเห็นอกเห็นใจคนอื่นลดลง 

          เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จัก Torrence Test of Creative Thinking, test of empathy, Narcissism Score

          ศาสตราจารย์ W. Keith Campbell นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Georgia ผู้เขียนหนังสือถึง ๓ เล่ม เกี่ยวกับดีกรีความหลงตัวเองเพิ่มขึ้นรุ่นต่อรุ่น  รวมทั้งหนังสือ When You Love a Man Who Loves Himself กล่าวว่า ทุกคนต่างก็ยกย่องตนเองใน Facebook และโซเชี่ยลมีเดียอื่นๆ  จนตนเองคล้ายเป็นดาราย่อยๆ

          การดูรายการ เรียลลิตี้โชว์ใน ทีวี ก็มีส่วนกระตุ้นให้คนหลงตัวเอง  เตรียมตัวเป็นดาราในเรียลลิตี้โชว์ 

          ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ Christopher Lasch เขียนหนังสือ The Culture of Narcissismบอกว่า สื่อมวลชนประโคมความฝันที่จะเป็นดารา  ทำให้คนทั่วไปเอาตัวไปผูกพันกับดารา และรังเกียจหรือดูถูกสังคมธรรมดา  

          ในด้านบวก คนพันธุ์เอ็ม มีความจริงจัง (earnest), มองโลกแง่ดี (optimistic), อัธยาศัยดี, นำเอาระบบมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (ไม่เป็นกบฎต่อระบบ), เป็นคนมีอุดมการณ์แบบยอมรับความจริง, ชอบหาประสบการณ์ใหม่ๆ และให้คุณค่าต่อประสบการณ์ใหม่ๆ มากกว่าวัตถุสิ่งของ, เป็นคนคิดมากกว่าฝัน, เป็นนักเจาะหาคุณค่าของชีวิต (life hacker), ไม่มีหัวหน้า, ต้องการการยอมรับอยู่ตลอดเวลา (คอยสำรวจหาคนมากด like ในโซเชี่ยลมีเดียของตน), โพสต์รูปของตนเองบ่อยๆ, ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันใหญ่, ไม่เคร่งศาสนา, ท้าทายสิ่งที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป (challenge convention), ต้องการมีประสบการณ์ใหม่ๆ, เป็นผู้รับรู้มาก แต่ไม่ค่อยทำ, ให้คุณค่าต่อธุรกิจ, รับผิดชอบทางการเงิน, ยอมรับความแตกต่าง  

          เขาแนะนำการบรรยายใน TEDx โดย Scott Hess เรื่องMillenials : Who They Are and Why We Hate Themที่ทำความเข้าใจลักษณะของ คนรุ่น millenials  เปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อน คือ Generation X  

          โดยสรุป ผู้เขียนบอกว่า คนพันธุ์เอ็ม จะเป็นผู้ประกอบการที่มีความหวัง  และสร้างสรรค์โลกในอนาคต ได้จริงหรือไม่  คำตอบสุดท้ายอยู่ที่คนพันธุ์เอ็มจะสนองความท้าทายในอนาคตอย่างไร   ไม่ใช่อยู่ที่ข้อมูลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ค. ๕๖ 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 541268เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2014 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท