ทำไมตรัสแต่เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ แต่กลับตรัสให้ปัญจวัคคีย์จาริกไปเพื่อคนหมู่มากจะได้รับประโยชน์สุข


เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสต่อเบญจวัคคีย์เพื่อให้ไปประกาศพระศาสนานั้น หากเราสังเกตที่พุทธพจน์ จะพบว่าตรัสบอกพระอรหันต์ทั้ง ๕ ให้จาริกไปด้วยวัตถุประสงค์คือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก ดังนั้น หากจะบอกว่าเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาคือประโยชน์และความสุขของชีวิต ก็คงจะไม่ผิดไปหรอกนะคะ

มีหลายครั้งที่มีผู้ถามถึงพระพุทธเจ้าถึงเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอย่างเป็นสุขในปัจจุบัน การมีหลักประกันเพื่อความสุขในอนาคต หรือ การสงบสุขอย่างถาวร พระองค์ไม่ทรงตอบ หรือบางครั้ง ตรัสว่าทรงสอนผู้ฟังเฉพาะเรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น

อาจเป็นเพราะคำตรัสนี้นะคะ ชาวต่างชาติต่างศาสนาบางท่านจึงมักมองว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความทุกข์ อันที่จริง ทุกข์เป็นผลจากการปฏิบัติตนในทางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์จนก่อให้เกิดเป็นปัญหาที่นำไปสู่ทุกข์หรือก็คือสมุทัยขึ้นมา และเพราะวิธีการดับทุกข์หรือมรรคที่พระองค์แสดงไว้ สมุทัยจึงได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง เมื่อปัญหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้รับการแก้ไขจนเรียบร้อย ปัญหาก็หมด เมื่อปัญหาหมด ทุกข์ก็ดับ จึงปรากฏเป็นสภาพที่ตรงข้ามคือสุขขึ้นมาแทน

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ฟังฟังแล้ว มีความเห็นตรงตามสภาวะแล้ว นำคำสอนมาปฏิบัติแล้วจะได้รับก็คือประโยชน์หรืออัตถะทั้งสามที่เรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ที่มองเห็นได้ และ สัมปรายิกัตถัตถะ ประโยชน์ภายหน้าหรือประโยชน์ที่เลยตาเห็น อันนำไปสู่ความสุขอีกต่อหนึ่ง หรือเป็นสุขโดยสภาวะที่ปรากฏด้วยตัวของสภาวะคือการดับของทุกข์เองและ ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

อัตถะทั้งสามนี้ ในพระสูตรโดยทั่วไปมักแสดงไว้เพียงสองค่ะ คือตรัส ทิฏฐธัมมิกัตถะ คู่กับ สัมปรายิกัตถะ แต่ก็มีบางที่ค่ะ มีการแสดง ปรมัตถะ ไว้โดยเฉพาะ แต่อันที่จริงแม้จะตรัสอัตถะเพียงสองลักษณะต้น ก็ครอบคลุมถึงอัตถะสุดท้ายคือปรมัตถะเอาไว้แล้วค่ะ เพราะคำตรัสอธิบายสัมปรายิกัตถะที่ว่า “มีปัญญาในการพิจารณาเห็นความเกิดดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ”นั้น ก็แสดงถึงการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาอันนำไปสู่การบรรลุนิพพานอันหมายถึงประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานอยู่แล้ว

ประโยชน์และสุขนี้หนุนกันเป็นวงกลมเลยค่ะ เพราะได้ประโยชน์จึงได้สุข เพราะได้สุข จึงมีโอกาสได้ประโยชน์ที่ยิ่งๆขึ้น เพราะได้ประโยชน์ที่ยิ่งขึ้น จึงได้สุขที่ประณีตขึ้น บ่อยขึ้น กระทั่งถึงความเป็นสุขสงบอย่างถาวร

มาดูที่อัตถะทีละชนิดกันนะคะ

ทิฏฐธัมมิกัตถะ

อันที่จริงอัตถะนี้แปลว่าประโยชน์ที่มองเห็นได้ แต่เราแปลเป็นประโยชน์ปัจจุบัน และนิยมใช้กันมาอย่างนี้ ประโยชน์ชนิดนี้ประโยชน์ในขั้นต้นที่บุคคลควรได้ในชีวิตนี้ อันได้แก่ ทรัพย์ มิตร ไมตรี การมีสุขภาพที่ดี การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ยศ เกียรติและบุคคลจะได้รับประโยชน์เหล่านี้ก็ด้วยการมีธรรม ๔ ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบันอันมีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า ทิฏฐธัมมิกัคถสังวัตตนิกธรรม เพียงแต่เมื่อได้แล้ว เราควรรู้ว่าสิ่งที่ได้ เราแสวงหา ได้มา เพราะต้องการให้ชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น และใช้โอกาสที่เป็นอยู่อย่างปกติ ราบรื่น นี้ในการแสวงหาสิ่งที่ประณีตขึ้น ยั่งยืนขึ้น

ไม่โลภจนเมามายแสวงหาอย่างไม่รู้จักพอ หรือ หลงใหลจนยอมสยบต่อสุขหยาบที่ได้รับจนไม่คิดแสวงหาสุขละเอียดประณีต หรือหลงใหลสุขจนยึดมั่นอันนำไปสู่ทุกข์เมื่อมีการผันแปร

ทิฏฐธัมมิกัคถสังวัตตนิกธรรม นั้น ประกอบด้วยองค์ธรรมทั้ง ๔ ดังนี้ค่ะ

อุฏฐานสัมปทา ความขยันหมั่นเพียรซึ่งนอกจากจะไม่เกียจคร้านในงานที่ทำแล้ว ยังหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาหาวิธีการทำงาน หาวิธีบริหาร ที่จะประสบผลสำเร็จในการงานด้วย

อารักขสัมปทา การรักษาสิ่งที่หามาได้โดยชอบธรรม ประกอบด้วยธรรม ให้อยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งคำว่าประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยชอบธรรมนี้ อรรถกถาอธิบายว่าหมายถึงการตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ แล้วได้ทรัพย์มาค่ะ

กุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้รวบรวมชื่อบาลีที่มีเป็นต่างๆไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรมว่า มีชื่อเป็น ธรรมจริยา(ความประพฤติธรรม), โสไจย ( ความสะอาดหรือเครื่องชำระตัว), อริยธรรม (ธรรมของผู้เจริญ), สัทธรรม (ธรรมดี, ธรรมแท้) สัปปุริสธรรม (ธรรมของสัตตบุรุษ) และ อริยมรรค (มรรคาอันประเสริฐ)

กัลยาณมิตตตา การมีเพื่อนดี เพราะเมื่อมีมิตรดี ก็ย่อมได้รับการแนะนำ ตักเตือน สนับสนุนในการเริ่มต้นทำสิ่งที่ดี ในการรักษาและเพิ่มพูนความดี ไปถึงการลดละการกระทำที่ไม่ดี อกุศลธรรมต่างๆ และใช้โอกาสที่มีมิตรดีนี้ ศึกษาศรัทธา ศีล จาคะ(การสละ) และปัญญาของท่าน

ซึ่งคำว่าศึกษาหรือสิกขานี้ รวมไว้แล้วทั้งการเล่าเรียนสิ่งที่ควรรู้และการนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นปฏิบัติจนได้รับผลการปฏิบัติด้วยตนเองค่ะ

สำหรับยอดแห่งกัลยาณมิตรของพุทธศาสนิกชนก็คือพระพุทธเจ้า เพราะทรงห้ามปรามเราจากความชั่ว แนะให้ตั้งอยู่ในความดี สั่งสอนที่ยังไม่เคยรู้ ไม่เคยฟัง หรือสิ่งใดที่ได้รู้ได้ฟังแล้ว ก็ทรงทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่ตรัสอริยสัจ ๔ ให้เราได้ศึกษากัน

และ องค์ธรรมสุดท้ายของหลักธรรมนี้ ก็คือ

สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่ฐานะ คือเมื่อรู้ทางเจริญและเสื่อมของทรัพย์ ก็เลี้ยงชีพอย่างพอเหมาะ โดยไม่ให้ฝืดเคืองจนเกินไป ไม่ให้ฟุ่มเฟือยจนเกินไป เพราะหากเลี้ยงชีพฝืดเคืองเกินไป ก็จะได้รับคำตำหนิจากบุคคลรอบข้างได้ว่า “กุลบุตรนี้จักตายอย่างไม่สมฐานะ” หรือหากเลี้ยงชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยจนเกินไป ก็จะได้รับคำตำหนิได้ว่า “กุลบุตรนี้ใช้จ่ายทรัพย์เหมือนคนกินผลมะเดื่อ” คือ เขย่าต้นมะเดื่อให้ผลสุกตกลงมาเป็นจำนวนมาก แต่แล้วกลับเลือกเก็บมากินเพียงไม่กี่ผล

หากบุคคลเลี้ยงชีวิตตามหลักธรรมอย่างนี้ ก็จะได้รับประโยชน์สามัญต่อชีวิต คือ ทรัพย์ ไมตรี ยศ เกียรติ การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างแน่นอนค่ะ

สัมปรายิกัตถะ

สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์ภายหน้า ประโยชน์เพื่อเกื้อกูลแก่ภพหน้า ซึ่งการที่จะได้ประโยชน์นี้ บุคคลต้องประกอบด้วย ความถึงพร้อมหรือสัมปทาทั้ง ๔ อันรวมเรียกว่า สัมปรายิกัตถสังวัตตนิกธรรม ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เบื้องหน้า หลักธรรมที่อำนวยประโยชน์สุขขั้นสูงขึ้นไป คือ

สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าทรงตรัสรู้เองโดยชอบแม้ว่าจะทรงเป็นเพียงมนุษย์ แต่เพราะทรงตรัสรู้ธรรมอันยิ่ง จึงทรงเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย

สีลสัมปทา คือการเว้นจากการเบียดเบียนชีวิต ทรัพย์สิน คนรัก ของผู้อื่น เว้นจากการมีคำลวงเพื่อประโยชน์อันมิชอบ และการเปิดโอกาสให้ตนประมาทด้วยของมึนเมาจนขาดสติ ไปเบียดเบียนผู้อื่น

จาคสัมปทา มีใจปราศจากความตระหนี่ มีใจยินดีในการสละ

ปัญญาสัมปทา มีปัญญาในการพิจารณาเห็นความเกิดดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

รวมองค์ธรรมทั้ง ๘ นี้ จะว่าเป็นธรรมเพื่อ “ผู้ครองเรือน” โดยเฉพาะเลยก็ว่าได้นะคะ เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์ในปัจจุบัน ได้สุขในภายหน้าแล้ว การสละหรือจาคะ แม้แต่ความเห็นว่าเป็นตน ก็เพิ่มพูนขึ้น ดังที่ตรัสกับบุรุษชื่อทีฆชาณุบ้าง กับพราหมณ์ที่ชื่ออุชชยบ้าง (ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต)

ปรมัตถะ

ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายของคำว่า “นิพพาน” ไว้ในหนังสือพุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย) มีใจความว่า คำว่านิพพานนี้มาจากศัพท์คือ นิ + วาน นิ เป็นอุปสรรคในไวยากรณ์ แปลว่า ออกไป ไม่มี หมดไป เลิก ส่วน วาน แปลว่า พัด ไป เป็นไป เครื่องร้อยรัด ใช้เป็นกิริยาของไฟหมายถึงหายร้อน ดับ เย็นลง เย็นสนิท เมื่อใช้แสดงภาวะทางจิต จึงหมายถึงการเย็นใจ ดับความร้อนใจ ไม่มีความกระวนกระวาย หรือจะแปลว่าเป็นเครื่องดับกิเลส คือทำให้โลภะ โทสะ โมหะ หมดสิ้นไป ส่วนคัมภีร์รุ่นรองและอรรถกถาฎีกาส่วนมากนิยมแปลว่า ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด หรือ ออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยติดไว้กับภพก็ได้ อย่างไรก็ดี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงมติว่าอีกนัยหนึ่ง ควรแปลว่า หาของเสียบแทงมิได้

ดิฉันชอบใจการแปลของสมเด็จพระสมณเจ้ามากที่สุดค่ะ เพราะสุข จิตก็ถูกเสียบในลักษณะหนึ่ง (จิตถูกเสียดขึ้นเหมือนถูกลูกศรแทงเบาๆขึ้นก่อนแล้วอาการเสียดจึงแปรเป็นความเย็น จากนั้นความเย็นนั้นก็แผ่สร้านไปทั่วกาย) ทุกข์ก็ถูกเสียบในอีกลักษณะหนึ่ง (จิตเหมือนถูกลูกศรเสียดแทงลง อาการเสียดค่อยๆแปรเป็นความเจ็บที่ค่อยๆทวีขึ้นทีละน้อยๆตามการแทงลง การกดลึกของลูกศร เรื่องไหนใส่ใจมากก็เจ็บมากไปตามความยึดมั่น แล้วใจเรา ทรวงอกเรา ก็เหมือนถูกกดทับด้วยของหนักตามมา)

ส่วนนิพพานมีกี่ลักษณะ อะไรบ้าง ของลอกข้อความในหนังสือ วิปัสสนาภาวนา ที่พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโน) รจนาไว้มาเล่าต่อนะคะ

“นิพพาน มี ๒ อย่าง คือ

๑ สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสได้หมด แต่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่

๒ อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสได้หมดและดับขันธ์ไปด้วย อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายที่เข้าสู่นิพพานไปแล้ว

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะพูดถึงนิโรธหรือนิพพานในแง่ที่พอนำมาปฏิบัติกันได้ในปัจจุบันหรือในชีวิตประจำวัน นิพพาน มีอีก ๒ ชนิด คือ

๑ ปริยายนิพพาน คือ ดับกิเลสได้บางส่วน หรือ สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน เช่น ดับความโกระได้ชั่วคราว และดับความโลภ หรือ ความหลง ได้ชั่วคราว หรือ ละกิเลสได้บางส่วน เช่น เมื่อเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นก็ดับความฟุ้งซ่านนั้นลงได้ก็จัดเป็นนิพพาน อยากได้รถเก๋งงามๆสวยๆ ราคาแพงๆ แต่เงินไม่พอ หรือพอ แต่ระงับความอยากนั้นได้ ก็จัดเป็นนิพพาน เคยติดการพนัน เคยสูบบุหรี่ หรือติดเหล้าของมึนเมาเสพติดให้โทษ ก็ละเลิกสิ่งเหล่านี้เสียได้ ก็จัดเป็นนิพพานได้เช่นกัน แม้จะเป็นนิพพานบางส่วนหรือชั่วคราว ก็นับว่าดับความทุกข์ความเดือดร้อนจากกิเลสนั้นลงได้ ซึ่งปริยายนิพพาน – นิพพานโดยปริยาย หรือ นิพพานอย่างต่ำนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เหมือนกัน คนเราถ้ายังเอานิพพานอย่างต่ำนี้ไม่ได้แล้ว ก็อย่าหวังจะเอานิพพานอย่างสูงเลย เช่น บุหรี่หรือเหล้าก็ยังเลิกไม่ได้ แล้วก็อย่าหวังดับโลภ โกรธ หลง โดยสิ้นเชิงเลย

๒ นิปปริยายนิพพาน คือ นิพพานโดยสิ้นเชิง คือ ดับกิเลสได้หมด ยิ่งได้ดับขันธ์นิพพานด้วยแล้ว ก็ชื่อว่าดับทุกข์หมดโดยประการทั้งปวง ไม่ว่าเพลิงกิเลส หรือ เพลิงทุกข์ก็ดับหมดสิ้น เพราะได้เข้าสู่นิพพาน ไม่ต้องมีเบญจขันธ์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว”

จะเห็นว่าที่ตรัสว่าทรงสอนเรื่องการดับทุกข์นั้น ทรงสอนตั้งแต่การแก้ปัญหาอันนำมาซึ่งความทุกข์ในทุกระดับขั้นเลยนะคะ

ตั้งแต่เรื่องการทำมาหากิน การมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การเกื้อกูลกันในสังคมเพื่อให้สังคมสงบสุข เพื่อคนในสังคมจะได้เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของกันและกันอันเอื้อต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ

หรือแม้กระทั่ง เราได้ทุกข์ได้สุขเพราะเรื่องใดๆสลับกันไปมา จนรู้สึกเบื่อหน่าย จิตไม่อยากจะแฟบจะฟู ขึ้นๆลงๆเพราะเรื่องนั้นๆอยู่ร่ำไป คิดหาทางออกไปจากความวุ่นวาย จากกองทุกข์ทั้งหมด ก็ตรัสเรื่องการหาทางออกไปจากโลกไว้ให้

ให้เราได้ค่อยๆฝึก ให้เราค่อยๆสงบรำงับ

ค่อยๆการคลายความเห็นว่าเป็นตน

จนกว่าจะพ้นไปจากวงจรแห่งทุกข์

คืนสู่ธรรมชาติ

สงบอย่างถาวร

สมกับที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ว่าทรงเป็น

“ กัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ทั้งหลายที่มีความเกิด มีความแก่ มีความตายเป็นธรรมดา ก็พ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความตาย สัตว์ทั้งหลายผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นธรรมดา ก็พ้นไปได้จากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส”

โดยแท้

หมายเลขบันทึก: 573077เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2014 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 09:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มีดอกไม้..มาสาธุ..เจ้าค่ะ..

ละเอียดมากเลยครับ

ได้อ่านธรรมมะดีๆมากเลยครับ

วันนี้ได้ความรู้ใหม่ ๆ ความเข้าใจ และความเชื่อมโยงกันของธรรมะในหลาย ๆ บทที่ไม่เคยทราบมาก่อนค่ะ ดีใจอีกอย่างที่ทราบว่าการระงับยับยั้งใจได้(ในบางครั้ง บางคราว) ก็ยังพอเรียกได้ว่า "มีปริยายนิพพาน หรือสันทิฏฐิกนิพพาน" บ้าง จะพยายามทำให้มากขึ้นค่ะ 

ขอบคุณ คุณณัฐลดามากค่ะที่บรรยายธรรมะไว้อย่างละเอียด พร้อมทั้งตัวอย่าง ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะเข้ามาทบทวนอีกเรื่อย ๆ ค่ะ  ขอบคุณและ สาธุ สาธุ ค่ะ

 

ขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมกันนะคะ

ขอโทษที่เขียนชื่อผิดไปค่ะ คุณณัฐรดา

เรียนคุณกุหลาบ มัทนาคะ

ไม่เป็นไรค่ะ ^_^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท