"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​ลองหัดแต่งและเขียนผังกลอนลิเก หรือเพลงราชนิเกิง


๒๙/๐๗/๒๕๕๗

****************

ลองหัดแต่งและเขียนผังกลอนลิเก หรือเพลงราชนิเกิง

              ผมเป็นคนชอบพวกการแต่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว ไปพบผู้แนะนำการแต่งกลอนลิเกในยูทูบเลยสะดุด หยุดดูเขาใช้คำว่า “เพลงราชนิเกิง” แต่พยายามหาข้อมูลก็ไม่พบ พบแต่กลอนลิเก และความเป็นมาของลิเก(ตรงนี้)http://www.gotoknow.org/posts/98131 เห็นอาจารย์และเด็ก ๆ น่ารักมาก ที่นี่ท่านเรียกว่า “รานิเกลิง” (ไม่รู้ว่าคำที่ถูกต้องคือคำไหน) อ่านแล้วฮามากครับ

             ภาพจากตัวอย่างของการแต่ง เพลงราชนิเกิงของคุณ ชโลมจิต ชนะใจ ลักษณะของกลอนดูแล้วน่าจะดัดแปลงมาจากกาพย์ฉบัง ๑๖ มีวรรคละ ๖ คำ วรรคที่สอง เพิ่มตอนท้ายไปอีกสองคำ หรือสองพยางค์ และวรรคล่างที่สี่หรือวรรคสุดท้าย กาพย์ฉบังไม่มี เพิ่มคำต่อไปอีก ๖ พยางค์ ให้ดูเหมือนลักษณะของกลอน ๖ เลยทีเดียว...แต่ความสำคัญหรือความพิเศษ จะอยู่ที่ “การสัมผัสอักษร” หรือใช้อักษรเหมือนกันจากภาพคือ เส้นสีเขียว คือคำว่า “พี่” กับ “พ่อ” ใช้ พ.พาน เหมือนกัน และคำว่า “รัก” และ “รอ” ใช้ ร.เรือ เหมือนกัน และคำว่า “นอ” และ “นั่ง” อักษร “น” และ “จิต” กับ “จัง” อักษร “จ” ซึ่งเห็นจากภาพเป็นตอนลงที่ต้องเอื้อนในการลากเสียง…

            อีกอย่างหนึ่งคือ “การสัมผัสสระ” ในตอนลง หรือตอนจบกลอน ในที่นี้คือ “นั่ง” กับ “จัง” คุณชโลมจิตบอกว่า บังคับเป็นหลักในการลงเลยล่ะครับ...

         

          *ผมลองแต่งตามผังหรือตัวอย่างบ้างดังนี้ครับ...

           มองเห็น คนยืน กันเป็นกลุ่ม        สาวสาว หนุ่มหนุ่ม จริงหนอ

           หน้าตา แตกตื่น กรี๊ดต่อ              ด้วยเห็น สุดหล่อ จึงลั่น

  (ลง)  นักร้อง นั้นมา จากเกาหลี           หน้าตา ตี๋ตี๋ ดัดฟัน.......เตร็งๆๆ เตร้ง...


           ยังไม่หายข้องใจกับกลอนลิเก ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมเห็นมีน้อยมาก พบที่ อ.พิสูจน์ เขียนไว้ในโกทูโนว์ (ตรงนี้) http://www.gotoknow.org/posts/96239

เขียนมาประมาณ ๗ ปีแล้ว ยังแปลกใจอยู่ว่า ทำไมหลักการดูเหมือนจะแตกต่างกันกับของคุณชโลมจิตมาก หากเป็นไปได้ก็อยากจะให้เขียนผังไว้ให้ดูด้วย  ผมลองเขียนผังตามที่ อ.พิสูจน์ เขียนอธิบายไว้แล้วว่า มี ๕-๘ คำ แต่ผมชอบตามที่คุณชโลมจิตบอกไว้คือ  ๖ คำ จึงขอกำหนดเพียง ๖ คำ (ท่านใดจะแต่งเพิ่มหน้าคำ หรือหลังสองคำก็ได้ไม่จำกัด เพียงขอให้สัมผัสก็พอ) ตามที่เคยได้ยินลิเกเขาร้องกันมา พอกำหนดและเขียนออกมาได้ดังนี้



หลักกลอนลิเกกับหลักกลอนสุภาพ ดูแล้วก็คงจะไม่ต่างกันสักเท่าไหร่หรอกนะ มีคำสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบทเหมือนกัน แต่อาจจะเน้นที่สระตอนลงหรือตอนรับระหว่างบทวรรคสุดท้ายมากกว่าครับ...

ผมจึงทดลองแต่งตามผังบ้างดังต่อไปนี้...

              สวัส ดีครับ พี่น้อง                  มาฟัง ผมร้อง ลิเก

              คุณเพื่อนเก่า อย่าได้ หันเห   หรือมัว เสเพล เลยนั่น

              หายหน้า หายตา หลายคน    คงไม่ หมองหม่น ทำผิด

             สิ่งสำคัญ คงมี ชีวิต                มุ่งธุรกิจ คิดบากบั่น

             งานสิ่งใด อย่าได้ เศร้าหมอง ประคับ ประคอง กันหนา

             เมื่อถึง คราวมี เวลา               โปรดได้ กลับมา ให้หมั่น

(ลง)      บ้านโก ทูโนว์ นี้ดี                   เพื่อนพ้อง น้องพี่ รักกัน...เตร็งๆๆ เตร้ง...


สรุปแล้วก็คือ การนำหลักการของทั้งสองท่านมาประสมกลมกลืน ทั้งสัมผัสอักษร สัมผัสสระ และมีรับมีส่งตามหลักผังที่ผมทดลองทำขึ้นมาตามทั้งสองท่าน ไม่แน่ใจว่ามีข้อผิดพลาดตรงไหนหรือเปล่า ขอผู้รู้ลึกซึ้งช่วยแนะให้ด้วย เข้าไปหาดูหลายแห่งไม่มีผังการแต่งที่เป็นบทยาว ๆ ให้เลยครับ...

ผิดพลาดไปอภัยกันเน้อ ครู อาจารย์ทั้งหลาย สมาชิก “ชมรมคนรักธรรมชาติ” มาเขียนกลอนก็ได้ประมาณนี้หละ ไปก่อนละครับผม

ขอบคุณทุกท่าน ขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 573473เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2014 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณครู อาจารย์ กัลยาณมิตรที่เคารพรักทุกท่านมากนะครับผม...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท