เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 9 (ลิเก)


ขอบคุณสวรรค์ ที่ส่งให้เขามาเกิดร่วมยุคผูกสมัย
เพลงพื้นบ้าน 
จากการปฏิบัติจริง 
(ตอนที่ 9) ลิเก   
                                        

            ลิเก มีกำเนิดมาจากพิธีสวดทางศาสนาสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลามเมื่อนับพันปีที่ผ่านมา แต่เริ่มแรกเป็นการนั่งสวด และต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็นมีการโยกตัว และหมุนตัวไปรอบ ๆ รวมทั้งมีการกระทืบเท้า จนกลายเป็นการเต้นที่เร้าใจ และกลายเป็นการแสดงมีเครื่องดนตรีประกอบ ด้วย ในเวลาต่อมา  ลิเกแบบเดิมยังปรากฏอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทย แถบจังหวัด ยะลา นราธิวาสสตูล เรียกว่า ดจิเก แต่พอ ดจิเก เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯเรียกเพี้ยนไปเป็น ยี่เก และในที่สุดมาเป็นคำว่า ลิเก ที่ใช้เรียกกันในปัจจุบัน            

      ลิเก มีจุดเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6   แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  จนมาถึงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีบทบัญญัติให้ใช้คำว่า นาฏดนตรี แทนคำว่า ลิเก อย่างไรก็ตามเราก็ยังเรียกกันติดปากว่า ลิเกจนเคยชิน ศิลปะการแสดงที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทนี้ ยังคงมีเสน่ห์ให้น่าติดตามทั้งศิลปะการแสดงที่นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การแต่งกายด้วยชุดที่วูบวาบแพรวพราวเข้ากับแสงไฟ ฉากสวยงามตระกานตา เวทีการแสดงถูกปรุงแต่งขึ้นมารองรับความยิ่งใหญ่ของลิเกในยุคปัจจุบัน กอปรกับชื่อเสียงของผู้แสดงหัวหน้าคณะที่ตรึงอยู่ในหัวใจของผู้ชม แต่อีกมุมหนึ่ง ยังมีคณะแสดงลิเกที่รอความเมตตาจากผู้ชมได้ให้การสนับสนุน ให้พวกเขาอยู่ได้           

    ผมได้รับการฝึกหัดการแสดงลิเก เมื่อสมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 เป็นการฝึกการแสดงลิเก สำหรับกิจกรรมของโรงเรียน ในกลุ่มผู้แสดงจะมีประมาณ 7 คน เล่นทั้งลำตัดและลิเก โดยมีคุณครูเป็นผู้ฝึกสอนให้  ครูแต่งบทให้ผมฝึกหัดร้อง และฝึกรำ ฝึกการแสดงในตอนเย็นหลังเลิกเรียน  ฝึกอยู่หลายเดือนกว่าที่จะออกแสดงได้  งานแสดงที่ผมจำได้มีหลายที่ทั้งในเขตอำเภอดอนเจดีย์ และอำเภออื่น ๆ มี อำเภอศรีประจันต์  อำเภอสามชุก  อำเภอเดิมบางนางบวช งานแสดงก็จะเป็นกิจกรรมของโรงเรียน งานวัด งานประจำปี ในยุคนั้น (พ.ศ. 2505) ลิเกเด็ก ๆ ไปแสดงตามโรงเรียนคนดูแน่นขนัด เพราะไม่ค่อยมีมหรสพอื่นมาแสดงเลย ในระหว่างที่ผมฝึกหัดแสดงลิเกอยู่นั้น ข้างบ้านเขาก็มีการฝึกหัดลิเกชาวบ้านกันอยู่พอดี  ผมขี่รถจักรยานไปกับเพื่อน เพื่อนเขาไม่หัด เขาบอกว่าขอไปเป็นเพื่อน ส่วนผมไปขอฝึกหัดอยู่กับเขา ผมได้หัดร้อง รำ เจรจา จนกระทั่งได้ออกหน้าม่านเล่นเป็นเรื่อง ก็พอดีผมจบชั้น ป.7 ต้องไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เข้าเรียนชั้น ม.ศ.1 ที่ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ  ภาษีเจริญ แต่ก็ไม่วายที่ผมจะนำเอาศิลปะการแสดง ลิเก ไปใช้ในการแสดงละครร่วมกับเพื่อน ๆ เมื่อมีกิจกรรมนักเรียน (แต่งตัวลิเกด้วยนะ) ผมร้องกลอนลิเก-รานิเกลิง บางท่านเรียกว่า ราชนิเกลิง บางท่านใช้คำว่า ราคนิเกลิง ก็คงเป็นคำเรียกบทร้องกลอนลิเก แบบกลอนสดนั่นเอง             จากการแสดงบนเวทีในงานกิจกรรมของโรงเรียนที่ผมนำเอาศิลปะการแสดงด้านนี้ ไปเสนอ จนมาถึงช่วงเวลาที่ผมไปประกอบพิธีทำขวัญนาค ผมนำเอากลอน รานิเกลิง ไปใช้ร้องด้วย และมีหลายครั้งที่พี่ชายคนหนึ่งของผม พี่โสภณ (พี่ที่นับถือกันมาก) ท่านเป็นลิเกเก่า ติดต่อผมไปทำขวัญนาคที่บ้านท่าน และที่บ้านลูกน้องท่าน เสร็จพิธีทำขวัญนาคมีลิเก ก็จะต้องให้ผมร่วมแสดงด้วยทุกครั้ง ยังจำภาพเก่า ๆ ได้ไม่เคยลืม ความรักในศิลปะการแสดงของผมมันฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณที่ไม่อาจเลิกราไปได้

            วันนี้ผมมีลูกศิษย์ 2 คน ชื่อ นางสาวรัตนา ผัดแสน และเด็กชายธีระพงษ์ พูลเกิด เจ้า 2 คนนี้บอกให้ฝึกอะไรได้หมด ไม่มีปัญหา และน่าที่จะเป็นคนอีกยุคหนึ่งที่เก็บภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้กับตัว (มันสมองและมือ) ไม่รู้ว่าเมื่อวันที่ผมต้องนอนหลับยาวไปแล้ว เด็ก 2 คนนี้จะมีใครรู้จักเขาบ้าง ใครจะจูงข้อมือเขาขึ้นสู่เวทีการแสดงแทนผม 

ตัวอย่างกลอนลิเก รานิเกลิง

(รัตนา) นี่แกอย่ามายุ่งกับฉันไดไหม ยิ่งจำบทไม่ได้อยู่ อุตส่าห์ท่องมาตั้ง 2 เดือนแล้ว เงียบๆ อย่าเอ็ด
ธิดาสาว  จอมกษัตริย์                   ผู้เรืองอำนาจ  ใหญ่โต     
มีนามเล่น ๆ   ว่าแตงโม                ไม่อยากจะโชว์   เส้นขน
หญิงมีความสุข  สบาย                  อยู่ภายใต้   เศวตฉัตร
มีพระเสด็จพ่อ   ผู้เรืองอำนาจ        และเหล่าอำมาตร  มากล้น
คอยสอดส่อง  ดูแล                       ไม่ให้ใครมารังแก  หญิงได้
แต่ทุกวันให้ร้อน  ในพระทัย           คิดแล้วหัวใจ   สับสน
อยากบอกผ่าน  ท่านผู้ชม              ไปด้วยอารมณ์  สุนทรีย์
พระชันษา  สิบเจ็ดปี                      หญิงอยากให้มี  ส้มหล่น
อยากได้ผ้าห่ม   หัวใจ                    อยากมีเพื่อนชาย  ใกล้ชิด
ถึงแม้จะมีเพียง   น้อยนิด               ขอแค่เป็นมิตร   สุขล้น
ถ้าขอได้   โผไม่มีพลิก                     หญิงอยากมีกิ๊ก   สิบคน
(หทัยกาญจน์) เอาละวะ พระเอกออกมา อยากขอมอเตอร์ไซค์ 10 คัน พอนางเอกออกมาอยากจะมีกิ๊ก  10 คน ถ้าหากพอมีเหลือ  แบ่งให้ฉันสัก  2 คน นะเพค่ะ  องค์หญิง    
  

      รัตนา ผัดแสน ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 มีครอบครัวอบอุ่น มีทั้งพ่อ แม่ และที่สำคัญมีพี่ชายคนโต บุญเสริม แช่มช้อย คอยดูแลมารับ ส่งน้อง เมื่อตอนที่ต้องฝึกซ้อมเพลงพื้นบ้านอยู่กับครูในตอนเย็น  รัตนา มีน้ำเสียงใสกังวานไพเราะน่าฟัง ร้องเพลงอีแซวได้ดีที่สุด (อันดับหนึ่งของเมืองสุพรรณ) ร้องเพลงแหล่ได้ ร้องเพลงกล่อมเด็กได้ และได้รับการยอมรับว่า เป็นคนเก่งก็คือ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 (รางวัลที่ 2) จากการประกวดเพลงพื้นบ้าน (ลิเก) จากสถาบันพระปกเกล้า ปี 2548 ซึ่งมีผู้เข้าประกวดจากทั่วประเทศ และรัตนาเป็นผู้ประกวดเพียงคนเดียวที่นำเอาเพลงพื้นบ้านทำนองลิเกไปประกวด ผู้ประกวดคนอื่น ๆ จะใช้เพลงพื้นบ้านภาคอีสานทั้งหมด และกรรมการก็เป็นคนอีสานเสียส่วนมาก  ผมดีใจแทนลูกศิษย์ที่เขาทำได้ถึงขั้นนี้ แต่นั่นมิใช่สิ่งสำคัญต่อชีวิตและการเดินหน้าต่อไปของผม  ที่สำคัญ คือ เด็ก ๆ เหล่านี้สามารถที่จะไปแสดงบนเวทีร่วมกับผมได้ทุกงาน ทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นในโรงแรมขนาดใหญ่ บนเวทีที่สูงส่งของประเทศ และงานสำคัญของสังคมทั่วไป  ขอบคุณสวรรค์ ที่ส่งพวกเขามาเกิดร่วมยุคและผูกสมัยกับผม  ทำให้โลกนี้ บ้านเมืองนี้ยังมีเสียงเพลงที่เรียกว่า  รานิเกลิง ต่อไปอีกอย่างน้อย ๆ ก็ชั่วชีวิตของ รัตนา ผัดแสนนั่นแหละ           (ชำเลือง  มณีวงษ์ / 2550)  

        (เตร๊ง เตรง..)   ถึงแม้จะถูก  มองข้าม      ว่าเป็นของต่ำ   ฮาเฮ
                   เป็นศิลปิน  ร่อนเร่                 เพื่อเล่นลิเก รำร้อง
                   เป็นหนึ่ง  ของศิลปินไทย           ที่มีหัวใจ  แข็งแกร่ง
                  เป็นรากเหง้า  ที่เฉาแห้ง             รอความเปลี่ยนแปลง  สนอง
                  ช่วยเก็บเอาไว้  ด้วยใจสงสาร        ไม่ต้องขึ้นชั้น  สุมกอง 
หมายเลขบันทึก: 98131เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • นี่แหละแม่พิมพ์แท้  ดุจพ่อแม่ใกล้ชิด
  • ท่านทุ่มเทเพื่อศิษย์ โดยไม่คิดแหนงหนี
  • บ้างส่งไปเรียนต่อ
  • นี่แหละแม่พิมพ์แท้  ดุจพ่อแม่ใกล้ชิด
  • ท่านทุ่มเทเพื่อศิษย์ โดยไม่คิดแหนงหนี
  • ให้วิชาเชิงชั้น   ต่อสถาบันมีชื่อ
  • เด็กบรรหารเลื่องลือ คนนับถือทุกที่
  • ศิษย์ครูชำเลืองสอน ดังทั่วดอนเจดีย์

ข้าพเจ้าเอง มีนามว่า ครูชำเลือง

แล้วท่านละ อ.พิสูจน์ มีนามว่าอไร รี !!!

  • เด็กบรรหาร ๑ เลื่องลือ       มีคนเชื่อถือไปทุกทิศ
  • มีคนห่างไกลมาอยู่ใกล้ชืด  ดังเพื่อนสนิทแทนที่
  • บนเส้นทางที่เลือกเดิน        ลำบากเกินกว่าที่ฝัน
  • ทั้งร้อนหนาว เจ็บยาวนาน  บางครั้งถึงขั้น จะหนี
  • อยากโบกมือลา เขาจะว่าขี้ขลาด ขอทำดีเพื่อราชพลี
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท