ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารใน internet ที่ต้องวิ่งตาม...จึงจะทัน


เนื่องจากทางภาควิชาพยาธิวิทยามีเครื่องมือ Real-time PCR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ผลรวดเร็วและแม่นยำ อีกทั้งยังมีประโยชน์กับงานทาง molecular biology ที่หลากหลายมาก เราจึงจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Real-time PCR รวมทั้งนำเสนอการนำไปใช้ในงานลักษณะต่างๆในวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ ตัวเองรับหน้าที่เป็นวิทยากรด้วยความเต็มใจอย่างสุดๆ เพราะถือได้ว่าเป็นวิทยาการที่เรียกได้ว่าเชี่ยวชาญ อยู่กับมันมาได้ 3-4 ปีตลอดระยะเวลาที่เรียนปริญญาเอกเลยก็ว่าได้  

จำได้ว่าตอนที่เริ่มจับงานด้าน Real-time PCR ด้วยเครื่อง LightCycler ที่ Royal Perth Hospital นั้น หาคนทำงานลักษณะเดียวกับเราได้ยากมาก มีแต่คนกลัวเพราะเป็นเครื่องมือใหม่มาก นักศึกษาปริญญาเอกคนอื่นๆก่อนหน้าเราที่ใช้เครื่องนี้ ก็จะใช้เพื่องานที่ไม่ซับซ้อน ทำเป็นชุดเดียวจบ ในขณะที่งานของตัวเองนั้นคือต้องพัฒนา assay หลายตัว run เครื่องเป็นร้อยๆครั้ง เราจึงเจอปัญหาต่างๆหลากหลายรูปแบบตลอดเวลา ต้องหาทางแก้ปัญหาอยู่หัวเดียวกระเทียมลีบ แถมด้วยความเป็นคนขี้สงสัย อยากรู้มากกว่าสิ่งที่ software รายงานเท่านั้น จึงทำให้ทำการสำรวจตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์ที่เค้าทำมาให้ จนได้เทคนิคพิเศษของตัวเอง ใช้เวลาเกือบปี ปรากฎว่าในช่วง 2 ปีสุดท้าย มีผู้พัฒนาโปรแกรมแบบที่เราวิเคราะห์ด้วยวิธี manual ของเราเองออกมาขายเลย (คนมีความรู้ทางเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยก็ได้เปรียบอย่างนี้แหละนะคะ เพราะเขาก็สงสัยในประเด็นเดียวกับเราเลย แต่ของเขาออกมาเป็นคำตอบที่ขายได้เลย ไม่ใช่แค่ใช้เองแบบเรา) ในขณะที่เราเปลี่ยนไปใช้เครื่อง real-time PCR ที่มีต้นทุนวัสดุถูกลงคือ Rotor-Gene3000 แล้ว ตัวเองก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่ Real-time สำหรับนักศึกษารุ่นน้องคนอื่นๆ เพราะเขาจะเจอปัญหาทั้งหลายแหล่แบบที่เราเคยเจอนั่นเอง พอเราบอกวิธีแก้ (ที่เรากว่าจะค้นพบ ก็หัวแทบแตก)ให้ได้เสมอ ก็เลยเป็นที่กล่าวขานต่อๆกันว่า ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับ Real-time PCR ให้ถาม Anothai จำได้ว่ามีคนหนึ่งถึงขนาดเขียนใน Acknowledgement ของ thesis เขาว่าเราเป็น walking Encyclopedia เรื่อง Real-time ของเขา รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยคนอื่นเสมอ พอได้มีโอกาสจะได้ถ่ายทอดวิทยาการให้คนไทยเรากันเองบ้างจึงรู้สึกดีใจมากๆ ยิ่งหวั่นๆอยู่ว่าวิทยาการที่ไปร่ำเรียนมาจะไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อยู่เชียว มัวแต่ทำงาน routine กับเป็นวิทยากรใช้บล็อก GotoKnow นี่แหละ 

ปรากฎว่าจากการเตรียมการบรรยาย ใช้วิธีติดตามดูความก้าวหน้าผ่านทาง internet ด้วย พบว่าปัจจุบันนี้ การหาความรู้เรื่องนี้นั้นแสนง่ายดาย มีให้หาอ่านจากทุกบริษัทที่ผลิตเครื่อง Real-time PCR และวัสดุอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือออกมา อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว มีสารพัดคำตอบ เทคนิควิธีการที่เคยมีเพียง 2-3 อย่าง ก็มีการพัฒนาดัดแปลงเพิ่มเติมอีกมากมาย เห็นแล้วคิดถึงสมัยเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่เราต้องลำบากลำบนกว่าจะหาคำตอบได้ตะละเรื่อง โลก internet นี้ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นจริงๆนะคะ ขอให้อ่านภาษาอังกฤษคล่องๆเท่านั้นแหละ อะไรๆก็หาได้ทั้งนั้น เพียงแต่ต้องเอามากลั่นกรองส่วนที่เชื่อถือได้เท่านั้นเอง นึกถึงสัปดาห์ก่อนโน้นที่ไปอบรมเรื่อง Uncertainty of Measurement ก็จำได้ว่าท่านวิทยากรก็เกริ่นไว้แบบนี้เหมือนกัน ว่าเรื่องที่เอามาบรรยายนี้จะเป็นการแนะนำพื้นฐาน ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสายงานของแต่ละคนนั้นสามารถจะเข้าไปหาได้ทาง internet ซึ่งมีอยู่มากมาย แล้วก็เป็นจริงตามนั้น เพราะตัวเองเข้าไปหาดูพบกับคำตอบสำหรับงานใน lab แบบของเราเป๊ะเลย  

ก็ถือเป็นข้อคิดได้ 2 อย่างคืออยากรู้อะไรหาได้ทาง internet และรู้อะไรบอกเอาไว้ใน internet (ก็ GotoKnow นี่ไงคะ) เป็นแหล่งข้อมูลมหาศาลให้วิ่งตามเก็บกันไม่มีวันหมด

หมายเลขบันทึก: 57052เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ใช่ครับ อยากค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใช้ Internet ได้ง่าย
  • เสียดายอย่างหนึ่งว่าร้าน Internet cafe บ้านเราเด็กๆเล่นเกม ไม่ค่อยได้ค้นข้อมูลเท่าไร
  • ขอบคุณ เจ้าแม่ Real-time ครับผม

เห็นด้วยอย่างยิ่งคะ และขอเสริมต่อว่า internet สามารถทำให้คุณเรียนรู้ได้จากทุกมุมโลก แต่อยู่ที่ว่าคุณจะหาข้อมูลได้ถุกจุดหรือเปล่า  จ๋าเองในตอนเรียนก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนว่าถ้าจะหาเรื่องเฉพาะบางเรื่อง ตัวอย่างเช่น Enzyme  หรือ DNA ต้องเข้าเว็ปนี้ เว็บโน้น ซึ่งแต่ละที่ให้ข้อมูลไม่เหมือนกัน และมีข้อมูลเฉพาะบางเรื่อง  เราต้องเรียนรู้จากเพื่อนบ้างไม่งั้นหาข้อมูลกันตาเหลือกเลยคะ  กว่าจะได้ทดลองทำจริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท