ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

ปัญหากฎหมาย ถ่ายลำ ผ่านแดน ที่กรมศุลกากรควรตระหนักต่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด


ถ่ายลำ ผ่านแดน พิธีการศุลกากร ในอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) (The Revised Kyoto Convention) พิธีสาร 7 ASEAN Framework Agreement on the Facilitation on Goods in Transit (AFAFIT)

ปัญหากฎหมาย ถ่ายลำ ผ่านแดน ที่กรมศุลกากรควรตระหนักต่อคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

คดีหมายเลขแดงที่ อ.630/2556 ระหว่าง

บริษัท ไอโอนิค โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กรมศุลกากร ผู้ถูกฟ้องคดี

ว้นนี้กลับมาอีกกับปัญหาผ่านแดนถ่ายลำปัญหาที่ยังหาทางออกให้กับการดำเนินการพิธีการผ่านแดนศุลกากรเสมอตราบเท่าที่กรมศุลกากรไม่ดำเนินการบูรณาการกฏหมายร่วมกับหน่วยงานอื่นและออกกฎหมายเฉพาะรองรับพิธีการผ่านแดนเฉพาะแยกออกจาก พรบ.ฉบับนำเข้าส่งออก  เป็นเหตให้เกิดคลาดเคลื่อนต่อหลักกฏหมายสากลและกฏหมายภายในที่เกี่ยวข้อง

ตอนนี้ผู้เขียนกำลังค้นคว้าเปรียบเทียบผ่านแดนทั้งหมดตามหลักกฏหมายในและนอกหากแล้วเสร็จจะนำมาลงให้ศีกษานะคะ วันนี้ลองอ่านบทเรียนที่กรมศุลกากรควรตระหนักก่อนนะคะ

1.ความเป็นมาและสภาพปัญหา

ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ได้พิพากษายกฟ้องคดี โดยวินิจฉัยว่า การนำเข้าและการส่งออกตาม มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรพ.ศ. 2522 หมายถึง การนำเข้าหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักไม่ว่าโดยวิธีการใด ซึ่งหมายความรวมถึง การขนส่งสินค้าโดยพิธีการถ่ายลำด้วย ประกอบกับตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้นำกฎบทกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับแก่การนำเข้าหรือส่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย จึงถือว่าพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการศุลกากรตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469ดังนั้น การขนถ่ายลำ หรือการขนส่งสินค้าผ่านแดนประเภทไม้ ไม้แปรรูปทุกชนิด จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศุลกากร ร่วมกับ พรบ.นำเข้าส่งออก 2522

เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินดังนี้ กรมศุลกากรมีความกังวลว่า แนวทางดังกล่าวจะขัดกับหลักความตกลงกฎหมายระหว่างประเทศ (อนุสัญญาเกียวโต ฉบับแก้ไข ที่มีหลักการว่า การขนส่งถ่ายลำ ผ่านแดน ไม่ถือเป็นการนำเข้าการส่งออก ให้ได้รับยกเว้นอากร)

2 ข้อพิจารณาต่อประเด็นปัญหาที่กรมศุลกากรควรหาแนวทางแก้ไขและควรตระหนัก

(1) กรมศุลกากรปฏิบัติพิธีการศุลกากรการขนส่งสินค้าผ่านแดน (Transit) และการถ่ายลำ (Transshipment)ตามข้อกำหนดแนวทางปฏิบัติตามหนังสือเวียนที่ กค 0503/ว 683 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2550 โดยไม่ถือเป็นการนำเข้าหรือส่งออกตามกฎหมายศุลกากร จึงไม่มีภาระในอันที่จะต้องเสียค่าภาษีอากร และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่จะมีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับไว้อย่างชัดแจ้งเป็นการเฉพาะว่าให้บังคับใช้รวมถึงของที่ขนส่งผ่านประเทศด้วย

ปัญหาและแนวทางคือ

- ความตกลงระหว่างประเทศ จะผูกพันรัฐ หน่วยงานรัฐ ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติรองรับในเรื่องนั้นๆ ไว้แล้ว และหรือหากยังไม่มีกฎหมายในเรื่องนั้นๆ รองรับ หรือมีแต่ไม่ครอบคลุมหลักการที่เป็นการเฉพาะ เช่นธุรกรรมเฉพาะ หลักประกันผ่านแดนเฉพาะ การลงทะเบียนสิทธิผู้ประกอบการผ่านแดนเฉพาะแยกออกเป็นเอกเทศ ประเทศไทยก็ต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมหรือภคยานุวัติกฎหมายเป็นการเฉพาะรองรับตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 190 ให้เรียบร้อยก่อน (ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายใน  มีทฤษฎีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่  2  ทฤษฎี  คือ  ทฤษฎีทวินิยม  (Dualism)  กับ  ทฤษฎีเอกนิยม  (Monism))ประเทศไทยยึดหลักทฤษฎีทวินิยม กล่าวคือ เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศนี้แยกจากกันโดยเด็ดขาด  ดังนั้นการที่จะทำให้กฎหมายระหว่างประเทศสามารถบังคับใช้ภายในประเทศได้  จะต้องดำเนินการเปลี่ยนหรือแปลงรูปเป็นกฎหมายภายในเสียก่อน  กระบวนการเปลี่ยนกฎหมายระหว่างประเทศให้เป็นกฎหมายภายใน  เช่น  การประกาศรับสนธิสัญญา  การออกกฎหมายรับรองผลของสนธิสัญญา  เป็นต้น  ด้วยเหตุดังกล่าว หากประเทศไทยจะเข้าผูกพันในความตกลงระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายภายในให้เสร็จสิ้นซะก่อนแล้วค่อยยินยอมที่จะผูกพัน ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ซึ่งมี 5 วิธี ( Consent to be bound ตาม The Vienna Conventionon the Law of Treaties )

- ควรตระหนักเสมอว่า ความตกลงระหว่างประเทศใดก็ตามจะผูกพันหน่วยงานอื่นก็ต่อเมื่อมีกฎหมายภายในระดับพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงรองรับในหลักการต่างๆเช่นเดียวกับความตกลง (โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศกฎหมายภายในที่จะถือว่าผูกพันความตกลงระหว่างประเทศอันจะต้องให้ปฏิบัติตาม ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง) ต่ำกว่าระดับนี้ไม่ถือเป็นการผูกพัน ด้งนั้น แนวทางปฏิบัติที่เป็นลักษณะหนังสือเวียนที่รองรับกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ผูกพันหน่วยงานอื่นให้ต้องปฏิบัติตามแนวทางกำหนดที่กรมฯ ให้ไว้ หนังสือเวียนจะผูกพันเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกรมฯเท่านั้น หาผูกพันบุคคลภายนอกและหน่วยงานอื่นด้วยไม่ หากจะให้กฎหมายผูกพันหน่วยงานอื่น กรมฯต้องออกเป็นประกาศรองรับพระราชบัญญัติและกฎกระทรวง

(2) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นไว้ว่าการถ่ายลำไม่ถือเป็นการนำเข้ามาหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร (คำวินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 168/2552 กรมสรรพสามิตหารือเรื่องการขนส่งผ่านแดนและการถ่ายลำซึ่งสินค้าและยาสูบ)

ปัญหาและแนวทาง คือ

- ตามหลักการกฎหมาย ในการเกิดข้อพิพาทใดๆ ก็ตาม ให้ยึดถือตามข้อกฎหมาย และหากเรื่องใดก็ตามเมื่อได้มีคำพิพากษาศาลสูงสุดตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ต้องถือคำตัดสินศาลสูงสุดเป็นเด็ดขาดที่ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องตระหนักในหลักการนี้เป็นอย่างดี เพราะหากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลสูงสุด เจ้าหน้าที่มิได้รับผิดเพียงทางละเมิดเท่านั้น หากต้องรับผิดในทางอาญา ฐานความผิด ละเว้น หรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157)

- ดังนั้น กรณีนี้แม้สำนักคณะกรรมกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นไว้เป็นประการใด เมื่อศาลสูงสุดได้ตัดสินเสร็จเด็ดขาดแล้ว ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลสูงสุดนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แนวทางแก้ปัญหา

เมื่อกรมศุลกากร เจอปัญหาในลักษณะดังกล่าว คำพิพากษาศาลสูงสุดถือเป็นที่ยุติ เห็นว่า หากไม่มีการฟ้องร้องใหม่ กรมศุลกากรควรหาทางชี้แจงคณะกรรมาธิการต่างๆหรือหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงหลักการที่มาของกฎหมายถ่ายลำ ผ่านแดนว่าจริงๆ แล้ว ถือเป็น พิธีการเฉพาะแยกออกจากพิธีการนำเข้าส่งออก ซึ่งตามหลักอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน ( The International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedure) ในอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) (The Revised Kyoto Convention) Appendix I Specific Annex EChapterI Customs Transit หลักการ 3มาตรฐาน บัญญัติไว้ว่า “ให้สินค้าที่ขนส่งภายใต้การผ่านแดนทางศุลกากรไม่ต้องชำระค่าภาษีและอากร หากว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศุลกากรวางไว้ และได้วางหลักประกันตามที่กำหนดไว้แล้ว การผ่านแดน การถ่ายลำ มิให้จัดเก็บภาษี และไม่ให้ถือเป็นการนำเข้าส่งออก[1] และ Specific Annex EChapter2Transshipmentหลักการ 2 มาตรฐาน มิให้สินค้าที่ถ่ายลำต้องชำระค่าภาษีและอากร หากว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศุลกากรวางไว้แล้ว[2] ซึ่งเมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีฯยอมผูกพัน รับเอาความตกลง ก็จำเป็นต้องตรากฎหมายใหม่มารองรับ และจริงอยู่แม้ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่ถือว่าผูกพันประเทศไทย แต่เมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์การศุลกากรโลก (WCO) โดยที่ อนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) จัดทำขึ้นภายใต้ความอุปถัมภ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร หรือ WCO ประเทศไทยก็ควรให้ความร่วมมือในแนวทางและหลักการต่างๆที่องค์การได้กำหนดขึ้นเพราะกรณีอนุสัญญาฯดังกล่าวเป็นอนุสัญญาที่เป็นไปในลักษณะการอำนวยความสะดวกทางการค้าอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดเสรีทางการค้าอย่างแท้จริง

3 เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ ถ่ายลำ ผ่านแดน ถือเป็นการนำเข้า กรมศุลกากรจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบรรทัดฐานที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้ตามกรมการค้าต่างประเทศแจ้งขอความอนุเคราะห์หรือไม่ และจะทำอย่างไรให้พิธีการศุลกากรขนส่งสินค้าผ่านแดน ถ่ายลำ เป็นไปโดยถูกต้องตามความตกลงระหว่างประเทศซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างอนุวัติกฎหมายภายให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข)

ปัญหาและแนวทาง

โดยหลักการ หากประเทศไทยยังมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือว่าประเทศไทยยังไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากแนวทางการบังคับใช้กฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยยึดหลัก ทฤษฎีทวินิยม คือต้อง Transform กฎหมายภายในให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยรับเอา เมื่อรับเอาจะมีผลผูกพัน (ถ้ายังไม่รับเอาไม่ถือว่าผูกพันประเทศไทย)

การที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินในลักษณะดังกล่าว แม้จะขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ถือว่ากรณีนี้ก็ต้องผูกพันตามศาลปกครองสูงสุดเพราะประเทศไทยยังมิได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯดังกล่าวแต่ประการใด ดังนั้น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นกฎหมายภายในถือเป็นกฎหมายที่บังคับเหนือความตกลงระหว่างประเทศ (กฎหมายภายในศักดิ์สิทธิกว่ากฎหมายระหว่างประเทศตราบเท่าที่ประเทศไทยยังไม่ผูกพันตนด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง) หากกรมศุลกากรปฏิบัติตามคำสั่งศาลสูงสุดก็ถือว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย หากแต่กรมฯไม่ถือคำพิพากษาศาลสูงสุดถือว่าเจ้าหน้าที่งดเว้นหรือละเว้น ปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามกฎหมาย (เว้นแต่กรณีประเทศไทยเป็นภาคีแล้วหากศาลปกครองสูงสุดตัดสินมาลักษณะนี้ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องหาทางเยียวยาแก้ไขกันต่อไปเพื่อป้องกันมิให้รัฐถูกฟ้องละเมิดที่ขัดพันธกรณี)

3 บทสรุป

กรมศุลกากรคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องยึดตามแนวทางศาลปกครองสูงสุดไปก่อน และเมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเกียวโต ฉบับแก้ไข (ซึ่งขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ระหว่างดำเนินการที่จะอนุวัติการกฎหมายภายในให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) โดยได้ยกร่างกฎหมายเตรียมการไว้แล้ว และหลังจากนั้นก็เป็นภาระหน้าที่ของกรมศุลกากรซึ่งเป็นองค์กรหลักในส่วนของพิธีการผ่านแดนศุลกากรที่จะต้องรวบรวมกฎหมายผ่านแดนของหน่วยงานต่างๆ (ซึ่งจากการสำรวจไม่ละเอียดมีราวประมาณ 18ฉบับ อาจมีมากกว่านี้) ให้เป็นเอกเทศ เพื่อบูรณาการกฎหมายผ่านแดนโดยต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากรว่าด้วยพิธีการผ่านแดนศุลกากร ทั้งนี้เนื่องจากอนุสัญญาฉบับดังกล่าวจัดทำขึ้นภายใต้ความอุปถัมภ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร หรือ WCO รัฐรวมถึงหน่วยงานของรัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายผ่านแดนต้องผูกพันให้ปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง หากไม่ปฏิบัติตามถือว่ารัฐขัดพันธกรณีอันเป็นผลให้รัฐถูกฟ้องร้องละเมิด และรัฐรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องรับผิดหากไม่ปฏิบัติตามอีกทั้งเป็นการป้องกันปัญหาการตีความกฎหมายผ่านแดนฉบับอื่นๆที่ไม่เป็นเอกเทศว่าถือเป็นการนำเข้าหรือไม่ได้อย่างเสร็จเด็ดขาดเพราะพันธะผูกพันที่มีต่อประเทศไทยต่อการเป็นสมาชิกองค์การศุลกากรโลก

4 ข้อเสนอแนะ

1. เมื่อศึกษาจากความผิดพลาดกรณีนี้แล้ว เห็นว่า กรมศุลกากรควรทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย ผ่านแดน ถ่ายลำ ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องผูกพันรับเอาอนุสัญญา The International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedure) (The Revised Kyoto Convention) ว่าหลักอนุสัญญาดังกล่าว วางหลักการไว้ว่า ให้สินค้าที่ขนส่งภายใต้การผ่านแดนทางศุลกากรไม่ต้องชำระค่าภาษีและอากร หากว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศุลกากรวางไว้ และได้วางหลักประกันตามที่กำหนดไว้แล้ว และ มิให้สินค้าที่ถ่ายลำต้องชำระค่าภาษีและอากร หากว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศุลกากรวางไว้แล้ว

2. ระหว่างก่อนมีการบังคับใช้กฎหมายที่กรมศุลกากรได้ยกร่างเตรียมไว้ กรมศุลกากรอาจจะต้องบูรณาการกฎหมายฉบับอื่นๆในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่านแดน การถ่ายลำให้เป็นเอกเทศ โดยอาจจะตั้งเป็นคณะทำงานร่วมกันในลักษณะความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความเข้าใจในหลักการกฎหมายและการให้ได้ข้อมูลครบถ้วนในการเตรียมตัวรับหลักกฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปตามพันธกรณีซึ่งประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากพัฒนาทางการค้าและการรองรับประชาคมอาเซียนที่จะต้องอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีและเป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริงให้ทันภายในปี 2558 ในกรอบความตกลงอาเซียนเองก็มีกรอบความตกลงขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยปรากฎอยู่ในพิธีสาร 7 ว่าด้วยพิธีการศุลกากรผ่านแดน

3 บทบัญญัติศุลกากรผ่านแดน ทั้งในอนุสัญญา The International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedure) (The Revised Kyoto Convention)และ Protocol 7Customs Transit System of ASEAN Framework Agreement on the Facilitation on Goods in Transit (AFAFIT) ได้บัญญัติหลักการกฎระเบียบพิธีการผ่านแดนศุลกากรไว้เป็นการเฉพาะ ทั้งเรื่อง ความหมาย คำว่าผ่านแดน ศุลกากรต้นทาง ศุลกากรผ่านแดน ศุลกากรปลายทาง ตัวการ ผู้ประกอบการผ่านแดน ประเภทของผู้ประกอบการผ่านแดนที่ต้องมาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการผ่านแดนกับกรมศุลกากรที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกัน องค์กรค้ำประกัน หลักประกัน ประเภทหลักประกัน ความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ศุลกากร (Customs Debt)วิธีการคัดเลือกผู้ประกอบการผ่านแดน การคัดเลือกผู้ค้ำประกัน องค์กรค้ำประกัน และสำนักงานประกัน ซึ่งหลักการต่างๆเหล่านี้เป็นข้อกฎหมายเฉพาะที่แยกจากพิธีการนำเข้าส่งออก และกรณีหลักประกัน ความรับผิดผู้ค้ำประกันในพิธีการผ่านแดนศุลกากรก็แตกต่างจากหลักการรับผิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ความรับผิดตาม พรบ. ขนส่งทางทะเล และ ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ดังนั้น เพื่อให้รัฐสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีและออกกฎหมายกฎระเบียบที่ถูกต้องครบถ้วน เห็นควรกรมศุลกากร ออกเป็นกฎหมายพิธีการผ่านแดนศุลกากรเฉพาะ หรือจะแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับที่.. ว่าด้วยพิธีการศุลกากรผ่านแดนเฉพาะ โดยล้อหลักการ ความในอนุสัญญาเกียวโตฉบับแก้ไข และพิธีสาร 7ตามกรอบความตกลงขนส่งสินค้าผ่านแดนอาเซียนมาร่างเป็นหมวดๆ รวมไว้ในฉบับเฉพาะพิธีการศุลกากรผ่านแดนเป็นเอกเทศจากพิธีการนำเข้าส่งออก ซึ่งหากทำเช่นนี้ได้ต่อไปในอนาคตกรมศุลกากรก็ไม่เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายศุลกากรกับกฎหมายผ่านแดนฉบับอื่นๆ ตามอำนาจหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งป้องกันการลักลั่นหรือความตกลงซ้อนความตกลงได้อีกด้วยเพราะความตกลงผ่านแดนทั้งสองกรอบมีหลักการสอดคล้องกัน

4 การออกกฎหมายแยกออกมาเฉพาะนี้เห็นควรให้กำหนดมาตราใดมาตราหนึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายในลักษณะเผื่ออนาคต หากมีความตกลงพิธีการผ่านแดนศุลกากรกรอบอื่นๆเกิดขึ้น ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ หากมีข้อนี้บัญญัติทิ้งท้ายไว้เป็นมาตราสุดท้าย ก็จะทำให้ไม่ต้องมาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทุกคราไปเวลาเกิดความตกลงผ่านแดนกรอบอื่นๆขึ้น ไม่ว่ากรอบทวิภาคี พหุภาคี ไตรภาคี ภูมิภาค อนุภูมิภาค เพราะเป็นการบัญญัติกฎหมายเผื่ออนาคตรองรับปัญหานี้ไว้แล้ว ทั้งนี้ในกฎหมายฉบับนี้ ก็ให้นำความมาตรา 120 ของพรบ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาเขียนล้อไว้ในมาตราใดมาตราหนึ่งว่า เมื่อใดบทบัญญัติพระราชบัญญัตินี้แตกต่างกับบทกฎหมายพระราชบัญญัติ หรือประกาศอื่นๆที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้ท่านว่าในเรื่องเกี่ยวแก่ศุลกากรนั้น ให้ยกเอาบทพระราชบัญญัตินี้ขึ้นบังคับ และกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือประกาศใดให้ใช้หน้านั้น มิให้ถือว่าเพิกถอน จำกัด เปลี่ยนแปลง หรือถอนไปเสียซึ่งอำนาจและบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นไว้แต่ในกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือประกาศใหม่นั้น จะแสดงไว้โดยชัดแจ้งว่ามีประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น หากระบุไว้เช่นนี้เป็นการแก้ปัญหาการลักลั่นเรื่องอำนาจการปฏิบัติงานเกี่ยวกับผ่านแดนของแต่ละหน่วยงานได้เพราะกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดอีกทั้งยืดหยุ่นเผื่อไว้แล้วในวรรคสุดท้าย

เหตุที่ต้องบัญญัติเช่นนี้เพราะ อาจจะมีสินค้าบางอย่างที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ ส่งผลต่อสุขอนามัยของประชาชนในประเทศ ซึ่งหากเข้ากรณีต่างๆเหล่านี้ก็สามารถยกเว้นกฎหมายศุลกากรผ่านแดนมาตรานี้ได้เพราะความมั่นคงต่อประเทศและสิ่งแวดล้อมสุขอนามัยของคนในประเทศสำคัญกว่าการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเป็นหลักสากลที่ทุกประเทศเขียนกฎหมายยกเว้นไว้ในความตกลง นั้นหมายความว่าหากเข้ากรณีต่างๆเหล่านี้ กฎหมายภายในย่อมยกเว้นไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้ไว้แก่ภาคีคู่สัญญาได้

หมายเหตุ ตามหลักการ The Vienna Conventionon the Law of TreatiesArticle 26 Pacta sunt servada (หลักสัญญาต้องเป็นสัญญา) เมื่อรัฐผูกพันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาใดสัญญาหนึ่งรัฐต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันนั้นๆ ด้วยความสุจริต (Good Faith)และ Article 27 คู่สัญญาจะกล่าวอ้างกฎหมายภายในเพื่อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ให้ไว้ไม่ได้ เว้นแต่ความไม่สมบูรณ์ของตัวความตกลงด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งหรือเข้ากรณี 3 ประการดังกล่าว เพราะ 3 ประการนี้ถือว่าเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงภายในของแต่ละรัฐ

ขอสงวนลิขสิทธิ ด้วยเงื่อนไขว่า หากนำไปเขียนบทความหรือเขียนเชิงใดๆก็ตามการนำไปกล่าวอ้างให้แสดงที่มาตามเว้บไซด์นี้นะคะภาพประกอบข้าพเจ้าได้จัดทำประกอบPower Point การบรรยายของ ผอ.ชัยวิทย์ วรคุณพินิจ ที่ใช้ในการบรรยายเรืื่อง บทบาทศุลกากรภายใต้ AEC ถือเป็นลิขสิทธิกรมศุลกากร หากนำไปใช้ ณ ที่ใดๆโดยมิได้แสดงที่มาหรือกล่าวอ้างเว้บไซด์นี้จะถือเป็นการละเมิด

นางสาวอรอนงค์ นิลธจิตรัตน์

นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ

สำนักมาตรฐานราคาและส่วนพิธีการศุลกากร กรมศุลกากร

[1]3 Standard Goods being carried under Customs Transit shall not be subject to the payment of duties and taxes, provide the conditions laid down by the Customs are complied with and that any security required has been furnished.

[2]2Standard Goods admitted to transshipment shall not be subject to the payment of duties and taxes, provide the conditions laid down by the Customs are complied with

คำสำคัญ (Tags): #ถ่ายลำ ผ่านแดน#อรอนงค์ นิลธจิตรัตน์#กฎหมายศุลกากรผ่านแดน#พิธีการผ่านแดน#พิธีการศุลกากรนำเข้าส่งออกยกเว้นผ่านแดน#พิธีการศุลกากรเฉพาะ#ในอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) (The Revised Kyoto Convention) Appendix I Specific Annex EChapterI Customs Transit#การผ่านแดนทางศุลกากรไม่ต้องชำระค่าภาษีและอากร#หลักอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกัน ( The International Convention on the Simplification and Harmonization of Customs Procedure)#กฎหมายศุลกากร#กฎหมายระหว่างประเทศ#สำนักมาตรฐานราคาและพิธีการศุลกากร#คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ.630/2556#หลักประกันผ่านแดน#ผู้ประกอบการผ่านแดน#Protocol 7 Customs Transit#ASEAN Framework Agreement on the Facilitation on Goods in Transit (AFAFIT)#ข้ามแดน ผ่านแดน
หมายเลขบันทึก: 569952เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2014 00:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นับเป็นความรู้ใหม่ เห็นด้วยที่ควรออกกฎหมายเฉพาะครับ ไม่ควรแก้มาตราใดมาตราหนึ่งเพราะเท่าที่อ่านเป็นเรื่องเฉพาะ หากปะปนกันอาจเกิดความสับสนกับผู้ประกอบการครับ เคยอ่านพรบ.ขนส่งต่อเนื่องมีหมวดการจดทะเบียน การคิดค่าธรรมเนียม นิยามผู้ประกอบการที่copy. กรอบอาเซียนมา แต่ลืมดูกรอบของ. UNเลยยังมีช่องว่าง 

เร่งรัดออกกฎหมายเฉพาะรองรับ AEC ค่ะ ขอเสนอแนะให้ทำเป็นกฎหมายคล้ายๆกับผ่านแดนของยุโรป ที่เรียกว่า common transit หรือ New computerize transit ที่มีหลักการครบค่ะ มีประเภทหลักประกันด้วยค่ะ ผู้ประกอบการอย่างดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรมฯจะตระหนักปัญหาเหล่านี้ ขอให้ทำประชาพิจารณ์ก่อนออกกฎหมายโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ อย่าให้เกิดปัญหาเรื่องกฎหมายระหว่างหน่วยงานเลยค่ะ ผู้ประกอบการจะสับสน

เห็นด้วยครับ. ที่ผ่านมารู้สึกว่ากรมมีปัญหาตลอดครับอยากให้มีการบูรณาการนะครับอาเซียนมี3กรอบยังมีกรอบอื่นอีกกรมศุลคือความหวังของผู้ประกอบการ ดีใจครับที่มีเจ้าหน้าที่กรมตั้งใจศึกษาและรู้จริงๆมิทราบผมพอจะติดต่อท่านได้ที่ไหนครับจะได้สะท้อนปัญหาที่เจอครับ. เชียร์ครับ ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ ตามอ่านเรื่องผ่านแดนของคุณมาตลอดครับ. ติดตามตั้งแต่ไปเป็นวิทยากรบรรยายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท