เครียดจนสิวขึ้นซ้ำที่เดิม


เฮ้อ..อายุมากแล้วยังมีสิว  สิวเกิดจากความสกปรก ภาวะการขาดการพักผ่อน  ไม่ถ่าย ไม่ทำอะไรเป็นเวลา สารพันปัญหาที่ทำให้เกิดสิว

กลุ้มใจเวลาดูหน้าตัวเองในกระจก   ทั้งๆที่ปกติก็ไม่ค่อยได้ดูหน้าตัวเอง  มีแต่คนอื่นดูให้ " แหม  อ้อย  ปิดเทอม สบายซินะ หน้าขาวเชียว "  " อาจารย์อ้อยสบายใจใช่ไหมคะ หน้าอิ่มเอิบเชียวค่ะ  "  " หมู่นี้ตัวเองใช้อะไร  หน้าดูขาวจัง " ครูอ้อยคิดว่า  เป็นคำพูดใส่ไข่  หน้าครูอ้อยไม่ได้เป็นอย่างนั้นสักนิด

หน้าครูอ้อย  มี 2 สถานะ  ทั้งเป็นผิวแห้งและผิวมัน

เคยได้ยิน  BA. พูดว่า  หน้าแบบนี้ดูแลลำบาก ต้องใช้ครีมทาหน้าแบบขจัดความมันด้วย  และรักษาฝ้าด้วย

ลำบากมากนัก  ครูอ้อยเลยปล่อยไว้เฉยๆ  เมื่อก่อนนี้ใช้แป้งฝุ่นของเด็กอ่อน  แต่มีคนบอกว่า  แป้งฝุ่นมันละเอียด  จะแทรกเข้าผิวหน้าเราง่าย  ดังนั้นเกิดการอุดตัน  จึงเป็นสิวง่าย

ครูอ้อยก็เลิกใช้  ไม่ใช้อะไรเลยตอนนี้  ดูสิอะไรจะเกิดขึ้น

สิวเกิดจากอะไร  สาเหตุคืออะไร  ลองอ่านค่ะ

สิวเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในวัยหนุ่มสาว วัยรุ่นบางคนเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใส่ใจที่จะ
รักษาถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากทราบว่าหายได้เอง แต่คนส่วนใหญ่ที่รักสวยรักงามมักจะพยายาม
รักษา เพราะสิวมักพบที่ใบหน้า และส่วนบนของลำตัว เมื่อหายแล้วก็มักจะทิ้งรอยแผลเป็น จากสถิติ
ของสถาบันโรคผิวหนัง สิวเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์สูงเป็นอันดับที่ 2 ของผู้ป่วยทั้งหมด
โดยเป็นชายร้อยละ 33 และหญิงร้อยละ 67 สิวจะปรากฏอาการในผู้หญิงช่วงอายุ 14-17 ปี และใน
ผู้ชายช่วงอายุ 16-17 ปี ความรุนแรงของสิวจะมากขึ้น 3-5 ปี หลังจากเริ่มเป็นสิวและมักหายไปใน
ช่วงอายุ 20-25 ปี ร้อยละ 85 ของผู้ที่เป็นสิวจะเป็นชนิดไม่รุนแรง มีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นสิวอักเสบ
ชนิดรุนแรง

เมื่ออายุพ้นวัยรุ่นไปแล้ว สิวจะค่อยๆ ทุเลา ยกเว้นผู้ป่วยบางรายยังคงเป็นสิวมากจน
สมควรจะต้องรักษาเมื่ออายุถึง 35 ปี หรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าในวัย 40 ปี ร้อยละ 1 ของ
ผู้ชาย และร้อยละ 5 ของผู้หญิงยังคงเป็นสิว

การที่พบผู้หญิงเป็นสิวเมื่อเลยวัย 25 ปีไปแล้วมากกว่าผู้ชายอาจจะเป็นเพราะผู้หญิงมี
การใช้เครื่องสำอางค์เพื่อเสริมสร้างความงาม ซึ่งเครื่องสำอางค์ที่ใช้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้
เกิดสิว (cosmetic acne)

สาเหตุของการเกิดสิว
สิวเกิดจากสาเหตุหลายประการร่วมกันคือ

1. เกิดจากการหนาตัวของชั้น corneum
การหนาตัวของชั้น corneum (hyper-cornification) ที่ท่อของรูขุมขนซึ่งต่อมไขมัน
มาเปิดเชื่อมต่อ การหนาตัวเกิดจากการระคายเคืองจากไขมัน (sebum) จากต่อมไขมัน และการ
ที่กรด linoleic ในไขมันมีปริมาณลดลง

2. Testosterone
Testosterone ในกระแสเลือดเปลี่ยนไปเป็น dihydrotestosterone ในเนื้อเยื่อโดย
อาศัยเอนไซม์ 5-a reductase dihydrotestosterone ในเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไขมัน
มีขนาดใหญ่ขึ้น และหลั่งไขมันออกมามากขึ้น เนื่องจากในไขมันมีส่วนประกอบของสาร free fatty
acid, squalene และ squalene oxide ซึ่งเชื่อกันว่าสารเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวและการ
อักเสบที่ผิวหนัง มีรายงานว่าส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นสิวมีระดับ testosterone ในกระแสเลือดปกติแต่
dihydrotestosterone ในเนื้อเยื่อสูงกว่าปกติ

3. แบคทีเรีย
แบคทีเรียที่สำคัญ คือ Propionibacterium acnes (P. acnes) เชื้อตัวนี้ย่อยไขมัน
จากต่อมไขมันให้เป็น free fatty acid โดยอาศัยเอนไซม์ lipase นอกจากนั้น P. acnes ยังหลั่ง
เอนไซม์ protease, hyaluronidase และ low molecular weight chemotactic factor
ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณของ P. acnes ไม่ได้แปร
ตามความรุนแรงของการเกิดสิว

4. การตอบสนองของร่างกาย
การตอบสนองของร่างกายเป็นสาเหตุข้อหนึ่งในการเกิดสิว โดยพบว่าผู้ที่เป็นสิวอย่าง
รุนแรงจะมีปริมาณของแอนติบอดีต่อ P. acnes มากขึ้น

ปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดสิว

1. พันธุกรรม
ได้มีการศึกษาถึงความสำคัญของพันธุกรรมในการทำให้เกิดสิวและมีเหตุผลสนับสนุนคือ
ในเด็กที่เป็นสิวจะมีพ่อหรือแม่เป็นสิว 45% แต่ในเด็กที่ไม่เป็นสิวจะมีพ่อหรือแม่เป็นสิวเพียง 8%
เท่านั้น อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโรคที่เกิดในพ่อแม่ก็ไม่เหมือนกับที่เกิดในลูก อย่างไรก็ตาม
ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับการเป็นสิว

2. ยา ทั้งยาทาและยารับประทานหลายชนิดอาจทำให้เกิดสิว หรือทำให้เกิดสิวเห่อมากขึ้น
ยาบางอย่างทำให้เกิดสิวเฉพาะคนบางคน แต่คนเป็นจำนวนมากได้รับยาอย่างเดียวกันนั้นอาจไม่เกิด
สิว ยาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคสิวอย่างแน่นอนและก่อโรคในคนส่วนใหญ่ ได้แก่ corticosteroids
ทั้งยารับประทานและยาทา, androgens รวมทั้ง anabolic steroids และ gonadotropins

3. เครื่องสำอาง สบู่ น้ำมันใส่ผม ก็ทำให้เกิดสิวได้ (cosmetic acne, acne
detergicans, pomade acne) เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของ olive oil, white petrolatum
lanolin สบู่ที่มีส่วนผสมของ tar, sulfur หรือยาปฏิชีวนะ เช่น hexachlorophene ซึ่งสารเหล่านี้
สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้

4. Premenstrual acne มีรายงานว่าร้อยละ 60-70 ของผู้หญิงที่เป็นสิวจะมีสิวมาก
ขึ้นใน 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่หลั่งออกมามากในช่วงนั้น
ทำให้มีการคั่งของน้ำในร่างกาย รูขุมขนจะบวมมากขึ้น การไหลผ่านของไขมันเป็นไปได้ไม่ดี
สิวมักเห่อใน 2-3 วันต่อมา

5. ภาวะเครียด กระตุ้นให้เกิดสิวหรือไม่นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่มีบางรายงานที่
กล่าวว่าสิวเห่อมากขึ้นในช่วงที่เครียดจากการสอบ อย่างไรก็ตาม สิวทำให้เกิดภาวะเครียดเนื่องจาก
ทำให้ใบหน้าดูไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยบีบหรือแกะสิว ซึ่งมีผลทำให้สิวอักเสบ รุนแรงมากขึ้น

6. อาชีพและสิ่งแวดล้อม การทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น เหงื่อออกมาก ทำให้เกิดการ
บวมของท่อไขมันและเกิดสิวตามมาได้ การทำงานที่ต้องสัมผัสกับน้ำมันก็อาจทำให้เกิดสิวได้ เช่น
น้ำมันเครื่องจักรกล, crude petroleum tar

7. อาหาร เดิมเชื่อว่าอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต, อาหารที่มีไขมันมาก มีผลทำให้
สิวเห่อ แต่จากการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับความรุนแรงของสิว

พยาธิกำเนิด
ต่อมไขมันมีอยู่ทั่วๆ ไปตามผิวหนัง แต่พบได้มากที่สุดบริเวณใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก
และหลัง ท่อเปิดของต่อมไขมันแต่ละต่อมจะเปิดสู่ผิวหนังภายนอกร่วมกับท่อเปิดของรูขุมขน
สิวเกิดขึ้นเมื่อมีความผิดปกติของท่อเปิดนี้ โดยเกิดมีการหนาตัวของชั้น corneum
(hyper-cornification) ซึ่งทำให้ท่ออุดตัน ถ้าการอุดตันนั้นยังมีทางเปิดสู่ผิวหนังภายนอกได้ก็จะพบ
ลักษณะของสิวหัวเปิด (open/black head comedones) แต่ถ้ารูเปิดของท่อไขมันเล็กมากจนมอง
ไม่เห็นเรียกว่า สิวหัวปิด (closed/white head comedones) เมื่อมีการอุดตันเพิ่มขึ้นไขมันจะ
สะสมอยู่ในท่อมากขึ้น เกิดอาการพองโตและแตก สารที่อยู่ภายในของต่อมไขมันกระจายไปสู่หนัง
กำพร้าและหนังแท้บริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดสิวอักเสบขึ้น บางครั้งสิวอักเสบก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มี
การแตกหรือทำลายของท่อไขมัน แต่เกิดจาก P. acnes ในต่อมไขมันหลั่งเอนไซม์ lipase เอนไซม์
นี้ไปย่อยไขมันให้เกิดกรดไขมันอิสระซึมผ่านท่อต่อมไขมันไปสู่หนังแท้ใกล้เคียงทำให้เกิดการ
อักเสบขึ้น ถ้าการอักเสบอยู่ส่วนบนของผิวหนังจะเห็นเป็นตุ่มแดง (papule) และตุ่มหนอง (pustule)
ถ้าการอักเสบอยู่ลึกลงไปจะเห็นเป็นก้อนบวม (nodule) หรือถุงสิว (cyst)

การรักษา
หลักเกณฑ์ในการรักษาสิวค่อนข้างจะตรงไปตรงมาตามพยาธิกำเนิด ก่อนอื่นต้องเข้าใจ
ว่าการรักษาไม่สามารถจะรักษาสิวให้หายได้อย่างรวดเร็วทันใจภายใน 1 สัปดาห์ การรักษาอาจจะ
พอเห็นผลดีขึ้นบ้างอย่างน้อยภายใน 2-4 สัปดาห์ ซึ่งถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะดีขึ้นประมาณ
40% เมื่อรักษาได้ครบ 2 เดือน, เมื่อครบ 4 เดือนจะดีขึ้นประมาณ 60% และเมื่อครบ 6 เดือนจะดี
ขึ้นประมาณ 80% หรือมากกว่า

ยาทา
ยาทาที่ใช้รักษาสิวออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ ฤทธิ์กำจัดหัวสิว ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและ
ลดการอักเสบ
ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
1. Benzoyl peroxide ซึ่งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ P. acnes และลดปริมาณกรดไขมันอิสระ
อีกทั้งช่วยลดขนาดและจำนวนของ comedones รวมทั้งรอยสิวที่อักเสบลงได้ด้วย ดังนั้นยานี้ได้ผลดี
ทั้งสิวอักเสบและไม่อักเสบ Benzoyl peroxide อาจจะทำให้ ผิวหนังเกิดอาการระคาย แห้ง ลอก
และอาการผื่นแพ้จากการสัมผัสได้ แนะนำให้ใช้ยาเพียง 5-10 นาที วันละ 2 ครั้งแล้วล้างยาออกด้วย
น้ำเปล่า เมื่อเริ่มคันกับการใช้ยาจึงเพิ่มเวลาในการทายาให้นานขึ้น ผลิตภัณฑ์ Benzoyl peroxide
มีหลายรูปแบบในความเข้มข้น 2.5%, 5% และ 10% ในรูปของ gel และ lotion ซึ่งโดยทั่วไปเชื่อว่า
ผลิตภัณฑ์ของยาในชนิด gel ออกฤทธิ์ดีกว่า lotion และตัวยาในความเข้มข้น 2.5% ได้ผลในการ
รักษาพอๆ กับ 5% และ 10% อีกทั้งยังก่อให้เกิดอาการระคายผิวน้อยกว่าด้วย

2. antibiotics ชนิดทาเฉพาะที่ ออกฤทธิ์เป็น bacteriostatic และออกฤทธิ์ลดการ
อักเสบ ยากลุ่มนี้จะได้ผลดีกับรอยโรคชนิดอักเสบ คือ ตุ่มนูนแดงแข็ง (papule) และสิวหนองชนิดตื้น
หรือลึก (pustules) แต่รอยโรคแบบ comedo และสิวขนาดใหญ่ เป็นถุงใต้ผิวหนังภายในมีหนอง
หรือสารเหลวๆ คล้ายเนย (cyst) อาจจะไม่เปลี่ยนแปลง ยา clindamycin และ erythromycin
ใช้ทาได้สะดวก และผลที่ได้ใกล้เคียงกัน รองลงมาคือ tetracycline ยากลุ่มนี้ถ้าใช้ต่อไปนาน ๆ
จะมีเชื้อโรคซึ่งดื้อต่อยา ยาทาต้านเชื้อแบคทีเรียทุกชนิด ใช้ทาวันละ 2 ครั้ง

อย่าคิดว่า  ....ครูอ้อยเก่งนะคะ...ครูอ้อยเข้าไปค้นคว้ามาค่ะ

สิว  .......ทำให้หงุดหงิด...

Topical antibiotic ที่ใช้ทารักษาสิว ได้แก่
2.1 Clindamycin phosphate ความเข้มข้น 1% ใน hydroalcoholic vehicle หรือ
ใน gel ยาทาประกอบด้วย Clindamycin phosphate 10 มก./มล. ใน 50% isopropyl alcohol
และ propylene glycol solution หรืออาจจะใช้ตัวยาใน gel
2.2 Erythromycin base solution ความเข้มข้นต่างๆ กัน ตั้งแต่ 1.5-2% ยาทา
ประกอบด้วย erythromycin base ใน propylene glycol และ alcohol solution
2.3 Tetracycline hydrochloride solution ประกอบด้วย tetracycline
hydrochloride 2.2 มก./มล. ใน 40% ethanol solution หลังการทา tetracycline
hydrochloride แล้ว 1 ชั่วโมงจะทำให้ผิวหนังเป็นสีเหลืองอยู่ชั่วคราว อาจจะล้างออกได้โดยไม่ทำให้
ผลของยาลดลง

3. Azelaic acid cream 1,7-heptane decarboxylic acid [COOH-
(CH2 ) 7-COOH]
เป็นยารักษาสิวที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อ P. acnes และ
S. epidermidis อีกทั้งยังลด keratohyalin granules และต้านการสร้าง keratin จึงมีผลยับยั้ง
การเกิด comedo นอกจากนี้ azelaic acid ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบแต่ไม่มีผลต่ออัตราการหลั่ง
sebum ผลของการรักษาใกล้เคียงกับ benzoyl peroxide และ retinoic acid ในระยะแรกยานี้ใช้
เป็นยาทารักษาฝ้า โดยอาศัยฤทธิ์ที่เป็น competitive inhibitors ของ tyrosinase พบว่าเมื่อใช้
ยานี้ทารักษาฝ้า โรคสิวก็ทุเลาขึ้นด้วย และผลดีในการรักษาสิวก็มีรายงานยืนยัน ผลข้างเคียงของยา
พบได้บ้าง เช่น อาการแสบ คัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนได้ อาจจะใช้ Azelaic acid ครีมอย่างเดียว
ทาเพื่อรักษาสิวชนิดที่ไม่รุนแรงนัก แต่อาจจะใช้ร่วมกันกับยารับประทาน เช่น antibiotics หรือ
antiandrogens 20% Azelaic acid cream มีจำหน่ายในชื่อ Skinoren® ใช้ทาผิวหนัง
วันละ 2 ครั้ง

4. Tretinoin (Trans-retinoic acid; Vitamin A acid) ผลิตภัณฑ์ยามีในรูป cream,
lotion และ gel มีจำหน่ายในชื่อ Airol® และ Retin-A® หรืออื่นๆ อีก ความเข้มข้นของยา
0.1%, 0.05% cream หรือ 0.05% liquid, 0.01%, 0.025% gel

Tretinoin เป็นยาที่ออกฤทธิ์เป็นยาที่กำจัดหัวสิว (comedolytic agent) ที่ดีที่สุด ช่วย
ยับยั้งการเกิด comedo ขึ้นใหม่ และทำให้ comedo ซึ่งเกิดขึ้นแล้วหลวมตัวหลุดออกไปง่ายขึ้น
tretinoin ไม่ เพียงแต่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในแบบแผนของการสร้าง keratin ภายในขุมขน
เท่านั้น ยังสามารถลดจำนวนชั้น stratum corneum ที่ปกติด้วย ดังนั้นการทายา tretinoin จึงช่วย
ให้ยาตัวอื่นผ่านผิวหนังได้ดีขึ้นด้วย

Tretinoin เหมาะที่จะใช้ทาเพื่อรักษาสิวหัวดำและสิวหัวขาว (comedo acne) อาจจะ
ใช้ยานี้เพียงอย่างเดียว หรือจะใช้ร่วมกับ benzoyl peroxide gel หรือยาทาต้านเชื้อแบคทีเรีย
ชนิดอื่นๆ ด้วยก็ได้

ข้อแนะนำในการใช้ tretinoin ทารักษาสิว มีดังนี้
1. การทายาอาจจะทำให้หน้าแดงและลอกบ้าง ซึ่งเป็นผลของการรักษาแต่จะต้องระวัง
ไม่ให้แดงและลอกมากเกินไป
2. ผู้ป่วยที่มีผิวสีอ่อน และเกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย ควรใช้ยาในรูปของครีมโดย
เริ่มต้นที่ความเข้มข้นต่ำก่อน คือใช้ครีม 0.05% หรือถ้าจะใช้ gel ก็ให้ใช้ 0.01% คนที่มีผิวคล้ำ
หรือทนต่อยาได้ดี ก็อาจจะใช้ครีม 0.1% gel หรือ ยาน้ำ 0.025%
3. ยาทาชนิดอื่น ควรจะหยุดหมดทุกอย่างก่อนเริ่มต้นการรักษาด้วย retinoic acid
ควรล้างหน้าด้วยสบู่อ่อน ฟอกสบู่อย่างมาก แค่วันละ 2 ครั้ง
4. ผู้ที่ใช้ยา retinoic acid จะทนต่อแสงแดดได้ไม่ดีนัก และยาอาจจะระคายผิวได้
จึงควรทายาเพียงวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ทายาบางๆ ทั่วใบหน้ายกเว้นรอบตาและริมฝีปาก ควรทาบน
ผิวหนังที่แห่งสนิทดีแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนนอน ควรทายาภายหลังล้างหน้าแล้วอย่างน้อยที่สุด
15 นาที
5. เลี่ยงการถูกแสงแดดแรงกล้า อาจจะทายากันแดดช่วยในตอนกลางวัน
6. ผิวหนังจะแดงและลอกบ้างภายใน 1 สัปดาห์ จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ และ
ภายใน 2-4 สัปดาห์แรกอาจจะรู้สึกว่าสิวเห่อมากขึ้น เนื่องจากหัวสิวกำลังจะโผล่มาสู่ผิวนอก ไม่ต้อง
กังวล
7. กว่าหัวสิวจะหลุดหมดต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จะด่วนตัดสินผลการรักษาก่อน
8 สัปดาห์ไม่ได้
8. ถ้าจะใช้เครื่องสำอาง ควรเป็นชนิด water-based cosmetic ชนิดที่ไม่เป็นมัน
ล้างน้ำออกได้ง่าย และไม่พอกจนหนา
9. ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทนที่จะใช้ครีมที่ ความเข้มข้น 0.05% หรือ gel 0.01%
ทุกๆ วันได้ ก็ให้เว้นการทาลงบ้าง เช่น ทาคืนเว้นคืน หรือทาคืนเว้น 2 คืน
10. เมื่อรอยโรคหายไปหมดแล้ว ควรจะต้องทายานี้ต่อไปอีก

การใช้ tretinoin ร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย
การทา tretinoin เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันและกำจัด comedones ส่วนการทา
benzoyl peroxide และ antibiotics ต่างๆ เพื่อกำจัดเชื้อ P. acnes และลดการอักเสบ นอกจาก
นั้น tretinoin ยังช่วยให้การดูดซึมของยาทาชนิดอื่นดีขึ้นด้วย มีข้อแนะนำได้กล่าวบ้างในตอนต้นคือ
1. ให้ทา tretinoin cream ตอนกลางคืน ตามคำแนะนำการใช้ 10 ข้อดังกล่าวแล้ว
2. ทา benzoyl peroxide gel หรือทา antibiotics อื่นๆ ชนิดใดชนิดหนึ่งในตอนเช้า
3. เมื่อรอยสิวหมดไปแล้ว ให้ทายาต่อไป โดยลดความเข้มข้นของยา และลดความบ่อย
ในการทายาลง
4. ยา tretinoin และ benzoyl peroxide ห้ามทาในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการผสม
tretinoin ซึ่งเป็นสารไม่อิ่มตัวอย่างมากกับ benzoyl peroxide ซึ่งเป็น reactive oxidants
จะทำให้ยาทั้งสองชนิดต่างถูกทำลาย
5. ยาทาที่ทำให้ผิวหนังแห้ง, ลอก และสบู่ล้างหน้า ผู้ป่วยสิวที่หน้าเป็นมันมาก การล้างหน้า
ฟอกสบู่จะช่วยชะล้างความมันบนผิวหน้าออกไปได้ชั่วคราว จะเป็นประโยชน์บ้างเสริมกับการรักษา
ด้วยยา ทั้งนี้จะต้องไม่ล้างฟอกมากหรือบ่อยเกินไป ล้างแค่วันละ 2 หรือ 3 ครั้งอย่างมากก็พอแล้ว

สบู่ไม่สามารถกำจัดทั้งสิวหัวดำและสิวหัวขาว
การรักษาสิวในอดีต มีสบู่ ครีม โลชั่น และแป้งน้ำหลายชนิด ซึ่งมีตัวยาประกอบด้วย
sulfur, resorcinol และ salicylic acid ซึ่งคิดว่าช่วยให้ผิวหนังแห้งและลอก แต่ฤทธิ์ดังกล่าวไม่ใช่
ฤทธิ์กดการทำงานของต่อมไขมัน ตัวยามีฤทธิ์ลอกชั้นผิวๆ ของ stratum corneum ที่คลุมตุ่มสิว
อยู่ และฤทธิ์ keratolytic ของยารักษาสิวประเภทนี้ก็ค่อนข้างจะอ่อน

ยารับประทาน
ผู้ป่วยซึ่งเป็นสิวชนิดที่รุนแรงขึ้น มี papule (หัวสิวที่อักเสบ มีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีแดง),
pustule (หัวสิวที่เป็นหนองชนิดตื้นและลึก), cyst และแผลเป็น นอกจากจะใช้ยาทาดังกล่าวแล้ว
ควรให้ยารับประทาน เช่น antibiotics ร่วมด้วย

การรักษาด้วย antibiotic จะยังประเมินผลของการรักษาไม่ได้จนกว่าให้การรักษาไปแล้ว
นาน 6-8 สัปดาห์ และมักจะต้องให้ต่อไปอีกนานหลายเดือน หรือเป็นปี

1. ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย มีหลายชนิดที่สามารถเลือกนำมาใช้รักษาสิวได้ ได้แก่
1.1 Tetracycline
เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียตัวแรกที่ควรจะเลือกใช้รักษาสิวด้วยเหตุผลหลายประการคือ
เป็นยาที่ราคาถูก ผลข้างเคียงน้อยและ ผู้ป่วยสามารถทนยาได้ดีถ้าต้องใช้เป็นเวลานาน
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ อาการระคายทางเดินอาหารบ้างเล็กน้อยและเกิด Candida
vaginitis ถ้าเด็กหรือหญิงมีครรภ์รับประทานยานี้ จะทำให้ฟันของเด็กมี enamel hyperplasia
และทำให้ฟันเปลี่ยนสี เด็กที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ฟันแท้ขึ้นแล้วก็รับประทานยาได้
ยา tetracycline จะทำปฏิกิริยากับ metallic ions คือ AL3+, Mg2+ และ Ca2+
ซึ่งมีอยู่ในยาต้านกรดในกระเพาะอาหาร (antacid) และในอาหารประเภทผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด
ดังนั้นจึงต้องไม่รับประทานยา tetracycline พร้อมกับยาและอาหารประเภทดังกล่าว
ขนาดของยา tetracycline ในระยะแรกให้ 250 มก. วันละ 4 ครั้ง หรือ 500 มก. วันละ
2 ครั้ง ควรรับประทานยาเวลาท้องว่างคือ ก่อนอาหารครึ่ง ชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
รับประทานยาจนกระทั่งสิวทุเลาขึ้นชัดเจน จึงลดขนาดยาลงเหลือวันละ 250-500 มก.
1.2 Erythromycin
เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ 2 ที่จะเลือกนำมาใช้รักษาสิวโดยเฉพาะในเด็กที่อายุ
ต่ำกว่า 12 ปี เริ่มยาในขนาดวันละ 1 กรัม เมื่อโรคทุเลาจึงลดขนาดลงเช่นเดียวกับ tetracycline
1.3 Minocycline
เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์มากในการรักษาสิว ยาละลายได้ดีมากในไขมัน
และผ่านเข้าไปใน sebaceous follicle ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรายที่ผลของการรักษาไม่ดี
ด้วยการรับประทาน tetracycline ก็ยังได้ผลดีต่อการรักษาด้วย minocycline
ผลข้างเคียง อาจจะมีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าได้รับยาขนาดสูงในระยะแรก
เริ่มของการรักษา
ขนาดของยาในระยะแรกให้ 50 มก./วัน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นช้าๆ ขนาดสูงสุดอาจจะถึง
100 มก. วันละ 2 ครั้ง ในรายที่การตอบสนองต่อยา tetracycline และ erythromycin ไม่ดีเท่าที่
ควรก็เปลี่ยนมาใช้ minocycline ผลจะดีขึ้น doxycycline ก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน
1.4 Clindamycin เป็นยาที่ได้ผลดีมากในการรักษาสิว แต่เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิด
pseudomembranous colitis ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ อาจจะเลือกใช้ยานี้ได้ในรายที่เป็นสิว
อย่างรุนแรง และรักษาไม่ได้ผลดีด้วยวิธีอื่นๆ
ขนาดของยาที่ใช้คือ 300-450 มก./วัน

2. Retinoid
Isotretinoin เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามิน เอ ใช้ในการรักษาสิวชนิดรุนแรงที่ไม่ตอบ
สนองต่อการใช้ยาปฏิชีวนะดังที่กล่าวมาแล้ว ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ทำให้ต่อมไขมันมีขนาดเล็กลง การหลั่ง
ไขมันลดลง ช่วยให้การสร้างเคอราตินของท่อต่อมไขมันกลับเข้าสภาพปกติ ลดการอักเสบของสิว
และลดปริมาณ P. acnes ด้วย ขนาดที่ใช้คือ 20-30 มก./วัน ให้นานติดต่อกัน 16-20 สัปดาห์ จะ
เริ่มเห็นผลเมื่อเวลาผ่านไป 3-4 สัปดาห์ ในผู้ป่วยบางรายมีสิวเห่อมากขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก
แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดรับประทานยา ไม่ควรใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะกลุ่ม tetracycline เนื่องจากอาจ
ทำให้เกิดภาวะ pseudotumor cerebri

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ cheilitis, xerosis, conjunctivitis การเปลี่ยนแปลงของระดับ
โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ SGOT สูงขึ้น ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ teratogenic effect
พบได้ถึงร้อยละ 30 ในหญิงมีครรภ์ขณะรับประทานยาตัวนี้ ฉะนั้นควรหยุดยาอย่างน้อย 2 เดือนก่อน
ตั้งครรภ์

3. ฮอร์โมน
Cyproterone acetate ยาตัวนี้ออกฤทธิ์เป็นตัวต้าน androgen คุณสมบัติของยานี้คือ
ลดขนาดและการหลั่งไขมันของต่อมไขมัน ใช้ได้เฉพาะผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสิวสัมพันธ์กับ
การมีประจำเดือน หรือในผู้หญิงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาสิว ด้วยยาปฏิชีวนะทั่วๆ ไปที่กล่าวไปแล้ว
ยาที่มีขายใน ท้องตลาดในรูปของยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของ cyproterone acetate 2 มก.
และ ethinyl estradiol 0.05 มก. ยา 1 แผงประกอบด้วยยา 21 เม็ด เริ่มรับประทานยาเม็ดแรก
ในวันแรกที่มีประจำเดือน เริ่มเห็นผลเมื่อใช้ยาไปนาน 3-4 เดือน ควรใช้ยานาน 6-12 เดือน โดยใช้
ควบคู่ไปกับยาทารักษาสิว ผลของการรักษาใกล้เคียงกับการใช้ tetracycline 1 กรัม/วัน

ผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับยาคุมกำเนิดทั่วๆ ไป คือ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่ม
ประจำเดือนผิดปกติ และเป็นฝ้า ไม่ใช้ยานี้ในผู้ชาย เด็ก ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือผู้หญิงอายุมาก
มีประวัติสูบบุหรี่จัด มี varicose vein

4. Spironolactone
ออกฤทธิ์ต้าน androgen ลด testosterone และ dehydroepian-drosterone ซึ่ง
ทำให้ขนาดของต่อมไขมันและปริมาณของไขมันลดลงด้วย ยานี้ใช้ในผู้หญิงที่ไม่สามารถใช้ยา
cyproterone acetate ได้ ไม่ควรใช้ยาตัวนี้ใน ผู้ชาย เนื่องจากทำให้เกิดภาวะ libido และหน้าอก
โตขึ้นได้ ขนาดที่ใช้คือ 100-200 มก. รับประทานยานาน 6-12 เดือน โดยใช้ร่วมกับยาทารักษาสิว

การรักษาโดยวิธีทางกายภาพ

1. การใช้ความเย็น (liquid nitrogen) ใช้ไม้พันสำลีจุ่มใน liquid nitrogen และแตะที่
สิวอักเสบที่เป็นซีสต์ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 วินาที แต่ละครั้งห่างกันนาน 2 นาที จุดประสงค์เพื่อช่วยลด
การอักเสบ และความเย็นจะทำให้ผนังของซีสต์ถูกทำลายไป

2. การกดสิว ใช้รักษาสิวที่ไม่อักเสบทั้งชนิดหัวดำและหัวขาว เพื่อช่วยให้การกดสิวเป็น
ไปได้ง่ายขึ้น การกดสิวต้องทำให้ถูกหลักวิธี และสะอาด มิฉะนั้นจะทำให้หัวสิวที่อุดตันอยู่หลุดลง
ไปในชั้นหนังแท้ และทำให้เกิดการอักเสบมากกว่าเดิม

3. การฉีดสตีรอยด์ใต้หัวสิว ใช้ Kenacort® ความเข้มข้น 2.5 มก./มล. ในปริมาณ
0.25-0.1 มล. ฉีดเข้าที่ถุงสิวด้วยความระมัดระวัง การฉีดสตีรอยด์จะทำให้การอักเสบของสิวลดลง
อย่างรวดเร็ว ข้อพึงระวัง คือ การฉีดยาลึกเกินไปหรือปริมาณยามากเกินไป ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้น
เกิด atrophy หรือ purpura ขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

1. เพ็ญวดี ทิมพัฒนพงศ์. ตำราเรื่องสิว วิทยาการก้าวหน้าและโรคที่เกี่ยวข้อง. 2536
หน้า 87-99.

2. รัศนี อัครพันธุ์. Dermatology 2000. 2540. หน้า 48-56.

3. www.lib-sh.lsumc.edu/fammed/ intern/acnetope.html

4. www.siamhealth.net/Health/photo_ teaching/acne.html

5. www.hs-sc.gc.ca/hpfb-dgpsa/fpd-dpt/acne-e.html

6. www.women-mweb.co.th/beauty/ skin-spot00063.html

คำสำคัญ (Tags): #ด้วยรัก#สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 56922เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2006 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
เห็นข้อความในส่วนต้นๆ นึกว่้าครูอ้อยกลับตาลปัตร ลดอายุ แย่งคนที่ควรจะเป็นสิว มาเป็นสิวเสียเอง แต่นี่คงเป็นสัญญาณที่เตือนว่า ครูอ้อยพักผ่อนน้อยเกินไปนะครับ

  • สวัสดีตอนใกล้เที่ยงครับ ครูอ้อย
  • บอกละเอียดเลยนะ
  • ผมขอตัวไปรับประทานข้าวเที่ยวก่อนนะ
  • สวัสดีคุณบอน เย้! ดีใจจัง มีน้องมาคุย
  • จะบอกว่ามีเพื่อนมาคุย  เดี๋ยวจะหาว่าตีสนิท อิอิ
  • มันมาที่เดิม  หมอบอกว่า  อิอิอายจัง  (แพ้ยาสีฟัน)  เย้!

 

คุณจ๊อด  ใจดีจัง  ยิ้มยิ้ม

  • น่าอร่อยทั้งนั้น 
  • แต่ครูอ้อยต้องปั่นวิจัยหมู่บ้าน 
  • คงจะกินอะไรไม่อร่อยไปหลายวัน 
  • เครียดจนเป็นสิว  เย้!
  • คิดถึงค่ะ
  • ดิฉันเป็นสิวเม็ดโป้งๆ หาก

                 - ท้องผูก

                 - เครียดจนสิวปูด

                 - โดนแดดเปรี้ยงๆ แล้วไม่รีบล้างหน้า เมื่อไหร่ที่ครีมกันแดดผสมกับเหงื่อ (เป็นคนเหงื่อออกง่ายและเยอะด้วย) แล้วหมักไว้สัก 1 - 2 ชั่วโมง แน่นอนเลยค่ะ

วิธีแก้ ก็ล้างหน้าให้สะอาด และไม่แต่งหน้าสักพักค่ะ

คิดถึงเหมือนกันค่ะ

  • ครูอ้อยไม่ใช้อะไรเลย ยังมีสิว 
  • อายุจนปูนนี้แล้ว คิดดู เจ็บใจจริง  อิอิ
  • แต่ไม่ท้องผูก
  • มีแต่เครียด จนพิมพ์ผิดบ่อยๆ ใจร้อน  กระวนกระวาย
  • ขอบคุณค่ะ
  • เรื่องสิวเป็นเรื่องธรรมธชาติค่ะ
  • มันมาได้ เดี๋ยวมันก็ไปได้
  • แต่....มันมาเมื่อไรหงุดหงิดทุกที  อิอิ
  • ต้องออกกำลังกายช่วยค่ะ

 

 

  • น้องอ๊อบชอบออกกำลังกายเนอะ  ดีจัง 
  • เมื่อปีที่แล้วเดินออกกำลังกายทุกเช้า 
  • แต่ปัจจุบันนี้  ตั้งแต่ข้อเท้าเจ็บครูอ้อยก็ได้แต่วิ่งเหยาะๆ 
น้องอ๊อบคะ  ครูอ้อยมีบันทึกหลายบล็อก  บางบล็อกก็ไม่มีใครเข้าไปอ่านเลยค่ะ  เช่น ที่นี่
  • อ่านทุกบันทึกของครูอ้อย
  • และอีกหลาย ๆ บันทึกค่ะ แต่ไม่ได้ comment
  • ครูอ้อยอ่านบันทึกหนูหรือยัง เอาไฟล์ขึ้นไม่ได้อ่ะ อิอิ

http://gotoknow.org/blog/sompornp/56960

http://gotoknow.org/blog/sompornp/56957

 

น้อฃอ๊อบคะ  ครูอ้อยต้องไปโรงเรียนค่ะ  แล้วเมือ่ถึงโรงเรียนจะอ่านทันทีค่ะ คิดถึงมาก  ครูอ้อยเริ่มมีพลังขึ้นมาแล้ว  ขอบคุณมากค่ะ

เรื่องนี้ก็น่าอ่านค่ะ

เป็นสิว ลองใช้สบู่ไทยเดิมดูนะค่ะ ราคาก็ไม่แพงด้วย ใช้แล้วหายไวไม่มีสารเคมีค่ะ แถมควบคุมเหงื่อและกลิ่นตัวด้วยนะค่ะ สนใจลองเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ค่ะ ที่นี่

http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=click2buy&id=13 หรือโทร 084-2182019

เมื่อครูอ้อย มีเวลา จะตามไปดูนะคะ

ขอบคุณที่มีน้ำใจ เอื้ออาทรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท