คำนิยมหนังสือ บนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา


คำนิยม

หนังสือ บนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา

 

วิจารณ์ พานิช

.................

 

          หนังสือ บนเส้นทางเพาะพันธุ์ปัญญา เล่มนี้ มีลักษณะเป็นข้อเขียนเชิงสะท้อนความคิด   สื่อสารสาระที่มาจากใจ หรือจากการใคร่ครวญไตร่ตรอง สะท้อนความคิดจากการทำงานในโครงการ ของคน ๑๐ คน ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน   ในช่วงเวลา ๕ เดือนของการดำเนินการโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา    จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๖   โดยที่จริงๆ แล้ว โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ได้เริ่มมาแล้วกว่า ๑ ปี    จากระยะเวลาของโครงการทั้งหมด ๖ ปี

          หนังสือเล่มนี้มี ๒ ตอน    ตอนแรกเขียนโดยหัวหน้าโครงการ ที่ถือกันว่าเป็น โค้ชใหญ่ ของโครงการ คือ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์    ตอนที่สอง ซึ่งมีไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ของหนังสือ เขียนโดย “พี่เลี้ยง” ในแต่ละศูนย์ ซึ่งมี ๘ ศูนย์    ซึ่งถือเป็น โค้ช ตัวจริงต่อครู    ฝึกให้ครูทำหน้าที่ โค้ช กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนอีกชั้นหนึ่ง 

          กระบวนการเรียนรู้ ของนักเรียน ตามโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา แตกต่างจากกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนตามปกติโดยสิ้นเชิง    จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเริ่มดำเนินการจริงๆ มีโรงเรียนและครูที่สมัครเข้าร่วมโครงการขอลาออกถึงหนึ่งในสาม

          สิ่งที่น่าแปลกใจคือ มีโรงเรียนและครูถึงสองในสาม ที่สมัครเข้าร่วมโครงการยังคงยืนหยัดอยู่กับการทดลองรูปแบบการเรียนรู้แบบ RBL ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา    ทั้งๆ ที่สภาพแวดล้อมของโรงเรียน ที่มาจากการบริหารแบบควบคุมและสั่งการจากส่วนกลาง คือ สพฐ. เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ต่อการดำเนินการจัดการเรียนรู้แนวใหม่นี้

          และที่น่าชื่นชมและภูมิใจตัวครูในโครงการคือ จิตวิญญาณที่จะฟันฝ่าเพื่อผลประโยชน์ของศิษย์    ที่จะช่วยโค้ชการเรียนรู้แบบใหม่ ให้ศิษย์คิดเป็น    เน้นที่การเรียนเพื่อฝึกการคิด มากกว่าเพื่อท่องจำเนื้อวิชา    ผมเรียกครูเหล่านี้ว่า “ครูเพื่อศิษย์”    เพื่อแยกแยะออกจาก “ครูเพื่อกู”   

          ผมรู้สึกเสียดาย ที่หนังสือนี้ไม่มีข้อเขียนสะท้อนความคิดจากครูสัก ๒ - ๓ คน    ว่าตนได้เผชิญความท้าทายและต้องฟันฝ่าอย่างไร    ในการทำงานเป็น “ครูฝึก” (โค้ช)   ไม่ใช่เป็น “ครูสอน” ตามปกติ    แต่ประเด็นดังกล่าวมีอยู่ในข้อเขียนทั้งของ ดร. สุธีระ และของหัวหน้าทีมพี่เลี้ยงอยู่แล้ว    ให้ผู้อ่านพอจะสัมผัสได้ว่า มีเสียงทั้งหัวเราะและน้ำตาของครู    โดยที่น้ำตานั้นอาจจะเกิดจากความยากลำบากเจ็บปวดก็ได้ เกิดจากปิติก็ได้ 

          อ่านต้นฉบับแล้ว ผมตระหนักว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นโครงการ ที่อยู่ในสภาพประหนึ่งเข็นครกขึ้นภูเขา    ซึ่งหมายความว่า สภาพแวดล้อมต่างๆ ของโรงเรียน  เป็นไปเพื่อการสอนแบบเดิม คือเน้นสอนวิชา    เน้นการสนองคำสั่งต่างๆ จากเบื้องบน หรือจากผู้ต้องการดึงเด็กและครูไปประดับบารมี    ไม่ได้เน้นที่การเรียนรู้ของศิษย์เป็นเป้าหมายหลัก

          โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา หากได้ทำหน้าที่เป็นโครงการนำร่องภาคปฏิบัติ เพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของเด็กอย่างแท้จริง    เราก็พอจะสรุปได้จากข้อมูลในปีแรก (จาก ๖ ปี) ของโครงการ ได้แล้วว่า    ระบบการศึกษาของประเทศไทย ต้องปฏิรูปทั้งทักษะ (รวมทั้งเจตคติ และความรู้) ของครู    และปฏิรูประบบการบริหารการศึกษาในส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ไปพร้อมๆ กัน    หากไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริหารส่วนกลางให้ลดการควบคุมสั่งการ    โรงเรียนและครูจะไม่สามารถมีเวลาเอาใจใส่การเรียนรู้ของศิษย์ได้อย่างจริงจัง

          แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ “พื้นที่แห่งอิสรภาพ” หรือ “พื้นที่แห่งความปลอดภัย”    ที่จำเป็นยิ่งสำหรับการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่เรียกว่า “การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑”   ที่จะต้องเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้ แบบ “ไม่กลัวผิด”    ที่ผลสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือการผลิตพลเมืองที่ “คิดเป็น” “เรียนรู้เป็น” เป็นเป้าหมายหลัก    และมีพื้นความรู้สำหรับใช้ต่อยอดความรู้ใหม่ เป็นเป้าหมายรอง   

          ข้อความในหนังสือเล่มนี้ มีทั้งส่วนที่เป็นอุดมการณ์ หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ของการศึกษา     และส่วนที่เป็นเทคนิค คือวิธีคิด วิธีโค้ช ปนๆ กันไป    และมีทั้งอารมณ์ลิงโลด และอารมณ์หดหู่ คละเคล้ากัน    ซึ่งผมคิดว่า ตรงกับความเป็นจริงของชีวิต ทั้งชีวิตการงาน และชีวิตส่วนตัว

          แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ใด พื้นฐานของการมองโลก หรือเจตคติ คือ “วิธีคิดเชิงบวก” (positive thinking)   และ การคิดกระบวนระบบ (systems thinking) ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑    นำไปสู่การฝึกฝนวิธีคิด “จากผลไปหาเหตุ” (backward thinking, backward design) ที่ ดร. สุธีระย้ำนักย้ำหนา     โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ “คิดแบบไม่คิด” (intuition - ปัญญาญาณ)    คือทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ

          หนังสือเล่มนี้ เป็นการจารึกการเดินทาง ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ในช่วงปีที่ ๑    ผมหวังว่า จะมีการจารึกการดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง    โดนเฉพาะอย่างยิ่งจารึกเหตุการณ์ที่รอยต่อ หรือการโค้ช ระหว่างครูกับศิษย์    และเนื่องจากการจารึกเป็นถ้อยคำมีข้อจำกัด    ผมจึงขอเสนอให้จารึกเป็นวีดิทัศน์    เลือกส่วนที่มีการเรียนรู้เข้มข้นมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

          ผมขอขอบคุณ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ที่ให้เกียรติผมเขียนคำนิยมนี้    ทำให้ผมได้เรียนรู้ข้อมูลความเป็นจริงในระบบการศึกษาไทย     ขอให้กำลังใจพี่เลี้ยงจากมหาวิทยาลัย  และครูในโรงเรียน ที่กำลังมุ่งมั่นฟันฝ่าเพื่อดำเนินการโครงการนี้ให้บรรลุผลสำเร็จ    ผมเชื่อว่า ข้อเรียนรู้จากการทำงานในโครงการนี้ จะเป็นหน่ออ่อนของการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง ของไทย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 564037เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2014 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2014 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท