เด็กสามหมอก
นาย ธี เด็กสามหมอก ยอดดอยแม่ฮ่องสอน

''กี่เหน่ปือหน่าอาจึ'' พิธีทำขวัญผูกข้อมือควาย


''กี่เหน่ปือหน่าอาจึ'' พิธีทำขวัญผูกข้อมือควาย 
 หมายเหตุจากหมู่บ้าน : ขอบคุณที่เหนื่อยยากลำบากมาด้วยกัน ''กี่เหน่ปือหน่าอาจึ'' พิธีทำขวัญผูกข้อมือควาย 


ไม่รู้ว่าเคยมีใครทำการศึกษามาก่อนหรือไม่ว่า "ควาย" เข้ามาสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนเรามาตั้งแต่ยุคสมัยใด มีบทบาทอย่างไรบ้าง . . . ที่แลเห็นเป็นประจักษ์ก็ดูว่าจะใช้เป็นแรงงานในไร่นา เป็นพาหนะในการเดินทาง เทียมเกวียนขนข้าวของ ขี่ควายเกี้ยวสาวอย่างไอ้ขวัญ หรือแม้กระทั่งขี่ออกศึกสงครามอย่างนายจันหนวดเขี้ยว -- ดู ๆ ไป พี่กระบือนี่ก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้พี่คชสารเลยทีเดียว แล้วแหม ทำไมคนสมัยเราถึงได้ดูถูกพี่ควายกันนัก และใช้เป็นสัญลักษณ์ไปในทางลบและเหยียดหยาม


แต่ถึงอย่างไร จิตใจอันละเอียดอ่อนที่ส่งผ่านมาทางจิตวิญญาณของคนเราก็ยังไม่ได้สูญพันธุ์ไปเสียทีเดียว เรายังมีความรัก เคารพ และซาบซึ้งในคุณค่าของเพื่อนที่ยอมเหนื่อยยากอยู่เคียงข้างเราเหลืออยู่บ้าง แม้ไม่มาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มี


ชาวปกาเก่อญอ เป็นอีกหนึ่งชนที่ประเพณีวิถีชีวิตต่าง ๆ สะท้อนถึงหัวจิตหัวใจที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ แม้การส่งผ่านจากบรรพชนสู่คนรุ่นปัจจุบันจะมีหลายสิ่งที่หล่นหายไป ถูกลักพาตัว หรือถูกฉาบเคลือบด้วยสีสันค่านิยมใหม่ แต่หลายที่ หลายทาง และหลายกลุ่ม ก็ยังทำหน้าที่สืบทอดหัวจิตหัวใจที่แท้นี้ไปได้อย่างกลมกลืนกับวันเวลาที่หมุนผ่าน -- กับวิถีแห่งควายก็คล้าย ๆ กัน

เช้าวันจันทร์เมื่อกลับลงจากดอยมาทำงานที่โรงพยาบาลปาย ''วิธี เทอดชูสกุลชัย'' ชายหนุ่มจากบ้านห้วยหมาก-ลาง ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โพสภาพชุดใหญ่ลงในเฟซบุ๊ค พร้อมเล่าให้ฟังว่าวันเสาร์ที่ผ่านมา พ่อแม่ทำพิธี "กี่เหน่ปือหน่าอาจึ" หรือ "พิธีผูกข้อมือควาย" ซึ่งก็คือการทำขวัญควายให้กับเหล่ากระบือในความคุ้มครองของที่บ้าน เขาบอกว่า วัตถุประสงค์ของพิธีกรรมนี้เพื่อแสดงความเคารพขอบคุณควายที่ช่วยให้การทำนาสำเร็จลงได้ด้วยดี แถมยังเป็นสิริมงคลให้กับควาย เชื่อว่าจะทำให้ควายมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ออกลูกออกหลานเจริญเติบโต แคล้วคลาดและปลอดภัยจากภยันอันตรายต่าง ๆ . . . ซึ่งการทำขวัญควายจะทำในช่วงที่เสร็จจากปลูกข้าวในไร่นาเรียบร้อยแล้ว แต่จะต้องหลังจากงานผูกข้อมือทำขวัญคน และยังอยู่ภายในช่วงที่ฤดูฝนยังพรำเม็ด



พิธีครั้งนี้แม่ของวิธีได้เตรียม ด้าย เหล้าต้ม ข้าว น้ำ เกลือ หญ้า 3 ยอด เสื้อผ้าของใช้ของเจ้าของบ้าน และไก่ต้มหนึ่งคู่ วิธีเล่าเสริมอีกด้วยว่าไก่ต้องเป็นตัวผู้กับตัวเมียอย่างละตัว และไก่ตัวนั้นพ่อแม่ไก่ก็ยังต้องมีชีวิตอยู่ ทั้งหมดเป็นของที่ใช้ในพิธีกรรมครั้งนี้ . . . การทำขวัญดำเนินการไปอย่างไรเขาไม่ได้แจงไว้ในรายละเอียด แต่มาเล่าในตอนท้ายว่าเมื่อผูกฝ้ายหรือด้ายที่ปลายเขาให้ควายเสร็จแล้ว ประดับหญ้าไว้ที่หัวของควายอย่างสวยงาม ก็มีการเทเหล้าต้มให้ควายกินด้วย ไม่ได้ใส่แก้วหรอกนะ แต่เทรดให้วัวเลียเอาเอง . . . นอกจากควายจะได้กินแล้ว คนก็ได้สิทธิ์นั้นด้วย โดยคนที่บ้านนี้มีคติความเชื่ออยู่ด้วยว่า เหล้าที่ต้มเพื่อทำขวัญควายครั้งนี้ ไม่ว่าจะต้มได้มากหรือน้อย เจ้าของควายจะต้องกินให้หมดภายในวันที่ทำพิธี ก็เอาไก่ต้มและของกินที่ใช้ทำพิธีนั่นหล่ะมาแกล้มเหล้าแกล้มข้าวกับคนในครอบครัว หรือเชิญเพื่อนบ้านที่สนิทสนมมากินด้วยกันก็ได้ เมามายไม่เป็นไร เพราะวันที่มีพิธีทำขวัญควายนี้ เขาถือ จะไม่ทำงานกัน 



อย่างที่สมภพมักบอกเสมอว่าเราไม่สามารถเอารูปแบบจารีตของคนที่หนึ่ง ไปเปรียบเทียบกับคนอีกที่หนึ่ง ว่าแบบไหนที่ถูกต้องหรือดั้งเดิม แม้จะเป็นชนชาวเดียวกันก็ตาม พิธีทำขวัญหรือมัดมือควายนี้ก็เช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นของประกอบในพิธี ขั้นตอน วันที่ทำ การทำนายคัดเลือกคนทำพิธี คนร่วมพิธี ฯลฯ เพราะด้วยบริบททั้งหลายที่แตกต่างกัน ทำให้รายละเอียดปลีกย่อยก็พลอยฉีกซ้ายย้ายขวาบ้าง แต่หัวใจสำคัญของพิธีกรรมนี้ ไม่ได้หนีกันเลย คือความเคารพในคุณของเพื่อนที่ลำบากยากเข็นมาด้วยกัน และลึกลงไปกว่านั้นก็เป็นหัวจิตหัวใจที่ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่า คน สัตว์ และธรรมชาติ 



แม้ทุกวันนี้การทำขวัญควายจะหายไปจากหลายหมู่บ้านแล้ว เนื่องจากวิถีชีวิตที่ไม่ต้องคบควายเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก แต่ในหลายที่หลายทางก็ยังดำเนินพิธีไว้ในวิถี . . . หากอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีกรรมนี้ที่มากขึ้น สามารถค้นหาในกูเกิ้ลได้เลยนะครับ มีมากมายให้เลือกเสพ แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ มีโอกาสออกเดินทาง ก็อยากให้เปิดหัวใจที่เป็นมิตร ทำความรู้จักวิถีชีวิตของเพื่อนพ้องของเรานะครับ เรื่องของควาย . . . ยังแค่จิ๊บ ๆ



ด้วยรักและมิตรภาพ

-พะเส่ สมภพ-
ต้นเดือนฤดูพลับสุก ข้าวเขียว 
fb : https://www.facebook.com/somphop16maysa

เรียบเรียงจากคำเล่าสั้น ๆ ของวิธี และภาพจากชายหนุ่มคนเดียวกัน

ต่าบลึ้โดะมะ

ธี เด็กสามหมอก

fb : https://www.facebook.com/deksammork

website : www.deksammork.com และ www.เด็กสามหมอก.com

เพิ่มเติม http://www.xn--12ca9ctca6cir5b... 










หมายเลขบันทึก: 554276เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2017 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

พิธีผูกข้อมือควายเพิ่งรู้จักก็ครั้งนี้ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ เป็นประเพณีที่น่ารักมากค่ะ

....ดีจังเลย...ได้เรียนรู้ ...ประเพณีบางอย่างนะคะ ...เป็นความรู้ใหม่ค่ะ .... ขอบคุณค่ะ

วัว ควาย ช้าง ม้า ลา สุนัข เป็นสัตว์ที่มีบุญคุณกับมนุษย์ โดยเฉพาะคนไทยซึ่งอยู่ในสังคมวัฒนธรรมข้าว และในสมัยที่ยังขาดเทคโนโลยีสมัยใหม่ การทำงานในนา การขนส่ง ค้าขาย ล้วนแล้วต้องอาศัยแรงงานและสติปัญญาของสัตว์เหล่านี้

สุนัขก็ขึ้นชื่อในเรื่องความรัก ความซื่อสัตย์ ยอมตายแทนเจ้าของหรือเจ้านายของเขา

น่านับถือกลุ่มชนชาวบ้านหลาย ๆกลุ่มที่แสดงออกซึ่งการรู้คุณของวัว ควาย มีประเพณีเฉพาะเพื่อพวกสัตว์ที่แสนประเสริฐเหล่านี้

เมื่อไรนะที่มนุษย์บางคน บางจำพวกจะลดละเลิก ด่าว่ากันว่า โง่ หรือต่ำกว่าสัตว์เหล่านี้ ถ้าพวกเขาได้ยิน เชื่อว่าเขาเข้าใจ และจะดูถูกคนพวกนี้

ได้ความรู้ใหม่

สนใจเผ่าปกากะญอ

แต่เพิ่งทราบว่ามีประเพณีนี้ครับ

หายไปนานมากๆเลยนะครับ

ได้ความรู้ใหม่

สนใจเผ่าปกากะญอ

แต่เพิ่งทราบว่ามีประเพณีนี้ครับ

หายไปนานมากๆเลยนะครับ

ขอบคุณทุกความคิดเห็นนะครับ จะพยายามเขียนและทะยอยเอามาลงให้อ่านกันนะครับ ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ

อ่านสนุก มากสาระ

เป็นปวาญอเหมือนกัน

ที่บ้านมี ควายหลายตัว

ทุกปีมีการทำพิธี

แต่ก็ลืมใส่ใจรายละเอียด

ว่าพิธีที่ทำ เครื่องเซ่งไหว้

ทั้งหมดเป็นมายังไง

และสื่อความหมายอะไรบ้าง

ขอบคุณ เรื่องราวเกี่ยวกับควาย...ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท