พักสมอง…ท่องเที่ยวงาน “เกษตรอีสานใต้ : เกษตรไทยสู่อาเซียน”


ช่วงนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองพาให้เครียด เลยจะยังไม่ลงตอนจบของ ซีรีส์ "การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน" …วันเสาร์ดีๆ วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นี้ จะขอเชิญชวนกัลยาณมิตรไป "พักสมอง…ท่องเที่ยวงาน เกษตรอีสานใต้ : เกษตรไทยสู่อาเซียน" กันนะคะ

             ช่วงนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองพาให้เครียด อีกสองสามวันค่อยต่อตอนจบของซีรีส์ "การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ดีกว่า วันนี้ เสาร์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เป็นวันหยุดราชการ แต่เกษตรกรอย่าง "ไอดิน-กลิ่นไม้" ไม่มีวันหยุด สักครู่จะต้องจัดเตรียมต้นเงินไปร่วมงานกฐินของหมู่บ้าน ซึ่งจัดในวันที่ ๙-๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ จากนั้นจะต้องโทรฯ ถามเพื่อนที่เป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยครูอุบลฯ ป.กศ.สูงรุ่นที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๑๓ เพราะจะต้องนำเงินของรุ่นไปสมทบงานกฐินของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่จัดในช่วงวันเดียวกันกับหมู่บ้าน โดยสมาคมศิษย์เก่าและ ฯลฯ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้บริหาร และอาจารย์ของสถาบันที่เสียชีวิตไปแล้ว เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันมาจนปัจจุบัน

          เมื่อวันจันทร์ที่ ๔ และวันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้มีโอกาสไปเที่ยว   "งานเกษตรอีสานใต้" ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" เพียงประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ในอาณาเขตกว่า ๕,๐๐๐ ไร่ จึงขอถือโอกาสพา "กัลยาณมิตร GotoKnow" ไป "พักสมอง…ท่องเที่ยวงาน เกษตรอีสานใต้ : เกษตรไทยสู่อาเซียน" ...ตามไอดินฯ มานะคะ (ขอเชิญชมภาพที่เก็บมาจากงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพที่ถ่ายในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ค่ะ) 


                 "ซุ้มบวบ" ในวันที่ ๔ พ.ย. มีสภาพดีกว่าในภาพบนซึ่งถ่ายในวันที่ ๗ พ.ย.ด้านหน้าของ "ซุ้มบวบ" (ในงานใช้คำว่า อุโมงค์ แต่ผู้เขียนใช้คำว่า "ซุ้ม" แทน เพราะพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า "อุโมงค์" ว่า "ทางใต้ดิน, ช่องหรือทางที่ขุดลงไปใต้ดินหรือในภูเขา") มีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เช่น คำขวัญประชาคม ตราแผ่นดินประเทศสมาชิก และอื่นๆ ไอดินฯ ชอบความคิดสร้างสรรค์ของคนต้นคิดนำชื่อประเทศมาเรียงกันทำให้ตัวอักษรของทั้ง ๑๐ ประเทศอ่านในแนวตั้งได้ว่า "LOVE AND PEACE" 


                        

                                                (http://blog.eduzones.com/tonsungsook/98044
 
                                                   (http://www.site.rmutt.ac.th/ASEAN/?p=375)
            สำหรับคุณลักษณะเด็กไทยในประชาคมอาเซียน และดอกไม้ประจำชาติสมาชิกอาเซียน ภาพที่ถ่ายจากนิทรรศการอ่านข้อความได้ไม่ชัด เลยใช้ภาพจาก Internet แทน ขอขอบคุณแหล่งอ้างอิงทั้งสองด้วยนะคะ 
 





          ก่อนนี้ผจก.ฟาร์มไอดินฯ ได้ขายไก่งวงไปรุ่นสุดท้ายและคิดอยากจะเลี้ยงสัตว์ปีกอีก ไอดินฯ เสนอว่าน่าจะเลี้ยง "ไก่ดำ" พอดีไปเห็นนิทรรศการของ "ภูเขาฟาร์ม" ในงาน ที่มีไก่ดำจัดแสดงพร้อมแจกเอกสารเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ดำด้วย...ไอดินฯ จะหาเวลาไปดูงานที่ฟาร์มดังกล่าว ส่วนแพะแกะที่นำมาจัดแสดงเป็นของสาขาสัตวศาสตร์ ...ไอดินฯ เขียนข้อความในภาพว่า "แกะลายม้าลาย" จริงๆ แล้วต้องเป็น "แพะลายม้าลาย" ต้องขออภัยในความผิดพลาด ด้วยนะคะ


             ถ้าไอดินฯ เป็นครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่รับผิดชอบวิชาการงานอาชีพ หรือเป็นครูอาจารย์ที่สอนในสถาบันการศึกษาสายอาชีพ เช่น วิทยาลัยเกษตรกรรม วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมถึงคณะสาขาในสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านเกษตรกรรม  จะ "จัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนนักศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน" โดยการมอบหมายงานให้นักเรียนนักศึกษา เข้าไปศึกษาหาความรู้ในงานแบบเจาะลึก (ไม่เพียงให้รายงานแบบกว้างๆ ว่า ในงานได้ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียนในเรื่องใดบ้าง ซึ่งสามารถสืบค้นได้ทาง Internet อยู่แล้ว) ตัวอย่างเช่น การศึกษานิทรรศการของกรมประมงในหัวเรื่อง "สถานการณ์การผลิตและการตลาดปลาสวายโลก" ซึ่งได้ให้สารสนเทศ (Information) ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในปี ๒๕๕๕ ประเทศเวียดนามเป็นผู้ส่งออกปลาสวายรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยส่งออกคิดเป็นร้อยละ ๙๐ ของการส่งออกปลาสวายโลก (ในชื่อทางการค้าว่า "ปลาดอลลี่") จุดอ่อนของไทยในการแข่งขันการส่งออกปลาสวายคือ ปัญหาคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาสวาย และปัญหาผลผลิตปลาสวายที่มีกลิ่นโคลน เนื้อมีสีเหลือง มีไขมันมาก ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกซึ่งนิยมปลาสวายที่มีเนื้อสีขาว มีไขมันน้อย และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำปลาไปแปรรูปเพื่อให้เก็บไว้ได้นานเป็นปี เช่น "การทำเค็มบักนัด" ภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดอุบลฯ แล้วนำสารสนเทศที่ได้ไปอภิปรายเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ในห้องเรียน



               ในขณะที่ไอดินฯ กลับจากถ่ายภาพนิทรรศการของ "กรมวิชาการเกษตร" รถนำเที่ยวผ่านมาพอดีเลยวิ่งไปถ่ายภาพจากด้านหน้ารถ พอรถคล้อยหลังและจอดให้คนลง รีบตัดสินใจก้าวขึ้นรถ ดูซิเขาจะพาไปที่ไหนบ้าง เผื่อจะพาไปในที่ๆ ตัวเองยังไม่ได้ไป ...(วันที่ ๗ พ.ย. ผู้จัดการฟาร์มไอดินฯ ขับรถอกจากฟาร์มไปที่งานแต่เช้า เพราะต้องการไปดูสองหนุ่มที่ฟาร์มส่งเข้ารับการอบรมการกรีดยาง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑ พ.ย. วันที่ ๗ พ.ย. อบรมเป็นวันสุดท้ายซึ่งจะมีการมอบเกียรติบัตรด้วย สำหรับไอดินฯ ขับรถอีกคันไปที่งานประมาณ ๑๔.๐๐ น. การอบรมจะเลิกประมาณ ๑๖.๐๐ น. ตอนขึ้นรถนำเที่ยวเวลาประมาณ ๑๕.๒๐ น. ยังพอมีเวลากลับมาทันการมอบเกียรติบัตร อยากถ่ายภาพไว้ให้สองหนุ่มเก็บไว้เป็นที่ระลึก ผจก.ฟาร์มจัดการเรื่องถ่ายภาพไม่ได้ เพราะทั้งถ่ายไม่ทัน ถ่ายเอียง และชอบทะเลาะกับกล้อง)


                  ไอดินฯ ไม่ได้เข้าชมกิจกรรมการประกวดจัดสวนถาด...ขอขอบคุณภาพกิจกรรมประกวดจัดสวนถาดจาก http://www.agri.ubu.ac.th/kasetday/ และ https://www.facebook.com/SouthIsaanAgriculturalFair ภาพล่างซ้าย ผจก.ฟาร์มไอดินฯ คนที่สองจากซ้าย ถ่ายภาพกับสองหนุ่มที่ฟาร์มส่งเข้ารับการอบรม หนุ่มแรกคนซ้ายสุด "บุญเพ็ง" เกียรติบัตรใส่ชื่อผิดเป็น "บุญหลาย" ชื่อ "บุญเพ็ง" ดีกว่าเพราะ "เพ็ง" เป็นภาษาอีสานแปลว่า "เต็ม" เหมือนกับคำว่า "เพ็ญ"...หนุ่มคนที่สอง "สว่าง" อยู่กับฟาร์มไอดินฯ มานานมาก คนขวาสุด คือ รองผู้อำนวยการ "สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จังหวัดอุบลฯ" เป็นผู้มอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้ารับการอบรมฯ (ผู้เขียนคิดว่าน่าจะใช้คำว่า "วุฒิบัตร" มากกว่า "เกียรติบัตร") 


               ไอดินฯ อยากทำซุ้มปลูกน้ำเต้าแบบที่ปลูกแสดงในงานเกษตรปี ๒๕๕๔ ซึ่งปีนั้นได้ซื้อเมล็ดพันธุ์น้ำเต้าจากนักศึกษาไปปลูกด้วย (นับเมล็ดดขาย ๔ เมล็ด ๑๐ บาท) แต่ไม่ได้กินผล ทั้งที่เถาน้ำเต้าก็ดูเจริญเติบโตดี แต่พอมีลูกไม่นานจะร่วงทิ้งหมด ปีนี้เลยซื้อแบบซองสำเร็จไปลองปลูกดู ตื่นเต้นดีใจที่เห็นตะลิงปลิง (ที่ไอดินฯ ดายหญ้าโคนต้นแล้วใส่ปุ๋ยและใช้หญ้าแห้งคลุมโคนต้น ออกผล) เลยถ่ายภาพมาอวดค่ะ



            "มะดัน" ซื้อไปปลูกแทนต้นเก่าที่ตาย "มะยมแดง" ไปค้นข้อมูลใน Internet ปรากฏว่า เป็นชนิดเดียวกันกับ "เชอรี่สเปน" ที่ปลูกไว้นานแล้วซึ่งก็ออกดอกออกผลตลอด สำหรับชวนชม มีแล้วหลายกระถางหลายสายพันธุ์ แต่เลือกซื้อเพิ่มในสายพันธุ์ที่ยังไม่มี สำหรับ "น้อยโหน่ง" ในช่วงที่เรียนระดับประถมศึกษา หลังบ้านของไอดินฯ มีน้อยโหน่งอยู่ต้นหนึ่ง การแสวงหาต้นไม้ที่เคยได้พบเห็นในอดีตครั้งยังใช้ชีวิตอยู่กับแม่ เป็นสิ่งหนึ่งที่ไอดินฯ ทำ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสุขในวัยเด็ก และทำให้คิดถึงภาพเก่าๆ คราวที่อยู่กับแม่ น้อยโหน่งต้นในภาพ คนรู้จักในหมู่บ้านใกล้ฟาร์มให้มาตั้งแต่ต้นยังสูงไม่ถึงฟุต พอโตออกผลให้ดูประมาณ ๓ รุ่น แล้วก็กิ่งแห้งไปทีละกิ่งสองกิ่ง ในที่สุดก็ตาย เลยต้องหาไปปลูกใหม่ จากการสืบค้นใน Internet วิกิพีเดียให้ข้อมูลสรุปได้ว่า น้อยโหน่ง (อังกฤษ: Custard-apple, Bullock's-heart) อยู่ในวงศ์กระดังงา สกุลเดียวกับน้อยหน่า มีดอกคล้ายดอกน้อยหน่าแต่ผลมีขนาดโตกว่า เปลือกบางแต่เหนียว ค่อนข้างเรียบ ไม่นูนเป็นตา ๆ สีเขียวจาง ๆ ปนสีแดงเรื่อ ๆ ความสูงของลำต้นประมาณ 5-8 เมตร ปลูกได้ในดินทั่วไป เนื้อในผลหนาสีขาว รสชาติหวานแต่ไม่เท่าน้อยหน่า มีเมล็ดมาก มีคุณค่าทางอาหาร คือ วิตามินเอมากกว่าน้อยหน่า นอกจากนี้แล้วยังมีสรรพคุณทางยา คือ ผลทั้งดิบและสุกแก้ท้องร่วง โรคบิด โรคซาง ลมจุกเสียด แก้พยาธิในท้อง และพยาธิผิวหนัง, รากใช้แก้เหงือกบวม รักษาโรคเรื้อน เปลือกและต้นแก้บิด ท้องเสีย เป็นยาห้ามเลือดและสมานแผล, ใบใช้ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้บวมและฟกช้ำ เมล็ดใช้เป็นยาสมานแผล ทั้งผลดิบและใบสดยังสามารถใช้ต้มเอาน้ำทำเป็นสีย้อมผ้าให้สีดำและสีน้ำเงินที่สวยงามและติดทนนานอีกด้วย ทั้งน้อยโหน่งและน้อยหน่า มิใช่พืชพื้นเมืองของไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นพืชพื้นเมืองของภูมิภาคอเมริกากลาง เชื่อว่าถูกเข้านำมาครั้งแรกในสมัยอยุธยา

             การเสาะแสวงหาไม้แปลกๆ ไปปลูกที่ฟาร์ม เป็นอีกงานหนึ่งของไอดินฯ ตามโครงการ "ศูนย์เรียนรู้ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" หลังจากซื้อต้นพันธุ์ "ฝรั่งลูกแดง" ในงาน ได้สืบค้นข้อมูลจาก Internet พบแหล่งข้อมูลแหล่งเดียวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ออนไลน์ วันพุธที่ 30 มกราคม 2556 อ่านแล้วสรุปความได้ว่า "แดงบางกอก" เป็นฝรั่งสายพันธุ์ลูกผสมที่คุณดำรงศักดิ์ วิรยศิริ  ต.วังชมภู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โทร.0-5677-1430 พัฒนาขึ้น โดยเริ่มจากซื้อฝรั่งประดับที่นำมาจากประเทศฟิลิปปินส์ แล้วทำการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาจนได้พันธุ์ “ทับทิมสยาม” หลังจากนั้นได้นำพันธุ์ทับทิมสยามเป็นต้นแม่ ไปผสมกับพันธุ์แป้นสีทองที่เป็นต้นพ่อ ได้ลูกผสมที่มีต้น, ใบ, ดอกและสีของผลจากต้นแม่ คือสีแดงทั้งหมด หลังใบมีสีแดงน้ำตาล, ส่วนของหน้าใบมีสีเขียวออกดำ ดอกมีสีแดงอมชมพูสวยงามมาก ลำต้นสีแดง ขณะที่ติดผลอ่อนสีของผลมีสีน้ำตาลดำและเมื่อผลแก่สีของผลจะจางลงเป็นสีน้ำตาลแดง ผลแก่มีลักษณะทรงผลคล้ายกับฝรั่งเวียดนาม เนื้อมีสีแดงรสชาติหวานและกรอบ เป็นฝรั่งที่ให้ผลดกไม่แพ้สายพันธุ์อื่น คุณดำรงศักดิ์ บอกว่า ฝรั่งแดงลูกผสมพันธุ์ใหม่ล่าสุด ที่ใช้เวลานานกว่า 30 ปีในการพัฒนา (ไม่ทราบว่า ได้มีการจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไหม) มีทรงผลออกกลม เนื้อมีสีแดง รสชาติหวานกรอบ อร่อยมาก ทับทิมสยามต้นใหม่ล่าสุด ผลที่ใหญ่สุดหนักถึง 1 กิโลกรัม เนื้อกรอบ แข็ง, หนา รสชาติหวาน เนื้อละเอียดไม่ฝาด อร่อยมาก (http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=8343) ...ที่ไอดินฯ ซื้อไปปลูกเป็นเพราะเห็นเป็นไม้แปลกและยังไม่มีปลูกที่ฟาร์มไอดินฯ พอได้รู้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว ยิ่งมีแรงกระตุ้นที่จะปลูกจนเห็นผล เพื่อพิสูจน์ว่า ผลฝรั่งจะเป็นเช่นที่ผู้พัฒนาพันธุ์ได้บรรยายสรรพคุณไว้ไหม ถ้ากัลยาณมิตรท่านใดมีความรู้และประสบการณ์ในการปลูกฝรั่งลูกสีแดง กรุณาแลกเปลี่ยนในบันทึกนี้ด้วยนะคะ 

                "แก่นตะวัน" เป็นอีกอย่างที่ไอดินฯ ซื้อจากงาน คนขายเขียนป้ายบอกราคา ก.ก. ละ ๒๕๐ บาท ช่วงโปรโมทลด ๒๐๐ แต่ต่อได้ ๑๘๐ บาท (ภายหลังดูใน Internet บอก ก.ก.ละ ๑๕๐ บาท) สัมภาษณ์หนุ่มที่ขาย บอกว่าจบวิศวกรอุตสาหการจาก ม.อุบลฯ เคยทำงานเป็นวิศกรในโรงงาน แต่กลับบ้านมาดูแลแม่ที่เป็นเบาหวาน โดยใช้แก่นตะวันเป็นอาหาร เลยปลูกขายด้วย ข้อมูลจาก Internet สรุปได้ว่า แก่นตะวัน  หรือ ทานตะวันหัว (Jerusalem artichoke หรือ sunchoke) เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นพืชล้มลุก มีหัวสะสมอาหาร ดอกคล้ายดอกทานตะวันหรือบัวตอง  สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้นิยามว่า "แก่นตะวัน ไม้ดอกประดับบ้าน พืชอาหารสมุนไพร" และระบุสรรพคุณของแก่นตะวัน ว่า ๑) ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรความดันโลหิตสูง และลดไขมันในเลือด ๒)  ขับปัสสาวะ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ๓) ช่วยเจริญอาหารกระตุ้นการหลั่งของน้ำดี ๔) ช่วยป้องกันโรคอ้วน คนนิยมใช้ส่วนหัวของแก่นตะวันเป็นอาหารประเภทผัก หัวสดมีรสชาติคล้ายแห้ว นำไปประกอบอาหารคาวหวานได้หลายอย่าง ในหัวเป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ซึ่งเป็นอาหารเยื่อใยไม่ถูกย่อยในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก อาหารจึงอยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ไม่มีความรู้สึกหิว จึงกินอาหารได้น้อยลง

            "งานเกษตรอีสานใต้ : เกษตรไทยสู่อาเซียน" ยังมีอีกสองวันนะคะ จะจัดไปถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ถ้ากัลยาณมิตรอยู่ไม่ไกลเกินไป อยากให้ไปเที่ยวงานดีๆ นี้ ซึ่งนอกจากจะมีนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ที่มีเอกสารแจกฟรีแล้ว ยังมีสินค้าจำหน่ายมากมายทั้งผลิตผลทางการเกษตร เครื่องจักรเครื่องกลและวัสดุอุปกรณ์การเกษตร เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ ที่นำมาให้ชมในบันทึกนี้เป็นเพียงส่วนน้อย ถ้าพลาดงานนี้แล้วต้องรอไปอีกปีนะคะ...ไอดินฯ เองยังชมงานไม่จุใจเลย อาจจะไปปิดงานวันพรุ่งนี้ เพราะเล็ง "พวงโกเมน" กับ "พวงหยก" ไว้ แต่ยังไม่ได้ซื้อเพราะมืดก่อน

            ...และแล้วไอดินฯ ก็ไม่ได้ไปปิด "งานเกษตรอีสานใต้" ตามที่ใจต้องการ เพราะไปไม่ไหว หมดแรงจากการทำต้นกฐินคนเดียวตั้งแต่เช้าวันที่ ๙ พ.ย. (ผจก.ฟาร์มฯ มอบตะกร้าแบ๊งค์ไว้ให้จัดทำต้นกฐิน แล้วก็ไปอยู่ที่งานตลอด พอไอดินฯ จะทำต้นกฐินพบว่า มีแบ๊งค์ ๒๐ เป็นฟ่อน แบ๊งค์ ๑๐๐ เป็นส่วนน้อย แบ๊ง ๕๐๐ และแบ๊งค์ ๑๐๐๐ อย่างละ ๒-๓ ใบ ซึ่งถ้านำไปจัดต้นกฐินคงต้องทำไม่ต่ำกว่า ๓ ต้นถึงจะหมดแบ๊งค์ที่มี และทำตลอดวันก็คงไม่เสร็จ เลยต้องนำแบ็งค์ ๒๐ ทั้งหมดไปแลกแบ๊งค์ ๑๐๐ และแบ๊งค์ ๕๐๐ แล้วก็ทำได้เสร็จภายใน ๑๔.๓๐ น. โดยไม่พักทานข้าวกลางวัน) และการร่วมงานทอดกฐินในเช้าถึงบ่ายวันที่ ๑๐ พ.ย. ผจก.ฟาร์มไอดินฯ นำต้นกฐินของฟาร์มไปรอที่ป้ายสำนักสงฆ์ แต่ไอดินฯ เดินไปพร้อมขบวนแห่เพื่อถ่ายภาพกิจกรรม ซึ่งจะนำไปอัดและมอบผู้นำหมู่บ้านจัดนิทรรศการที่ศาลากลางบ้านในภายหลัง (ทำเช่นนี้ในทุกกิจกรรมของหมู่บ้าน โดยใช้เงินส่วนตัว ภาพที่ผู้นำถ่ายเองส่วนใหญ่จะใช้ไม่ได้ อย่างเช่นขอให้ถ่ายให้เห็นภาพไอดินฯ ในขบวนแห่พอเปิดดูเห็นไอดินฯเสี้ยวเดียว) กฐินนำไปทอดที่สำนักสงฆ์ติดกับ "สวนยางพาราฟาร์มไอดินฯ" ที่ผจก.ฟาร์มไอดินฯ เสนอความคิดในการสร้างเพราะหมู่บ้านยังไม่มีวัด และได้ซื้อที่ ๗ ไร่สมทบเพื่อก่อสร้างในปี ๒๕๕๒) 

 

 



ความเห็น

ไม่ค่อยได้เห็นน้อยโหน่งและฝรั่งลูกแดง นะครับอาจารย์แม่

จัดงานใหญ่มาก

แต่ขำแกะลายม้าลาย

เขาจับทาสีหรือครับ

ขอบคุณอาจารย์แม่มากครับที่พาเรียนรู้งานเกษตรอีสานใต้

ก่อนหน้านี้ ที่โรงเรียนของคุณมะเดื่อ มีน้อยโหน่งอยู่ต้นหนึ่ง ออกลูกดกเต็มต้น เด็ก ๆ เก็บ

เอาไปบ่มพอสุกหวาน ก้แบ่งกันกิน  รสชาติคล้ายน้อยหน่านะจ๊ะ

แต่พอสร้างโรงอาหารใหม่ ต้องตัดทิ้ง เดี๋ยวนี้ไม่เห็นที่ไหนอีกเลย

  • ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่ตามอาจารย์แม่ไปเที่ยวงานเกษตรอีสานใต้ ที่ม.อุบลฯ เขาจัดงานเกษตรเป็นงานใหญ่บ่อยๆ ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่จัดใหญ่ค่ะ มีหน่วยงานจากส่วนกลางไปร่วมจัดงานมากมาย
  • ตอนที่อาจารย์แม่ไปยืนดู "แกะลายม้าลาย" อาจารย์แม่คุยกับคนที่ยืนข้างๆ (ตอนหลังทราบว่า เป็นอาจารย์คณะอื่นใน ม.อุบลฯ) ว่า ลายที่เห็นน่าจะมาจากการใช้เทปพันในส่วนที่ต้องการให้เป็นสีขาว ส่วนที่ต้องการให้เป็นสีดำซึ่งปล่อยว่างไว้ก็พ่นสีดำ (อาจารย์แม่เทียบกับที่เคยเห็นเขาสกรีนเสื้อผ้า) เสร็จแล้วลอกเทปออก คนที่อาจารย์แม่คุยด้วยหัวเราะชอบใจ บอกว่า น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะยังเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่เลย...อาจารย์เขาก็ช่างสังเกต อาจารย์แม่ก็เพิ่งเห็นว่า ตรงขาหลังซ้ายของแกะลายม้าลาย ยังลอกเทปสีดำออกไม่หมด ถ้าลอกออกตรงนั้นก็จะเป็นลายสีขาวค่ะ (แสดงว่า สิ่งที่อาจารย์แม่คาดคะเนถูกต้อง) 
  • ขอบคุณ "น้องมะเดื่อ" มากนะคะ มี่แวะมาให้กำลังใจ และเล่าเรื่องน้อยโหน่งที่โรงเรียนให้ฟัง เสียดายจังนะคะที่ถูกโรงอาหารแย่งที่จนต้องตัดทิ้ง พี่เองเวลาจะปลูกสร้างอะไร จะพยายามหาทางที่จะไม่ตัดต้นไม้ทิ้ง อย่างตอนต่อข้างบ้านสวนออกไป พ่อใหญ่สอให้ตัดต้นไม้ 3 ต้นที่ขวางทางทิ้ง แต่พี่ไม่ยอม ทั้ง 3 ต้นเลยยังอยู่
  • พี่ก็เคยเห็นน้อยโหน่งแค่ 2 ต้นค่ะ คือ ต้นที่อยู่หลังบ้านแม่เมื่อประมาณห้าสิบปีมาแล้ว กับต้นที่พี่ปลูก ต้นที่สามก็คือต้นเล็กๆ ที่พี่ซื้อมาปลูกค่ะ
  • เป็นห่วงสวนผักของคุณพ่อคุณแม่น้องมะเดื่อที่โดนน้ำท่วม แต่น้องบอกว่าเมืองสับปะรดหวานของน้องน้ำจะไม่ท่วมนาน จะไหลลงแก้มลิงใหญ่คือ อ่าวไทย ก็หวังว่าตอนนี้น้ำที่สวนผักคงแห้งแล้วนะคะ

 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "ทพญ.ธิรัมภา"

"คุณบุศยมาศ" และ "ท่านผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

 

สุดยอดเลยงานครับนี้..ถึงแม้ไม่ได้ไปเองก็ต้องขอขอบคุณอย่างสูงยิ่งที่ได้สัมผัสบรรยากาศเสมือนจริง...เป็นบุญแล้วหละที่ได้เห็นภาพ
แต่ถ้าหากได้ไปสัมผัสจริงคงวาสนาดีแน่ๆ..ครับอาจารย์...

สวัสดีค่ะพี่ผศ.วิไล...ชื่นชม "แดงบางกอก" มากนะคะ...ฝรั่งสีแดงที่คนไทยเป็นผู้พัฒนาพันธุ์...

  • ขอบคุณ "คุณผู้เฒ่า สวนไผ่" (ที่ยังไม่เฒ่า) มากนะคะ ที่แวะมาให้กำลังใจ 
  • ที่ท่านบอกว่า "สุดยอดเลยงานครับนี้..ถึงแม้ไม่ได้ไปเองก็ต้องขอขอบคุณอย่างสูงยิ่งที่ได้สัมผัสบรรยากาศเสมือนจริง...เป็นบุญแล้วหละที่ได้เห็นภาพ แต่ถ้าหากได้ไปสัมผัสจริงคงวาสนาดีแน่ๆ..ครับอาจารย์..." ไอดินฯ ปลื้มใจแทนผู้จัดงาน ค่ะ และดีใจที่ท่านชอบภาพที่นำเสนอ ถ้าไอดินฯ มีบุญวาสนา ก็คงจะมีโอกาสไปเยี่ยมชม "ศูนย์เรียนรู้สวนไผ่" ของท่านนะคะ ชื่นชอบตรงที่มีการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมในการใช้คูโบตมไถนา มีการปลูก พืช ผัก สมุนไพร เลี้ยง เต่า หอย ปู ปลาด้วยวิถีธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกป่าทำให้เกิดเห็ดป่าธรรมชาติหลายชนิด
  • สมัยเด็กๆ ไอดินฯ แอบย่องตามหลังแม่ที่ออกจากบ้านแต่เช้ามืดเพื่อไปเก็บเห็ดในป่า (ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก) เป็นประจำ ห้ามยังไงก็ไม่ฟัง สุดท้ายแม่ต้องใช้เชือกผูกตัวไอดินฯ ติดกับเสาใต้ถุนบ้าน แล้วเด็กที่จะทำอะไรต้องทำให้ได้อย่างไอดินฯ มีหรือจะยอมแพ้ แต่กว่าจะดิ้นรนจนหลุดจากเครื่องพันธนาการได้ ก็เป็นเวลานานมาก แล้วก็วิ่งไปควานหาแม่ในป่าตั้งแต่ตอนสายจนบ่าย เมื่อไม่เจอแม่ก็ไม่ยอมกลับ จนแม่ต้องกลับเข้าไปในป่าอีกรอบเพื่อไปตามหาลูก กว่าจะเจอกันก็ตกเย็น โดยที่ไอดินฯ ไม่มีอะไรตกถึงท้องมาตั้งแต่เช้า...ถ้าได้ดูการปลูกป่าของท่านจะได้มีแนวคิดนำปทำบ้าง เพราะมีที่ๆ น่าจะทำได้ซึ่งที่ผ่านมาก็พอมีเห็ดให้เห็นบ้างค่ะ

 

ชอบดอกบัวที่สุดค่ะ เป็นดอกไม้ประจำชาติเวียตนามค่ะ

สนใจไม้ดอกไม้ประดับค่ะ เพราะบ่อยๆ ที่ออกแบบสวนให้ลูกค้าค่ะ

ขอบคุณบทความดีๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • หนูชอบ แก่นตะวัน ค่ะ เคยซื้อไปทานแล้ว อร่อยมากค่ะ เพิ่งรูจักชื่อ และเพิ่งทราบสรรพคุณทางยาวันนี้เองค่ะ
  • ขอบพระคุณมากนะคะ
  • ขอบคุณ "น้อง ดร.พจนา แย้มนัยนา" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจพี่...น้องบอกว่า "ชื่นชม "แดงบางกอก" มากนะคะ...ฝรั่งสีแดงที่คนไทยเป็นผู้พัฒนาพันธุ์" ใช่ค่ะ น่าชื่นชมมาก ไม่ทราบว่า กรมส่งเสริมการเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ได้แนะนำให้จะสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ไปแล้วหรือยัง
  • ขอบคุณน้องและ "MR.Lorne Hoffman" มากนะคะ ที่ทำให้พวกเราชาว GotoKnow ได้รู้จักเรื่องราวหลากหลายในประเทศแคนาดา

สวัสดียายไอดินฯ

ขอบคุณยายไอดินมีอะไรดี ๆ มาฝากเพื่อนๆชาว GTK มากมาย (ถ้ามีการให้คะแนนในการเขียนบล๊อก ป๋าเดให้ยายไอดินที่ ๑ ส่วนที่ ๒ ก็มีให้แต่อยู่ในใจ ไม่บอก555) ผมไม่ได้เข้าหาเพื่อน ๆ เสียนานเพราะแอร์การ์ดหมดกะตางค์ พึ่งไปเติมและมันก็เข้าไม่ได้เสียนาน พึ่งเข้าได้วันนี้ ....ขออนุญาต Save ไว้อ่านนะคร้าบ   อ้อลืมไปว่าวันนี้ฝนจะตกหนักที่อุบลฯยายไอดินระวังไว้บ้างเด้อ.....

ขออนุญาตเข้าใหม่อีกครั้ง วันที่ ๙ พ.ย.๕๖ ยายไอดินไปทำบุญแต่ป๋าเดไปคัดเลือกตัวแทนจังหวัด (สว) ที่สนามวัดราชมณฑป (วัดหลวงพ่อโต) เพื่อที่จะไปแข่งขันที่ภูเก็ตปีหน้า (แนะนำให้ยายไอดินไปคัดตัวแทนผู้ สว.จังหวัดอุบลในประเภทร้องเพลงคาราโอเกะ 555) ป๋าเดตีออก ๖๐ คะแนน นำมาอันดับ ๑ ร่วมกัน ๓ คนมีป๋าเด คุณอุดม และคุณบรรเจิด คนที่ได้ที่ ๒ ตีออก ๕๒ โอกาสที่จะติดตัวจังหวัดค่อนข้างสูง เหลือคัดตัวอีก ๒ ครั้ง คือเดือน ม.ค.และเดือน ก.พ.ปี ๕๗ ผลเป็นประการใดจะแจ้งข่าวนะคร้าบ.....

  • ขอบคุณ "คุณ Bright Lily" มากนะคะ ที่ไปเที่ยวชม "งานเกษตรอีสานใต้" กับไอดินฯ
  • คุณบอกว่า "ชอบดอกบัวที่สุดค่ะ เป็นดอกไม้ประจำชาติเวียตนามค่ะ สนใจไม้ดอกไม้ประดับค่ะ เพราะบ่อยๆ ที่ออกแบบสวนให้ลูกค้าค่ะ" ผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบดอกไม้นะคะ และผู้หญิงสวยกับดอกไม้ก็เป็นของคู่กันอยู่แล้ว ยิ่งคุณ Bright Lily ได้ออกแบบสวนให้ลูกค้า ก็ยิ่งได้ใกล้ชิดกับดอกไม้นะคะ

  • ชอบดอกบัวเหมือนกันเลยค่ะ

  • ได้อ่านบันทึกของคุณ เรื่อง "Happy Daily : Happy hour... Happy soul" (http://www.gotoknow.org/posts/552847) ซึ่งได้แสดงความเห็นไว้ว่า "ตอนเด็กๆ วัยรุ่นตอนต้น อรชอบเอาเพลงที่ชอบๆ มานั่งแปลประมาณ learning English by song  รู้สึกว่าเพลิดเพลินและไม่น่าเบื่อค่ะ หากนำไปเป็นสื่อการสอนก็น่าสนใจนะคะ" ขอนำไปอ้างอิงในบันทึกต่อไป ในประเด็นที่ว่าด้วยการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

 

ขอบคุณค่ะที่แบ่งปันข้อมูล เหมือนคนบึงกาฬ ได้ไปชมงานที่อุบลฯ เลยค่ะ  ชอบแก่นตะวันด้วยค่ะ 

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...

-ตามมาชมงานเกษตรอีสานใต้ครับ....

-ได้ข้่อมูลพร้อมกับภาพกิจกรรมภายในงานอย่างครบครัน....

-การเรียกชื่อ"ซุ้มบวบ"แทน"อุโมงค์บวบ"จะได้นำไปบอกต่อเพื่อความถูกต้องตามความหมายที่อาจารย์แม่ไอดินได้แนะนำไว้ครับ มีหลายครั้งที่ไปศึกษาดูงานและได้เห็นการใช้"คำว่าอุโมงค์แตง อุโมงค์ฟัก,บวบ" น่ะครับ

-อาจารย์แม่ไอดินบอกเอาไว้ว่า"การแสวงหาต้นไม้ที่เคยได้พบเห็นในอดีตครั้งยังใช้ชีวิตอยู่กับแม่ เป็นสิ่งหนึ่งที่ไอดินฯ ทำ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสุขในวัยเด็ก และทำให้คิดถึงภาพเก่าๆ คราวที่อยู่กับแม่" อ่านแล้วก็ตรงกับใจผมเช่นกันครับ ที่หลาย ๆ เรื่องราวที่ได้พบในเวลานี้ ทำให้ผมได้รำลึกถึงความหลังครั้งที่เป็น"ละอ่อน"และมีความสุขกับ"วันวาน"ได้ครับ....

-งานอีกสานใต้ สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันหยุดที่ผ่านมา....แต่ในขณะเดียวกัน วันเสาร์ที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมกิจกรรม"กินหมู"ในหมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมนี้จะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการ"แก้บน"โดยทำหมูไปเคารพสิ่งศักดิ์ที่เคารพนับถือหลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจหรือได้รับในสิ่งที่ตั้งใจไว้น่ะครับ....หลังจาก"กินหมู"แล้ว ช่วงบ่าย ๆ ผมก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยม"ตาทอง"คนปลูกยาสูบ..มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่"ตาทอง"ก็ปลูกยาทุกปี....

-งานนี้จากที่ตั้งใจไว้ว่าจะไปเก็บภาพ"ต้นยาสูบ"อย่างเดียว...แต่ิสิ่งที่ผมได้รับรู้มันมากเกินกว่าที่ได้ตั้งใจไว้ครับ....คุ้มสจริงๆ  

-ฝากถาม...อาจารย์แม่ไอดิน..เคยลอง"เคี้ยวหมาก"ไหมครับ??...

-ขอบคุณครับ...

  • สวัสดี อาจารย์แม่ ครับ
  • ได้ถือโอกาสเดินเที่ยวงาน "เกษตรอีสาน: เกษตรไทยสู่อาเซียน"
  • วันนี้ได้ความรู้ "ปลาสวย" นั้นเรียกว่า ปลาดอลลี่ นี่เองครับ
  • อยากสอบถามว่า "ปลาเค็มบักนัด" เป็นเช่นไรครับ?
  • ขอนำภาพ "พระธาตุ เมืองนครฯ" มาฝากครับ 

 

  • ขอบคุณ "คุณมนัสดา" คนงามเมืองมหาสารคาม มากนะคะ ที่มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ไอดิน-กลิ่นไม้ ใกล้ปีใหม่แล้วเห็นคนงามๆ ได้ความคิดทำอัลบั้มภาพกัลยาณมิตรของไอดิน ฯ คุณมนัสดาเป็นหมายเลข 1 ค่ะ เพราะเป็นคนกระตุ้นแรงจูงใจในการทำอัลบั้มนี้ (ขณะตอบความเห็นคุณมนัสดา ได้รับทราบข่าววัยรุ่นมหาสารคามพบอุบัติเหตุถูกประทัดระเบิดทำให้มือขาด เป็นเหตุการณ์ซ้ำๆ นะคะ ไม่อยากได้ยินเลย) 
  • ดีใจค่ะ ที่บันทึกนี้ทำประโยชน์ให้คุณมนัสดาที่บอกว่า เคยทานแก่นตะวันมาแล้ว แต่เพิ่งทราบชื่อและสรรพคุณ ปกติแล้วไอดินฯ จะไม่ค่อยเชื่อถือสรรพคุณที่คนขายบรรยาย แต่จะเชื่อถือมากกว่า ในข้อมูลจากหน่วยงานราชการ ดังที่ สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ให้ Slogan ไว้ว่า "แก่นตะวัน ไม้ดอกประดับบ้าน พืชอาหารสมุนไพร" และได้ระบุสรรพคุณของแก่นตะวันไว้ ว่า ๑) ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรความดันโลหิตสูง และลดไขมันในเลือด ๒)  ขับปัสสาวะ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ๓) ช่วยเจริญอาหารกระตุ้นการหลั่งของน้ำดี ๔) ช่วยป้องกันโรคอ้วน
  • ขอบคุณ "ป๋าเด" นะคะ ที่หายหน้าหายตาไปหลายวัน แต่แล้วก็กลับมาเยี่ยมยายไอดินฯ จนได้พร้อมเตือนภัยฝนตกหนัก เมื่อวานยายไอดินฯ เข้าเมืองไปเยี่ยมญาติ ขนหนังสือจากบ้านในเมือง + เก็บลูกฟักข้าว และซื้อเสบียง ไม่มีฝนเคยนะคะ
  • ขอบคุณป๋าเดที่ให้กำลังใจว่า "ถ้ามีการให้คะแนนในการเขียนบล๊อก (บล็อก) ป๋าเดให้ยายไอดินที่ ๑...อย่าเอ็ดไป อายเค้า คนเขียนมีเป็นแสน ป๋าเดอ่านอยู่กี่คนเชียวคะ เดี๋ยวจะถูกมองว่า เชียร์คนบ้านเดียวกัน (ยโสธร) นะคะ"
  • ป๋าเดเคยบอกว่าถ้ามีงานบุญให้บอกบ้างจะได้ร่วมทำบุญ แต่ยายไอดินฯ เกรงใจค่ะ ที่ทำต้นกฐินคราวนี้ในส่วนของยายไอดินฯ ก็ด้บอกพี่สาวคนโตเท่านั้น
  • ขอให้ป๋าเดติดตัวจังหวัด ได้ไปแข่งที่ภูเก็ตนะคะ
  • ป๋าเดบอกว่า "แนะนำให้ยายไอดินไปคัดตัวแทน สว.จังหวัดอุบลในประเภทร้องเพลงคาราโอเกะ 555" แม้ยายไอดินจะเคยเป็นนักร้องวงสโมสรอาจารย์วิทยาลัยครูสุรินทร์ วิทยาลัยครูอุบลฯ แต่ก็ไม่ชอบไปเที่ยวร้องเพลงคาราโอเกะนะคะ และก็ไม่ร้องโดยไม่จำเป็น งานรับน้องเกษียณมีแต่คนขอให้ขึ้นร้องเพลง แต่ยายไอดินฯ ก็ปฏิเสธแล้วจัดคนที่ควรให้ได้มีโอกาสร้อง ร้องแทน อย่างเช่น ผู้เกษียณฯ และอดีตอธิการบดีที่ท่านร้องเพลงเพราะ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ร้อง คนอื่นไปขอแต่ท่านปฏเสธ ยายไอดินฯ เลยให้พิธีกรบอกว่ารุ่นน้อง (วิชาเอกภาษาอังกฤษ) ขอเพลงธาราระทม ท่านก็ไม่ปฏเเสธนะคะ
  • ยายไอดินฯ ย้อนไปดูบันทึกของป๋าเดตั้งแต่เรื่องแรก และประมวลภาพที่คิดว่าสำคัญให้นะคะ ถ้าต้องการให้แก้ไข อย่างไรก็บอกได้นะคะ
  •  

 

  • ไอดิน-กลิ่นไม้ รู้สึกชื่นชมและขอขอบคุณ "กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ" ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่ม 3 คนคือ คุณสัมรวย มีจินดา หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช  คุณนิภาภรณ์ ดู่ป้อง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และคุณ คณิสร ศรีทองอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ซึ่งได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาอัพเดตข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ศัตรูพืช โรคพืช การป้องกันกำจัด การดูแลรักษา หรือข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกพืช ในจังหวัดบึงกาฬ โดยได้เริ่มเขียนบันทึกใน GotoKnow มาแล้ว 11 เดือน ในด้านการให้บริการชาวบึงกาฬนั้น มีทั้งการจัดอบรมและการลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรโดยตรง นับเป็นบริการของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่น่าชื่นชมยิ่งนัก
  • ที่อุบลฯ ไม่พบบริการในลักษณะนี้ ไอดิน-กลิ่นไม้ จึงได้ขอเข้าไปเรียนรู้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บันทึกเกี่ยวกับยางพารา และพืชผัก ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ 
  • และขอขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ใน Blog นี้ ด้วยนะคะ 
  • ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจอาจารย์แม่ไอดินเสมอมา แถมยังเขียนบันทึกหลายๆ เรื่องที่ทำให้อาจารย์แม่ไอดินมีความสุข เพราะเรื่องที่คุณเพชรเขียนได้กระตุ้นเตือนให้อาจารย์แม่หวนรำลึกถึงชีวิตแต่หนหลัง อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์แม่ไอดินสานต่อการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านพืชสมุนไพร ไม้ป่า พืชผักและไม้พื้นถิ่นอีกด้วย
  • ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์แม่ไอดินได้เรียนไปแล้ว ก็คือ จะขอนำภาพและสารสนเทศจากบันทึกของคุณเพชร ไปเป็นกรณีตัวอย่างการสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยหน่วยงานในชุมชน (ซึ่งวางแผนไว้ว่า จะลงภายในพรุ่งนี้ค่ะ)
  • เมื่อววานนี้ อาจารย์แม่ไอดินได้เริ่มแต่งภาพแนะนำ "กัลยาณมิตร GotoKnow" ค่ะ ไม่ได้เรียงตามความใกล้ชิดหรอกนะคะ แต่เรียงตามลำดับที่เข้ามาแสดงความเห็นในบันทึกของอาจารย์แม่ จากเมื่อวานเป็นต้นมา ค่ะ คุณเพชรน้ำหนึ่งเป็นลำดับที่สามนะคะ ดังภภาพล่าง
  • ขอบคุณ "ว่าที่ครูอาร์ม" มากนะคะ ที่เที่ยวชมงานเกษตรอีสานใต้ไปกับ Blog ของอาจารย์แม่ พร้อมมีคำถาม "เค็มบักนัดคืออะไร"
  • “เค็มบักนัด” หรือ "เค็มสับปะรด" คำว่า "บัก" เป็นภาษาอีสานใช้นำหน้าชื่อผลไม้ เช่น มะเฟือง จะเรียกบักเฟือง เป็นต้น "นัด" คือ "สับปะรด" ในภาษากลาง เค็มบักนัดเป็นอาหารพื้นบ้านโบราณของชาวอุบลฯ มาช้านาน เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร โดยการดองเค็มเพื่อให้สามารถเก็บไว้กินได้นานเป็นปี ซึ่งการทำเค็มบักนัด ส่วนใหญ่จะเลือกใช้เนื้อปลาเทโพหรือปลาสวายติดหนัง นำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำมาคลุกเคล้ากับเกลือสินเธาว์ และเนื้อสับประรดสุกที่สับละเอียดไว้ คลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วบรรจุใส่ขวด ปิดฝาให้แน่น หมักดองเก็บไว้จนได้ระยะเวลาที่เหมาะสมก็นำมากินได้ สามารถนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ที่เป็นที่รู้จักดี คือ หลนเค็มบักนัด ค่ะ
  •                             
  • ช่วงนี้ คงออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ในภาคเรียนที่สองนะคะ 
  • ขอบคุณ "น้องอิน" น้องสาวจากอตรดิตถ์ และ "น้อง ดร.โอ๋-อโณ " น้องสาวจากสงขลา มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้เป็นกำลังใจให้พี่ไอดินฯ จากที่น้องโอ๋บอกว่า "...วาระที่ครอบครัวของเราต้องส่งวิญญาณคุณย่าของสามหนุ่มให้ไปสู่ภพภูมิอื่น ที่ท่านจะได้พ้นทุกข์จากอาการเจ็บป่วยที่รุมเร้าอยู่ เวลา 2 ปี ที่ท่านมาอยู่ใกล้ๆ ให้พวกเราได้ดูแลนั้นช่างสั้นจริงๆ" ...พี่ว่าเวลา 2 ปี อาจสั้นไปสำหรับน้องโอ๋ แต่ก็คงมากพอที่จะทำให้คุณย่าของ 3 หลานได้รับความสุขจากการเห็นถึงความใส่ใจของทุกๆ คนที่มีต่อท่านนะคะ
  • ยินดีมากค่ะ ที่ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ (สมาชิภาพ 7 เดือน) ของ GotoKnow "คุณมิตรภาพ 639 : คุณสุนทร กาคำผุย" เข้าใจว่า ท่านเป็นรั้วของชาติ ที่สุรินทร์ (ชื่อของท่านพ้องกับชื่อของน้องชายคนเล็ก และพี่เขยคนที่สองของไอดินฯ)
  • ขอบคุณมากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจไอดินฯ คุณมิตรภาพเขียนบันทึกได้ดีทีเดียวค่ะ เรื่องที่น่าสนใจ ที่ไอดินฯ ขอเชิญชวนให้กัลยาณมิตรเข้าไปอ่าน คือ บันทึกแนะนำประเพณีที่หาชมได้ยาก เรื่อง "บวชนาคช้าง มหัศจรรย์สุรินทร์เมืองช้าง" ที่ http://www.gotoknow.org/posts/537255 ดังตัวอย่างภาพข้างล่าง นะคะ
  •  

 

มาแจ้งอาจาย์แม่ว่า ได้ลาออกจากอาจารย์แล้ว

ตอนนี้เป็นนักวิชาการอิสระ

เลยมีเวลามากกว่าปกติครับ

  • ขอบคุณค่ะ "ลูกขจิต" ที่ช่วยไขข้อสงสัยของอาจารย์แม่ ตอนนี้ลูกขจิตคงสนับสนุนให้คุณครูในโรงเรียนที่ลูกขจิตไปดูแล เขียนบันทึกใน GotoKnow ใช่ไหมคะ เมื่อกี๊อาจารย์แม่เปิดเข้าไปดูบันทึกของคุณครูชายที่ปรากฏในหน้าแรก รู้สึกว่าจะเห็นเฉพาะชื่อบันทึก แต่ไม่มีเนื้อหา ลองเข้าไปดูด้วยนะคะ 
  • อาจารย์แม่เห็นลูกขจิตสงสัยเกี่ยวกับไม้ 3 ชนิด เลยนำภาพไม้ที่ปลูกในฟาร์มมาให้ดู ต้นขวาสุดเพิ่งออกไปถ่ายชั่วโมงที่ผ่านมาค่ะ

  •  

เหมือนได้ไปเที่ยวชมด้วยเลยค่ะเล่าให้ทราบอย่างละเอียดพร้อมเพิ่มสรรพคุณสมุนไพรดีมากๆเลยค่ะ

พรุ่งนี้ดาจะยำคะน้้าใส่แก่นตะวันค่ะ ขอบคุณมากนะคะ

 

  • ขอบคุณ "น้องดา " มากนะคะ ที่มาเยี่ยมและให้กำลังใจพี่ พี่ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมน้องดานานพอดู ไปเจอบันทึกของน้องดาเรื่องเซียนท้อ มีคนรู้จักเคยให้ต้นเล็กไปปลูก พี่ปลูกไว้ที่ฟาร์มต้นยังไม่โตมากแต่ปีนี้ได้กินผลแล้วค่ะ (เพิ่งติดไม่กี่ลูก) พี่ชอบที่มีกลิ่นหอม ที่น้องดานำมาให้ดูน่าทานมากเลยค่ะ
  • เรื่องล่าสุดที่น้องดาเขียนเรื่องกุ่มบก ตอนเด็กๆ พี่เคยเก็บไปให้แม่ดอง แม่บอกว่ามีสองชนิดคือผักกุ่มและผักก่าม พี่ให้ความเห็นไว้ที่บันทึกของน้องดา และนำภาพที่ได้จากการสืบค้นไปให้น้องดาดูด้วยค่ะ ภาพที่น้องดานำมาให้ดู ดอกสยจังนะคะ
  • แก่นตะวันทำยำได้ด้วยเหรอคะ พี่จะติดตามอ่านนะคะ ท่าจะอร่อยนะคะที่ยำใส่คะน้า ยำปลาช่อนแดดเดียวที่น้องดานำมาให้ดูก็น่าอร่อยมากค่ะ อาหารไทยพี่ชอบอาหารประเภทยำ ยิ่งมีหอม ตะไคร้ยิ่งชอบ ขอบคุณมากนะคะที่นำมาฝาก
  •  

 

อิ่มความรู้...อิ่มตา..อิ่มใจ..ไปกับสาระและภาพงดงามมีชีวิตชีวาที่ปรากฏในทุกบันทัดเช่นนี้ เห็นความตั้งใจจริงในการถ่ายทอดสาระดีๆมาแบ่งปันกันเสมอๆ ขอบคุณมากๆค่ะ

สวัสดียายไอดินฯ

ร้องเพลงคาราโอเกะเป็นกีฬาชนิดหนึ่งใน ๙ ชนิดที่ สว.เขาแข่งขันกัน ตอนไปแข่งที่อุบลฯเขาก็แข่งขันกันแต่ป๋าเดไม่ได้ไปดูเพราะป๋าเดแข่งวู้ดบอลจ้า....ที่ภูเก็ตปีหน้าก็มีแข่งขันกันนะไม่ใช้พูดแซวเล่น....มีเรื่องเล่าวันก่อนไปนั่งดูชมรมลีลาศเขาซ้อมกันที่เทศบาลหัวรอ.....ป๋าเดเลยออกไปวาดลวดลายกับเขาประมาณเพลงสองเพลงในจังหวะลาติน พอ กลับมานั่ง ประธานชมรมบอกป๋าเดว่า เอออาจารย์เดใช้ได้นี่หว่า อาจารย์ไปแข่งขันรุ่น ๖๐ ปีนะ ผมจะหาคู่เต้นให้ ป๋าเดไม่ตอบแต่ก็ยิ้มขอบคุณ.....จะไปแข่งวู้ดบอลจ้า ไปแข่งขันลีลาศลูกน้องป๋าเดเป็นประธานตัดสิน (ผศ.ดร.สักดิ์)..........
เกิดป๋าเดชนะเลิศประเดี๋ยวจะหาว่าเข้าข้างกัน จึงไม่ไป 555

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิไลที่เคารพ

ครูหยินตามมาขอคำปรึกษา บางเรื่องค่ะ

คือว่า.....ครูหยินได้ทุ่มเทชีวิตมา กว่า 20 ปี หวังสร้างวินัย ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ต่อสิ่งแวดล้อม

ก็อพอได้ผลอยู่ค่ะ ปี 2552 ครูหยินจึงเปิด โครงการธนาคารความดีกู้วิกฤตชีวิตโลก

เพียงหวังให้ทุกคนได้เห็นคุณค่า ตระหนักในส่ิงแวดล้อมรอบตัวด้วยปฏิบัติจริงมิใช่ คำพูด

ปี 2554 จึงเปิดวิชา ขยะที่รัก

ซึ่งครูหยินพายยามคิด และค้นเนื้อหา รวมทั้ง กิจกรรมด้วยตัวเอง จึงไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร

ปีนี้จึงพยยามปรับหลักสูตรอยู่...จึงอยากขอคำปรึกษา ช่วยดูว่าพอจะใช้ได้บ้างมั๊ย

เพราะครูหยินศรัทธา และเชื่อมั่นในตัวของ อ.วิไล จากการคอมเมนต์ที่ตรงไปตรงมา

ครูหยินชอบมากที่สุด

จึงขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์อีกสักคน ช่วยคอมเมนต์หลักสูตร เพื่อปรับแต่งเพิ่มเติมให้มีคุณค่ามากที่สุด

ที่สามารถนำไปผใช้ได้จริง...สามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มศักยภาพจริง

เพราะชีวิตครูหยินก็เริ่มเหลือน้อยลง...จึงอยากฝากสิ่งสุดท้ายไว้ให้กับเยาวชนผู้ดูแลโลกรุ่นต่อไป

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

น้องต้องกราบขอโทษ "พี่ใหญ่" ด้วยนะคะ ที่ไม่ได้เข้า GotoKnow เป็นเวลานาน ทำให้เพิ่งเห็นว่า คุณพี่ได้เข้ามาเยี่ยม และมีปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจให้น้องด้วยจิตเมตตาเช่นเคย น้องขอขอบพระคุณคุณพี่เป็นอย่างยิ่งค่ะ

ยายไอดินฯ ต้องขอโทษ "ป๋าเด" ด้วยนะคะ ที่ไม่ได้เข้ามาดูบันทึกนี้หลายวัน ทำให้ไม่ทราบว่ามีกัลยาณมิตร 3 ท่านเข้ามาเยี่ยม

ยายไอดินฯ ตามไปดู Blog ของป๋าเด ถึงได้รู้ว่า เที่ยวนี้มาแปลกลงบันทึกต่อกันถึง 3 เรื่อง (มีเรื่องที่ 110 ซ้ำกัน 2 เรื่องนะคะ) ยายไอดินฯ ชอบเรื่อง "การพัฒนาภูมิทัศน์.......จัดให้ดูดี" (http://www.gotoknow.org/posts/554571) ที่ป๋าเดเขียนเกี่ยวกับการจัดหาศาลาไทยที่นั่งพัก และพัฒนาภูมิทัศน์ของ "ชมรมชมรมวู้ดบอลเทศบาลตำบลหัวรอ" ป๋าเดเยี่ยมมาก ยายไอดินฯ ชื่นชมในความมีวิสัยทัศน์ และการเป็นนักพัฒนานักบริหารจัดการของป๋าเดจริงๆ ค่ะ

ยายไอดินฯ เพิ่งรู้ว่า "ร้องเพลงคาราโอเกะ" เป็นกีฬาชนิดหนึ่งใน 9 ชนิดที่ สว.เขาแข่งขันกัน ตอนแรกนึกว่าแซวเล่น แต่ยังไงยายไอดินฯ ก็ไม่เหมาะหรอกค่ะ เพราะแม้จะเคยเป็นนักร้องวงสโมสรอาจารย์ แต่ร้องเพลงประเภทอมตะนิรันดร์กาล (ของนักร้องหลายคน แต่ที่อาจารย์สว.ชอบขอ คือ เพลงรวงทองค่ะ) พี่สาวคนติดกันถึงจะเหมาะเพราะเป็นคนชอบร้องคาราโอเกะและร้องบนรถนำเที่ยว แนวลูกทุ่งและหมอลำที่ถูกรสนิยมของคนฟังค่ะ

ยายไอดินฯ ชอบดูการประกวดลีลาศเพลงลาติน ว้าว! ป๋าเดเต้นได้ดีด้วย เสียดายจัง ไม่มีโอกาสได้ดู

"ครูหยินบอกว่า "ครูหยินตามมาขอคำปรึกษา บางเรื่องค่ะ คือว่า.....ครูหยินได้ทุ่มเทชีวิตมา กว่า 20 ปี หวังสร้างวินัย ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ต่อสิ่งแวดล้อม ก็อพอได้ผลอยู่ค่ะ ปี 2552 ครูหยินจึงเปิด โครงการธนาคารความดีกู้วิกฤตชีวิตโลก เพียงหวังให้ทุกคนได้เห็นคุณค่า ตระหนักในสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยปฏิบัติจริงมิใช่คำพูด ปี 2554 จึงเปิดวิชา ขยะที่รัก ซึ่งครูหยินพยายามคิด และค้นเนื้อหา รวมทั้ง กิจกรรมด้วยตัวเอง จึงไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร ปีนี้จึงพยายามปรับหลักสูตรอยู่...จึงอยากขอคำปรึกษา ช่วยดูว่าพอจะใช้ได้บ้างมั๊ย (มั้ย) ..."

ไอดินฯ ได้ตามไปคุย/ถามในเรื่องที่คุณครูขอคำปรึกษา ใน Blog ของคุณครูเอง เมื่อสองวันที่ผ่านมา แต่จนนาทีนี้ก็ยังไม่เห็นคุณครูเข้าไปตอบนะคะ

ขอบคุณคุณครูมากค่ะ ที่ให้เกียรติครูอาวุโส บทบาทของคุณครูตามที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ทำให้ไอดินฯ ศรัทธาในตัวคุณครูมาก และเมื่อคุณครูขอคำปรึกษา ก็เต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยดูนะคะ แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแต่ก็จะใช้ประสบการณ์ที่มีในการพิจารณา ..แต่ปัญหาคือ ยังไม่เห็นหลักสูตรที่คุณครูกล่าวถึงเลยนะคะ คุณครูใส่ Link ไว้ที่คำว่า"ขยะที่รัก" ในข้อความ "จึงเปิดวิชา ขยะที่รัก" หรือเปล่าคะ แต่เปิดดูแล้วไม่มี Link จะส่ง File ไปให้ที่ [email protected] ก็ได้นะคะ

ไอดินฯ ขอนำภาพข้างล่างที่รวบรวมจากบันทึกของคุณครู ไปอ้างอิงในบันทึกเรื่อง "ยุทธศาสต์การคิด/ทำแบบกลับทางอย่างรอบด้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน" ที่จะลงในลำดับต่อไปด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณอาจารย์แม่

ตอนนี้เป็นนักวิชาการอิสระ

สบายใจดีครับ

ผมคิดว่าว่านตะขบ เพชรสังฆาตและพญาไร้ใบเป้นชนิดเดียวกัน

ขอบคุณมากๆที่ให้ความกระจ่างครับ

-ป๋าเดขอบคุณยายไอดินฯ ที่เยี่ยมชมบล๊อกของป๋าเด และก็เป็นคุณยายละเอียดเหมือนเดิม ขอบคุณมากครับ ผมเองก็เห็นความผิดพลาดของตนเองเหมือนกันแต่ยังไม่ได้เข้าไปแก้ไข

-การพัฒนาสนามก็จะทำต่อไป...เมื่อวานนี้ไปทำสนามเพิ่มอีกสนามที่หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ ๓๔ ศาลสมเด็จพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (โรงทอเดิม) ต.หัวรอ ห่างจากสนามเดิม ๑ กม.เป็นสนามที่สวยงามมาก (จะถ่ายภาพให้ดู) หลังจากทำเสร็จก็ปรึกษาพรรคพวกอย่างไม่เป็นทางการว่าพวกเราจะไม่ทอดทิ้ง (?) สนามเทศบาลหัวรอนะ เพราะพวกเราสร้างมากับมือ พวกเราจะแบ่งเวลาให้สนามหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ เป็นบ่ายวันพุธ (วันกีฬาทหาร) พอ ๕ โมงเย็นพวกสว.หญิงให้ไปรำวงมาตรฐานต่อที่เทศบาลหัวรอ และวันเสาร์นัดเวลา ๑๐ โมงเช้าซ้อม ๒ รอบจะถึงประมาณเกือบเที่ยงก็จะทานข้าวด้วยกันโดยให้ทุกคนพกกับข้าว น้ำ ฯ มาด้วย ส่วนป๋าเดคงพกข้าวเหนียวหมูปิ้งมาร่วมด้วย 555

-ป่าเดเป็นนักบริหารจัดการชาวบ้านที่ดี แต่บริหารจัดการตัวเองไม่ได้เรื่อง.........

-เรื่องการร้องเพลงคาราโอเกะแข่งขันป่าเดได้ยินคนที่ไปแข่งขันเล่าให้ฟังว่า คนที่ชนะเลิศก็ร้องเพลงเก่าๆทั้งนั้น จังหวัดพิษณุโลกเคยชนะเลิศประเภทชายที่จังหวัดนครสวรรค์ รุ่งขึ้นอีกปีแกไปร้องต่อที่อุบลฯกรรมการเขาแซวแกว่าร้องแต่เพลงเดิม แกกลัวเสียหน้าแกเลยเปลี่ยนเพลง...ปรากฎว่าพลาดเพราะไม่ได้ซ้อมมาเลยตกรอบอดเข้าชิง.... ตอนหลังมาใครชนะเลิศปีต่อไปไม่ให้แข่ง (ให้คนอื่นบ้าง) ผมไม่ทราบแต่ละจังหวัดคัดเลือกกันอย่างไร พิษณุโลกต้องแข่งขันรอบคัดเลือกในจังหวัดนะ......

-ป่าเดเรียนลีลาศมาจ้า...แต่เป็นลีลาศสมัยเก่ามันสู้แบบสมัยใหม่ไม่ได้ คือไม่ทันสมัย (อายเขา) วันก่อนเขาสอนลีลาศกันที่เทศบาลหัวรอ ป๋าเดเต้นกับครูสอน ครูสอนบอกว่า อาจารย์เต้นแบบเก่า ป๋าเดก็บอกว่าใช่ ...

-ชมรมลีลาศพิษณุโลกเขาหาเงินเก่งมาก (วู้ดบอลหาเงินบ่เป็น) วันที่ ๒๙ พ.ย.๕๖ เขาจัดงานลิลาศกันที่ ม.ราชภัฎพิบูลสงคราม และทุกปีป๋าเดก็ซื้อบัตรช่วยเขา แต่ปีนี้ปฎิเสธไม่ไป เพราะพรรคพวกจากเพชรบุรีและชลบุรีมาแข่งวู้ดบอล ๓๐ พ.ย. ๕๖ ที่โรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล ทางไปพรหมพิราม ป๋าเดต้องดูแลพรรคพวกจึงไม่ได้ไปทั้งๆที่อยากจะไป...

มาแจ้งอาจารย์แม่ว่า

ขออนุญาต นำภาพนี้ไปใส่ในบันทึกนะครับ

ขอบคุณมากๆครับ

ทุกบันทึกของอาจารย์น่าสนใจมากจริง ๆ เลยนะครับ

..

ขอบพระคุณอาจารย์ครับ

ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ "ลูกขจิต" ตามไปดูและเห็นในบันทึกแล้วค่ะ แต่ยังไม่ได้อ่าน จะตามไปอ่านอีกทีนะคะ

ขอบคุณ "คุณแสงแห่งความดี" มากนะคะ ที่ให้กำลังใจ

ไอดินฯ ก็ซาบซึ้งในทุกบันทึกของคุณแสงที่ได้อ่าน และจะขอนำบทบาท "พ่อ" ที่น่าประทับใจของคุณแสงไปอ้างอิงในบันทึกต่อไปด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท