พฤติกรรมการกินส่วนบุคคล : ปัญหาสุขภาพของตน : ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ


รายงานฉบับล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ ระบุว่า โรคที่เกิดจากการรับสารอาหารไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย ได้แก่ โรคอ้วนและโรคขาดสารอาหาร กำลังทำลายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ อย่างประเมินค่าไม่ได้


(ขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพ ที่ผู้เขียนได้นำมาประกอบบันทึกนี้)  

       บรรณาธิการ "Voice TV" กล่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ความว่า "โดยทั่วไป ผู้คนมักเข้าใจว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก ก็คือ ราคาน้ำมัน ราคาหุ้น ราคาทองคำ สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงภัยพิบัติธรรมชาติ แต่คนจำนวนมากอาจนึกไม่ถึงว่า เรื่องใกล้ตัวที่สุดอย่าง "จังก์ฟู้ด" หรืออาหารขยะที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวัน ก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน รายงานฉบับล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ ระบุว่า โรคที่เกิดจากการรับสารอาหารไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย ได้แก่ โรคอ้วนและโรคขาดสารอาหาร กำลังทำลายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างประเมินค่าไม่ได้ เพราะหากนับรวมค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคอ้วน มีมูลค่าถึง 42 ล้านล้านบาท ขณะที่ต้นทุนสำหรับแก้ปัญหาภาวะประชากรขาดสารอาหาร คิดเป็นร้อยละ 2-3 ของจีดีพีทั้งโลก หรือ 60 ล้านล้านบาท " (http://news.voicetv.co.th/global/71660.html)...ดูๆ แล้ว คนรุ่นปัจจุบันจะดูแลสุขภาพของตนได้ดีสู้คนรุ่นเก่าไม่ได้ ดังที่มีผู้กล่าวว่า "คนรุ่นเก่ากินอาหารเป็นยา แต่คนรุ่นปัจจุบันกินยาเป็นอาหาร"   

ผู้เขียนได้เข้าไปอ่านงานวิจัยตามการแนะนำของ "ดร.โอ๋-อโณ : กัลยาณมิตร GotoKnow(ซึ่งเป็นที่มาของการเขียนบันทึกเรื่องนี้) ที่ “http://aje.oxfordjournals.org/content/178/4/590 พบว่า งานวิจัยเรื่อง “Fruit and Vegetable Consumption and Mortality European Prospective Investigation Into Cancer and Nutrition” ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคผลไม้และผักกับความตาย (the relation between fruit and vegetable consumption and mortality) โดยได้ศึกษาจาก 451,151 ตัวอย่าง ใน 10 ประเทศยุโรป  (including 451,151 participants from 10 European countries) เก็บข้อมูลจากปี 1992 - 2000 และติดตามไปจนถึงปี 2010 ผลการศึกษา สรุปได้อย่างชัดเจนว่า การบริโภคผลไม้และผักมีความสัมพันธ์กับการลดลงของการเสี่ยงต่อความตาย โดยการรับประทานผักสดจะส่งผลดีกว่าการรับประทานผักสุก (Inverse associations were stronger for raw than for cooked vegetable consumption. These results support the evidence that fruit and vegetable consumption is associated with a lower risk of death.) …Am. J. Epidemiol. (2013) 178 (4):590-602.doi: 10.1093/aje/kwt006First published online: April 18, 2013

ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สอดคล้องกับผลวิจัยที่กล่าวมา คือ การที่คนอายุยืนและยังมีสุขภาพแข็งแรงดีทั้งหลาย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า อาหารที่ตนรับประทานเป็นปกติ คือ พืชผักผลไม้ที่ปลูกเองหรือที่มีในธรรมชาติ ซึ่งไร้สารพิษ แต่สำหรับท่านที่จำเป็นต้องซื้อผักรับประทาน ก็ขอให้ศึกษาคำเตือนของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับผักที่มีสารเคมีตกค้างมาก และคำแนะนำถึงวิธีกำจัดสารเคมีตกค้าง 


 

ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารนมภายใต้แบรนด์ “โฟร์โมสต์” ร่วมกับ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะโภชนาการ ภายใต้ โครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน (The South East Asia Nutrition Survey : SEANUTS) ว่า พบเด็กไทยส่วนใหญ่ เข้าข่ายโรคอ้วนและขาดสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ-ซี-ดี ชี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กไทย นางปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า รอยัล ฟรีสแลนด์คัมพิน่า ได้ให้การสนับสนุนโครงการสำรวจและวิจัยภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน โดยได้เก็บข้อมูลจากเด็กจำนวนกว่า 16,7480 คนใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลยเซีย เวียดนาม และประเทศไทย ด้วยตระหนักดีว่าผลการสำรวจและวิจัยจาก SEANUTS จะมีประโยชน์อย่างมากกับทุกหน่วยงาน ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการบกพร่อง และพัฒนามาตรฐานภาวะโภชนาการ เพื่อพัฒนาการที่สมวัยของเด็กๆ ในภูมิภาค (http://www.marketplus.in.th/data_detail.php?d_id=3612&td_id=1)

 ผลการเปรียบเทียบเด็กไทยกับเด็กจาก 3 ประเทศที่ทำการสำรวจ พบว่า เด็กไทยและมาเลเซีย มีปัญหาภาวะโภชนาการคล้ายกัน คือ มีน้ำหนักเกินและเข้าข่ายโรคอ้วน ขณะที่อินโดนีเซีย  ประสบปัญหาเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานและแคระแกร็นอย่างเห็นได้ชัด  ส่วนในเวียดนาม เด็กในเขตเมือง จะมีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนในขณะที่เด็กต่างจังหวัด มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน และแคระแกร็น  (http://news.voicetv.co.th/infographic/58802.html)


อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการเชี่ยวชาญโภชนาการ และผู้จัดการศูนย์ประสานงานโภชนาการสมวัย เปิดเผยข้อมูลว่า "...เด็กไทยวัยเรียน เดินมา 10 คน จะมีรูปร่างอ้วน หรือท้วมๆ ประมาณ 2-3 คน เด็กจำนวนมากขาดไอโอดีนและธาตุเหล็ก ซึ่งส่งผลทำให้ไอคิวต่ำ...เด็กไทยวัยเรียน ร้อยละ 49.6 กินขนมกรุบกรอบประจำ ...เด็กไทยจ่ายเงิน 1 แสนล้านบาทต่อปี เฉลี่ยคนละ 9,800 บาทต่อปี เพื่อซื้อขนมด้อยคุณค่า ในขณะที่จ่ายเงินเรียนหนังสือเพียง 3,024 บาท ...เด็กไทย 1 ใน 3 กินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงเป็นประจำ และเด็กไทยจำนวนมากกินผักผลไม้ไม่พอ เด็กควรกินผักวันละ 12 ช้อน แต่เด็กไทยกิน 1-2 ช้อนเท่านั้น...สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้ระยะเวลาที่ห่างกันเพียง 5 ปี เด็กไทยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 18 และประเทศไทยใช้เงินจำนวน 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคหัวใจหลอดเลือด" (http://www.thaihealth.or.th/partner/partner_stor/35552)

ในทางจิตวิทยา (Psychology) ซึ่งเป็นศาสตร์ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ นั้น เชื่อว่า “ค่านิยม (Value)” จะส่งผลต่อเจตคติ (Attitude) และการแสดงพฤติกรรม (Behaviors) ของบุคคล กล่าวคือ เมื่อบุคคลได้ให้คุณค่าให้ความสำคัญแก่สิ่งใด (มีค่านิยม) ก็จะมีความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งนั้น (มีเจตคติที่ดี) และนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติ (พฤติกรรม) ที่สอดคล้องสัมพันธ์กัน เช่น ถ้าเห็นว่า การรับประทานผักผลไม้มีประโยชน์มีคุณค่า ก็จะรู้สึกพึงพอใจที่จะรับประทานผักผลไม้ และมีพฤติกรรมการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำ  ผลการสำรวจในปี 2555 พบว่า คนไทยมีค่านิยมด้าน “สุขภาพ” มากที่สุด เห็นได้จากการให้คะแนนความสำคัญแก่ “สุขภาพ” มากที่สุด นั่นก็แสดงว่า คนไทยพึงพอใจต่อการประพฤติปฏิบัติที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพดี ซึ่งการบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม นับเป็นเหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพดี 

 

อินโฟกราฟฟิค ประจำวันที่ 29 สิงหาคม 2555 ระบุว่า การสำรวจความสุขและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการให้กลุ่มตัวอย่างระบุว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งพวกเขา เลือกให้ เรื่องสุขภาพมาอันดับ 1 ในขณะที่การศึกษา อยู่ในอันดับรั้งท้าย (http://news.voicetv.co.th/infographic/48899.html) 

 

ปัญหาเด็กชอบกินขนมขบเคี้ยว กรุบกรอบ ดื่มน้ำอัดลม และไม่นิยมรับประทานผักผลไม้นั้น ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคม ที่มีความสำคัญที่สุด ที่จะป้องกันปัญหาโดยการปลูกฝังค่านิยม เจตคติ และพฤติกรรมการรับประทานผักผลไม้ให้กับบุตรหลานตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งจะง่ายกว่าที่จะให้ทางโรงเรียนหรือองค์กรสังคมอื่นใดมาคอยตามแก้ปัญหา หลังจากที่เด็กติดนิสัยกินอาหารด้อยคุณค่าดังกล่าว ไปเสียแล้ว แต่ส่วนใหญ่แล้ว ครอบครัวก็มักไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง มักตามใจลูก โดยยอมให้ซื้อของกินตามความพอใจ แม้แต่หลานของผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิชาการสาธารณสุขก็ซื้อไก่ทอด น้ำอัดลมให้ลูกๆ กินเป็นประจำมาตั้งแต่เด็กๆ พอซักถามก็บอกว่า พวกเขาจะกินแบบนี้ อย่างอื่นไม่ยอมกิน ผักไม่กินเลย ผู้เขียนก็แนะนำว่า ถ้าลูกชอบของทอดกรอบก็ลองนำผักมาชุบไข่ทอดให้กินสิ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ เลยมีลูกเป็นเด็กอ้วน และโตเป็นสาวอ้วนหนุ่มอ้วนทั้งสองคน

ผู้เขียนเคยดำเนินการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) กับครูและผู้ปกครอง ในการจัดการศึกษาปฐมวัยในชนบทภายใต้ “โครงการบ้าน-โรงเรียนร่วมใจ” โดยการจัดการศึกษาคู่ขนานกันไประหว่างบ้านกับโรงเรียน ซึ่งการปลูกฝังค่านิยม เจตคติและพฤติกรรมการรับประทานผักผลไม้ นั้น ในโรงเรียนเด็กได้รับการจัดประสบการณ์ “หน่วยผักผลไม้ให้คุณค่า” เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ของผักและผลไม้แต่ละชนิด โดยใช้นิทาน (วีดิทัศน์ที่บันทึกจากรายการโทรทัศน์) การแสดงประกอบเพลง    และเกมการศึกษา เป็นต้น ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ได้กำหนดกิจกรรมเสริมพัฒนาการโดยให้ผู้ปกครองพาบุตรหลาน เก็บผักผลไม้ที่ได้ช่วยกันปลูกไว้ก่อนแล้ว ไปประกอบอาหารร่วมกัน หลังรับประทานก็ให้ผู้ปกครองบันทึกใน  “สารโครงการบ้านโรงเรียนร่วมใจ” ถึงกิจกรรมที่ได้ทำพร้อมแสดงความเห็น และให้บุตรหลานวาดภาพระบายสีผัก/ผลไม้หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พอถึงวันจันทร์ เด็กก็นำผัก/ผลไม้ที่เป็นผลผลิตในครอบครัวไปแสดงและเล่าให้เพื่อนฟัง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบมาก ที่โรงอาหารก็ขอความร่วมมือให้แม่ค้าขายขนมและน้ำที่ทำจากผักผลไม้ เช่น ต้มถั่วเขียว กล้วยบวชชี นึ่งฟักทอง นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ เป็นต้น (เป็นโครงการที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)

ในครอบครัวของผู้เขียนเอง ก็ได้ปลูกฝังค่านิยม เจคติและพฤติกรรมการรับประทานผักผลไม้ให้กับลูกๆ มาตั้งแต่ลูกเริ่มรับประทานอาหารเป็น และให้ดื่มนมถั่วเหลือง ให้ดื่มน้ำอัดลมน้อยมาก โดยตนเองก็ปฏิบัติเป็นแบบอย่างมาตลอด (เช่น เลือกทานสลัดผัก ที่เกาะสมุย และไม่ดื่มน้ำอัดลมเลย ซึ่งนอกจากจะทำให้เป็นคนสุขภาพดีแล้ว ยังไม่อ้วนเหมือนเพื่อนส่วนใหญ่ จึงมักจะได้รับคำทักทายว่า ยังรักษาหุ่นได้ดี ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้สนใจที่จะรักษาหุ่น แต่อาจเป็นผลพลอยได้จากการรับประทานผักผลไม้เป็นหลัก) สำหรับลูกสาวนั้น ได้รับประทานผักผลไม้จนเป็นนิสัยถาวรมาจนถึงปัจจุบัน (ดังตัวอย่างที่เลือกรับประทานสลัดผลไม้ ในมื้อเช้าที่เกาะกูด จ.ตราดส่วนลูกชาย พบว่า ในภายหลังที่โตเป็นหนุ่มแล้ว ได้หันไปนิยมทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์และดื่มน้ำอัดลมในมื้ออาหาร ไม่ค่อยทานผักผลไม้ (เช่น สั่งลาบปลาหมึกในมื้อกลางวันที่เกาะกูด) ผลก็คือ เริ่มอ้วนและดูใบหน้าแก่กว่าวัยที่แท้จริง ส่วนลูกสาวก็พอใจที่ใครๆ เข้าใจว่าเป็นน้องของลูกตั้ม...นี่คืออานิสงส์จากการรับประทานผักผลไม้ไม่ทานน้ำอัดลมเลย...ด้วยหรือเปล่า...

  



ความเห็น

เด็ก ๆ ประถมของคุณมะเดื่อยุคนี้  หาที่สมส่วนยากจ้ะ  ไม่อ้วน ก็ผอมแกร็น 

อาหารประเภทแป้ง กรุบกรอบ น้ำอัดลม รวมทั้งอาหารจานด่วน หาซื้อได้ง่ายกว่าผลไม้คะ

เห็นด้วยอย่างยิ่งคะ "ครอบครัว" เป็นแบบอย่างที่ดีในการทานอาหารของสมาชิกครอบครัวจริง ๆ คะ 

ยืนยันด้วยอาหารแสนอร่อย..  

 

  .... เด็กๆ ในหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ รพ.  .... ส่วนใหญ่...ยังพบ ภาวะอ้วน หรือไม่ก็ขาดสารอาหาร ค่ะ  ... เด็กๆ ในยุคนี้ รับทานตาม... กระแสทุนนิยม/โฆษณา ... ดื่มน้ำอัดลม/ขนมกรุกรอบ นะคะ ... คุยแล้วพบว่าเป็นโรคกระเพราะอาหาร...และ...ที่สำคัญ ไม่ค่อย รับประทาน ผักและผลไม้สด .. ทั้งๆ ที่อำเภอบ้านลาด เรามีผลไม้สดๆ เช่น ละมุด  มะละกอ ฯลฯ นะคะ ... บางคน ขาดสารไอโอดีน .... ซึ่งมีผลต่อ IQ นะคะ  

 

ขอบคุณอาจารย์แม่มากค่ะ

  • ขอบคุณ "น้องมะเดื่อ" มากนะคะ ที่มาแวะเยี่ยมให้กำลังใจพี่ไอดินฯ 
  • น้องบอกว่า "เด็ก ๆ ประถมของคุณมะเดื่อยุคนี้  หาที่สมส่วนยากจ้ะ  ไม่อ้วน ก็ผอมแกร็น" ก็แสดงว่า เด็กนักเรียนของน้อง มีลักษณะสอดคล้องกับผลการสำรวจ นะคะ
  • พี่ตามไปอ่านบันทึกของน้องมะเดื่อ ข้อความที่ทิ้งท้ายไว้ว่า "เวลา 1 ชั่วโมงเต็ม กับเด็ก ๆ ป.1 - ป.6 นับสิบ ๆ คน แทบไม่ได้เงย หน้า  แต่คุณมะเดื่อก็ภูมิใจ  เมื่อเห็นความก้าวหน้าในการเรียนของเด็ก ๆ จากอ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้ ก็เริ่มเป็นอ่านได้  เขียนได้ตามศักยภาพ นี่คือ  ค่าจ้างสอนพิเศษ  ที่แพงที่สุดของคุณมะเดื่อจ้ะ" แสดงถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่มี "จิตวิญญาณครู" ที่พี่อยากให้สถาบันผลิตครูนำไปเป็นต้นแบบในการปลูกฝัง "ความเป็นผู้มีจิตวิญญาณครู" ให้กับนักศึกษา และอยากให้ "สพฐ., และ สพป., สพม." ทั่วประเทศ นำไปเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงานของครู ค่ะ ...ด้วยความชื่นชมและศรัทธา น้องมะเดื่อนะคะ...

สวัสดีค่ะ จริง ๆ ด้วยค่ะ

....ครุหยินคุยกับลุงวอว่า....ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องหันมาใส่ใจกับทักษะการ

ดำรงชีวิต การบริโภค..การอยู่ร่วมกันในสังคม การบริโภคของเด็กไทยเป็นแฟช่นไปแล้ว

1 กระเป๋าเป้ของเด็กเต็มไปด้วยขนมที่ขบเคี้ยวอย่างไนร้คุณค่า เห็นแล้วน่าอนาถใจแท้

เราพยายามหาทางแก้ แม้ได้แต่เพียงน้อยนิด..ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

น่าจะจริงครับอาจารย์แม่

คนสมัยก่อน กินปลาเป็นหลัก เป็นผักเป็นยา

การบริโภคมีผลต่อการดำรงชีวิตครับ

อาจารย์แม่สบายดีนะครับ

 

  • ขอบคุณ "คุณนีโอ..เบเกอรี่" มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจ และให้การสนับสนุนว่า "ครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดีในการทานอาหารของสมาชิก" พร้อมนำอาหารมีประโยชน์มายืนยัน 
  • เห็นด้วยค่ะ ว่า การที่ขนมกรุบกรอบหาซื้อได้ง่าย มีขายทั่วไป พกสะดวก กินง่าย เป็นเหตุให้เด็กๆ นิยมซื้อกินมากกว่าผลไม้ ที่หาซื้อได้ยากกว่า และไม่สะดวกต่อการพกและการกิน
  • ช่วงนี้คุณนีโอ...เบเกอรี่ มีโอกาสไปกินไปเที่ยวหลายแห่งนะคะ ไข่ฟกที่นำมาแบ่งปันก็เป็นของแปลกสำหรับชาวอุบลฯ ค่ะ  

ขอบคุณ "Dr.Ple" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้" พร้อมทั้งให้ข้อมูลสนับสนุนบันทึกนี้ว่า เด็กที่อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ รพ. ส่วนใหญ่ยังพบ ภาวะอ้วนหรือขาดสารอาหาร และยังช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า เด็กๆ ในยุคนี้กินขนม/น้ำอัดลมตามการโฆษณา ไม่ค่อย รับประทาน ผักและผลไม้ ทั้งๆ ที่อำเภอบ้านลาดมีผลไม้สดๆ เช่น ละมุด  มะละกอ... 

  • ขอบคุณ "ครูหยิน"  มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้"
  •  ชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้ "ครูหยิน" จากตรัง และ "พี่ชายวอญ่า" จากพัทลุงนะคะ ที่บอกว่า จะหันมาใส่ใจกับทักษะการดำรงชีวิต การบริโภค...การอยู่ร่วมกัน" ของเด็ก"
  • ไอดินฯ ชื่นชอบบันทึกของครูหยินเรื่อง "วัยเดียวกัน อลวน คนละมุม" (http://www.gotoknow.org/posts/548533ชอบประโยคเด่นนี้ มากค่ะ "เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวหรือจากชีวิตประจำวัน แต่ใช้คำถามที่กระตุ้นให้คิด คิดแบบวิทยาศาสตร์ นักเรียนได้ความรู้ ครูได้ความสุข ห้องเรียนสนุกไม่น่าเบื่อ เรียนจริงใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน" น่าจะนำไปใช้เป็นหลักในการจัดการเรียนรู้ ของครูวิทยาศาสตร์ทั่วๆ ไปนะคะ 

     "ไอดิน-กลิ่นไม้" ชอบของเล่นภูมิปัญญาชาวบ้านมากค่ะ ถ้ามีขายเป็นต้องซื้อสะสมทันที ที่ภาคเหนือจะมีของเล่นภูมิปัญญาชาวบ้านมาก (มีทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยนะคะ : ดูจาก TV) ลูกหวือและกระบอกจำโบ๊ะ ไอดินฯ ก็ เคยเล่น ที่ครูหยินอธิบายว่า "จำโบ๊ะ...จั๊บโป้งบ้านเรา (คนใต้) ทำจากกระบอกไม่ไผ่เล็ก ๆ  สอดใส่ลูกพลา อัดเข้าไป ทำให้เกิดแรงดันจากลูกที่ 2 ดันลูกที่ 1 ให้กระเด็นออกไปด้วยแรงอัด" ตอนพ่อเสีย ไอดินฯ อายุสี่ปีเศษ ไม่มีใครเลี้ยงดู เพราะแม่ไปสอนอีกหมู่บ้านหนึ่งโดยนำน้องคนเล็กที่เพิ่งคลอดไม่นานไปด้วย น้องคนติดกันขอให้ท่านเจ้าอาวาสช่วยเลี้ยงดูที่วัด พี่คนติดกันเข้าเรียน ป.๑ พี่คนโตเรียนอยู่ในเมือง ไอดินฯ ถูกทิ้งให้อยู่ที่บ้านตามลำพังเลยเที่ยวเล่นซุกซนไปกับกลุ่มเด็กผู้ชายในคุ้ม ของเล่นอย่างหนึ่งที่เล่นก็คือที่ครูหยินเรียกจับโป้ง ไอดินฯ เรียกว่า "บั้งโผ" ลูกที่ใส่เข้าไปจำชื่อไม่ได้ค่ะ แต่จำลักษณะต้น ใบ และลูกได้ ดีใจค่ะที่พบว่า มีเกิดเองในฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ด้วย เลยอนุรักษ์ไว้ และยังพบที่บริเวณรีสอร์ทที่พัก ตอนไปเที่ยวเกาะสมุย ด้วยนะคะ  

  • ขอบคุณ "ลูกขจิต " มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจอาจารย์แม่ "ชมรมคนปลูกผักกินได้" ของลูกขจิตเหมาะเลยนะคะ กับบันทึกนี้
  • มีคำกล่าวว่า "คนรุ่นก่อนๆ กินอาหารเป็นยา แต่คนรุ่นปัจจุบัน กินยาเป็นอาหาร" ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากการบริโภคที่ไม่เหมาะสมนั่นแหละค่ะ ทำให้สุขภาพไม่ดี ต้องหาหมอและกินยารักษาอาการเจ็บป่วย พ่อใหญ่สอเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากค่ะในเรื่องนี้ เพราะมีพฤติกรรมการกินอาหารมัน หวาน และดื่มน้ำอัดลมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจารย์แม่พยายามจะปรับ แต่ก็เข้าทำนอง "ไม้แก่ดัดยาก" ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคน "หัวดื้อ" ร่วมด้วย ก็เลยเป็นนั่นเป็นนี่ และต้องหาหมอประจำ ให้ใช้ธรรมชาติบำบัดก็ไม่ค่อยจะยอม สำหรับอาจารย์แม่เองสบายดีค่ะ
  • ลูกขจิตก็ยังออกทำงานภาคสนามทุกสารทิศเหมือนเคยนะคะ ยังไงก็ดูแลสุขภาพตนเองด้วย อาจารย์แม่เป็นห่วง อย่างที่กล้วยไข่เคยบ่นกับพี่ใหญ่นั่นแหละค่ะ ว่า "อาจารย์ท่านไม่ค่อยดูแลตนเอง"

ช่วงนี้ อาจารย์แม่เหมือนถูกปล่อยเกาะค่ะ เพราะไม่สามารถขับรถออกจากหมู่บ้าน น้ำท่วมทางเข้าเมืองทั้งสองด้าน มีเรือจากอบต.และค่ายทหารที่จอดที่หมู่บ้านถัดไปบริการมารับชาวบ้านกรณีที่จำเป็นจะต้องเข้าเมือง เป็นปีที่หนักที่สุดตั้งแต่ตั้งฟาร์มในปี ๒๕๔๘ ค่ะ ที่นัดไว้ว่า จะขับรถพาพี่สาวที่อุบลฯ ไปรับพี่สาวที่ยโสฯ ไปเยี่ยมลูกหลานที่ร้อยเอ็ด ในช่วงวันที่ ๒๑-๒๓ ก.ย. ก็เลยต้องยกเลิกไปก่อน ไม่ทราบเมื่อไหร่จะขับรถออกไปได้ เพราะน้ำลดลงนิดเดียวแต่ก็มีฝนตกพรำๆ ต่อเนื่องตลอด เมื่อวานไปดูทางอีกด้านหนึ่งด้วย ก็พบว่าเสียหายมาก ถึงน้ำลดก็ไม่ทราบว่าจะซ่อมทางให้ใช้ได้เมื่อไหร่ โรงเรียนก็ปิดเพราะเด็กๆ จากอีกสองหมู่บ้านมาเรียนไม่ได้ ครูก็เข้ามาโรงเรียนไม่ได้ค่ะ อาจารย์แม่เพิ่งไปจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการฟัง/พูดภาษาอังกฤษให้กับเด็กได้สองครั้งเองค่ะ   

 

ขอให้น้ำลดเร็วๆนะคะ

มีโอกาสจะได้ไปเยือนฟาร์มไอดินสักครั้งค่ะ

  • ขอบคุณ "krutoiting "  มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจ และมีความปรารถนาดี อยากให้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ผ่านพ้นจากสภาพปัญหาน้ำท่วมโดยเร็ว
  • สงสารชาวบ้านที่ปลูกมันสำปะหลังค่ะ ผลผลิตยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว แต่น้ำท่วมต้องขุดมันมาโดยที่มันยังหัวไม่โตพอ หนำซ้ำนำไปขายไม่ได้โรงมันก็ปิด เห็นกองทิ้งตากฝนไว้ ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหากันยังไงค่ะ
  • ไอดินฯ ได้เข้าไปอ่านบันทึกของคุณครู เรื่อง "ภารกิจพี่เลี้ยงลูกหลานจิตอาสาของชาวสมุทรสาครที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร" (http://www.gotoknow.org/posts/548475) ที่คุณครูได้นำเยาวชนจิตอาสาไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ไม่เคยได้สัมผัสกิจกรรมแบบนี้ ขอบคุณ "krutoiting" มากนะคะ ที่นำมุมดีๆ ของชีวิตเยาวชนมาให้ได้รับรู้ อ่านแล้วรู้สึกดีมากค่ะ อยากให้เยาวชนที่ใช้เวลาไปกับสิ่งที่นำความเสื่อมมาสู่ตน ได้เข้ามารับรู้กิจกรรมของเยาวชนกลุ่มนี้บ้าง เผื่อจะสะกิดให้พวกเขา/เธอเหล่านั้นได้ย้อนกลับไปทบทวนกิจกรรมของตนบ้าง

ดีใจมากค่ะที่คุณครูต้อยติ่งสนใจจะไปเยี่ยมฟาร์มไอดินฯ ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่งค่ะ ถ้าจะไปเมื่อไหร่แจ้งได้เลยนะคะ

ขอบคุณกัลยาณมิตรทั้ง 4 ท่านมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ ขอบคุณ "น้องดร.โอ๋-อโณ" ที่เขียนอนุทินแนะนำให้เข้าไปดูผลการวิจัย ซึ่งได้นำเนื้อหามาประกอบบันทึกนี้ และขอแสดงความยินดีที่ "ทพญ.ธิรัมภา" ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่น ด้วยนะคะ 

 

 

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...

-ตามมาอ่านบันทึกเรื่องนี้.."คนรุ่นเก่ากินอาหารเป็นยา คนรุ่นใหม่กินยาเป็นอาหาร"...

-ขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำเอาผักพื้นบ้านและอาหารพื้นบ้านมานำเสนอครับ..

-ช่วงนี้ได้ยินคำว่า"ความมั่นคงทางอาหาร"บ่อย ๆ

-วันก่อนไปเก็บลูกนมวัว..เจอเข้ากับ"มันแกว"...

-เก็บภาพมาฝากอาจารย์แม่ไอดิน...และถามว่าที่ฟาร์ม..มี"มันแกว"ไหมครับ??

-ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมอาจารย์แม่ไอดินฯ ซึ่งขณะนี้ เป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมไปแล้ว ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ต้องเก็บผักผลไม้ในฟาร์มกินเป็นอาหาร (พอดีเข้ากับบันทึกนี้เลย)   เมื่อคืนลองเมนูซุบดอกลิ้นฟ้า ไม่มีปลาเป็นส่วนประกอบ ใส่แค่น้ำปลา พริกป่น ข้าวคั่ว หอมแดง และใบผักแพว (ไผ่) ก็พอใช่ได้นะคะ
  • อาจารย์แม่ปฏิบัติตนเป็นคนรุ่นเก่า คือ "กินอาหารเป็นยา" (ดอกลิ้นฟ้าก็เป็นยา) แต่พ่อใหญ่สอปฏิบัติตนเป็นคนรุ่นใหม่ คือ "กินยาเป็นอาหาร" ค่ะ
  • คุณเพชรน้ำหนึ่งยังติดหนี้อาจารย์แม่ไอดินฯ อยู่ รู้ไหมคะ...ก็ไม่ได้ตอบความเห็นอาจารย์แม่ตั้ง 3 เรื่องติดๆ กันแน่ะ อาจารย์แม่เข้าไปทวงแล้วแหละ ในบันทึกเรื่อง "ประชาคมนมวัว"
  • ที่คุณเพชรฯ ถามว่า ที่ฟาร์มมีมันแกวไหม มันแกวไม่มีหรอกค่ะ มีแต่ "บักพิพวน"       

 

 

  • เอ! เกิดอะไรขึ้นน้อ สระล่างของข้อความหายหมด นำข้อความวางกี่ครั้งๆ ก็หายเหมือนเดิม เอาเป็นว่า ให้อ่านแบบมีส่วนร่วม โดย ให้ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" อ่านแบบช่วยเติมสระล่างเองก็แล้วกันนะคะ
  • เป็นการค้นพบการเขียนแนวใหม่ แบบบังเอิญ นะคะ นี่
  • ขอบคุณที่ช่วยกันรณรงค์ดีๆเช่นนี้ พร้อมแสดง..” การกินให้ดู อยู่ให้เห็น” ของโภชนาการในครอบครัวด้วย

  • คนสูงวัยอย่างพี่ใหญ่ ก็ต้องใช้สติในการบริโภค มากกว่าอารมณ์อยากพาไป..”กินน้อยมากด้วยคุณภาพ” ค่ะ

  • ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่" มากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาเป็นกำลังใจให้น้อง
  • และขอบพระคุณ ที่พี่ใหญ่ได้นำประสบการณ์ในการทำงานเชิดหน้าชูตาประเทศไทย มาแบ่งปัน ให้น้องได้ร่วมภูมิใจด้วยค่ะ

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-ตามมาบอกว่า"ได้ตามไปตอบคำถามและแสดงความเห็นไว้ในบันทึกของผมที่ได้ัิติดหนี้อาจารย์แม่ไอดินไว้แล้วนะครับ"ฮ่า  ๆชำระหนี้หมดแล้ว ขอบอกว่าพร้อมดอกเบี้ยแบบ"ยาวมาก ๆ "ด้วยนะครับอาจารย์แม่ไอดิน..ฮ่า ๆ ว่าแต่อย่าลืมตามไปเก็บ"ดอกเบี้ย"ด้วยนะครับ...อิ ๆ 

-ที่ฟาร์มอาจารย์แม่ไอดินประสบภัยด้วยเหรอครับ...แต่ก็ยังดีที่ยัง"มีภูมิคุ้มกันที่ดี"จึงไม่ีอดอาหารในยามประสบภัยนี้..

-ที่ฟาร์มไม่มี"แมงแก๋วลาว"แต่มี"บักพิพวน"หรือ"ลูกนมวัว"ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ..สุดยอดเลยครับ..ระบบนิเวศน์ในฟาร์มอาจารย์แม่ไอดินนี่เข้าขั้นสมบูรณ์เต็มที่....

-ว่าแต่...มี"ลูกกล้วยเต่า"ไหมครับ???เอ..ถ้ามีทางโน้นจะเรียกว่าอะไรหนอ???

-แล้วอาจารย์แม่ไอดินมีความหลัีงเกี่ยวกับ"กล้วยเต่า"หรือเปล่าน้อ????

-ท้ายนี้..ขอให้ผู้ประสบอุทกภัยในฟาร์มทุกท่านดูแลสุขภาพและขอให้ผ่านพ้นไปกับเหตุการณ์ที่นับวันจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งเหลือเกินกับ"อุทกภัย"(แอบบ่น) ฮ่า  ๆ

-ดูแลสุขภาพด้วยนะครับ..

-ขอบคุณคร้าบ!!!

-ปล...ถึงแม้สระล่างจะหายไป..แต่ผมก็อ่านได้ครบทุกคำและน่าจะถูกต้องด้วยล่ะคร้าบ...ฮ่า  ๆ

  • ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง " มากนะคะ ที่เข้ามารายงานให้อาจารย์แม่ไอดินฯ ทราบว่า คุณเพชรฯ ได้ตามไปชำระหนี้ตอบความเห็นและคำถามของอาจารย์แม่ไอดินฯ ครบถ้วนแล้ว แถมยังให้ดอกเบี้ยอีกด้วย และอาารย์แม่ไอดินฯ เองก็ได้ตามไปเก็บ "ดอกเบี้ย" มาแล้วเช่นกันค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะ ที่ช่วยฟื้นความทรงจำของอาจารย์แม่ไอดินฯ ที่เก็บฝังไว้กว่าห้าสิบปีมาแล้ว "ลูกกล้วยเต่า" ที่คุณเพชรฯ เขียนแนะนำ เป็นชนิดเดียวกันกับ "บักก้นครก หรือบักลกคก" ผลไม้ป่าของทางอีสานที่แทบจะไม่มีคนเขียนถึง บันทึกของคุณเพชรฯ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์แม่ไอดินฯ สร้างโฟลเดอร์ "ผลไม้ป่าอีสาน" เป็นแหล่งเรียนรู้อีกโฟลเดอร์หนึ่งของ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ค่ะ 

 

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2556 หน้าเกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป เรื่อง ไม้ดีมีประโยชน์ : 'ก้นครก' รากเป็นยาโดย...นายสวีสอง ได้ให้ข้อมูลว่า ต้น "ก้นครก" จะพบมากแถวภาคอีสาน ชาวบ้านแถวนั้นเรียก "บักก้นครก" ชอบขึ้นตามแนวคันนา ชายป่าละเมาะ ป่าโปร่ง เด็กๆ แถวนั้นจะรู้จักคุ้นเคย เพราะพวกเขาชอบที่จะหาผลมากินเล่นกัน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กทรงเตี้ย ในวงศ์ ANNONACEAE สูง 25-60 เซนติเมตร กิ่งก้านมีขนสีน้ำตาลคลุม รากมีสรรพคุณทางยาเพราะให้รสเย็น แก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง แก้วัณโรค หรือต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่แกมขอบขนาน ยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง 2-4 เซนติเมตร ดอก เป็นดอกเดี่ยว ขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียว ออกตามซอกใบ ผล เป็นผลกลุ่ม ทรงกลมยาว สีเหลือง มีขนละเอียดสีเหลืองอ่อน กินได้ผลดิบรสฝาด หากสุกงอมจะหวาน เมล็ดมีสีดำ ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด เติบโตในทุกพื้นที่ ที่มีความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน

สวัสดียายไอดินฯ

ป๋าเดหายไปนาน...ขอบคุณในสาระดีๆที่มอบให้เพื่อนๆชาว GTK เพราะข้อความรู้ของยายไอดิน ทำให้นึกได้ว่าต่อไปนี้จะพยายามงดอาหารประเภทของหวาน ไขมัน เนื้อสัตว์ และ อาหารรสเค็ม ดูเหมือนว่าป๋าเดชักจะอ้วน (ยาลดความดันหมดไม่ได้ไปหาหมอนานแล้วนะนี่) ก็ขอให้กำลังใจยายไอดินและพ่อใหญ่สอ ที่ตอนนี้เจอพิษมรสุมน้ำท่วมหนัก  การสัญจรระหว่างฟาร์มกับตัวเมืองเข้าออกไม่ได้ ต้องรับถุงยังชีพจากทางราชการ ป๋าเดคิดว่าไม่นานคงกลับเข้าสู่สภาระปกติ ยังไงก็ขอให้ระวังพวกสัตว์มีพิษไว้บ้างเช่น งู เงี้ยว เขี้ยว  กระปอม นะคร้าบ...ยังไงเพื่อนๆชาว GTK ส่งกำลังใจไปให้ยายไอดินกันบ้างเด้อ.........

  • ขอบคุณ "ป๋าเด " หลายเด๊อ ที่เข้ามาให้กำลังใจยายไอดินฯ ที่ประสบอุทกภัย ไม่สามารถขับรถออกจากหมู่บ้านได้  แม้จะมีเรือรับไปส่งที่หมู่บ้านถัดไป แต่ต่อจากนั้น ก็ไม่มีพาหนะที่จะขับขี่ไปยังที่ต่างๆ ตามต้องการ ...วันนี้มหาวิทยาลัยจัดงานมุทิตาจิตบุคลากรที่เกษียณฯ ก็เลยไม่ได้ไปร่วมค่ะ เอาไว้งานหลังๆ เผื่อจะออกไปได้ 
  • ไม่ได้ดอกไม้จากป๋าเด ก็ชมดอกต้อยติ่งหน้าบ้านแทนก็แล้วกันนะ ยายไอดินฯ ...พอรถเข้าออกหมู่บ้านไม่ได้ ฟาร์มที่ป๋าเดบอว่าเงียบสงัดยิ่งเงียบใหญ่ ปกติจะมีรถขายของผ่านเข้าออกเสียงโฆษณาขายสินค้าดังเป็นระยะๆ และเสียงพาหนะอื่นๆ วิ่งผ่านตลอด ยายไอดินฯก็เลยได้รับ "ความสงบงาม" ตามที่ใจปรารถนา
  • ป๋าเดบอกว่า "ยาลดความดันหมดไม่ได้ไปหาหมอนานแล้วนะนี่" ไม่ได้นะคะป๋าเด เรื่องความดันไม่ใช่เรื่องที่จะประมาท ต้องรีบไปพบหมอนะคะ
  • ยายไอดินฯ ดีใจนะคะ ที่ป๋าเดบอกว่า "เพราะข้อความรู้ของยายไอดิน ทำให้นึกได้ว่าต่อไปนี้จะพยายามงดอาหารประเภทของหวาน ไขมัน เนื้อสัตว์ และ อาหารรสเค็ม"
  • ป๋าเดบอกให้ยายไอดินฯ ระวังงูเงี้ยวเขี้ยวกะปอม งูเงี้ยวน่ะจะระวังค่ะ แต่กะปอมไม่เห็นจะต้องระวังอะไร ในอดีตแม่จับมาปิ้งไฟลอกหนังแล้วก้อยใส่มะม่วงให้กินอร่อยจะตาย แต่ตอนนี้อนุรักษ์ไว้ ปล่อยให้อยู่กันตามความพอใจ ไม่คิดจะจับมาทำอาหารอีกแล้วค่ะ 

 

 

สวัสดียายไอดินฯ

-ขอบคุณท่านที่เป็นห่วงเรื่องไปพบหมอเพื่อรับยา...ธรรมดาต้องควบคุมความดันโลหิต คิดว่าวันอังคารที่จะถึงจะไปพบหมอเพื่อขอรับยาครับ...อ้อพรรคพวกให้น้ำหมักผลไม้มาทานแทนยาลดความดัน รวมทั้งผมออกกำลัง (เล่นวู้ดบอล) ทุกวัน แต่ผลการทานน้ำหมักยังไม่มั่นใจว่าจะได้ผลหรือไม่....งูเงี้ยว เขี้ยว กะปอม น่าจะเป็นคำสร้อย หรือคำอะไรที่ทางบ้านเราเรียก...... (เป็นอย่างไร รถ ลา ม้า ช้าง พร้อมหรือยัง) 555 ถ้าพูดถึง "ก้อยกะปอม" คิดถึงสมัยเป็นเด็กก็ได้กิน แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าจะไปหากินที่ไหน...ขอโทษท่านลืมให้ดอกไม้เพราะรีบเกินไปเลยลืมครับ....... 

  • "ป๋าเดคะ เท่าที่สังเกตดู เวลาเราแสดงความเห็นแล้วจัดเก็บข้อมูล ระบบก็จะบันทึกข้อมูลให้แต่จะยังไม่ปรากฏข้อมูลให้เห็นในทันที ต้องรอสักพัก (ก่อนหน้านี้ต้องรอนานมาก) เมื่อกลับเข้ามาดูใหม่ไม่ปรากฏความเห็นที่ตนแสดงไปแล้ว ทำให้คนคิดว่าระบบไม่ได้บันทึกข้อมูลให้ จึงแสดงความเห็นใหม่ เหมือนป๋าเดนี่แหละค่ะ จึงปรากฏความเห็นถึง ๓ ครั้ง ยายไอดินฯ ก็เลยขออนุญาตลบความเห็นหลังๆ ออกนะคะ เพราะเนื้อหาเหมือนความเห็นแรก
  • เห็นป๋าเดมีหุ่นอย่างที่เรียกกันว่า "หุ่นของผู้มีอันจะกิน" แต่ไม่ทราบว่าต้องใช้ยาลดความดัน การรับประทานน้ำหมักผลไม้และการออกกำลังเล่นวู้ดบอลประจำ ก็อย่างที่ป๋าเดบอกนะคะ ว่า ไม่ทราบจะมีผลต่อการลดความดันมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยของหมอนั่นแหละค่ะ จึงจะวางใจได้มากขึ้น
  • ยายไอดินฯ รู้ค่ะว่าเป็นคำสร้อย แต่ปกติจะเห็นสำนวนที่มีคำสร้อยว่า "งูเงี้ยวเขี้ยวขอพอเห็นป๋าเดใช้คำสร้อยว่า "งูเงี้ยวเขี้ยวกะปอม" คิดว่าเป็นมุข ค่ะ เลยพลอยเล่นมุขเรื่อง "กะปอม" ตามไปด้วย ป๋าเดบอกว่าอยากกินก้อยกะปอมแต่ไม่รู้ว่ามีขายที่ไหน ที่ตลาดหนองบัว จ.อุบลฯ มีขายนะคะ
  • ที่ฟาร์มไอดินฯ แม้จะมีกะปอมเยอะ แต่ไม่มีเมนูนี้ค่ะ เพราะเป็นสัตว์สงวน แต่ "บักพิพวน" มีให้ทานค่ะ ช่วงออกจากหมู่บ้านไม่ได้ ครอบครัวไอดินฯ ก็ได้อาศัยซื้ออาหารแห้งที่ร้านค้า อาหารจากถุงยังชีพ และเก็บพืชผักผลไม้ในฟาร์มกินค่ะ เช้านี้ได้รับถุงยังชีพเป็นหัวมันเทศ กะหล่ำปลี ฟักทองซีก ยายไอดินฯ จะแบ่งหัวมันไปปลูกเหมือนที่แม่เคยปลูก เมื่อห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา แล้วขุดหัวมันไปเผาให้ลูกกิน โดยใช้ขี้เถ้าจากกองไฟที่ก่อให้ลูกผิงในหน้าหนาว (ทุกภาพยังกระจ่างใจยายไอดินฯ) 

 

 

          หนูเพิ่งเข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์เป็นครั้งแรก หนูประทับใจมากค่ะ ได้รับความรู้เรื่องในเรื่องพฤติกรรมการกินของคนเรา ซึ่งที่ผ่านมายอมรับค่ะว่าบางครั้งปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้จริง ต่อไปนี้คงจะต้องปรับพฤติกรรมการกินของตัวเองใหม่ ขอบคุณมากๆค่ะกับความรู้ดีๆที่ได้รับ

          ตอนนี้ เข้าใจแล้วว่าในสมัยก่อนทำไมผู้เฒ่าผู้แก่มีอายุยืนและแข็งแรงกัน ก็เพราะพฤติกรรมการกินของท่านนั่นเอง จำได้ว่าสมัยยังเป็นเด็ก คุณตา คุณพ่อคุณแม่แนะนำให้ลูกหลานกินผักพื้นบ้านและมักพูดเสมอว่าผักทุกอย่างล้วนมีคุณค่าและเป็นยาทั้งนั้น ซึ่งตอนนั้นก็กินบ้างไม่กินบ้างตามประสาเด็กๆ เสียดายที่จำไม่ได้ว่าแต่ละชนิดมีประโยชน์เป็นยาด้านใดบ้าง ครั้นพอมาสนใจท่านก็จากไปเสียแล้ว

          ดีใจมากค่ะ ที่อาจารย์จะรวบรวม "ผลไม้อีสาน"  หนูจะได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เรื่องนี้หนูชอบค่ะ อดที่จะนึกถึงตอนเป็นเด็กๆพากันไปเก็บ "บักพิพวน" ที่ขึ้นตามป่าข้างลำห้วย เก็บ "บักลกคก" ตามชายป่าริมทุ่งนา รวมถึงตามชายป่าข้างโรงเรียน มันเป็นความสุขของเด็กๆสมัยนั้น โดยเฉพาะ "บักลกคก" หอมหวาน อร่อยมาก ชอบมากค่ะ  อยากให้อาจารย์ได้เขียนเล่าเรื่องผลไม้อีสาน จำพวก  บักหม้อ(ไม้ยืนต้น ผลมีสีดำ รสหวาน) บักดูก (ไม้ยืนต้น ผลคล้ายบักหม้อ ผลมีสีเหลืองเนื้อข้าในสีเหลืองเมล็ดเยอะ) ต้นข่าวจี่ (ฝักคล้ายข้าวโพด ออกผลช่วงเกี่ยวข้าว เวลาเคี้ยวกิน มีเสียงดังเปาะแปะ) ซึ่งผลไม้ดังกล่าวหนูไม่ได้พบเจอมานานกว่าสามสิบปีแล้วค่ะ แต่ผลไม้เหล่านี้ยังอยู่ในความทรงจำของหนูค่ะ

          ต้องกราบขอโทษอาจารย์ด้วยนะคะที่อาจเขียนยาวไปหน่อย เผอิญว่าเป็นเรื่องที่ประทับใจมากก็อดที่จะเขียนไม่ได้  หนูเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ค่ะ (เมื่อปี ๒๕๕๒) หนูขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ได้ไปให้กำลัง ข้อเสนอแนะในบันทึก และอนุทินของหนู และสิ่งดีๆที่อาจารย์มอบให้ในบันทึกนี้ ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ และผ่านพ้นสภาพน้ำท่วมโดยเร็วค่ะ

  • ดีใจมากค่ะ ที่ทราบว่า "คุณอร วรรณดา หรือ คุณครูอรวรรณ มุงคุณดา" โรงเรียนบ้านผักแพว (คุรุราษฎร์รังสฤษฏ์) สพป.ศรีสะเกษ เขต ๑ เป็นลูกศิษย์ อ.วิ เมื่อปี ๒๕๕๒
  • ได้เข้าไปดูประวัติของหนู เพราะเห็นเข้ามาติดตามอาจารย์ พอเห็นหน้าชัดๆ และชื่อก็รู้สึกว่าคุ้นตามากต้องรู้จักกันมาก่อนแน่ๆ แล้วก็ใช่จริงๆ แต่หนูต้องช่วยให้ข้อมูลการศึกษาของตนเองและความเกี่ยวพันกับอาจารย์มากกว่านี้หน่อยนะคะ อาจารย์จะได้ฟื้นความทรงจำให้ชัดขึ้น
  • อีกอย่างช่วยเล่าถึงที่มาของการเข้ามาเป็นสมาชิก "GotoKnow" ให้ฟังด้วยนะคะ
  • อาจารย์ชื่นชมหนูนะที่เขียนบันทึกได้ดีตั้งแต่เรื่องแรก และทุกเรื่องที่หนูเขียนเกี่ยวกับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน อาจารย์ว่าจะนำไปอ้างถึงในบันทึกเรื่องต่อไปค่ะ
  • สำหรับเรื่อง "ผลไม้ป่าอีสาน" ก็คงจะรวบรวมในโอกาสต่อๆ ไปนะคะ "บักหม้อ และ บักดูก" ตอนที่พ่อไปเป็นครูใหญ่ที่บ้านป่า อาจารย์เคยตามผู้ใหญ่ไปเก็บกินในป่าค่ะ ตอนนั้นเด็กมาก อายุยังไม่ถึง ๔ ปี (พ่ออาจารย์เสียตอนอาจารย์อายุ ๔ ปี) แต่จำลักษณะและรสชาติผลไม้ทั้งสองได้ดี  ส่วน "ต้นข้าวจี่" ไม่เคยได้ยินชื่อค่ะ
  • ขอบคุณมากนะคะ ที่หนูมีความปรารถนาดีให้อาจารย์ผ่านพ้นอุทกภัยโดยเร็ว ที่ศรีสะเกษก็เห็นน้ำท่วมหนักมากและถ่ายเทน้ำมาที่อุบลฯ ด้วย น้ำท่วมหนักใน ๓ อำเภอของอุบลฯ พอดีเลยค่ะที่ฟาร์มของอาจารย์อยู่ตรงรอยต่อของทั้งสามอำเภอเลยพลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย ดีหน่อยที่ฟาร์มอยู่ในที่สูง น้ำไม่ท่วม ท่วมเฉพาะทางสัญจรเข้าเมือง เดี๋ยวว่าจะออกไปดูสภาพน้ำ ค่ะ ว่าขณะนี้เป็นยังไง   

     

          หนูเคยเรียนวิชาจิตวิทยาการศึกษากับอาจารย์ค่ะ ตอนนั้นเรียนป.โท วิจัยฯรุ่น ๘.๑ ภาคพิเศษค่ะ หนูชอบเทคนิคการสอนของอาจารย์ เวลาเรียนกับอาจารย์จะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และที่ประทับในมากคือ เวลาอาจารย์พูดถึงฟาร์มไอดิน กลิ่นไม้ ฟังแล้วมีความสุขตามไปด้วย หนูชอบต้นไม้ ต้นไม้ให้ความสดชื่นกับชีวิต รักต้นไม้ รักธรรมชาติค่ะ(ตอนนี้จบแล้วค่ะ)

          ในการทำงาน เวลาไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องใด หรือสนใจในประเด็นใดเป็นพิเศษก็จะศึกษาหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต และได้ไปเจอบทความของสมาชิก GotoKnow เกิดประทับใจในองค์ความรู้ที่ได้รับแม้ว่าเพิ่งจะอ่านได้ไม่กี่บทความก็ตาม GotoKnow นี่เป็นขุมทรัพย์องค์ความรู้ขนาดใหญ่ มีศาสตร์หลากหลายแขนงให้ได้ศึกษาค้นคว้า มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันจากบุคคลหลายสาขาอาชีพ ซึ่งองค์ความรู้ในลักษณะนี้ไม่สามารถที่จะหาได้จากตำรับตำราหรือร้านหนังสือทั่วไป แต่เป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานและการดำเนินชีวิตของแต่ละท่าน ฉะนั้นการที่สมัครเป็นสมาชิก GotoKnow ก็เท่ากับว่าเราเปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก และได้รับการต้อนรับและให้กำลังใจจากสมาชิกชาวGotoKnow เป็นอย่างดี ประทับใจในความเป็นกัลยาณมิตรของชาว GotoKnow มากค่ะ ขอขอบพระคุณสมาชิกทุกท่านค่ะ

          แรงบันดาลใจในการเขียนบทความเกี่ยวกับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เกิดจากคำว่า "ครู" ด้วยความเป็นครู ครูทุกคนย่อมมุ่งหวังที่จะให้ศิษย์ของตนเอง อ่านออกเขียนได้ มีนิสัยรักการอ่าน รักการค้นคว้า และสามารถนำวิชาความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงต้องการเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางหรือวิธีการสร้างนิสัยรักการอ่านกับเพื่อนสมาชิก เพื่อที่จะนำแนวคิดใหม่ไปปรับปรุงพัฒนาการส่งเสริมการอ่านของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้นค่ะ 

            

         

  • ขอบคุณ "คุณอร วรรณดา " มากนะคะ ที่เข้ามาให้ข้อมูลอาจารย์ตามที่ได้ขอไว้
  • ดีใจมากค่ะ ที่หนูบอกว่า "เคยเรียนวิชาจิตวิทยาการศึกษากับอาจารย์ค่ะ ตอนนั้นเรียนป.โท วิจัยฯรุ่น ๘.๑ ภาคพิเศษค่ะ หนูชอบเทคนิคการสอนของอาจารย์ เวลาเรียนกับอาจารย์จะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา..." และบันทึกสามเรื่องแรกที่หนูเขียนเกี่ยวกับ "การปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน" ก็เป็นประเด็นสำคัญของจิตวิทยาการศึกษา
  • อาจารย์เชื่อว่า คุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของครูไทยซึ่งครูมักจะขาด ก็คือ "ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนใฝ่พัฒนาตนเอง เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน"
  • ในภาวะที่คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำสุดๆ อาจารย์ตั้งใจจะเขียนบันทึกเรื่องต่อไปในประเด็นดังกล่าว ใน Blog "Learntoknow"  และจะนำบันทึกของหนู รวมทั้งคุณลักษณะของหนูเองที่แสดงนัยจากการอธิบายถึงที่มาของการสมัครสมาชิก "GotoKnow" ไปอ้างอิงในบันทึกดังกล่าวด้วย หนูเป็นลูกศิษย์รายวิชาจิตวิทยาการศึกษาที่อาจารย์ชื่นชมมากนะคะ
  • แปลกนะคะ ที่หนูมาสมัครเป็นสมาชิก GotoKnow  รวมทั้งเขียนบันทึกในจังหวะที่สัมพันธ์สอดคล้องกับการเขียนของอาจารย์ ราวกับมีสายใยเกื้อกูลกันมาจากอดีต...

 

 

-สวัีสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..
-ตามมาอีกรอบ ฮ่า ๆ

-ขอบคุณอาจารย์แม่ไอดินมากๆนะครับที่ได้นำเอาบันทึกเรื่อง"กล้วยเต่า"หรือ"บักก้นครก"เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างโฟลเดอร์เรื่อง"ผลไม้ป่าอีสาน"เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้..

-ผลไม้ป่าบางอย่างเริ่มลดลงเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกแผ้วถางไปปลูกพืชเศรษฐกิจน่ะครับ..

-น่าเสียดาย...

-ความหลังครั้งก่อนผ่านมาห้าสิบกว่าปีเกี่ยวกับเรื่อง"บักก้นครก"ของอาจารย์ฺแม่นี่นานมาก ๆ เลยครับ..

-ยินดีที่ได้แบ่งปันและกระตุ้นต่ิิอมให้รำลึกถึง"ความหลัง"ครับ

-วันนี้ผมปีนต้นมะยมหน้าบ้านพัก..เก็บ"ลูกมะยม"มาตำๆ  ใส่น้ำปู๋อีกแล้ว ฮ่า ๆ 

-เก็บภาพมาฝากครับ...

อาจารย์แม่ครับ

รอบๆสวนน้ำท่วมไหมครับ

ตอนนี้กำลังช่วยกันทำเรื่อง ปลูกผักกินได้ครับ

ขอให้อาจารย์แม่มีความสุขกับการทำงานครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดคีค่ะ

น้ำท่วมถึงที่ปลูกต้นไม้ทั้งหมดไหมคะ

วันนี้"คุณนารี"มาเยือนที่นี่ด้วยตั้งแต่ตี 2 ยังไม่กลับเลยค่ะ

เป็นเวลา กว่า 18 ชั่วโมงแล้ว แต่ตกไม่หนัก

ด้วยความเป็นห่วงนะคะ

อิน

ตามอาจารย์แม่มา. อ่านประวัติ ก็เห็นว่า ปุ๊กลุกก็แอบไปเป็นสาวแนะแนวในรั้วเทาแดงกะอาจารย์ด้วย. ดีใจจัง

เพิ่งอ่านได้บันทึกเดียว. โอ้โห. มีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะเลยค่ะ.

ขอแอบมาเป็นลูกศิษย์ศึกษาวิชาการโลกนี้สักหน่อย. อ่านแล้ว สมองกระจ้อยร่อยจะได้เจริญเติบโต.

ขอบพระคุณล่วงหน้าเลยค่ะ

อยากจะกดไลค์ท่านอื่นๆ ด้วยจัง. อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท