เที่ยวทั่วไทย : ลงใต้…ไปเกาะสมุย


การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูง มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของไทย และการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเป็นอย่างมาก และยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการค้าและการลงทุน...ในไตรมาส ๒/๒๕๕๖ จีดีพี ของประเทศชะลอตัวลงทุกรายการ มีเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

        

ตอนที่ ๑ ลูกพาเที่ยวเกาะ (ครั้งที่ ๒ ในรอบปี ๒๕๕๖)

        

ในปี ๒๕๕๖ นี้ "ลูกชาย (น้องตั้ม : นายปราปต์ [แปลว่าสำเร็จ] แพงศรี)" พาแม่เที่ยวเกาะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรก พาเที่ยวเกาะในจังหวัดภาคตะวันออก คือ "เกาะกูด" ซึ่งมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งใน "จังหวัดตราด" (จังหวัดตะวันออกสุดของไทย) เกาะกูดเป็นเกาะสุดท้ายปลายทะเลตะวันออก ติดชายแดนทางทะเลของกัมพูชา ได้รับสมญา ว่า  "อันดามันแห่งทะเลตะวันออก" ในครั้งนี้ ลูกชายพาแม่ลงใต้ ไปเที่ยวที่ “เกาะสมุย” ซึ่งเป็นหมู่เกาะในอ่าวไทย มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งใน "จังหวัดสุราษฎร์ธานี"  เกาะสมุยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ตและเกาะช้างที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ (ลูกตั้มพาแม่เที่ยวเกาะช้าง จ.ตราด ในปี ๒๕๕๔) สมัยที่ผู้เขียนเป็นนักเรียนเคยท่องจำว่า เกาะสมุยเป็นแหล่งที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศไทย แต่ในปัจจุบัน เกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของไทย ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของทะเลอ่าวไทยตอนใต้ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หลั่งไหลไปเยี่ยมเยือนปีละหลายล้านคน เพราะมีธรรมชาติที่สวยงามดังคำขวัญของเกาะสมุยที่ว่า “ปะการังงาม น้ำทะเลใส หาดทรายขาว มะพร้าวเยอะ”

ในอดีต อย่าว่าแต่จะเที่ยวเลย แค่จะกินในแต่ละมื้อก็ยังมีปัญหา เพราะแม่ของผู้เขียน ซึ่งเป็นครูเงินเดือนน้อย ต้องเลี้ยงลูกกำพร้า ๕ คน ในตอนที่พ่อจากไปนั้น ผู้เขียนซึ่งเป็นลูกคนที่สามของแม่มีอายุ ๔ ขวบ น้องชายคนติดกันอายุ ๒ ขวบ น้องชายคนเล็กสุดอายุ ๒๐ วัน พี่สาวคนติดกันอายุ ๖ ขวบ และพี่สาวคนโตอายุ ๑๓ ปี ในช่วงที่เรียนชั้นประถมฯ ต้น ผู้เขียนเป็นลูกคนเดียวที่ตามแม่ไปเก็บเห็ด-หาหน่อไม้ในป่า ไปไต้เขียดไต้ปลาในตอนกลางคืน และขุดหาปู-กบในเวลากลางวัน ฯลฯ เพื่อนำไปทำอาหาร บางวันหาอะไรไม่ได้ต้องต้มหัวหอมแดงจิ้มน้ำพริกเป็นอาหาร ตอนที่เข้าไปเรียนชั้นประถมฯ ปลายในเมือง ผู้เขียนกับพี่สาวคนติดกันก็ต้องออกไปช้อนกุ้ง ขุดหอยขม ขุดหน่อไม้-เก็บเห็ดไปทำอาหารเช้า - เย็นเป็นประจำ (แกงหน่อไม้ใส่หม้อดินแต่ละครั้ง กินยาวไปเป็นอาทิตย์) มื้อเที่ยงที่โรงเรียนคือข้าวเหนียวในกระติบข้าวใบโต ที่ผู้เขียนสะพายเดินไปโรงเรียนแบบไม่อายใคร และซื้อส้มตำในราคาสามสลึงเป็นกับข้าว กินกันสามคนพี่น้อง (รวมพี่สาวคนโตซึ่งเป็นครูโรงเรียนเอกชนเงินเดือน ๑๕๐ บาท) ผู้เขียนมีโอกาสไปทัศนศึกษาครั้งแรก ก็ตอนที่จะเรียนจบปริญญาตรี คือไปปีนภูกระดึง จ.เลย กับเพื่อนๆ วิชาเอกภาษาอังกฤษด้วยกัน

        

        

ลูกๆ ของผู้เขียน มีสภาพชีวิตที่แตกต่างจากแม่มาก เพราะเป็นเด็กในเมือง เกิดเป็นลูกของอาจารย์วิทยาลัยครู ที่บรรจุเข้ารับราชการหลังจบปริญญาโท แม้จะเงินเดือนไม่มากนัก แต่ด้วยการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ก็ทำให้ลูกๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร แม้พ่อของลูกจะจากไปตอนลูก (สาว) คนโตอายุ ๕ ขวบ ลูก (ชาย) คนเล็กอายุ ๓ ขวบ ๘ เดือน แต่ประสบการณ์และทักษะชีวิตที่ได้รับจากการเป็นลูกกำพร้าในวัยใกล้เคียงกับลูก การได้รับแบบอย่างที่ดีจากแม่ในการเลี้ยงลูกกำพร้า และการได้ร่ำเรียนมาทางจิตวิทยาและการแนะแนว ก็ทำให้ผู้เขียนมีความแข็งแกร่ง และมีความพร้อมในการดูแลให้ลูกๆ เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี นับเป็นโชคดีที่ลูกทั้งสองเป็นเด็กดีและเรียนดี ได้ผลการเรียน “๔” ทุกวิชา ตลอดหลักสูตรประถมศึกษา (ลูกสาวเป็นตัวแทนของโรงเรียน ในการไปแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการเป็นประจำ และได้รับรางวัลชนะเลิศทุกครั้ง) และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงตอนปลายที่เรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด ทั้งคู่ก็มีผลการเรียนในระดับดีเยี่ยมตลอดหลักสูตร (ผลการเรียนทุกชั้นได้ ๓.๘ ขึ้นไป) ลูกชายสอบเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ ขณะเรียน ม.๕ (สอบเทียบม.ปลายจาก กศน.) ในขณะที่พี่สาวสอบได้ในปีและสถาบันเดียวกัน ตามโครงการช้างเผือกสาขาวิศวกรรมโยธาที่รับ ๑๐ คนจากทั่วประเทศ (เป็นผู้หญิงคนเดียวที่สอบได้ แต่เรียนแค่ ๓ เดือน แล้วลาออกไปเรียนสาขาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

เมื่อลูกตั้มโตขึ้น มีอาชีพมีรายได้ และมีน้ำใจพาแม่เที่ยว แม่ก็มีความสุขใจ…เป็นความสุขจากการที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดลูกทั้งสอง…มากกว่าความสุขที่ได้รับจากการท่องเที่ยวโดยตรง การเที่ยวเกาะกูดในเดือนพฤษภาคม เป็นการเที่ยวในเดือนที่เป็นวันคล้ายวันเกิดของลูกตั้ม ส่วนการเที่ยวเกาะสมุยเป็นการพาแม่เที่ยวในโอกาสเดือนมหามงคล "เดือนแม่แห่งชาติ" ในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ผู้เขียนเดินทางจากอุบลฯ ด้วยเที่ยวบินเวลา ๑๙.๕๐ น. เมื่อไปถึงที่พักของลูกสาว (ลูกเอ๋ : นางสาวปราณสลิล [อ่านว่า "ปฺราน-สะ-ลิน" แปลว่า "น้ำหล่อเลี้ยงชีวิต"] แพงศรี) เวลาใกล้สี่ทุ่ม เธอได้มอบบัตรอวยพรทำเองและเข็มกลัดให้เป็นของขวัญวันแม่ ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงตอนที่เธอเรียนชั้น ป.๕ น้องเรียนชั้น ป.๔ ที่ทั้งสองแอบปักผ้า "Cross-stitch" ในห้องหนังสือ เพื่อมอบให้เป็นของขวัญวันแม่ ซึ่งเมื่อผู้เขียนลงจากชั้นสองของบ้านไปดูลูกๆ เพราะไม่เห็นใครขึ้นนอน ก็ไปพบลูกชายกำลังปักผ้าอยู่ในห้องหนังสือในเวลาจวนเที่ยงคืน พอสอบถามลูกเอ๋ก็บอกว่า น้องช่วยปักเพื่อให้เสร็จทันเวลาส่งครู (ที่พูดปดเพราะต้องการ "Surprise" แม่ ตอนได้รับของขวัญ ซึ่งเป็นการพูดปดที่แม่ดุไม่ลง เพราะความซาบซึ้งใจในสิ่งที่ลูกๆ ทำเพื่อมอบให้แม่)

       

         

นอกจากได้รับความสุขส่วนตัวจากการท่องเที่ยวแล้ว ผู้เขียนยังรู้สึกพึงพอใจที่ได้มีส่วนเล็กๆ ในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะ “แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙ (The National Tourism Development Plan [2012-2016])” ได้กล่าวไว้ในความนำ ที่สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูง มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เป็นอย่างมาก และยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการค้าและการลงทุน อนึ่ง ข้อมูลจาก THAIPUBLICA ชี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.)  ได้ประกาศ “ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส ๒/๒๕๕๖” เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ว่า ขยายตัวเพียง ๒.๘ % ชะลอลงจาก ๕.๔ % ในไตรมาสก่อนหน้า โดยชะลอตัวลงทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การบริโภค การส่งออก และการนำเข้า มีเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในเอเชีย ทำให้กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยทั้งปีนี้ จาก ๒๐ ล้านคน เป็น ๒๖ ล้านคน โดยไตรมาส ๒/๒๕๕๖ รัฐมีรายรับจากการท่องเที่ยว ๒.๗๘ แสนล้านบาท (http://thaipublica.org/2013/08/nesdb-gdp-q2-2013/)...สำหรับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวและเกิดความยั่งยืน เพื่อเร่งรัดและสร้างศักยภาพ ในการหารายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพการแข่งขัน และให้เกิดการสร้างรายได้และกระจายรายได้ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

        

คืนวันที่ ๑๙ สิงหาคม ผู้เขียนและลูกสาวได้นอนกันไม่ถึงสองชั่วโมง ตื่นกันก่อนตีสามเพื่อเตรียมตัวนั่งแท็กซี่ไปยังที่พักลูกชายในเวลาตีสี่ แล้วลูกชายก็ขับรถพาทุกคนไปขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมือง เครื่องออกเวลาเจ็ดนาฬิกา ถึงสนามบินสุราษฎร์ธานีที่ตั้งอยู่ที่ อ.พุนพินเวลาประมาณ ๐๘.๑๐ น. (๑) แล้วติดต่อเช่ารถ (๒) ได้แล้วขับรถไปที่ท่าเรือเฟอร์รี่ (๓) ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอดอนสัก ข้อมูลท่องเที่ยวบอกว่า ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินไปยังท่าเรือประมาณชั่วโมงครึ่ง แต่คณะของผู้เขียนแวะรับประทานอาหารเช้าระหว่างทาง (๔) อาหารที่ถูกปากทุกคนคือแกงส้มปลากระบอก ผักใบที่ได้รับเป็นของแถม มีกลิ่นฉุนรสชาติเฝื่อน แม่ค้าบอกว่าชื่อ "ผักหมุย" ไปถึงท่าเรือเวลาประมาณ ๑๑.๑๕ น. แล้วขับรถไปเข้าคิวซื้อตั๋วโดยสารเรือ (๕) ค่าตั๋วโดยสารของรถและคนขับ ๔๗๐ บาท คนโดยสารคนละ ๑๕๐ บาท ได้เรือที่ออกรอบเที่ยงพอดี (มีเรือออกทุกชั่วโมงจาก ๐๖.๐๐ - ๑๙.๐๐ น.) แล้วลูกตั้มก็ขับรถไปลงเรือโดยที่สัมภาระต่างๆ ก็เก็บไว้ในรถ ส่วนผู้เขียน ลูกเอ๋ และนุกนิกเดินตามทางเดินไปลงเรือโดยใช้บัตรสอดแบบเดียวกับการโดยสารรถ BTS (Bangkok Train System) ที่กทม. เรือบรรทุกได้ ๓๘๐ คน มีที่นั่งส่วนหน้า (๑) ส่วนกลาง (๒) และส่วนท้ายของลำเรือ (๓) คณะของผู้เขียนนั่งที่นั่งส่วนกลางลำเรือ ซึ่งกว้างขวางที่สุด มี TV ให้ดู ๒ เครื่อง มีมุมขายเครื่องดื่มและของขบเคี้ยว มีห้องให้บริการสปา และห้องน้ำที่เวลาเดินผ่านจะได้กลิ่นหอมกรุ่น แต่ผู้เขียนไม่ได้ใช้บริการ เพราะมีนิสัยที่จะไม่ใช้ห้องน้ำสาธารณะ ยกเว้นทนไม่ไหวจริงๆ 

                               แผนที่เกาะสมุย แสดงสถานที่สำคัญและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

                   (สถานที่ ที่ทำเครื่องหมายดาวแดงไว้ คือที่ๆ ผู้เขียนและลูกๆ ได้ไปสัมผัส)

              

        

                         ภาพปรียบเทียบการเดินทางไป "เกาะสมุย" กับการเดินทางไป "เกาะกูด"

การเดินทางไปเกาะสมุย มีเรือบริการที่ทันสมัย สะอาด และผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย มากกว่าการเดินทางไปเกาะกูด และเกาะช้าง ในจังหวัดตราด การที่สามารถนำรถลงเรือได้ทำให้ได้รับความสะดวกไม่ต้องหอบหิ้วกระเป๋าขึ้นลงหลายรอบ และมีรถไว้สำหรับเดินทางท่องเที่ยวบนเกาะตามความต้องการ ซึ่งถ้าไม่สามารถนำรถลงเรือได้ ต้องใช้บริการรถสาธารณะบนเกาะ จะไม่ได้รับความสะดวกสบายเช่นนั้น (ที่เกาะกูดนำรถลงเรือได้ แต่เป็นเรือที่เก่า ไม่ทันสมัย ไม่สะอาด และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพอย่างเรือเฟอร์รี่ที่เกาะสมุย)   

        

        

ตามข้อมูลการท่องเที่ยวระบุว่า การเดินทางจากท่าเรือดอนสักถึงเกาะสมุยจะใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง เที่ยวที่คณะของเราเดินทางนั้น เรือออกจริงเวลา ๑๒.๑๒ น. ขณะเรือกำลังจะเข้าเทียบฝั่งในเวลาใกล้บ่ายสอง คณะของพวกเราได้ลงไปขึ้นรถที่ใต้ท้องเรือ แล้วลูกตั้มก็ขับรถขึ้นจากเรือแล้วขับไปตามถนนวงแหวนรอบเกาะ ไปแวะกินข้าวเที่ยงที่ร้าน "เสบียงเล" ริม "หาดละไม" ซึ่งเป็นหาดที่มีชื่อเสียงและสวยงามเป็นที่สองรองลงมาจาก "หาดเฉวง" ที่ยาวที่สุดในเกาะสมุย จากโต๊ะอาหารสามารถมองเห็นโขดหินสวยงามและน้ำทะเลใสได้อย่างใกล้ชิด แต่มีสิ่งที่ทำให้เสียความรู้สึกคือ พบว่ามีทางระบายน้ำเสียจากร้านลงไปในทะเล (มีนักท่องเที่ยวเดินไปถ่ายรูปทางระบายน้ำดังกล่าวด้วย) เมื่อกวาดตาดูแล้วพบว่า ลูกค้าในร้านทุกโต๊ะเป็นชาวตะวันตก ด้วยความหิว น้องตั้มสั่งอาหารถึง ๕ อย่าง ซึ่งอาหารถึงโต๊ะเร็วมากกอปร์กับความหิวทำให้ทุกคนลงมือทำลายหลักฐานอย่างรวดเร็ว ชนิดถ่ายภาพไม่ทัน แต่รสชาติสู้ร้านชาวบ้านที่ทานมื้อเช้าไม่ได้ (ผู้เขียนให้คะแนนแค่ ๓ จาก ๕) แต่ความหิวทำให้ทุกคนต้องเติมข้าว ส่วนสนนราคาแพงกว่าร้านที่ทานมือเช้าประมาณสามเท่า ...พนักงานบริการที่ผู้เขียนได้พูดคุยด้วยเป็นชาวชัยภูมิ...ไม่ว่าจะไปที่ไหน ต้องได้พบคนบ้านเดียวกัน (ชาวอีสาน) ทุกแห่งหน 

       

 

หลังอาหารเที่ยง ลูกตั้มก็พาคณะเดินทางต่อไปยังที่พัก ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลมะเร็ต หนึ่งในเจ็ดตำบลของเกาะสมุย อยู่ตรงปลายแหลมพอดี...มีพนักงานบริการดูแลอำนวยความสะดวกเวลาจอดรถ ๓ คน และมีพนักงานช่วยหิ้วกระเป๋าและนำส่งถึงห้องพัก ในช่วงเช็คอินก็ได้รับความสะดวกดี เพราะลูกตั้มติดต่อห้องพักและชำระเงินล่วงหน้านานหลายเดือนแล้ว ลูกๆ ให้แม่ทำหน้าที่กรอกแบบฟอร์ม Check In (ที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด) และพนักงานจะขอบัตรประจำตัวประชาชนของทุกคนไปลงหลักฐาน ที่ชอบใจก็คือรสชาติของน้ำดื่มอุ่นๆ (เสียอย่างเดียวถ้วยเล็กมาก...ดังภาพ) ที่พอจิบก็ได้กลิ่นตะไคร้และรสเปรี้ยวของมะนาว ลูกตั้มบอกว่ามีส่วนประกอบคือ ตะไคร้ น้ำผึ้งและมะนาว ซึ่งเมื่อได้อ่านจากเอกสารในห้องพัก ก็พบว่า ตรงตามที่น้องตั้มบอก (กลับไปฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ จะนำสูตรนี้ไปทำบ้าง)

 

        

        

        

พอถึงห้องพัก ผู้เขียนได้ออกไปถ่ายภาพวิวจากระเบียงหลังห้อง แล้วสองแม่ลูกก็อาบน้ำและนอนพักผ่อนชดเชยคืนก่อนที่ได้นอนกันไม่ถึงสองชั่วโมง โดยไม่ได้ออกไปข้างนอกอีกเลย มีลูกตั้มกับนุกนิกที่ออกไปในช่วงเย็น อาหารเย็นสองแม่ลูกก็ไม่ออกไปทานเพราะยังอิ่มจากมื้อกลางวัน แต่ก็ไม่ลืมบอกให้ลูกตั้มซื้ออาหารจานด่วนให้ ๒ ห่อเผื่อหิว...แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ลุกขึ้นทานมื้อเย็น...เมื่อลุกจากที่นอนตอนเช้ามืด พบร่องรอยว่า ส่วนของลูกสาวหายไป... 

 

    

ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่าน ที่กรุณาเข้ามาอ่าน ให้ดอกไม้ และแสดงความเห็น หวังว่าท่านจะติดตามเที่ยวเกาะสมุยในตอนที่สอง นะคะ 

หมายเลขบันทึก: 546770เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2013 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)
  • สวัสดีครับ อาจารย์แม่
  • ติดตามครอบครัวสุขสันต์เที่ยวสถานที่ต่างๆ ทั่วไทยครับ
  • เก็บภาพบรรยากาศได้สวยงามมากเลยครับ

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-ก่อนอื่นต้องขอชมว่า"รูปใหม่..สดใส...จริง ๆนะครับ"

-เห็นอาจารย์แม่หายไปหลายวัน...หนีจากฟาร์มไอดินไปสมุยนี่เอง..ฮ่า ๆ

-บันทึกนี้ทำให้รับรู้ถึงวันวานที่ผ่านมาจากอดีต-ปัจจุบัน...

-ครอบครัวอบอุ่นมาก ๆครับ..อ่านไปยิ้มไป..

-บางช่วงก็อ่านออกเสียงให้คนใกล้ตัวได้ยินด้วย...ฮ่า ๆ

-เห็นภาพที่ร้านอาหารระบายน้ำเสียออกไปสู่ทะเลแล้วใจหาย...น้ำนี่หรือ..ลงทะเลแสนสวย.....

-รอติดตามบันทึกตอน 2 นะครับ.

-อาจารย์แม่ไอดินหายไปหลายวัน..อย่าลืมไปติดตาม"ผักควาบ"นะครับ..

-ตั้งใจนำมาฝากอาจารย์แม่ไอดิน..สงสัยว่าอาจารย์แม่ไอดินจะเคยกินหรือเปล่าหนอ???

-ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่ผศ.วิไล...ขอตามมาเที่ยวเกาะสมุยด้วยคนนะคะ...

ขอบคุณ "ว่าที่ครูอาร์ม" มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจอาจารย์แม่ และตามครอบครัวอาจารย์แม่ไปเที่ยวเกาะสมุยด้วย

อาจารย์แม่เองก็ตามไปดู และชื่นชมการจัดการเรียนรู้ของว่าที่ครูอาร์มในสองบันทึกล่าสุด เช่นกันนะคะ รวมทั้งได้ให้บริการเพื่อนภาษาด้วยค่ะ

     

ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจอาจารย์แม่ไอดินฯ ติดตามไปเที่ยวเกาะสมุย และบอกจะติดตามตอนจบด้วย

ที่ต้องเปลี่ยนภาพประจำตัว ก็เพื่อให้เห็นตนเองในปัจจุบัน จะได้ตระหนักรู้ดังที่มีใครไม่ทราบเขียนไว้ประมาณ ๔๐ ปีที่ผ่านมาว่า "สังขารคนราโรยไปโดยวัย..." อีกอย่างเพื่อเป็นหลักฐานว่า ลูกสาวได้มอบเข็มกลัดให้ ก็เลยใส่เสื้อตัวในภาพและติดเข็มกลัดที่ลูกมอบให้ ในวันที่ ๒๑ สิงหาคมค่ะ

คุณเพชรฯ บอกว่า สงสัยว่าอาจารย์แม่ไอดินจะเคยกิน "ผักควาบ" หรือเปล่าหนอ อาจารย์แม่ไม่เคยกินผักควาบหรอกค่ะ เคยกินเฉพาะ "ผักโหบเหบ"

ดูเหมือนว่า เวลาคุณเพชรฯ พูดถึงผักพื้นบ้านโบราณชนิดใด อาจารย์แม่ก็มักจะมีประสบการณ์กับผักชนิดนั้นๆ เสมอ แสดงถึงความเป็นคนเก่าแก่ของอาจารย์แม่ใช่ไหมคะนี่ ...เพราะอาจารย์แม่ไอดินฯ เห็นว่า บันทึกทุกเรื่องของคุณเพชรฯ มีคุณค่า จึงติดตามอ่านทุกเรื่อง รอบนี้ อ่าน ๕ เรื่องรวดเลย ดังหลักฐานในภาพล่างนะคะ  

     

เที่ยวละไม ไปกับครอบครัว มีความสุขที่สุดเลยค่ะอาจารย์

ขอบคุณ "น้อง ดร.พจนา แย้มนัยนา" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจ และตามไปเที่ยวเกาะสมุยกับพี่

พี่เข้าไปอ่านบันทึกของน้อง ไปหยุดอยู่ที่ดอกบานชื่นแสนสวย อดใจไม่ได้ที่จะขออนุญาตนำบานชื่นแต่ละสีมารวมไว้ในกรอบเดียวกัน เพื่อชื่นชมความงามไปพร้อมๆ กันค่ะ ขอบคุณน้องมากนะคะ ที่มอบความสุขใจไปกับบานชื่นหลายชั้นหลากสี จากสหรัฐอเมริกา

      

 

ขอบคุณครับท่านอาจารย์ ที่นำเรื่องเล่าดีมาแบ่งปัน ขอชื่นชมครับ

ขอบคุณ "kunrapee" มากนะคะ ที่ให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ดีใจมากค่ะ ที่คุณอ๋อยบอกว่า "เที่ยวละไม ไปกับครอบครัว มีความสุขที่สุดเลยค่ะอาจารย์" "ไอดิน-กลิ่นไม้" เองก็ประทับใจมากค่ะ ในเรื่องเล่า ทั้ง ๘ เรื่องในรอบหนึ่งเดือนของคุณอ๋อย ที่ได้ตามไปอ่าน ให้ดอกไม้และแสดงความเห็นไว้ครบทุกเรื่อง

เมื่อได้รับการสาธิตวิธีทำน้ำฟักข้าวแล้ว ก็ตั้งใจจะนำไปทำเสียทีค่ะ ก่อนนั้นเคยแต่นำไปทำอาหาร เรื่องสุดท้ายของคุณอ๋อย ก็ขออนุญาตนำไปใช้ในห้องเรียนเสริมทักษะภาษาอังกฤษสำหรับเด็กๆ ด้วย และได้ถามปริศนาภาษาไทยง่ายๆ ไว้ด้วยนะคะ 

              

ขอบคุณ "คุณเขียวมรกต" มากนะคะที่มาให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้ ได้อ่านบันทึกต่างๆ ของคุณเขียวมรกตแล้ว รู้สึกประทับใจในความสัมพันธ์ที่อบอุ่นในครอบครัว และชื่นชมการปฏิบัติภารกิจในฐานะนักส่งเสริมการเกษตรของท่านมากค่ะ

        

สวัสดียายไอดินฯ

ป๋าเดไม่ได้เปิดเครื่องหลายวันเลยทำให้มาช้า....ยายไอดินเขียนบรรยายตอนเป็นเด็กที่ต้องต่อสู้ชีวิตทำให้มองเห็นภาพไปด้วย....ป๋าเดก็ลำบากตอนเด็กจบ ป.๔ ก็มาอยู่วัดบ้านสำราญเพื่อเรียนหนังสือ การไปเรียนต้องเดินไปเรียนประมาณ ๒ กม.รีดผ้าด้วยเตารีดถ่าน ล้างปิ่นโตง่ามมือเป็นหิด (สมัยก่อนยังไม่มีน้ำยาล้างจานเหมือนปัจจุบัน) แต่ศิษย์วัดแทบทุกคนเรียนจบส่วนใหญ่รับราชการครู บางคนเป็น ผอ.โรงเรียน และการไปเรียนหนังสือที่อุบลฯต้องเดินทางโดยรถประจำทางเกือบทั้งวันจึงจะถึงอุบลฯ ...ยายไอดินโชคดีที่ลูกๆเป็นคนดีและเรียนเก่ง (ลูกชายป๋าเดอาจจะเรียนไม่เก่ง ป๋าเดก็ดีใจที่เขาทั้งสองก็เป็นคนดีไม่ได้สร้างปัญหาให้กับพ่อ) ก่อนเกษียณป๋าเดก็ไปเที่ยวเกาะสมุย กะว่าคงไม่ได้ไปอีกแล้ว ความรู้สึกส่วนตัวว่าที่สมุยถนนหนทางคับแคบ เดินทางอึดอัด หาดทรายส่วนใหญ่ก็เป็นหาดส่วนบุคคล...ป๋าเดก็อยากลงรูปปัจจุบันในหัวบล๊อกเหมือนกัน แต่ติดปัญหาลงรูปปัจจุบันไม่เป็น จึงต้องคงไว้ซึ่งรูปตีกอล์ฟ...  

  • เข้ามาเจอ "ป๋าเด" มาเยี่ยมตั้งแต่ตอนเช้าแล้วล่ะค่ะ แต่ยังไม่ได้ตอบเพราะทำหน้าที่แม่บ้านและทำงานสวนหลายอย่าง เสร็จแล้วก็เข้าไปเจอว่า ป๋าเดลงบันทึกของตนเองที่ได้ไปเที่ยวเกาะสมุย ราวกับล่วงรู้ว่า ยายไอดินฯ อยากเห็นภาพสถานที่บนเกาะสมุยที่ป๋าเดได้ไปเยี่ยมชม
  • แล้วก็พบว่า เป็นที่เดียวกันกับที่ยายไอดินฯได้ไปสัมผัสเพียงแห่งเดียว คือ "หินตาหินยาย" (เพียงแต่ตอนที่ยายไอดินฯ ไป ไม่มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้" เหมือนตอนที่ป๋าเดไป) แม้แต่ท่าเรือก็คงจะเป็นคนละท่า (ดูจากภูมิทัศน์ที่ไม่เหมือนกัน)
  •      

 

  • ป๋าเดรู้ไหมคะว่า จนเรียนจบ ป.กศ. สูง ถนนเส้นยโสธรไปร้อยเอ็ด ยายไอดินฯ ไม่เคยไปไกลเกินบ้านสำราญเลย ส่วนการใช่เตารีดถ่าน การนั่งรถหวานเย็นจากยโสธรไปอุบลฯ ก็คงเหมือนๆ กันนั่นแหละค่ะ เพราะเราเป็นคนในยุคเดียวกัน ห่างกันไม่กี่ปี  
  • ป๋าเดก็เคยลำบากเหมือนกันเนาะแต่ไม่ได้ขัดสนเหมือนยายไอดิน...แล้วความลำบากในอดีตก็ได้สร้างคนมามากมาย
  • ยายไอดินก็ดีใจกับป๋าเดนะคะ ที่ลูกๆ เป็นคนดี และมีหน้าที่การงานดี (เคยเห็นภาพเฉพาะคนที่สอนอยู่ที่ มรภ.เลย) สำหรับยายไอดินฯ ก็ยังพอมีผลาอยู่บ้างที่ลูกเป็นเด็กดีและเรียนดี การเรียนดีคงต้องยกความดีให้กับคุณตาคุณยายของลูกๆ เพราะทั้งสองท่านเรียนเก่งมากและได้ส่งต่อเชาวน์ปัญญามาถึงรุ่นหลานดังสำนวนที่ว่า "เชื้อไม่ทิ้งแถว" แต่เสียดายว่า ลูกทั้งสองได้ใช้ศักยภาพด้านสติปัญญาให้เป็นประโยชน์ด้านการเรียนน้อยกว่าที่ควรจะใช้ กลับสนใจเรื่องการทำงานมากกว่า
  • ยายไอดินเคยบอกป๋าเดว่า เมื่อเข้ามาเยี่ยมก็ไม่จำเป็นจะต้องให้ดอกไม้ทุกครั้งไป ...ต้องชอบจึงควรมอบดอกไม้ ครั้งนี้ไม่ได้มอบ ก็แสดงว่า ไม่ชอบนะคะ 

 

อ้อ! "ป๋าเด" คะ ถ้าอยากเปลี่ยนรูปถ่ายประจำตัว ให้ทำตามขั้นตอนนี้ นะคะ

๑. เข้าระบบ แล้วจะพบหน้าแผงจัดการที่มีรูปถ่ายประจำตัว และมีคำว่า "ตั้งค่าข้อมูล" อยู่ใต้รูป

๒. คลิก (คำนี้ไม่ต้องใส่วรรณยุกต์ใดๆ นะคะ แต่ก็จะอ่านออกเสียงเป็น "เสียงวรรณยุกต์ตรี" เหมือนกับคำว่า "ครับ" นั่นแหละค่ะ) ที่คำว่า "ตั้งค่าข้อมูล" แล้วจะปรากฏคำว่า "เปลี่ยนรูปถ่ายประจำตัว" ให้คลิกคำดังกล่าว

๓. ถ้าป๋าเดเข้า 'net ผ่าน "Internet" จะมีข้อความขึ้นว่า "Browse" ถ้าใช้ "Googlechrome" จะขึ้นข้อความ "เลือกไฟล์" ก็ให้คลิกที่ข้อความดังกล่าว แล้วคลิกที่ภาพที่เตรียมไว้ตามด้วยคลิก ที่คำว่า "Open" จากนั้นระบบก็จะดำเนินการเปลี่ยนรูปถ่ายประจำตัวให้และจะปรากฏรูปถ่ายใหม่ภายใน ๒๔ ชั่วโมงค่ะ

สวัสดี ครับอาจารย์ไอดิน ครับ

อาจารย์เขียนบันทึกอย่างตั้งใจมากเลยนะครับ  บันทึกจึงมีสาระความรู้ ข้อคิด และประสบการณ์แอบแฝงไว้มากมาย

...

ยินดีต้อนรับอาจารย์และครอบครัว.....สู่เมืองร้อนเกาะนะครับ

มีความสุขครับที่ได้อ่านบันทึกนี้ในค่ำคืนนี้ ครับ

 

ขอให้อาจารย์เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพนะครับ

 

  • ขอบคุณ "คุณแสงแห่งความดี" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ และปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจ "...อาจารย์เขียนบันทึกอย่างตั้งใจมากเลยนะครับ  บันทึกจึงมีสาระความรู้ ข้อคิด และประสบการณ์แอบแฝงไว้มากมาย..." ค่ะ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ให้เกียรติแก่กัลยาณมิตรทุกท่านที่กรุณาเข้ามาอ่านบันทึกของตน จึงตั้งใจเขียนทุกบันทึกอย่างพิถีพิถันและเติมสาระลงไปด้วย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง ให้คุ้มค่ากับที่ได้สละเวลาเข้ามาอ่านบันทึก
  • ขอบคุณ "คุณแสงแห่งความดี" ที่ได้กล่าวต้อนรับไอดินฯ และครอบครัวสู่ "เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ" ในฐานะเจ้าบ้านที่ดี และขอกราบขอบพระคุณท่านบรรพชนของคุณแสงด้วยนะคะ ที่ได้ดูแล "เกาะสมุย" ไว้ให้เป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของชาติ
  •  ไอดิน-กลิ่นไม้รู้สึกเป็นเกียรติและปลื้มปิติมากค่ะ ที่ "คุณแสงแห่งความดี" ได้นำภาพที่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ทำขึ้นเพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่คุณแสงฯ ได้รับรางวัลสุดคะนึง ไปเพิ่มข้อความแล้วนำไปเป็นภาพหัวสมุด "happyba : พื้นที่ความสุข" 

         

 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับกำลังใจจาก "คุณ พ. : คุณพ่อของน้องปอ"

    

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับกำลังใจจาก "คุณอักขณิช" เจ้าของรางวัลสุดคะนึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ คุณพ่อของพี่พอเพียงและน้องแพรวพราว

      

 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ จากคุณ  "Vee Insolent" ยินดีมากค่ะ ที่ได้รู้จักชาวตรัง บ้าน "อดีตนายกชวน หลีกภัย"

      

เที่ยวเมืองไทย..หัวใจเบ่งบาน
เที่ยวเมืองไทย เหมือนเที่ยในบ้าน
เรียนรู้บ้านของเรา--

ขอขอบคุณ ด้วยความซาบซึ้งใจในน้ำใจไมตรี ที่ "อ.นุ" มีให้แก่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" ตั้งแต่เริ่มแรกของการเป็นสมาชิก GotoKnow จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

     

 

  • สวัสดียามเย็นครับอาจารย์แม่
  • ตอนนี้ที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ คงบรรยากาศดีมากๆ แน่เลยครับ
  • ตอนนี้ผมเขียนบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับจากจิตอาสาครับ
  • อาจจะยังไม่ครบถ้วนกระบวนการครับ
  • เขียนเพราะคิดถึงเพื่อนครับอาจารย์แม่
  • ขอบคุณ "ลูกพนัส" มากนะคะ ที่มาให้กำลังใจอาจารย์แม่ ช่วงต่อไปนี้ อาจารย์แม่ก็คงจะเน้นการเที่ยวในบ้าน ให้เงินทองหมุนเวียนอยู่ในประเทศของเรา
  • ได้ย้อนกลับไปดูประสบการณ์ชีวิตของหลานๆ ด้วยความชื่นชมคุณพ่อที่สั่งสมบ่มเพาะลูกทั้งสอง ทั้งด้วยกิจกรรมการบรรพชาสามเณรของ "พี่แผ่นดิน" ทุกๆ ปี การไปเรียนพิเศษด้านการเลี้ยงวัวของน้อง "แดนไท" และการไปช่วยพ่อปู่จับปลาของหลานทั้งสอง 

        

 

    • อาจารย์แม่เข้าไปดูบันทึกล่าสุดของ "ว่าที่ครูอาร์ม " แล้วนะคะ แต่เพิ่งดูคร่าวๆ ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด เลยยังไม่ให้ความเห็น แต่ให้ดอกไม้ไว้แล้วเพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ค่ะ
    • ชวงนี้ที่ฟาร์มกำลังมีแก้วมังกรสุกที่ออกมาเรื่อยๆ ค่ะ แต่ไม่พอขายเพราะเป็นแก้วมังกรปลอดสารพิษ แถมยังขายถูกกว่าตลาดมากๆ และลูกค้ารวมทั้งพี่เอ๋ลูกสาวของอาจารย์แม่บอกว่า รสชาติ (คำนี้คนเขียนผิดกันมากค่ะ) อร่อยกว่าทุกแห่งที่เคยทาน มีพันธุ์เนื้อสีชมพูด้วยนะคะ ซึ่งยังไม่เคยเห็นที่ไหน กิ่งพันธุ์แพงมากญาติซื้อมากิ่งละ ๑,๐๐๐ บาท แต่เขาเลิกปลูกเลยขายให้อาจารย์แม่กิ่งละ ๑๐๐ ค่ะ

          อาจารย์แม่ก็ตั้งใจว่าจะลงบันทึกตอนจบวันนี้ ค่ะ ไม่ทราบจะทันไหมนะคะ

      

 

 

ภาพสวยมาก การเอาภาพขึ้น ไปที่ไฟล์อัลบั้ม copy  URL มาที่แก้ไขบันทึก คลิก insert/edit image ใต้ cut เอา URL ใส่ช่องแรก กดจัดเก็บครับ

 

  • ขอบคุณ "ลูกขจิตมากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจอาจารย์แม่ และชมว่าภาพสวย รวมทั้งตอบคำถามที่อาจารย์แม่ถามไว้ในบันทึกล่าสุดของลูกขจิต
  • คือ อาจารย์แม่ทราบค่ะ ว่าจะมีวิธีการนำภาพมาประกอบบันทึกอย่างไร แต่มีปัญหาว่า ก่อนนี้เคย Upload ภาพโดยผ่านแผงจัดการเก่า ซึ่งทำให้ได้ภาพขนาดใหญ่เท่าต้นฉับ แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏแผงจัดการเก่า เวลา Upload ภาพจะได้ภาพขนาดเล็กกว่าต้นฉบับ ซึ่งถ้านำภาพมาประกอบความเห็นจะขยายให้ใหญ่ขึ้นได้ (ดังภาพล่าง) แต่เวลานำภาพไปลงในบันทึก กลับขยายให้ใหญ่ขึ้นเท่าต้นฉบับไม่ได้น่ะค่ะ (ดังตัวอย่างภาพสุดท้ายในบันทึกนี้)

สวัสดียายไอดินฯ

-ต้องยอมรับว่ายายไอดินเก่งในการตั้งชื่อบล๊อค ทำให้ชวนติดตาม เช่น "เที่ยวทั่วไทย : ลงใต้ ..ไปเกาะสมุย" ไม่ได้ยอแต่เป็นเรื่องจริงเพราะทุกเรื่องตั้งชื่อชวนให้ติดตาม ภาพที่ท่านเห็นเป็นจ้าวพ่อเซียงไฮ้ตัวจริง เขายกกองท่านมาถ่ายทำที่เกาะสมุย 555

-ถนนบ้านเรา สายแจ้งสนิท  ยโส-อุบลฯ ตอนนี้เป็น 4 เลนเกือบจะหมดแล้วมั้ง...ยิ่งทางแยกเข้าบ้านขุมเงินคงเสร็จแล้วใช่ใหม...

-ภาพลูกชายคนเล็กไม่ได้ลง เขาเป็นครูเอกชนสอนอยู่จังหวัดสมุทธปราการ

สวัสดียายไอดินฯ

-ยังตอบไม่หมด ผอ.กองสวัสดิการมาบอกให้ไปดูภาพวงจรปิดที่จ้าวตุ๊ดตู่โดนชนเมื่อวานนี้ ป๋าเดจอดไว้ที่หน้าเทศบาลเมื่อวานนี้ตอนบ่ายโมงกว่าๆ จึงรีบไปดู พบว่าเป็นรถปิ๊กอัพอีซูซุถอยชน ไม่ทราบว่าจะติดตามเขามาจ่ายค่าซ่อมได้หรือไม่ (เขียนตอบท่านขณะที่ไปติดต่อดูภาพวงจรปิดที่เทศบาล)

-เป็นความผิดของผมเองเรื่องให้ดอกไม้เพื่อนๆชาว GTK ผมมักจะลืมเสมอ ไม่ได้ตั้งใจนะต่อนี้ไปจะไม่ลืมอีก ก็ชอบทุกท่านที่เข้าชมครับ ซึ่งบางท่านก็ไม่กล้าcommentท่านเพราะเกรงใจ

-เรื่องเปลี่ยนรูป ผมเปลี่ยนใจไม่ยอมเปลี่ยนแล้ว ใส่รูปเดิมนั่นแหละมันขลังดี....ส่วนตัวจริงเพื่อนๆก็เห็นแล้วในบล๊อคต่างๆที่ลง ก็ตัวจริงเสียงจริงครับ....

-ป๋าเดเขียนคำว่า "สมุทรปราการผิดอีกแล้ว" ยายละเอียด...

 

  • เพิ่งเข้ามาเหรอคะ "ป๋าเด" อ้อ! รูปนี้ขลัง เลยเปลี่ยนใจใช้รูปเดิม...ดีแล้วล่ะค่ะ
  • เรื่องพิมพ์ผิดเป็นเรื่องปกติไปแล้วล่ะค่ะป๋าเด ยายละเอียด...(เวลาคุยกับป๋าเด เผลอติดว่าตนเองชื่อนี้ไปแล้วนะคะนี่) เองก็พิมพ์ผิดบ่อยๆ คุยกับ ดร.ขจิตข้างบนก็พิมพ์ฉบับเป็น "ฉับ"
  • ขอบคุณนะคะ สำหรับคำชมเรื่องตั้งชื่อเรื่องได้น่าสนใจ 
  • เออ! ดีเนาะ ถูกรถเฉี่ยวชนยังมีผู้ให้บริการเชิญไปดูหลักฐาน เห็นเลขทะเบียนรถที่ชนไหมล่ะคะ
  • วันนี้ยายไอดินฯ ไปช่วยจัดกิจกรรมเสริมทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน บอกจะจัดให้เด็กป.๔-๖ แต่โรงเรียนให้เด็กป.๑-๓ มาร่วมด้วย เลยจัดกิจกรรมลำบาก เพราะเด็กมีประสบการณ์พื้นฐานต่างกันมาก เลยใช้การแบ่งกลุ่มให้แต่ละกลุ่มมีเด็กโตและเด็กเล็กคละกัน วันนี้ให้เด็กเรียนรู้เรื่อง ๑) การกล่าวทักทาย ๒) การถามชื่อ โดยใช้เพลงเป็นสื่อทั้งนั้น รวมทั้งการแบ่งกลุ่มโดยให้แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับภาพผลไม้ไม่ซ้ำกันและคละเพศคละระดับชั้น (ดังภาพ) ซึ่งก็ใช้เพลงเพื่อให้เด็กเรียนรู้ชื่อผลไม้ทั้ง ๖ ชนิดไปด้วยค่ะ

 

เป็นความสุขจากการที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดลูกทั้งสอง…มากกว่าความสุขที่ได้รับจากการท่องเที่ยวโดยตรง

ประโยคนี้เป็นตัวแทนความรู้สึกของแม่ทุกคนเลยค่ะ

สิ่งที่ได้รับจากลูกมีค่ายิ่งใหญ่เสมอ 

 

 

 

ขอบคุณ "หนูกระติก" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้"

เข้าไปดูบันทึกของหนูกระติก หลังจากที่ได้บันทึกเมื่อ ๒๗ วันที่ผ่านมา เพื่อบอกเล่าถึงความซาบซึ้งใจที่น้องใบตองทำำอะไรๆ มอบให้แม่ในอดีต ก็ยังไม่เห็นลงบันทึกใหม่นะคะ คงจะทำงานยุ่ง

พี่เองก็รับรู้และซาบซึ้งใจในความรักระหว่างคุณแม่กระติกกับลูกทั้งสองที่น่ารักทั้งหน้าตาและการประพฤติปฏิบัตินะคะ

  

ได้อรรถรสครบถ้วนแห่งความสุข และสะท้อนสายใยรักในครอบครัวที่น่าชื่นชมมากๆค่ะ

ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่" มากนะคะ กำลังใจที่ได้รับจากพี่ใหญ่ ให้ความรู้สึกอบอุ่นและมีพลังกับน้องได้มากจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "คุณครูธนิตย์ สุวรรณเจริญ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท