๑๕๐.‘ต้องได้’ : การฟังเสียงเล็กๆ ก็ให้ความเป็นจริงและความเป็นไปได้ที่มีพลังเช่นกัน


 

 

 

 

 

 การได้ร่วมเป็นจิตรกรอาสา  ไปวาดรูปบนฝาผนังวอร์ดพิเศษผู้ป่วยเด็กของโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดจากความริเริ่มและการประสานงาน บอกกันแบบปากต่อปาก เดิมทีนั้น ก็ทราบว่าเกิดจากความคิดริเริ่มโดยญาติของผู้ป่วยเด็ก ที่มาเยี่ยมหลานและได้เห็นทางวอร์ดพิเศษผู้ป่วยเด็กปรับปรุงซ่อมแซมบนชั้น ๑๓ ของอาคารผู้ป่วยเด็กที่เก่าและเสื่อมโทรมมากแล้ว โดยสีสำหรับทาผนัง ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสีแห่งหนึ่ง จึงได้นำเสนอแนวคิดกับหัวหน้าวอร์ดว่าจะระดมคนมาช่วยทาสีใหม่แล้วก็ทำให้มีบรรยากาศให้สมกับเป็นวอร์ดดูแลผู้ป่วยเด็กโดยการเขียนภาพตบแต่งตามฝาผนังทั่วทั้งวอร์ดช่วยกัน ญาติของผู้ป่วยเด็กท่านนั้น เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ดังนั้น การระดมกลุ่มคนเริ่มต้น จึงจะชวนลูกศิษย์และนักศึกษามาช่วยกันทำแบบจิตอาสา

แม้จะเป็นการร่วมคิดและนำเสนอจากญาติผู้ป่วยเด็กที่มาเยี่ยมหลานเพียงคนเดียวและเสียงเดียว อีกทั้งไม่ได้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในเชิงโครงสร้างองค์กรการทำงานของโรงพยาบาลแต่อย่างใด แต่ด้วยความมีเหตุผลสอดคล้องกับสภาพการณ์ของสถานที่ อีกทั้งอยู่ในห้วงเวลาของการปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะทำได้ไม่บ่อยหนัก เมื่อทำแล้ว หากคิดและทำสิ่งต่างๆให้ครอบคลุมถึงสิ่งที่ควรจะทำและทำได้ให้มากที่สุดในคราเดียวกัน ก็นับว่ามีเหตุผลที่จะคิดริเริ่มและพากันทำ คงจะด้วยจังหวะและการผุดขึ้นมาในวาระที่เอื้อให้คิดได้เช่นนี้ ทางวอร์ดเด็กจึงเปิดใจรับและเป็นโอกาสให้เกิดการระดมทรัพยากรและระดมความร่วมไม้ร่วมมือกันจากผู้คนแบบบอกต่อๆกันไป ให้มาช่วยกันทาสีอาคารและวาดรูปวอร์ดเด็กแบบจิตอาสา

บ้างก็ไปหาพู่กันสำหรับทาสีผนังและใช้เขียนรูป บ้างก็พากันเดินเก็บรวบรวมขวดพลาสติกมาตัดเป็นที่ล้างพู่กันและใช้ผสมสี เตรียมไว้เป็นจำนวนมาก ให้เพียงพอและให้ความสะดวกแก่คนที่จะมาช่วยกัน หมอ พยาบาล และบุคลากรในวอร์ด ช่วยกันเตรียมสถานที่ เก็บข้าวของ จัดหามุมสำหรับวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นสัดส่วน สามารถช่วยกันทำงานได้โดยไม่รบกวนผู้ป่วยและส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ดำเนินอยู่เป็นประจำ

เมื่อทาสีผนังเสร็จแล้ว การที่จะเขียนภาพตามผนังด้านในวอร์ด ก็ได้’ฟ้าใส’ ลูกสาวของหม่อมหลวงวันนิวัต เกียรติสาร หัวหน้างานโสตทัศนศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ปี ๕ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาวางแนวคิด ร่างภาพ และนำระบายสี ผู้ที่อาสามาช่วยกันระบายสี ก็หมุนเวียนมาช่วยกันทั้งในและนอกเวลาทำงาน เหลือผนังสองข้างที่ด้านหน้าวอร์ด ซึ่งจะเป็นพื้นที่กว้างที่สุด ด้านละประมาณ ๓x๕ เมตร ภรรยาผมอาสาออกแบบและชวนผมไปช่วยเขียนกันคนละผนัง

วันนั้น ผมเดินทางกลับจากไปช่วยงานมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ กลับไปถึงเชียงใหม่ในตอนเย็นเพื่อจะได้นั่งรถไปกับภรรยาหลังเลิกงานกลับเข้าบ้านด้วยกันที่สันป่าตองซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร พอทราบว่ามีการอาสากันไปวาดรูป ก็เลยพากันตรงไปยังวอร์ดเด็กและไปวาดรูปกันเลย เมื่อไปถึง ก็เห็นหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ของคณะแพทย์ และผู้ที่อาสามาช่วยกันวาดรูป กระจายกันระบายสีและคอยช่วยทำสิ่งต่างๆกันหลายคน

                           

                           

ผนังในส่วนที่ผมจะวาดนั้น อยู่ฝั่งด้านขวาของทางเข้าวอร์ดเด็ก นอกจากว้างเหมือนกับการต้องเขียนรูปบนแผ่นโปสเตอร์ขนาดใหญ่พอสมควรแล้ว บนผนังก็ไม่ได้เป็นพื้นเรียบว่างเปล่า แต่มีพัดลมติดผนังอยู่กึ่งกลางด้านบน ตรงระดับสายตาด้านซ้ายมีแผ่นภาพแสดงโครงสร้างบุคลากรในวอร์ด ติดภาพ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นมาตรฐานโดยทั่วไปอย่างหนึ่งขององค์กรและหน่วยบริการสาธารณะ บริเวณด้านขวาของพื้นที่ด้านหน้าวอร์ด มีมุมหนังสือและของเล่นสำหรับเด็ก ลูกกรงที่กั้นบริเวณของเล่น อยู่ชิดกับผนังและสูงขึ้นไปประมาณ ๔๐-๕๐ เซ็นติเมตร

สภาพสถานที่และสิ่งของที่ติดบนผนัง รวมทั้งการจัดมุมใช้สอยบริเวณด้านหน้าให้เป็นพื้นที่สำหรับดูแลเด็ก ซึ่งมีอยู่แต่เดิมเหล่านี้ นอกจากต้องมองข้ามไปให้อยู่เหนือความเป็นสิ่งกีดขวางการวาดรูปแล้ว ก็ต้องถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ที่จะต้องออกแบบและจัดวางองค์ประกอบอื่นๆที่จะปรากฏขึ้นมาบนรูปที่วาด ให้มีความกลมกลืนและทำให้เป็นองค์ประกอบทางศิลปะบนพื้นที่เดียวกัน มีบทบาทตามจุดหมายเฉพาะ พร้อมกับส่งเสริมกันและกันด้วย ไม่ขัดกัน และต้องไม่ทำให้สิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดบนผนังแปลกแยกกัน ขนาดของพื้นที่และรูปทรง รูปร่าง ตำแหน่งการวางองค์ประกอบต่างๆ เส้นสาย สีสัน แสงเงา ตลอดจนเรื่องราวของภาพ ต้องสะท้อนกลมกลืน เชื่อมโยงให้สิ่งโดยรอบสร้างเรื่องราวร่วมกัน กระทั่งส่งผลให้เกิดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเพื่อเด็ก สื่อแสดงและปรากฏออกมาดังที่ต้องการ

แต่เดิมนั้น ภาพร่างที่ผมทำขึ้น จะเป็นภาพแมกไม้ เนินเขา และภูดอย เหลื่อมหลายชั้น มีทุ่งโล่ง ดอกไม้ และกลุ่มเด็กๆกำลังเล่นกิจกรรมต่างๆ กระจายไปตามเนินเขา ในใจก็คิดว่าอยากให้ผู้ป่วยเด็กที่ได้มาอยู่ตรงมุมที่มีรูปวาดบนผนังนี้ ได้อยู่ในบรรยากาศของบ้านและชุมชนแบบล้านนา มีภาพสะท้อนสังคมและธรรมชาติแวดล้อมของพื้นถิ่น ได้เห็นเด็กๆและคนรอบข้างผู้ร่วมสังคมเดียวกันหลากหลาย มีชีวิตชีวา มีสีสัน เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ร่างขยายภาพขึ้นบนผนัง จากนั้นก็เตรียมระบายสี

แต่ระหว่างเตรียมสี พู่กัน ผ้ากันเปื้อน ฟองน้ำ วัสดุอุปกรณ์ เก้าอี้ และอื่นๆ เพื่อยืนเขียนบนพื้นที่สูงเกินเอื้อมมือถึงอยู่นั้น ก็มีพ่อแม่อุ้มผู้ป่วยเด็กออกมาเดินด้านหน้าวอร์ดและนั่งดูพวกเราวาดรูป ช่วงหนึ่งก็พูดกับเด็กแบบเปรยๆว่าเด็กๆชอบปลาโลมา อยากได้ปลาโลมา ... !!!

รูปโลมากับทะเล ..!!!?? ผมอดอุทานในใจไม่ได้... เนื่องจากว่า ในขณะที่ภาพร่างภูเขา ดงดอย กลุ่มเด็กๆ ดอกไม้ และรูปการ์ตูนสัตว์ ได้แผ่กระจายเต็มผนังและเตรียมจะระบายสีไปแล้วนั้น การที่จะมีรูปโลมากับทะเลด้วยเพิ่มขึ้นมาอีกนั้น ย่อมไม่เพียงจะหมายถึงการเริ่มต้นทำงานใหม่ชั้นเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงการเกิดงานใหม่อีก ๓-๔ เท่าที่ของที่ได้ทำผ่านไปแล้วเลยทีเดียว 

งานชั้นที่หนึ่ง ต้องค่อยๆลบภาพร่างเก่าออกไปก่อนในส่วนที่จะทำให้มีพื้นที่วาดรูปโลมา งานชั้นที่สอง ต้องทำความสะอาดสีพื้นของผนัง ให้มีร่องรอยสกปรกเปรอะเปื้อนจากการร่างและลบออกให้น้อยที่สุด งานชั้นที่สาม ศึกษาข้อมูลและร่างภาพใหม่ และงานชั้นที่ ๔ ขยายภาพขึ้นบนผนังเช่นเดิมแต่เรื่องราวเปลี่ยนจากภาพภูเขากับกลุ่มการ์ตูนเด็กๆให้กลายเป็นภาพทะเลกับโลมา 

ที่สำคัญก็คือ ผมเองนั้นเรื้อจากการวาดการ์ตูนสัตว์นานมากแล้ว เลยก็นึกภาพการ์ตูนโลมาไม่ค่อยออก แต่ในห้วงเวลาอย่างนั้นก็ไม่มีเวลาไปหาข้อมูลและทำสตั้ดดี้ให้คล่องก่อนนำมาออกแบบภาพร่างเสียด้วย กระนั้นก็ตาม แม้จะยังนึกไม่ออกอย่างฉับพลัน แต่ผมก็กำหนดความคิดไปทางเดียวทันทีว่า 'ต้องได้สิ' ดังนั้น กระบวนการคิดต่างๆจึงปิดด้านที่จะต้องไปเสียเวลาคิดว่าทำไม่ได้และปิดมุมมองที่จะเห็นปัญหาแล้วหยุดทำ แต่มุ่งหาทางทำอย่างเดียวว่าจะทำออกมาอย่างไร เมื่อเริ่มลบและร่างภาพใหม่อีกครั้ง กว่าจะเริ่มระบายสีได้ก็เกือบ ๔-๕ ทุ่มเสียแล้ว หลายคนเริ่มกลับบ้าน พยาบาลเวรดึกเริ่มเข้ามาเปลี่ยนเวรกันเป็นอีกชุดหนึ่ง 

ผมหาวัตถุดิบมาศึกษาตามมีตามเกิดโดยลองเข้าไปค้นหาดูในกูเกิ้ลแบบผ่านๆ จากนั้น ก็ลองทำสตั้ดดี้บนกระดาษ เขียนจนพอคล่องมือและพอจะวางท่าทางให้เป็นอย่างที่ต้องการได้จึงร่างภาพและจัดองค์ประกอบภาพชุดใหม่ขึ้นอีกชุดหนึ่ง แบ่งผนังเป็นสองฉาก ด้านหนึ่งเป็นภูเขาแบบทางเหนือและใช้ภาพร่างเดิม อีกด้านหนึ่งวาดขึ้นใหม่ให้เป็นท้องทะเล มีแม่โลมาและโลมาเด็กๆ กำลังพากันว่ายน้ำเล่น และเพื่อให้ภาพเรื่องราวทะเลกับภูเขาชาวดอย ซึ่งมาอยู่ด้วยกันบนผนังเดียวกันเสียแล้ว ไม่ขัดแย้งและกลายเป็นคนละเรื่อง คนละชุดความหมาย ก็เลยต้องทำให้เด็กๆกับโลมาทักทายและมอบดอกไม้ให้กัน 

ภาพวาดบนฝาผนังที่เสร็จสิ้นและปรากฏออกมาอย่างที่ต้องการ รวมทั้งคนทำงานที่อยู่ในวอร์ดแวะเวียนออกมาชม ตลอดจนพ่อแม่และเด็กผู้ป่วยก็ออกมาแสดงความชื่นชอบ เหล่านี้ ถือเป็นเครื่องพิสูจน์และยืนยันให้แน่ใจยิ่งๆขึ้นได้ว่า เมื่อเรารู้สึกว่าต้องการสิ่งใดและสามารถที่จะสร้างจินตภาพขึ้นได้ในความคิด พร้อมกับน้อมใจมุ่งที่จะทำบนความเชื่อมั่นว่าทำกันได้ จากนั้นก็มุ่งที่จะคิดและทำ ในที่สุด ทุกอย่างก็สามารถทำและดำเนินไปได้อย่างที่ต้องการร่วมกันได้เป็นอย่างดี

                           

ทุกองค์ประกอบที่เป็นคนละเรื่องและไม่ควรจะอยู่ด้วยกันได้ ก็เลยมีที่ทางเฉพาะของตน ขณะเดียวกัน ก็มีโครงสร้างที่จัดวางตำแหน่งแหล่งที่ ให้ต่างกลายเป็นองค์ประกอบในการสร้างเรื่องราวต่างๆให้ดำเนินไปด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน พัดลมผนังกลืนไปกับพุ่มไม้และกลายเป็นองค์ประกอบที่มีความเคลื่อนไหว แผ่นภาพแสดงผังโครงสร้างบุคลากรในวอร์ด ลีลาและการส่งจังหวะจากลูกกรงมุมนั่งเล่นและคอยดูแลฟื้นฟูสุขภาพเด็กของครอบครัว ก็ส่งผลต่อลีลาของแนวเขา แนวคลื่น และองค์ประกอบต่างๆของภาพบนผนังที่วาดขึ้น ตลอดจนโครงสี จังหวะแสงเงา สัดส่วน และความสัมพันธ์กันของมิติใกล้ไกลหน้าหลัง ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ก็มีโครงสร้างของการอยู่ด้วยกันและไปกันได้

เสียงของเด็กๆและเสียงส่วนน้อยของคนตัวเล็กๆที่มุ่งร่วมคิดร่วมทำสิ่งต่างๆในสังคมนั้น มักมีความแตกต่างมากจากเสียงเบาๆและเสียงส่วนน้อยของคนใหญ่โต คนที่มีกำลังมาก คนที่มีโอกาสมากกว่า คนที่อยู่บนโครงสร้างและอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบของสังคม หากมองข้ามธรรมชาติของสังคมและความเป็นจริงข้อนี้ไป สังคม ปัจเจก และชุมชนระดับต่างๆ ก็จะขาดการหมั่นริเริ่มสิ่งต่างๆให้หลากหลายและมุ่งให้ทำแตกต่างไปบ้างจากสิ่งดำเนินไปอยู่บนรอยเดิม อีกทั้งดำเนินไปโดยเราเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตไปด้วยว่า บนโครงสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมในลักษณะดังกล่าวนั้น ก็เอื้อที่จะทำให้คนที่มีโอกาสดีอยู่แล้ว มักจะได้รับการสนองตอบและได้รับโอกาสที่ดีมากยิ่งๆขึ้น ในขณะที่อีกทางตรงข้าม คนที่ไม่ค่อยมีโอกาส ก็จะไม่ได้รับการสอนงตอบและเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆมากยิ่งๆขึ้น เราจึงมักไม่รู้สึกว่า ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการขาดการพัฒนาตนเองหลายอย่างของสังคม แท้จริงนั้น ตัวเราเองก็มีส่วน และเกิดขึ้นอยู่รอบๆใกล้มือเรานั่นเอง

การฟังเสียงเล็กๆของเด็กและคนตัวเล็ก เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำได้ไม่ง่าย เพราะเป็นวิถีปฏิบัติที่ฝืนกระแสการไหลของสังคม ต้องอาศัยความมีจิตใหญ่ซึ่งฝืนความเคยชินต่อการตามใจตนเองของเรามากกว่าการที่จะปรับตนเองให้สนองตอบต่อความต้องการของผู้อื่นอย่างไร้ข้อแม้ ต้องเปิดกว้าง น้อมตนไปสู่ผู้คนและเรื่องราวบนความไม่ค่อยมีตัวตนในสังคม รวมทั้งเห็นคุณค่าและความหมายของผู้คนที่มีอยู่ในตนเองเสมอกัน  ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้ความเป็นจริงและความเป็นไปได้ทั้งหลายบังเกิดขึ้นในอีกมิติหนึ่งอย่างมีพลังเช่นกัน 

ในสถานการณ์ที่ทำให้ได้โอกาสที่ไม่ต้องขึ้นต่อความเป็นตัวกูของกูนั้น ทำให้ตัวเราเองก็ได้เดินกลับเข้าไปอยู่กับการกล่อมเกลาและหล่อเลี้ยงชีวิตด้านใน สังคมโดยรอบก็มีโอกาสเกิดความเปลี่ยนแปลง และได้รับความหลากหลายเพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นมากกว่าการผลิตซ้ำสิ่งต่างๆบนรอยเดิมอย่างไม่มีความหมาย ที่อย่างไรเสียก็ดำเนินเช่นนั้นไปเองอยู่แล้ว  

เราสามารถเห็นความเป็นไปของสังคมอย่างไม่ต้องดูดายและไม่ต้องทำเกินกำลัง โดยมีส่วนร่วมสะท้อนประเด็นสังคม และร่วมสะท้อนความริเริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งใหญ่ๆ ลงบนสิ่งที่อยู่ในเงื่อนไขการทำได้ในชีวิตการงานของเรา ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ แต่คุณค่าและความหมายต่อการสร้างความเป็นจริงใหม่ๆแก่สังคมนั้น เล็กใหญ่หาใช่อยู่ที่ขนาดของสิ่งที่แต่ละคนทำได้ไม่เท่ากันไม่ แต่อยู่ที่จิตวิญญาณของการทำและขนาดของหัวใจของคนลงมือทำ คือตัวเรานั่นเอง.

 

หมายเลขบันทึก: 543881เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เห็นแล้วมีความสุข การที่เด็กๆได้อยู่ในที่มีศิลปะ

อาจทำให้เขาหายไวกว่าที่เป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมนะครับ

สุขใจที่ได้เห็นและได้ยินอย่างมีความหมายและรู้ถึงคุณค่านะคะอาจารย์  โดยเฉพาะต่อเด็ก ๆ

อยากกลับไปเป็นดีจังเลยครับ  จะได้เรียนศิลปะกับอาจารย์วิรัตน์  555

ขอบพระคุณครับอาจารย์ขจิตครับ
โลกของการ์ตูน โลกของเทพนิยาย เหล่านี้นี่ เข้าถึงธรรมชาติและโลกของเด็กๆในทุกสังคมวัฒนธรรม
ได้อยู่เสมอเลยนะครับ เวลาเราเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่ หากได้มีโอกาสรำลึกและรักษาสิ่งนี้ไว้ในตนเองอยู่เสมอๆ
นอกจากจะเป็นการรักษาความสดและพลังความเยาวภาพของชีวิตต่อเรื่องต่างๆแล้ว
ก็ทำให้เราสามารถนึกถึง เข้าใจ ห่วงใย คนรุ่นที่มาทีหลัง เหมือนเราเองก็ได้รับจากคนรุ่นเก่าก่อน ไปด้วยเลยนะครับ

ขอบพระคุณครับคุณหมอธิรัมภาครับ
ได้นำมาถ่ายทอดสื่อสาร ชวนสำรวจหาสิ่งที่ได้และไอเดียดีๆ แล้วก็เป็นวัตถุดิบเปิดวาระการได้คุยและแบ่งปันกันกับคนทำงานต่างๆ ให้ต่างได้สร้างความลึกซึ้งแยบคาย ต่อเติมความรอบด้านให้กันในทุกด้าน เห็นความเคลื่อนไหวของรอบข้างคู่ขนานไปกับการดำเนินชีวิตและทำการงาน ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นี่ ก็เป็นสิ่งที่ผมเองก็ได้แก่ตนเองมากจริงๆไปด้วยอยู่เสมอเช่นกันครับ ทำให้ได้ทำงานไปด้วย และได้สภาพแวดล้อมทางการสื่อสารเรียนรู้เป็นครูและเป็นกัลยาณมิตร ให้ได้เพิ่มพูนหลายสิ่ง เก็บสะสมเอาไปทำงาน ต่อเนื่องกันไปได้อีกอยู่เสมอๆ

 

สวัสดีครับคุณอักขณิชครับ
งั้นเรามาแลกกัน นั่งวาดรูป ในท่ามกลางสวนและทุ่งนา
ที่คุณอักขณิชและหมู่มิตร ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา
คงม่วนดีเนาะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท