ใจร้อน-ใจเร็ว..มากกว่าแสงเลเซอร์??


พบผู้ที่มีตัวเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) ตอนนี้เจาะได้ 36 คน พบคนที่มี Hepatitis B virus จำนวน 1 คน คิดเป็น 2.8 %


        เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว …. ทีมงานของผู้เขียน ได้ลงพื้นที่เขตรับผิดชอบ…ลงไปเชิญชวนประชาชนให้มาตรวจเลือดเพื่อคัดกรองตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus-HBV) และ แอนติบอดี (Antibody) ต่อ HBsAg (anti-HBs) ในตำบลท่าช้างเขาให้เก็บ(ทางกระทรวง) กลุ่มตัวอย่างตำบลละ 40 คนนะคะ แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะสรุปผลการตรวจ .... ขอเล่าเรื่อง ไวรัสตับอักเสบบี สักนิดหนึ่งนะคะ

ตับ ...เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ปกติจะมีน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม โดยอยู่หลังกระบังลม

หน้าที่ของตับ

   - เป็นคลังสะสมอาหาร เช่น แป้ง ไขมัน โปรตีน เอาไว้ใช้ และปล่อยเมื่อร่างกายต้องการ

   - สังเคราะห์สารต่างๆ เช่น น้ำดี สารควบคุมการแข็งตัวของเลือด ฮอร์โมน

   - กำจัดสารพิษ และสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรค

โรคตับชนิดต่างๆ

ตับมีโอกาสเป็นโรคต่างๆได้แก่ โรคตับอักเสบ Hepatitis โรคตับแข็ง (Cirrhosis)มะเร็งตับ (Liver Cancer) โรคไขมันในตับ (Fatty Liver) โรคฝีในตับ(liver abscess)  

โรคตับอักเสบมี 2 ชนิด

1. โรคตับอักเสบเฉียบพลัน (Acute hepatitis)  หมายถึงโรคตับอักเสบที่เป็นไม่นานก็หาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการ 2-3 สัปดาห์โดยมากไม่เกิน 2 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายขาดจะมีบางส่วนเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และบางรายรุนแรงถึงกับเสียชีวิต

2. โรคตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis) หมายถึงตับอักเสบที่เป็นนานกว่า 6 เดือนจะแบ่งเป็น 2 ชนิด

     - Chronic persistent เป็นการอักเสบของตับแบบค่อยๆเป็นและไม่รุนแรงแต่อย่างไรก็ตามโรคสามารถที่จะทำให้ตับมีการอักเสบมาก

     - Chronic active hepatitisมีการอักเสบของตับ และตับถูกทำลายมากและเกิดตับแข็ง

สาเหตุของโรคตับอักเสบ

     1. เชื้อไวรัส มีหลายชนิดได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี, ดี, อี

     2. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

     3. ยาบางชนิด เช่น ยารักษาวัณโรค, Sulfonamide drugs. ผู้ป่วยหากได้ Acetaminophen (พาราเซ็ตตามอล) ในขนาดสูงมากก็สามารถทำให้ตับถูกทำลายได้นะคะ

     4. เชื้อโรคบางชนิด เช่น ไทฟอยด์, มาลาเรีย

         การอักเสบของตับจะทำให้ตับบวม มีการทำลายเซลล์ตับ ทำให้มีอาการอ่อนเพลียจากการทำงานผิดปกติของตับ หากการอักเสบเกิดขึ้นเป็นเวลานานจะทำให้ตับถูกทำลายมาก และถูกแทนที่ด้วยพังผืด ทำให้ตับมีแผลเป็น และมีลักษณะแข็งเป็นตุ่มๆ แม้ว่าสาเหตุของตับอักเสบจะมีมากมายแต่สาเหตุที่สำคัญคือ ไวรัสตับอักเสบ ปัญหาโรคตับอักเสบ บี และโรคตับอักเสบเรื้อรังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทยและทั่วโลก การดำเนินของโรคตับอักเสบ บี และโรคตับอักเสบ ซีสามารถดำเนินเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง เป็นตับแข็ง และเป็นมะเร็งตับ เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางครอบครัว ทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก ดังนั้นการเข้าใจถึงโรคตับอักเสบ ซึ่งรวมถึงการติดต่อ การดำเนินของโรค การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันการติดต่อซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดูแลและช่วยลดจำนวนผู้ป่วยลง

อาการของผู้ป่วยโรคตับอักเสบ บี (Hepatitis B virus)

      อาการจะเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 45-90 วัน บางรายอาจจะนานถึง 180 วันผู้ป่วยที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดตามตัวมีไข้ แน่นท้อง ถ่ายเหลวเป็นอยู่ 4-15 วันหลังจากนั้นจะมี ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะสีเข็ม อาการตัวเหลืองตาเหลืองจะหายไปภายใน 1- 4 สัปดาห์บางรายอาจเป็นนานถึง 6 สัปดาห์ จึงสามารถทำงานได้ปกติ

ผลของการเป็นไวรัสตับอักเสบ บี หลังจากเป็นไวรัสตับอักเสบ บี จะมีการดำเนินของโรคดังนี้

1. 90% ของผู้ป่วยหายขาดกล่าวคือ ภายใน 10 สัปดาห์การทำงานของตับกลับสู่ปกติ และมีภูมิคุ้มกัน

2. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบี  (HbAg +) แต่การทำงานของตับปกติ พวกนี้สามารถติดต่อผู้อื่นเรียก พาหะ (Carrier)

    พบว่า 3. 5-10%  จะเป็นตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis)  ผู้ป่วยกลุ่มนี้เจาะเลือดจะพบการทำงานของตับผิดปกติเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนและยังตรวจพบเชื้อตลอด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการอักเสบของตับเป็นระยะๆ บางรายเป็นตับแข็ง บางรายเป็นมะเร็งตับ


การติดต่อของ ไวรัสตับอักเสบบี  เชื้อไวรัสตับอักเสบบีนี้จะพบในเลือดมากที่สุด รองลงมาพบในน้ำลาย น้ำตา น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด น้ำดี และน้ำนมของผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะ และสามารถติดต่อกันได้ผ่านช่องทางเดียวกับการติดต่อโรคเอดส์ คือ
  1. ทางเพศสัมพันธ์  ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ปกติ หรือแบบรักร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จึงถือว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่ง
 2. ทางเลือดและน้ำเหลือง เช่น การถ่ายเลือด หรือการฟอกเลือดด้วยไตเทียม ซึ่งเลือดทุกขวดที่จะถ่ายไปสู่ผู้อื่น หรือที่ได้รับการบริจาคมา ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเสียก่อน
 3. การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การฝังเข็ม การสัก การเจาะหูที่ไม่สะอาด การใช้มีดโกน มีดตัดเล็บ หรือ แปรงสีฟัน ร่วมกัน
 4. จากแม่สู่ลูก  แม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อไปยังลูกได้ขณะกำลังคลอด โดยหากแม่มีเชื้อนี้อยู่ ลูกมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อด้วยถึง 90% และส่งผลอันตรายต่อทารก
  ทารกที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จากหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หรือป่วยเป็นโรคนี้ จะไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปได้เอง เหมือนกับผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อมาจากสาเหตุอื่น โดยทารกแรกเกิดมักไม่มีอาการว่า ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบี แต่จะกลายเป็นพาหะเรื้อรังนานหลายสิบปี หรือตลอดชีวิต และเมื่อทารกเหล่านี้โตขึ้นอยู่ในวัยกลางคน จะมีโอกาสเป็นโรคตับเรื้อรัง ตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้ โดยเพศชายจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคทางตับมากกว่าเพศหญิง ส่วนเพศหญิงก็จะเป็นพาหะถ่ายทอดโรคไปสู่ลูกต่อไป ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจร เด็กทารกทุกคนที่เพิ่งคลอดมา ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันไม่ให้โรคดำเนินต่อไป
 5. ทางบาดแผล ผิวหนัง
  หากผู้มีเชื้อมีบาดแผลถลอก ก็อาจทำให้เกิดการติดต่อได้เช่นกัน
ไวรัสตับอักเสบบี นี้ไม่ติดต่อกันผ่านทางการสัมผัสทางผิวหนัง กอด จูบ การมองหน้า ไอจามรดกัน รวมทั้งการทานอาหารและน้ำแต่เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน หากเราไม่แน่ใจก็ควรใช้ช้อนกลาง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากน้ำลายของผู้ที่เป็นพาหะ

 เนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อผ่านทางของเหลวของร่างกายผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะได้ ดังนั้น บุคคลดังต่อไปนี้จึงมีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อ

       1. คนที่ใช้ยาเสพติด ฉีดเข้าหลอดเลือด
       2. ชายรักร่วมเพศ
       3. ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
       4. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
       5. คนที่เกิดในถิ่นที่มีการระบาดสูง
       6. เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ
       7. บุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบี

          

         

   .... ถึงตอนนี้มาเล่าต่อว่าพบผู้ที่มีตัวเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) ตอนนี้เจาะได้ 36 คน  พบคนที่มี Hepatitis B virus  จำนวน 1 คน คิดเป็น 2.8 %  และวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2556 จะมาตรวจให้ครบอีก 4 คน เป็นครบ 40 คน ตามที่ทางสสจ. สั่งการลงมา นะคะ.... วันนี้ผู้เขียนก็ได้อธิบายญาติของผู้ที่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่พบในตัวของเขา ...ใช้เวลานานพอสมควรให้ตัวเขา ญาติ และอสม. ให้เข้าใจและไตร่ถามจนพอใจ (พอยิ้มออกนะคะ) .... จะช่วย...ลดความวิตกกังวล...ของคนไข้ลงไปมากเลยค่ะ .... ขณะเดียวกันผู้เขียนก็จะนัดผู้ที่พบ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ... มาตรวจการทำงานของตับว่าเป็นอย่างไร? .... เรียกว่า ตรวจการทำงานของตับ (Liver function Test) ในจันทร์หน้านี้เลยนะคะ... เพื่อจะช่วย...ลดความกังวลใจ ... ว่าการทำงานของตับ ของเขาเป็นอย่างไร?   .... ยิ่งทำเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีนะค่ะ ... นึกถึง  "อกเขา-อกเรา" นะคะ....  เพราะ ถ้าเป็นญาติของผู้เขียนเอง ... ก็อยากตรวจเร็วๆ อยากทราบผล ...และ เรื่องราวต่อไปอีกเช่นกันนะคะ .... บ้างครั้ง.... ใจมันก็ร้อน-ใจก็เร็ว ....ไม่แพ้แสงเลเซอร์ (Laser beam) เลยที่เดียว นะคะ

         

         


         ขอบคุณที่ให้เกียรติอ่านบทความนี้นะคะ


หมายเลขบันทึก: 543675เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ขอบคุณครับ พี่หมอเปิ้น กับความรู้ดีๆ

-สวัสดีครับพี่หมอเปิ้น..

-ตามมาเยี่ยมกิจกรรมของพี่หมอครับ..

-ฟังข่าวทางทีวี เขาบอกว่าวันที่ 20  ที่จะถึงนี้เป็นวันเกี่ยวกับโรคตับเหรอครับ??

-ไม่แน่ใจว่าฟังมาถูกต้องหรือเปล่า??

-ขอบคุณครับ..

ใส่  ใจ  ใน  งาน 

ใส่  ใจ  ใน  คน

เยี่ยมมากค่ะพี่เปิ้น

..แวะมากราบขอบพระคุณ..เรื่องราว..ของตับ..เจ้าค่ะ..ยายธี

ข้อมูลมีประโยชน์มากครับ ขอบคุณมากครับผม

   

        ... ขอบคุณพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ มาก นะคะ ... ให้เกียรติอ่านบทความ ค่ะ....

 

             

 

 

 

 

 

 

 

 

ชุมพล บุญเหมย ( ลุงเหมย)

เยี่ยมจริง ๆ ครับท่านอาจารย์หมอ..ถ้าไม่เสาะแสวงหาเราก็จะไม่รู้ ไม่ทราบว่าการที่เขาอยู่ในร่างกายของเรานี้นะเราจะต้องทนุบำรุงรักษาเขาอย่างไรให้อยู่คู่กับเราไปจนตาย...กราบอีกครั้งกับความรู้ดี ๆ ของท่านอาจารย์หมอ  ผมก็รอคำตอบอีกเรื่องหนึ่งจากท่านอาจารย์หมอเหมือนกัน ส่งเอกสารมากราบเรียนนานแล้ว ท่านอาจารย์หมอคงยังไม่ว่างที่จะตอบ...ไม่เป็นไรจะคอยครับ...

ขอบคุณครับ เป็นบันทึกที่ดีโยชน์ในปัจจุบันี้ครับ

ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชัดเจนมากเลยครับพี่เปิ้น

ขอบคุณมากๆครับ

มีประโยชน์มากครับ...และเป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ...ขอบคุณครับพี่เปิ้ล

ขอบคุณมากค่ะที่นำมาเผยแพร่ให้ได้ทราบโดยทั่วกัน..

ขอบคุณความรู้ที่มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท