drapichart
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ สนธิสมบัติ

คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบ (ผศ.ดร.อภิชาติ สนธิสมบัติ)


คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชาติ สนธิสมบัติ 

ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

e-mail, Facebook: [email protected] 

คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบ

เริ่มต้นในการเตรียมตัวสอบนั้น นักศึกษาควรเตรียมสมุดโน้ตเพื่อย่อวิชาแต่ละวิชาก่อน หากไม่เข้าใจเรื่องใดให้รีบติดต่ออาจารย์ผู้สอนทันที สำหรับผู้เขียนขอแนะนำให้นักศึกษารวมเป็นกลุ่มอย่างน้อย 4-5 คน แล้วขอให้อาจารย์อธิบายให้ฟัง (ถ้าถามทีละคน อาจารย์คงไม่มีเวลาจะอธิบายให้ทุกคนได้) ข้อสอบเก่าไม่ควรท่องจำ เพราะเป็นการเรียนที่ผิด เช่น นักศึกษาคนหนึ่งท่องเฉพาะคำตอบ ก, ข, ค, ง เท่านั้น เมื่ออาจารย์เปลี่ยนโจทย์นิดเดียวก็ตอบผิดแล้ว เป็นต้น การเรียนที่ถูกต้องควรทำความเข้าใจ และใช้เหตุและผลมาวิเคราะห์ว่าทำไมจึงต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น เมื่อเข้าใจหลักการแล้ว ข้อสอบแบบไหนก็ไม่ต้องกลัว น่าจะทำได้หมดทุกข้อ อีกข้อหนึ่งระวัง “การดำไม่รู้โผล่” กล่าวคือนักศึกษาจะต้องเช็คกับเพื่อน หรืออาจารย์ผู้สอนด้วยว่าตัวเองเข้าใจเนื้อหาวิชานั้นถูกต้อง ไม่ใช่เราเข้าใจผิดทั้งหมดแต่ก็จะพยายามตอบแบบที่เราเข้าใจ โดยไม่เคยตรวจสอบกับเพื่อน หรืออาจารย์ แบบนี้เหมือนเรือดำน้ำดำแล้วก็คงไม่โผล่แน่นอน ข้อนี้ผมหมายความว่านักศึกษาควรจับกลุ่มติวกันบ้าง แต่ขอร้องอย่าจับกลุ่มเพียงเพื่อลอกกัน หรือตั้งใจจะโกงในการสอบ เพราะมันไม่คุ้มหรอกครับ และถ้าทำก็เป็นการสร้างนิสัยขี้โกงตั้งแต่เด็กๆ ต่อไปในวันข้างหน้าก็คงจะ…หนักกว่าเก่าครับ (หมายเหตุ ควรจะเข้าเรียนทุกครั้ง เพราะอาจารย์อาจจะเน้นว่าตรงนี้สำคัญ (น่าจะมีอยู่ในข้อสอบ) ไม่ใช่แค่มาเช็คชื่อแล้วก็เดินเล่น คุยโทรศัพท์ เล่นไอโฟน บีบี ฯลฯ)

หลักการอ่านหนังสือ

- ควรอ่านหนังสือประมาณ 50 นาที แล้วพักประมาณ 10 นาที 

- ควรดื่มน้ำเยอะๆ เพราะจะต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ทำให้เราไม่ง่วงนอน

- ควรหาที่สงบๆ ไม่ควรอึกทึก เพื่อให้มีสมาธิในการอ่าน (บางคนอาจชอบเพลงเบาๆ ก็ได้ครับ ไม่ผิด

   กติกา)

- ไม่ควรนอนอ่านหนังสือบนเตียง เพราะเสี่ยงต่อการง่วงนอน แล้วหลับ (ตกลงไม่ได้อ่าน)

- ไม่ควรใช้สารเสพติดต่างๆ เพื่อจะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้มากๆ (ได้แต่ปริมาณหน้า แต่ไม่เข้าใจ

  อะไรเลย)

- ควรวางแผน และตัดสินใจให้ดีว่าจะอ่านหนังสือเวลาไหน กี่ชั่วโมง และจะต้องเฉลี่ยตามความยาก

  ง่าย และความชอบของเรา

- ควรจดโน้ตให้เป็นระบบ พยายามจัดเรียงความรู้ให้มีลำดับก่อนและหลัง และรู้จักเชื่อมโยงความ

  สัมพันธ์ระหว่างวิชาอื่นๆ มาเกี่ยวข้องกับวิชาที่อ่านอยู่

- ควรดูแลรักษาตัวเองในระหว่างการอ่านหนังสือ และการสอบ โดยรับประทานอาหารประเภทโปรตีน 

  เพื่อบำรุงสมองให้มากกว่าเดิม (งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุรา เบียร์ ยาเสพติด)

- ควรลดความเครียด โดยการผ่อนคลายบ้างบางช่วงเวลา และจะต้องมีวินัยกลับมาอ่านต่อให้ได้ด้วย

- เนื่องจากการสอบโดยปกติ จะเป็นการสอบแบบเขียนตอบ ดังนั้นการอ่านหนังสือนักศึกษาควรหัด

  เขียนหลายๆ เที่ยว เพื่อซักซ้อมให้มั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาจะต้องเขียนคำตอบอย่างไร การสอบแบบคำนวณ 

  ต้องฝึกคำนวณเยอะๆ ฝึกจำสูตร หน่วยให้แม่นยำ การสอบปากเปล่า ควรจะหัดพูดปากเปล่า

  บรรยายเนื้อหานั้นออกมาให้คล่องแคล่ว ไม่ติดขัด ตะกุกตะกัก

คำแนะนำก่อนวันสอบ และในวันสอบ

- ก่อนวันสอบ ควรตรวจตารางสอบให้แน่นอนว่าเราจะต้องสอบที่ห้องไหน ตึกไหน ถ้าเป็นไปได้ควรไปดู

  ห้องสอบก่อนจะสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะหาห้องสอบเจอะ เพราะถ้าหาไม่เจอจะทำให้ร้อนรน จน

  ตกใจลืมทุกอย่างก็ได้

- ก่อนวันสอบ ควรรับประทานอาหารที่ไม่เผ็ด และอาหารควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ อย่ารับ

  ประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ทานส้มตำ ข้าวแกงที่ปรุงไว้นานๆ อาหารที่เผ็ดจัด เป็นต้น เพื่อหลีก

  เลี่ยงโรคท้องร่วง หรืออย่าดื่มสุรา หรือของมึนเมาในคืนก่อนวันสอบ เพราะอาจทำให้สมองไม่สั่งงาน

- ก่อนวันสอบ ควรตัดผม และโกนหนวดให้เรียบร้อย ถ้าผมยาวอาจถูกไล่ออกจากห้องสอบ จะทำให้

  เสียเวลา และทำให้ร้อนรนจนลืมทุกอย่างได้เช่นกัน ควรแต่งกายชุดนักศึกษาให้ถูกต้องตามระเบียบ

  ของมหาวิทยาลัยฯ และห้ามสวมรองเท้าแตะมาสอบ

- ในวันสอบ ควรเดินทางไปที่ห้องสอบก่อนสอบประมาณ 15 นาที อย่าลืมนำบัตรประจำตัวนักศึกษา บัตร

  อนุญาตเข้าห้องสอบ ไปด้วยนะครับ อย่าลืมทำธุระส่วนตัวให้เสร็จก่อนเข้าห้องสอบ มีบ่อยครั้งที่

  นักศึกษาทานน้ำมากเกินไปทำให้ต้องเข้าห้องน้ำ จึงควรทานน้ำพอควร เพื่อไม่ให้มีปัญหาดังกล่าวด้วย

- อย่าลืมนำอุปกรณ์เครื่องเขียน เช่น ปากกา ดินสอ ยางลบ น้ำยาลบคำผิด ไม้บรรทัด หรือเครื่องคิด

  เลข (ถ้ามี) เป็นต้น มาด้วย อย่าลืมถ้าเป็นข้อสอบคำนวณ ห้ามป้อนสูตร หรือข้อมูลเข้ามา มิฉะนั้นถือ

  ว่าทุจริตในการสอบเช่นกัน

- เมื่อเข้าห้องสอบ ควรปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมห้องสอบ ห้ามเปิดข้อสอบก่อนได้รับอนุญาต เมื่อ

  ได้รับคำสั่งให้เริ่มทำ ควรเขียนชื่อ-นามสกุล รหัสนักศึกษา เลขที่ ก่อน แล้วจึงอ่านคำสั่งที่อยู่ในข้อ  

  สอบให้เข้าใจก่อนทำข้อสอบ เช่น ข้อสอบบอกให้กากบาท (X) ในกระดาษคำตอบ จะต้องปฏิบัติให้

  ถูกต้อง หรือข้อสอบบอกว่ามีทั้งหมดกี่ข้อ กี่หน้า ต้องเช็ค หากข้อสอบหายไปต้องยกมือแจ้งผู้ควบคุม

  ห้องสอบทันที ห้ามนักศึกษาพูดคุยกับคนอื่น หรือนำอุปกรณ์สื่อสารเข้ามาในห้องสอบ เพราะอาจถือ

  ว่าเราทุจริตในการสอบได้ เป็นต้น

- อย่าลืมเขียนหมายเลขข้อที่จะตอบให้ถูกต้องทุกครั้ง เมื่อจบข้อควรขีดเส้นใต้ให้ชัดเจน

- สำหรับข้อสอบคำนวณ จะต้องเขียนสูตรที่จำเป็น และแสดงการคำนวณให้เห็นอย่างชัดเจน ถ้ามี

  หน่วยควรแสดงการตัดหน่วย เพื่อมิให้หลงหน่วย เมื่อมีเวลาพอควรเช็คการคำนวณใหม่อีกครั้งเพื่อ

  ป้องกันความผิดพลาดในการคิดเลข

- หากข้อสอบเลือกตอบ ไม่ได้กำหนดว่าตอบผิดติดลบ ให้นักศึกษาตอบให้หมดทุกข้อ อย่าเว้นว่างไว้

- หากเป็นข้อสอบคำนวณ หรือบรรยาย ควรทำไปเรื่อยๆ หากทำต่อไม่ได้ให้เว้นว่างไว้ แล้วจึงกลับมา

  ทำต่อ อย่าเสียเวลาคิดนานเกินไป เช่น มี 6 ข้อ 3 ชั่วโมง ต้องเฉลี่ยข้อละ 30 นาที เป็นต้น

- หากเป็นข้อสอบบรรยาย ควรวาดรูป หรือใช้ไดอะแกรม เขียนประกอบความเข้าใจ จากนั้นจึงอธิบาย

  ตามรูป หรือไดอะแกรมนั้นๆ อย่าลืม Key Word ด้วย และควรตอบให้ตรงคำถาม อย่าพยายามเขียน

  แบบวกไปวนมา 

- การตอบข้อสอบควรจะเขียนให้อ่านได้ชัดเจน นักศึกษาบางคนเขียนหนังสือหวัดมาก ทำให้ผู้ตรวจข้อ

  สอบอ่านไม่ออก อาจส่งผลกับคะแนนที่ได้รับ หากลายมือไม่ดี ควรเขียนเว้นบันทัด และพยายาม

  เขียนให้ช้ากว่าปกติเล็กน้อย 

- การตอบคำถามข้อสอบเขียนตอบ ควรดูคะแนนด้วยว่าข้อนั้นๆ ให้คะแนนเท่าใดถ้าเพียง 5 คะแนน 

  ให้เขียนพอสมควร แต่ถ้าให้คะแนนถึง 20 คะแนน ก็ควรจะต้องเขียนลงลึกในรายละเอียดมากกว่า

  เดิม (ดูให้สมควรกับคะแนนที่ได้รับ เพราะบางครั้งนักศึกษาตอบเยอะมาก แต่คะแนนเพียง 5 คะแนน)

- ถ้าเป็นข้อสอบ 5 ข้อ นักศึกษาควรทำทั้ง 5 ข้ออย่าเว้นว่างไว้ (เว้นแต่คำสั่งบอกให้ทำเพียง 4 ข้อ จึง

  ทำเท่าที่สั่ง) เพราะข้อสอบแต่ละข้อมีน้ำหนัก (เท่าๆ กัน) = 20% หากนักศึกษาไม่ทำ 1 ข้อ ก็จะเหลือ

  คะแนนเต็มเพียง 80% (หมายเหตุ อย่าพยายามอธิบายมากๆ เพียงข้อเดียว แต่ตอบอีก 2-3 ข้อนิด

  เดียว เพราะเราจะได้คะแนนเพียงข้อที่อธิบายมากเท่านั้น ข้ออื่นคะแนนก็จะหายไป)

- หากมีกระดาษคำตอบ 2 เล่ม ควรเสียบเข้าไว้ด้วยกัน และเขียนให้ชัดเจนว่ามี 2 เล่ม เผื่อกระดาษคำ

  ตอบหลุดออกจากกัน อาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบยังรู้ว่ามี 2 เล่มจะได้ตามหากระดาษคำตอบอีกเล่มได้

หมายเหตุ

- การเรียนนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่ามาเรียน แต่ต้องมีความรักในวิชาที่เรียน เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องนำไปใช้งาน

  ในการทำงานในโรงงาน องค์กรที่เราต้องไปทำงาน หากไม่มีความรู้ หรือความรู้ไม่แน่นพอ เราจะทำงาน

  ต่อไปอีก 38-39 ปี กว่าจะเกษียณอายุ ดังนั้นถ้าตั้งใจเรียนแค่ 4 ปี สามารถทำงานรับเงินเดือนได้ถึง 

  10 เท่าตัว ทำไมนักศึกษาจึงไม่ตั้งใจเรียน และสนใจให้มากกว่านี้ (ข้อแนะนำจากท่านอธิการบดี 

  รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์)

- หากมีปัญหาสุขภาพ ควรแจ้งให้อาจารย์ที่ปรึกษา และอาจารย์ผู้สอนทราบล่วงหน้าก่อนสอบ หากมี

  ใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลรับรองจะดีมาก เพราะจะต้องมีหลักฐานยืนยันกับอาจารย์ผู้สอน

- เวลาขับรถมาสอบ-กลับจากสอบ อย่าขับรถเร็ว อย่าประมาท เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้นัก

  ศึกษามาสอบในวันต่อไปไม่ได้

- หลังสอบควรพักสมองก่อนประมาณ 10-20 นาทีก่อนเดินทางกลับบ้าน เพื่อช่วยลดความตึงเครียด

  ของสมองก่อน โดยเฉพาะนักศึกษาที่ขับรถกลับเอง อาจเกิดการเบลอ หรืออุบัติเหตุได้ง่าย.

--------------------------------------------------

(เอกสารนี้ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป การจัดทำบทความนี้ เพื่อช่วยให้นักศึกษามีแนวทางสำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนสอบ และในวันสอบเท่านั้น ผู้เรียบเรียงไม่สามารถการันตีได้ว่าหากนักศึกษาทำตามแล้วจะผ่านวิชาต่างๆ เนื่องจากเป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล และผู้เรียบเรียงไม่สามารถรับผิดชอบกับความคลาดเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยฯ หรือสถานศึกษาของนักศึกษาได้)

หมายเลขบันทึก: 543670เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท