โครงการ "เพื่อนภาษา" : (๑)


ผู้เขียนเห็นว่า การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งในการพูด การอ่าน และการเขียน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับคนไทยทุกคน จึงขอเสนอโครงการ “เพื่อนภาษา” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ใช้ภาษาไทยในการพูด อ่าน และเขียนได้อย่างถูกต้อง

     

จากการที่ โครงการ “สรอ. ขอความรู้” ได้เชิญชวนให้ "สมาชิก GotoKnow" ร่วมบันทึกเสนอแนวคิดโครงการร่วมกันทำความดีทางสื่อออนไลน์ โดยเขียนชื่อโครงการพร้อมแนวคิดคร่าวๆ ในการดำเนินการและใส่คำสำคัญ โครงการทำความดี ผู้เขียนเห็นว่า การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งในการพูด การอ่าน และการเขียน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับคนไทยทุกคน จึงขอเสนอโครงการ "เพื่อนภาษา” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ใช้ภาษาไทยในการพูด อ่าน และเขียนได้อย่างถูกต้อง

"ราชบัณฑิตยสถาน (The Royal Institute)" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการสนับสนุนให้คนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ได้จัดรายการ สายตรวจภาษา” ซึ่งเป็นรายการสาระบันเทิงที่รณรงค์ให้คนไทยเขียนสะกดคำภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยพิธีกรจะทำหน้าที่เป็นสายตรวจภาษา พาผู้ชมเดินทางไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเขียนสะกดคำ (ตามป้ายต่าง ๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน) กับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ว่า คำเหล่านั้นจะเขียนให้ถูกต้องได้อย่างไร และเหตุใดจึงต้องเขียนเช่นนั้น ในปี ๒๕๕๕ รายการดังกล่าวออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๕ - ๑๐.๐๗ น. (๒ นาที) ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ เริ่มครั้งแรกในวันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้าน ร่วมส่งภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอป้ายหรือข้อความที่พบเห็นในที่ต่าง ๆ ที่สงสัยว่าสะกดผิด ไปที่ http://www.facebook.com/saitruatphasa  เพื่อรับของรางวัลจากราชบัณฑิตยสถาน สำหรับในปี ๒๕๕๖ นี้ รายการดังกล่าว ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๑๑.๔๕ - ๑๑.๔๗ น.  (๒ นาที) โดยเริ่มออกอากาศในวันเสาร์ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ 

สำหรับโครงการ "เพื่อนภาษา" ที่ผู้เขียนคิดขึ้นมานั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ใช้ภาษาไทยในการพูด อ่าน และเขียนได้อย่างถูกต้อง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่บุคลากรด้านสื่อสารมวลชน และผู้เขียนใน Weblog "GotoKnow.org" เพราะเป็นกลุ่มที่ควรเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง และมีแนวการดำเนินการ คือ  ขอความร่วมมือจากทุกท่านที่เปิดรับสื่อสารมวลชน เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ (ทั้งประเภทสิ่งพิมพ์และประเภท online) ฯลฯ เมื่อท่านพบเห็นการใช้ภาษาไทยผิด และทราบว่าที่ถูกต้องจะใช้อย่างไร กรุณาแจ้ง online ไปยังทีมงานที่เกี่ยวข้อง  ก่อนให้คำแนะนำควรตรวจสอบจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งสามารถตรวจสอบ online ได้ที่ http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp หรือแจ้งราชบัณฑิตยสถานที่ http://www.royin.go.th ให้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแทน ตัวอย่างหนึ่งของการอ่านผิดของบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน เช่น ผู้เขียนได้ยินผู้อ่านข่าวและนักจัดรายการโทรทัศน์แทบทุกคน อ่านตัวเลขหลักร้อยขึ้นไปที่ลงท้ายด้วยเลข ๑ ว่า "หนึ่ง" แทนที่จะอ่านเป็น "เอ็ด" ตามหลักการอ่าน เช่น ๖๐๑ อ่านผิดเป็น "หกร้อยหนึ่ง" ถ้าจะให้ถูกต้อง ต้องอ่านว่า "หกร้อยเอ็ด" ดังชื่อ "จังหวัดร้อยเอ็ด" นั่นแหละค่ะ..."ปี ๒๐๐๑" อ่านผิดเป็น "ปีสองพันหนึ่ง" ถ้าจะให้ถูกต้อง ต้องอ่านว่า "ปีสองพันเอ็ด" 

สำหรับการเขียนใน "ชุมชน GotoKnow" ของพวกเรานั้น ที่ผ่านมา ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า เมื่อมีการเขียนผิด (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความผิดพลาดด้วยความพลั้งเผลอ และขาดการตรวจสอบแก้ไข แต่ก็มีไม่น้อยที่เกิดจากความเข้าใจผิด เช่น เขียนคำว่า "ภารกิจ" ผิดเป็น "ภาระกิจ" เขียน "โอกาส" ผิดเป็น "โอกาศ" ฯลฯ) ก็แทบจะไม่มีใครออกมาบอกกล่าวกัน ต่อแต่นี้ไป ผู้เขียนจึงใคร่ขอให้ผู้ที่พบเห็นการเขียนผิดและสามารถให้คำแนะนำได้ แนะนำโดยตรงไปยังท่านที่เขียนผิด และขอวิงวอนให้ท่านที่ได้รับคำแนะนำ ได้ทำใจให้เปิดรับคำชี้แนะ ดังคำคมในอนุทินหมายเลข ๔๕๙๓ "Quotes II" ของ "Wasawat Deemarn " วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ความว่า "เปิดหูรับฟัง อย่าชังคำตรง และจงมั่นคงทางจิตใจ และ * รู้อยู่แล้วว่าใครหวังดีกับเรา อย่าให้ความเขลามาบดบังสติปัญญา ซึ่งท่านเองก็แสดงให้เห็นเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้ที่เปิดใจรับฟังคำชี้แนะ  ดังเช่น เมื่อผู้เขียนได้อ่านอนุทิน หมายเลข ๔๕๙๒ เรื่อง "ความเป็นครู อยู่ที่ใจ ใช่หน้าที่" ของท่าน (ที่ลงในวันเดียวกันกับเรื่องที่ได้กล่าวไปแล้ว) ซึ่งเป็นกลอนแปด บทสุดท้ายความว่า

                            หากเป็นครูไม่ได้ที่หัวใจ        แต่อยากได้เงินตำแหน่งแซงคอศอ

                        ควรออกไปให้พ้นคนสอพลอ     อาชีพอื่นคงรอท่านทำกิน

ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่า บาทแรกน่าจะมีการพิมพ์ตกหล่น จึงเรียนท่านว่า "ด้วยความเคารพ...ไอดินฯ เข้าใจว่า อ.เสือจะพิมพ์ตกไปคำหนึ่งนะคะ ในบาทแรกของบทสุดท้าย 'หากเป็นครูไม่ได้ที่หัวใจ' ตกคำว่า 'อยู่' ไปไหมคะ คือเป็น 'หากเป็นครู ไม่ได้อยู่ ที่หัวใจ' หรือเปล่าคะ" ซึ่งท่านก็ตอบว่า "น้อมรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนครับอาจารย์ ดึกดื่นแล้ว พิมพ์ตก จริง ๆ"

แต่ถ้ากัลยาณมิตรไม่แน่ใจว่า ท่านที่เขียนผิดจะเปิดใจรับไหม ก็อาจเขียนเป็นบันทึกให้คำแนะนำกับคนทั่วไป ดังที่ "Wasawat Deemarn" ได้เคยแนะนำให้ใช้ "นะคะ " แทน "นะค่ะ" มาแล้ว แต่การแนะนำแบบไม่ตรงตัวอาจหวังผลได้ไม่มากนัก เพราะผู้เขียนสังเกตเห็นว่า ท่านที่เคยเขียน "นะคะ" ผิดเป็น "นะค่ะ" ก็ยังเขียนผิดเหมือนเดิม ดังตัวอย่างการเขียนไม่ถูกต้อง ที่ผู้เขียนพบเห็น จากการแสดงความเห็นในอนุทินเมื่อเช้ามืดของวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ซึ่งมีกัลยาณมิตร 3 ท่านเขียนว่า...สบายดีนะค่ะ (นะคะ) ไม่ได้เข้ามาทักทายนานแล้ว ...ได้ผล ตามเป้าหมายไหมค่ะ (คะ) ...แข็งแรงในเร็ววันนะค่ะ (นะคะ)...คำในวงเล็บคือคำที่เขียนถูกต้อง

ด้วยเหตุที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงขอเสนอ เพื่อนภาษา : (๑) มาเขียน "คะ ค่ะ นะคะ" กันให้ถูกต้อง จะดีไหมคะ  โดยขอนำการ์ตูนแนะนำการใช้ "คะ ค่ะ นะคะ" ที่ "เพื่อนภาษา" ของเรา ได้สร้างสรรค์ไว้อย่างน่าสนใจ มาฝากกัลยาณมิตร เพื่อให้นำไปตรวจสอบว่า ตนเองใช้คำดังกล่าวได้ถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้ายังจะปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องก็ยังไม่สายเกินไปนะคะ (ขอขอบคุณเจ้าของผลงานสร้างสรรค์ตามแหล่งอ้างอิงที่ระบุ เป็นอย่างยิ่งนะคะ ที่ได้ทำหน้าที่เป็น "เพื่อนภาษาที่ดี" ของคนไทยทั้งปวง)

         มาเริ่มด้วยการเรียนรู้ "หลักทั่วไป" ในการเขียน "คะ ค่ะ นะคะ" จาก www.kapook.com กันนะคะ

      

 

          ตามด้วย "เรียนรู้ตัวอย่างการนำไปใช้" จาก https://www.facebook.com/nakathatwrong ค่ะ

                             

"ไอดิน-กลิ่นไม้" ชื่นชม "หนูแป้น" มากนะคะ ที่มีหลักคิดในการใช้คำว่า "คะ ค่ะ" ที่ชัดเจน และได้แสดงตัวอย่างการนำไปใช้อย่างหลากหลาย (สร้างความสนใจโดยการนำเสนอด้วยภาพการ์ตูน) และมีความตั้งใจที่จะให้คนไทยใช้คำดังกล่าวอย่างถูกต้อง หลังจากที่หนูบอกว่า น่าจะมีคนใช้ผิดนับล้านคน ...แต่ไอดินฯ ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตหน่อยนะคะ ประโยคที่ว่า "แป้นเลยจินตนาการว่า...ทุกครั้งที่เขียนคำนี้ มันต้องมีเครื่องหมาย ? ตามหลังทุกครั้ง"..."หนูแป้น" ตัดคำว่า "ทุกครั้ง"  คำหลังออกได้เลยนะคะ เพราะถ้าใส่ไว้ แม้จะไม่ผิด แต่มันจะเป็นจุดอ่อน เพราะเป็นการใช้คำซ้ำ ถือเป็นการใช้ภาษาฟุ่มเฟือยค่ะ

                              

                             

"หนูแป้น" นี่ เป็นคนมี "อารมณ์ขัน (Sense of Humour)" จังนะคะ มีการแซวตัวเองด้วยว่า "มีโฆษณาแฝง" แต่ไม่น่าเกลียดหรอกค่ะ เมื่อเทียบกับการที่หนูมีความตั้งใจดีที่จะให้คนไทยใช้ "คะ ค่ะ นะคะ" ได้อย่างถูกต้อง และเขียนภาพการ์ตูนเป็นสื่อแนะนำการใช้ได้อย่างน่าสนใจ...การ์ตูนกรอบสุดท้ายข้างล่าง หนูทิ้งท้ายไว้อย่างยอดเยี่ยมเลยค่ะ ไอดินฯ ชื่นชม "หัวไอ้เรือง...โอ๊ะ! "ไอ้แป้น" มากเลยค่ะ

หวังว่าหนูจะผลิตสื่อการ์ตูนเป็น "เพื่อนภาษา" ของคนไทยออกมาเรื่อยๆ นะคะ  
                             

ย่อหน้านี้ขอฝากถึง "ท่านสุภาพบุรุษ" โดยตรงนะคะ เดี๋ยวท่านจะคิดว่าบันทึกนี้ไม่เกี่ยวกับตนเอง "ท่านสุภาพบุรุษ" ที่ชอบเขียนคำว่า "คร๊าบ" กรุณาใช้วรรณยุกต์ "โท" แทนวรรณยุกต์ "ตรี" เป็น "คร้าบ" ด้วยนะคะ เพราะ "คร" เป็นอักษรต่ำใช้กับไม้ตรีไม่ได้ เมื่อใส่วรรณยุกต์โทจะออกเสียงเป็นเสียงตรี เช่นเดียวกับคำว่า ค้าน คล้าย เคลิ้ม ค้อน ค้นคว้า เคว้งคว้าง นั่นล่ะค่ะ อีกคำหนึ่งคือ "ล่ะ" เช่น "จริงไหมล่ะครับ" ก็มักเขียนผิดเป็น "หละ" กัน ขอให้จำง่ายๆ ว่า คำดังกล่าวเขียนแบบเดียวกันกับคำว่า "ค่ะ" นะคะ "ท่านสุภาพบุรุษ" ที่รัก  

ผู้เขียนหวังว่า เพื่อนภาษาของเรา เจ้าของผลงาน "การ์ตูนแนะนำการใช้ คะ ค่ะ นะคะ" ทั้งสองท่าน จะไม่เสียแรงเปล่านะคะ

อย่าลืมนะคะ ท่านที่สามารถให้คำแนะนำการใช้ภาษาไทยในการพูด อ่าน เขียนได้ กรุณาแสดงบทบาทเป็น "เพื่อนภาษา" ให้กับบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนด้วยวิธีที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และให้กับพวกเรา "ชาว GotoKnow" โดยการให้คำแนะนำโดยตรงกับผู้ที่ยังใช้ภาษาได้ไม่ถูกต้อง หรือเขียนบันทึกให้ความรู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง สำหรับผู้อ่านทั่วไป (กรุณาใส่หมายเลขบันทึกที่เกี่ยวข้อง 543036 เพื่อที่ผู้เขียนจะได้ตามไปขอบคุณได้ถูกด้วยนะคะ) ขอบคุณมากค่ะ

                              ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านมากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาอ่าน 

หวังว่าจะได้รับกำลังใจจากกัลยาณมิตร ใน "เพื่อนภาษา (๒)" ที่ตั้งใจจะลงในวันภาษาไทยแห่งชาติ นะคะ

                                                          ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ 

   

 

หมายเลขบันทึก: 543036เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 05:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (50)

อ่านคร่าว ๆ ก่อน นะคะ ดีมาก ค่ะ  ขอไปฝึกซ้อมเด็กก่อน นะคะ เย็น ๆ จะกลับมาอ่านโดยละเอียด ค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ
มีประโยชน์ในการใช้ภาษาไทยประจำวันนะคะ
ไปก่อนนะค่ะ

ปล. พิมพ์ไปตรวจสอบไปว่าเราก็เคยใช้ ค่ะ กับ คะ ผิดหลายครา

สนับสนุนโครงการนี้อย่างเป็นทางการครับอาจารย์ ;)...

น่าสนับสนุนมากอาจารย์แม่

ผมพบเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย พิมพ์คำว่า อนุญาต ผิดด้วยครับ เขาชอบเติมสระ อิ

สวัสดีคะ

ชอบมากเลยคะ  อ่านแล้วรู้ตัวว่าใช้ผิดก็บ่อย  คงจะขอนุญาตไปบูรณาการให้ลูกศิษย์ใช้บ้าง

ไปก่อนนะคะ โอกาสน่าจะเข้ามาด็ใหม่ค่ะ

 

"...ไปก่อนนะคะ โอกาสน่าจะเข้ามาด็ใหม่ค่ะ..."

คำว่า "โอกาสน่า"  ก็น่าจะไม่ถูกต้องเหมือนกันนะครับอาจารย์

ขอบคุณมากนะคะ "น้องมะเดื่อ" ที่เข้ามาให้กำลังใจพี่ไอดิน-กลิ่นไม้

ถ้าจำไม่ผิด พี่ว่าน้องมะเดื่อใช้คำว่า "คะ ค่ะ นะคะ" ถูกต้องมาก่อนแล้ว และครั้งนี้น้องเขียนว่า "อ่านคร่าว ๆ ก่อน นะคะ ดีมาก ค่ะ ขอไปฝึกซ้อมเด็กก่อน นะคะ เย็น ๆ จะกลับมาอ่านโดยละเอียด ค่ะ"...ถูกต้องทุกคำเลยนะคะ เยี่ยมจริงๆ ค่ะ แล้ววันนี้ น้องฝึกซ้อมเด็กๆ เหนื่อยมากไหมคะ

ขอบคุณ "คุณครู noktalay " มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจ ไอดิน-กลิ่นไม้ดีใจมากค่ะ ที่คุณครูนกบอกว่า บันทึกนี้มีประโยชน์

คุณครูเขียนว่า "ขอบคุณมากนะคะ มีประโยชน์ในการใช้ภาษาไทยประจำวันนะคะ ไปก่อนนะค่ะ ปล. พิมพ์ไปตรวจสอบไปว่าเราก็เคยใช้ ค่ะ กับ คะ ผิดหลายครา"

ไอดิน-กลิ่นไม้สังเกตเห็นเหมือนกันนะคะ ว่า ที่ผ่านมาคุณครูนกมักจะเขียน "นะค่ะ" ครั้งนี้เลยยังมีความเคยชินเดิมๆ ติดมา คำที่ระบายสีชมพูทั้งสองคำเขียนถูกต้องแล้วค่ะ แต่คำว่า "นะค่ะ" ที่ระบายสีเทาต้องเปลี่ยนเป็น "นะคะ" จึงจะถูกต้อง

หวังว่าคราวต่อๆ ไป คุณครูนกจะไม่เขียน "นะค่ะ" อีกนะคะ จำง่ายๆ ว่า ถ้ามี "นะ" อยู่ข้างหน้า คำที่ตามมาต้องเป็น "คะ" เสมอ คำว่า "ค่ะ" จะใช้โดดๆ เท่านั้นนะคะ

ขอบคุณ "อ.Wasawat Deemarn " มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจไอดิน-กลิ่นไม้ และบอกว่า "สนับสนุนโครงการนี้อย่างเป็นทางการครับอาจารย์"

อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษา เพราะอ่านมากเขียนมาก และเคยร่วมมือกับไอดินฯทำบัญชีรวบรวมคำที่คนมักจะเขียนผิดเพราะใช้แนวเทียบผิด หรือที่อาจารย์ใช้คำน่ารักๆ เห็นภาพพจน์ว่า "คิดว่าเป็นญาติกับ..." มาแล้ว บันทึกต่อไป จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หวังว่าอาจารย์จะเข้ามาช่วยอีกนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

 

ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่มอบดอกไม้และให้กำลังใจอาจารย์แม่ว่า "เพื่อนภาษา" เป็นโครงการที่น่าสนับสนุนมาก

ที่ลูกขจิตบอกว่า เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย พิมพ์คำว่า "อนุญาต" เป็น "อนุญาติ" เป็นการพิมพ์ผิดที่เกิดจากการใช้แนวเทียบผิดค่ะ คือ นำไปเทียบกับคำว่า "ญาติ" ซึ่งการเขียนผิดในลักษณะนี้มีมากเลยนะคะ บันทึกในโครงการเพื่อนภาษาเรื่องต่อไป อาจารย์แม่ก็คิดจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้แหละค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จักคุณ "พี่หนาน" นะคะ

คุณพี่หนานเป็นสมาชิก GotoKnow ไล่เลี่ยกับไอดินฯ เป็นหลังไอดินประมาณ 1 เดือนค่ะ 

คุณพี่หนานมีอารมณ์ขันนะคะ บอกว่ามีแต่ประวัติยาวเลยไม่ยอมเขียนประวัติย่อ

บันทึกของคุณ "พี่หนาน" เกี่ยวกับ IT น่าสนใจค่ะ จะหาโอกาสเข้าไปอ่านภายหลังนะคะ

คำที่คุณพี่หนานบอกว่า น่าจะผิด ก็ผิดจริงๆ ค่ะ ต้องเป็น "หน้า" บอกคุณสุพิชญ์ไปแล้วค่ะ ขอบคุณนะคะ ที่ให้ข้อสังเกต 

ยินดีต้อนรับ "คุณสุพิชญ์ แก้วเนตร " จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลฯ  นะคะ คุณสุพิชญ์เป็นสมาชิก GotoKnow ใหม่ๆ หมาดๆ แค่ 4 ชั่วโมงเอง ชื่อและนามสกุลคุ้นจัง ไม่ทราบว่า เคยรู้จักกันหรือเปล่าคะ

ดีใจจังค่ะ ที่คุณสุพิชญ์บอกว่าชอบบันทึกนี้มาก ที่คุณสุพิชญ์เขียนว่า "สวัสดีคะ(ค่ะ)ชอบมากเลยคะ(ค่ะ)อ่านแล้วรู้ตัวว่าใช้ผิดก็บ่อย คงจะขอนุญาตไปบูรณาการให้ลูกศิษย์ใช้บ้าง ไปก่อนนะคะโอกาสน่า (หน้า)จะเข้ามาด็ใหม่ค่ะ"

คำที่ระบายสีเทาต้องเปลี่ยนเป็นคำในวงเล็บที่ระบายสีเหลืองนะคะ ถึงจะถูกต้อง ส่วนคำที่ระบายสีชมพูถูกต้องแล้วค่ะ สำหรับคำที่ระบายสีม่วง "งง" ค่ะ

ลงภาพประจำตัวให้ได้เห็นหน้าเห็นตากันบ้าง ...หวังว่าจะได้อ่านงานเขียนของคุณสุพิชญ์เร็วๆ นี้นะคะ

 

 

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ ไอดิน-กลิ่นไม้

ชอบบันทึกนี้มากค่ะ เคยคิดจะทำโครงการคล้ายๆ กันนี้ในที่ทำงาน และหลายครั้งที่เห็นการใช้คำที่ไม่ถูกต้องในเว็บต่างๆ ในที่ทำงาน ฯลฯ แต่ไม่กล้าพอที่จะบอกค่ะ
ส่วนที่รู้ว่าคำที่ใช้นั้นไม่ถูกต้อง เพราะตัวเองใช้ผิดบ่อยและมีกัลยาณมิตรบางท่าน เตือนด้วยความหวังดี ซึ่งแรกๆ ที่ถูกเตือนก็รำคาญใจเล็กๆ รู้สึกไปว่าทำไมต้องมาจับผิดเราด้วย (อัตตาใหญ่โต จึงไม่ยอมรับผิด) ต่อมาจึงระมัดระวังการใช้คำมากขึ้น เมื่อไม่แน่ใจก็พยายามตรวจสอบกับพจนานุกรมฯ ทั้งที่เป็นเล่มและออนไลน์ ยิ่งตรวจสอบก็ยิ่งเห็นว่าตัวเองยังผิดอยู่อีก แม้ปัจจุบันก็ยังพบอยู่เรื่อยๆ (ไม่หมดเสียที) ต้องขอบพระคุณกัลยาณมิตรหลายท่านที่ได้ช่วยขัดเกลาและอยากเอ่ยชื่อท่านไว้ค่ะ คือ อาจารย์ ธ.วัชชัย ครูกานท์  และอีกหลายๆ ท่านค่ะ

บันทึกนี้ทำให้ยิ้มและดีใจที่มีโครงการดีๆ และที่สำคัญดังที่อาจารย์กล่าวคือ ขอให้เรา "เปิดใจ" ที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างกัลยาณมิตร ภาษาไทยของเราก็จะไม่ผิดเพี้ยนไปค่ะ

ขออนุญาืตชื่นชมและลิงก์บันทึกนี้ไปให้เพื่อนๆ ในเว็บอื่นอ่านด้วยนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

นึกถึงคลิปนี้ในยูทูบเลยครับ

http://www.youtube.com/watch?v=dde7EIsZk9c

ขอบคุณสำหรับโครงการดีๆ นะครับ/คะ :)

ขอบคุณ "น้องหยั่งราก ฝากใบ" มากนะคะ ที่เข้ามาเยี่ยมพี่ เราคุ้นเคยชอบพอกันดีแต่ไฉนในเวลาที่ผ่านมา ต่างหายหน้าหายตากันไปพักใหญ่ๆ

พี่รู้สึกมีกำลังใจมากค่ะ ที่น้องบอกว่า ชอบและชื่นชมบันทึกนี้มาก และ "บันทึกนี้ทำให้ยิ้มและดีใจที่มีโครงการดีๆ" ...ด้วยความเต็มใจและปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่น้องบอกว่า จะลิงก์บันทึกนี้ไปให้เพื่อนๆ ในเว็บอื่นอ่าน นั่นก็เท่ากับว่า น้องได้แสดงบทบาทการเป็น "เพื่อนภาษา" ของเพื่อนๆ และช่วยจัดการความรู้ให้กระจายออกไปในวงกว้างขึ้นไปอีก เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการนี้เลยค่ะ  ขอบคุณมากๆ นะคะ

น้องบอกว่า "เคยคิดจะทำโครงการคล้ายๆ กันนี้ในที่ทำงาน และหลายครั้งที่เห็นการใช้คำที่ไม่ถูกต้องในเว็บต่างๆ ในที่ทำงาน ฯลฯ แต่ไม่กล้าพอที่จะบอกค่ะ...ยิ่งตรวจสอบก็ยิ่งเห็นว่าตัวเองยังผิดอยู่อีก แม้ปัจจุบันก็ยังพบอยู่เรื่อยๆ (ไม่หมดเสียที)..." การตรวจสอบเป็นเรื่องจำเป็นมากนะคะ ถ้าขาดการตรวจสอบก็มีโอกาสผิดพลาดได้ค่ะ แม้แต่กวีซีไรท์ของไทยท่านยังพลาด เขียน "ปราดเปรื่อง" ผิดเป็น "ปราชญ์เปรื่อง" เคยมีคุณครูภาษาไทยทักว่าพี่เขียนผิด เมื่อเห็นพี่เขียนว่า "ปราดเปรื่อง" คำนี้เข้าใจผิดกันมากเลยนะคะ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เขียนคำไว้อาลัยในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพอดีตอาจารย์ ม.ราชภัฏอุบลฯ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ก็เขียนผิดเป็น"ปราชญ์เปรื่อง" เช่นกัน เหตุเพราะนำไปเทียบกับคำว่า "ปราชญ์" ที่แปลว่า ผู้มีปัญญารอบรู้ นั่นเองค่ะ

บันทึกของน้องหลายเรื่อง น่าสนใจมาก แล้วพี่จะหาเวลาเข้าไปอ่านนะคะ

 

 

ไอดิน-กลิ่นไม้ ตื่นเต้นยินดีมากค่ะ ที่ "คุณแว้บ " เข้ามาเยี่ยมหลังจากที่ห่างหายไปประมาณ 2 ปี

 

ไอดินฯ ขอถือโอกาสแนะนำให้กัลยาณมิตรที่ยังไม่รู้จัก ได้รู้จักคุณแว้บนะคะ คุณแว้บหรือ ดร. วสะ บูรพาเดชะ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีการศึกษา จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา (Aug 2010 : Ph.D. in Educational Technology, University of Florida, USA.)  ปัจจุบันสังกัด Department of Business Information Systems, Martin de Tours School of Management, Assumption University

ขอบคุณ "คุณแว้บ" มากนะคะ  ที่ให้กำลังใจว่า "เพื่อนภาษา" เป็นโครงการที่ดี และดีใจที่บันทึกนี้ได้รับดอกไม้จากคุณแว้บ เพราะ 7 ปี คุณแว้บให้ดอกไม้เพียง 18 ครั้ง

และขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่คุณแว้บกรุณาสนับสนุนโครงการ "เพื่อนภาษา" โดยการนำคลิปเกี่ยวกับการสะกด "คะ ค่ะ" ที่ถูกต้อง ซึ่งผลิตโดยสถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลิน มาฝากชาว GotoKnow  และขอเชิญชวนกัลยาณมิตรเข้าไปชมด้วยนะคะ

 

-เข้ามาอ่านช้าไปหน่อยนะคร๊าบ โครงการ "เพื่อนภาษา" ดีมากๆ

-ป๋าเดผ่านไปสถานีรถไฟเห็นป้ายสถานีรถไฟ...น่าจะใช้ภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน "ถานีพิดโลก"

 และไปที่สำนักงานไปรษณีย์ พบการเขียนที่ตู้ไปรษณีย์ว่า "จังหวัดพิศนุโลก" ถามพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า "เจตนาเขียนในแบบภาษาไทยโบราณ"

-ต่อไปนี้ต้องระวังในการพิมพ์ และการใช้ภาษาไทย..

-ท่านเก่งในการทำการ์ตูนทำให้ดูแล้วน่าอ่านมาก ขออนุญาต Save ไว้ดูคร๊าบ

-ได้รับความรู้ดีๆจากท่านขอบคุุณมากนะคร๊าบ

ขอบคุณ "ป๋าเด" มากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมยายไอดินฯ อย่างสม่ำเสมอ ไอดินฯ ขออนุญาตกัลยาณมิตรคุยกับป๋าบรรทัดต่อบรรทัดนะคะ

ป๋าเด "เข้ามาอ่านช้าไปหน่อยนะคร๊าบ...ขออนุญาต Save ไว้ดูคร๊าบ ...ได้รับความรู้ดีๆ จากท่าน ขอบคุณมากนะคร๊าบ"

ยายไอดิน "เข้ามาช้าไม่เป็นไรค่ะ แต่ที่เป็นเรื่อง คือ ในตอนท้ายของบันทึกนี้ มีข้อความว่า "...ขอฝาก "ท่านสุภาพบุรุษ" ที่เขียน "คร๊าบ" ว่า กรุณาใช้วรรณยุกต์ "โท" แทนวรรณยุกต์ "ตรี" เป็น "คร้าบ" ด้วยนะคะ เพราะ "คร" เป็นอักษรต่ำใช้กับไม้ตรีไม่ได้ เมื่อใช้วรรณยุกต์โทจะออกเสียงเป็นเสียงวรรณยุกต์ตรี เช่นเดียวกับคำว่า ค้าน คล้าย เคลิ้ม ค้อน ค้นคว้า เคว้งคว้าง ค่ะ" แสดงว่า ป๋าเดไม่ได้อ่านสินะคะ ยังไงตอนนี้ก็โปรดอ่านและปฏิบัติตามด้วยค่ะ ขอขู่ว่า ถ้าคราวหน้ายังเขียน "คร๊าบ" อีกจะถูกทำทันฑ์บนนะคะ

ป๋าเด "โครงการ "เพื่อนภาษา" ดีมากๆ"

ยายไอดินฯ "ขอบคุณค่ะ ถ้าคิดว่าดีก็น่าจะมอบดอกไม้นะคะ ยายไอดินฯ แทบจะไม่ได้รับดอกไม้จากป๋าเด ส่วนใหญ่จะได้รับความเห็นเท่านั้น"

ป๋าเด "ป๋าเดผ่านไปสถานีรถไฟเห็นป้ายสถานีรถไฟ...น่าจะใช้ภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน "ถานีพิดโลก" และไปที่สำนักงานไปรษณีย์ พบการเขียนที่ตู้ไปรษณีย์ว่า "จังหวัดพิศนุโลก" ถามพนักงานก็ได้รับคำตอบว่า "เจตนาเขียนในแบบภาษาไทยโบราณ"

ยายไอดิน "ขอบคุณมากค่ะ ที่นำการใช้ภาษาที่ดูไม่ค่อยเหมาะสมมาเป็นตัวอย่าง ตัวอย่างแรกไม่เหมาะอย่างยิ่ง เพราะเป็นภาษาพูดซึ่งควรใช้พูดเท่านั้น ส่วนตัวอย่างที่สอง ถ้าเจตนาจะเขียนแบบโบราณควรวงเล็บไว้ว่า (เขียนแบบภาษาไทยโบราณ) เพื่อให้คนอ่านเข้าใจว่า ไม่ใช่คำที่ใช้เขียนในปัจจุบัน

ป๋าเด "ต่อไปนี้ต้องระวังในการพิมพ์ และการใช้ภาษาไทย.."

ยายไอดินฯ"ดีมากค่ะ ป๋าเด"

ป๋าเด "ท่านเก่งในการทำการ์ตูนทำให้ดูแล้วน่าอ่านมาก"

ยายไอดินฯ"ตายแล้ว! ป๋าเด ยายไอดินฯ รึจะมีปัญญาเขียนการ์ตูน อุตส่าห์เขียนอ้างอิงเจ้าของผลงานและกล่าวขอบคุณไว้อย่างชัดเจน และเจ้าของผลงานการ์ตูนก็ลงชื่อเว็บของตนไว้ทุกภาพ...แล้วป๋าเดเข้าใจว่าเป็นผลงานของยายไอดินฯ ไปได้ยังไงคะเนี่ย"

ขอมอบ "ชาสมุนไพร" แด่กัลยาณมิตรทั้ง 7 ท่านที่กรุณาเข้ามาให้กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้" นะคะ

      

 

กัลยาณมิตรที่คุ้นเคยและให้กำลังใจกันเสมอมา "น้องดร.โอ๋-อโณ " จาก มอ. วิทยาเขตหาดใหญ่   "น้องดร.พจนา แย้มนัยนา  " จากแคนาดา "คุณน้องคนบ้านไกล " จากสหรัฐอเมริกา "คุณครู K. Paully " ครูภาษาอังกฤษผู้ทำงานระดับนานาชาติ และ "คุณ Tuknarak " ที่น่ารักสมชื่อ

รวมทั้งกัลยาณมิตรใหม่ของไอดิน-กลิ่นไม้อีก 2 ท่าน คือ "ครูตุ๊กแกตัวดำๆ " ที่รูปร่างหน้าตาน่าเข้าใกล้ไม่ชวนวิ่งหนีเหมือนชื่อ และเธอยังมีบทกวีชี้บ่งอุมการณ์ไว้อย่างคมคายว่า "ก้าวหนึ่งถึงจะน้อย ก็ทาบรอยไว้ทอดลาย สองสามจะต่อปลาย ไปสุดสายเพื่อลูกลิง" คงทายถูกนะคะ ว่าเธอประกอบอาชีพอะไร และอีกท่านมีชื่องามนามไพเราะว่า "ทะเลงาม " หรือ ผศ.ดร. กัลยา ธรรมพงษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...

-บันทึกนี้ได้ประโยชน์มาก ๆครับ

-เป็น"สุภาพบุรุษ"คนหนึ่งที่ชอบใช้คำว่า"นะคร๊าบ!!"ในบันทึกเสมอ ๆ 

-มาถึงตอนนี้ถึงบางอ้อ...ว่าต่อไปต้องเปลี่ยจากการใช้วรรณยุกต์"ตรี"เป็นวรรณยุกต์"โท"แล้วหละคร้าบ!!!!

-ขอบคุณอาจารย์แม่ไอดินมาก ๆ นะคร้าบ!!

-วันหยุดเราทำขนมจีบ"เก็บภาพ"ขนมจีบ"มาฝากอาจารย์แม่ไอดินด้วยคร้าบ!!!!

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับดอกไม้กำลังใจจาก "คุณเพชรน้ำหนึ่ง  "

อาจารย์แม่ไอดินฯ เข้าไปอ่านเรื่องการทำขนมจีบแล้วนะคะ รู้สึกประทับใจมากค่ะ ในบรรยากาศการรวมญาติที่อบอุ่น สำหรับขนมจีบที่มีสาวน้อยหน้าตาน่ารักคนใกล้ตัวคุณเพชรฯ เป็น Presenter หน้าตาน่าทานมากค่ะ แต่เป็นเมนูที่ไม่เหมาะกับผู้สูงวัยอย่างอาจารย์แม่ไอดินฯ เพราะมีมันหมูและแป้งเป็นส่วนประกอบ เมนูยำว่านตูบหมูบ ส้าใบมะกอก และตำหมากเม่าเหมาะกว่า ค่ะ

อาจารย์แม่อ่านบันทึกดังกล่าวของคุณเพชรฯ ด้วยความสุขที่พิเศษขึ้นไปจากบันทึกก่อนๆ เพราะเห็นคุณเพชรฯ เขียน "คร้าบ" ได้ถูกต้อง เพราะคุณเพชรเป็นสุภาพบุรุษเป้าหมายที่อาจารย์แม่ไอดินอยากให้แก้ไขการเขียน "คร๊าบ" อย่างที่คุณเพชรบอกนั่นแหละค่ะว่า ตนเอง "เป็นสุภาพบุรุษคนหนึ่งที่ชอบใช้คำว่า "นะคร๊าบ!!!" ในบันทึกเสมอ 

และอาจารย์แม่ไอดินฯ จะมีความสุขมากขึ้นไปอีก ถ้าคุณเพชรจะเปลี่ยนจากเขียน "หละ" เป็น "ล่ะ" อย่างในประโยคที่คุณเพชรบอกว่า "ตอนนี้ถึงบางอ้อ...ว่าต่อไปต้องเปลี่ยนจากการใช้วรรณยุกต์ "ตรี" เป็นวรรณยุกต์ "โท" แล้วหละคร้าบ!!!" เพราะ "ล่ะ" เขียนแบบเดียวกับ "ค่ะ" และ "น่ะ" นั่นเอง  

 

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน

-สรุปว่าบันทึกเพื่อนภาษาได้ผลนะครับเนี่ย...

-ดีใจ ๆ ที่เป็นเป้าหมายหนึ่งใน"สุภาพบุรุษจุฑาเทพ"ที่อาจารย์แม่ไอดินให้คำแนะนำ ฮ่า ๆ 

-ขอบคุณคร้าบ!!!!ต่อไปต้องเขียนให้ถูกต้องแล้วล่ะครับ....

-ตอนนี้ฝนตกน่านอนจริง ๆคร้าบ....

 

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากๆ ค่ะ ที่กรุณาให้ความรู้เพิ่มเติม เคยแอบเป็นลูกศิษย์อาจารย์ในตำราเรียน ตอนนี้ขออนุญาตเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์โดยตรงเลยนะคะ

วันนี้อาจารย์แม่ไอดินฯ มีความสุขมากค่ะ เพราะคิดตรงกันเลยกับ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง " ที่บอกว่า "สรุปว่าบันทึกเพื่อนภาษาได้ผลนะครับเนี่ย...ดีใจ ๆ ที่เป็นเป้าหมายหนึ่งใน "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ" ที่อาจารย์แม่ไอดินให้คำแนะนำ ฮ่า ๆ ขอบคุณคร้าบ!!!!ต่อไปต้องเขียนให้ถูกต้องแล้วล่ะครับ...ตอนนี้ฝนตกน่านอนจริงๆ คร้าบ..."

อาจารย์แม่ชอบอ่านบันทึกของคุณเพชรน้ำหนึ่ง เพราะได้ประโยชน์และอ่านสนุก แต่ยอมรับว่า "ขัดตา" ทุกครั้งที่เห็นคำว่า "หละ" และ "คร๊าบ" ซึ่งคุณเพชรฯ ชอบเขียนเสียด้วย ดูเหมือนจะมีในทุกบันทึก ตัวอย่างเช่น เรื่อง "หญ้าแฝก"...สร้างชีวิต...พอเพียง." ความว่า "...อย่างนี้เขาว่าได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเลยหละครับพี่น้องคร๊าบ!!!!!!" เรื่อง "ส้าใบบะกอก" ความว่า "...ใคร ๆ ก็ทำได้ แถมอร่อยได้ประโยชน์จากผักพื้นบ้านอีกหลายอย่างเลยหละคร๊าบ!!!" และ เรื่อง "เพลินบุญ@น้ำดิบมะพร้าว" ความว่า "...พร้อมแล้วตามผมมาร่วมทำบุญกันเลยคร๊าบ!!! งานนี้ได้ของดีมาครอบครอง....ด้วยหละครับ..."

 

และหลังจากได้อ่านคำแนะนำใน "โครงการเพื่อนภาษา" คุณเพชรก็เขียน "คร้าบ" ได้ถูกต้อง ในบันทึกเรื่องล่าสุด เรื่อง "ขนมจีบ...."จีบ"ยังไงก็ติดคร้าบ!!!!!"

 

อาจารย์แม่ไอดินฯ ชื่นชมคุณเพชรจริงๆ นะคะ แอบบอกตรงๆ อย่างไม่อายว่า ถ้าจะมีโอกาสมีลูกเขยกับเขาก็อยากได้คนที่มีคุณสมบัติแบบคุณเพชรนี่แหละค่ะ คือ เป็นคนทุ่มเทให้กับงานในหน้าที่ ทั้งในและนอกเวลาราชการ เป็นข้าราชการที่เข้าถึงประชาชน เป็นกันเองไม่ถือตัว ด้านครอบครัวก็รักและให้เกียรติภรรยา เอาใจใส่ดูแล หาเวลาพาไปทำบุญ ท่องเที่ยว พบปะญาติๆ มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส หนูมดตะนอยก็สดใสน่ารัก อาจารย์แม่รักครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้จริงๆ ค่ะ และภาวนาอยากให้มีสมาชิกใหม่มาสร้างความสดใสเพิ่มขึ้น   

     

 

 

ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่นำข่าวดีมาแจ้งอาจารย์แม่ อาจารย์แม่เข้ามาพบหลังจากลูกขจิตแจ้งได้ 4 นาที รู้สึกตื่นเต้นเพราะคิดว่าเป็นข่าวดีของลูกขจิตเอง เปิดเข้าไปดูตาม Link ที่ให้มากว่าจะเข้าได้ก็ใช้เวลานาน เพราะที่ฟาร์มใช้ Internet ลำบากมากค่ะ ...ข่าวดีที่พบก็คือ "สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่บุคคลที่อุทิศตน และทำคุณประโยชน์แก่สังคมในสาขาต่างๆ จำนวน 5 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สาขาไทยศึกษาบูรณาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี สาขาสถาปัตยกรรม ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช สาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนและสังคมไทย 

อาจารย์แม่ไม่รู้จักท่านแรก ท่านที่พวกเราคุ้นเคยที่สุดก็คงเป็น ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่ให้การสนับสนุน GotoKnow นะคะ สำหรับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ก็คงเป็นที่รู้จักดี เพราะออกสื่อบ่อย รศ.ดร.ภิญโญ อาจารย์แม่เคยเห็นท่านให้สัมภาษณ์ในทีวีครั้งหนึ่ง อาจารย์แม่ค้นรูปภาพของแต่ละท่าน และนำมาประกอบข่าวด้วยค่ะ

  

              หวังว่า ตอนมีข่าวดีของตนเอง จะแจ้งให้อาจารย์แม่ทราบนะคะ

 

หนู "tuknarak " บอกว่า "กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากๆ ค่ะ ที่กรุณาให้ความรู้เพิ่มเติม เคยแอบเป็นลูกศิษย์อาจารย์ในตำราเรียน ตอนนี้ขออนุญาตเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์โดยตรงเลยนะคะ"...ไปแอบเป็นลูกศิษย์กันตอนไหน ตำราเรียนเรื่องอะไรหนอ ...ตอนนี้ก็ไม่ต้องเป็นลูกศิษอาจารย์กันหรอกนะคะ เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ (Co-learners) ที่เรียนรู้ไปด้วยกันดีกว่าค่ะ  

สวัสดียายไอดิน

ป๋าเดไม่ได้สังเกคเรื่องการ์ตูน นึกว่ายายไอดินทำเอง พอกลับไปดูปรากฎว่าเห็นเจ้าของเขาอยู่.......ดังนั้นจึงขอโทษนะคร้าบ.....ดอกไม้ได้มอบให้แล้วไม่มั่นใจว่าเข้าไปได้หรือไม่...ต่อไปจะมอบให้ทุกครั้ง ขอขอบคุณยายไอดิน มากๆนะคร้าบ...

ขอบคุณ "ป๋าเด" มากนะคะที่กลับเข้ามารับรู้บทสนทนาอันยืดยาวของป๋าเดกับยายไอดิน พร้อมด้วยมอบดอกไม้ย้อนหลัง...ท่านก็คงจะรู้นะคะว่า ผู้หญิงกับดอกไม้เป็นของคู่กัน แม้จะสูงวัยแต่ยายไอดินก็ยังชอบดอกไม้ แต่ใช่ว่าจะต้องการให้มอบกันแบบ "ตะพึดตะพือ" (ตามพจนานุกรมฯ แปลว่า "ร่ำไป เรื่อยไป") นะคะ ต่อเมื่อชอบจึงควรมอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องมอบ ยายไอดินเองก็ทำเช่นนั้น เมื่อเข้าไปอ่านบันทึกใด ก็จะอ่านจนจบก่อน และถ้ามีความคิดอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องที่ได้อ่านก็จะแสดงความเห็นต่อยอด แล้วจึงย้อนกลับไปมอบดอกไม้  

ป๋าเดคะ ยายไอดินเขียน (พิมพ์) แทบทุกครั้งมักจะมีที่ผิด จึงต้องย้อนกลับไปตรวจทานและแก้ไขส่วนที่ผิด บางครั้งตรวจทานแล้วก็ยังไม่พบที่ผิด เพราะเราอ่านแบบรวดเร็วไม่ได้ดูทุกตัวอักษร ป๋าเดก็เหมือนกันนะคะ ป๋าเดเขียนว่า "ป๋าเดไม่ได้สังเกคเรื่องการ์ตูน..." เห็นไหมคะ ตัวอักษร "ค" และ "ต" อยู่ใกล้กันทำให้ป๋าจิ้มพลาดไป ทำให้คำว่า "สังเกต" ที่เจตนาจะพิมพ์ กลายเป็น "สังเกค" ไป นะคะ

วันนี้ยายไอดินจะเดินทางเข้ากทม.ไปเยี่ยมเยียนให้ความอบอุ่นลูกสาวหน่อยค่ะ ไม่ได้ไปนอนที่คอนโดฯ (ที่ยายไอดินซื้อให้ลูกสาวอยู่ตั้งแต่ปี 2546 [กู้ธอส.] ได้เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์เรียบร้อยตั้งแต่มีนาคม 2554) นานแล้วค่ะ เพราะพักหลังทุกครั้งจะไปพักที่คอนโดฯลูกชายโดยให้ลูกสาวไปพักด้วย เพื่อให้ได้อยู่กับลูกพร้อมกันทั้งสองคน (คอนโดฯลูกสาวมีห้องเดียว ส่วนของลูกชายที่เขาซื้อเองมีหลายห้องค่ะ) จริงๆ แล้วช่วง 21-23 สิงหาคม ลูกชายก็จะพาแม่และพี่ไปเที่ยวที่เกาะสมุยแบบบินจากกทม.ไปลงที่เกาะเลย แต่ดูอาการลูกสาวแล้วท่าจะรอเจอแม่ถึงวันนั้นไม่ไหว เลยต้องไปดูแลก่อนค่ะ   

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน.

-ตามเข้ามาเยี่ยมบันทึกนี้อีกรอบ..

-ตัวผมกำลังจะลอย....ล่อง..ตามคำชมของอาจารย์แม่แล้วล่ะคร้าบ!!!!

-ขอบคุณอาจารย์แม่ไอดินที่ให้คำแนะนำ..หากมีสิ่งใดที่อาจารย์แม่ไอดินเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงในบันทึกของผมก็ขอคำแนะนำด้วยนะครับ...

-อย่างที่อาจารย์แม่ไอดินได้บอกไว้ว่า "เพื่อนภาษา"มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยทุกหมู่เหล่า ใช้ภาษาไทยในการพูด อ่าน และเขียนได้อย่างถูกต้อง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่บุคลากรด้านสื่อสารมวลชน และผู้เขียนใน Weblog "GotoKnow.org" เพราะเป็นกลุ่มที่ควรเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง..

-ขอเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและต่อยอดโครงการ"เพื่อนภาษา"นะคร้าบ!!!

-วันนี้มี"ขนมเตียนแก้วไส้บะถิม"มาฝากอาจารย์แม่ไอดินด้วยนะครับ..

 

สวัสดียายไอดิน

-ต้องยอมรับว่ายายไอดินเป็น "คุณละเอียด"...ป๋าเดตรวจแล้วนะยังมีพลาด.

-ขอให้ท่านเที่ยวเกาะสมุยด้วนความสุข...และเดืนทางปลอดภัย..ขอบคุณนะคร้าบ......

  • สวัสดีครับ อาจารย์แม่
  • ย้อนมาดูตนเองแล้วผมก็ใช้คำผิดเช่นกันครับ
  • บางครั้งด้วยความเคยชิน แต่ไม่ได้ใช้ด้วยความถูกต้อง
  • กำลังปรับปรุงแก้ไขครับ
  • โครงการเพื่อนภาษา นี้ดีจังเลยครับ
  • สบายดีนะครับ?

อาจารย์แม่ไอดินขอขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" เป็นอย่างยิ่งเลยนะคะ ที่บอกว่า "ขอเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อนภาษานะคร้าบ!!!"

แค่คุณเพชรแก้ไขสองคำที่เคยเขียนผิด ก็เลิศเลอ Perfect แล้วล่ะค่ะ ไม่มีอะไรต้องแนะนำอีก

อาจารย์แม่ไอดินไปแวะชิมขนมเตียนแก้วไส้บะถิมนานแล้วล่ะค่ะ แต่เพิ่งจะย้อนกลับมาตอบในบันทึกของตนเองเวลา 01.14 น.เพราะมัวไปอ่านบันทึกต่างๆ และสืบค้นประกอบการเขียนบันทึกเพื่อนภาษา (๒) ค่ะ

"ป๋าเด" สวมแว่นหรือเปล่าคะตอนพิมพ์ ช่วงนี้จิ้มพลาดไปโดนตัวอักษรใกล้เคียงอีกแล้ว เที่ยวนี้บอกว่า "ขอให้ท่านเที่ยวเกาะสมุยด้วนความสุข...และเดืนทางปลอดภัย" ขอบคุณมากนะคะ สำหรับคำอวยพรให้เที่ยวด้วยความสุขและปลอดภัย แต่ทำไมอวยพรล่วงหน้านานจังล่ะคะ จะไปเที่ยว  21-23 สิงหาคม โน่น ยังอีกนานค่ะ 

ขอบคุณ "คุณวศิน" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจอาจารย์แม่และเห็นคุณค่าของโครงการ "เพื่อนภาษา"

หลังจากที่อาจารย์แม่ได้ติดตามบันทึก 2 เรื่องช่วงที่คุณวศินออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูใหม่ๆ ก็ไม่ได้เจอกันอีก ตามกลับไปอ่านบันทึกล่าสุด (http://www.gotoknow.org/posts/543837) ชื่นชมผลงานมากเลยค่ะ ทั้งด้านความสามารถและการใช้จิตวิทยาในการพัฒนานักเรียน 

  

ดีใจจังเลยค่ะอาจารย์

คิดว่าตัวเองไม่เคยเขียนผิดนะคะ

 

ขอบคุณกัลยาณมิตรทั้ง 3 ท่านมากนะคะ ที่กรุณามอบดอกไม้ให่กำลังใจ "ไอดิน-กลิ่นไม้"

ดีใจด้วยกับ "kunrapee" นะคะ ที่บอกว่าไม่เคยเขียน "คะ ค่ะ นะคะ" ผิด 

ไม่ทราบว่าในภาพมี "คุณนีโอ..เบเกอรี่" หรือเปล่านะคะ เพราะลงภาพประจำตัวเป็นภาพลูกชาย

ไอดินฯ ชื่นชมกิจกรรมเชิงรุกในการส่งเสริมการเกษตร ของ "คุณเขียวมรกต" มากค่ะ 

หวังว่าจะได้รับกำลังใจจากทั้ง 3 ท่าน ใน "เพื่อนภาษา : (๒)" ที่ตั้งใจจะลงภายในวันนี้ นะคะ  

     

     

 

สวัสดียายไอดิน (เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ ก.ค. ๕๖) 

-ป๋าเดพลาดอีกจนได้ (ตรวจแล้วนะ) ต่อไปต้องตรวจสองรอบป้องกันความผิดพลาด (ต้องรอบคอบ) แล้วก็ลืมคิดอีกว่ายายไอดินฯจะไปเที่ยวเกาะสมุยอีกตั้งหลายวัน..แต่ป๋าเดอวยพรล่วงหน้าคงไม่ผิดกติกานะใช่ไหม

-ป๋าเดจะติดตาม "เพื่อนภาษา : (๒)" ในโอกาสต่อไป..ว่าแต่จะออกอากาศเมื่อไหร่หนอ....ขอขอบคุณแทนเพื่อน ๆ ชาว GTW นะคร้าบ....

ผิดอีกจนได้ "นะใช่ไหม" มาจากไหนนี่......

-สวัสดียายไอดินฯ

-ขออนุญาตเพิ่มคำถามอีก ๑ ข้อ ในวันภาษาไทยแห่งชาติ (ป๋าเดตอบไม่ได้)

ข้อที่ ๑ ให้นักเรียนตรวจข้อความทั้งสองข้อความด้านล่างแล้วอธิบายว่า มีความเหมือนกันหรือแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร (๕ คะแนน)

- โครงการ "เพื่อนภาษา" : (๑)

- โครงการ "เพื่อนภาษา : (๒)"

-ขอบคุณครับ

อ่านด้วยความสุขใจอย่างยื่งกับเจตนารมณ์ดีๆในการรณรงค์การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องเช่นนี้..ภาษาเขียนที่งดงามต้องสมบูรณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระ ขอบคุณที่มาช่วยกันเผยแพร่นะคะ

ขอบคุณ "ป๋าเด " มากนะคะ ที่เข้ามาคุยกับยายไอดินฯ ถึง 3 รอบ เมื่อวานนี้

ขอตอบคำถามนะคะ

๑) เพื่อนภาษา (๒) ตั้งใจจะออกอากาศในวันภาษาไทยแห่งชาติ ๒๙ กรกฎาคมค่ะ แต่ยายไอดินมัวแต่ไปตะรอนทำกิจกรรมข้างนอกกับลูกสาวจาก ๒๘-๒๙ กรกฎาคม กลับถึงที่พักก็หมดแรงแล้ว ทำให้ลงไม่ทันค่ะ เลยเปลี่ยนเป็นจะลงวันนี้ก่อนเดินทางกลับอุบลฯ (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดนะคะ)

    

    

 

๒) ข้อแตกต่างของเพื่อนภาษา (๑) และ (๒) ...ดูที่ชื่อตอน (ดังภาพนะคะ) ส่วนรายละเอียดต้องติดตามหาคำตอบเองค่ะ แต่ขอบอกเป็นเบื้องต้นว่า จะให้ประโยชน์กับท่านที่ศึกษาและนำไปใช้ มากกว่าตอนที่ ๑ แน่นอนค่ะ เพราะมีทั้งการพูด การอ่าน และการเขียน แต่จะไม่เน้นวิชาการ เพียงแต่จะหยิบยกส่วนที่เป็นปัญหา มาเพื่อให้กัลยาณมิตรนำไปพิจารณาแก้ไขเท่านั้น 

 

 

 

 

       ภาพแสดงความแตกต่างระหว่างเนื้อหาของ "เพื่อนภาษา (๑)" กับ "เพื่อนภาษา (๒)

    

   

ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่" มากนะคะ ที่เห็นคุณค่าและให้การสนับสนุน "โครงการเพื่อนภาษา" รวมทั้งให้ข้อคิดที่มีคุณค่ายิ่งที่พวกเรา "ชาว GotoKnow" ควรนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ ในการสร้างงานเขียน ว่า "ภาษาที่งดงาม ต้องสมบูรณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระ"  ซึ่งพี่ใหญ่เองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ใช้ภาษาได้อย่างงดงาม

เคยแอบเป็นลูกศิษย์ในหนังสือ จิตวิทยาสำหรับครู แต่มิกล้าอาจเอื้อมค่ะอาจารย์ ขอเป็นลูกศิษย์ด้วยคนนะคะ

-ช่วงปี 20-22 ป่าเดสอนอยู่ รร.ทวีธาภิเศก บางกอกใหญ่ กทม.ซึ่ง รร.อยู่ใกลกับวัดอรุณฯ ....ขอบคุณท่านในสาระดีๆที่ให้ความรู้กับชาว GTW ครับท่าน.....

ขอบคุณ "คุณ tuknarak" นะคะ ที่เข้ามาตอบคำถามให้ทราบว่า เคยแอบเป็นลูกศิษย์ในตำราเรียนวิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" พบกันใน เพื่อนภาษา : (๒) นะคะ

"ป๋าเด" เจ้าคะ บอกแล้วว่าให้ใส่แว่นเวลาพิมพ์ เที่ยวนี้บอกว่า "ช่วงปี 20-22 ป่าเดสอนอยู่ รร.ทวีธาภิเศก บางกอกใหญ่ กทม.ซึ่ง รร.อยู่ใกลกับวัดอรุณฯ ....ขอบคุณท่านในสาระดีๆ ที่ให้ความรู้กับชาว GTW ครับท่าน....." จากป๋า กลายเป็นป่าไปแล้วนะคะ...ตกลงใกล้หรือไกลวัดอรุณคะ...เขาใช้ GTK นะคะ ไม่ใช่ GTW

ป๋าเดเคยสอนที่โรงเรียนทวีธาภิเศกปี ๒๕๒๐ - ๒๕๒๒ แต่ยายไอดินฯ เคยไปฝึกประสบการณ์ให้คำปรึกษานักเรียนที่โรงเรียนเดียวกันนี้ (ขณะเรียนปริญญาโทที่ มศว.ประสานมิตร) ในปีการศึกษา ๒๕๑๘ ปี ๒๕๒๐ ไปบรรจุเข้ารับราชการที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ ค่ะ  

สุขใจ สุขกาย และสุขสันต์ และสดใส ในวัน แห่งรัก และวันแห่งบุญ นะคะอาจารย์แม่...

เป็นโครงการที่ดีมากเลยค่ะ ทำให้ได้ความรู้เยอะเลยเกี่ยวกับภาษาไทย ตอนนี้กำลังศึกษาภาษาไทยถึงจะไม่ใช่คนไทย แต่หนูก้อมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นครูภาษาไทย เพื่อนำไปสอนพี่น้องชาวลาวที่สนใจอยากเรียนภาษาไทย ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท