"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

วิถีชาวนา จากคำถาม ชาวนา ควรทำอะไร อย่างไร


ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตการรับจำนำข้าวและที่กล่าวถึงปัญหาของชาวนากันบ่อย ผู้เขียนเลยอยากเสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหาผ่านกรอบแนวคิดหลักธรรมทางพุทธศาสนาบ้าง

13/07/2556

***********


<p style="text-align: left;">              ผู้เขียนเคยเขียนกรอบแนวคิดการพัฒนาชนบทนานมาแล้ว โดยนำหลักพุทธธรรมทางศาสนามาเป็นกรอบในการเขียน

 และครั้งนี้ก็พยายามอ่านและชมวีดิทัศน์หลายแห่งที่กล่าวถึง “ชาวนา” และ “ข้าวไทย”  พร้อมกันนี้ก็มีประเด็นคำถามของ  คุณ SRที่ถามว่า ชาวนา ควรทำอะไร อย่างไรที่ชวนคิดสะกิดให้อยากเขียนบันทึกนี้(บ่นเสียมากกว่า) ผ่านมุมมองตามแนวคิดหรือความคิดเห็นของตนในประเด็นดังต่อไปนี้

</p>

             1.  ทำไมชาวนาไทยถึงยากจน

             2.  แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร

หากเราไม่มีอคติหรือมีแนวคิดขัดแย้งเกี่ยวกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาว่าไม่ทันสมัย ไม่ใช่หลักทฤษฎีเหมือนแนวคิดของฝรั่งแล้ว ลองหันมาพิจารณาหลักอริยสัจ  4  กันดูสักหน่อยก็แล้วกัน 

            1.  ทุกข์(ผล)  คือ ปัญหา  ความยากจนของชาวนาไทย

            2.  สมุทัย(เหตุ)  คือ สาเหตุของปัญหา  ความยากจนมาจากสาเหตุใด

            3.  นิโรธ(ผล) คือ ลักษณะที่หมดปัญหาหรือแก้ปัญหาได้แล้วชาวนาเป็นอย่างไร

            4.  มรรค(เหตุ) คือ ข้อปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา  วิธีการหรือแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน

ประเด็นแรกทำไมชาวนาไทยถึงยากจน  หากเรานำหลักการนี้มาเทียบเคียงก็พอได้ ดังนี้

           อันดับแรกเราต้องมาวิเคราะห์กันก่อนว่า สาเหตุ(2.สมุทัย)ที่แท้จริงของปัญหาเกษตรกรที่เป็นชาวนาไทยที่ทำให้ยากจนนั้นมีอะไรบ้าง ตามแนวคิดของผู้เขียนเท่าที่เห็นและประสบการณ์เคยสัมผัสมาด้วยตนเองพอประมวลได้ดังนี้ 

            2.1  ความอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น  โดยลืมไปว่าศักยภาพของเรานั้นมีอยู่เพียงใด ในการที่จะทำให้ตนเองนั้น “รวย” ได้  ถ้ามองตามหลักการแล้วถือว่าเปอร์เซ็นต์เป็นไปได้นั้นมีน้อยมาก ที่สำคัญคือ “แนวความคิด”  ผู้เขียนเคยถามชาวนาหลายคนว่าทำไมเราไม่ทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง เขาบอกว่า “ไม่ทันกิน”  มันช้า ไม่ทันการณ์  ได้เงินช้า ไม่พอใช้หนี้  ทำอะไรก็ต้องการความเร็ว ไว เห็นผลทันใจเอาไว้ก่อน  ความอยากเป็นเหมือนคนอื่น  ชาวนาคิดเหมือนละครทีวีมอมเมาประชาชน  คิดเหมือนคนชั้นกลาง  คิดเหมือนข้าราชการ คิดเหมือนเศรษฐี อยากมีบ้านหลังใหญ่ ๆ หรู ๆ  มีรถกระบะ  รถเก๋ง  ไทยแลนด์(อีแต๋น)  มอเตอร์ไซค์  โทรศัพท์  เครื่องเล่น  เครื่องเสียง  พร้อมชุดคาราโอเกะ  เมื่อคิดมีคิดเป็นเหมือนเขาก็จะทำเหมือนเขา หาเงินแบบเขา และใช้จ่ายแบบเขา  เดี๋ยวนี้ชาวนาใช้บัตรเครดิต โดยรัฐจัดทำให้  เพื่อความสะดวกของการซื้อและจ่าย ค่าปุ๋ย ค่ายาค่าอื่น ๆ  มีบัตรเอทีเอ็มของธกส. ของออมสิน(เงินกองทุนหมู่บ้าน)ในเมี่อซื้อง่ายจ่ายคล่องแล้วยังใช้เครดิตได้อีกจะเอาอะไรมาเหลือ

           2.2  ขาดความรอบคอบรัดกุม ชาวนาไทยขาดการทำระบบการใช้จ่ายเงินภายในครัวเรือนและภายนอกครัวเรือน หรืออาจจะมีน้อยคนนักที่จะคิดทำหรือลองทำ ลองไปสอบถามได้เลยว่าในครัวเรือนต่าง ๆ ของชาวนานั้นมีการ “จดบันทึกรายรับ รายจ่าย” ค่าเครื่องใช้  ค่าวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำนากันสักกี่ครอบครัว ค่าพันธุ์ข้าวเท่าไหร่ ค่าน้ำมันเท่าไหร่ ค่าปุ๋ยเท่าไหร่  เมื่อไม่มีการบันทึกไม่มีข้อมูลเหล่านี้ในแต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปี จะรู้ได้อย่างไรว่า กำไร(เกินกว่าที่ลงทุนไป)เท่าไหร่ หรือขาดทุน(ต่ำกว่าที่ลงทุนหรือใช้จ่ายไป)เท่าไหร่  เมื่อไม่รู้ก็ย่อมเสียเปรียบผู้ที่รู้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้

           2.3  ขาดการพัฒนาด้านองค์ความรู้  การทำนาของชาวนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่ทำตาม ๆ กันมา เหมือนกับหลักความเชื่อที่ว่า “ทำตามกันมาอย่าได้เชื่อ”  “ทำกันทุกเมื่อเชื่อไม่ได้” ก็ทำตามและทำกันทุกเมื่ออยู่เช่นเดิม   ไม่ได้ยกฐานะตนเองให้เป็น  ”ชาวนามืออาชีพ” ไม่ได้ใช้สมองพัฒนาความรู้ ไม่มีใครแนะนำให้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม หรือถึงมีผู้เสนอแนะให้ความรู้แล้วก็ไม่สนใจที่จะรับฟังและทำตาม  มีแต่การมุ่งทำนาแบบลุย ๆ  ตามการตลาดของโลกธุรกิจ  โลกของอีแต๋นยกดั๊มได้  รถไถ  รถนวด หรือรถเก็บเกี่ยว  เครื่องจักรก็คือ “หนี้”  ก้อนใหญ่และก้อนใหม่ที่ตามมา  ถามว่าแล้วใครรวย ธนาคารผู้ให้กู้เงินและเจ้าของกิจการสิครับ  เพราะเขาพัฒนาการ “การกินดอก” อยู่ตลอดเวลา  ทุกวันนี้แม้แต่เมล็ดพันธุ์ข้าวชาวนาก็วิ่งหาซื้อกันและถามกันว่าตลาดต้องการข้าวพันธุ์ไหน  ขายได้ราคาเท่าไหร่  ยังติดยึดอยู่กับความต้องการของตลาด  ไม่ได้อยู่ที่ความต้องการของตนเอง  แบบนี้เราก็ลดการเป็นหนี้ไม่ได้

          2.4  มีการใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์กันมาก  ทางพุทธศาสนาเรียกว่าอบายมุข  หมายถึง ปากทางแห่งความเสื่อม ทางนำไปสู่อบาย หรือ “ทางลงเหว”  มันอาจจะไม่ถึงกับทำให้ล่มจมในตอนแรก แต่นาน ๆ ไปจะทำให้จนแบบไม่รู้ตัวได้  คล้ายกับดินพอกหางหมู ที่ทำให้แกว่งหางไม่ได้ ดิ้นไม่ออก ทำให้อึดอัดผอมโซและหมดแรงตายได้  อบายมุขมีหลายอย่าง  สิ่งแรกที่มองเห็นได้ชัดเจนคือ “การซื้อหวยเถื่อน”  เคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้านไว้นานมากแล้ว มีเรื่องหวยนี้อยู่ด้วย  เช่น หมู่บ้านของผู้เขียนเอง  เจ้ามือก็มีทั้งที่อยู่ในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน เฉลี่ยคนซื้อต่อคน คนละ 200 บาทต่อครัวเรือน(หลังหนึ่งมีกี่คนก็แล้วแต่) รวมแล้วประมาณ 200 บาท ต่องวด (3 หมู่บ้านประมาณ 800 กว่าหลังคาเรือน) เดือนหนึ่งก็ประมาณ 3 แสนกว่าบาท เงินเข้ากระเป๋าคนคนเดียวแล้วใครรวย  ถ้าทั้งประเทศหละเป็นเงินเท่าไหร่ นอกจากนี้ก็มีการดื่มเหล้า การเที่ยวกลางคืนผับบาร์คาราโอเกะ(ที่บ้านผู้เขียนยังมีร้านคาราโอเกะ) ความเกียจคร้านทำการงาน สมคบกับพวกค้ายาบ้าทั้งกินทั้งขาย  อบายมุขทั้งนั้นครับ 

          อีกอย่างชาวนาทั่วไปมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขี้เกรงใจ  เวลากินเวลาเลี้ยงก็ต้องเต็มที่  “จนไม่ว่า อย่าเสียหน้าก็แล้วกัน”  คนกินก็ไม่ได้คิดสงสารเจ้าของนาหรอก  เจ้าของพอหายเมาจึงรู้ว่าหมดไปเยอะเหมือนกันนะนี่  การลงแขก ดำนา เกี่ยวข้าวต้องซื้อเหล้า ยา เมี่ยง น้ำแข็ง เครื่องดื่มบำรุงกำลัง หุงข้าว นึ่งข้าว ทำกับข้าวเลี้ยงแขกที่จะมาช่วยงาน  ถ้าทำงานเสร็จวันเดียวก็ดี  เกิดหลายวันเข้าก็ตัวเบาไปเหมือนกัน  เดี๋ยวนี้คนงานเหล้าขาวยาดองก็ไม่กินกันแล้ว  ต้องเป็นเหล้าแดงน้ำแข็งกลวง  ต้องเลี้ยงเบียร์พร้อมกับแกล้มกันให้อิ่มหนำสำราญ  กินจากนามามืดค่ำแล้วต้องมาต่อกันที่บ้านเจ้าของนาอีก พอได้ทีก็จัดคาราโอเกะกันจนดึกดื่น  วัฒนธรรมที่ดีงามมันเปลี่ยนไป สร้างวัฒนธรรมกันใหม่ที่ไม่เข้าท่า  ชาวนาหรือคนที่เบื่อแบบนี้จึงหันไปจ้างรถหรือเครื่องจักรดีกว่า  ประหยัดเงินกว่า “เอาแฮง” (ลงแขก)กันเยอะเลย

          นอกจากนี้ก็นำเงินที่ได้หรือจากที่กู้มาไปซื้อรถกระบะ รถอีแต๋น  รถไถนา หรือรถมอเตอร์ไซค์ให้ลูกไปเรียนหนังสือ  นำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ลองไปถามดูซิเดี๋ยวนี้ชาวนาคนไหนไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้กันบ้าง  นักเรียนตัวเล็กนิดเดียวก็มีก็ใช้โทรศัพท์มือถือ  แม้แต่ผู้สูงอายุอยู่กับบ้านก็มีกันทุกคน(ไม่ว่าเขาหรอกเพราะเขาเป็นคนของรัฐมีเงินเดือนกิน)  โทรศัพท์ถ้าเกินกำหนดหนึ่งเดือนไม่เติมเงินได้ไหม รถไถนา มอเตอร์ไซค์กินน้ำมัน  โทรศัพท์กินเงินในอากาศ  คนกินเหล้ากินยาบ้า(ตอนนี้เริ่มกินกันมากอีกแล้ว) รัฐเจ้าหน้าที่กินหัวคิวข้าว มันสำปะหลัง  นอกจากชาวนาจนแล้วชาวบ้านอย่างผู้เขียนก็ต้องพลอยจนเป็นหนี้เขาตามรัฐบาลไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวอีกเป็นหมื่นๆ  

          ทีนี้ เรามาดูประเด็นที่ 2  แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างไร  ใช้หลัก อริยสัจ 4  ข้อที่ 4. มรรค คือแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน  ผู้เขียนกำหนดกรอบตามหลักการของคาถาหัวใจเศรษฐี  4 คำ คือ  อุ  อา  กะ  สะ  ดังนี้

          1.  อุฏฐานสัมปทา  ชาวนาควรรู้จักวิธีการหาทรัพย์

          2.  อารักขสัมปทา  ชาวนาควรรู้จักการรักษาทรัพย์

          3.  กัลยาณมิตตตา  ชาวนาควรรู้จักการสมาคมคบหาญาติมิตร

          4.  สมชีวิตา  ชาวนาควรรู้จักการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมไม่ให้เดือดร้อน  

 

       ตามข้อ  1.  รู้จักขยันหาทรัพย์ทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน

            1.1 ต้องเปลี่ยนมุมมอง หรือ “เปลี่ยนวิธีคิด” เสียก่อน  การคิดที่จะรวยนั้น เป็นการมุ่งมองไปข้างหน้าเอาผลประโยชน์ข้างหน้าเป็นตัวตั้ง  หันกลับมามองที่ตนเองแบบ “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเสียก่อน  ด้วยแนวคิดว่า “เราต้องพึ่งพิงตนเองให้ได้”  ถ้าเราไม่พึ่งพิงตนเองยังมุ่งหวังพึ่งพิงการเงินนอกระบบ  ธนาคาร  สหกรณ์  พ่อค้า  ข้าราชการ หรือรัฐบาลแล้วไซร้ เราจะไม่ประสบความหลุดพ้นไปได้  ต้องดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ได้  ยืนอยู่บนขาของตนเองให้ได้ ด้วยแนวคิดที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา  ข้าวปลานั้นของจริง” (มจ.จักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์) หรือ “เงินไม่สำคัญเสมอไป”  (หลวงพ่อจรัญ) ขอให้คิดว่าไม่มีเงินเราก็ไม่เดือดร้อนเราสามารถอยู่ได้ เป้าหมายไม่ใช่เงิน แต่คือ ความสุข หรือ “ความพออยู่พอกิน”  ภาษาพระท่านเรียกว่า “สันโดษ”  อย่าอยากมี อย่าอยากเป็นให้มากเกินไป  ถ้าเราเปลี่ยนแนวความคิดของเราไม่ได้  ไม่มีพลังศรัทธาอย่างแรงกล้าในการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่การมีทรัพย์ภายใน  http://www.gotoknow.org/posts/319505  ก็อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้

           1.2 รู้จักการเพิ่มมูลค่าการทำนา   ด้วยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการเกษตร  การทำนามีวิธีการขั้นตอนอย่างไร  แต่ละขั้นตอนเราสามารถลดต้นทุนอะไรได้บ้าง  เช่น  ใช้คำถามนำแล้วตามไปค้นหาแสวงหาความจริงว่า ถ้าเราทำนาแบบไม่ต้องใช้รถไถหรือใช้น้ำมันเราจะทำได้ไหม มีวิธีไหนบ้าง  เราจะทำปุ๋ยใช้เองได้ไหม  เราจะทำยาฆ่าแมลงใช้เองได้ไหม เราจะทำยาฆ่าหญ้าด้วยตัวเองได้ไหม  เราจะเก็บหรือคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ได้ไหม  เมล็ดพันธุ์ไหนดีทนโรคควรปลูกช่วงไหนหรือฤดูไหน  เมล็ดพันธุ์ไหนดีทนแล้งควรปลูกหรือปลูกช่วงฤดูไหน  ผืนนาที่เราทำเป็นดินอะไร  ควรแก้ไขปรับปรุงหรือไม่  อย่างไร  น้ำที่ใช้ทำนามีความเป็นกรดด่างเหมาะสมกับข้าวพันธุ์ไหนหรือไม่  ค้นหาความจริงให้ได้(ดูตัวอย่างนี้ http://www.gotoknow.org/posts/505173 )  ความรู้ทำให้ชาวนามองเห็นตนเอง เห็นภาพว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรให้ดีขึ้นให้อยู่รอด ถ้าเราลดต้นทุนไม่ได้เราก็ไม่มีเงินเหลือ  ชื่นชมกับ ม.เกษตรศาสตร์ที่ส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยด้านข้าวเป็นอย่างมาก(ดูตัวอย่างวีดิทัศน์ด้านล่าง)

        ตามข้อ  2.  ชาวนาควรรู้จักการรักษาทรัพย์

ในเมื่อเรารู้วิธีการหาทรัพย์แล้ว เราก็ควรจะรู้วิธีการเก็บรักษาทรัพย์ด้วย  นั่นก็คือ

           2.1  เรื่องการจัดทำบัญชี  บัญชีครัวเรือน  บัญชีการใช้จ่ายกับค่าวัสดุ อุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้  เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย  ค่ายาฆ่าแมลง ค่ายาฆ่าหรือคุมหญ้า ค่าแรงงานคนงาน  ค่าแรงตนเอง(ปกติไม่ได้คิดอยู่แล้ว) ค่ากับข้าวในแต่ละวัน เป็นต้น  ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถ้าเราคุมไม่ได้ ไม่รู้ที่มาที่ไปแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขาดทุน  อยู่ตัว หรือว่ากำไร เมื่อเสร็จฤดูเก็บเกี่ยว  ต้องมีการจัดทำบัญชีให้ดี

          2.2  เรื่องการใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น  การใช้จ่ายของเรานั้น  หลายครั้งหลายครามีการใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแต่เบื้องต้น  เราเอาชนะใจตนเองกับสิ่งยั่วยุได้แค่ไหน  อดซื้อหวยเถื่อนหรือรัฐบาลได้ไหม  อดซื้อรถไถรุ่นใหม่ ๆ ตามที่โฆษณาในทีวีได้ไหม  อดซื้อรถไทแลนด์ดั๊มได้ไหม  อดซื้อรถเครื่องให้ลูกได้ไหม  อดซื้อโทรศัพท์ให้กับตนเองและลูกหลานได้ไหม  อดซื้อของใช้ตามตลาดนัดในวันสำคัญ ๆ  ได้ไหม  อดซื้อเหล้าเบียร์ได้ไหม  อดซื้อยาสูบยาบ้าเครื่องดื่มชูกำลังได้ไหม  อดซื้อกับข้าวที่คิดว่าจำเป็นมาเก็บใส่ตู้เย็นไว้ได้ไหม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  ถ้าเราอดใจไว้ไม่ไหวตามสติไม่ทัน ก็อย่าหวังว่าจะมีเงินได้

       ตามข้อ  3.  ชาวนาควรรู้จักการสมาคมคบหาญาติมิตร

สมาคม คือ การติดต่อสื่อสาร การเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น หรือการเข้ามาร่วมแสดงออกทางวัฒนธรรม กล่าวกันให้ง่าย ๆ ว่า “คบหาสมาคม”  ในที่นี้ต้องแยกออกเป็น  2 คำ คือ คำว่า “ญาติ” กับคำว่า “มิตร”

           ญาติ ต้องส่งเสริมสนับสนุนหรืออุดหนุนชาวนาพี่น้องของเราที่มีฐานะด้อยกว่าให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เสริมการเงินและเสริมปัญญาให้แก่เขา ขาดเหลืออะไรก็ควรให้ความช่วยเหลือกันก่อนเป็นลำดับแรก  เหมือนคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยบมาจากแผ่นดินใหญ่มาอยู่เมืองไทยใหม่ ๆ ให้การช่วยเหลือกันด้านการเงินลงทุนทำมาค้าขายจนมีเงินมีทอง มีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับเดียวกัน โดยไม่คิดดอกเบี้ย  ขณะเดียวกันชาวนาผู้ได้รับการช่วยเหลือจากญาติก็ต้องวางตนให้ดูน่าสงสาร วางตนให้เหมาะสมที่จะได้รับการช่วยเหลือด้วย ไม่ใช่เอาแต่เล่นการพนัน  ดื่มเหล้า เมาหัวราน้ำไปวัน ๆ  แบบนี้เทวดาที่ไหนก็ไม่อยากจะช่วย

          มิตร  คือผู้ที่ไม่ใช่ญาติ  มีทั้งที่เป็นกัลยาณมิตรและ อมิตร ทั้งที่เป็นบุคคลและองค์กร  เราต้องเลือกคบมิตรที่ดีแนะนำส่งเสริมสนับสนุนกันไปในทางที่ดี เช่น  ฝ่ายพัฒนาชุมชน  บรรณารักษ์ห้องสมุด  คุณครูในหมู่บ้าน  ปู่อาจารย์  ท่านเจ้าอาวาส หรือท่านผู้ที่มีความรู้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน หมอดินที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว มหาวิทยาลัย เข้าไปหาเขาเหล่านั้นเพื่อขอคำชี้แนะแนวทางและขอความรู้จากท่านได้ให้การช่วยเหลือ “อยากได้ลูกเสือต้องเข้าถ้ำเสือ”  อยากได้ความรู้ต้องไปเสาะแสวงหา ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ แล้วความรู้มันจะวิ่งมาหาเรา  โกทูโนว์  คือ ไปแสวงหาความรู้ที่เป็นมิตรกับเรา อยากรู้เรื่องอะไรข้างในนี้มีให้หมด  อยากติดต่อใครสอบถามเรื่องไหน  อยากเรียนรู้เกี่ยวกับอะไร  ที่นี่มีคำตอบให้  GotoKnow  ก็ถือเป็นกัลยาณมิตรของเราได้เช่นกัน 

         อมิตร  มิตรไม่ดีหรือผู้ที่ไม่ใช่เพื่อนเราก็อย่าเข้าไปใกล้  คบได้แต่ให้คบเป็นครูสอนให้เรารู้ว่า ไม่ควรถือเอาเป็นแบบอย่าง และไม่ควรถือปฏิบัติหรือทำตัวอย่างเขา  โบราณกล่าวไว้ว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล”   บาลีว่า   “อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญ จะ เสวนา เอตัมมังคะละมุตตะมัง” การไม่คบมิตรชั่วการคบมิตรดีทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง(มงคล 38 ข้อแรก)

 

      ตามข้อ  4. ชาวนาควรรู้จักการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมไม่ให้เดือดร้อน 

           ตามรูปศัพท์ภาษาบาลีใช้คำว่า สมชีวิตา  หมายถึง การใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่ให้เกิดความเดือดร้อน  ฝืดเคือง  รู้จักใช้จ่ายเงินเลี้ยงชีพให้พอดี  ไม่จ่ายน้อยเกินไปถึงกับอดอยาก  ไม่สุรุ่ยสุร่ายจ่ายมากเกินไป รู้จักประมาณฐานะของตนว่ารายรับ  รายจ่ายมีเท่าไหร่ และควรจ่ายเท่าไร  ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มให้กับตนเองและครอบครัว  พออยู่พอกิน  สันโดษในปัจจัย 4 คือ ข้าว(อาหาร) ผ้า(เครื่องนุ่งห่ม)  ยา(ยารักษาโรค)  บ้าน(ที่อยู่อาศัย)  มีของกินอะไรก็กินตามนั้น  มีเสื้อผ้าของใช้อะไรก็ใช้ไปตามนั้นคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก   เวลาเจ็บไข้ไม่หนักหนาสากรรจ์ก็ไปใช้บริการตามโครงการของรัฐ  ไม่จำเป็นต้องไปคลินิกทุกครั้ง เพราะค่ารักษาที่คลินิกจะแพงกว่าโรงพยาบาล  บ้านก็ไม่จำเป็นต้องหลังใหญ่สวยงามเลิศหรูอลังการก็ได้  มีที่พักอาศัยหลับนอนกันแดดฝน ร้อนหนาวได้และไม่ต้องเช่าเขาก็ดีถมไปแล้ว  ไม่อยู่อย่างอยาก  อยากมีอยากได้เกินกว่าปัจจัย 4  ถ้าลดความอยากไม่ได้ ชีวิตครอบครัวของชาวนาก็จะอยู่อย่างลำบากเดือดร้อนยิ่งขึ้นไป  

           สรุป  ชาวนาควรจะต้องปฏิบัติตามมรรคคือ หลักหัวใจเศรษฐีทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาไปพร้อม ๆ กัน แยกทำเพียงข้อใดข้อหนึ่งหรือหลักการใดหลักการหนึ่งไม่ได้  โดยสรุปเป็นข้อความสั้น ๆ  ดังต่อไปนี้

           1.  มุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร

               1.1  เปลี่ยนมุมมองวิธีคิดแบบพึ่งผู้อื่นหันมาพึ่งตนเอง ด้วยจุดยืนหรือเป้าหมายเพื่อ “ความมั่นคงยั่งยืน”  ไม่ใช่เพื่อ “ความร่ำรวยมั่งคั่ง”

               1.2  ขยันทำงานด้วยความอดทนบนพื้นฐานขององค์ความรู้ พัฒนาอาชีพการทำนาด้วยวิชาความรู้ ใส่ความรู้เข้าไปให้มาก มีการสังเกตจดบันทึกช่วยเตือนความจำอยู่เสมอ ๆ

         2. รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาไว้ให้ได้

    2.1      รู้จักการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย  แยกเป็นบัญชีเฉพาะไป  เช่น บัญชีครัวเรือน บัญชีทำนา บัญชีทำไร่ บัญชีเลี้ยงสัตว์  บัญชีค้าขายผลผลิตในไร่นาสวนผสม  เป็นต้น

    2.2     ไม่ใช้จ่ายทรัพย์ไปกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและต่อการประกอบอาชีพ(อบายมุข) ให้ใช้จ่ายไปกับสิ่งที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

        3.  รู้จักการคบหาสมาคมกับญาติมิตร

    3.1        ญาติควรให้การสนับสนุน อุดหนุน ส่งเสริมพี่หรือน้องผู้ลำบาก ผู้เดือดร้อนที่เป็นคนดีให้ได้ฟื้นฟู  พออยู่พอกิน ลืมตาอ้าปากได้

    3.2        ควรคบหรือแสวงหามิตรที่ดี ที่ชักนำส่งเสริมสนุบสนุนให้ได้แต่สิ่งที่ดี  ให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจให้ได้รู้ได้เข้าใจ

       4. รู้จักการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะหรือความเป็นอยู่ของตน

    4.1        รู้จักการใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงชีพอย่างเหมาะสม ไม่ให้ฝืดเคือง  ไม่ให้ขัดสน  สิ่งไหนควรจ่ายสิ่งไหนไม่ควรจ่ายต้องรู้เท่าทัน รอบคอบ ระมัดระวัง เน้นที่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

    4.2        รู้จักการบริโภคปัจจัย 4 ข้าว  ผ้า  ยา  บ้าน  อย่างมีสติรู้เท่าทัน  คำนึงถึง  “คุณค่า”  มากกว่า “มูลค่า”

            ทั้งหมดที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ไม่ได้พูดถึงการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลเลย เพราะถ้าชาวนายังหวังพึ่งพารัฐบาลอยู่ ชาวนาจะไปไม่รอด ไม่สามารถหลุดพ้นวงจรของการเป็นเบี้ยล่างให้กับรัฐหรือพ่อค้าคนกลางได้ ไม่ว่าราคาข้าวจะเกวียนละเท่าไหร่หรือตันละเท่าไหร่ก็ยากจนอยู่ดี  ต้องกล้า ต้องบ้า ที่จะแหกคอกเปลี่ยนแนวคิดเปลี่ยนจุดยืน ยืนหยัดด้วยขาของตนเองเท่านั้น ถึงจะหลุดพ้นได้




ขอบคุณโกทูโนว์

ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ

เสริมความรู้ดูเพิ่มเติมได้ตามเนื้อหาด้านล่างนี้

http://www.gotoknow.org/posts/188901  ทำไมชาวนาไทยถึงยากจน

http://www.thairath.co.th/content/edu/349042  วิธีแก้ปัญหาความยากจน

http://www.gotoknow.org/posts/86917   ต้องเปลี่ยนแนวคิด

http://www.gotoknow.org/posts/149433  ต้องยึดติดวิถีชุมชน

http://www.krobkruakao.com/video.php?type=videoDetail&video=23&path=19734  ต้องเริ่มต้นทำวิจัย

http://www.gotoknow.org/posts/509674  ทำอย่างไรก็ไม่มีทางรวย

http://www.gotoknow.org/posts/450475  วิธีทำนาให้รวยของดี 2 ปีที่แล้ว


หมายเลขบันทึก: 542295เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2013 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอเป็นกำลังใจให้ชาวนานะคะ 'พี่หนาน'

I think we also need technologies. Some enabling technologies like multicultural/diversified farming (to create several streams of income); some innovations in making tools and building houses (to use more locally available materials) and some cost-cutting technologies (to add more lower cost options to living in rural areas).

I think 'environmental' issues should also become a part of farmers' thinking.

ขอบคุณผู้ให้กำลังใจ

  • อาจารย์ sr.
  • อาจารย์ ดร.พจนา แย้มนัยนา
  • พระมหาแล อาสโย ขำสุก

ผมทำลิงก์ชื่อไม่เป็นผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยครับ

ขอบคุณผู้แสดงความคิดเห็น

  • อ.ดร.พจนา แย้มนัยนา ที่ติดตามอ่านและให้กำลังใจพร้อมกับแนะนำการเขียนด้วยดีมาตลอด น่าจะ 2 ปีเข้าไปแล้ว ถึงอย่างไร ตัวผมเองก็ยังรู้สึกว่าตนเองนั้น ความรู้ยังน้อย การศึกษาก็ยังน้อย เวลาพูด เขียน แสดงความคิดเห็นอะไรออกไป คนเขาก็ไม่ค่อยสนใจหรือจะเงี่ยหูฟัง ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
  • อ.sr ที่คอยช่วยกระตุ้น คอยเสนอแนะแนวความคิดที่ดีงามเสริมสร้างความรู้ที่ดีสู่สังคมออนไลน์ หรือสังคมโกทูโนว์ของเราให้เกิดปรากฏการณ์การเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนตัวผมเองก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปพร้อม ๆ กัน ทั้งที่วันๆ แทบจะไม่ได้ใช้หรือได้สัมผัสกับคำศัพท์ใหม่ ๆ เลย อาจารย์คือผู้ทำให้ผมได้คำศัพท์ยากๆ เพิ่มอีกมากเลย
  • และประเด็นที่ อ.sr. เสนอแนะเพิ่มเติม คือ เป็นไปได้ไหมที่ชาวนาหรือชาวบ้านจะหันกลับไปใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ชาวนาประหยัดแรงเป็นเครื่องทุ่นแรงที่ผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติในชุมชนที่ไม่ก่อมลพิษ เมื่อก่อนคนสร้างบ้านเขาก็ไม่ใช้ตะปูกันใช้สลักไม้ตอกเอา ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเราก็น่าจะทำได้ ขอบคุณอีกครั้งนะครับ
  • ขอบคุณผู้ที่เข้ามาอ่านและถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ก็นำไปประยุกต์สอนชาวนาหรือชาวบ้านทั่วไปได้นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท