วิกฤตแรงงานภาคเกษตรกรรม วิกฤตวิถีชาวนา


สายใยของสังคมชนบทเปื่อยยุ่ยไปหมดแล้วหรือ

 พลิ้วรวงข้าว ค้อมรวง ล้อลมว่าว

รอหนุ่มสาว รอคมเคียว เกี่ยวข้าวขวัญ

กลับมีแต่ คนแก่เฒ่า เกี่ยวข้าวกัน

หนุ่มสาวนั้น เร้นหาย เข้าโรงงาน           

หาเงินตรา มาจ้างรถ จ้างคนเกี่ยว           

ไม่แลเหลียว วิถีเก่า เคยเล่าขาน           

เคยลงแขก ลงแรง เคยไหว้วาน           

เป็นตำนาน ของวันวาน เท่านั้นหรือฯ 

ในระยะที่พี่น้องชาวนากำลังรีบเร่งเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นเล้าขึ้นหลองขึ้นฉางกันนี้ ดูแบบผิวเผินเหมือนกับว่าเป็นช่วงแห่งความสุขของพี่น้องที่จะได้รับดอกรับผลจากแรงงานที่ทุ่มเทไปกับการหว่านกล้า การเตรียมดิน ปักดำ ดูแลรักษาต้นข้าวจนถึงวันได้เก็บเกี่ยว 

ท่ามกลางความอิ่มเอมนั้นยังมีความทุกข์ของชาวนาแฝงอยู่ ทุกข์กับการเสาะหาแรงงานมาช่วยเกี่ยวข้าวนั่นเอง ก็หนุ่มสาวพากันเข้าเมืองไปอยู่โรงงาน ขายแรงงาน ขายอาหาร และทำงานภาคบริการห้องอาหาร เด็กปั๊ม งานแม่บ้านตามอาคารสำนักงาน กันหมด  

ผู้บันทึกได้ยินเสียงบ่นอย่างหนาหูจากคนรอบตัว เช่น

·       ค่าแรงจ้างคนมาเกี่ยวข้าวแพงขึ้นจากวันละร้อยเจ็ดสิบเมื่อปีก่อน มาเป็นสองร้อยในปีนี้ บางครั้งนัดหมายตกลงกันไว้แล้ว พอส่งรถไปรับ(ต้องจัดรถไปรับนะครับท่านผู้อ่าน) กลับถูกเจ้าอื่นตัดหน้าไปในอัตราค่าจ้างวันละสองร้อยห้าสิบ

·       รถเกี่ยวข้าวเบี้ยวมาสองครั้งแล้ว ไปหาคนถึงต่างอำเภอก็ไม่ได้ใครมาช่วย

·       พี่น้องจากอีกฝั่งแม่น้ำโขงปีนี้มารับจ้างกันน้อย นี่ก็เป็นทุกข์ของพี่น้องชาวลาวที่มาทำงาน แต่ก่อนข้ามเรือหางเรือเล็กมาเยี่ยมมายามพี่น้อง เสียค่าใช้จ่ายไม่ถึงร้อยบาทอยู่ได้ไม่จำกัดเวลา ได้ค่าจ้างเป็นเงินเป็นข้าวกลับไปในอัตราที่เกื้อกูลกันทางสายเลือด แต่มาทุกวันนี้ต้องข้ามขัวข้ามสะพาน ทำใบผ่านแดนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเสียค่าใช้จ่ายรวมค่ารถค่าเรือหกร้อยแปดสิบอยู่ได้เพียงเจ็ดวัน ได้ค่าจ้างวันละร้อยห้าสิบบาท(อยู่กินกับเจ้าของนา) จึงไม่คุ้มค่าที่พี่น้องจะข้ามโขงมา เพียงเส้นพรมแดนขีดแบ่งทำให้กั้นขวางความสัมพันธ์ของพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์ได้เพียงนี้หรือนี่ 

ทำไมต้องรีบต้องเร่งเกี่ยวข้าวกันนัก

เสียงบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ท่านเล่าว่า

·       สมัยก่อนเก่าเขาไม่ได้รีบเร่งเก็บเกี่ยวข้าวกันมากมายเหมือนทุกวันนี้ เขาค่อยๆเกี่ยวกันไป ปล่อยให้ข้าวแก่แห้งยืนต้นรออยู่อย่างนั้นเป็นเดือนๆก็ไม่เสียหาย

·       คนสมัยก่อนเลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อย่างชาญฉลาด มีข้าวดอข้าวหนัก มีข้าวนาดอนนาทาม

·       และที่สำคัญข้าวพันธุ์พื้นเมืองบางสายพันธุ์เขาไม่ได้รีบแก่รีบร่วงหล่นทิ้งรวงเร็วเหมือนข้าวที่ปลูกกันอยู่ทุกวันนี้ 

สายใยของสังคมชนบทเปื่อยยุ่ยไปหมดแล้วหรือ

·       ประเพณีลงแขกเอาแรงเอามื้อเลือนหายไปจากสังคมชนบทแล้วหรือไม่

·       พ่อเสร็จ ชาวไทโซ่ที่บ้านพังแดง แบ่งข้าวให้นายดำห้ากระสอบเป็นการตอบแทนค่าแรงที่มาช่วยเก็บเกี่ยวข้าวจนกระทั่งขึ้นเล้า เป็นการตอบแทนที่มากกว่าอัตราจ้างตามปกติหลายเท่า โดยให้เหตุผลว่า สงสารมันไม่มีที่นานี่เป็นตัวอย่างของการเกื้อกูลในชุมชนชนบท แต่จะยังคงเหลืออีกสักกี่ครอบครัว กี่คน ที่ยังคงรักษาครรลองปฏิบัติอย่างนี้ไว้

·       หรือยกตัวอย่าง กรณีพี่น้องไทโซ่บ้านติ้ว (จุดที่พี่น้องเฮฮาฯดงหลวงแวะชมวัดที่ไม่มีพระ) เมื่อสามสี่ปีก่อนมีการจ้างละวาน(หรือทางเหนือเรียกจ้างต๋างขอ) คนในชุมชนให้ช่วยปักดำ และเกี่ยวข้าวนวดข้าว ในอัตราพิเศษเฉพาะภายในหมู่บ้านเพียงวันละหกสิบเจ็ดสิบบาท แต่ทุกวันนี้เห็นว่าต้องเพิ่มเป็นหนึ่งร้อยถึงร้อยยี่สิบต่อวัน จึงจะมีคนมาช่วย โดยพวกเขาให้เหตุผลว่า หากไปรับจ้างนอกชุมชนจะมีรายได้มากกว่า นี่แสดงว่าสายใยในชุมชนเริ่มเปื่อยยุ่ยไปเพราะ ลัทธิสังคมเงินตราหรือไม่ 

ทำนาทุกวันนี้จึงเหมือนกับการ ซื้อข้าวตัวเองกิน

ฟื้นฟูวิถีชนบทคำคำนี้สวยงาม แต่คงหนักหนาหากจะนำไปสู่การปฏิบัติ เอาน่าเริ่มต้นคิดก็ยังดี

บันทึกนี้ไม่มีข้อเสนอแนะ คงหนักหนา เกินกว่าที่หมอทางสังคม ที่ไร้บทบาทหน้าที่ มีเพียงสำนึกห่วงใย จักแก้ไขได้ด้วยตัวเอง คงต้องส่งต่อการรักษาภาวะป่วยไข้ทางสังคมนี้ไปโรงบาลศูนย์ โรงบาลชาติ เป็นวาระแห่งชาติไปโน่นกระมังครับ

หมายเลขบันทึก: 149433เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2007 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • วาระแห่งชาติ ไม่แน่ใจมีหรือเปล่า
  • แต่วาระสิ้นชาติกำลังมาเยือน ผลุบๆโผล่ๆ
  • ชอบมาก มุมมองจ๊าบ!! ระหว่าง ลาว-ไทยกฏกติกา แม้แต่สะพาน..ก็ร้าวรานหัวใจ
  • บางคนชื่นชมสะพาน
  • บางคน เหม็นเบื่อสะพาน
  • ทั้งนี้เพราะไม่มีทางเลือกคู่ขนาน
  • อิอิ
  • สบายดีนะท่านเปลี่ยน คิดถึงๆๆๆๆนะ

สวัสดีครับคุณ...paleeyon

            ทุกวันนี้...สับสน...มีการอาศัยซึ่งช่องว่างแห่งผู้ให้/ต้องให้...ในมุมมองของผู้รับ...ที่ทำตนมาเรียกร้อง...ไม่มีที่สิ้นสุด...ต้องให้..ต้องให้..ตลอดเวลา

             ผู้ให้...ในทุกวันนี้จิตก็แอบแฝง...ไร้บริสุทธิ์แห่งความเป็นผู้ให้...เหลือแต่พี้

             เดินทางลำบากครับ...ก็ปลง...ไม่รู้ว่าจะเหลืออีกกี่ตัวเสื้อ...ช่างมัน...ไร้การรับรู้...อยู่สบาย

             ความเอื้อเฟื้อไม่ต้องกล่าวถึง...ยาก/น้อยมาก...หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

                                  ขอบคุณครับ

แวะมาอ่านครับพี่ ชอบบทกลอนตอนเริ่มต้นมากครับ สื่อได้ชัดเจนมาก

สวัสดีครับคุณpaleeyon

การลงแขกเกี่ยวข้าวสะท้อนความงดงามและมีน้ำใจของคนในสังคมได้ดีครับ เดี๋ยวนี้ใช้รถเกี่ยวข้าว เพราะแรงงานหายากครับ

เมื่อก่อนผมทำงานที่สุพรรณบุรี รู้สึกสงสารผืนนาจริงๆครับ ที่นั่นทำงานปีละ 3-4 ครั้ง ถึงกำหนดเกี่ยวข้าวเขาก็จ้างรถเกี่ยวข้าวมา คนที่รวยน่าจะเป็นเจ้าของรถเกี่ยวครับ

...กลับมีแต่ คนแก่เฒ่า เกี่ยวข้าวกัน
หนุ่มสาวนั้น เร้นหาย เข้าโรงงาน...

ประเด็นนี้ก็คงกระทบกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ใช่เฉพาะชาวนาครับ  เมื่อก่อนผมทำงานวิจัยซึ่งต้องตากแดด แต่ผมก็รักที่จะทำ คนงานในสถานีวิจัยบอกผมว่า "ถ้าลูกฉันโตจะไม่ให้เรียนเกษตรหรอก จะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนแม่ ฉันล่ะไม่เข้าใจหัวหน้าเลย!!!"

ท่านครูบาครับP

ระลึกถึงเป็นอย่างแรงคือกันครับ ความยากแค้นของพี่น้องผู้ด้อยโอกาส เป็นเรื่องปกติของสังคมไปเสียแล้วครับ

ขอให้ภารกิจในKM แห่งชาติราบรื่นครับ

สวัสดีครับท่านนายช่างใหญ่P

ช่างมัน...ไร้การรับรู้...อยู่สบาย ชอบใจจริงๆครับ ขอบคุณครับ

สวัสดี ลือ

ยินดีต้อนรับสู่เวทีเสวนาทางไซเบอร์ ช่วงนี้พี่ๆวุ่นวายกันน่าดูกับการย้ายการปิดสนง. นายเขียนบันทึกให้อ่านหน่อย ภาษานายสวย มุมมองนายเข้าท่า พี่คิดว่าคงได้มีบันทึกดีๆ มาแบ่งปันเร็วๆนี้นะ

สวัสดีครับนักปรับปรุงพันธุ์P

ขอบคุณที่แวะมาครับ วิถีชาวนาเชิงการค้าน่าเป็นห่วงครับ องค์ความรู้เรื่องข้าวก็ยังไม่แพร่หลาย มันสองวันก่อนอ่านพบข่าวชาวนาริมทางที่เปิดไฟส่องทางเดือดร้อนด้วยข้าวไม่ออกรวง เรื่องพันธุ์ข้าวที่ต้องเลือกชนิดที่ไม่ไวแสง นี่ธรรมดาๆแท้ๆก็ยังปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อนได้ มองดูแบบเซ็งๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท