รัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นพฤติกรรมศาสตร์และการเสริมจุดอ่อนจากรัฐประศาสนศาสตร์ยุค "หลังพฤติกรรมศาสตร์"


รัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นพฤติกรรมศาสตร์และการเสริมจุดอ่อนจากรัฐประศาสนศาสตร์ยุค "หลังพฤติกรรมศาสตร์"

                                                                                                                                               นัทธี จิตสว่าง


ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลงในช่วงปีค.ศ. 1950 1960 สภาวะแวดล้อมของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แนวคิดในการบริหารงานเกิดการปรับตัวขนานใหญ่ ประกอบกับการตื่นตัวทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษาของศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรัฐประศาสนศาสตร์ทำให้รัฐประศาสนศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมศาสตร์ซึ่งประกอบไปด้วยสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยา สังคมและมานุษยวิทยา ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ทำให้มีการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์มากขึ้นแทนการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่โครงสร้างขององค์การ ซึ่งนักรัฐประศาสนศาสตร์สายพฤติกรรมศาสตร์ มองว่าไม่เพียงพอเพราะโครงสร้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์การเท่านั้น แต่ปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ ดังนั้น อิทธิพลของพฤติกรรมศาสตร์จึงทำให้รัฐประศาสนศาสตร์เปลี่ยนไปในประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

1. ทำให้นักรัฐประศาสนศาสตร์ให้ความสำคัญต่อการศึกษาสถาบันการเมือง และการปกครองน้อยลง โดยหันมาสนใจศึกษาพฤติกรรมของคนในองค์การและผู้รับบริการมากขึ้น

 

2. ทำให้นักรัฐประศาสนศาสตร์เริ่มนำหลักการศึกษาแบบเป็นวิทยาศาสตร์มาใช้ มีการให้ความสำคัญต่อกระบวนการศึกษาอย่างเป็นระบบ  อีกนัยหนึ่งพฤติกรรมศาสตร์ทำให้นักรัฐประศาสนศาสตร์สนใจกับการสร้างทฤษฎี เพื่อสร้างองค์ความรู้และพัฒนาความเป็นศาสตร์ของรัฐประศาสนศาสตร์ แต่ก็เป็นเหตุให้รัฐประศาสนศาสตร์ละเลยการนำความรู้ไปปฏิบัติ ทำให้วิชาที่ศึกษาไม่สอดคล้องและตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของสังคมได้

 

3.พฤติกรรมศาสตร์ทำให้รัฐประศาสนศาสตร์กลายเป็นสหวิทยาการที่ให้ความสนใจศึกษาวิชาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์โดยนำเอาวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยาสังคม และเศรษฐศาสตร์ มาศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในการบริหาร

 

4.นอกจากพฤติกรรมศาสตร์จะทำให้รัฐประศาสนศาสตร์หันมาสนใจพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การและพัฒนาองค์การแล้ว พฤติกรรมศาสตร์ยังทำให้รัฐประศาสนศาสตร์สนใจเกี่ยวกับเรื่องของรัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบและการบริหารการพัฒนาอีกด้วย


ในช่วงปีค.ศ. 1950 1960 ความสนใจของนักรัฐประศาสนศาสตร์จึงหันมาสู่การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในองค์การ โดยมีกลุ่มทฤษฎีที่ได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมศาสตร์อยู่หลากหลาย ในกลุ่มทฤษฎีที่ได้รับอิทธิพลของพฤติกรรมศาสตร์ที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง ได้แก่ Theory x และ Theory Y  ของ ดักลาส แมกเกรเกอร์ (Mc Gregor, 1951) ที่เป็นการมองถึงวิธีการที่ผู้บริหารปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้ อับราฮัม มาสโลว์ (Maslow, 1970) เป็นอีกผู้หนึ่งในสายพฤติกรรมศาสตร์ที่เสนอทฤษฎีลำดับชั้นของความต้องการโดยชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มีความต้องการเป็นลำดับขั้นตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด โดยเมื่อได้รับการตอบสนองความต้องการในขั้นใดแล้วก็จะแสวงหาความต้องการในขั้นต่อๆ ไป ในขณะที่มาสโลว์ศึกษาถึงการตอบสนองต่อความต้องการของบุคคล คริส อาร์จิริส(Argyris,1964) สนใจศึกษาความสำเร็จของคน และ เรนซิส ไลเคิร์ท (Likert,1967) ได้ชี้ให้เห็นถึงระบบ 4 ระบบในการจัดการแตกต่างกันจากระบบที่เน้นการรวมอำนาจไปสู่ระบบที่เน้นประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า แนวความคิดของทฤษฎีเหล่านี้เป็นรากฐานของการพัฒนาองค์การที่เน้นการเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม ของคนในองค์การเพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพในบรรยากาศของประชาธิปไตย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทฤษฎีองค์การซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคของพฤติกรรมศาสตร์นี้ได้เน้นการมององค์การโดยมีหน่วยวิเคราะห์อยู่ที่มนุษย์เน้นการบูรณาการคนเข้ากับองค์การ ไม่ได้สนใจเรื่องของการเมืองหรือนโยบาย ตลอดจนการนำนโยบายไปปฏิบัติ จึงทำให้เป็นการจำกัดการศึกษาอยู่เฉพาะเรื่องขององค์การ ดังนั้น เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงรัฐประศาสนศาสตร์ในแนวนี้จึงไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และนำไปใช้ในการแก้ปัญหาในสังคมได้


ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960  รัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นพฤติกรรมเริ่มลดความสำคัญลงและถูกโจมตีจากนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่ารัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ (New Public Administration) ซึ่งเป็นผลมาจากสังคมอเมริกันที่ต้องเผชิญกับความสับสนวุ่นวายและปัญหาสังคมมากมาย ภาพชาวอเมริกันออกมาเดินตามท้องถนนมีให้เห็นแทบทุกวัน ความวุ่นวายในการต่อต้านการเหยียดผิว การต่อต้านสงครามเวียดนาม ปัญหาอาชญากรรม และการทุจริตของนักการเมือง ทำให้นักวิชาการกลุ่มรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่เห็นว่าทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ในขณะนั้นซึ่งก็คือทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นพฤติกรรมศาสตร์ ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาสังคมที่วุ่นวายในขณะนั้นได้ แต่รัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นพฤติกรรมศาสตร์กลับเน้นการสร้างทฤษฎีและความเป็นเลิศทางวิชาการ งานวิจัยส่วนใหญ่เน้นความหรูหราของเทคนิคการวิจัย เช่น การใช้คณิตศาสตร์ สถิติหรือคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งสร้างทฤษฎีและเพิ่มพูนความรู้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาสังคมได้  เพราะการมุ่งไปสู่วิธีการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์จึงต้องปลอดค่านิยมและยืนยันการทดสอบได้ ซึ่งรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางพฤติกรรมศาสตร์ในการสร้างทฤษฎีที่เน้นความเป็นกลาง ไม่เห็นด้วยกับการปลอดค่านิยม เพราะการปลอดค่านิยมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารให้ดีขึ้นได้แต่ควรเน้นความเสมอภาค อย่างไรก็ตามรัฐประศาสนศาสตร์แนวใหม่ไม่ได้ต่อต้านการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์หรือการสร้างทฤษฎีทั้งหมด เพราะสนใจเฉพาะทฤษฎีและการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารหรือการปรับปรุงระบบบริหารให้ดีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมได้ รัฐประศาสนศาสตร์ต้องทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นสอดคล้องกับการแก้ปัญหาสังคม สนใจปัญหาในทางปฏิบัติต่อสังคมไม่ใช่สนใจแต่การเพิ่มพูนความรู้หรือการสร้างทฤษฏีแต่ประการเดียวโดยไม่ได้เกิดประโยชน์


รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ประกาศตัวเองว่าเป็นพวกหลังพฤติกรรม (Postbehaviorism) และหลังปฏิฐานนิยม (Postpositivism) คือสนใจในปทัสสถานมากขึ้นกว่าการทดสอบเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ ในปีค.ศ. 1968 กลุ่มนักวิชาการรัฐประศาสนศาสตร์ที่ไม่พอใจในรัฐประศาสนศาสตร์ในแนวพฤติกรรมศาสตร์ได้มาประชุมกันที่เมืองMinnowbrook สรุปความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ โดยมีสาระสำคัญ 4 ประการ คือ (อุทัย  เลาหวิเชียร, 2550: 33-34)

 

  1. รัฐประศาสนศาสตร์ควรสนใจเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม (Relevance) หรือปัญหาสังคมในขณะนั้นนักวิชาการกลุ่มนี้เห็นว่าวิชาความรู้ควรนำมาใช้ในการปฏิบัติงานให้ได้ นำไปแก้ปัญหาสังคมได้มิใช่ศึกษาความรู้เพื่อความหรูหรา หรือเพื่อความสมบูรณ์ของการเป็นทฤษฎีบริสุทธิ์ ตรงกันข้ามความรู้จะต้องนำไปใช้ในการบริหารงานได้

 

  2. รัฐประศาสนศาสตร์ในแนวความคิดนี้ให้ความสำคัญกับค่านิยม (Value) โดยไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนิยม หรือปฏิฐานนิยมทางตรรกวิทยา (Logical Positivism) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ไม่ให้ความสนใจกับค่านิยมเพราะรัฐประศาสนศาสตร์จะหลีกเลี่ยงเรื่องของส่วนรวมและการเมืองไม่ได้ นักบริหารควรจะยืนข้างผู้เสียเปรียบทางสังคมซึ่งก็คือการใช้ค่านิยมอย่างหนึ่ง ดังนั้น นักบริหารจะวางตัวเป็นกลาง (Neutral) ได้ยาก เพราะถ้าวางตัวเป็นกลางคนที่ได้เปรียบจากสังคมก็จะได้เปรียบยิ่งขึ้น คนที่เสียเปรียบก็จะเสียเปรียบตลอดไป สังคมก็จะเกิดช่องว่างไม่น่าอยู่

 

  3. รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่สนใจเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคม (Social equity) โดยนักบริหารจะต้องเข้าไปช่วยคนจนหรือผู้ที่มีโอกาสน้อยหรือผู้เสียเปรียบทางสังคมอื่นๆ เช่น สตรี คนพิการ ชนส่วนน้อยในสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการกระจายบริการให้กับคนในสังคมให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

 

  4. รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลง (Change) นักบริหารจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ความเสมอภาคทางสังคมประสบผลสำเร็จนอกจากนี้ ยังเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักบริหารหรือหัวหน้าจึงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ซึ่งจะทำให้ระบบราชการสามารถบริหารงานให้สอดคล้องและเอื้ออำนวยต่อความต้องการของสังคม


รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ ซึ่งเรียกตัวเองว่ายุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (postbehaviorism) ได้พยายามชี้ให้เห็นจุดอ่อนของพฤติกรรมศาสตร์ที่เน้นการศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์และมุ่งสร้างทฤษฎีเน้นความเป็นกลางโดยเสนอทฤษฎีที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการนำความรู้มาใช้ให้สอดคล้องกับสังคม เน้นความสำคัญของค่านิยม โดยใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ทางทฤษฎีแนวความคิด และแนวทางการปฏิบัติเพื่อแสวงหาความยุติธรรมในสังคม ซึ่งถือเป็นพื้นฐานคุณธรรมที่แท้จริง นอกจากนี้ยังรวมถึงการรับรู้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน การมีส่วนร่วมของคนงานและประชาชนในกระบวนการตัดสินใจ การเพิ่มพูนทางเลือกของประชาชน และความรับผิดชอบในการบริหารเพื่อให้โครงการบรรลุผลและมีประสิทธิผล ทั้งนี้ การศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ควรยึดหลักปรัชญาแบบใหม่ที่เรียกว่า ปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) ที่ถือข้อเท็จจริงและค่านิยมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ มากกว่าที่จะยึดตามหลักปรัชญาแบบปฎิฐานนิยม (positivism) ที่ถือว่าข้อเท็จจริงและค่านิยมเป็นคนละเรื่องกันแยกออกจากกันได้ ดังนั้น รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับโลกแห่งความเป็นจริง คือสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติได้ โดยอยู่ภายใต้หลักความยุติธรรมของสังคม โดยมุ่งเน้นให้พลเมืองทุกคนได้รับการบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน และในการปฏิบัติงาน รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจในเรื่องการกระจายโอกาส กระจายรายได้ และกระจายการพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดความเสมอภาคทางสังคม โดยคำนึงถึงผู้ด้อยโอกาสหรือผู้เสียเปรียบเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ ผู้บริหารงานของรัฐต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานและการสร้างความยุติธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้


จากข้างต้นที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ แม้จะมีการโจมตีรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคพฤติกรรมศาสตร์ในเรื่องของวิธีการศึกษาที่เน้นความเป็นวิทยาศาสตร์และการสร้างทฤษฎีมากเกินไปแต่อีกด้านหนึ่งรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่เท่ากับมาช่วยเสริมให้รัฐประศาสนศาสตร์ในแนวพฤติกรรมศาสตร์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ก็ยังสนใจในเรื่องของพฤติกรรมของมนุษย์แต่ต้องการให้ความสำคัญของค่านิยมและการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ ให้ความรู้สามารถแก้ไขปัญหาสังคมและสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมมากขึ้นเท่ากับเป็นการเสริมจุดอ่อนของรัฐประศาสนศาสตร์แนวพฤติกรรมศาสตร์นั้นเอง


อย่างไรก็ตาม รัฐประศาสนศาสตร์ในแนวพฤติกรรมศาสตร์ถูกโจมตีอีกครั้งจากนักวิชาการบางส่วนจากในกลุ่มเดิมในอีก 10 ปีต่อมา ซึ่งได้มาประชุมร่วมกันที่เมือง Blacksburg รัฐ Virginia ในปีค.ศ. 1982 ทำให้เกิดคำประกาศแห่งเมืองแบล็กส์เบอร์ก (Blacksburg Manifesto) และมีการออกหนังสือ Refounding Public Administration โดยแกรี่ แอล แวมส์ลีย์ (Wamsley,1990) ได้ข้อสรุปว่า รัฐประศาสนศาสตร์ยังคงวนเวียนอยูกับเรื่องเก่าๆ และเห็นด้วยกับรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ที่ไม่ยอมรับแนวคิดแบบพฤติกรรมนิยม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมศาสตร์และปฏิฐานนิยมในการศึกษาทางสังคมศาสตร์ เพราะรัฐประศาสนศาสตร์ตามแนวพฤติกรรมศาสตร์เหมาะสำหรับการบริหารจัดการภายในองค์การแต่ไม่เหมาะสำหรับการบริหารรัฐกิจในการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการบริหารรัฐกิจเป็นเรื่องของการปกครองมากกว่าการจัดการหรือการบริหารองค์การในภาครัฐ ในหนังสือของ Wamsley ได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริหารภาครัฐและข้าราชการของสหรัฐฯในขณะนั้นที่จะต้องกู้ภาพพจน์ที่ตกต่ำจากฝ่ายการเมือง ที่โจมตีในความไร้ประสิทธิภาพตลอดจนความเสื่อมถอยของข้าราชการในสายตาของสังคมภายใต้สภาพสังคมที่สับสนวุ่นวาย ทั้งนี้เพราะการบริหารในภาครัฐนั้นมีลักษณะแตกต่างไปจากการบริหารทั่วไป กล่าวคือ

 

  1. การบริหารรัฐกิจเป็นทั้งการปกครองและการเมือง คือเป็นการใช้เทคนิคการบริหารที่เป็นสากลภายใต้บริบททางการเมือง

 

  2. การบริหารรัฐกิจซึ่งครอบคลุมทั้งการวิเคราะห์นโยบาย  การประเมินผล การตัดสินใจขององค์การภาครัฐ ต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะและมีความเคารพในความเป็นพลเมือง ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ถูกที่ควร และสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะลักษณะดังกล่าวของการบริหารรัฐกิจทำให้เห็นได้ว่าการบริหารรัฐกิจมีความสัมพันธ์กับทุนนิยม ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องมีจิตสำนึกที่จะควบคุมหรือเหนี่ยวรั้ง ไม่ให้ทุนนิยมเอาเปรียบสังคมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ


ดังนั้น การบริหารรัฐกิจจึงเป็นการปกครองมากกว่าการจัดการหรือการบริหารในภาครัฐ และจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ อุทิศตน มีศักดิ์ศรี และความชอบธรรม ที่จะบริหารงานด้วยอำนาจรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน อีกนัยหนึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้ได้หันมาให้ความสำคัญและเน้นย้ำในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น โดยนักรัฐประศาสนศาสตร์จะต้องมีทั้งความรู้ทางด้านเทคนิคการบริหารและมีจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพไปพร้อมๆ กันด้วย

 

นอกจากนี้ นักวิชาการกลุ่มนี้ยังเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนความพยายามที่จะทำให้รัฐประศาสนศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์มีการศึกษาและสร้างทฤษฏีมุ่งสู่ความเป็นศาสตร์ตามแนวทางของพฤติกรรมศาสตร์มาสู่การให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ของการบริหารงานในภาครัฐหรือประโยชน์สาธารณะ (Public Interests) กล่าวคือจะต้องเน้นการนำการบริหารมาใช้ในทางปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จมากกว่าการสร้างทฤษฎีหรือแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการ

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐประศาสนศาสตร์ในแนวพฤติกรรมศาสตร์ถูกโจมตีอีกครั้งจากกลุ่ม Blacksburg แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมจุดอ่อนของรัฐประศาสนศาสตร์แนวพฤติกรรมศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างทฤษฎีและวิชาการมากเกินไปมาสนใจการนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ ขณะเดียวกันองค์ความรู้ในรัฐประศาสนศาสตร์ก็ไม่ควรจำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องภายในองค์การ แต่ควรก้าวข้ามไปถึงการปกครองและการบริหารบ้านเมืองที่ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกันยังมีการเน้นย้ำถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ของนักบริหารรัฐกิจ นับเป็นการเสริมจุดอ่อนอีกส่วนหนึ่งของรัฐประศาสนศาสตร์ในแนวพฤติกรรมศาสตร์

**********************************************

หมายเหตุ ภาพประกอบบทความมาจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต

บรรณานุกรม


อุทัย  เลาหวิเชียร, (2550) รัฐประศาสนศาสตร์: ลักษณะวิชาและมิติต่างๆ, กทม.: สำนักพิมพ์เสมาธรรม.

Argyris, C. (1964) Integrating the Individual and the Organization, New York: Wiley.

Likert, R. (1967) The Human Organization: Its Management and Value, New York. McGraw – Hill.

Maslow, A. (1970) Motivation and Personality, New York: Harper and Row.

McGregor, D. (1951) The Human Side of Enterprise, New York: McGraw – Hill.

Wamsley, G. L. et al. (1990) Refounding Public Administration, Thousand Oaks, CA: Sage Publications.




หมายเลขบันทึก: 539433เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้เยอะมากครับ ขอบคุณนะครับ..

ยังติดตามผลงาน อาจารย์นัทธี เสมอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท