ตอนที่ 6 ยุทธศาสตร์คือกระบวนการ


นักศึกษาควรจำ**กระบวนการของยุทธศาสตร์ ที่ประกอบด้วยปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และการตรวจสอบ เพราะ   การเขียนยุทธศาสตร์จะต้องเขียนตามองค์ประกอบทั้ง  4 ตัวนี้


ตอนที่ 6

ยุทธศาสตร์คือกระบวนการ

  ถ้ามีคำถามง่ายๆถามว่า “ มะนาวคืออะไร “  หลายคนคงหัวเราะและนึกขำว่าถามทำไม บางคนก็ตอบโดยไม่ต้องคิดอะไรเลย ว่า “มะนาวคือพืชชนิดหนึ่ง”

แต่คนที่คิดมากเพราะมีความรู้มากจะงงกับคำถามนี้ เพราะมีคำตอบมากมายจึงไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร

เช่นเดียวกับการถามว่า “ ยุทธศาสตร์คืออะไร “ บางคนอาจจะหัวเราะ บางคนก็ตอบออกมาเลย แต่คนที่มีความรู้มากจะไม่ตอบคำถามนี้  ผู้เขียนจึงต้องตอบเองว่า ยุทธศาสตร์คือ กระบวนการ และต้องแปลความหมายของกระบวนการต่อไปอีกว่า “คือการนำปัจจัยเข้ามาดำเนินการด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้องการ “

  กระบวนการทางยุทธศาสตร์จึงประกอบด้วยตัวแปร 3 ตัวคือ

1.ปัจจัยนำเข้า 

2. วิธีการ

3.ผลผลิต

  เพื่อให้เข้าใจง่าย เมื่อกล่าวถึงปัจจัยนำเข้า ขอยกตัวอย่างการปรุงอาหารให้อร่อย  ได้แก่การใช้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ ใช้ผักสด เครื่องปรุงที่ถูกสัดส่วน อุณหภูมิในการหุงต้มที่เหมาะสม ฯลฯ คือปัจจัยนำเข้าในการปรุงอาหารให้อร่อย มาดูปัจจัยนำเข้าของอาหารชนิดหนึ่งคือแกงส้ม ดังนี้


         ปัจจัยนำเข้าของแกงส้มที่กล่าวข้างต้นต้องมีคุณภาพดีและเหมาะสม แกงส้มจึงจะอร่อยตามความต้องการ

  ปัจจัยนำเข้ามีอิทธิพลต่อความอร่อยของแกงส้มและสามารถปรับเปลี่ยนความอร่อยหรือรสชาดของแกงส้มได้ตามชนิดของปัจจัยนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไป

   ปัจจัยนำเข้าที่เป็นเนื้อสัตว์ แม่ครัวภาคกลางนิยมใช้ปลาช่อน แม่ครัวขายฝั่งทะเลใช้ปลากระบอก แกงส้มชาววังน้ำใสแต่ใส่กุ้งตัวใหญ่ผ่ากลางลำตัว แกงส้มปัจจุบันใช้ปลาทูแทนปลาช่อนเพราะมีราคาถูกกว่า

ปัจจัยนำเข้าที่เป็นผัก ร้านอาหารราคาแพงใช้ชะอมชุบไข่ทอด ถั่วฝักยาว ผักกะเฉดและผักกาดขาว  แกงส้มชาวบ้านใช้ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง มะละกอ ผักกาดหัว ผักกาดขาว ฯ แกงส้มชาวไต้ใช้หน่อไม้ดอง ฯ

ปัจจัยนำเข้าพริกแกง  แม่ครัวส่วนใหญ่ใช้กระชาย แม่ครัวชาวไต้ใช้ขมิ้น

ปัจจัยเครื่องปรุง ใช้มะขามรสเปรี้ยวนำ บางท้องถิ่นมีรสหวานอมเปรี้ยว บางท้องถิ่นไม่ใช้น้ำตาลให้ออกรสเปรี้ยวเค็มบางท้องถิ่นใช้พืชที่มีรสเปรี้ยวแทนมะขามเปียก

ปัจจัยนำเข้าอาจใช้เป็นยุทธศาสตร์ได้ เรียกว่ายุทธศาสตร์ด้านปัจจัย แต่ยังไม่เป็นยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ จึงขอเรียกว่า  “กลยุทธ์ด้านปัจจัย “ ( เป็นยุทธศาสตร์ย่อยของยุทธศาสตร์ใหญ่ บางท่านให้กลยุทธ์เทียบเท่ากับยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล......)ยุทธศาสตร์จะมีความสมบูรณ์ได้ต้องมีวิธีการ(Process ) เป็นตัวแปรสำคัญ

วิธีการของการปรุงอาหารให้อร่อยได้แก่

การจัดการเกี่ยวกับปัจจัยเนื้อ ได้แก่ การปรุงเนื้อปลา  โดยการต้มปลาให้สุกแล้วแกะเอาเนื้อโขกกับพริกแกง  บางคนใส่ปลาทั้งตัวหรือหั่นปลาชิ้นใหญ่ บางคนใส่กุ้งฝอย บางคนใส่กุ้งตัวใหญ่ ฯ

การจัดการเกี่ยวกับปัจจัยผัก ได้แก่การหั่นผักให้ถูกกับชนิดของผัก ชะอมชุบไข่ทอดต้องทำให้เป็นชิ้นหนา ถั่วฝักยาวหั่นขวาง ผักกาดขาวหั่นขวาง  ผักกะเฉดเด็ดยอด ผักบุ้งหั่นขวาง มะละกอหั่นเป็นแผ่น ฯ

การจัดการเกี่ยวกับการปรุงรส ใช้มะขามเปียกแช่น้ำให้ละลายคั้นเอาแต่น้ำ น้ำตาลปีบ น้ำปลาดี ฯ

การจัดการเกี่ยวกับการต้ม ต้มน้ำสะอาดให้เดือด ใส่น้ำพริกเคี่ยวให้เดือดปรุงรสให้เปรี้ยวนำ กลมกล่อม เคี่ยวให้เดือดแล้วใส่ปลาหรือกุ้ง ทิ้งไว้ให้เดือดแล้วใส่ผักแต่ละชนิดลงต้มให้สุกยกลง

เมื่อปัจจัยการนำเข้ามีคุณภาพ วิธีการถูกต้อง ผลผลิตที่ได้คาดว่าจะมีคุณภาพตามต้องการ แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจจะต้องมีการตรวจสอบโดยการชิมหรือให้ผู้อื่นชิมว่าแกงส้มมีรสและคุณสมบัติของปัจจัยตามที่ต้องการหรือยัง ถ้าตรวจสอบแล้วได้ผลตามที่ต้องการก็จบยุทธศาสตร์ แต่ถ้าผลการชิมไม่เป็นไปตามต้องการต้องตรวจดูว่าบกพร่องตรงจุดใดจึงปรับปรุงแก้ไขและตรวจสอบจนกว่าจะแน่ใจว่าผลผลิตมีคุณสมบัติตามต้องการ

โดยสรุป ยุทธศาสตร์เป็นกระบวนการดังนี้


ภาพที่ 1 แสดงยุทธศาสตร์และการตรวจสอบยุทธศาสตร์

นักศึกษาควรจำ**กระบวนการของยุทธศาสตร์ เพราะการเขียนยุทธศาสตร์จะต้องเขียนตามกระบวนการนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ จึงสร้างเป็นตารางยุทธศาสตร์เพื่อให้เข้าใจถูกต้องและไม่ซับซ้อนดังนี้


ภาพที่ 2 แสดงตารางการเขียนยุทธศาสตร์และการตรวจสอบ

จากตารางผลผลิตหนึ่งผลผลิต(  Q1  ) อาจต้องใช้กระบวนการหลายๆ กระบวนการ( P1 ….P2…P3 )

กระบวนการหนึ่งกระบวนการ ( P1  ) อาจต้องใช้ปัจจัยนำเข้าหลายๆ ปัจจัย (I1...I2...I3… I4  )

แต่การตรวจสอบผลผลิตหนึ่งผลผลิต ( Q1 ) อาจต้องใช้หลายๆ วิธี ( F1… F2…F3 )

  เมื่อเขียนยุทธศาสตร์จริงๆ ปัจจัยนำเข้าจะมีจำนวนมาก รองลงมาจะเป็นกระบวนการและการตรวจสอบ ส่วนผลผลิตนั้นจะน้อยที่สุด


หมายเลขบันทึก: 539431เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท