พระพิมพ์ : ศรัทธาและความเชื่อของชาวพุทธ


จากดินสู่ความเชื่ออันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชน

เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพื่อนๆ คงนึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน  วัดวาอาราม และพระพุทธรูปนะคะ  แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป  สิ่งนี้คือ  พระพิมพ์ ค่ะ  พระพิมพ์สร้างขึ้นจากดินที่ไม่มีราคาค่างวด แต่ในทางความเชื่อของชาวพุทธอย่างเราๆ มีคุณค่ามหาศาลเชียวค่ะ  ดังนั้นเรามาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระพิมพ์กันดีกว่านะคะว่าพระพิมพ์ที่เราเคารพบูชามีที่มาอย่างไร  และสำคัญอย่างไรกับชาวพุทธ


                                                                 พระพิมพ์

          พระพิมพ์  เป็นของที่ทำขึ้นในพระพุทธศาสนาภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วไม่นานนัก  โดยการทำพระพิมพ์ได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย และเมื่อพระพุทธศาสนาได้มีการแตกออกไปหลายคติและหลายนิกาย  คติและรูปแบบของพระพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

 


            กำเนิดพระพิมพ์ 
 
          พระพิมพ์มีมูลเหตุเกิดจากสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า  4  ตำบลในประเทศอินเดีย  ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำพุทธบริษัทไปปลงสังเวชเมื่อต้องการระลึกถึงพระองค์  คือ 
1. สถานที่ประสูติ  ป่าลุมพินีในแขวงเมืองกบิลพัสดุ์  (ปัจุบันอยู่ในประเทศเนปาล)
2. สถานที่ตรัสรู้  ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ใกล้แม่นำเนรัญชรา  ตำบลพุทธคยา  รัฐพิหาร
3. สถานที่แสดงปฐมเทศนา  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี (ปัจจุบันคือตำบลสารนาถ)
4.  สถานที่ปรินิพพาน  เมืองกุสินารา  (ปัจจุบันอยู่ในแขวงกาเสีย)

          สังเวชนียสถานทั้ง  4  แห่งนี้  ถือกันว่าเป็นบริโภคเจดีย์  4  แห่งแรกที่ประชาชนไปปลงธรรมสังเวชกันเป็นจำนวนมาก  ทำให้มีการสร้างพระพิมพ์ของสังเวชนียสถานแห่งนั้นๆ เพื่อเป็นที่ระลึกและสักการบูชา  ต่อมาได้มีความนิยมไปไหว้สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหารอีก  4  แห่งเพิ่มขึ้น คือ 
1. สถานที่เสด็จลงจากดาวดึงส์  เมืองสังกัส
2. สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์  เมืองสาวัตถี
3. สถานที่ทรงทรมานช้างนาฬาคีรี  มืองราชคฤห์  
4. สถานที่ทรงทรมานพระยาวานร  เมืองเวสาลี 
          จึงได้มีการทำพระพิมพ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบริโภคเจดีย์  4  แห่งหลังอันเป็นสถานที่เนื่องด้วยปาฏิหาริย์เพิ่มขึ้นอีก

 (พระพิมพ์ปางยมกปาฏิหาริย์ ศิลปะทวารวดี จ.นครปฐม)

          การทำพระพิมพ์

          เริ่มจากการปั้นแบบ  แล้วใช้ดินกดให้เป็นแม่พิมพ์  และนำไปเผา  หรืออาจแกะลงบนหินจำพวกหินสบู่ให้เป็นแม่พิมพ์รูปพระตามต้องการ  เมื่อได้แม่พิมพ์แล้วจะใช้ดินเหนียวกดลงในแม่พิมพ์แล้วแกะออก  นำพระพิมพ์ที่ได้ไปผึ่งให้แห้ง  เป็นพระพิมพ์ดินดิบ หรือนำไปเผาไฟเป็นพระพิมพ์ดินเผาตามต้องการ  พระพิมพ์ที่ได้จะมีลักษณะเป็นรูปนูนครึ่งซีก    และบริเวณด้านบน  ด้านข้าง  หรือด้านหลังของพระพิมพ์ จะนิยมจารึกคาถา  เย ธมมาฯ  ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอีกด้วย
(พระพิมพ์ดินเผา ศิลปะศรีวิชัย จ.ชุมพร)

                                                  คติการนับถือพระพิมพ์

        พระพิมพ์  ได้รับการนับถือแบบอนุสาวรีย์  การสร้างรูปพระพุทธเจ้าหรือรูปเคารพอื่นๆ ในทางศาสนาถือกันว่าเป็นมูลเหตุแห่งกุศล  แต่คนที่มีฐานะยากจนไม่สามารถหล่อรูปเคารพด้วยโลหะ  แกะด้วยไม้  หรือสลักด้วยหินได้ จึงพากันสร้างรูปด้วยก้อนดิน  ซึ่งถือเป็นหนทางที่จะได้บุญกุศลอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องอาศัยสติปัญญาชั้นสูงหรือทรัพย์สมบัติ  ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการสร้างรูปพระพุทธเจ้าด้วยดินขึ้นเป็นจำนวนมาก  บางครั้งคนหนึ่งสร้างมากถึง  84,000  องค์  (เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์)
          การสร้างพระพิมพ์เป็นจำนวนมากโดยนิยมบรรจุไว้ตามถ้ำหรือสถูปต่างๆ ถือเป็นเครื่องช่วยประกาศพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป  และยังได้รับความนิยมในฐานะเครื่องรางของขลังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

                                                     เอกสารอ้างอิง

          -ยอช  เซเดซ์,ศาสตราจารย์. ตำนานพระพิมพ์.จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพนายจันทร์  จันทร์สฤษดิ์ (เค.เค.จันทร์)  ณ  เมรุวัดธาตุทอง  วันที่  12  ธันวาคม  2508.
           -สุรสวัสดิ์  สุขสวัสดิ์,ม.ล..การศึกษาพระพิมพ์ภาคใต้ของประเทศไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศิลปากร,2528. 

หมายเลขบันทึก: 5380เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2005 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
แก้ไขแล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ
อยากให้ช่วยอธิบายคำว่า "บริโภคเจดีย์"  ด้วยค่ะ

บริโภคเจดีย์  สิ่ง หรือสถานที่  ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น 

จาก  ขุทฺทก.อ.๒๔๗; ชา.อ.๖/๑๘๕; วินย.ฎีกา ๑/๒๖๓.

อยากให้อธิบายถึงหน้าที่ (function) และการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของพระพิมพ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขอขอบคุณพี่ชายมากๆ นะคะที่ติดตามความเคลื่อนไหวของพิพิธภัณฑ์ฯ ชุมพรมาตลอด  เรื่องการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของพระพิมพ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พี่ชายถามมานั้น   เราจะหาข้อมูลมาให้แต่ของเวลานิดหน่อยค่ะ  เพราะช่วงนี้งานค่อนข้างเยอะ  แต่จะพยายามตอบให้เร็วที่สุดค่ะ
ผมอยากทราบชื่อของพระพิมพ์ดินเผาในรูปการทำพระพิมพ์ มีอยู่ ๑ องค์ ยังสมบูรณ์อยู่เป็นองค์สีขาว จากที่ทราบประวัติเป็นของวัดโพธิ์ท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช ตามหาประวัติอยู่นานแล้วครับว่าเป็นพระอะไร

รูปแรกที่ถูกต้องคือพระพิมพ์ของพม่าศิลปพุกาม

พระพิมพ์ดินเผาที่ผมมีอยู่เป็นปางยมกปาฏิหารย์เป็นวงกลมสีขาว ต่างสีกับตัวอย่างในรูป ถือเป็นศิลปสมัยใดครับ

ถึงคุณ ภัทรพล  คำสุวรรณ์

คุณ ภัทรพล  ลองส่งภาพพระพิมพ์ที่คุณมีมาให้เราดูหน่อยนะคะ  เราจะได้นำไปถามผู้เชี่ยวชาญ  และหาคำตอบมาให้ค่ะ

สวัสดีครับคุณสุขกมล

           พระพิมพ์ที่ผมมีอยู่มีลักษณะเหมือนในรูปนี้ทุกประการ แต่เป็นสีขาวครับ มีเกสรดอกไม้ปนอยู่ในดินด้วย

 

           

 

 

 

องค์พระอยู่ที่บ้านที่ปัตตานีครับ ส่วนผมขณะนี้ทำงานอยู่กรุงเทพครับ มีแต่องค์ที่วัดสวนปาน นครศรีธรรมราช   จัดทำขึ้นโดยเอาองค์พระที่หัก ๆ จากวัดท่าเรือซึ่งเป็นวัดร้างใกล้ ๆ วิทยาลัยนาฎศิลป์นครศรีธรรมราชมาป่นรวมกัน แล้งกดพิมพ์ใหม่ที่ทำบล็อคมาจากองค์จริงแต่ย่อขนาดให้เล็กลงเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซ็นติเมตรครับ มีสีขาวเหมือนกันมีพระนำมามอบให้เมื่อสักประมาณ ๓๐ ปีมาแล้ว วันหลังจะหากล้องมาถ่ายส่งมาให้ดูครับ  

                                      สวัสดีครับ 

                                                                                      

ประมวล จันทร์ชีวะ

ถึงคุณสุขกมล

ผมขอขอบคุณความเห็นของท่านที่แย้งความเห็นผมเกี่ยวกับเรื่องพระพิมพ์พุทธคยา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นศิลปะพุกามแต่ท่านเห็นว่าเป็นศิลปะทวาราวดีและอ้างว่าพบที่จังหวัดนครปฐม

ผมไม่ได้แวะเข้ามาดูเว็บนี้นานแล้วจึงไม่ทราบความเห็นแย้งของท่าน

ด้วยความเคารพในความคิดเห็นของท่าน ผมยังไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของท่าน เนื่องจาก ศิลปะของพระพิมพ์ชิ้นนี้เองน่าจะไม่ใช่ศิลปะทวาราวดีที่เคยพบในประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังนี้

1. พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยาที่พบในประเทศไทยสมัยทวาราวดี (เช่นที่พบที่อำเภอท่ามะกา / วัด เทวะสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ที่นครปฐม จังหวัดลำพูน รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด) มีทั้งแบบนั่งห้อยพระบาท (แบบยุโรป) และประทับนั่งบนดอกบัวใต้ซุ้มพุทธคยา ซึ่งล้วนประดับลวดลายด้วยสถูปประกอบทั้งสิ้น ซึ่งสถูปนี้สื่อความหมายถึงพระศรีอาริยเมตไตรย

2. ผมยังไม่เคยพบว่ามีพิมพ์พุทธคยาแบบใดที่พบในประเทศไทยโดยมีอัครสาวกเป็นองค์ประกอบพระพิมพ์ จะมีพระพิมพ์พุทธคยาที่ใกล้เคียงกับพิมพ์นี้โดยมีอัครสาวกขนาบอยู่ด้านซ้ายและขวา คือ พระพิมพ์ที่พบทางเหนือที่วงการนิยมเรียกว่า “พระสามหอม” เช่น กรุดอยคำ มี 2 พิมพ์ แต่ก็ไม่เหมือนกับพิมพ์นี้เพราะพระสามหอมแม้จะเป็นพิมพ์พุทธคยามีอัครสาวกซ้ายขวา แต่ด้านล่างขององค์พระเป็นลายก้านขดแทนที่จะเป็นคาถาเย ธรรมา หรือมิเช่นนั้นด้านล่างจะตัดตรงไม่มีลายก้านขด ที่สำคัญก็คือมีสถูปเป็นลายประกอบพิมพ์พุทธคยาด้วย ส่วนที่ใกล้เคียงกันและพบที่นครปฐม เช่น พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยาที่อธิการชุ่ม วัดพระประโทนมอบให้กรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2474 และปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในกรุงเทพฯ นั้น มีคาถาเย ธรรมา แต่มีสถูปเป็นองค์ประกอบและไม่มีอัครสาวกซ้ายขวา (พิมพ์ของอธิการชุ่ม จะมีกอพฤกษาอยู่ซ้ายขวาแทนที่จะเป็นอัครสาวกดังรูปนี้และพิมพ์ของอธิการชุ่มที่ผมเคยเห็นมีทั้งหลังโค้งแบบไข่ผ่าซีกและแบบตัดข้าง)

3. มีนักวิชาการหลายท่านที่ศึกษาในพระพิมพ์ดินเผาในประเทศไทยและได้ผลงานไว้เป็นหนังสือด้วย เช่น ตำนานพระพิมพ์ของศาสตราจารย์ ยอช เซเดส์ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (dissertation) ของหม่อมหลวงภัทราธร จิระประวัติ เรื่อง The Cult of Votive Tablets in Thailand (sixth to thirteenth centuries) เสนอต่อ Cornell University วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2524 ของนายนิติพันธ์ ศิริทรัพย์ เรื่อง “พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดีที่นครปฐม” รวมทั้งในหนังสือของอาจารย์อีกหลายท่านที่ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะทวาราวดี เช่น ดร. ธิดา สาระยา และ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เป็นต้น ในหนังสือและเอกสารทั้งหมดที่กล่าวถึงเป็นตัวอย่างเหล่านี้ ยังไม่เคยมีพระพิมพ์ตามรูปนี้พบในศิลปะทวาราวดี

4. พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยาที่มีอัครสาวกประกอบอยู่ด้านซ้ายขวาโดยไม่มีสถูป มีพบเป็นปกติในศิลปะพุกามของพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพิมพ์พุทธคยาในสมัยพระเจ้าอโนรถา (เรียกตามสำเนียงพม่า หรือ “อนุรุทธ” ในภาษาบาลี หรือ “อนิรุทธ” ตามที่ใช้ในพระพิมพ์ที่พระองค์สร้าง ตามที่อาจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงกล่าวไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ฯ) โดยไม่มีสถูปเป็นองค์ประกอบของพระพิมพ์ ซึ่งหาดูได้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น Ancient Buddhist Art from Burma ของ Haskia Hasson หรือแม้กระทั่งบทความบางฉบับ เช่น พระพิมพ์สมัยเมืองพุกามแบบพระเจ้าอนิรุทธ ในหนังสือนิตยสารศิลปากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2540 เขียนโดยอาจารย์กฤษฎา พิณศรี ซึ่งผมให้เครดิตอาจารย์ท่านนี้ว่าเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องพระพิมพ์ดินเผาอีกท่านหนึ่ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวผมจึงยังไม่สนิทใจที่จะยอมรับข้อโต้แย้งของท่าน และจะเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจอีกหลายท่านหากท่านจะระบุเอกสารอ้างอิงการค้นพบหรือการขุดค้นพระพิมพ์ที่ถกเถียงกันอยู่นี้ว่าพบที่จังหวัดนครปฐมจริง เพราะกรมพยาดำรงค์ราชานุภาพเคยทรงสันนิษฐานว่าอาณาจักรทวาราวดีอาจสิ้นสุดลงเพราะถูกพระเจ้าอนุรุทธแห่งอาณาจักรพุกามรุกรานในปี พ.ศ. 1600 จึงอาจจะมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ที่จะพบพระพิมพ์พุกามในประเทศไทย ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการพบพระพิมพ์พุกาม ปางยมกปาฏิหาริย์ มีซุ้มพุทธคยาและคาถาเย ธรรมา อักษรเทวนาครี ในสุโขทัย แต่เป็นการนำพระพิมพ์พม่ามากดใหม่ (ดูนิตยสารศิลปากร ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2540 หน้า 57)

ประมวล จันทร์ชีวะ

เรียน คุณสุขกมล

 

          เกี่ยวกับคำถามของคุณภัทรพลเรื่องพระพิมพ์ดินเผาทรงกลมตามรูปภาพนั้น ผมขอร่วมแสดงความคิดเห็น ดังนี้

          ลักษณะของพระพิมพ์นี้ที่เป็นสีแดงเข้มตามรูปนี้ ผมยังไม่เคยเห็น แต่ที่เคยพบเห็นมักจะเป็นสีพิกุล (น้ำตาลอ่อน) และบางชิ้นเป็นสีส้ม (สีหม้อใหม่) ซึ่งวงการพระทางใต้นิยมเรียกว่า “พระวงเขน” ผมจำได้ว่ามีรายงานของกรมศิลปากรฉบับหนึ่งระบุว่าพบในเจดีย์เก่าของวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

          หนังสือของกรมศิลปากรบางฉบับระบุว่า พบพระพิมพ์เดียวกันนี้ในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา ซึ่งสร้างในสมัยเจ้าสามพระยา แต่ผมเห็นว่ากรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นกรุที่ใหญ่มาก (บางท่านถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากพบพระพิมพ์มากมายหลายร้อยพิมพ์) มีลักษณะเป็นกรุที่รวบรวมเอาพระพิมพ์ที่สร้างก่อนสมัยอยุธยามาบรรจุไว้ด้วย เนื่องจากนอกจาก “พระวงเขน” ตามรูปนี้แล้ว ยังมีพระพิมพ์ยุคเก่ากว่านี้ เช่น พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยา อิทธิพลศิลปะปาละ พบปนอยู่ด้วย

  

         นักวิชาการบางท่านเห็นว่า “พระวงเขน” อาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะสมัยเมืองพุกามของพม่า เนื่องจากพบศิลปะที่คล้ายกันนี้ที่นั่น แต่บางท่านเห็นว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากเกาะชวา เนื่องจากพบการจัดองค์ประกอบของศิลปะเช่นเดียวกับพระพิมพ์ที่พบในเซมารัง ประเทศอินโดนีเซีย

          ในความเห็นส่วนตัวของผม เห็นว่า “พระวงเขน” อาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะสมัยเมืองพุกามของพม่า เนื่องจากด้านหลัง “พระวงเขน” บางองค์จะปรากฏรอยก้านใบไม้แสดงให้เห็นถึงการใช้ใบไม้ปูรองก่อนกดพิมพ์ในลักษณะเดียวกับพระพิมพ์ดินเผาของพม่า

          หวังว่าข้อคิดเห็นดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับคุณภัทรพล

 

ประมวล จันทร์ชีวะ

         

    

เรียน คุณสุขกมล 

พระวงเขน พิมพ์นี้น่าจะเป็นพิมพ์เดียวกับที่คุณภัทรพล สอบถามมา

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท