หนองบัวเมื่อประมาณ ปี 2482-2483



หนองบัวในอดึต มุมมองของ กำนันแหวน บุญบาง

          ประมาณปี พ.ศ.2482 หรือ 2483  เมื่อข้าพเจ้าจบชั้นประถมศึกษาแล้วอายุ 12 ปี ป่าตะวันออกของชุมชนหนองบัว –หนองกลับยังเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้างป่ามีเป็นโขลง เสือวัว กระทิง เก้ง กวาง ลิง ค่าง ตะกวดมีมากมายบางครั้งวิ่งพลัดหลงเข้ามาในหมู่บ้านก็มี ในลำห้วย หนอง คลองบึง มีปลาอุดมสมบูรณ์
เช่น คลองน้ำสาดคลองสายพระงาม ห้วยน้อย คลองปลาเน่าบรรดาคลองเหล่านี้ไหลลงสู่บึงบอระเพ็ด เวลาหน้าน้ำหลากปลาจะขึ้นมาวางไข่ในที่สูง พอน้ำลดปลาจะพากันว่ายลงสู่บึงบอระเพ็ด ปลานานาชนิดโดยเฉพาะปลาสร้อยจับทำน้ำปลาเหลือกินข้ามปี ปลาร้าเลือกเอาแต่ปลาเนื้อดี ที่เหลือทำปลาเค็ม ปลาแห้งเหลือแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรอีก ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน บ้านอื่นก็มีกินเหลือเฟือเหมือนกัน ครั้นจะขนไปขายอำเภออื่นหรือข้ามจังหวัดไปขายเป็นปลาสดอย่างปัจจุบันก็ไม่ได้ เพราะการคมนาคมขนส่งไม่ดี จะว่าไป  ที่อื่นๆ ก็มีเหลือกินเหมือนกัน อย่างเช่น
คลองห้วยน้อยไปสุดที่คลองปลาเน่ามีปลาขึ้นมากมาย ปลาลอยหัวไปเกือบสุดคลอง บริเวณนั้นเป็นเนินน้ำกระจายไหลตื้นไม่ลึกปลาติดท้องดอนตายเป็นจำนวนมาก ถึงฤดูน้ำลดจึงมีปลาเน่าตายเหม็นคละคลุ้งไปหมด นกเหยี่ยวดำ นกเหยี่ยวแดงบินว่อนนกกระยางเดินย่องกินปลาดูขาวเต็มท้องทุ่ง

          ตลาดหนองบัวอย่างปัจจุบันยังไม่มี มีคนจีนตั้งบ้านอยู่ที่บ้านโคกมะตูม ตำบลหนองบัว หาบสินค้า มีหอม กระเทียม เสื้อผ้าใส่กระบุงใหญ่ไปแลกข้าวตามบ้าน เจ็กมาซื้อข้าวที่หนองบัวให้ราคาเกวียนละ 8 บาท ถ้านำไปขายที่อำเภอชุมแสงได้เกวียนละ 10 บาท ได้ราคามากขึ้น 2 บาทยังดีกว่า แล้วยังได้มีโอกาสไปเที่ยวอำเภอชุมแสงซื้อของจำเป็นกลับบ้านกันทั้งครอบครัวด้วย มีเสื้อผ้า ค้อน สิ่ว ใบกบ เลื่อย ตะปู จะลืมไม่ได้คือขนมปังกรอบกระป๋อง 4 เหลี่ยม เอามาฝากน้อง ๆ คนหนองบัวแต่งตัวแปลกไม่เหมือนคนชุมแสง นุ่งกางเกงจีนใส่เสื้อแบบเสื้อม่อฮ่อมผูกเชือกสะพายย่ามแดง เดินไปไหนจะไปกันเป็นกลุ่ม ๆ มีหัวหน้ากลุ่ม เดินทางเกวียนกันไปแบบกองคาราวาน พวกชุมแสงเรียกคนหนองบัวว่าพวกบ้านดอน แต่ไม่กล้าเรียกให้คนหนองบัวได้ยิน เพราะคนหนองบัวจะโกรธหาว่าดูถูกพวกตน ว่าเป็นพวกบ้านป่าขาบ้านดอน หรือคนดง เป็นคนห่างไกลความเจริญ คนหนองบัวคิดว่ามันเจริญคนละอย่าง คนชุมแสงไม่เคยไปเที่ยวป่า เที่ยวเขาไปเที่ยวหนองบัว เห็นป่าเห็นเขา เห็นสัตว์ป่าก็ตกอกตกใจ ตื่นเต้น กลับกันคนหนองบัวเห็นเป็นเรื่องธรรมดา คนหนองบัวไป ชุมแสงที่ไม่เคยไปหรือเคยไปมาแล้วก็อดที่จะไปดูหรือพาลูกหลานพวกพ้องไปที่ท่าเรือ ดูแม่น้ำใหญ่ เรือเมล์ ไปสถานีรถไฟดูรถไฟ บางครั้งก็ตกใจเมื่อรถไฟเปิดหวูดดัง ๆ เวลาเดินตลาดซื้อสินค้า พ่อค้าจะหมายตาที่หัวหน้า ถ้ารู้จักก็จะเชื้อเชิญจีบหัวหน้าหรือแอบให้ของหัวหน้าผูกมิตรไว้ เวลาหัวหน้าเข้าร้านไหน พวกพ้องก็จะนั่งยอง ๆ ดู หน้าหัวหน้าสนทนาต่อรองสินค้า ถ้าหัวหน้าซื้อพวกพ้องก็ซื้อกันหมดทุกคน

           เวลาเดินทางกลับขบวนเกวียนจะต้องเดินทางตามกันเป็นขบวนไม่ให้ทิ้งห่างหรือขาดตอนกันเพื่อป้องกันโจรภัย การเดินทางเกวียนสมัยนั้นถนนก็ยังไม่เรียบร้อย ระยะตำบลหนองกระเจาเข้าอำเภอชุมแสงลำบากมาก บางครั้งต้องวกเข้าหมู่บ้านผ่านที่ดินชาวบ้านแถวตำบลหนองกระเจา อำเภอชุมแสง บางบ้านหน้าเลือดก็คอยตั้งด่านเก็บค่าผ่านทาง คันละเฟื้อง 2 เฟื้อง แต่ที่ต้องระวังที่สุด คือ บ้านหนองขโมย ตำบลหนองกระเจาปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านสันติสุข หากใช้ชื่อขโมย เป็นการประจานคนในหมู่บ้านที่เคยทำไม่ดีมาในอดีต เรื่องจริงแต่จะว่าไปแล้วเหมือนนิยาย วันหนึ่งพวกหนองบัวขายข้าวได้เงินซื้อข้าวของแล้วเดินทางกลับมาเป็นขบวนเกือบ 20
เล่มเกวียน ธรรมชาติของวัวเทียมเกวียน เมื่อเกวียนคันหน้าเดินนำแล้วเกวียนถัด ๆ ไปก็จะเดินตามเป็นแถวเป็นขบวน ถ้าเกวียนหน้าหยุดก็จะหยุดหมด เกวียนคันหลัง ๆ สุดสบาย ได้แต่ถือเชือกประคองให้วัวเทียมเกวียนตามเกวียนคันหน้าไป พอถึงย่านบ้านหนองขโมย เจ้าของเกวียนเผลอม่อยหลับไปเสียท่าบ้านหนองขโมยแอบย่องจัสายสะพายวัวเกวียนสุดท้ายให้หยุด ปลดเอาวัวเทียมเกวียนไป 2 ตัว เอาไม้ค้ำแอกค้ำเกวียนไว้ รีบต้อนวัวหนีไป พอขบวนถึงหมู่บ้านพักระหว่างทาง เกวียนรองสุดท้ายตกใจเห็นเกวียนขาดหายไป 1 เกวียน หัวหน้าจึงให้คณะติดตามวิ่งย้อนกลับมาดูเห็นคนควบคุมเกวียนคันสุดท้ายเอะอะโวยวาย เล่าให้ฟังได้ความว่าเผลอหลับไป จึงติดตามรอยเท้าวัวไปถึงชายป่า พบวัวตัวหนึ่งถูกชักรอกจมูก พร้อมมัดขาหน้าผูกห้อยกับกิ่งไม้ใหญ่ เท้าหลังหวิด ๆ หวอย ๆ กับพื้น สะโพกขาหลัง 1 ขา ถูกปาดไป วัวยังไม่ทันตายสนิท อยู่จึงช่วยกันปลดเชือกแล้วแทงให้ตายเอาเนื้อบรรทุกใส่เกวียนกลับบ้าน เหลืออีกตัวที่ขโมยเอาไป ไม่ได้ติดตามเพราะกลัวจะเสียท่าพวกบ้านหัวขโมยอีก

อายุ 15 ปี ประมาณปี พ.ศ.2484 มีการปล้นบ้านนายอินทร์ นางทรัพย์ ที่บ้านหนองบัวตามที่ปรากฏในประวัตินายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ จะไม่นำมาเล่าซ้ำอีกสังคมชุมชนสมัยนั้นยังเป็นสังคมพึ่งพากันหน้าเกี่ยวข้าวก็มีการลงแขก เกี่ยวข้าวเอาแรงกันหุงข้าวเลี้ยงแขก ตกเย็นล้อมวงสนุกสนานร้องเพลงอีกแซวเกี้ยวพาราสีกัน เสร็จหน้านาก็เตรียมซ่อมแซมเรือนชานปลูกบ้านสร้างเรือนหอขอแรงกันมาช่วยไม่มีค่าจ้างค่าออนผลัดเปลี่ยนกันเอาแรงในโอกาสต่อไป


หมายเลขบันทึก: 534299เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขออนุญาตนำภาพและข้อมูลของดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ มาลิงค์ไว้ที่บันทึกของท่านนี้ เนื่องเพราะมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกัน อ่านตามลิงค์ที่ลิงค์ไว้นี้ จะทำให้ได้ข้อมูลชุมชนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ตลาดแลกข้าวกับสินค้าในอดีตที่ชุมแสง นครสวรรค์

  http://www.gotoknow.org/posts/362168                    

                                 
                                  อธิบายภาพ ๑ : คาราวานเกวียนขนข้าวไปแลกของที่ตลาดชุมแสง ลานจอดเกวียนในอดีตก็คือบริเวณที่เป็นท่าจอดรถชุมแสง-หนองบัว ตรงข้ามสถานีรถไฟชุมแสงในปัจจุบัน วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ วันวิสาขบูชา ๒๕๕๓

          

                           อธิบายภาพ ๒ : ท่ารถชุมแสงในปี ๒๕๕๓ ในอดีตนั้นตลอดตามแนวทางรถไฟออกไปทางซ้ายมือจากที่เห็นในภาพโดยการเดิน เท้า ต่อเนื่องกันไปอีกประมาณ ๑๐ นาที ก็จะเป็นบริเวณที่จอดเกวียน ท่าเทียบเรือชาวบ้าน และในบริเวณใกล้กันก็จะเป็นสถานีลงแร่จากเหมืองแร่ปากดงอำเภอหนองบัวและใน เขตจังหวัดเพชรบูรณ์


คนบ้านดอน เสียงสะท้อนจากคนอำเภอชุมแสง เสียงสะท้อนนี้ น่าจะไม่ผิดจากความจริงสักเท่าไหร่ ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นสมัยนี้ ก็จะตรงกับคำกล่าวที่ว่า คนหนองบัวนั้น "บ้านน้อก บ้านนอก"

ก่อนบวชอาตมาภาพ ก็ยังเป็นไลฟ์ไสตล์หรือรสนิยมดังว่านี่แหละ คือนุ่งกางเกงจีน ใส่เสื้อคล้ายเสื้อม่อฮ่อม ชุดนี้ถือว่าชุดเก่งแล้วนะจะบอกให้ เหมือนผ้าทอ ย้อมด้วยสีครามหรือดำ ซื้อมาใหม่ ๆ ยังไม่ได้ซัก หรือใช้ไปแล้วซักหลายครั้ง ก็จะยังมีกลิ่นสีผ้าอยู่ กลิ่นเสื้อผ้านี้มักจะเรียกกันแบบตลกๆตามภาษาชาวบ้านว่า เหม็นขี้เจ็ก คงซื้อมาจากร้านคนจีนหรือเจ็กในหนองบัวนั่นเอง(จำได้ว่าไม่เคยได้ยินคนหนองบัว เรียกคนจีนในตลาดหนองบัวว่า พี่่น้องชาวจีนเลย มีแต่ได้ยินคนเรียกคนจีนว่า เจ็กกันทั้งนั้น เช่น เจ็กขด เจ็กต่าย เจ็กทราย เจ็กแหบ ฯลฯ คนจีนรุ่นเก่า ก็ชอบให้ชาวบ้านเรียกว่าเจ็กด้วย ดูสนิทสนมใกล้ชิด เป็นเสมือนญาติพี่น้องกัน ขออภัยด้วยถ้าข้อเขียนนี้ จะทำให้ลูกหลานคนจีนอ่านแล้วไม่สบายใจ)

เนื่องจากหาภาพคนหนองบัว นุ่งกางเกงจีนใส่เสื้อตัวเก่งนี้ยากเหลือเกิน แต่มีภาพมาให้ดูเป็นตัวอย่างได้สองสามภาพ คิดว่า เท่านี้ก็พอจะให้ภาพความเป็นหนองบัวได้อยู่นะ(จิรงๆ ถ้าเรียกเสื้อทำงาน ทำนา ทำไร่ เลี้ยงงัว เลี้ยงควาย ว่าเสื้อม่อฮ่อม คนหนองบัวอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าเรียกว่าเสื้อเชิ้ตแขนยาวละก็รู้จักดี)

"........จะลืมไม่ได้คือขนมปังกรอบกระป๋อง 4 เหลี่ยม เอามาฝากน้อง ๆ คนหนองบัวแต่งตัวแปลกไม่เหมือนคนชุมแสง นุ่งกางเกงจีนใส่เสื้อแบบเสื้อม่อฮ่อมผูกเชือกสะพายย่ามแดง เดินไปไหนจะไปกันเป็นกลุ่ม ๆ มีหัวหน้ากลุ่ม เดินทางเกวียนกันไปแบบกองคาราวาน พวกชุมแสงเรียกคนหนองบัวว่าพวกบ้านดอน แต่ไม่กล้าเรียกให้คนหนองบัวได้ยิน เพราะคนหนองบัวจะโกรธหาว่าดูถูกพวกตน ว่าเป็นพวกบ้านป่าขาบ้านดอน หรือคนดง เป็นคนห่างไกลความเจริญ......"

                                   
                                   

                                    
                                                ภาพชุดนี้ได้มาจาก : อดีต สจ. อุปถัมภ์ อินสุธา(อดีตสจ.หนองบัว)
                                     ในภาพชาวบ้านหนองบัว หนองกลับ กำลังไปตัดไม้ในป่าหนองบัว มาสร้างอาคารเรียนโรงเรียนหนองบัวเทพวิทยาคม(โรงเรียนอนุบาลหนองบัวในปัจจุบัน) นำโดยนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ผู้นำสงฆ์คือหลวงพ่ออ๋อย ผู้นำชุมชนมีกำนันยัน พวงจำปา (กำนันตำบลหนองกลับ) กำนันเทอญ นวลละออง(กำนันตำบลหนองบัว)
                                   

"......ตลาดหนองบัวอย่างปัจจุบันยังไม่มี มีคนจีนตั้งบ้านอยู่ที่บ้านโคกมะตูม ตำบลหนองบัว หาบสินค้า มีหอม กระเทียม เสื้อผ้าใส่กระบุงใหญ่ไปแลกข้าวตามบ้าน...." (หนองบัวเมื่อประมาณปี ๒๔๘๒ - ๒๔๘๓ โดยสมหมาย ฉัตรทอง)
 
ขอนำภาพวาดของดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ มาประกอบเรื่องให้ด้วย
เรื่อง เจ็กหาบของกินของใช้ไปแลกข้าวเปลือก ข้าวสาร ตามหมู่บ้านนี้  อาตมาได้เห็นอยู่หลายท่านเลย
                           
                            ภาพเจ๊กต่ายหาบถังไอติ มขายเข้าไปในหมู่บ้านไกลออกไปจากหนองบัวนับสิบกิโลเมตร ไอติมในถังเป็นไอติมหวานเย็น มีการสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆซื้อโดยหากกัดกินแล้วไม้ไอติมมีสีแดงก็จะได้ไอติ มฟรีอีกหนึ่งแท่ง เจ๊กต่ายเป็นคนเก่าแก่ เป็นที่รักและเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านหนองบัว ลูกของเจ๊กต่ายคนหนึ่งต่อมาเป็นหมอ คือ นายแพทย์วีรวัฒน์ พานทองดี เป็นศิษย์เก่าศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ภาพประกอบวาดโดย : ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

เด็กๆ จะชอบไอติมหลอด เวลากินแล้วก็จะรีบกัดเพื่อดูว่าไม้ไอติมมีสีแดงหรือไม่  หากมีก็จะไปแลกได้เพิ่มอีก  ชาวบ้านรอบนอก  โดยเฉพาะชาวนา  จะชอบไอติมไข่และไอติมกะทิ  โดยจะนึ่งข้าวเหนียวและทำข้าวเหนียวมูล และซื้อไอติมไปกินกับข้าวเหนียวมูลเป็นกาละมัง  กินกันเป็นกลุ่มๆ เวลาเกี่ยวข้าวและทำนาทำไร่.(ข้อมูลและภาพนี้ จากเวทีคนหนองบัว โดย ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ บันทึกเมื่อปี ๒๕๕๑ )

ที่มา : http://www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=4729
http://www.gotoknow.org/posts/232492


นึกได้อย่างหนึ่งขึ้นมาว่า ชาวหนองบัว มักเรียกคนชุมแสงหรือคนทางนครสวรรค์ตลอดไปถึงจังหวัดภาคกลาง หลายจังหวัดลงไปถึงอยุธยาว่าคนในทุ่ง หรือคนบ้านทุ่ง ที่มาของการเรียกชื่อเช่นนี้ ก็มาจากคนหนองบัวมีนามากๆกัน เวลาถึงหน้าเกี่ยวข้าว แรงงานคนในครอบครัวมีไม่กี่คน จะเกี่ยวข้าวให้แล้วเสร็จในขณะที่ข้าวยังไม่กรอบ  ก็ทำไม่มันด้วยซะส่วนมาก(ข้าวกรอบนี้ คือข้าวที่แก่จัดเกี่ยวไม่ทัน เวลาเกี่ยวก็เกี่ยวยากด้วย เมื่อเกี่ยวยกกำข้าวขึ้นคอรวงข้าวมักหักล่วงหล่น และก็ทำให้ขายได้ราคาไม่ดีอีกต่างหาก)

ดังนั้น ชาวหนองบัว ก็ต้องหาแรงงานคนมาเกี่ยวข้าว(เรียกด้วยศัพท์ทางเทคนิคว่า แขกเกี่ยวข้าว) และแขกเกี่ยวข้าวนี่้ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากคนบ้านทุ่งหรือคนในทุ่งนี่เอง

หนองบัวเป็นที่ดอน ทำนาข้าวเบา ข้าวก็จะสุกก่อน เกี่ยวได้ก่อน ข้าวของนาคนบ้านทุ่ง คนในทุ่งนั้นท้องนาเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทำนาข้าวหนัก ในขณะที่ข้าวหนองบัวเกี่ยวได้ ข้าวของตัวเอง ยังไม่แก่เกี่ยวไม่ได้ ก็เลยมาหารับจ้างเกี่ยวข้าวคนบ้านดอนก่อน แขกเกี่ยวข้าวแรกๆ ก็อยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ แต่ต่อมา มาไกลมากเลยจากอยุธยาก็มี

เมื่อรถเกี่ยวข้าวเข้าถึงหนองบัว แต่นั้นมาก็ไม่มีแขกเกี่ยวข้าวในหนองบัวอีกเลย    

แถมพก โจ๊กที่ขำไม่ออก    คนหนองบัวขึ้นรถรางในบางกอก

คนหนองบัวไปกรุงเทพฯ ไปขึ้นรถราง (คงก่อนพ.ศ.๒๕๐๐) ก็คุยกันเสียงดังแบบคนต่างจังหวัด กระเป๋ารถรางจึงถามว่า "ปัาๆ มาจากบ้านนอกเหรอ!"  ป้าตอบทันทีว่า "เออ! เออ!แกรู้ยังไง"

คุณป้าแกอยู่หนองบัว คนอยู่ตลาด หรือในชุมชนเขาเรียกว่า"บัานใน" อยู่ชายทุ่งเขาเรียกว่า"บ้านนอก "คูณป้าแกอยู่ชายทุ่งไม่ได้อยู่ในตลาด หรือในชุมชน แกก็นึกว่ากระเป๋ารถรางรู้จักแก บ้านนอกของกรุงเทพ  หมายถึงบ้านนอกคอกนา ไม่รู้ภาษีภาษาอะไร ขึ้นรถรางคุยกันเอ็ดตะโรลั่นแสดงยี่ห้อคนชายทุ่ง

สวัสดีครับท่าน

   ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน  แวะไปเยี่ยมชาวกำแพงเพชรบ้างนะครับ

เป็นข้อมูลชุมชนที่น่าสนใจมากๆๆเลยครับ

ขอนำภาพท่านกำนันแหวน บุญบาง (จากบันทึกอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ โดย นายสมหมาย  ฉัตรทอง) มาประกอบบทความในบันทึกนี้ให้ด้วย
ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/533706
ในภาพหมู่ชุดนี้ มีรูปท่านกำนันแหวน บุญบางอยู่ด้วย คนริมซ้ายสุดใส่เสื้อขาวคือกำนันแหวน บุญบาง

กำนันแหวน บุญบางนั้น ถือว่าเป็นบุคคลแห่งตำนานของชุมชนหนองบัวท่านหนึ่ง เป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทหลายด้านในการพัฒนาชุมชนยุคบุกเบิกของหนองบัว ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่คู่กันมากับนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ เป็นผู้นำชุมชนที่มีความรอบรู้ด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนหนองบัวมากที่สุดท่านหนึ่ง มีบุคลิกภาพแห่งความเป็นผู้นำสูง เป็นคนมีบารมี มีมนุษยสัมพันธ์ดีไม่ถือตัว เป็นที่รักนับถือของคนหนองบัวมาก ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว

                               


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท