ตลาดแลกข้าวกับสินค้าในอดีตที่ชุมแสง นครสวรรค์


อธิบายภาพ ๑ : คาราวานเกวียนขนข้าวไปแลกของที่ตลาดชุมแสง ลานจอดเกวียนในอดีตก็คือบริเวณที่เป็นท่าจอดรถชุมแสง-หนองบัว ตรงข้ามสถานีรถไฟชุมแสงในปัจจุบัน วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ วันวิสาขบูชา ๒๕๕๓

อธิบายภาพ ๒ : ท่ารถชุมแสงในปี ๒๕๕๓ ในอดีตนั้นตลอดตามแนวทางรถไฟออกไปทางซ้ายมือจากที่เห็นในภาพโดยการเดินเท้า ต่อเนื่องกันไปอีกประมาณ ๑๐ นาที ก็จะเป็นบริเวณที่จอดเกวียน ท่าเทียบเรือชาวบ้าน และในบริเวณใกล้กันก็จะเป็นสถานีลงแร่จากเหมืองแร่ปากดงอำเภอหนองบัวและในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์

  ไกลปืนเที่ยง แต่เป็นแหล่งแร่ยิบซั่มและไม้   : หนองบัวและชุมแสงกับสังคมไทยเมื่ออดีต 

แต่เดิมนั้นพื้นที่อำเภอหนองบัวดังในปัจจุบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร และอำเภอท่าตะโกกับอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาเมื่อสังคมขยายตัวมากขึ้น จึงได้รวมชุมชนและพื้นที่เพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี ๒๔๙๑ และต่อมาก็ตั้งเป็นอำเภอหนองบัว[Click here] ขึ้นอยู่กับจังหวัดนครสวรรค์ในสภาพที่หน่วยงานต่างๆของราชการยังไม่มีสถานที่ทำการ เช่น สถานีตำรวจภูธรในระยะแรก[Click here] ก็อาศัยสถานที่ในวัดหนองกลับเป็นสำนักงานชั่วคราว งานด้านสุขภาพและสาธารณสุขก็บุกเบิกผสมผสานกับระบบสุขภาพที่มีในท้องถิ่นโดย ๔ ส่วน คือ
(๑) ดำเนินการโดยภาครัฐ โดยบุคลากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยและผดุงครรภ์ ณ เวลานั้น ยังไม่มีโรงพยาบาลระดับอำเภอ หมอหนิม หมออนามัยและพยาบาลผดุงครรภ์คนเก่าแก่ จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการของอำเภอหนองบัวเลยทีเดียว
(๒) ดำเนินการโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นวิถีสุขภาพที่ขับเคลื่อนโดยหมอตำแย หมอชาวบ้าน หมอพระ ในอดีต แม่ใหญ่หนูหรือยายผมซึ่งอยู่บ้านกลาง กับแม่ใหญ่แดงบ้านใต้ เป็นหมอตำแยของญาติพี่น้องและลูกหลานแทบจะทั้งหมดของบ้านห้วยถั่วและชุมชนที่เป็นบ้านตาลินปัจจุบัน พ่อผมเองนั้นก็ไปอบรมและฝึกหัดฉีดยา จนกลายเป็นหมอฉีดยาและเหมือนกับเป็นอาสาสมัครซึ่งชาวบ้านที่ไปโรงพยาบาลและได้รับยาฉีดมาจากหมอ เมื่อกลับไปอยู่บ้านก็จะได้รับการแนะนำให้ไปฉีดยาที่ครูฟื้น คำศรีจันทร์ คือพ่อของผม ทั้งผมและแม่เป็นลูกมือในการต้มเครื่องมือช่วยพ่ออยู่เสมอ ชานเรือนบ้านผมจึงเป็นเหมือนสถานีอนามัยเลยทีเดียว หมอหลุยและร้านหมอหลุย : ปานขลิบโอสถ ก็เป็นแหล่งดูแลสุขภาพให้กับชาวหนองบัวที่สำคัญมาก
(๓) โรงพยาบาลคริสเตียน โดยหมออาสาสมัครและองค์กรพัฒนาเอกชนที่อุทิศตนทำงานเพื่อพระศาสนาที่ตนนับถือ
(๔) การพึ่งความเชื่อ หมอเป่า หมอน้ำมนต์ หมอผี การรักษาไปตามความเชื่อ และตามยถากรรม

หนองบัวห่างจากอำเภอชุมแสง ๓๐ กิโลเมตร ซึ่งในระยะแรกนั้นมีสภาพเป็นป่าและลำห้วยตลอดเส้นทาง ชาวบ้านต้องเดินทางติดต่อกันด้วยการเดินเท้า ขี่ม้า และขี่ช้าง ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปกลับได้ในเวลา ๑ วัน ในหน้าน้ำหลากนับแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคมก็จะสามารถเดินทางด้วยทางเรือซึ่งมีคลองที่สามารถเดินเรือไปถึงหนองบัวโดยมีท่าเทียบและจอดเรือเป็นคุ้งน้ำและต้นโพธิ์อยู่เลยบริเวณที่เป็นสำนักงานไปรษณีย์หนองบัวในปัจจุบัน แต่การพายเรือด้วยมือก็ไม่สามารถเดินทางไปกลับหนองบัว-ชุมแสงใน ๑ วันได้เช่นกัน

นอกจากนี้ พื้นที่ชุมแสงนั้นเป็นที่ลุ่มต่ำกว่าหนองบัว ในหน้าฝนและน้ำหลาก น้ำในลำธารจะไหลแรงจากหนองบัวไปชุมแสง การเดินทางด้วยการถ่อและพายเรือก็จะต้องปะทะกับแก่ง คุ้งน้ำ รากไม้และโคนไม้ เมื่อใกล้ถึงบริเวณที่เป็นบ้านสระงามดังปัจจุบันซึ่งห่างจากชุมแสงเกือบ ๑๐ กิโลเมตร ก็จะปกคลุมด้วยป่าไผ่อย่างหนาแน่น กระนั้นก็ตาม การพายเรือขาล่องก็เร็วกว่าขากลับซึ่งจะต้องต้านธารน้ำไหลและใช้เวลามากกว่า ๓-๔ เท่า หากไม่จำเป็นแล้ว ชาวบ้านหนองบัวและชุมชนโดยรอบก็จะไม่มีการติดต่อกับโลกภายนอกมากนัก

เส้นทางที่ลัดเลาะไปตามลำธารและจะเป็นดินโคลนในหน้าฝน บุกเบิกเป็นเส้นทางสัญจรโดยรถบรรทุกแร่ยิบซั่มจากเหมืองแร่ในป่าปากดงเพื่อไปลงแร่และขึ้นรถไฟที่สถานีลงแร่ อำเภอชุมแสง ก่อนถึงสถานีรถไฟชุมแสงเล็กน้อยโดยมีโบกี้รถไฟสำหรับบรรทุกแร่ขนถ่ายแร่ ล่องไปกรุงเทพฯต่อไป

นอกจากนี้ ก็มีรถขนไม้จากป่าหนองบัวไปขึ้นรถไฟหรือล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งในอดีตนั้น พื้นที่หนองบัวและเพชรบูรณ์จัดว่าเป็นพื้นที่สีแดงและสีชมพูซึ่งเป็นเขตแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ จึงเป็นเส้นทางของรถถังและรถจีเอ็มซีขนกำลังทหารจากค่ายจีระประวัติไปในป่าหนองบัวและป่าเพชรบูรณ์ ชาวบ้านที่จำเป็นต้องเดินทางระหว่างหนองบัว-ชุมแสง จึงเดินทางได้ด้วยการอาศัยรถแร่ รถขนไม้ และรถทหาร รวมทั้งในบางครั้งก็มีรถเรนจ์โรเวอร์ของราชการเข้าไปปฏิบัติงานหน่วยงานต่างๆในพื้นที่

ต่อมา ประมาณปี ๒๕๑๐ จึงเริ่มมีรถเมล์หนองบัว-ชุมแสง โดยเริ่มจากรถเมล์แดง และต่อมาก็มีอีกเจ้าหนึ่งเป็นรถเมล์เขียว ซึ่งเรียกว่ารถเมล์เจ๊กไถ่ พร้อมกับเริ่มมีการติดเครื่องเรือและมีเรือหางยาว หลังปี ๒๕๑๐ ชาวบ้านจึงสามารถเดินทางไปกลับหนองบัว-ชุมแสงได้ภายใน ๑ วัน นอกฤดูทำนา สองข้างทางหนองบัว-ชุมแสงก็จะมีไร่แตงไทยและแตงโม รวมทั้งไร่ฝ้าย ถั่วลิสง ข้าวฟ่างและงา เรียงรายอยู่เป็นระยะๆ จัดว่าเป็นพื้นที่เหนือบึงบระเพ็ดและภาคเหนือตอนล่างที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศ

 ต้องใช้เวลา ๒-๓ วันและซื้อสิ่งของด้วยข้าวเปลือก   : คาวานเกวียนและการเดินทางไปแลกสิ่งของที่ชุมแสง 

ถึงแม้ว่าการเดินทางหนองบัว-ชุมแสงจะมีความยากลำบากและไม่สามารเดินทางไปกลับได้ภายใน ๑ วัน แต่เมื่อชาวบ้านต้องการสินค้าและเครื่องใช้ทั้งหลายที่ชาวบ้านผลิตไม่ได้ ก็มีความจำเป็นที่จะไปซื้อหาจาก ๔ แหล่งที่สำคัญ คือ ชุมแสง ปากน้ำโพ ตะพานหิน และพิษณุโลก หากต้องไปไกลมากกว่านี้ก็จะเป็นกรุงเทพฯและกำแพงเพชรซึ่งก็จะใช้เวลานับเป็นสัปดาห์ 

ความยากลำบากในการเดินทางและติดต่อกับโลกภายนอกในลักษณะดังกล่าว ทำให้ชื่อชุมชนบางแห่งของหนองบัว เช่น ไดเจ๊กห้า มีเรื่องเล่าที่มาของชื่อว่าเกิดจากเจ๊กหนองบัวไปซื้อเกลือมาจากชุมแสง ๕ ถังและต้องเดินหาบไปหนองบัวหลายวันด้วยความเหนื่อยยาก กระทั่งเหน็ดเหนื่อยและไปขาดใจตายกลางทางตรงที่ได้ชื่อว่า ไดเจ๊กห้า[Click here] ในปัจจุบัน

แถวบ้านผม คือบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอชุมแสงประมาณ ๒๓ กิโลเมตรและต้องเดินเท้าลึกเข้าไปจากถนนอีกประมาณ ๒ กิโลเมตรนั้น ทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยวและนวดข้าวแล้ว ก็จะรวมตัวกันเดินทางไปชุมแสงสักครั้งหนึ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินและไม่ได้ใช้สตางค์ในชีวิตประจำวัน แต่จะใช้ข้าวเปลือกแลกสิ่งของที่ต้องการ

เมื่อถึงวันที่จะไปแลกข้าวกับสิ่งของที่ชุมแสง ก็จะตวงข้าวเปลือกใส่เกวียนซึ่งเล่มหนึ่งก็จะบรรทุกได้ ๕๐ ถัง บางเจ้าที่เตรียมจัดงานสำคัญในครอบครัว เช่น เป็นเจ้าภาพกฐิน บวชลูก แต่งงานลูกหลาน จำเป็นต้องใช้ข้าวเปลือกแลกสิ่งของมากกว่า ๑ เล่มเกวียนก็จะขอแรงและให้ค่าจ้างเกวียนญาติพี่น้องหรือคนในหมู่บ้านขนข้าวเปลือก ๔-๕ เล่มเกวียนโดยคิดเป็นค่าจ้างเป็นข้าวเปลือกเล่มเกวียนละ ๔-๕ ถังหรือเป็นเงินประมาณ ๕๐ บาท

ส่วนผู้ที่ต้องการแลกสิ่งของจำนวนน้อยและไม่ค่อยมีข้าวเปลือก ก็จะฝากข้าวเปลือกผู้อื่นไป ๑-๒ ถังและระบุสิ่งที่ต้องการซึ่งโดยมากก็จะเป็นเกลือ กระเทียมดอง และอาหารที่เก็บไว้กินได้เป็นปี

ชาวบ้านจะตวงข้าวใส่เกวียนและเริ่มออกเดินทางเมื่อไก่ขันครั้งแรกเหมือนการไปหาไม้และอาหารจากป่าหนองบัว กว่าจะถึงชุมแสงก็จะเป็นเวลามืดค่ำ ก็จะต้องจอดเกวียนนอนกันก่อน ๑ คืน โดยถอยเกวียนและหันหน้าเข้าหากัน ตีวงล้อมเป็นวงกลม วางเวรยามเฝ้าเกวียนและวัวควาย

ครั้งหนึ่งๆ ก็จะมีชาวบ้านหมุนเวียนไปแลกของและนอนค้างแรม ๑๐-๒๐ เจ้า บริเวณที่เป็นลานจอดกองคาราวานเกวียนของชาวบ้านในอดีตก็คือ บริเวณที่เป็นท่ารถโดยสารชุมแสง-หนองบัว ตรงข้ามด้านหน้าสถานีรถไฟดังในปัจจุบันนี้นั่นเอง

หลังจากพักค้างคืน ๑ คืนแล้ว วันรุ่งขึ้นอีก ๑ วันชาวบ้านจึงจะเริ่มแลกข้าวกับสินค้าและสิ่งของที่ต้องการ จากนั้น ก็จะนอนค้างอีก ๑ คืนและเริ่มออกเดินทางกลับเมื่อค่อนคืน ถึงหมู่บ้านเมื่อมืดค่ำของอีกวันหนึ่ง รวมที่จะต้องใช้เวลา ๓ วัน หากรีบเดินทางไปและกลับก็จะใช้เวลา ๒ วัน

 ๑ ถังเท่ากับกางเกงนักเรียน ๑ ตัว  : การแลกข้าวเปลือกกับสินค้า 

เมื่อก่อนนั้น ในยุคประมาณปี ๒๕๑๐ น้ำอัดลมเฮาดี้และเป๊บซี่ราคาเท่ากับก๋วยเตี๋ยวและก๋วยจั๊บ ๑ ชาม หรือนมเย็น ๑ ถุง คือ  ๖ สลึง บุหรี่ไม่มีก้นกรองตราพระจันทร์และสามิตรราคา ๓ บาท ข้าวเปลือกถังละ ๑๐ บาทบ้าง ๑๔ บาทบ้าง เล่มเกวียนหนึ่งซึ่งบรรทุกข้าวเปลือก ๕๐ ถังก็จะขายเป็นเงินและแลกของคิดเป็นเงินได้ประมาณ ๕๐๐-๘๐๐ บาท โดยมากแล้วชาวบ้านก็จะแลกกลับมาเป็นสิ่งของทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ของที่จะแลกเพื่อนำเอาไปแบ่งกันเมื่อกลับไปถึงหมู่บ้านและของที่จะแลกเป็นส่วนตัว

ของที่จะแลกรวมกันและนำกลับไปแบ่งกันต่อไปนั้น ชาวบ้านจะหารือและคำนวณจำนวนที่เพียงพอสำหรับทุกครัวเรือนที่อยู่ด้วยกันในกลุ่มบ้าน สิ่งที่จะแลกรวมกันจะประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ สิ่งที่ทุกครอบครัวจำเป็นต้องใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เกลือ กระเทียมดอง ผักกาดดอง ไตปลา ปลาทูเค็ม หอม กระเทียม ผักกาดเค็ม น้ำตาลปีบ ปูนกินหมาก เส้นยาสูบสำหรับกินหมากและสูบยา และสิ่งที่เป็นอาหารสด เช่น ปลาทะเล หมู ส่วนสิ่งที่แต่ละครอบครัวจะแลกเป็นของตนเองตามความต้องการ โดยมากก็จะเป็นสิ่งที่มีความต้องการแตกต่างกันไป เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ด้ายและเข็ม เส้นหมี่ น้ำมันก๊าด ไส้ตะเกียงเจ้าพายุ เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อแลกของและกลับถึงหมู่บ้าน ก็จะนำของไปกองรวมกัน ทุกบ้านก็จะมารวมกัน ช่วยกันแบ่งของและทำอาหารกินกัน แม้บางบ้านทำนาไม่ค่อยได้ข้าวและฝากข้าวเปลือกไปแลกของจำนวนน้อยแต่ของบางอย่างก็จะแจกจ่ายเผื่อแผ่กันไปทุกบ้าน บรรยากาศในยามนั้นสำหรับเด็กๆแล้วก็ราวกับได้ขึ้นสวรรค์ไป ๔-๕ วัน ได้กินขนมไพ่แถมลูกโป่ง ได้เสื้อกันหนาวและผ้าห่มผืนใหม่ซึ่งใส่และห่มแล้วก็เห่อแทบจะนอนไม่หลับ

พื้นฐานการติดต่อและก่อเกิดเครือข่ายทางสังคมของชาวบ้านในพื้นถิ่นหนองบัว โดยมากจึงเป็นเครือข่ายการพึ่งพาอาศัยเพื่อการดำรงชีวิต แลกเปลี่ยนสิ่งของเพื่ออุปโภคบริโภคและปัจจัยเพื่อการทำมาหากิน สุขภาพและการสาธารณสุขเน้นการพึ่งตนเองและเป็นวิถีสุขภาพในความเชื่ออีกชุดหนึ่ง เรียนรู้และสัมผัสโลกภายนอกผ่านสื่อกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับคนภายนอก ผู้คนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะสามารถคิดถึงการเรียนรู้และการศึกษาสมัยใหม่ที่กว้างไกลไปมากกว่าประถม ๔ และการศึกษาอบรมผ่านการบวชเรียนจากวัดในท้องถิ่น

  เศรษฐกิจแบบพึ่งพาอาศัยกัน  : ความผูกพันดังญาติของผู้คน 

การเดินทางด้วยเท้า เกวียน และเรือพาย นอกจากจะต้องพึ่งพาอาศัยผู้คนตามแหล่งปลายทางและแหล่งพักการเดินทางตามแหล่งต่างๆแล้ว ก็เอื้อต่อการได้ปฏิสัมพันธ์กันของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ชาวบ้านจึงมักจะรู้จักและนับความเป็นญาติพี่น้องกันตลอดเส้นทาง รวมทั้งในแหล่งที่จอดกองคาราวานเกวียนและท่าจอดเรือที่บ้านชุมแสง พื้นฐานดังกล่าวยังคงสะท้อนให้เห็นได้แม้ในยุคที่มีรถโดยสารแล้ว โดยจะพบว่าการโดยสารรถเมล์หนองบัว-ชุมแสงนั้น จะเป็นรถโดยสารที่เดินทางอย่างแช่มช้าเพราะจะต้องแวะรับฝากและส่งของฝากถึงกันไปด้วยตลอดทาง เมื่อจอดที่ใด ทั้งคนขับรถและผู้โดยสารก็มักจะตะโกนทักทายเยี่ยมเยียนคนรู้จักกันในสองข้างทางไปด้วย

อธิบายภาพ ๓ : กลุ่มผู้สูงวัย ริมซ้ายสุดจากอำเภอหนองบัว ชุดสีเหลืองที่สามจากริมขวาคือแม่ของผู้เขียน นางบุญมา คำศรีจันทร์ จากบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว ส่วนที่เหลืออีก ๔ ท่านเป็นกลุ่มคุณแม่จากชุมแสง ทุกท่านเป็นคนเก่าแก่ เป็นเจ้าของกิจกรรมและร้านค้าทั้งในยุคดั้งเดิมและปัจจุบันของชุมแสง มีลูกหลานที่เล่าเรียนทำการงานอยู่ทั่วประเทศ ๖-๘ คน คุณแม่ชุดสีม่วงอ่อนนั้น มีลูก ๔ คน เป็นหมอ ๓ คน และวิศวกร ๑ คน คนหนึ่งอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณแม่จากหนองบัวริมซ้ายสุดเป็นครอบครัวกิจการโรงสีเก่าแก่ที่หนองบัว ข้างสระวัดหลวงพ่ออ๋อย 

เมื่อสงกรานต์ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ระหว่างน้องสาวและแม่รอส่งผมขึ้นรถไฟไปเชียงใหม่เมื่อกลางดึกของคืนวันหนึ่ง แม่มองไปยังลานจอดพักกองคาราวานเกวียนจากบ้านของเราซึ่งปัจจุบันได้เป็นท่าจอดรถชุมแสง-หนองบัว พร้อมกับเดินชมรอบๆสถานีรถไฟชุมแสงซึ่งนอกจากพนักงานรถไฟ ๒ คนกับน้องสาว หลาน แม่ และผมแล้ว ก็ไม่มีใคร แม่ได้เล่าเรื่อง พ่อเฒ่าคูณ ที่บ้านชุมแสงให้ผมฟัง

เมื่อหลายปีก่อน มีคนเล่าให้แม่ฟังว่า พ่อเฒ่าคูณ คนชุมแสงซึ่งเคยผูกพันกับชาวบ้านแถวบ้านผม เมื่อแก่ตัวลงอายุกว่า ๗๐ ปีนั้น แกมักออกมานั่งอยู่ที่สถานีรถไฟชุมแสงแทบทุกวัน เมื่อเจอคนแถวบ้านผมและเขาถามแกว่าจะไปไหน แกก็บอกว่าไม่ได้ไปไหน แกมานั่งอยู่ที่สถานีรถไฟทุกวันโดยบอกว่า “...เผื่อว่าจะมีคนแถวบ้านเราออกมาบ้าง...”  แกคิดถึงชีวิตเมื่อครั้งได้ไปมาหาสู่กันอย่างในอดีตและเรียกคนแถวบ้านผมว่า ‘คนแถวบ้านเรา

แม่ว่าแกออกมานั่งอยู่สถานีรถไฟอยู่อย่างนั้นหลายปี กระทั่งมาปีสองปีนี้ แกไม่ได้ออกมานั่ง และไม่มีใครเห็นแกอีกแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 362168เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2010 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีค่ะ

สมัยก่อนทีนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพ  หน้น้ำมักจะเห็นน้ำท่วมแถวข้างทางรถไฟ อำเอภบางมูลนาคและอำเภอชุมแสง  แต่ไม่มีข่าวการเสียชีวิตเหมือนปัจจุบันนะคะ

เพื่อนคนหนึ่งเขาอยู่อำเภอชุมแสงเขาบอกว่าปลาเล็ก ๆ ไม่ทานและสามารถเลือกทานต้มยำพุงปลาและหัวปลาช่อน ไข่ปลาช่อนเท่านั้น

อ่านแล้วทำให้มองเห็นวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เอาของแลกได้กลับไปแบ่งกัน เด็ก ๆ ได้ทานขนมอร่อย ได้ผ้าห่มใหม่

ความรัก ความสามัคคีอันดีต่อกันเป็นพื้นฐานการปฏิบัติที่สืบต่อกันมา คนขับรถตะโกนทักทายกันตามเส้นทาง  ถ้าหากมีผู้คนถิ่นอื่นไปอยู่ด้วยอาจทำให้วัฒนธรรมเปลี่ยนไปนะคะ  เพราะเขาไม่คุ้นกับวัฒนธรรมดั้งเดิม

พ่อเฒ่าคูณ  คงคิดถึงคนในหมู่บ้านเพื่อนเก่า หรือคนคุ้นเคยมากนะคะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • ขอสวัสดีด้วยบรรยากาศในช่วงวันวิสาขบูชานะครับ ขอให้ได้ความงอกงามและได้มีโอกาสเข้าถึงธรรมที่ลึกซึ้งจากชีวิตและการงานทุกอย่างอยู่เสมอเลยนะครับ
  • หน้าน้ำเมื่อก่อนก็มีอุบัติเหตุคนจมน้ำอยู่เหมือนกัน ก็มีอีกหลายอย่างที่เป็นสถานการณ์สาธารณสุขซึ่งสะท้อนสภาพสังคมของยุคนั้นเหมือนกันละครับ เช่น จมน้ำ งูเห่ากัด ฟ้าผ่า ควายขวิด เสือกัด แถวบ้านก็เลยจะมีข่าวลือเรื่อง จระเข้จากบึงบระเพ็ด และพรายน้ำ ควบคู่ไปกับหน้าน้ำด้วย กันเด็กและผู้ใหญ่เล่นน้ำในที่ซึ่งมีความเสี่ยง เช่น เชี่ยวกราก ลึกและเย็นซึ่งเป็นตะคริวง่าย ก็เป็นยาแก้ของสังคมได้ดีเหมือนกันนะครับ 
  • เป็นความจริงครับ แม้ในรุ่นผมนี่ใครจับปลาเล็กๆมากินนั้น นอกจากจะถือว่าไม่มีทักษะทำมาหากินแล้ว ต้องถือว่าผิดคุณธรรมและจริยธรรมในการทำอยู่ทำกินเอาเลยทีเดียว
  • เมื่อก่อนนี้เมื่อถึงหน้าหนาว มันหนาวแสนหนาวจริงๆละครับ  ผ้าห่มก็จะห่มกันแบบขาดแล้วขาดอีกจนห่มคลุมได้ไม่หมดทั้งตัว คลุมโปงแก้หนาวหัวขาก็โผล่ พอม้วนตัวซุกขาในผ้าห่ม หลังกแตะพื้นเย็นเฉียบ 
  • หลังเกี่ยวข้าว ได้ขายข้าวหรือเอาข้าวไปแลกสิ่งของ พอเด็กๆและคนเฒ่าคนแก่ได้ผ้าห่มกับเสื้อผ้ากันหนาวนี่ เลยเป็นเรื่องที่มีความหมายมากจริงๆละครับ
  • นอกจากกันหนาวร้อนแล้ว เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มแทบไม่มีความหมายอย่างอื่นเลย เพราะหน้าอื่นก็ทำการงานและไปไหนมาไหนด้วยการถอดเสื้อผ้านุ่งผ้าขาวม้า กางเกงตัวเดียวเหมือนกันหมด ผู้หญิงก็มีซิ่นกับเสื้อคอกระเช้าแทบจะเหมือนกันหมด
  • มานั่งนึกย้อนกลับไปดู  ก็เข้าใจและเห็นภาพอย่างชัดเจนเลยครับว่า การอายต่อความเป็นธรรมชาติของตัวเองและอายเฟอร์นิเจอร์แสดงความเป็นตัวตนต่อกันของผู้คนนั้น เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นตามสภาพแวดล้อมของยุคสมัยหนึ่งๆ ที่รุงรังมากมากเลยทีเดียว  
  • เดี๋ยวนี้สังคมขยายตัวและผสมผสานกันจนเหมือนกับทุกๆที่แล้วละครับ กลุ่มคนที่ยังคงนั่งรถเมล์และรถประจำทางอยู่โดยมากแล้วก็จะมักเป็นคนที่อยู่ในวิถีชุมชนดั้งเดิม เลยมักจะปฏิบัติต่อกันได้ในแนวทางแบบชาวบ้านๆ นั่งคุยกันได้ทั้งคันรถ แต่ก็เหลือน้อยมากแล้วครับ เวลากลับบ้านผมต้องนั่งคอยผู้โดยสารไปกับคนขับรถกับกระปี๋เป็นเวลานานเลยเชียวถึงจะพอมีผู้โดยสารให้พอเก็บค่าโดยสารได้ตังค์ไปซื้อข้าวกิน
ปีกแข็งบินต่ำ หนองกลับ

คำขวัญอำเภอหนองบัว :...'หลวงพ่อเดิมสร้างเมือง | ลือเลื่องความสามัคคี | ประเพณีบวชนาคหมู่ | หินสีชมพูคู่เขาพระ | เมืองพันสระนามกล่าวขาน | พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมากมี | ข้าวสารดีคือหนองบัว'

ท่านใดคือผู้ให้คำขวัญของหนองบัวครับ

สวัสดีครับคุณปีกแข็งบินต่ำ หนองกลับ

  • ผมไม่ทราบในรายละเอียดเหล่านี้เลยครับ ท่านพระอาจารย์มหาแลอาจจะทราบนะครับ สักพักหนึ่งท่านผ่านเข้ามาเห็นก็อาจจะพอให้ความรู้ได้ ท่านนอกจากจะรู้เรื่องท้องถิ่นดีมากแล้ว ยังสามารถถามไถ่เครือข่ายผู้รูทั้งชาวบ้านและคนที่มีความรู้ได้อย่างกว้างขวาง
  • ผมเพียงแต่พอจะทราบว่า การมีคำขวัญอย่างนี้ในหน่วยงาน และหน่วยทางสังคมระดับต่างๆ พบเห็นได้ทั่วประเทศและหลายระดับ เพราเป็นแนวคิดที่สืบเนื่องจากการสร้างอัตลักษณ์และสะท้อนความมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาบนความเข้มแข็งและสิ่งดีที่ตนเองมีอยู่ของชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ดังนั้น จึงเชื่อว่าแทบจะทุกกระทรวง โดยเฉพาะมหาดไทยนั้น จะมีการเขียนวิสัยทัศน์ตนเองให้อยู่ในรูปของคำขวัญเช่นเดียวกับที่เห็นจากหนองบัวนี้
  • กระบวนการและวิธีได้มาซึ่งวิสัยทัศน์และบ้างก็เขียนให้อยู่ในรูปของคำขวัญอย่างนี้ มีหลายแนวครับ (๑) บางแห่งชอบวิธีเคลื่อนไหวความสนใจของสังคมและสื่อ ก็อาจสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจัดเป็นกิจกรรมประกวด ให้กรรมการเลือก แล้วให้รางวัล (๒) บางแห่งชอบแนวคิดการสร้างแบรนด์แบบมืออาชีพ ก็อาจจะจ้างบริษัทและกลุ่ม Freelance มาวิเคราะห์องค์กร จัดวางคอนเซ็ป วิเคราะห์วิสัยทัศน์ และสร้างคำขวัญให้ (๓) บางแห่งชอบวิธีแปรให้เป็นโอกาสพัฒนาองค์กรและเครือข่ายจัดการตนเองอย่างมียุทธศาสตร์ พร้อมกับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเรียนรู้ของสังคม ก็อาจจัดเวทีประชาคม เรียนรู้สังคม ค้นหายุทธศาสตร์อนาคตร่วมกัน แล้วก็สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันขึ้นมาเพื่อระดมพลังสังคมในท้องถิ่นให้พัฒนาตนเองไปด้วยกัน (๔) บางแห่งจัดกระบวนการ AIC ทำแผนแม่บทชุมชน จากนั้น ก็เขียนวิสัยทัศน์ชุมชนและหน่วยงาน ในรูปของคำขวัญ เพื่อจะได้สื่อสารและเข้าใจร่วมกันในวงกว้างได้ง่ายๆ
  • ผมเคยจัดกระบวนการให้หน่วยงานและชุมชนหลายแห่งในรูปแบบที่ ๓ และ ๔ โดยนำเอากระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการไปช่วยด้วย
  • เข้าใจว่า อำเภอหนองบัว น่าจะทำเป็นงานเชิงนโยบาย ซึ่งหน่วยงานในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำไปพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งมหาดไทยนั้น มีมือดีของตนเองและจากเครือข่าย ทำแบบที่ ๔ เยอะครับ แต่อาจจะผสมกับการจัดประกวดคำขวัญด้วย เพราะหน่วยงานในมหาดไทยต้องส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • แต่ก็ไม่ทราบจริงๆครับ เป็นเพียงพยายามคาดคะเนเพื่อให้คุณปีกแข็งบินต่ำ หนองกลับ และท่านผู้สนใจพอได้เค้าเงื่อนและไปค้นหามาแบ่งปันกันต่อไปน่ะครับ
  • ที่จริงเป็นคำถามเรื่องที่น่าสนใจและเป็นการให้เกียรติ ทั้งต่อคนที่คิดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเป็นที่มาของคำขวัญนี้ของอำเภอหนองบัวนะครับ จะมีใครที่อยู่อำเภอ หรือคนที่เกี่ยวข้อง ที่จะกรุณามาเล่าให้คุณปีกแข็งบินต่ำ หนองกลับได้ทราบไหมครับ ผมและผู้อ่านทุกท่านก็สนใจอยากทราบ อยากเรียนรู้เพื่อน้อมคารวะไปด้วยเหมือนกันครับ

  แผนที่และคำขวัญ    อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์    

                                   

                                             ที่มา : จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

  • เห็นคำขวัญแล้วก็สะท้อนความเป็นหนองบัวทางด้านต่างๆได้ดีเหมือนกันนะครับ จากที่เมื่อก่อนคนจะเห็นแต่ความกันดาร แห้งแล้ง
  • อย่างข้าวสารหนองบัวนั้นเป็นที่รู้จักระดับประเทศเลย แต่ก็รู้จักเพียงข้าวสารนะครับ ผู้คนและเรื่องราวของสังคมคนหนองบัว คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยรู้จัก

มีคำถามต้องการคำตอบที่บล๊อกครูบันเทิงค่ะ  เรียนเชิญน่ะค่ะ..คอย คอยค่ะ..

สวัสดีครับคุณครูบันเทิงครับ

  • แวะไปดูแล้วครับ ขอบคุณมากเลยครับที่มาชวนเชิญให้ผมได้ทราบและมีส่วนร่วมด้วย
  • เป็นวงแลกเปลี่ยนเสวนาที่คึกคักและมีความเป็นเพื่อนกันดีครับ
  • มีลูกเล่นที่นำมาทำเทคนิคแอนนิเมชั่นที่ทำให้รูปน่าสนใจดีมากเลยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เห็นภาพวิถีชีวิตชาวบ้าน อาจารย์พาย้อนอดีตได้อย่างน่าประทับใจค่ะ

มาเรียนว่าได้รับหนังสือแล้วค่ะ

มีดอกกล้วยไม้มาฝากด้วย เพิ่งวาดเสร็จได้วันสองวันนี้เองค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

  • รูปนี้ก็งามอีกแล้วนะครับ
  • จับอารมณ์ความสดและหนาของกลีบดอก ใบ กับความอ่อนของดอกตูมได้ดีจริงๆเลยครับ
  • มีน้องๆบอกว่าคุณณัฐรดากับอาจารย์ ดร.ขจิต ไปประชุมพุทธศาสนาโลกเนื่องในวันวิสาขบูชามา ขออนุโมทนาด้วยครับ
  • เหมือนจะรู้ว่าอาจารย์ถามถึง
  • ฮ่าๆๆ
  • เอาภาพมาฝาก งานวิสาขบูชาโลกครับ
  • แถวๆๆบ้านตอนอยู่หนองขาว บ้านพ่อ เข้าใจว่าใช้มะพร้าวแลกข้าว แต่จำไม่ได้แล้วว่ามะพร้าวกี่ลูกต่อข้าวเท่าไร  ตอนนั้นยังเด็กมากๆๆ แต่ดูเหมือนว่ามีมะพร้าวแลกข้าวเม่าด้วย
  • ผมชอบกินข้าวเม่ามากๆๆ ตอนตำต้องใช้คนตำหลายคนสลับกันสนุกดี
  • เอาต้นนุ่นมาฝากแล้วครับ
  • http://gotoknow.org/blog/nongbua-community/359371
  • ขออนุโมทนาครับอาจารย์
  • อาจารย์เป็นคนบ้านหนองขาว เมืองกาญจนบุรีหรอกรึ
  • เมื่อหลายปีก่อนผมไปบ้านหนองขาวบ่อยมากเหมือนกันครับ
  • เวลาไปก็รู้สึกเหมือนไปบ้านญาติพี่น้องเลย
  • เคยได้ทำงานชุมชนด้วยกันที่เมืองกาญจน์ ตั้งแต่หลวงพ่อวัดหนองขาวจนถึงกลุ่มที่ทำวิจัยชุมชนบ้านหนองขาว
  • มีกลุ่มวัยรุ่นด้วยครับ เมื่อสองปีที่แล้วผมไปประชุมที่ สสจ.กาญจนบุรี ก็มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินมาสวัสดีและแนะนำตัวเอง
  • เขาบอกว่าเขาเป็นเด็กจากบ้านหนองขาว เคยทำงานชุมชนด้วยกันเมื่อตอนเขาเรียนมัธยม ตอนนี้เขาจบมหาวิทยาลัยและทำงานแล้วที่ สสจ.เมืองกาญจน์
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์คุณปีกแข็งบินต่ำ หนองกลับ ชาวหนองบัวและทุกท่าน

คำขวัญอำเภอหนองบัว

หลวงพ่อเดิมสร้างเมือง       ลือเลื่องความสามัคคี 
ประเพณีบวชนาคหมู่          หินสีชมพูคู่เขาพระ
เมืองพันสระนามกล่าวขาน  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมากมี 
ข้าวสารดีมีชื่อ                   นามระบือคือหนองบัว

ผู้ประพันธ์คำขวัญอำเภอหนองบัว

อนุโมทนาขอบคุณ คุณปีกแข็งบินต่ำ หนองกลับ จาก(คห.๓)ที่ถามเรื่องผู้แต่งคำขวัญประจำอำเภอหนองบัวและอาจารย์วิรัตน์ที่ให้โอกาสอาตมาได้ตอบคำถามความรู้ข้อมูลชุมชนเรื่องนี้
ท่านผู้ประพันธ์คำขวัญดังกล่าวก็คือพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระนิภากรโสภณ(เจ้าคุณไกร ฐานิสฺสโร-ศรสุรินทร์) เจ้าอาวาสวัดหนองกลับ และเจ้าคณะอำเภอหนองบัวรูปปัจจุบัน ท่านได้ประพันธ์ไว้หลายปีมาแล้ว เมื่อตอนที่ท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวาปีปทุมรักษ์

ท่านได้อธิบายให้ฟังว่า หลวงพ่อเดิมนั้นท่านไปที่ไหนก็จะสร้างสาธารณประโยชน์ไว้ที่นั่นทุกที่ กล่าวกันว่าท่านสร้างโบสถ์ในจังหวัดนครสวรรค์ยี่สิบกว่าหลังนี่นับเฉพาะโบสถ์อย่างเดียวหนา เสนาสนะอื่นๆนั้นมีมากมาย เช่น ศาลาการเปรียญนี่ก็หลายวัดมาก และเฉพาะที่วัดหนองกลับนี่ต้องถือว่าใหญ่สุดๆ ทั้งขนาดความใหญ่โตของศาลาและเสาไม้ขนาดใหญ่ที่โอบคนเดียวไม่รอบ หลวงพ่อเจ้าคุณไกรท่านก็ประมาณเอาว่าศาลาวัดหนองกลับนั้นคือเมืองหนองบัวนั่นเอง จึงได้ขึ้นต้นวรรคแรกว่าหลวงพ่อเดิมสร้างเมือง

วรรคที่สอง ลือเลื่องความสามัคคี ตอนที่หลวงพ่ออ๋อยนิมนต์หลวงพ่อเดิมมาเป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญและอื่นๆ ท่านเห็นคนหนองบัวแล้วก็มีความประทับใจอย่างมากสิ่งที่ท่านประทับใจก็คือคนหนองบัวสามัคคีกันดีมากและเสียสละช่วยเหลืองานวัดทุกอย่างใครมีอะไรก็นำมาถวายวัด อีกทั้งผู้คนก็ทำงานเก่งเป็นช่างกันทุกคน ผู้หญิงก็มาช่วยกันทำครัวทำกับข้าวเป็นแรงงานฝ่ายกำลังบำรุงกันอย่างขยันขันแข็ง ท่านชื่นชมยกย่องคนหนองบัวว่าเป็นคนเสียสละเป็นผู้มีจิตสาธารณะเอาใจใส่และร่วมมือกันพัฒนาส่วนรวม

ประเพณีบวชนาคหมู่ เมื่อหลวงพ่อเดิมท่านนำพาชาวบ้านสร้างศาลา กุฏิ บูรณะโบสถ์เสร็จแล้ว ท่านเห็นว่าชาวหนองบัวมีความสามัคคี ก็เลยได้ร่วมกันกับหลวงพ่ออ๋อยจัดบวชนาคหมู่ขึ้น ซึ่งก็มีคนมาบวชกันเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นมาหลวงพ่ออ๋อยก็ได้ปฏิบัติสืบต่อประเพณีบวชนาคหมู่ที่หลวงพ่อเดิมเริ่มไว้ จนเรื่องนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของอำเภอหนองบัวจนกระทั่งปัจจุบัน

หินสีชมพูคู่เขาพระ  เรื่องนี้เมื่อก่อนไม่มีผู้คนกล่าวถึง คนหนองบัวเองก็จะกล่าวเพียงว่าเขาพระมีหินสีแดงสวยงาม จนเมื่อพระครูวาปีปทุมรักษ์(สมณศักดิ์ในขณะนั้น)ได้มาพัฒนาวัดเขาพระที่สร้างโดยหลวงพ่ออ๋อย และพื้นที่ป่าบริเวณรอบๆเขาพระ เขาสูง ช่วงนั้นป่าไม้เหลือไม่มากแล้ว เพราะมีผู้ชาวบ้านมาจับจองทำไร่กันจำนวนมาก ท่านเลยกันแนวพื้นที่ใกล้เขาพระไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ มีบริษัทจะมาสัมปทานหินสีชมพูเขาพระ ท่านได้ต่อสู้เรื่องนี้จนเขาพระไม่ถูกทำลาย และปัจจุบันป่าเขาพระ-เขาสูงที่เป็นป่าต้นน้ำลำธารได้เป็นที่ตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในลักษณะโครงการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารนั่นก็คือ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บริเวณเทือกเขาพระ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

เมืองพันสระนามกล่าวขาน  เมืองหนองบัวนั้นทุกหมู่บ้านทุกวัด และโรงเรียนมีสระน้ำประจำทุกแห่งเพราะหนองบัวกันดารขาดแหล่งน้ำบริโภคใช้สอย จึงต้องขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง เช่น สระหลวงพ่ออ๋อย วัดหนองกลับ สระเกาะลอย สระหนองกลับ สระกำนันเทอญ สระกำนันแหวน ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมากมี  อันนี้เป็นของโครงการของท่านเจ้าคุณไกรโดยตรงเลย จัดเอง ทำเอง ท่านเก็บสะสมของเก่า ของโบราณ ทั้งขอซื้อจากชาวบ้าน และมีผู้บริจาคให้ท่าน เครื่องมือเกษตร และอื่นๆ จำนวนมากเพราะเห็นว่าต่อไปจะสูญหายไปกับกาลเวลาด้วยไม่มีใครเก็บรักษา ท่านจึงสร้างพิพิธภัณฑ์เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ที่วัดเพื่อให้ลูกหลานภายหลังได้ศึกษาเรียนรู้และเห็นคุณค่ามรดกภูมิปัญญาของไทยของชาวบ้าน

ข้าวสารดีมีชื่อ นามระบือคือหนองบัว
พื้นที่ส่วนใหญ่ของหนองบัวเป็นพื้นที่ราบเหมาะแก่การทำนาข้าว และหนองบัวก็เป็นแหล่งที่มีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะข้าว เรื่องข้าวสารดีมีคุณภาพจึงเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป

 

ครอบครัวผมก็อพยพมาจากชุมแสง เตี่ยกับแม่มาจากเมืองจีนก็มาอาศัยอยู่ที่ชุมแสง เตี่ยมาอาศัยและช่วยงานอยู่กับอาเหล่าเจ็ก (ถ้าเป็นคนไทยต้องเรียกว่าปู่ ซึ่งเป็นอาของพ่อ)ตั้งแต่ยังเด็ก (อายุประมาณสิบกว่าขวบ) ส่วนแม่ก็มาเมืองไทยตั้งแต่อายุประมาณ 10ขวบ ก็มาอาศัยอยู่กับอาเหล่ากู๋ (ตา ซึ่งเป็นน้าชายของแม่) จนแต่งงานกันและมีลูก คือพี่คนโตๆผม หลายคนก็เกิดที่ชุมแสง ส่วนทีเหลือรวมทั้งผมด้วยมาเกิดที่หนองบัว หลังจากที่บ้านได้ย้ายมาหนองบัว เลยมีญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ที่ชุมแสงหลายคน ชาวบ้านร้านตลาดที่หนองบัวส่วนใหญ่ก็อพยพมาจากชุมแสง หนองบัวกับชุมแสงจึงใกล้ชิดกันมาก เพราะเมือก่อนหนองบัวมีทางออกสู่โลกภายนอกแค่ทางเดียวคือชุมแสง ส่วนอีกทางคือท่าตะโกดูจะไกลและไม่สะดวกเท่า คนชุมแสงเมื่อจะขยับขยายที่ทางทำกินก็จะมองหนองบัวเป็นอันดับแรกๆ
ตอนเล็กๆ เตี่ยจะต้องไปทำธุระที่ชุมแสงอยู่บ่อยๆ เท่าที่ผมจำความได้ ก็จะมีรถเมล์ของฮั้งคีมหรือเปล่าหนอที่วิ่งระหว่างหนองบัว-ชุมแสงแล้ว แต่ก็วิ่งได้เฉพาะหน้าแล้ง หน้าฝนหมดสิทธิ์วิ่ง ไปชุมแสงแต่เช้ามืด กลับมาก็มืดค่ำ เตี่ยมักจะมีฝักบัว รากบัว ขนมจีบซาลาเปามาฝากพวกเราด้วย จำได้เคยขึ้นรถเมล์ไปชุมแสง เมารถอ้วกแตกอ้วกแตน ไปเยี่ยมบ้านอาเหล่าเจ็ก ซึ่งมี โรงมวนยาสูบและสนามแบดมินตันอยู่ทางใต้ และมีร้านขายทองที่อยู่ในตลาดริมแม่น้ำ ผมชอบบรรยากาศริมแม่น้ำมาก นั่งดูเรือนแพ ดูเรือ ไม่รู้เบื่อ ก็ที่หนองบัวมันไม่มีให้ดูนี่
พอโตขึ้นมาพอที่จะเดินทางไปคนเดียวได้ (ประมาณป.6-7) วันหยุดซึ่งส่วนใหญ่เป็นวันเสาร์ก็จะนั่งรถเมล์ไปซื้อของที่ชุมแสงมาขายอยู่บ่อยๆ นั่งรถนับเสาโทรเลขเพลินเลย ที่เสาโทรเลขมันจะมีตัวเลขบอกระยะทางที่พอจะให้เรารู้ว่าตอนนี้ถึงไหนแล้ว บ่อยครั้งที่คนโดยสารแน่นมาก(ทั้งคนทั้งสินค้า)โดยเฉพาะขากลับมาหนองบัว ต้องขึ้นไปนั่งบน หลังคา ได้นั่งมองวิวท้องนาพาโนรามา360องศาระหว่างทาง แต่ก็ต้องคอยก้มหลบกิ่งไม้ข้างทางด้วย ดีว่ารถเมล์วิ่งไม่เร็วนัก ชั่วโมงกว่าๆกับระยะทาง 30 กม.(ปัจจุบันถึงถนนหนทางดีกว่าสมัยก่อนเยอะ แต่รถเมล์ก็ยังใช้เวลาเกือบชั่งโมงอยู่ดี) พอใกล้ๆชุมแสง แถวๆหัวกระทุ่ม จะเห็นนกยาง นกแซงแซว มีสะพานข้ามคลองยาวๆ 3- 4 สะพานและชาวบ้านยืนทอดแหอยู่ข้างทาง แถวชุมแสงนี่น้ำท่าอุดมสมบูรณ์จริงๆ มีชานเทแร่ยิปซั่มจากหนองบัว ที่มาพักไว้เพื่อขนถ่ายขึ้นรถไฟไปยังปลายทางอีกที นอกจากนี้ก็มีแหล่งชุมชนคนลิเกของชุมแสงก็จะอยู่แถวๆนี้
เมื่อก่อนไปชุมแสงนอกจากไปซื้อของมาขายแล้ว ยังต้องไปธ.ออมสิน ฝากเงิน50- 100บาท แล้วก็จะได้การ์ดสวยๆมาสะสม บางโอกาสก็จะได้แจกกระปุกออมสิน บรรยากาศแบบนี้ไม่น่าจะมีแล้ว ที่เด็กๆจะมาที่ธนาคารเยอะมาก
ลงจากรถเมล์ก็เดินข้ามรางรถไฟทะลุสถานีรถไฟก็เป็นตลาดชุมแสงแล้ว เดินเข้าไปอีก 100เมตรก็จะเจอแม่น้ำน่านแล้ว เมื่อก่อนจะมีห้องแถวร้านค้าขนานไปกับแม่น้ำหันหลังบ้านให้แม่น้ำ การค้าขายในช่วงนั้นคึกคักมากผู้คนจอแจ นอกจากคนหนองบัวแล้วก็ยังมี มาจากบางมูลนากอีก ผิดกับปัจจุบันคนชุมแสงมักจะบ่นให้ฟังอยู่บ่อยๆว่าค้าขายไม่ดี เงียบวังเวงสู้หนองบัวไม่ได้ เพราะการคมนาคมทางน้ำและ ทางรถไฟไม่ได้รับความนิยม อีกอย่างคือการขยายตัวของชุมแสงไปได้เฉพาะทางด้านข้างเท่านั้น(เหนือ-ใต้) เนื่องจากโดนบล็อคไว้ด้วยรางรถไฟและแม่น้ำ
สิ่งที่ชุมแสงมีแต่หนองบัวไม่มีก็คือแม่น้ำกับทางรถไฟ(เมื่อก่อนมีธนาคารอีกอย่างที่หนองบัวยังไม่มี)
สิ่งที่หนองบัวมีแต่ชุมแสงไม่มี (ไม่แน่ใจ)น่าจะเป็นภูเขารึเปล่า

 กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • ผมว่าแล้วว่าจะต้องไม่ผิดหวัง
  • เลยได้รู้ความเป็นมาและผู้คนที่เกี่ยวข้องไปด้วย
  • ประเดี๋ยวผมจะหาโอกาสดึงไปทำเป็นหัวข้อต่างหากไว้หัวข้อหนึ่งนะครับ
  • เด็กๆ ชาวบ้าน สื่อ และคนทั่วไปที่สนใจ เมื่ออยากรู้ความเป็นมาก็จะได้เป็นแหล่งค้นคว้าได้ง่ายๆ

  สวัสดีครับฉิกครับ 

  • ได้ย้อนความทรงจำ สนุกดี มีรายละเอียดดีจัง
  • ดูเหมือนว่าหลังสถานีรถไฟจะมีโรงหนังด้วย
  • หากเดินหันหน้าไปทางแม่น้ำ ก็จะอยู่ซ้ายมือ
  • ฉิกทำให้นึกขึ้นได้ถึงสะพานไม้ยาวๆและน้ำเชี่ยวกราก ก่อนถึงชุมแสง ลืมไปเลยละครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท