การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๔. ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง : ทฤษฎี



          บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย 

          ตอนที่ ๑๔และ ๑๕ มาจากบทที่ 7 How Do Students Become Self-Directed Learners?ซึ่งผมตีความว่าเป็นการทำความเข้าใจและฝึกวิธีเรียนรู้ อย่างรู้ขั้นตอนของการเรียนรู้  ช่วยให้ นศ. ไม่ใช้วิธีเรียนรู้แบบผิดๆ  ที่ทำให้ทั้งเปลืองแรง แล้วผลการเรียนยังไม่บรรลุเป้าหมาย “รู้จริง” อีกด้วย

          ตอนที่ ๑๔ ว่าด้วยทฤษฎี  ตอนที่ ๑๕ว่าด้วยภาคปฏิบัติ หรือยุทธศาสตร์ 

          หนังสือบทนี้เริ่มทำนองเดียวกับบทก่อนๆ  คือเริ่มด้วยเรื่องเล่า ๒ เรื่อง ของ ศาสตราจารย์ ๒ คน  ที่คนหนึ่งเล่าเรื่อง นศ. ที่ทำการบ้านแบบทำวันนี้ส่งพรุ่งนี้  และอ้างว่าตนเป็นนักเรียนเรียนเก่งวิชานั้นมาจากชั้นมัธยม  ไม่พอใจกับเกรดที่ได้ต่ำกว่าที่คาด  ศาสตราจารย์อีกคนหนึ่งเล่าเรื่อง นศ. ที่ขยันสุดขีด แต่ผลสอบแย่  หนังสือบอกว่า นศ. ๒ คนนี้มีปัญหาเดียวกัน  คือ เรียนไม่เป็น  หรือไม่มีทักษะการเรียนรู้ ไม่เข้าใจวิธีการและขั้นตอนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง  ไม่เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ของตนเอง


คุณสมบัติของผู้สามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self-Directed Learner)

          ผู้ที่สามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self-Directed Learner) ต้องรู้ขั้นตอนของการเรียนรู้ที่ถูกต้อง  และมีทักษะในการตรวจสอบขั้นตอนการเรียนรู้ของตนเอง  โดยขั้นตอนของการเรียนรู้มี ๕ ขั้นตอน คือ


๑.  มีทักษะในการประเมินตัวงานที่จะต้องทำ

๒.  มีทักษะในการประเมินความรู้และทักษะของตนเองสำหรับทำงานนั้น

๓.  มีทักษะในการวางแผนการทำงาน

๔.  มีทักษะในการติดตามประเมินความก้าวหน้าของตนเอง

๕.  มีทักษะในการปรับปรุงยุทธศาสตร์การทำงานของตน


          ทักษะชุดนี้เรียกว่า metacognition skills  แปลว่า ทักษะในการทำความเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ โปรดสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้มองการเรียนกับการทำงาน หรือการปฏิบัติ เป็นสิ่งเดียวกัน  มีขั้นตอนแบบเดียวกัน



          เพื่อให้สามารถเรียนรู้แบบกำกับตนเองได้  นศ. ต้องฝึกแต่ละขั้นตอนใน ๕ ขั้นตอน อย่างเข้าใจหลักการหรือทฤษฎีของแต่ละขั้นตอน  มีสติอยู่กับทักษะแต่ละตัว  และฝึกฝนจนชำนาญ  และทำได้อย่างอัตโนมัติในที่สุด


ประเมินงานที่อยู่ตรงหน้า

          เป็นเรื่องแปลกมาก ที่ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า เมื่อครูมอบชิ้นงานให้ นศ. ทำ  ครึ่งหนึ่งของ นศ. ไม่ได้อ่านโจทย์ให้ชัดเจน   และทำงานตามโจทย์ที่ตนคุ้นเคยสมัยเรียนชั้นมัธยม  ผลงานวิจัยชิ้นนี้บอกเราว่า ขั้นตอนที่ ๑ ของ metacognition คือการที่นศ. จำนวนหนึ่งประเมินชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย  ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ  ต้องมีการฝึกฝน 

          และเรื่องเล่าเรื่องแรกของบทที่ ๗ นี้ ก็สะท้อนว่า นศ. ที่เคยเป็นนักเรียนเกรด เอ ในชั้นมัธยม ก็ตกหลุมขั้นตอนที่ ๑ ของ metacognition  คือส่งผลงานที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่ครูกำหนดไว้ในใบงาน   เนื่องจากคุ้นเคยกับการบ้านหรือข้อสอบแบบถามความจำ เมื่อเห็นคำบางคำก็กระโจนใส่ว่าหวานหมูเรื่องนี้เรารู้แล้ว  ไม่ได้อ่านให้รอบคอบและไตร่ตรองว่าโจทย์คืออะไร

          ครูต้องช่วยแก้จุดอ่อนนี้ของ นศ.  ช่วยฝึกฝนให้ นศ. มีทักษะและนิสัยในขั้นตอนนี้ - ประเมินชิ้นงาน ทำความเข้าใจว่าผลงานที่ถือว่าคุณภาพดีเป็นอย่างไร  ต้องการความรู้และทักษะอะไรบ้างในการทำงานนั้นให้บรรลุผล  และตั้งใจทำงานเพื่อส่งผลงานที่มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้

          ทักษะนี้ฝึกโดย หลังจากครูมอบหมายชิ้นงาน  ก็ให้ นศ. แต่ละคนอ่านและกำหนดในใจว่า โจทย์ที่ได้รับคืออะไร  ผลงานที่ถือว่ามีคุณภาพดีเป็นอย่างไร  ต้องการทักษะอะไรบ้างในการทำงานนั้น  แล้วใหั นศ. จับคู่แลกเปลี่ยนความเห็นกัน  ตามด้วยการอภิปรายในชั้น  โดยจับฉลากให้คู่ นศ. จำนวนหนึ่งเสนอความเห็นของคู่ตน  ตามด้วยการอภิปรายทั้งชั้น 


ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง ในการทำงานนั้น

          ผลงานวิจัยบอกว่า นศ. มักจะประเมินความสามารถของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง  และ นศ. ที่เรียนอ่อนมักมีความสามารถในการประเมินตนเองต่ำด้วย   ซึ่งหมายความว่า นศ. ที่เรียนอ่อนมักประเมินความสามารถของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง  ในขณะที่ นศ. เรียนเก่งมักประเมินตรงความเป็นจริง  ทั้งก่อนสอบและหลังสอบ 

          ทักษะในการประเมินตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ครูต้องฝึกให้แก่ นศ.  ยิ่ง นศ. ที่เรียนอ่อน ครูยิ่งต้องเอาใจใส่ฝึกให้เป็นพิเศษ   เพราะความสามารถในการประเมินตนเองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ (และการทำงาน)  ในเรื่องเล่าตอนต้นบทที่ ๗ ของหนังสือ นศ. ที่มีปัญหาทั้ง ๒ คน อ่อนด้อยด้านการประเมินตนเอง  และประเมินตนเองสูงเกินจริงมากทั้ง ๒ คน 

          ผมมีความเห็นว่า นศ. คนที่ ๒ ในหนังสือ  ประเมินตนเองผิดที่  คือไปหลงประเมินที่หนังสือ ว่าตนเองอ่านหนังสืออย่างดี แต้มสีที่จุดสำคัญในหนังสือจนเปรอะไปหมด  และอ่านหลายเที่ยว  แถมยังท่องจำส่วนสำคัญเป็นอย่างดี  นศ. คนนี้ไม่ได้ประเมินความเข้าใจของตนเอง  หรือไม่มีทักษะประเมินความเข้าใจของตนเอง


วางแผนวิธีทำงานที่เหมาะสม

          ผลการวิจัยบอกว่า นศ. และ “มือใหม่” ทั้งหลาย ใช้เวลาวางแผนงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งน้อยกว่า “มือเก่า” หรือผู้ชำนาญ  ทำให้ นศ. ทำงานแบบผิดเป้าหมายได้ง่าย/บ่อย  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ นศ. ไม่เห็นคุณค่าของการวางแผนวิธีทำงาน  หรือมิฉนั้นก็ทำไม่เป็น 

          เปรียบเทียบง่ายๆ กับการต่อยมวย  นศ. และมือใหม่ ไม่ศึกษาทำความรู้จักคู่ต่อสู้  ไม่วางแผน “เข้ามวย” ให้เหมาะต่อคู่ต่อสู้ และต่อความถนัดหรือจุดแข็งของตน  เมื่อระฆังเริ่มก็ตลุยชกเลย โอกาสชนะก็ย่อมมีได้ยาก 

          นศ. ต้องได้รับการฝึกศิลปะการทำสงครามของซุนวู  คือ รู้ เขา รู้เรา  เอามาวางยุทธศาสตร์การทำสงคราม 


ลงมือทำงาน และติดตามผล

          แม้จะได้คิดวางแผนยุทธศาสตร์การทำงานอย่างดีแล้ว  เมื่อลงมือทำตามแนวทางที่วางไว้ก็ ต้องระวังระไวตลอดเวลาว่า จะได้ผลดีจริงหรือไม่  ความสามารถในการวางยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง มีความสำคัญพอๆ กันกับความสามารถในการตรวจพบข้อบกพร่องและแก้ไขเสีย 

          นั่นคือ นศ. ต้องฝึกทักษะ ติดตามผลงานของตนเอง (self-monitoring)  ผลงานวิจัยบอกว่า นศ. กลุ่มที่เรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ผลดี  จะหยุดตรวจสอบว่าตนเข้าใจเรื่องนั้นดีหรือไม่ เป็นระยะๆ  ในขณะที่ นศ. ที่เรียนอ่อนจะเรียนแบบตลุยดะ 

          ผลการวิจัยบอกอีกว่า หากครูจัดกระบวนการการเรียนรู้  โดยมีช่วงให้ นศ. ทำกิจกรรมเพื่อประเมินตนเอง เป็นระยะๆ  นศ. จะเรียนรู้ได้ดีกว่า


ไตร่ตรองสะท้อนความคิด และปรับปรุงวิธีทำงาน

          ผลการวิจัยบอกว่า แม้ นศ. จะประเมินติดตามผลการเรียนรู้ของตนเอง  และตรวจพบข้อบกพร่อง  ก็ไม่ใช่ว่า นศ. จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์หรือวิธีการเรียน/ทำงาน  นศ. มักจะยึดมั่นอยู่กับความคิดเดิมๆ วิธีการเดิมๆ  ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  เหตุผลหนึ่ง อาจเพราะ นศ. ยังไม่มีความสามารถสร้างยุทธศาสตร์แบบอื่นได้ 

          ผลการวิจัยบอกว่า นศ. ที่เรียน/ทำงาน เก่ง จะมีความสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการทำงานของตนได้  หากตรวจสอบพบว่าผลงานยังไม่ค่อยดี  แต่การเปลี่ยนแปลงแนวทางนี้ต้องลงทุน  นศ. อาจมองไม่ออกว่า ผลที่ได้จากการเปลี่ยนยุทธศาสตร์/วิธีการ จะคุ้มความยากลำบากที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ 

          ผลการวิจัยบอกว่า คนเรามักจะพอใจที่จะทำตามวิธีที่ตนคุ้นเคย และได้ผลดีพอสมควร (ปานกลาง)  ไม่ค่อยลงทุนทดลองทำตามแนวทางใหม่ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ผลดีกว่าเดิมอย่างมากมาย ตามที่คาดคิด หรือไม่ 


ความเชื่อเรื่องความฉลาดกับการเรียนรู้

          มุมมอง หรือความเชื่อ ของ นศ. มีผล (โดยไม่รู้ตัว) ต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ ของ นศ. ความเชื่อนี้รวมถึงความเชื่อเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้  ว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ทำได้เร็ว เกิดผลเร็ว  หรือเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นช้าๆ และต้องเผชิญความยากลำบาก 

          ความแตกต่างในความเชื่อเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้อีกคู่หนึ่ง คือ เชื่อว่าสติปัญญา (intelligence) เป็นสิ่งคงที่  หรือเป็นสิ่งที่ปรับปรุงเพิ่มพูนได้

          อีกเรื่องหนึ่งคือความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถ และความถนัดพิเศษ ของตนเอง 

          ผลการวิจัยบอกว่า ความเชื่อ/มุมมอง ของ นศ. ในเรื่องเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้  ผลลัพธ์ของการศึกษา  รวมทั้งคะแนนสอบ  คือ นศ. ที่มีความคิดเชิงบวก จะเรียนได้ดีกว่า 

          ผมตีความว่า นศ. ที่มีมุมมองเชิงบวก ใน ๓ เรื่องข้างต้นจะมีกำลังใจให้มุมานะพยายาม   ให้หมั่นฝึกฝนปรับปรุงตนเอง 

          เรื่องนี้บอกครูว่า ครูต้องหาวิธีการส่งเสริมให้ นศ. เปลี่ยนความเชื่อเชิงลบในเรื่องความฉลาดหรือความถนัดในการเรียนรู้  มาเป็นความเชื่อเชิงบวก  คอยชี้ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์จากตัว นศ. เอง หรือจากเพื่อน  ให้เห็นว่าความตั้งใจฝึกฝนให้ผลดีจริงๆ  รวมทั้งชี้ให้เห็นจากมุมของทฤษฎีด้วยว่า  ทฤษฎีการศึกษาสมัยใหม่ ที่มาจากการวิจัยด้าน neuro-science บอกว่าสมองเรียนรู้และพัฒนาจากการฝึกฝนหรือการปฏิบัติเป็นหลัก 


สรุป

          ประเด็นต่างๆ ที่เป็นเรื่องของความเชื่อ และความเคยชินเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก  แต่ครูก็ต้องเอาใจใส่ดำเนินการให้ นศ. ได้เรียนรู้ปรับปรุงทักษะ ๕ ขั้นตอน ที่นำไปสู่การเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้  เพราะทักษะนี้จะติดตัวศิษย์ไปตลอดชีวิต  ใช้ประโยชน์ได้เรื่อยไป  ต่างจากสาระวิชา ซึ่งใช้ได้เพียงชั่วคราว 


วิจารณ์ พานิช

๖ ม.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 531606เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2013 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2013 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

         


            ต้องฝึกทักษะ .... ติดตามผลงานของตนเอง (self-monitoring).... สำคัญจริงๆๆ นะคะ  ขอบคุณท่านอาจารย์หมอ มาก นะคะ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อครับ

ทั้ง 5 ขั้นตอนของ metacognition ในการเรียนรู้แบบกำกับตนเองนี้  ก็คือ "แนวคิด และแนวปฏิบัติ" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการเรียนรู้นั่นเองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท