มีคำขวัญวันเด็กไว้เพื่ออะไรกัน


จากที่เห็นปฏิบัติกันมานาน คำขวัญวันเด็กแต่ละปี เป็นเพียงข้อความที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นมา แล้วเด็กๆ ก็ท่องจำเพื่อนำไปตอบคำถามที่ผู้จัดกิจกรรมวันเด็กมักจะถามกัน ก่อนมอบรางวัลให้กับเด็ก

                                      

                                                        (ขอบคุณภาพจาก www.kapook.com)

างสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบสารเนื่องในโอกาส “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปี 2556 วันที่ 2 มกราคม 2556 มีสาระสำคัญ ดังนี้

"เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2556 ดิฉันขอส่งความรักความปรารถนาดี มายังเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ปกครองที่มีส่วนสำคัญ ในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศทุกคน วันเด็กแห่งชาติได้จัดขึ้นเพื่อ ให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของตน ทั้งในเรื่องของสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย ด้วยการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนประพฤติตนเป็นคนดี เชื่อฟังบิดามารดาผู้ปกครอง อยู่ในกฎระเบียบวินัย รู้จักการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม รู้จักการแบ่งปัน รู้รักสามัคคี รู้จักคิด รักตนเอง รักครอบครัว และรักประเทศชาติ ตลอดจนยึดมั่นเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ปี 2556 ดิฉันขอมอบคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ว่า รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน” เด็กและเยาวชนล้วนมีอิสระทางความคิด แต่การแสดงออกต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสมและสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการรักษาวินัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม และการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี โดยเฉพาะปัจจุบัน สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆ อย่างกว้างขวาง การแสวงหาความรู้จึงไม่มีขีดจำกัดอยู่เฉพาะภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองหลายทาง เช่น การอ่านหนังสือ การเดินทาง การสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เด็กและเยาวชนจึงต้องรู้จักคิด เลือกรับข้อมูลที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะในปี 2558 เป็นปีที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ เด็กและเยาวชนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีและภาษาของประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน พร้อมกับการฝึกฝนทักษะด้านภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อเด็ก เยาวชน และประเทศไทย ในการก้าวสู่อาเซียนได้อย่างมั่นใจ..." (http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=163383&catid=176&Itemid=524

จากที่เห็นปฏิบัติกันมานาน คำขวัญวันเด็กแต่ละปี เป็นเพียงข้อความที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นมา แล้วเด็กๆ ก็ท่องจำเพื่อนำไปตอบคำถาม ที่ผู้จัดกิจกรรมวันเด็กมักจะถามก่อนมอบรางวัลให้กับเด็ก แต่แท้ที่จริงแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมืองที่รับผิดชอบดูแลในระดับกระทรวง และข้าราชการประจำตั้งแต่ระดับกระทรวง กรม กอง ไปจนถึงระดับสถานศึกษา และองค์กรต่างๆ ในสังคม จะต้องนำไปเป็นทิศทางในการร่วมกันวางแผนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กไทยของเราได้รับการพัฒนาคุณลักษณะต่างๆ ตามที่คำขวัญวันเด็กระบุไว้ ซึ่งทุกระดับจะต้องดำเนินการให้สอดรับกัน โดยมีสถานศึกษาและครอบครัวที่ใกล้ชิดเด็กที่สุดเป็นหน่วยปฏิบัติหลัก
แต่แค่เริ่มต้นก็เห็นความไม่สอดประสานในการดำเนินการแล้ว นั่นคือ การจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติปี 2556 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การค้าของสกสค.โดย สพฐ. เป็นผู้จัดทำต้นฉบับ และได้ตั้งชื่อหนังสือ ว่า "ต้นกล้าของความซื่อสัตย์" ซึ่งเน้นไปที่การปลูกฝังคุณธรรมด้าน "ความซื่อสัตย์" ในขณะที่คำขวัญวันเด็กปี 2556 เน้นไปที่คุณธรรมด้าน "ความมีวินัย" ผู้เขียนไม่ได้มองว่า ความซื่อสัตย์ไม่สำคัญ (เพียงพูดในประเด็นของความไม่สอดคล้องของจุดเน้นเท่านั้น) ทั้งความซื่อสัตย์และความมีวินัย ต่างก็เป็นเป็นคุณธรรมที่มีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่เด็กไทยขาด ทั้งนี้ที่สำคัญก็เกิดจากผู้ใหญ่ในสังคมไม่ได้ปฏิบัติตนให้เห็นเป็นแบบอย่างนั่นเอง (ผู้เขียนได้เขียนเกี่ยวกับการเรียนรู้พฤติกรรมทางสังคม [Social] ของเด็กและเยาวชน โดยการซึมซับพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในสังคมมาแล้ว ในบันทึกเรื่อง "เด็กวอนสอนผู้ใหญ่ : วันเด็กวันครูแห่งชาติ ปี 2555")

การพัฒนาจิตลักษณะ "ความใฝ่เรียนรู้ (Curiosity)" นั้น นับว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะลักษณะใฝ่รู้(Curious) เป็นอุปนิสัยของชาวตะวันตก ไม่ใช่อุปนิสัยของคนไทยโดยทั่วไป คนที่ใฝ่เรียนรู้ คือ คนที่มีแรงกระตุ้นจากความต้องการจากภายในตน (ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่า มี "แรงจูงใจภายใน : Intrinsic Motivation") ที่จะเรียนรู้และแสวงหาความรู้/ประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างหลากหลาย เมื่อได้เรียนรู้แล้วก็จะมีความสุขความพอใจ ผู้ที่ตั้งใจเรียนและขยันอ่านบทเรียน เพราะอยากได้คะแนนดีกว่าเพื่อนๆ ไม่เรียกว่าเป็นผู้ใฝ่รู้ แต่เรียกว่าเป็นผู้ที่มี "แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ : Achievement Motivation" สูง ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผู้เขียนสอนในสถาบันอุดมศึกษา แทบจะไม่พบนักศึกษาที่ใฝ่รู้ ที่พอจะมีให้เห็นอยู่บ้างก็คือ ผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง

สำหรับการเพิ่มพูนปัญญาทำได้โดยการพัฒนากระบวนการคิด ซึ่งใช้ได้ทั้งแนวตะวันตกและตะวันออก จากการที่ผู้เขียนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดทำหลักสูตร และจัดการเรียนรู้รายวิชาการพัฒนาทักษะการคิด เห็นว่า การพัฒนาปัญญาทำได้ง่ายกว่าการพัฒนาจิต แต่ครูและผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ทำ เลยทำให้เด็กและเยาวชนตลอดจนคนไทยส่วนใหญ่คิดไม่รอบด้าน เช่น ผู้ที่จะได้รับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ก็คิดแต่ในสิ่งที่ตนจะได้ แต่ไม่คิดในสิ่งที่ตนจะเสียโดยตรง เช่น อาจจะถูกเลิกจ้าง ต้องซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคแพงขึ้นมากเทียบส่วนไม่ได้กับค่าแรงที่ได้เพิ่มขึ้น (ไม่นับข้อเสียของสังคมโดยรวมที่กลับมากระทบตนอีก) 

ในการเตรียมเด็กและเยาวชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน นั้น จุดอ่อนของนักเรียนนักศึกษาและแรงงานไทยที่เป็นข้อกังวลกันมากที่สุดก็คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นภาษาราชการของประชาคมอาเซียน มีข้อมูลว่า ความสามารถด้านการศึกษาภาษาอังกฤษของไทยเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นรองสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ผู้เขียนคิดว่า น่าจะรองเมียนมาร์ด้วย  ผู้เขียนเคยเขียนบันทึกเรื่อง "การคิดนอกกรอบ...เตรียมเด็กและเยาวชนสู่ประชาคมอาเซียน 2558 ใน Blog "E-tocommunicate..." โดยเสนอแนะแนวทางการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษให้ได้ผล ช่วงที่เขียนนั้นพบว่า มีสถิติการอ่านเพียงแค่พันต้นๆ ครั้ง แต่พอกลับเข้าไปดูเช้าวันนี้ (12 ม.ค. เวลา 07.00 น.) ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจมาก ที่พบว่า มีสถิติการอ่านเป็นหลักหมื่น คือ 17,968 ครั้ง

ในช่วงวันที่ 25-26 มกราคม 2556 ที่จะถึง ทราบว่า สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย จะจัดประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง "E-novation and Communication in ELT" ที่ขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวทางการเรียนการสอน และการวิจัยภาษาอังกฤษในชั้นเรียน ที่จะตอบรับการใช้ภาษาอังกฤษในประชาคมอาเชียน และเพื่อการปรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า กิจกรรมดังกล่าว จะเป็นอานิสงส์ให้เด็กและเยาวชนไทยในสถานศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ให้สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารได้ดีขึ้น

สำหรับผู้เขียนเอง เกษียณอายุราชการไปแล้วและไปใช้ชีวิตที่ฟาร์ม (ซึ่งใช้ Internet ไม่ได้ จึงเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกับกัลยาณมิตร GotoKnow) แต่ก็มีความคิดว่า ถ้ามีโอกาส จะไปช่วยจัดการเรียนรู้ด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในหมู่บ้านที่ตั้งฟาร์ม...วันศุกร์ที่ 11 มกราคม ที่พ่อใหญ่สอผู้จัดการฟาร์มไอดินฯ ไปร่วมกิจกรรมวันเด็กและนำขนมไปแจกเด็กๆ ผู้เขียนได้มอบสมุดเพื่อให้นำไปแจกนักเรียนและครูทุกคน มอบ "ปฎิทินส.ค.ส. ๒๕๕๖ จากฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" (ที่ผู้เขียนทำเองจาก Web.) สำหรับแจกคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครองที่ไปร่วมงาน รวมทั้งครูในโรงเรียน และมอบหนังสือที่ระลึกงานเกษียณของตนเองและท่านอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยราชัฏอุบลราชธานีจัดทำขึ้น ให้กับทางโรงเรียน เพื่อเป็นการแนะนำตัวไปพลางๆ ก่อน (ยังไม่สามารถไปร่วมงานได้ เพราะมีภาระในการดูแลลูกสุนัขที่เพิ่งนำไปเลี้ยง และดูแลถากถางวัชพืช พรวนดิน ใส่ปุ๋ย รดน้ำไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักที่ฟาร์ม)

 

หมายเลขบันทึก: 516005เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2013 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

.....ขอบคุณอาจารย์แม่มากค่ะ .... เด็ก คือ อนาคตของชาติ....ของสังคม...ของครอบครัว....ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

เรียนคุณพี่วิไล

ผมเองก็แปลกใจมากๆ ว่าคนไทย เข้าไปใช้อีเทอร์เน็ตตอนไหน เพราะตอนกลับเมืองไทยเมื่อเดือน พ.ย.จะใช้อีเทอร์เน็ต ต้องใช้อีเทอร์เน็ตคาร์ดมาเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์  ช้าก็ช้า  เพื่อนบางคนอีเมล์ยังไม่มีเลย  (คนไทยที่นี่ก็เหมือนกัน  ตอนจะค่า่ยหมอเขียวมากันเป็นร้อย  แต่จะมีอีเมลกันไม่ถึงยี่สิบคน ติดต่อกันไม่ไ้ด้เลย) พอได้เห็นบันทึกใหม่ของคุณพี่ก็ดีใจ  เพราะพอจะเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณพี่ย้ายไปอยู่ที่ฟาร์ม เรื่องการศึกษาเมืองไทย หรือการเมืองไทย เป็นปัญหาโลกแตก เพราะมันโกงกันเสียส่วนมาก  ขนาดเลือกตั้งยังโกง  ถึงได้รับเลือกตั้งขึ้นมา มันก็ซึ้อเสียงมา แล้วมาอ้างว่าเป็นคนของประชาชน  ถ้าเป็นที่นี้แล้วถูกจับได้ เป็นอันว่าติดคุกแน่ๆ  ผู้ว่าการรัฐที่ผมอยู่ไปรับเงินเขามา ตอนนี้ติดคุกกันไปแล้วไม่รู้กี่คน

เรื่องเด็กๆ  ถ้าผู้ใหญ่ทำตัวไม่ดี ผิดกฏหมายแล้วใครๆก็เคารพนับถือ เพราะหวังความก้าวหน้า  แล้วจะไปตัวอย่างที่ดีสำหรับเด็กได้อย่างไร

ทางบ้านสำคัญมากครับ  เด็กที่นี้ถ้ามาจากครอบครัวที่มีปัญหา  การเรียนก็จะตกต่ำ  ครูก็ช่วยได้ไม่มาก  เมื่องไทยเท่าที่ผมเห็นตัวใครก็ตัวมัน  คนมีเงินก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์  หรือส่งไปเรียนต่างประทศ  พ่อแม่ก็อยากให้ลูกได้ดี มีการศึกษาดี  ก็ได้แต่ทำสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับลูก

ผมเองก็แปลกใจสำหรับการเรียนการศึกษาที่เมืองไทย  เห็นมีครูบาอาจารย์เข้ามาเขียนเรื่องดีทั้งนั้น  แต่จะได้เอาไปใช้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ  เห็นมาดูงานเมืองนอกกันก็มาก

สำหรับการเรียน ไม่ว่าจะเรียนอะไร  ถ้าไม่ได้ใช้ ไม่ได้ฝึก มันก็ลืมหมด  ทำอย่างไรจะให้เด็กไทยใช้ภาษาอังกฤษให้ดี  คงต้องออกกฏหมายมาให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการเสียกระมังครับ


ขอบคุณ "Dr.Ple" มากนะคะ ที่เข้าไปให้กำลังใจอาจารย์แม่อย่างสม่ำเสมอ

ใช่ค่ะ เด็กคือ อนาคตของชาติ ตอนนี้อาจารย์แม่ก็กังวลใจที่ทุกวันได้รับการเสนอข่าวพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก และข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กและเยาวชน ที่ะนับวันจะมียุวอาชญากรอายุน้อยลงเรื่อยๆ

(อาจารย์แม่สงสัยว่า การนำภาพของบุคคลมาวาง ต้องทำอย่างไร ใช้วิธีที่เคยทำแต่ไม่ได้ผล ลองผิดลองถูกวิธีต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ) 


เมื่อตอนเป็นเด็ก เคยตั้งคำถามนี้กับคุณครูเหมือนกันค่ะ

ได้รับคำตอบว่า.. เพื่อให้เรานำมาปฏิบัติ เป็นแนวทางต่อไป

อ.วิคะ สำหรับวันเด็กปีนี้ ที่ดีที่สุดที่ได้ยินคือ

 "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระวรธัมโมวาท เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ขอให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำความดีเป็นแบบอย่างให้เด็กปฏิบัติตาม"

เพราะตรงกับที่โอ๋คิดทุกครั้งที่ได้ยินคำขวัญผู้หลักผู้ใหญ่ในวันเด็ก ว่าผู้ใหญ่ที่คิดคำขวัญคิดหรือยังว่าตัวเองทำได้แบบที่ตัวเองบอกให้เด็กคิดจะทำหรือยังนะคะ


ปลื้มใจมากค่ะ ที่เห็น "คุณน้องคนบ้านไกล" คุยด้วยยาวๆ

พี่ใช้ Internet ผ่าน Aircard จ่ายรายเดือนค่ะ ทั้งที่บ้านในเมืองและที่ฟาร์ม ก่อนนี้ที่ฟาร์มพอใช้ได้บ้าง แต่พักนี้ใช้ไม่ได้เลยค่ะ จะได้ลงบันทึกและสื่อสารกับกัลยาณมิตรก็ต้องเป็นตอนเข้าเมืองไปรดน้ำต้นไม้ที่บ้านในเมืองและจ่ายตลาด/ซื้อของใช้ค่ะ 

เรื่องการโกงกิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง (Corruption) ในเมืองไทยมีกันทุกหัวระแหง กล่าวกันว่า งบประมาณก่อสร้างเหลือใช้ในการสร้างจริงๆแค่ 40-60 % สงสารประเทศไทยจริงๆ ค่ะ และผลการสำรวจก็พบว่า ประชาชนยอมรับการ Corruption ได้ ขอเพียงให้ตนมีส่วนได้ประโยชน์ก็พอ น่าเศร้าใจจริงๆ ค่ะ

ครูอาจารย์ก็มีหลายประเภทค่ะ บางท่านก็เก่งแต่นำความเก่งไปใช้ในการแสวงหาความก้าวหน้าของตนเอง มากกว่านำไปใช้ในการหาทางพัฒนาผู้เรียน พ่อใหญ่สอว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ที่ทุ่มเทให้กับลูกศิษย์เป็นบ้าเป็นหลังคงมีพี่คนเดียว การอบรมศึกษาดูงานเท่าที่พี่เห็น มีการนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปใช้น้อยมากค่ะ คนไทยเราจำนวนมากทำอะไรไม่ค่อยจริงจัง

เรื่องของภาษาอังกฤษ สงสัยต้องรอให้ชาติที่เก่งภาษาอังกฤษเข้าไปแย่งงานในเมืองไทยไปหมดนั่นแหละ ถึงจะตื่นตัวกันค่ะ 

 

 

 


 

แสดงว่า "kunrapee" เป็นเด็กช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็นนะคะ ที่ถามครู เพราะส่วนใหญ่จะไม่ถามกัน ตอนที่ยายไอดินยังสอนอยู่ จะเรียกร้องทุกครั้งที่สอนให้นักศึกษาตั้งคำถามแต่ไม่มีการถาม จนต้องให้อ่านบทเรียนแล้วให้ตั้งคำถามแล้วให้คะแนนคำถาม ถ้าถามคำถามที่มีคำตอบตรงๆ อยู่แล้วในบทเรียน เช่น ถามคำถาม ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ก็จะได้คะแนนน้อย แต่ถ้าถามทำไม ถ้า....จะเป็นอย่างไรจะได้คะแนนมากกว่า ค่ะ

ขอบคุณนะคะ ที่ร่วมแสดงความเห็น 

ตรงกันมากเลยค่ะ "ดร.โอ๋-อโณ" ทั้งที่ถูกใจ ในพระวรธัมโมวาท ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ขอให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำความดีเป็นแบบอย่างให้เด็กปฏิบัติตาม และการย้อนถามในใจเวลาเห็นผู้ใหญ่ให้โอวาทเด็กและเยาวชนในโอกาสต่างๆ ว่า ท่านได้ทำในสิ่งที่สอนพวกเขาไปแล้วหรือยัง หรือ อยู่ในประเภท "จงทำตามที่ฉันสอน อย่าทำตามที่ฉันทำ" กัน

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับความเห็น 

เดี๋ยวยายไอดินต้องออกไปจ่ายตลาด/ซื้อของกลับฟาร์ม เที่ยวนี้ยังไม่มีเวลาเข้าไปอ่านบันทึกของกัลยาณมิตรเลยค่ะ 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับกำลังใจจาก "ครูอ้อย แซ่เฮ"  "น้องหยั่งราก ฝากใบ"  "อ.นุ"  และ "หนูชฎารัตน์"

พ่อใหญ่สอดูยังหนุ่มยังแน่นอยู่เลยนะครับ ป้าวิ   555

 .... วันนี้ ... วันครู ...เปิ้น ได้ข้อมูล ว่า ดอกไม้วันครู คือ "ดอกกล้วยไม้"  โดยพิจารณาเห็นว่า....มีคุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะ และ ความหมายคล้ายคลึงกับ สภาพชีวิตครู นั้นคือ กว่ากล้วยไม้แต่ละช่อจะผลิตดอกออกผล ให้เราชื่นชมได้ ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่ไม่น้อย เช่นเดียกับครูแต่ละคนกว่าจะสั่งสอนเคี่ยวเข็นศิษย์คนแล้ว ....คนเล่าให้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าในชีวิตได้ ก็ต้องใช้่เวลาอบรมสั่งสอนมิใช่น้อยเช่นกัน  และ  Ple  ขออนุญาตมอบภาพแด่ อาจารย์แม่   "ขอให้สุขภาพดี & มีรอยยิ้ม มากๆ" นะคะ 


  


-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...

-วันนี้วันครู......ขอระลึกถึงพระคุณครูทุกท่านครับ..

-ขอให้ครูมีสุขภาพกาย / ใจ แข็งแรง ๆ นะครับ..

-วันนี้เพิ่งเห็นหน้า พ่อใหญ่สอ ที่อาจารย์แม่พูดถึงบ่อย ๆ 

-ฝากความระลึกถึงท่านด้วยนะครับ..

-กรรมการสถานศึกษาเข้มแข็ง/ใจดีแบบนี้..นักเรียนคงมีความสุขนะครับ..

-ขอบคุณครับ


ขอบคุณ "คุณอักขณิช" มากนะคะ ที่ไปแวะเยี่ยมให้กำลังใจยายไอดิน...พ่อใหญ่สอคงถูกใจที่คุณอักขณิชบอกว่าแกยังหนุ่มยังแน่น...

ขอโทษด้วยนะคะยายไอดินเพิ่งได้เข้าเมือง/ไปที่บ้านเรือนขวัญ เลยเพิ่งมีโอกาสตอบเพราะมัวทำงานสะสางที่ฟาร์มหลายอย่าง (อีกทั้งเสร็จงานก่อสร้างเพิ่มเติมที่ฟาร์ม ก็ทำงานสร้างโรงเรือนเก็บของและที่พักชั่วคราวที่สวนยางด้วยค่ะ จะเริ่มกรีดยางประมาณสิงหาคม 2556 ที่ปลูกครบ 7 ปีค่ะ)

ยายไอดินได้เข้าไปอ่านเมนูส้ามะเขือของคุณอักขณิช สนใจจะนำไปทำบ้างเพราะมะเขือเป็นผักโปรด แต่คุณอักขณิชไม่ได้บอกว่า มะเขือใช้หั่นดิบๆ หรือต้องทำให้สุกก่อนคลุกกับเครื่อง เลยฝากคำถามไว้ จะกรุณาตอบที่นี่ก็ได้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ


ขอบคุณ "Dr.Ple" มากนะคะ สำหรับ "ดอกกล้วยไม้แสนงาม" ที่มอบให้กับอาจารย์แม่เนื่องในโอกาส "วันครู"

อาจารย์แม่ก็ขอมอบ "ดอกสราญรมณ์" เพื่อแสดงความชื่นชมใน "สิ่งดีๆ ที่ Dr.Ple" มอบให้กับเด็กๆ เนื่องในโอกาส "วันเด็กแห่งชาติปี 2556" ด้วยเช่นกันนะคะ และขอให้ "Dr.Ple" มีรอยยิ้มรื่นรมย์ปรากฏให้เห็นใน "GotoKnow" ตลอดไปนะคะ

   

ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่เข้าไปอวยพรอาจารย์แม่ไอดินเนื่องในโอกาสวันครู

ได้ดูข่าว อ.พรานกระต่ายเป็นอำเภอหนึ่งของกำแพงเพชรที่ถูกประกาศให้เป็นอำเภอที่ประสบภัยแล้ง ยังคิดถึง "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" อยู่เลยค่ะ

อาจารย์แม่ไอดินได้เข้าไปอ่านบันทึกของ"คุณเพชรน้ำหนึ่ง" ว่าด้วยการปลูกปาล์มน้ำมันที่พรานกระต่าย ที่ติดกับสวนยางฟาร์มไอดินก็มีปลูกเหมือนกันค่ะ แต่ยังไม่มีผลผลิต เกษตรอำเภอวารินชำราบเคยเสนอจะนำไปลงที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้เหมือนกันค่ะ แต่พ่อใหญ่สอปฏิเสธเพราะไม่มีที่ว่างพอ 

อาจารย์แม่ไอดินได้อ่านเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์และปลูกอินทผลัม (พืชในตระกูลปาล์ม) เพื่อกินผลสด ทั้งที่เชียงใหม่ (ภาพล่างซ้าย) และที่ลพบุรี (ภาพล่างขวา) ซึ่งรายหลังนั้น ผู้พัฒนาเริ่มเพาะเมล็ด 1 มกราคม 2550 พอถึงเดือนพฤษาคม 2552 ก็มีผลอย่างที่เห็นในภาพล่างขวา ถ้าที่ฟาร์มไอดินฯ มีอย่างละต้นก็วิเศษเลยแหละค่ะ    


คอมเกเรเลยตามเพื่อนไม่ทันครับ......

เห็นความห่วงใยและความปรารถนาดีของน้องผศ.วิไลต่อเยาวชนของชาติค่ะ...การขับเคลื่อนในการพัฒนาเด็กๆทั้งในเชิงคุณธรรมและองค์ความรู้อย่างยั่งยืนยังต้องได้รับการเสริมฐานให้เข้มแข็งและต่อยอดอย่างต่อเนื่อง..

ตอนนี้ คงตามทันแล้วนะคะ "ป๋าเด"

ส่วนยายไอดิน มีปัญหาที่ๆ ไปอยู่อาศัยประจำ (ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้) ใช้ Internet ไม่ได้ เลยได้ตอบกัลยาณมิตรช้า (ตอบในโอกาสที่เข้าเมือง สัปดาห์ละครั้ง) อย่างที่เห็นนี้แหละค่ะ ต้องขอโทษจริงๆ นะคะ

ขอบพระคุณกำลังใจและความเเห็นที่มีคุณค่ายิ่ง จาก "พี่ใหญ่" ค่ะ

และต้องกราบขออภัยด้วยนะคะ ที่ช่วงที่น้องไปอยู่ที่ฟาร์ม จะทำให้การติดต่อสื่อสารกับกัลยาณมิตรล่าช้าค่ะ เพราะกว่าจะได้ติต่อก็ต้องเป็นโอกาสที่เข้าเมือง (สัปดาห์ละครั้งค่ะ) 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับกำลังใจจาก "ลูกแผ่นดิน" "น้องอิน" "คุณเขียวมรกต" "ชวลิต"  "โจ" และ "พวงผกา"

(อยากเชิญชวนให้นักศึกษาเขียนบันทึกเกี่ยวกับความรักตามคำเชิญชวนที่หน้าแรกค่ะ)


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท