ลอยกระทง : วิถีชนเผ่าในริ้วขบวนแห่ (บันเทิงเริงปัญญา)


กระบวนการเช่นนี้ผมถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังทางปัญญาอย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะถึงแม้จะเรียนในคณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายสังคมศาสตร์ ก็ย่อมได้เรียนรู้เรื่องชนเผ่า-ชาติพันธ์ไปโดยปริยาย อย่างน้อยก็ทำให้ “ผ่านตา สะกิดความคิด” หรือแม้แต่สะกิดเตือนให้นิสิตได้หันกลับไปมองชุมชนอันเป็นรากเหง้าของนิสิตเอ

การจัดงานลอยกระทงในแต่ละปีของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ถูกขับเคลื่อนด้วยนิสิตแทบทั้งหมด  ภายใต้ระบบและกลไกขององค์การนิสิตและสโมสรนิสิตคณะ  หรือแม้แต่องค์กรอื่นๆ อาทิ สภานิสิต  ชมรม และกลุ่มนิสิต

การจัดกิจกรรมลอยกระทง  คือภาพสะท้อนอันสำคัญของการแสดงจุดยืนของ “นิสิต” ที่มีต่อภารกิจอันยิ่งใหญ่ของการ “อนุรักษ์และสืบสาน” ประเพณีวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ

ส่วนนิสิตจะเข้าใจถึงมิติของการอนุรักษ์และสืบสานอย่างไร  ต้องขึ้นอยู่กับว่ามีกระบวนการใดให้นิสิตได้เรียนรู้บ้าง  รวมถึงในบทบาทของมหาวิทยาลัยได้ช่วยเหลือเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านั้นอย่างไร  หรือปล่อยเลยตามเลย  โดยไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้ หรือพลังทางปัญญาผ่านกิจกรรม





ผมชื่นชอบงานประเพณีลอยกระทงที่จัดโดยองค์กรนิสิตเป็นอย่างมาก  แต่ไม่ใช่การชื่นชอบเวทีการประกวดนางนพมาศเหมือนที่พบเห็นอย่างล้นหลามในสังคม  แต่ก็ยังดีใจว่าในทุกปีองค์การนิสิต  ไม่ละเลยที่จะใส่ประเด็นทางความคิด  หรือพลังปัญญาเป็นหนึ่งในเวทีของการประกวดนางนพมาศ  เช่น  กำหนดให้แต่งกายที่สอดรับกับประวัติศาสตร์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  ซึ่งระยะหลังมักกำหนดให้นางนพมาศแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เป็นลาย “สร้อยดอกหมาก”  อันเป็นลายผ้าประจำจังหวัดมหาสารคาม





ครับ-สิ่งที่ผมชื่นชอบดังที่กล่าวข้างต้นก็คือ การนำเรื่องราวในเชิงภูมิปัญญา หรือมรดกทางวัฒนธรรมประยุกต์เข้าสู่ริ้วขบวนแห่ของแต่ละคณะ  เช่น  บางปีกำหนดประเด็นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในภาคอีสาน  สถานที่สำคัญของจังหวัดมหาสารคาม  วรรณกรรมคำสอนในภาคอีสาน  ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนรอบมหาวิทยาลัย  เป็นต้น

การลอยกระทงในปีการศึกษา 2555  องค์การนิสิตจัดงานภายใต้แนวคิดหลักคือการนำเอาเรื่องราว “ชนเผ่าในภาคอีสาน”  มาเป็นตัวเดินเรื่อง  ดังชื่อ “โฮมใจเผ่าไทอีสาน สืบตำนานมอลุ่มน้ำชี สมมาธารวดีคืนเดือนเพ็ญ” 


 



การกำหนดประเด็น “ชนเผ่า” ในครั้งนี้ ดูผิดแผกแหวกขนบไปจากหลายปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด  เพราะส่วนใหญ่มักเวียนวนอยู่กับสถานที่สำคัญๆ ในเชิงการท่องเที่ยวแทบทั้งสิ้น 

การหยิบยกเรื่องชนเผ่าในภาคอีสานมาเป็นตัวเดินเรื่องของขบวนแห่  เป็นกระบวนการขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่น่ายกย่อง  เพราะทำให้นิสิตในแต่ละคณะ  ได้เรียนรู้เรื่อง “ชาติพันธุ์”  ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้




ประเด็นดังกล่าวจะช่วยให้นิสิตแต่ละคณะได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลแต่ละชนเผ่าผ่านกระบวนการต่างๆ  ทั้งท้องสมุด  เว็บไซด์  อาจารย์ ปราชญ์ชาวบ้าน  สำนัก ศูนย์ สถาบัน ฯลฯ  ซึ่งในบางคณะถึงขั้นโยงใยไปถึงการติดต่อขอข้อมูลข้ามมหาวิทยาลัย  หรือไปสู่ส่วนราชการอื่นๆ ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัดเลยทีเดียว

พอได้ข้อมูลมา ก็ทำการศึกษาวิเคราะห์  หยิบจับเอาคุณลักษณ์อันเป็น “เอกลักษณ์-อัตลักษณ์” ของแต่ละชนเผ่ามาจัดกระทำเป็นข้อมูลสู่การ “ออกแบบ” ว่าจะนำเสนออย่างไร







กระบวนการเช่นนี้ผมถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังทางปัญญาอย่างไม่ผิดเพี้ยน  เพราะถึงแม้จะเรียนในคณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายสังคมศาสตร์  ก็ย่อมได้เรียนรู้เรื่องชนเผ่า-ชาติพันธ์ไปโดยปริยาย  อย่างน้อยก็ทำให้ “ผ่านตา สะกิดความคิด”  หรือแม้แต่สะกิดเตือนให้นิสิตได้หันกลับไปมองชุมชนอันเป็นรากเหง้าของนิสิตเอง

ผมว่ากระบวนคิดเช่นนี้แหละเป็นการเติมพลังความคิดได้อย่างงดงาม  ทำให้นิสิตเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ผ่านมิติต่างๆ  จะทั้งในเชิงเดี่ยว หรือกลุ่มก็ตาม  และยังได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาแปรรูปเป็น “สื่อ” หรือ “งานสร้างสรรค์”  เพื่อสื่อสารคืนกลับสู่สาธารณะ  เพื่อประทับมั่นในเชิงของการ “อนุรักษ์และสืบสาน”  ในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น  การแต่งกาย  ประเพณี  การละเล่น  การกินอยู่  ความเชื่อ พิธีกรรม เป็นต้น

และนั่นยังไม่รวมถึงทักษะชีวิตของนิสิตที่จะได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นทีม  การวางแผน  การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  การบริหารจัดการโครงการ ฯลฯ







ครับ— นี่คือภาพสะท้อนเล็กๆ ของการเรียนรู้ของนิสิตที่จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ได้ครบครันด้วยมิติ “บันเทิงเริงปัญญา” 

กิจกรรมเหล่านี้  ถูกขับเคลื่อนจากบรรดาผู้นำนิสิตที่ขันอาสามาเป็นผู้นำด้านการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร (นอกชั้นเรียน-เรียนนอกฤดู) 

การขันอาสาดังกล่าว คือการมี "จิตอาสา"  ที่จะนำพาการเรียนรู้ไปสู่เพื่อนๆ พี่ๆ ในมหาวิทยาลัย  ส่วนประเด็นเนื้อหานั้น  เป็นเสมือนการสะท้อนให้เห็นจิตสำนึกของนิสิต หรือคนหนุ่มสาวที่มีต่อความเป็น “ไทย” หรือ “ชาติพันธุ์”  ของตนเอง หรือแม้แต่มนุษยชาติ นั่นเอง

ส่วนชนเผ่าที่ใช้ชีวิตในผืนแผ่นดินที่ราบสูงและถูกนำมาโลดแล่นเป็น “นาฏการณ์แห่งชีวิต”  ในริ้วขบวนแห่งานลอยกระทงในปีนี้  หลักๆ ประกอบด้วย 18 ชนเผ่า  เช่น  ไทยอีสาน  ไทยพวน  ไทเลย ไทดำ  ญ้อ  โย้ย  โส้  กะเลิง  ภูไทกาฬสินธุ์  ภูไทเรณูนคร  ภูไทสกลนคร  ภูไทมุกดาหาร  ส่วย  ไทเดิ้ง  หรือไทเบิ้ง


  


หมายเหตุ

1.ผู้รับผิดชอบหลัก คือ องค์การนิสิต สโมสรนิสิต สภานิสิต ชมรมและกลุ่มนิสิต ปีการศึกษา 2555
2.ภาพโดย  ทีมงานนิสิตจิตอาสาและงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต ม.มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 514262เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2012 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ประเพณีงดงาม ครบถ้วน ตระการตาค่ะ

คนถ่ายตั้งใจถ่าย สวยค่ะ


เป็นประเพณีท้องถิ่นที่งดงาม สืบสานมายาวนาน ยินดีมากค่ะที่สนับสนุนให้เยาวชนได้สืบทอดต่อไปเช่นนี้

ดีใจที่ได้บททวนให้รากเง้าของอัตลักณ์เดิมๆกลับมาครับ

นอกจากความสวยงามแล้ว ยังบ่งบอกถึงเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดีมากเลยค่ะ

มาเบิ่งอัตลักษณ์ของอีสานบ้านเฮา  มาสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า  มีความสุขหลาย ๆ เด้อ...

วิถีชีวิตของแต่ละชาติพันธุ์ล้วนแล้วแต่น่าศึกษาและน่าอนุัรักษ์ไว้จ้ะ

สวัสดี ปีใหม่ ค่ะ  ขออวยพรให้อาจารย์ มีความสุขมากๆค่ะ

สวัสดีปีใหม่ครับ พี่Bright Lily

ลอยกระทง  ได้เป็นเวทีการเรียนรู้ที่หลากรุปแบบและกระบวนการของนิสิต  ทั้งในระดับบุคคลและกลุ่มทีม  เสียดายปีนี้  การดึงชุมชนเข้ามาร่วมยังมีไม่มากนัก  

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับพี่ใหญ่  นงนาท สนธิสุวรรณ

สิ่งที่ผมพยายามเรียนรู้ให้หนักก็คือ  สร้างพื้นที่ให้นิสิตได้แสดงออกถึงความคิดความอ่านที่มีต่อโลก ชีวิต สังคม  โยเฉพาะที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาสามารถขับเคลื่อนมรดกวัฒนธรรมในมิติของเขา  ให้เขาได้อนุรักษ์และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมตามความสนใจ หรือทักษะ/กระบวนการที่เขาถนัด  ส่วนผู้หลักผู้ใหญ่ ก็คอยทำหน้าที่ "โค้ช"  คอยหนุนให้เขาได้ทดลองทำในสิ่งที่เขาคิด--และอยากจะทำ --

สวัสดีครับ พี่ดา กานดาน้ำมันมะพร้าว

ความงดงามทั้งปวง  เกิดขึ้นจากใจ อันหมายถึง รักที่จะทำ  และทำมันด้วยใจ
ผมว่า นั่นคือต้นธารสำคัญของเรื่องราวทั้งปวง
และเชื่อว่านิสิตจะเชื่อเช่นเดียวกับที่ผมเชื่อ

ขอบคุณครับ


สวัสดีครับ อ ขจิต ฝอยทอง

ผมดูเอกสารที่นิสิตค้นคว้าเรื่อง "ชนเผ่า" ต่างๆ แล้ว  รู้สึกชื่นใจมาก  เพราะเป็นข้อมูลวิชาการที่เป็นองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรม  พวกเขาค้นเอกสารและจัดทำข้อมูลอย่างเป็นลายลักษณ์ราวกับทำรายงาน  --

ผมว่านี่เป็นการเรียนรู้ที่น่าชื่นใจจริงๆ ครับ


พาเด็ก ๆ แวะมาสวัสดีปีใหม่กับอาจารย์จ้ะ

การสืบทอดประเพณีของท้องถิ่น การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม เป็นกิจกรรมของทุกคนที่สนใจไม่ว่าจะเรียนสาขาคณะวิชาใดก็ตามนะคะ 

ชื่นชมอีกแล้วค่ะท่านอาจารย์

ขอบคุณความสวยงามทั้งความคิดและรูปภาพค่ะ


ขอส่งความสุขปีใหม่แด่ท่านอาจารย์ด้วยค่ะ ขอให้ท่านอาจารย์มีพลังสรรสร้างสิ่งที่หวังให้เป็นจริงนะคะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

คงไม่มีความรู้ใดจะยิ่งใหญ่เท่ากับการเข้าใจรากเง้าแห่งตน เข้าใจคน เข้าใจมนุษยชาติ

ขอบคุณที่ได้อ่านงานดีๆๆ กิจกรรมที่งดงามครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท