...
สัปดาห์ที่ผ่านมาสามคนอาหลานตัดสินใจเก็บข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเล็กน้อยใส่รถขับจากเชียงใหม่ไปปาย ระยะทางแค่ร้อยกว่ากิโลเมตรแต่นั่นเป็นการเดินทางไปปายครั้งแรกของพวกเรา คงกำลังมีคนคิดว่าทำไมเราเชยกันจัง ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้แค่ปลายจมูก แต่ก็นั่นแหละค่ะ...ทุกอย่างมีครั้งแรกของมันเสมอ
ตื่นเต้น สนุก ลุ้น มีทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หลากเรื่องราว และเสียงให้กำลังใจคนขับรถดังไปตลอดทางกว่า 762 โค้ง รวมเวลาพักดื่มชากาแฟ แวะถ่ายรูปสองข้างทาง เราใช้เวลาเกือบห้าชั่วโมงในการเดินทาง เมื่อไปถึงคนขับรถบอกว่าปายเป็นจุดพักกายพักใจที่เหมาะอย่างยิ่งในระหว่างการเดินทางไปแม่ฮ่องสอน
จากเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่บอกต่อกันมาถึงเสน่ห์ของปายและการเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะหลายปีให้หลัง ฉันได้แต่จินตนาการถึงและดูรูปที่มีคนถ่ายภาพมาแบ่งปันแล้วก็สงสัยอยู่ในทีว่าจะแตกต่างไปจากสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ สักแค่ไหนเชียว และในวันที่หลายๆ คนบอกว่าปายได้เปลี่ยนไปแล้ว ฉันก็ยังได้สัมผัสถึงชีวิตที่ช้าลงกว่าปกติในทันทีที่เดินทางถึง ภูเขาสีเขียวคล้ำสลับสีน้ำตาลแดงของใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีในหน้าแล้งขณะขับรถผ่านสะพานประวัติศาสตร์ซึ่งเปรียบเหมือนประตูเมืองปาย ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นในช่วงนั้นให้ความรู้สึกถึงความพิเศษที่เมืองเล็กๆ แห่งนี้สามารถมอบให้แก่ผู้คนที่มาเยือน
เพราะที่พักของเราเป็นรีสอร์ทเล็กๆ ติดริมน้ำปายและตั้งอยู่บนถนนคนเดิน เราจึงตัดสินใจเดินสำรวจบริเวณตัวเมืองในยามบ่ายและค่ำหลังจากเช็คอินเข้าที่พักเรียบร้อยแล้ว ท่ามกลางการพัฒนาเพื่อรองรับอาคันตุกะจากหลากมุมเมืองดังที่เห็นได้จากการเปลี่ยนบ้านเรือนให้เป็นรีสอร์ทเล็กใหญ่มากมายอยู่แทบทุกซอกทุกมุม การตั้งร้านรวงสำหรับขายของและบริการต่างๆแก่นักท่องเที่ยว เมืองเล็กๆ ในหุบเขานี้ยังเป็นแหล่งงานและรายได้สำคัญของผู้คนแถบนั้นอีกมากมาย
เราเดินชื่นชมความงดงามของชีวิตสองฝั่งถนน บนถนนหลักใจกลางเมืองยังคงมีบ้านไม้ทรงไทยล้านนาที่หาดูได้ยากในเมืองเชียงใหม่ให้ดูอยู้บ้างประปราย เราเดินเรื่อยมาจนถึงบริเวณใกล้ๆ ตลาดเทศบาลเมืองปาย สายตาฉันไปสะดุดอยู่ที่คุณยายคนหนึ่งซึ่งกำลังนั่งขายข้าวหลามอยู่ คุณยายท่านนี้แต่งตัวด้วยผ้าซิ่นเสื้อแขนกระบอก ผมที่มวยขึ้นด้านหลังชวนให้จินตนาการถึงการแต่งตัวของสาวงามเมืองเหนือเมื่อหลายสิบปีก่อน จากการสนทนาทำให้ทราบว่ายายขนกระบอกไม้ข้าวหลามซึ่งบรรจุด้วยข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาลและถั่วดำ ขึ้นรถประจำทางจากปางมะผ้ามาถึงปายด้วยค่ารถประมาณ 70 บาท คุณยายมาพักที่บ้านญาติที่ปายแล้วเผาข้าวหลามออกมาขาย เมื่อขายข้าวหลามหมดก็จะนั่งรถกลับปางมะผ้าในวันถัดไป สัปดาห์หนึ่งคุณยายจะนำข้าวหลามมาขายสองครั้ง
"ขายม่วนก่อเจ้าแม่อุ๊ย" ฉันถาม...
"ขายไปจะเอี๊ยะลูก...เฒ่าละจะไปเยี๊ยะต้งเยี๊ยะนาก็บ่ไหว ขายคัวก็ยังแควนน่อย...แม่แป๋งคนเดียวนา เอาไปจิมสักบอกบ๋อ..." ยายตอบพร้อมชวนฉันซื้อข้าวหลาม
ฉันช่วยอุดหนุนกิจการของคุณยายก่อนจากมาพร้อมนึกชื่นชมการปรับตัวตามวัยของคุณยายตลอดจนการต้อนรับการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านที่นี่ จากเมืองเล็กๆ เงียบสงบกลางหุบเขาเมื่อสิบกว่าปีก่อน ปายวันนี้กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไปเสียแล้ว
...
...
"เมื่อซาวปีก่อน ถ้าได้หันรถเครื่องก๋ายวัดสักสามคัน วันนั้นถือว่าโชคดีขนาดเน้อโยม แต่หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีการพัฒนาเวยขึ้น คนมาแอ่วกันนักขึ้น บะเด่วนี้บางวันรถติดเป็นแถบหน้าวัดนี่โยม"
นี่คือคำบอกเล่าของท่านพระครูอนุรักษ์ธรรมคุณ อดีตเจ้าคณะอำเภอปาย เจ้าอาวาสวัดหลวง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงสาย 1095 ที่เราชวนกันเดินเข้าไปกราบพระเจ้าทันใจซึ่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าวัด
ภายในวัดมีอาคารไม้เอนกประสงค์หลังใหญ่ใจกลางวัด ซึ่งใช้เป็นทั้งวิหารและกุฏิของพระสงฆ์ ขณะที่เรากราบพระอยู่ หลวงพ่อท่านพระครูวัย 72 ปี (พรรษา 51) ซึ่งดูเปี่ยมไปด้วยเมตตาเดินเข้ามาทักทาย ท่านยังเล่าเรื่องราวของเมืองปายและประวัติของวัดให้ฟังอย่างน่าสนใจ ท่านบอกให้เรากราบหลวงพ่อเพ็ชร พระประธานในวิหารซึ่งมีอายุเกือบ 550 ปี
"เมื่อก่อนบ้านเฮาไม้มีนัก ชาวบ้านไปตัดมาเปาะกันถวายวัด ช่วยกันแป๋งไปกำหน้อย เสี้ยงสะตางบ่อนักตะได ถ้าเป็นบะเดี่ยวนี้บ่อได้ละ"
หลวงพ่อเมตตาเล่าถึงเงินทุนเล็กน้อยที่ใช้ในการสร้างวิหารไม้สมัยก่อน อาคารนี้สำเร็จมาจากการทำบุญแรงงานจากชาวบ้าน ฉันนั่งชื่นชมวิหารไม้ที่เรียบง่ายแต่งดงามที่หลวงพ่อและชาวบ้านร่วมใจสร้างขึ้นด้วยเจตนาเพื่อเป็นพุทธบูชาเมื่อหลายสิบปีก่อน พยายามซึมซับกลิ่นไอของวันเวลาและความศรัทธาของชาวบ้านในสมัยนั้น ฉันนึกอยากให้วิหารหลังนี้ยังคงอยู่คู่วัดไปนานๆ อย่าเพิ่งมีการรื้อทิ้งแล้วสร้างกุฏิ วิหารด้วยปูนแล้วติดแก้ววาววับ ฉาบด้วยสีทองสดใสเหมือนวัดในแถบบ้านที่เชียงใหม่เลย
ถึงฉันจะเป็นหนึ่งในผู้คนที่นิยมชมชอบการพัฒนาสู่ความเจริญในด้านความเป็นอยู่ของผู้คน แต่ในส่วนลึกฉันยังชื่นชมศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบเดิมๆ อยู่เต็มหัวใจ ความใหม่ ความทันสมัย ความสะดวกเป็นสิ่งที่หาง่ายในยุคนี้ เมื่อเทียบกับความเก่าแก่และกลิ่นไอแห่งคุณค่าที่แฝงอยู่
เรานั่งสนทนากับหลวงพ่ออยู่นานจนเกือบค่ำ จึงร่วมกันทำบุญสมทบค่าน้ำค่าไฟ รับพร แล้วจึงกราบนมัสการลา เพื่อเดินไปสัมผัสอีกหนึ่งบรรยากาศของความเจริญที่เตรียมไว้ต้อนรับผู้มาเยือนบนถนนคนเดินเมืองปาย แม้จะรู้ว่าปายและผู้คนกำลังปรับตัวตามความเจริญที่ผ่านมาอย่างรวดเร็ว แม้จะยังพอรู้สึกว่าเวลาที่ปายเดินช้าลงกว่าปกติแล้ว แต่ในวันนั้นฉันนึกอยากให้เวลาที่ปายเดินช้าลงกว่านี้อีกสักนิดเพื่อที่ว่าการพัฒนาที่เห็นและเป็นอยู่จะยังไม่คืบคลานเข้ามาในวัดนี้เร็วจนเกินไป และหากเป็นไปได้ฉันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ความเจริญนั้นเคียงคู่ไปกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของผู้คนไปด้วย เหมือนภาพคุณยายที่แต่งตัวพื้นเมืองนั่งขายข้าวหลามเพื่อหารายได้จากความเจริญนั้น...งดงามไม่น้อยทีเดียว
นำภาพเมืองปายตามรายทาง แถบตลาดและวัดหลวงมาฝากค่ะ
...
...
...
...
...
...
...
...
...
...
...
...
...
...
...
หลวงพ่อ...พระครูอนุรักษ์ธรรมคุณ
ปล. ประวัติโดยย่อของวัดหลวง
วัดหลวงสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ ๒๑๖๙ โดยเจ้าแม่สุนันทา ต่อมาขุนหลวงและเจ้าน้อยอินต๊ะจึงมาช่วยกันสร้างกุฏิ ศาลา ด้วยศิลปะพม่าไทยใหญ่ และขุดบ่อน้ำไว้ในวัด ต่อมาในสมัยเจ้าน้อยอินต๊ะและเจ้าแก้วเมือง จึงได้มีการสร้างเจดีย์รูปทรงแบบพม่าขึ้นในปี พ.ศ ๒๒๒๐ และเจ้าแก้วเมืองตั้งชื่อวัดนี้ว่าวัดหลวง เนื่องด้วยวัดนี้มีเจ้าหลวง ขุนหลวง เจ้าฟ้าช่วยกันสร้างขึ้นมา
.
.
เพลงบรรเลง: กุหลาบเวียงพิงค์
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ...ปริม ทัดบุปผา... ใน บันทึกแห่งรอยยิ้ม
สวัสดีครับ เมื่อคืนฝันว่าเดินทาง(เดิน)ไปเมืองปาย ตื่นมารู้สึกว่าหนาวๆ อิๆๆ