เรียงความเรื่อง เด็กหลายแบบ


เด็กยังไงก็เป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ แต่จะมีสักกี่วันกี่ค่ำ ที่ผู้ใหญ่จะมีใจที่บริสุทธิ์แบบเด็กๆ

                                     เรียงความเรื่อง 
                                     เด็กหลายแบบ



เฉลิมลาภ ทองอาจ 
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 



              รอยยิ้มที่พิมพ์ใจอยู่เสมอ คือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเด็กได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะทุกข์ร้อนอย่างไร สังคมจะรวดร้าวแค่ไหน ภัยพิบัติจะรุกล้ำมาอย่างไร เด็กก็ยังคงเป็นเด็ก คือยังคงยิ้มอย่างภาคภูมิใจในความเป็นเด็ก เหมือนกับมีน้ำเสียงเยาะเย้ยเล็กๆ ว่า “ไม่มีเสียละที่ตูข้าจะเสียใจ” เราจึงยิ้มที่เห็นเด็กยิ้มอยู่ได้เสมอ


                      


               ที่สาธิตจุฬาฯ มัธยม มีเด็กอยู่หลายประแบบ ที่เรียกว่าแบบนั้น คือ ไม่มีใครเลียนได้ จึงต้องแยกออกเป็นแต่ละแบบ แบบธรรมดาเช่นเด็กทั่วไปนั้นก็มีอยู่ แต่น้อย  ที่มากคือแบบแปลกหรือแบบพิเศษ ที่ผู้ไม่คุ้นชินอาจจะเป็นตกใจและพาลสงสัยด้วยว่า เขาเติบโตมาในครอบครัวเช่นไร ถึงได้เป็นเสียได้ขนาดนี้ 


                แบบแรกที่จะขอกล่าวถึง คือ  แบบนักคิด แบบนักคิดเป็นแบบที่เราเองก็ต้องครุ่นคิดไปกับเขาเสียด้วย  เขามักจะมองโลกด้วยสายตาตั้งคำถาม และสงสัยอยู่เสมอ แม้ในเรื่องที่เราเองก็มองข้ามไป เช่น คำถามของเด็กสาธิตระดับชั้น ม.1 คนหนึ่ง ถามข้าพเจ้าว่า “ทำไมต้องเป็นกบที่ตกอยู่ใต้กะลาครอบ ทำไมไม่เป็นหมู หมา กา ไก่ ฯลฯ แล้วทำไม่ต้องเป็นกะลา เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่?” ทำถามเช่นนี้ ถ้าไม่ตอบก็ดูจะเสียเชิง แต่ถึงจะตอบอย่างไรเชื่อว่าเด็กก็ยังคงจะสงสัย เพราะความสงสัยใคร่รู้นี้ คือ ธรรมดาเด็ก พวกเขาจะไม่หยุดความสงสัย แม้ว่าจะได้คำตอบที่ตอนแรกอาจพึงพอใจพาให้หยุดการซักถาม แต่เชื่อว่า อีกประเดี๋ยวหนึ่ง เด็กนักคิดพวกนี้ ก็จะเริ่มสาธยายคำถามของตนเองต่อไป  ถ้าครูทั่วไปบังเอิญได้พบกับเด็กพวกนี้ล่ะก็ วิธีการรับมือก็คือ การถามกลับหรือโยนให้พวกเขาได้กลับไปคิด เป็นเช่นกระจกที่สะท้อนให้เขาได้ไตร่ตรองตนเอง  “ก็แล้วถ้าเป็นสัตว์ตัวอื่นๆ เล่า จะแตกต่างจากกบอย่างไร” นี่คือคำตอบ คำตอบที่กลายมาเป็นคำถาม ชวนให้เขาขยายความคิด มิใช่คำตอบที่ตายตัวและตอบไปแบบเสียมิได้ 


                นักเรียนแบบที่สอง คือ แบบนักเลง  แบบนักเลงพวกนี้ มิใช่นักเลงหัวใจใจหยาบอย่างที่เข้าใจ แบบนักเลงนี้ คือพวกที่ตรงไปตรงมา  รู้สึกอย่างไร ต้องการเช่นใด ก็พูดก็แสดงออกมาอย่างนั้น บางครั้งก็อาจะมิได้คำนึงถึงความรู้สึกของคู่สนทนา แบบนักเลงนี้พบอยู่มาก วิธีการสังเกตก็ง่าย ถ้าหากครูผู้สอนกล่าวสิ่งใด หรือทำอะไรที่ไม่เข้าท่าเข้าทาง หรือเข้าความรู้สึกของพวกเขา พวกเขาจะแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเสนอด้วยว่า “ก็แล้วทำไมจึงไม่ทำเช่นนั้น อย่างนั้น ที่ครูทำเช่นนี้ อย่างนี้ ดูจะเป็นการไร้สาระ ไร้เหตุผลเสียนี่กระไร”  ครูที่เผชิญกับพวกนักเลงเช่นนี้ ก่อนอื่น ต้องไม่พาลกล่าวโทษว่า นักเรียนพวกนี้ก้าวร้าว หรือไร้มารยาท เพราะสิ่งนั้นเป็นคนละเรื่องกับการพูดตรง  การพูดตรงไม่ใช่การก้าวร้าว แต่คือการพูดในสิ่งที่ตรงกับความคิด แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อใดเล่า คำตอบก็คือ เมื่อความคิดของเด็กไม่ตรงกับความคิดของครู แต่อันนี้ก็เป็นธรรมดาของผู้ที่มีประสบการณ์ต่างกัน แต่จะถือเป็นเรื่องใหญ่โต ให้สิ้นเปลืองพลังความคิดนั้น  ก็นับว่าไร้เหตุผลเต็มที





                แบบที่พบมากอีกแบบหนึ่ง คือ แบบเด็กๆ แบบนี้ แม้จะพบไม่มากแต่ก็มีอยู่และเป็นเหตุให้เกิดเรื่องใหญ่ต่อไปได้ นักเรียนกลุ่มนี้ คือ ความคิดความอ่านยังเป็นเด็ก ไม่สมกับวัยวุฒิของตนเอง แต่ก็ไม่ถึงกับขาดวุฒิภาวะเอาเสียเลย เป็นแต่เพียงคิดแคบมองใกล้เท่านั้น  แบบเด็กๆ นี้ เกิดจาการสนับสนุนของครอบครัวด้วยส่วนหนึ่ง อย่างไรเล่า? ก็การเลี้ยงดูโดยปิดกั้นเขาจากความจริงในสังคม หรือโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไรเล่า ที่ทำให้เด็กแบบนี้ เด็กลงกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่บิดามารดาหาญกล้าให้เขาเผชิญโลกโดยลำพังเสียบ้าง  การรับมือกับเด็กแบบเด็กๆ นี้ไม่ยาก เพียงแต่การเอาใจใส่ และค่อยๆ เปิดโลกกว้าง หรือนำกะลา อคติ ค่านิยมบางอย่างที่บดบังเขาอยู่ออก เช่นนี้ เขาก็จะมองโลกที่อยู่ด้วยมุมมองใหม่ ความเป็นเด็กที่คิดแคบ และยึดตนเองเป็นที่ตั้งก็จะลดลง ระวังไว้ว่า เมื่อพบกับเด็กแบบเด็กๆ ผู้ใหญ่ก็อย่าใช้อารมณ์ เพราะความเป็นผู้ใหญ่แบบเด็กๆ ไม่รู้จักโตเสียทีนี่กระมัง ที่ดูจะร้ายแรงกว่า และทำให้ประเทศของเราก้าวหน้าไปไม่ได้ในขณะนี้  


                  ผู้ใหญ่ที่มองว่า ความคิดความอ่านของเด็กนั้น เห็นจะใช้การไม่ได้บ้าง ไร้เหตุผล ไร้แก่นสารบ้าง นับว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็กนั้นเยาว์วัย อ่อนต่อโลก ไม่กระด้างแบบผู้ใหญ่ จะหาความคิดความอ่านย่อมไม่มี  แต่สิ่งที่มีอยู่เพียงอย่างเดียว คือ “ความบริสุทธิ์” ทางความคิด มองโลกด้วยใจที่เป็นธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติ นี่คือความคิดอ่านที่ผู้ใหญ่อย่างเราจะดูถูกเสียมิได้ ถ้าไม่เชื่อ ขอให้ท่านทั้งหลายได้ลองพูดคุยกับเด็กๆ ท่านจะรู้สึก  ชุ่มชื่นขึ้นอย่างน่าประหลาด และในที่สุดแล้ว ท่านจะสงสัยและตั้งคำถามกับความเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวท่านมี  ความบริสุทธิ์ในใจของพวกเขา จะปัดกวาดฝุ่นธุลีที่สกปรกในใจของเราออก  อยู่กับเด็กๆ และพูดคุยกับเด็กๆ ให้มากขึ้น นึกถึงเวลาที่ชีวิตมีแต่ฟ้ากว้าง สายลมโชยพัดยอดหญ้า แมลงปอหรือ “เฮลิคอปเตอร์” น้อยที่ผลัดเปลี่ยนบินวน  ที่ปรากฏอยู่ในใจของเราเมื่อครั้งเยาว์วัย เราก็ย่อมจะรู้ได้ว่า ครั้งหนึ่งของชีวิต ช่างเป็นช่วงที่เรามีความสุข แม้เราจะเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่หลายแบบ แต่ขออย่างเดียว....


                   ให้เรามีใจแบบเด็กๆ รักและเมตตาต่อทุกชีวิต ใจแบบเด็กๆ ก็จะทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ท่านๆ  นี้ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 


       “คือเด็กที่ยิ้มพิมพ์ใจ                   สื่อความสดใส
  หัวเราะเริงรื่นชื่นบาน
        คือเด็กที่ใจสราญ                       เป็นอยู่ทุกกาล
  ด้วยใจสะอาดพิสุทธิ์
         คือผู้ใหญ่ที่ใจเสื่อมทรุด             ซ้ำเศร้าเร้ารุด
  ถดถอยวิญญาอาธรรม์
          เรียนรู้จากเด็กทุกวัน                 ปลอบปลุกตื่นพลัน
  ให้สวยสว่างปัญญา
           คือเด็กผู้มีคุณค่า                     โลกช่วยรักษา
  ให้เขามียิ้มงดงาม”
     
ขออุทิศความดีงามของบทความนี้ แก่เด็กทุกคนบนโลก 
และผู้ใหญ่ที่อุปถัมภ์ให้เด็กยังคงเป็นเด็กอยู่ได้

หมายเลขบันทึก: 511556เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2012 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เด็กๆโชคดีที่มีอาจารย์ที่เข้าใจเด็กแบบนี้แหละค่ะ ขอบคุณแทนสังคมไทยนะคะ

มีหลายแบบจริงๆๆด้วยครับ อ่านแล้วน่าสนใจ แต่เด็กๆในชนบทบางประเด็นเสียเปรียบเด็กในเมืองใหญ่ๆโดยเฉพาะเรื่องการศึกษานะครับ  เอามาฝากด้วยครับ วันพ่อทำอะไรให้พ่อบ้าง…

วันที่ 25 ธค  ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่คุรุฯ อาจารย์อยู่ที่สาธิตฯไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท