ทดลองเผาข้าวหลาม เลยได้ประสบการณ์แสนพิเศษเกิดขึ้นมากมาย



กอไผ่กอหนึ่งในบริเวณบ้านผมไม่รู้เรียกว่ากอไผ่อะไร บ้องยาว ลำต้นตรง ขนาดใหญ่เท่าแขนเหมือนไผ่ตง แต่ไม่มีหนาม ไม่ค่อยมีตาและกิ่งออกตามข้อปล้อง ลำต้นที่แก่จัดมีสีเขียว ไม่ออกเหลืองเหมือนไผ่ตงและไผ่สีสุก กระบอกเป็นรูกลวงใหญ่ เนื้อบาง ดูแล้วคงจะเหมาะสำหรับทำเครื่องจักสานที่ต้องการชิ้นงานละเอียดประณีต หรือใช้ทำซี่ไม้ไผ่สำหรับทำรั้วและเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก 

ลำต้นที่ยังอ่อนอยู่มีบ้องสวย ดูลักษณะโดยรวมแล้ว ก็ทำให้ผมนึกถึงการใช้ทำข้าวหลาม เมื่อลองตัดต้นอ่อนที่ยอดหักลงมาผ่าดูเยื่อข้างใน ก็พบว่ามีเยื่อดีอีกด้วย เลยเกิดความคิดที่จะทดลองเผาข้าวหลามกินดูสักหน่อยดีกว่า การเรียนรู้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วยสิ่งต่างๆที่เรามีและเป็น ให้เห็นตำแหน่งแห่งหนที่เราจะยืนบนสองขาและเดินออกจากจุดที่เรามีอยู่กับตนเองเป็นก่อนอื่น เป็นการสร้างและสั่งสมต้นทุนชีวิตสำหรับทำการงานต่างๆให้มีรากฐานที่แข็งแรงได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง


ผมตัดเอาต้นอ่อนพอเหมาะมาลำหนึ่ง ทั้งลำมีบ้องอยู่สัก ๒๐ กว่าบ้อง แต่ผมเลือกตัดเอาแต่บ้องที่ไม่ใหญ่มากจนเกินไปมาใช้ทำข้าวหลามครั้งนี้ได้กว่าสิบบ้อง การตัดบ้องไม้ไผ่นั้น หากใช้มีดตัดก็ต้องมีความชำนาญมากจึงจะทำได้โดยบ้องไม้ไผ่ไม่แตก แต่ผมเรื้อจากการใช้มีดทำงานไม้นานมากแล้ว เลยต้องใช้เลื่อยสำหรับเลื่อยไม้ด้วยมือมาเลื่อยบ้องไม้ไผ่ ทำให้กระบอกข้าวหลามที่เตรียมได้ไม่แตก จากนั้น ก็ตะรอนออกไปตระเวนซอกแซกหาข้าวเหนียวตามร้านของชำของชาวบ้านริมถนนในหมู่บ้านนั่นเอง ได้ข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตองมา ๒ ลิตร ซื้อกันหมดเท่าที่เหลืออยู่เพียงสองลิตรนี้พอดี 

ผมเลยพลอยได้รู้จักข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง ได้รู้จักแหล่งค้าขายและกระจายสิ่งอุปโภคบริโภคในชุมชน ได้นำเอาบทเรียนแต่ก่อนเก่ามาใช้สำรวจ วิเคราะห์ และประเมินความเป็นไปได้ที่จะใช้ไม้ไผ่ในบริบทแวดล้อมที่ต่างจากที่เคยรู้จักมาทดลองเผาข้าวหลาม ได้พูดคุย สื่อสาร และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน และอีกหลายอย่าง ซึ่งหากมองในแง่ความเป็นกระบวนการเรียนรู้ เพื่อที่ปัจเจกจะสามารถมีสำนึกผูกพันกับความเป็นชุมชน  (Community Engagement) รวมทั้งได้อัตลักษณ์ ที่สะท้อนความเป็นหนึ่งกับถิ่นอาศัยในช่วงต่างๆของชีวิตแล้วละก็ วิธีอย่างนี้ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผมได้ค่อยๆเรียนรู้ ให้เกิดความเชื่อมโยงชีวิตและการทำอยู่ทำกินเข้ากับความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

นอกจากนี้ หากมองในแง่การได้ถือโอกาสเข้าถึงวิธีทำงานชุมชนในแนวทางที่มุ่งเสริมศักยภาพแก่ชุมชนในสิ่งที่ชุมชนมีและเป็นอยู่ ก็เป็นการได้พัฒนา Community-Assets and Community Potential Assessment, Method and Strategy หรือเป็นโอกาสได้ศึกษาวิธีสำรวจประเมินชุมชน ด้านที่เป็นทรัพยากรพื้นฐานในชีวิตประจำวันของชาวบ้านและสิ่งซึ่งเป็นทุนศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนไปด้วย กล่าวในแง่นี้ ก็เห็นภาพของกระบวนการทำข้าวหลามครั้งนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งได้ว่า เป็นวิธีที่ทำให้ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งได้เห็นสิ่งที่เป็นต้นทุนศักยภาพและสิ่งดีๆของชุมชนหลายอย่าง ดังนั้น กระบวนการทำข้าวหลามจึงเสมือนเป็นเครื่องมือวิจัยและเรียนรู้ชุมชนอย่างดีเลยทีเดียว เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถทำให้การศึกษาค้นคว้า การพัฒนาวิธีคิด การวิจัยสร้างความรู้ กับการดำเนินชีวิตและสร้างความเป็นส่วนรวมไปบนโอกาสที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ทำได้พร้อมกันไปกับสิ่งต่างๆที่ไหลผ่านเข้ามาในชีวิต 


ผมซื้อหัวกะทิสำเร็จรูปมา ๔ กล่อง แล้วก็เก็บใบตองแห้งจากในสวนหลังบ้านมาฉีกเป็นฝอย นำไปแช่น้ำให้อ่อนตัว เตรียมไว้ใช้เป็นจุกกระบอกข้าวหลาม กลิ่นใบตองแห้งนี้จะทำให้ข้าวหลามหอมมาก 

นำข้าวสารเหนียวมาแช่น้ำไว้ ๔-๕ ชั่วโมง  จากนั้น ก็ปรุงน้ำกะทิสำหรับใส่เป็นน้ำนึ่งข้าวหลามในกระบอกไม้ไผ่ ให้ได้รสชาติอย่างที่เราต้องการ ใส่น้ำตาลและเกลือนิดหน่อย ชิมดูจนได้ความหวานมันเข้มข้น เมื่อแช่ข้าวเหนียวได้ที่แล้ว ก็รินน้ำออก จากนั้นก็ใส่น้ำกะทิที่ปรุงแล้วคลุกกับข้าวเหนียว ส่วนน้ำที่แช่ข้าวเหนียวนั้นก็แยกไว้ต่างหากเอาไว้ใช้สำหรับเติมเป็นน้ำนึ่งข้าวหลามเมื่อกรอกข้าวใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วอีกทีหนึ่ง 


วิธีกรอกข้าวเหนียวที่คลุกอยู่ในน้ำกะทิใส่กระบอกไม้ไผ่นั้น ผมก็ใช้หลักการเดียวกันกับการหุงข้าวเหนียวแบบไม่ต้องเช็ดน้ำนั่นเอง โดยไม่ใส่ข้าวจนเต็มกระบอกเพราะต้องเผื่อให้เมล็ดข้าวที่สุกแล้วสามารถขยายตัว จากข้าวสารที่ไม่เต็มกระบอกเมื่อสุกแล้วก็จะกลายเป็นข้าวหลามเต็มกระบอกพอดี 

เมื่อกรอกข้าวเหนียวใส่กระบอกและเหลือปากกระบอกสักช่วงนิ้วชี้หนึ่งแล้ว ก็จะมีส่วนที่ยังคงพร่องอยู่ตรงปากกระบอกสำหรับใช้น้ำแช่ข้าวเหนียวเติมลงไปให้สูงจากข้าวขึ้นมาอีกสักข้อนิ้วหนึ่งเหมือนกับการใส่น้ำหุงข้าว โดยต้องเหลือปากกระบอกไว้สำหรับปิดด้วยฝาจุกที่จะทำขึ้นมาด้วยใบตองแห้ง เมื่อเผาไฟแล้วน้ำในกระบอกที่มีอยู่นี้จะเดือดซึ่งจะทำให้ข้าวในกระบอกสุกและขยายตัวกระทั่งเหือดแห้งไปเองจนเหลือแต่เนื้อข้าวหลามเต็มกระบอกพอดี  

หากไม่ทำอย่างนี้ แต่ใส่ข้าวจนเต็มกระบอก ระหว่างโดนสุมไฟ ก็จะทำให้ข้าวเหนียวขยายตัวดันใบตองที่ทำเป็นจุกปิดปากกระบอกข้าวหลามหลุดออก น้ำข้าวหลามและเมล็ดข้าวจะล้นทะลักออกจนไม่เหลือน้ำในกระบอกเดือดให้นานพอที่ข้าวจะสุก หรือไม่ก็ขยายตัวอัดแน่น บีบตัวดันน้ำกะทิเดือดให้ไหลออกจากกระบอกจนหมดก่อนที่ข้าวจะระอุจนสุก เนื้อข้าวหลามก็จะสุกไม่ทั่วหรือกลายเป็นข้าวดิบไปทั้งกระบอก


จากนั้น ก็นำเอากระบอกไม้ไผ่ที่กรอกข้าวและน้ำกะทิ ปิดปากกระบอกด้วยจุกใบตองแห้งเรียบร้อยแล้วไปตั้งเรียงกันเพื่อสุมไฟบนลานดิน ฟืนที่ใช้สุมไฟเผาข้าวหลามครั้งนี้ของผมรวบรวมจากไม้ไผ่แห้งกับกิ่งไม้แห้ง ฟืนจากไม้ไผ่แห้งจะให้ความร้อนที่ระอุและไม่แรงเหมือนไฟจากไม้ฟืน ใช้จอบขุดเซาะดินเป็นร่องเพื่อตั้งบ้องข้าวหลามเรียงเป็นแนว เว้นให้มีช่องว่างแต่ละบ้องสักเล็กน้อยเพื่อให้ความร้อนแผ่ทั่วถึง ก้นบ้องข้าวหลามไม่ต้องฝังดินลึกเพราะจะทำให้ส่วนที่เป็นก้นกระบอกฝังจมลงไปในดินมากเกินควรจนทำให้ข้าวไม่สุก 


ข้าวหลามบ้องใหญ่ต้องใช้ความร้อนมาก ส่วนข้าวหลามบ้องเล็กหากโดนความร้อนเผานานในอัตราเดียวกันกับบ้องใหญ่ก็จะได้รับความร้อนมากเกินไป ดังนั้น เมื่อนำมาเผาพร้อมกัน จึงควรตั้งบ้องใหญ่ไว้ตรงกลางซึ่งจะโดนความร้อนจากไฟที่แรงกว่าและบ้องเล็กอยู่ริมทั้งสองข้างซึ่งจะโดนไฟสุมน้อยกว่า 

หากไม่ทำอย่างนี้ก็ต้องหมั่นเกลี่ยกองไฟ ให้บริเวณที่ตั้งกระบอกใหญ่ได้ไฟเยอะๆ และบริเวณที่ตั้งกระบอกเล็กได้ไฟไม่มากเกินไป หาไม่แล้วก็จะทำให้ข้าวหลามสุกไม่พร้อมกัน จะรอให้กระบอกใหญ่สุกกระบอกเล็กก็จะไหม้ รอให้กระบอกเล็กสุกกระบอกใหญ่ก็จะยังดิบ



จากนั้น ก็วางฟืนสุมไฟทั้งสองด้าน เริ่มแรกนั้นให้กองฟืนห่างจากแถวข้าวหลามสักฝ่ามือหนึ่ง คอยเฝ้ากระจายเกลี่ยและเติมฟืนไฟให้ทั่วถึงสม่ำเสมอทุกด้าน 



สักระยะหนึ่งน้ำข้าวหลามจะเดือด คอยเฝ้าเกลี่ยฟืนและไฟให้สม่ำเสมอกระทั่งข้าวหลามทุกกระบอกเดือดจนแห้งจึงเริ่มพลางไฟ ลดใส่ฟืน แต่เกลี่ยถ่านและขี้เถ้าติดไฟให้เข้าไปสุมจนติดก้นกระบอก ซึ่งถ้าหากเป็นการหุงข้าวก็เป็นช่วงที่เช็ดน้ำออกและดงข้าวต่อไปให้ระอุจนสุกได้ที่นั่นเอง ปล่อยทิ้งไว้จนไฟมอด เก็บข้าวหลามและใช้น้ำดับไฟให้เรียบร้อย 


ช่วงที่ยังร้อนมากอยู่นี้ หากรีบปลอกข้าวหลาม ก็จะยังไม่ติดเยื่อดีนักเพราะข้าวเหนียวยังร้อน ไม่ยึดติดกัน เยื่อไม้ไผ่ที่ร้อนก็กำลังอ่อนยุ่ย ต้องปล่อยไว้สักคืนหนึ่ง 



พอรุ่งขึ้นผมก็ปลอกข้าวหลาม แล้วก็ไม่ลืมที่จะแจกจ่ายไปรอบบ้านในหมู่เพื่อนบ้านของผม ๓-๔ ครอบครัว กระบอกที่ใหญ่ที่สุด ยาวที่สุด จุเนื้อข้าวหลามมากที่สุด และน่าจะอร่อยที่สุด ซึ่งก็ทำให้ผมอยากกินกระบอกนี้มากที่สุด เพราะข้าวหลามกระบอกใหญ่ที่สุกแล้วเนื้อข้าวจะนิ่มกว่ากระบอกเล็ก เลยก็ขอเอาไปให้ครอบครัวเพื่อนบ้านที่มีสมาชิกเยอะที่สุดในย่านอาศัยของเรา โดยมีสมาชิก ๔-๕ คนของครอบครัวขยายสองครอบครัวจากคนสามรุ่นวัยมาอยู่รวมกัน สมาชิกในบ้านรุ่นอาวุโสเป็นสองตายายสูงอายุและสุขภาพไม่ค่อยดีอยู่ด้วย ท่านจึงควรจะได้กินของอร่อยมากกว่าพวกเรา นอกจากแจกจ่ายเพื่อนบ้านรอบบ้านแล้ว ภรรยาชิมแล้วเห็นอร่อยก็เลยหิ้วกระบอกใหญ่รองลงมาติดมือไปฝากญาติๆบ้านพ่อแม่ที่หางดง ๑ กระบอก 

แต่เดิมนั้น ผมก็มองเห็นกอไผ่ที่อยู่ในบ้านกอนี้ในความเป็นแหล่งให้ร่มเงาและเป็นคลังพัสดุสำหรับใช้ทำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ แต่หลังจากได้ทำข้ามหลามแล้ว ภาพกอไผ่กอใหญ่นี้ ก็กลายเป็นคลังอาหารขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งสำหรับผมที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่เลย ผมจึงย่อมมีความมั่นคงและมีกำลังความเป็นอิสรภาพในตนเองเพิ่มขึ้นมาได้อีกหนึ่งอย่างเล็กๆ อีกทั้งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ได้ซึมซับหลายสิ่งของสังคมไว้ในวิถีชีวิตของเราเองไปด้วย



ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อใกล้เที่ยงของเมื่อวานนี้  ๑๑  พฤศจิกายน ๒๕๕๕  ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากทำข้าวหลามนี้ ผมก็ได้รับโทรศัพท์จาก ดร.สมศรี ศิริขวัญชัย มิตรผู้น้องศิษย์เก่าร่วมสำนักมหาวิทยาลัยมหิดลกับผม ซึ่งเป็นนักวิจัยและนักวิชาการอิสระยอดฝีมือท่านหนึ่ง บอกกล่าวแก่กันว่ากำลังร่วมเป็นคณะวิจัยประเมินผลกับครูอาจารย์ที่เคารพรักของผมอีก ๒ ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย และรองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย จากมหาวิทยาลัยมหิดล ไปเก็บข้อมูลวิจัยประเมินผลให้กับหน่วยงานแห่งหนึ่งที่จังหวัดลำปางและได้ดำเนินการเสร็จกันแล้ว กำลังจะเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อกลับกรุงเทพฯทางเครื่องบิน แต่ก่อนกลับ ก็มีเวลารอเครื่องบินออกเล็กน้อยเลยจะถือโอกาสแวะไปบ้านผมที่บ้านห้วยส้ม สันป่าตอง 


ผมนั้นแสนจะปลาบปลื้มใจ เลยได้กราบแสดงความเคารพ นั่งคุยกัน แล้วก็ได้เลี้ยงข้าวหลามที่ทดลองทำกันขึ้นครั้งนี้แก่แขกพิเศษที่สุดคณะนี้ของผมและครอบครัว คณะของอาจารย์มีน้องเมย์ร่วมทีมมาด้วยอีกคนหนึ่ง น้องเมย์เป็นนักวิจัยและเป็นมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลยยิ่งเป็นวาระพิเศษอย่างไม่ได้คาดหมายมากเข้าไปอีก  


ข้าวหลามเป็นภูมิปัญญาและวิธีทำอาหารที่น่าทึ่งของคนแต่เก่าก่อน เหมือนเป็นความลับอย่างหนึ่งจากผืนดินถิ่นฐานที่ชวนให้อัศจรรย์ใจอยู่เสมอต่อวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนในสังคมเกษตรกรรมนาข้าว ผู้กินข้าวเป็นองค์ประกอบหลักในมื้ออาหาร เป็นภูมิปัญญาที่จัดระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับปัจจัยการดำเนินชีวิตที่มีอยู่กับธรรมชาติในถิ่นอาศัย เสมือนเป็นการนำเอาข้าว ไม้ไผ่ มะพร้าว ใบตอง ดิน น้ำ ไฟ ลม มาหลอมรวมเป็นชุดเหตุปัจจัยต่างๆที่จะสามารถผสานผสมกันขึ้นเป็นข้าวหลาม ยืดหยุ่นกลมกลืนไปกับสิ่งที่มีอยู่ จัดกระบวนการเงื่อนไขให้ปัจจัยต่างๆได้มาประชุมกันชั่วคราว แล้วก็ก่อเกิดเป็นภักษาหารที่เลิศรส


เสร็จแล้ว ทุกสิ่งก็คืนสู่ดินได้ทั้งหมด สร้างวงจรชีวิตและก่อกำเนิดสิ่งต่างๆต่อไปโดยมนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งด้วยเพียงเสี้ยวเล็กๆเท่านั้น ช่างมีความพอดี ลงตัว เกิดขึ้นพอให้เป็นปัจจัยเลี้ยงดูชีวิต


แล้วก็สูญสลาย พลวัตรเปลี่ยนแปลงไปสู่การก่อเกิดเป็นสิ่งอื่นๆ ดำรงความงดงาม งอกงาม เสื่อมสลาย หมุนเวียน เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ทั้งโดยกระบวนการธรรมชาติและถูกกระทำให้เกิดขึ้นโดยตัวเราเองของมนุษย์

หมายเลขบันทึก: 508538เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เรียนอาจารย์วิรัตน์ บอกเล่าวิถีการดำรงอยู่แบบบ้านได้อย่างกลมกลืน การหลามเหนี่ยว ลองเอาปลาช่อนหลามดูรสชาติอร่อยกว่าแกงอีก

กราบอาจารย์ตอนดึกกอ่นเข้านอนค่ะ

แหม...มาประชุมกันชั่วคราว จนได้ภักษาหารเลิศรส อาจารย์ขา....น้ำลายสอตอนดึกนี่ อันตรายมากนะคะ

อาหารดั้งเดิม ใช้วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น ไม่ต้องปีนเขา ข้ามน้ำข้ามทะเลมา.....ย่อยสลายตามธรรมชาติ สุดยอดภูมิปัญญา

ได้เมนูเหมาะฤดูหนาวละคะ ประเดี๋ยวหนาวจัด ๆ เหมาะกับวันหยุดคืนเสาร์ต่ออาทิตย์ รวมครอบครัวพี่น้อง หลาน ๆ Camping ที่บ้านชานเมืองของหนูเอง

ปลูกไผ่แล้วค่ะ แต่ยังไม่โต แต่กอไผ่หลังบ้านพี่สาวมีหลายกอให้เลือก

ได้ทั้งภักษาหารรสเลิศ (บางทีบ้านหนูใส่ถั่วดำด้วยค่ะ) ของใส่บาตร ความอบอุ่นจากกองไฟ และบทสนทนารอบกองไฟ

แฮ่ม....แค่คิดถึงก็มีความสุขแล้วนะคะ

ขอบพระคุณบทความหลายมิตินี้นะคะอาจารย์

ขอบคุณบังวอญ่าและคุณหมอธิรัมภามากครับที่แวะมาเยือนกัน 

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
หลามปลาช่อนอย่างที่บังว่านี่ ปรุงเครื่องแล้วก็ใส่กระบอกไปสุมไฟเหมือนกับทำห่อหมกในกระบอกข้าวหลามอย่างนั้นใช่ไหมครับ ถ้าจะอร่อยและแปลกดีมากเลยนะครับ จะต้องหาโอกาสทำดู

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

เมื่อก่อนที่เคยได้ทำกันแถวบ้านหนองบัวนครสวรรค์บ้านเกิดผมนั้น ก็ชอบใส่ถั่วดำเหมือนกันครับ ข้าวหลามกระบอกที่ใส่ถั่วดำนี่ จะเป็นกระบอกที่อร่อยเป็นพิเศษ หากใส่ได้ไม่ครบทุกกระบอก ก็จะเป็นกระบอกที่ชาวบ้านนำไปทำบุญถวายพระ ต้องไปทำบุญถึงจะได้กินบนศาลาวัดพร้อมๆกับชาวบ้านคนอื่นๆ

แถวบ้านนี่ การเผาข้าวหลามจะเป็นเหตุการณ์พิเศษมากเลยละครับ เป็นอาหารที่มีมิติความเป็นชุมชน เมื่อเผาแล้วก็จะดึงคนมารวมกัน บ้างไปหาฝืน ขูดมะพร้าว ขุดดิน นั่งคุยกันรอบกองไฟเผาข้าวหลามอย่างที่คุณหมอนึกเห็นภาพการทำ Camping ในบ้านเสียเลยนั่นเลยละครับ พอสุกแล้วก็ได้แบ่งกันกินไปทั่วทุกบ้าน

เมื่อมีแขกไปเยี่ยมบ้าน ญาติพี่น้องห่างไกลไปเยี่ยมยามกัน หรือลูกหลานไปศึกษาเล่าเรียนไกลบ้านแล้วได้กลับบ้าน เหล่านี้ ก็มักจะทำข้าวหลามนี่แหละครับต้อนรับกัน

เป็นบันทึกที่สร้างควาามรักความผู กพันมากเลยนะครับอาจารย์

ด้วยความระลึกถึงอาจารย์ครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี ด้วยความรำลึกถึงเช่นกันครับ คุณแสงแห่งความดีและครอบครัวสบายดีนะครับ

ขอบคุณอ.นุและคุณแสงแห่งความดีที่แวะมาเยือนกันนะครับ

ข้าวหลามเป็นของโปรดของผมเลยครับ เคยอยากจะทดลองทำกินเองเหมือนกันครับ

ชมภาพเงาไผ่งามร่มรื่น..เรื่อยๆมาเรียงๆกับความสุขดีๆในเรื่องเล่าในการหุงข้าวหลามเยิ้มมันหวานอร่อยหุ้มด้วยเยื่อไผ่บางๆน่าลิ้มลอง..มีผองเพื่อนมาล้อมวงสนทนาอย่างเบิกบาน..ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ..

ทำข้าวหลามครั้งนี้อาจารย์วิรัตน์ คงได้ออกกำลังกายด้วยใช่ไหมคะ

เห็นการหลามแบบไฟลุกแบบนี้ ถ้าเป็นตัวเองคงใจไม่กล้าพอ กลัวมันไหม้นะคะ :)..ยินดีด้วยที่ผลงานออกมาสวยงาม ขนาดครั้งแรกนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ธวัชชัยครับ

ทำกินเองนี่ก็ดีไปอย่างนะครับ ใส่เนื้อข้าวหลามในกระบอกไม้ไผ่ให้เยอะและกินได้หนำใจดี เวลาไปซื้อกินนี่ ผมก็ชอบมากครับ แต่เนื้อข้างในมันมักจะมีนิดเดียว กำลังเคี้ยวๆได้สัมผัสความอร่อยยังไม่ทั่วลิ้นเลยก็หมดเสียแล้วหนึ่งกระบอก พอทำเองนี่ กระบอกหนึ่งก็กินกันได้เป็นครอบครัวเลย   

สวัสดีครับพี่ใหญ่นงนาทครับ เป็นวิถีชีวิตกึ่งชนบทกึ่งเมืองที่ได้ความรื่นรมย์ในชีวิตดีไปอีกแบบหนึ่งนะครับ

สวัสดีครับเจ้าหนูกล้วยไข่ ได้ออกกำลังกาย แบกลากไม้ไผ่และไม้ฟืน ได้เดิน ขุดดิน แล้วก็ได้ยืนสู้ความร้อนจากแรงไฟเป็นหลายชั่วโมงเหมือนกันครับ กว่าจะได้ข้าวหลามออกมานี่ก็เหนื่อยเอาเรื่องเหมือนกัน ดีว่าใจไปจดจ่ออยากเห็นตอนข้าวหลามสุกว่ามันจะติดเยื่อไม้ไผ่ไหม เลยช่วยให้ลืมเหนื่อยได้เหมือนกัน ข้าวหลามนี่ต้นฉบับความอร่อยมันต้องแถวนครชัยศรีบ้านของกล้วยไข่สิเนาะ 

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป.ครับ

ต้องร้องอ้าวเลยละสิครับ จะเผาข้าวหลามแต่กลัวไหม้ เห็นท่าจะออกมาเป็นข้าวเหนียวจี่เลยนะครับเนี่ย ผมนั้น เป็นครั้งแรกที่ได้ลองเผาข้าวหลามดูที่บ้านสันป่าตองในครั้งนี้ แต่ว่าเมื่อตอนอยู่บ้านที่หนองบัวนครสวรรค์นี่ ได้เผากินกันทุกปีในหน้าเกี่ยวข้าวและนวดข้าวเสร็จ ซึ่งก็จะเป็นหน้าหนาวและได้ผิงไฟกันไปด้วย ที่ได้ลองทำดูในครั้่งนี้อีกนี่ ส่วนใหญ่แล้วก็พอจะคุ้นเคยอยู่ครับ มีเพียงไม้ไผ่เท่านั้นครับที่ไม่เหมือนกับที่เคยได้รู้จักมาก่อน

มุมมองข้าวหลามฝีมืออาจารย์นั้นเป็นความงามทุกๆขั้นตอนจากการทำเลยนะคะ

ดูแล้วเป็นงานศิลปะเชียวค่ะ เป็นความธรรมดาที่งดงามมากมาย มีคุณค่าเป็นที่สุด

มีข้อคิดดีๆจากเรื่องราวที่เล่าอีกด้วยนะคะ ...มันไม่ใช่เพียงข้าวหลามธรรมดาจริงๆ

ขอบคุณนะคะ :)

สวัสดีครับหนูรี
ขอบคุณครับ จอมฝีมือทำอาหารและขนมสะท้อนความคิดเห็นให้อย่างนี้นี่ ทำให้มีกำลังใจมากเลยละครับ 

สวัสดีค่ะ แวะมากราบสวัสดียามดึก เจอข้าวหลามของโปรด ยิ่งถ้าได้หลามข้าวเหนียวดำด้วยละก้อ ไม่มีการถอยจนกว่าพุงจะตึงเป๊ะค่ะ ขอบคุณที่นำสิ่งดีๆมาแบ่งปัน เลยได้เรียนรู้วิธีหลามข้าวเหนียวแบบตั้งจรวด แบบนี้ไม่ต้องคอยพลิกไปมาใช่ไหมคะ เคยตั้งเตาแบบนี้แต่เอาตะแกงวางย่างปลากุ้ง หลังจากเสร็จการใช้งานเตาพิเศษนี้แล้ว ก็โกยขี้เถ้าข้างๆโรยทับลงไปค่ะ รุ่งเช้าแม่บอกให้ไปเขี่ยออกแล้วเอามาคลุกขี้เลน ปั้นเป็นก้อนขนาดสองฝ่ามือประกบกันเป็นก้อนกลมๆ แล้วเอาไปตากแดด พอแห้งก็เอามาใช้หุงต้มได้อีก เป็นความร้อนที่ระอุไม่วืดวาด ใช้อุ่น ใช้ตุ๋นได้ดีค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ krutoiting ครับ

ผมเลยได้ความรู้ไปด้วยหลายอย่างเลยละครับ เคยเห็นเขาวางแนวนอนบนตะแกรงอย่างที่ krutoiting เคยทำเหมือนกันครับ วิธีทำเชื้อเพลิงโดยนำเอาขี้เลนมาคลุกกับขี้เถ้า ปั้นเป็นก้อนนำไปตากแดด แล้วก็เก็บเอาไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิงนี่ชอบจังเลยครับ หากมีโอกาสอีกคงต้องได้ลองทำดูแน่ๆครับ ขอบคุณมากเลยครับ

ใส่ถั่วดำด้วยซิพี่ พูดถึงถั่วดำ พี่ถั่วไปสวรรค์แล้วนะ T T

สวัสดีเจ้าเปล
คิดฮอดเด้อ !!! เผาข้าวหลามนี่ได้ใส่ถั่วดำด้วยก็ยิ่งอร่อยสิเนาะ
คิดถึงเจ้าถั่วดำเหมือนกัน เปลสบายดีนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท