ตื่นๆ ได้แล้ว (3-71)


“ห้องเรียน” ต้องเป็นสิ่งที่มากกว่า “สถานที่” เป็นที่ซึ่งสร้างความสุขและบ่มเพาะกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งแตกต่างหลากหลายทั้งด้าน กายภาพ จิตสังคม ภูมิหลัง และระดับสติปัญญาในแต่ละช่วงวัย

 

“ความจริงต่างจากความฝัน ตรงที่ความจริงเกิดขึ้นแล้ว แต่ความฝันรอวันที่จะเป็นจริง”

ข้อความข้างต้นเป็นข้อสรุปของ เด็กวัย 7 ปีและวัย 11 ปี ที่ถกเถียงกันเรื่อง “ความจริงกับความฝัน” หลังการหาข้อสรุปร่วมกันเกือบครึ่งวัน

 

          ผู้เขียนชอบคิดนอกคอกเฉไฉ พี่ๆ นิยามว่าเป็น “พวกโก๊ะๆ ติงต๊องๆ” เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันบอกว่า “ฉลาดในเรื่องที่คนอื่นโง่ แต่โง่ในเรื่องที่น่าจะฉลาด” หลานๆ เรียกว่า “โดราเอมอน” แต่ เรียกตัวเองแบบเท่ๆ ว่า เป็นคนมี “ความคิดสร้างสรรค์” (ฮาๆๆๆ)

 

            ตอนเด็กๆ เรียนชั้นประถม หากโรงเรียนไม่มีเพื่อนเล่น ไม่มีหนังสือการ์ตูนสีสวยๆ ต้นไม้แปลกๆ และหมาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่รัก (แต่ที่บ้านไม่มี) คงไม่อยากไปโรงเรียนหรอก เพราะครูเป็นใครสักคนที่ดุๆ คอยบอกให้ทำนี่ทำนั่น พูดเรื่องที่เข้าใจยาก ห้องสี่เหลี่ยม โต๊ะเก้าอี้สีทึมๆ ในความคิดตอนนั้นคือ เตี่ยกับแม่เอาเรามาทำโทษเรื่องอะไรก็ไม่รู้...

 

          ทุกครั้งเวลาพัก จึงตั้งตัวเป็น “ครู” สร้าง “ห้องเรียน” นอกห้องสี่เหลี่ยม โดยมากจะอยู่ริมระเบียงห้องเรียน พื้นมันปลาบเย็นสบายที่เหมาะกับการนั่งนอนเกลือกกลิ้ง หานิทานที่อ่านบ้างฟังบ้างจินตนาการเองบ้างมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ขนขนมจากบ้านไปหลอกล่อเพื่อนๆ ให้มากินขนมจะได้ยอมมานั่งฟัง... ได้เป็น “คุณครู” ตั้งแต่อายุไม่ถึง 7 ขวบเลย โด่งดังขนาดมีนักเรียนของตัวเองตั้ง 10-12 คน หากวันไหนนักเรียนขาดไปจะต้องไป “ตามตัว” มาให้ได้ ขาดไม่ได้แม้แต่คนเดียว ห้องเรียนนี้ดำเนินไปเกือบ 2 ปี ต้องหยุดไป เพราะการเรียนที่หนักขึ้น การบ้านที่เยอะจนต้องทำในเวลาพัก ไม่เช่นนั้นจะทำไม่ทัน...เพราะตอนเย็นบางคนต้องไปเรียนพิเศษในบางวิชาที่พ่อแม่จัดให้อีกด้วย


 


          ความเห็นส่วนตัวแล้ว สำหรับ “ห้องเรียน” ในปัจจุบัน ล้วนอ้างอิงตามทฤษฎีการเรียนรู้ (ส่วนมากมาจากต่างชาติ) ที่มีจุดอ้างอิงต่างกันไป ทั้งอิงทฤษฎีทางสมอง ทฤษฎีการสร้างประสบการณ์ ทฤษฎีสร้างความคุ้นเคย (ท่องซ้ำๆ) การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม การให้แรงบวกสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ


          บางทีเราอาจลืมไปก็ได้ว่า... แต่ละคนมีความเป็น “ปัจเจก” แตกต่างกัน เราจะใช้ทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งเบ็ดเสร็จในการจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนได้อย่างไรกัน ผู้เขียนเคยทำงานด้านการพยาบาลและเรียนสายวิทยาศาสตร์มาตลอด ครั้นเปลี่ยนสายงานมาทำงานด้านการศึกษา ปราชญ์ท้องถิ่นที่ได้พูดคุยรับฟังความคิดเห็นของท่านจนเกิดสะดุดใจคือ “คุณลุงรินทร์” หรือคุณครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ (อันที่จริงท่านเป็นคุณครูในโรงเรียน แต่เกษียณอายุราชการก่อนกำหนดออกมาทำงานชุมชน) ท่านเล่าในโต๊ะอาหารว่า 

“อีหนูเอ้ย... รู้ไหมการศึกษาปัจจุบันน่ะมันแปลกนา...มันตัดตีนให้พอดีเกือก แทนที่จะตัดเกือกให้พอดีตีน”

          ท่านพูดไปหัวเราะไปเสียงดัง เป็นที่ครึกครื้นของผู้ร่วมโต๊ะซึ่งล้วนแต่เป็น “นักการศึกษา” ทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว ค้างใจมาโดยตลอดว่าเหตุใด นักการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญมากมายจึงมองไม่เห็นประเด็นนี้ และแม้บางท่านจะเห็นแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการผลักดัน (ภาษาราชการปัจจุบันเขามักใช้ว่า “ขับเคลี่อน”) ให้เกิดผลนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมใดๆ (สักที) 


 

 

         นำประเด็นที่ค้างคาใจมาคุยกับ “ผู้ใหญ่” ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น ท่านบอกแกมหัวเราะว่า “ตอนที่ผมมาทำงานใหม่ๆแบบคุณ ผมก็ขัดใจแบบนี้แหละ พอทำงานไปสักพักคุณจะรู้เอง...ว่าต้องทำอย่างไร” ครั้งนั้นรู้สึกผิดคาดมาก คิดด้วยใจที่หล่นวูบไปอยู่ปลายเท้าว่า “สงสัยย้ายมาผิดที่แล้วเรา

 

        ผู้เขียนคิดฟุ้งต่อไปอีกหลายประเด็นตามนิสัย...  แต่กลับมาที่ “ห้องเรียนในฝัน” ที่อยากให้เป็นจริงดีกว่าว่า ห้องเรียนนั้นคงไม่ใช่เพียง “สถานที่” แต่ต้องประกอบด้วย ครู นักเรียน อุปกรณ์เสริมการเรียนรู้ บรรยากาศ

        “ครู” ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะคล้ายกับ “วาทยากร” กำกับวง เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของการศึกษา ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่สอนและสร้าง “ครู” ต่างทำงานหนัก ทั้งเชิงรุกและเชิงรับในการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา และพยายามที่จะสร้างทัศนคติให้ “คนเก่งคนดี” มาเรียน “ครู” สมัยก่อนผู้ที่จะมาเรียน “ครู” จะเป็นคนที่เรียนเก่งติดอันดับประเทศ เป็นหัวกะทิ แต่ช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา การเลือกเรียนครู มักจะเป็นการเลือกคณะไว้หลายๆคณะและเลือก “ครู” ตบท้ายกันพลาดไว้ (เศร้าไปเลย)

 

         สำหรับ “นักเรียน” นั้น เราคงต้องยอมรับว่า “เลือกและกำหนดไม่ได้” เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มองอย่างนักการตลาดแล้ว นักเรียน/ผู้เรียน คือ “ลูกค้า” ดังนั้นต้องศึกษาความต้องการของนักเรียน/ผู้เรียน และสร้างห้องเรียนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน

 

         เรื่อง “อุปกรณ์เสริมการเรียนรู้และบรรยากาศ” นั้น เราน่าจะกำหนดและจัดการให้เหมาะสมกับการสร้างกระบวนเรียนรู้ได้ตามแนวคิด/ทฤษฎีต่างๆ ได้แก่ การจัดให้เหมาะสมกับพัฒนาการของสมอง (Brain Based Theory) พฤติกรรมนิยม (behaviorism) การเรียนรู้ทางสังคม (social learning theory) ปัญญานิยม (cognitivism)  สร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยปัญญา (constructivism) ฯลฯ ซึ่งได้กล่าวไว้ถึงประเด็นต่างๆ ทั้งกระบวนการ สิ่งที่เสริมสร้างสนับสนุน และขัดขวางการเรียนรู้ไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว

 

         ส่วนนักการศึกษานอกคอกเช่นผู้เขียน ก็คิดง่ายๆ พูดง่ายๆ ทำง่ายๆ โดยตั้งต้นที่ตัวเอง นั่นคือคิดและพยายามทำในสิ่งที่ตนเองทำได้และมีภาระหน้าที่ต้องทำ แทนการ “ตั้งประเด็น” ทิ้งไว้ในการประชุม การสัมมนา การเสวนา ประชาพิจารณ์ของบรรดานักวิชาการ คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิมากมายที่เกิดขึ้น แต่ข้อสังเกตที่สรุปเองคือ คนที่ตั้ง “ประเด็น” ในเกือบทุกที่ทุกเวที ไม่ค่อยจะนำไปปฏิบัติจริงเลย (ฮาๆๆๆ)


 


         ผู้เขียนคิดเพียงว่า “ห้องเรียน” ต้องเป็นสิ่งที่มากกว่า “สถานที่” เป็นที่ซึ่งสร้างความสุขและบ่มเพาะกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งแตกต่างหลากหลายทั้งด้าน กายภาพ จิตสังคม ภูมิหลัง และระดับสติปัญญาในแต่ละช่วงวัย  คิดไว้นานหลายปีแล้วและพยายามก่อร่างสร้างฐานความคิดนี้ให้มั่นคงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ในที่สุด ซึ่งเริ่มต้นที่บ้านของตัวเองและคนใกล้ตัวที่พอจะทำได้ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ไม่ยอมหยุดทำ...

 

         ตื่นๆๆๆๆ มัวแต่ฝันอยู่ได้...เย้ๆๆๆ... เสียงเรียกอยู่ข้างตัวดังๆ อมยิ้มพลางหันไปมอง... ก็กำลังฝันถึง “ห้องเรียนในฝัน” ไง  ไม่รู้ล่ะว่าเมื่อไหร่จะเป็นจริง... แต่หากไม่ฝัน ก็คงไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำให้เป็นจริง...จริงไหมเล่า?

         

ห้องเรียนในฝัน...ที่เป็นจริง ของผู้เขียน



หมายเหตุ : ภาพประกอบที่ 1-3 จากอินเทอร์เน็ต - ขอบคุณค่ะ



หมายเลขบันทึก: 504778เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2012 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • ...แต่หากไม่ฝัน ก็คงไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำให้เป็นจริง...จริงไหมเล่า?...
  • จริงครับ
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

 

สวัสดีค่ะอ.Blank ปณิธิ ภูศรีเทศ

ดีใจที่มีคนคิดและเห็นด้วยกับความคิด...ฝันๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ  :)

คิดง่ายๆ พูดง่ายๆ ทำง่ายๆ โดยตั้งต้นที่ตัวเอง นั่นคือคิดและพยายามทำในสิ่งที่ตนเองทำได้และมีภาระหน้าที่ต้องทำ แทนการ “ตั้งประเด็น” ทิ้งไว้ในการประชุม การสัมมนา การเสวนา..ขอบคุณคะ ข้อความนี้ตรงใจเริ่มเหนื่อยกับการเข้าประชุมสุขใจกับการลุยทำแบบนอกคอก เอ้ยนอกห้องประชุมมากกว่าคะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ Blank ป.

ประชุม สัมมนา เสวนา... มากมาย ใช้งบประมาณหลวงเยอะแยะ แต่ได้ผลผลิตน้อย ได้ข้อคิดเดิมๆ ไม่ค่อยแตกต่าง กลายเป็นอาชีพ "ประชุม" และ "ตั้งประเด็น" ได้ยินจนยิ้มไม่ค่อยออกแล้วค่ะ...ฮาาาาาา

ขอบคุณค่ะ คงต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนอื่นเลยค่ะ  :)

 

 

สวัสดีครับ


เห็นด้วยหลายๆ เรื่อง ผมก็คิด เอ ผู้ใหญ่ในแวดวงเขาก็คิด เราก็คิด แล้วทำไมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง งงๆ ไม่น้อย

วันก่อนดูหนังอินเดีย นำเสนอภาพชนบท ความขาดแคลน และปัญหาต่างๆ ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมาน่าคิด ว่า ไม่ต้องโทษใคร ไม่ต้องโทษรัฐบาล ไม่ต้องโทษนักการเมือง ฯลฯ โทษที่เรานี่แหละ... อาจจะปรับเปลี่ยนนิดหนึ่งว่า มาปรับปรุงหรือเริ่มต้นที่เรานี่แหละ เท่าที่จะทำได้...

ป.ล. ถ้านักเรียนบอกว่า ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต จะรู้สึกหงุดหงิดเล็กน้อย แต่ก็น้อยกว่าที่บอกว่า "ภาพประกอบจากกูเกิ้ล" ;)

สวัสดีค่ะคุณครู Blank ธ.วั ช ชั ย

ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนั้น พี่ที่ทำงานด้วยกันบอกว่า...

ก็ "พวกเรา มัวแต่คิด...ไงล่ะ" ...ฮาๆๆๆๆ

ปรับปรุงในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เริ่มต้นทำในสิ่งที่ควรทำ... ช้าก็ทำ ทำได้มากน้อยเท่าไหร่ ก็ทำ... ในไม่ช้าคงเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

ปล.ไม่อยากทำให้คุณครู/ท่านที่อ่านหงุดหงิด เมื่อใส่คำว่า "ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต" ครั้นจะไม่ใส่ไว้ ตัวเองก็รู้สึกไม่ค่อยดี เพราะไม่ใช่ภาพที่ถ่ายมาเองน่ะค่ะ

ความจริงก็คือไม่ทราบว่าควรให้เครดิตเจ้าของภาพอย่างไร เพราะเป็นภาพส่งต่อๆกันมา เลยเขียนไว้ง่ายๆ...เช่นนั้นเอง  :)

 

* เรียนรู้จากชีวิตจริงของผู้เป็นแบบอย่างจากรากฐานครอบครัว..ครูอาจารย์..ชุมชนและสังคม..สู่การปฏิบัติที่นำความสุขตามหลักพอเพียง เพื่อความสุขที่ยั่งยืน..ขอบคุณค่ะ

* ภาพ ลุงสุรินทร์ พร้อมมิตรสหาย เมื่อคราวไปร่วมเสวนางานรำลึกถึงคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ที่สวนโมกข์กรุงเทพ..อีกหนึ่งห้องเรียนรู้สู่ชีวิตพอเพียง

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/494993

-สวัสดีครับ...

-ตามมาเยี่ยมห้องเรียนในฝัน...

-ตื่น ๆ ตื่นได้แล้ว....แล้วก็มาเที่ยวชมห้องเรียนธรรมชาติ ของน้อง ๆ กันดีกว่าครับ..

-ห้องเรียนนี้มีอยู่จริงที่พรานกระต่าย..

-ณ วันนี้ ห้องเรียนห้องนี้ต้นข้าวกะลังงอกงาม..ครับ...

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่ Blank นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

ต้องขอโทษพี่ใหญ่ที่เพิ่งมาตอบนะคะ

ขอบพระคุณสำหรับภาพของคุณลุงรินทร์ค่ะ ไม่ได้พบท่านนานแล้่ว หวังว่าท่านคงสบายดีนะคะ  :)

สวัสดีค่ะคุณ Blank เพชรน้ำหนึ่ง

เป็นห้องเรียนที่มีชีวิตชีวาและช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

ขอบคุณค่ะ  :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท